ศธ. รับลูกนโยบายรัฐบาล พร้อมผนึกกำลังภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนแก้หนี้ครูฯ เชิงรุกทั้งระบบ

20 ธันวาคม 2566 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. นายวรัท พฤกษาทวีกุล รักษาราชการแทนรองปลัด ศธ. ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการฯ ข้าราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ

รมช.ศธ. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา และมีมติที่สำคัญ ดังนี้

เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูฯ ของรัฐบาล

ที่ประชุมเห็นชอบ การขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาตามแนวทางของรัฐบาลตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวการจัดการหนี้ทั้งในและนอกระบบ โดยครอบคลุมการแก้หนี้ครัวเรือนกว่า 16 ล้านล้านบาท แบ่งลูกหนี้เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19, กลุ่มที่ 2 ผู้ที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืน, กลุ่มที่ 3 ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้ชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 ผู้ที่มีภาระหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นเวลานาน (NPL)

โดยในกลุ่มที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ ตำรวจ และทหาร จะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ

  1. โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้รายย่อย จากธนาคารออมสินไปรวมหนี้เป็นหนี้สหกรณ์ โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่สหกรณ์เพื่อเสริมสภาพคล่องและนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษกับลูกหนี้ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 2 ปี
  2. โครงการสินเชื่อสวัสดิการข้าราชการและบุคลากรภาครัฐอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ของธนาคารออมสิน โดยสามารถขอสินเชื่อสวัสดิการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ อาทิ สินเชื่อเคหะสำหรับซื้อหรือต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สินเชื่อสวัสดิการสำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น และสินเชื่ออเนกประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน
  3. การช่วยเหลือให้มีรายได้คงเหลือเพียงพอดำรงชีพ การผลักดันให้ส่วนราชการ
    กำหนดหลักเกณฑ์การตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของข้าราชการในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือในบัญชีอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด

เห็นชอบให้มีการ MOU ของ ศธ. กับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง

ที่ประชุมเห็นชอบ การเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กับหน่วยงานและสถาบันการเงินจำนวน 12 แห่ง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย ในวันที่ 6 มกราคม 2566 ณ หอประชุมคุรุสภา

โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับประโยชน์จากหน่วยงาน และสถาบันการเงินในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การชะลอการฟ้องบังคับคดี การปรับโครงสร้างหนี้ การให้คำปรึกษาและความรู้ด้านการเงินการออม แต่ MOU ฉบับดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ลงนาม และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 6 มกราคม 2567 จึงเห็นควรให้เตรียมร่าง MOU ฉบับใหม่ ทั้งนี้เนื้อหาอาจมีปรับเปลี่ยนในบางส่วนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อนำเรียน รมว.ศธ. ทราบและลงนามต่อไป

รับทราบการแต่งตั้งบอร์ดแก้หนี้ครูฯ และผลการดำเนินงานแก้หนี้ครูฯ ของ ศธ. ที่ผ่านมา

ที่ประชุมรับทราบ การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดย รมช.ศธ. เป็นประธานและมี นายวรัท พฤกษาทวีกุล ผตร.ศธ. รักษาราชแทน รองปลัด ศธ. เป็นเลขานุการ

ที่ประชุมรับทราบ ผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. ที่ผ่านมา อาทิ
– ลดดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ครูได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยกว่า 5 แสนราย ภาระหนี้สินลดลงทันทีกว่า 2.3 พันล้านบาท สามารถนำเงินไปใช้ในการชำระหนี้ธนาคารออมสินและสถาบันการเงินอื่น ให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินสำหรับครูได้มากขึ้น
– จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคทั่วประเทศ 558 สถานี แบ่งเป็นระดับเขตพื้นที่การศึกษา 481 สถานี มีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธาน ระดับจังหวัด 77 สถานี มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ แก่ครูที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือกว่า4 หมื่นราย รวมมูลค่าหนี้กว่า 5.9 หมื่นล้านบาท
– ปรับโครงสร้างหนี้ โดยรวมหนี้มาไว้กับสถาบันการเงิน ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชำระต่อเดือนน้อยลง ปัจจุบันปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 1.4 แสนราย วงเงินที่ใช้ปรับโครงสร้างหนี้รวมกว่า 1.4 แสนล้านบาท
– ติดอาวุธให้ความรู้และทักษะทางการเงินโดยประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษา สคบศ. สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่ออบรมพัฒนาครู ให้ครูมีความสามารถวางแผนมีวินัยในการบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมกว่า 1 แสนราย ซึ่งผ่านการ
อบรมแล้วไปแล้วกว่า 5 หมื่นราย
– จัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย ในส่วนกลางและภูมิภาค “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 3 จังหวัดสระแก้ว ครั้งที่ 4 จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 5 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งที่ 6 จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ความรู้และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ เป็นต้น

“การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ จะดำเนินงานให้สอดรับกับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยของรัฐบาล ที่แต่งตั้งมา โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการฯ ในคณะนี้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การเจรจากับสถาบันการเงิน การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

ทั้งนี้ รมว.ศธ. ก็ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นรูปธรรม มอบหมายให้สถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่สำรวจสภาพหนี้ และจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สินรวมทั้งจัดทำหลักสูตร e-learning เสริมสร้างการมีวินัยทางการเงิน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้อนุมัติจัดสรรวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูฯ จำนวน 200 ล้านบาท มาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเร่งเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ครูคำนึงถึงแต่ผู้เรียนเป็นสำคัญเพียงอย่างเดียว”