14 กุมภาพันธ์ 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 7/2567 โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมือง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
รมว.ศธ. กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแห่งความรัก แต่สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถือเป็นวันแสดงพลังรักสีม่วง ที่แสดงออกให้เห็นว่าชาว ศธ. ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งความรักและความจงรักภักดีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะสีม่วงเป็นสีประจำพระชนมวารของพระองค์ หน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานในกำกับ จึงพร้อมใจสวมเครื่องแต่งกายสีม่วงโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นการแสดงความรักและความจงรักภักดีที่พระองค์ท่านมีพระเมตตาต่อวงการการศึกษา อย่างหาที่สุดมิได้
ศธ.เตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา
รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ในปี พ.ศ. 2567 นั้น
ศธ.ได้เตรียมจัดงานดังกล่าว โดยได้ประดับธงตราสัญลักษณ์ฯ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และแต่ละหน่วยงานได้เตรียมเสนอโครงการและกิจกรรม เพื่อให้คณะกรรมการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ พิจารณา และส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือบุคลากรในสังกัด ศธ. แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ฯ ทุกวันจันทร์ และในโอกาสที่เหมาะสม โดยพร้อมเพรียงกันตลอดทั้งปี
ติดตามการทดสอบ O-NET
ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการสอบดังกล่าวให้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแนวทางมาตรฐานการวัดความรู้และทักษะของผู้เรียน ลดภาระในการสอบซ้ำซ้อน ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” การศึกษาของเด็กแต่ละช่วงชั้นควรสอบวัดประเมินผล เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งในการพัฒนาผู้เรียน จะได้ทราบว่าต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนหรือปรับการสอนหรือไม่ ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อนำเกณฑ์มาประเมินกระบวนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ด้วย
อีกทั้งในอนาคต จะมีการนำการสอบเทียบกลับมา เป็นการสอบรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า O-NET+ (โอเน็ตพลัส) อาจปรับแนวข้อสอบให้เน้นทักษะคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะการสอบแบบเดิมไม่ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในรูปแบบใหม่หากใครมีคะแนน O-NET 4 วิชาเดิมอยู่แล้ว ก็นำคะแนนมาใช้ในการสอบเทียบเพิ่มได้เลย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เหมือนเป็นการสะสมหน่วยกิต ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ให้สอบด้วยความสมัครใจ ไม่เป็นการเสียเวลาและยังนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ด้วย
“การส่องกระจกเงาไม่มีใครบังคับให้เราทำ แต่เราทำไปเพื่อดูความเรียบร้อยของตนเอง การสอบก็คือกระบวนการเดียวกันกับการส่องกระจกเงา ที่ทำไปเพื่อดูว่าเราพร้อมหรือยัง หรือมีสิ่งที่ควรแก้ไข ทำอย่างไรเราถึงจะดูดี ทำอย่างไรเราถึงจะเก่ง เราขาดตกบกพร่องตรงไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่อยากให้คิดแค่ว่าการสอบเป็นเรื่องบังคับเพื่อจัดลำดับเข้ามหาวิทยาลัย ควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้สอบอย่างมีความสุข เห็นประโยชน์ที่ทำให้รู้ตัวตนเหมือนเราส่องกระจกเงา” รมว.ศธ. กล่าวในประเด็นนี้
การจัดทำ MoU กับหน่วยงานต่างประเทศ
ที่ประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับการลงนามความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด กับหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
ดังนั้น หากหน่วยงานหรือสถานศึกษาจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หรือลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ ศธ.จะต้องแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาก่อนทุกครั้ง จึงขอให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว เพื่อให้มีผลผูกพันตามกฎหมายด้วย
ความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA 2025 ของประทศไทย
ที่ประชุมได้ติดตามแนวทางดำเนินงานของส่วนราชการเกี่ยวข้อง ในการยกระดับผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำเสนอความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่ง รมว.ศธ. ได้มอบแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น
ส่วนด้านส่งเสริมการเรียนรู้ สพฐ.จัดให้มีโครงการ “โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง” สายวิทยาศาสตร์ เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนเครือข่าย เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแล เพื่อยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียมกัน
โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการ PISA เพื่อประเมินภาพรวมทั้งประเทศ ในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู
ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ซึ่ง รมว.ศธ.ได้มีหนังสือกำชับทุกหน่วยงาน ให้ยึดความสมัครใจของผู้เป็นหนี้เป็นหลัก โดยกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นหนี้ เพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด ให้มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน รวมถึงมีการตั้งสถานีแก้หนี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ศธ.ได้เชิญ “โค้ชหนุ่ม” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาให้ความรู้ เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นมิติใหม่ในการเสริมสร้างหลักสูตรในการแก้ไขปัญหาหนี้สินอีกด้วย
การติดตามนโยบายความปลอดภัยของสถานศึกษาในส่วนภูมิภาค
ปลัด ศธ. ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย ความปลอดภัยของสถานศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน บูรณาการทำงานร่วมกันหน่วยงานในพื้นที่ระดับจังหวัดทั่วประเทศ
การพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้มีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษา
รมว.ศธ.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ศึกษาเรื่องการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะหารือร่วมกับสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทยด้วยว่า ควรมีการรวมหรือแยกหน่วยงานระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือไม่ เพื่อให้ศึกษานิเทศก์เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาในระดับภูมิภาคให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
พบพร ผดุงพล, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป
ณัฐพล สุกไทย ถ่ายภาพ
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ วีดิทัศน์