ครม.อนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล

มติคณะรัฐมนตรี (7 พฤษภาคม 2567) เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี พร้อมอนุมัติงบประมาณดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 30,327,930 บาท เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อดูแลเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล มีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิม หรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อการเรียน และไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนในระหว่างภาคการศึกษา และมีความรู้สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพอีกด้วย

หลักการและเหตุผล

ในแต่ละปีมีเด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพจำนวนมากที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านเป็นเวลานานหรือต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สพฐ. โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษร่วมกับโรงพยาบาลได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อให้เด็กได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา

วัตถุประสงค์

  1. สนับสนุนงบประมาณในการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ
  2. ให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
  3. สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุสำนักงานและวัสดุสำหรับใช้จัดการเรียนการสอนสำหรับโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ สธ.
  4. สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับจัดการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนฯ

เป้าหมาย

  1. จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าจ้างครูผู้สอนประจำศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียน จำนวน 151 อัตรา
  2. เด็กที่รักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวนไม่ต่ำกว่า 35,000 คน ได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย
  3. จัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการจัดซื้อวัสดุสำหรับใช้จัดการเรียนการสอนและวัสดุสำนักงานประจำศูนย์การเรียนฯ ในโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ สธ. จำนวน 4 จังหวัด 6 ศูนย์การเรียน
  4. จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับใช้จัดการเรียนการสอนให้แก่ศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียน ประกอบด้วย แท็บเล็ตและอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบภายนอก
  5. ครูผู้สอนประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา มีครุภัณฑ์สำหรับใช้จัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วยและเพียงพอ

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. สามารถลดปัญหาภาคสังคมได้อย่างมาก เนื่องจากเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วย ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม
  2. สามารถลดปัญหาค่าใช่จ่ายของภาครัฐในด้านการศึกษา เนื่องจากเมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมได้อย่างต่อเนื่องหรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อการเรียน และไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนในระหว่างภาคการศึกษาและมีความรู้สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพ