24 มกราคม 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยสรุปผลการปฏิบัติราชการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการลงพื้นที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการลงพื้นที่จังหวัดกระบี่และพังงา เมื่อวันที่ 21-22 มกราคม 2567 โดยมีประเด็นการตรวจราชการสำคัญและข้อสั่งการ สรุปได้ ดังนี้
- ให้ศึกษาธิการจังหวัด บูรณาการประสานความร่วมมือหน่วยงานการปกครอง และหน่วยงานในพื้นที่ ในการร่วมกันสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา ให้นำระบบ “ตู้แดง” มาใช้ในการป้องกันเหตุ ให้ตำรวจและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) มาร่วมดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาภาพรวม
- ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน โดยผู้เรียนต้องเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” บนแนวทางการทำงาน “3 ท คือ ทำดี ทำได้ ทำทันที” และ “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการปลูกฝังให้เด็กและบุคลากรทุกคนมีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทยและยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ และการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ และให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนองจัดทำหลักสูตร “อาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท อศ.กช.” โดยการบูรณาการหลักสูตรร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่เพื่อให้การดำเนินงานจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน
- ให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นำระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (TMS) เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ครูสามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาได้ด้วยความโปร่งใส เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อลดภาระและขั้นตอนการย้าย
- ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ บูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมมือกันทำทวิภาคีเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่มีงานและอาชีพ ได้เพิ่มวุฒิการศึกษาและสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป และผู้เรียนจบได้มีงานทำ
- ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ บูรณาการการทำงานและการจัดการเรียน การสอนร่วมกับชุมชน ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในพื้นที่ในการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ทางทะเลและมหาสมุทรและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ไปสู่การเรียนการสอนในสถานศึกษา
- ให้ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ทะเลชายฝั่ง
- ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและยึดถือผลประโยชน์ของชาติ เด็กและเยาวชนของประเทศเป็นสำคัญ
- ให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ในพื้นที่ ขอความร่วมมือข้าราชการเกษียณอายุราชการที่มีจิตอาสามาเป็น “ครูอาสา” เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนได้มากขึ้น
ติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดกระบี่ โดยมีข้อสั่งการ ดังนี้
- ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ขาดแคลนโรงอาหาร บ้านพักครู และมีอาคารเรียนชำรุดทรุดโทรม ในจังหวัดกระบี่เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเร่งด่วน
- ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ต้องการพัฒนาอาคารเรียน ห้องพักครูและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า EV ในจังหวัดกระบี่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
ติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดพังงา โดยมีข้อสั่งการ ดังนี้
- ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ขาดแคลนโรงอาหารในจังหวัดพังงา เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเร่งด่วน
- ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างแฟลตสำหรับการพักอาศัยของครูในรูปแบบ Community โดยมีครูหลายโรงเรียนมาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่พักครู ลดภาระครู เพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงาน และสร้างคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยให้กับเพื่อนครู
- ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมของสถานศึกษาในจังหวัดพังงา เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 6 จังหวัดอันดามัน (Andaman Wellness Economic Corridor)