26 ม.ค.2567 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายเฉลิมชนม์ แน่นหนา รองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีมอบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมอบให้แก่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด (แบบออนไลน์) และสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงได้เปิดกรวยกระทงดอกไม้ ถวายธูปเทียนแพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น ชมนิทรรศการ “6 รอบพระชนมพรรษา อาณาราษฎร์ร่มเย็น” แสดงเรื่องของพระราชกรณียกิจ พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กล่าวว่าในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแบบตราสัญลักษณ์พร้อมความหมาย ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ร่วมประดับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ มุมบนหน้าจอโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา และได้มีการขยายผลการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ พร้อมความหมายให้ประชาชนรับทราบ ผ่านช่องทางโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ และป้ายประสัมพันธ์ “สำหรับพิธีมอบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ ในวันนี้ หน่วยงานที่รับมอบจะนำตราสัญลักษณ์ไปประดับที่หน่วยงานของตน โอกาสนี้ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตกแต่งสถานที่ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติไทยคู่กับธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคารสถานที่ของหน่วยงานและบ้านเรือน ตามความเหมาะสม โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า”นางพวงเพ็ชร กล่าว ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตและพระบรมราชวินิจฉัยให้รัฐบาลจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลดังกล่าว และพระราชทานแบบตราสัญลักษณ์พร้อมความหมายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยร่วมกันจัดทำโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระราชกุศลให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ “รัฐบาลขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดตั้งโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมเครื่องราชสักการะ ตกแต่งสถานที่ประดับพระบรมฉายาลักษณ์ ประดับธงชาติไทยคู่กับธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมประดับผ้าระบายสีเหลืองร่วมกับผ้าระบายสีขาว ตามอาคาร สถานที่ของหน่วยงาน บ้านเรือนและจัดการลงนามถวายพระพรภายในหน่วยงานหรือทางเว็บไซต์ ตลอดทั้งปี 2567 รวมทั้งขอความร่วมมือทุกหน่วยงานและสื่อมวลชนประชาสัมพันธ์กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวาระมหามงคลนี้”นายกรัฐมนตรี กล่าว จากนั้น นายกรัฐมนตรีทำพิธีมอบตราสัญลักษณ์พระราชพิธี ให้กับผู้ร่วมพิธี ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวง 19 กระทรวง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สื่อมวลชน 37หน่วยงาน และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด (ผ่านระบบออนไลน์) ทั้งนี้ ส่วนราชการ องค์กรเอกชน หรือหน่วยงานใดมีความประสงค์ขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ เพื่อประดิษฐานในสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ให้แจ้งขออนุญาตไปที่ คณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สอบถาม โทร. 0 2283 4789-91, 0 2283 4775, 0 2283 4787, 0 2283 4780 โทรสาร 0 2283 4809–10 หรือสามารถดาวน์โหลดรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมแบบฟอร์มได้จาก QR Code ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถดูความหมายตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพิ่มเติมได้ที่ https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/2540/iid/250940 ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ/ถ่ายภาพ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
25 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานในสังกัด เข้าร่วม ณ ห้องประชุมวชิราวุธ กระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมฯ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำโครงการที่เหมาะสมกับสถานศึกษา การจัดทำธรรมนูญสุขภาพของนักเรียน ซึ่งถ้าธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมแล้วก็จะเป็นข้อปฏิบัติที่แต่ละโรงเรียนสามารถนำไปใช้ในการออกแบบกฎ ระเบียบ อย่างที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาวะในทุกด้านของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพทางจิต ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์การเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เด็กและวัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น และมีช่วงอายุที่น้อยลงเรื่อย ๆ ปัญหาสารที่เป็นอันตราย ยกตัวอย่างเช่น บุหรี่ไฟฟ้า เพราะปัจจุบันสามารถหาได้ง่ายและอาจจะเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบที่เกิดจากกลุ่มเพื่อนหรือสังคม จึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมการดูแลสุขภาวะของนักเรียนและครูของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่ากระทรวงศึกษาธิการได้มีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และเพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิต และที่สำคัญคือให้โรงเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลนักเรียน ครู และบุคลากรทุกคนในโรงเรียน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมา เรื่องครูนอนเวร ทำให้สังคมตื่นตัว เกิดกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาร่วมกัน ฝากให้ทุกคนร่วมมือกันจัดงานหรือกิจกรรม เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้สังคมมีความตื่นรู้ ว่าสุขภาวะทุกด้านของนักเรียนและครูมีความสำคัญที่ต้องช่วยกันดูแล ทั้งนี้ ศธ. และ สช. ได้เตรียมจัดประชุมปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายฯ สู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมศักยภาพ และสนับสนุนเสริมพลังให้กับหน่วยงานในระดับพื้นที่กำกับดูแลการศึกษา มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้สถานศึกษาในการพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญการศึกษา กลุ่มเป้าหมายได้แก่ ศึกษาธิการภาค/จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้แทน สอศ. สกร. สช. และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ โดยจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2567 ในรูปแบบทั้ง ออนไซต์และออนไลน์ สำหรับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่กำลังคุกคามเด็กและเยาวชน การป้องกันและควบคุมสามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้อันตรายและการเสพติดต่อเด็กและเยาวชน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือบูรณาการสอดแทรกความรู้ให้สอดรับแต่ละระดับช่วงวัยให้รู้เท่าทันการเสพติด รวมทั้งการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างค่านิยมคนรุ่นใหม่ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ที่ผ่านมา ศธ. ได้สั่งการไปยังทุกสถานศึกษาในสังกัดให้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยที่มาจากบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามสูบในสถานศึกษา โดยยึดกฎ ระเบียบ เช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ธรรมดา รวมถึงผู้บริหาร คณะครูต้องตรวจตราภายในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันให้การขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ลดอัตราการเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 145/2567 สั่ง ณ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2567 เรื่อง ให้ข้าราชการรักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค และปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค ทั้ง 18 แห่ง
จังหวัดนครปฐม – นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมข้าราชการบรรจุใหม่หลักสูตร ” การเป็นข้าราชการที่ดี ” ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รุ่นที่ 8 กิจกรรมที่ 2 มีกำหนดจัดขึ้นในรูปแบบ Onsite สัมมนาร่วมกัน ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2567 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รองปลัด ศธ.กล่าวว่า โดยสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552 ข้อ 8 กำหนด ให้ข้าราชการที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งใหม่ต้องได้รับการพัฒนา ตามที่กำหนดใน กฎ ก.พ. ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้ออก กฎ ก.พ. ว่าด้วยการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการและการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ พ.ศ. 2553 ประกอบด้วย 3 กระบวนการ คือ การปฐมนิเทศ การเรียนรู้ด้วยตนเองและการอบรมสัมมนาร่วมกัน รวมถึง ก.ค.ศ. ได้เห็นชอบให้นำ พรบ. ดังกล่าวมาใช้กับข้าราชกาทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ด้วย มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝัง ปรัชญาการเป็นข้าราชการที่ดี เสริมสร้างสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานราชการ ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม การทำงานเป็นทีมและพัฒนาเครือข่ายในการทำงาน รวมถึงเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติจริง และกำหนดรูปแบบการฝึกอบรมแบบผสมผสาน (Blended Learning) และแบ่งกิจกรรมออกเป็น ๓ กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ 1การอบรมสัมมนาร่วมกัน โดยเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการบรรยายในรูปแบบคลิปวิดีโอที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกำหนดซึ่งเป็นหัวข้อวิชา ที่สอดคล้องกับหลักสูตรฯ ดังกล่าว โดยขณะนี้ข้าราชการบรรจุใหม่ทุกคนได้เข้ารับการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งสรุปใบงานสะท้อนการเรียนรู้และมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตามที่กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว กิจกรรมที่ 2การอบรมสัมมนาร่วมกัน (รูปแบบ Onsite) จำนวน 6 วัน ในวันที่ 21 – 26 มกราคม 2567 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา อ.สามพราน จ.นครปฐม รวมถึงการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา ๙o๔ บางเขน กรุงเทพฯ กิจกรรมที่ 3 การอบรมสัมมนาร่วมกัน (รูปแบบ Onsite) ด้วยกิจกรรมค่ายลูกเสือ จำ นวน 4 วัน ในวันที่26 – 29 มกราคม 2567 ณ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีข้าราชการบรรจุใหม่ในสังกัดกูระทรวงศึกษาธิการ ที่เข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 103 คน จำแนก เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ (จำนวน 51 คน) และข้าราชการครูและบูคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) (จำนวน 52คน) จากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 68 คน (ส่วนกลาง สำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด) สำนักงาน ก.ค.ศ. จำนวน 7 คน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวน 13 คน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จำนวน 7 คน สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จำนวน 8 คน โดยได้รับความอุนุเคราะห์จากทีมวิทยากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณตรงที่จะสามารถเสริมสร้างสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานราชการ ทั้งนี้ รองปลัด ศธ. ได้ปลุกอุดมการณ์ ปรับ Mindset ข้าราชการบรรจุใหม่ มุ่งมั่นสู่เป้าหมายและความสำเร็จ ปฏิบัติงานสอดรับนโยบาย รมว.ศธ. “ถูกต้อง รวดเร็ว ประหยัด ประโยชน์” ภายใต้แนวคิด “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” พร้อมการบรรยายพิเศษ มีใจความสำคัญว่า “ทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนภายต่างๆ ขององค์กรให้บรรลุตามเป้าหมายและมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ศักยภาพของบุคลากร จึงเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จในการทำงานขององค์กร บุคลากรที่มีความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้องค์กรมีความเจริญก้าวหน้านำพาไปสู่ผลสำเร็จตามเป้าหมายและข้าราชการรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นทั้งพลังกายและพลังสมองที่สืบทอดตำแหน่งหน้าที่การปฏิบัติงานของการรับราชการ “การที่ข้าราชการบรรจุใหม่ทุกคนได้รับการพัฒนาที่ดี ตั้งแต่เริ่มแรกและต่อเนื่อง จะส่งผลให้เป็นองค์กรมีความเข้มแข็ง มีการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และปัจจุบันข้าราชการได้รับการบรรจุรุ่นใหม่ ภาครัฐได้ให้ความสำคัญที่จะต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่อยู่ระหว่างการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ เพื่อมุ่งเน้นปลูกฝังปรัชญาการเป็นข้าราชการที่ดี พัฒนาจิตสำนึกของการเป็นข้าราชการที่ดี...
24 มกราคม 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยสรุปผลการปฏิบัติราชการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการลงพื้นที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการลงพื้นที่จังหวัดกระบี่และพังงา เมื่อวันที่ 21-22 มกราคม 2567 โดยมีประเด็นการตรวจราชการสำคัญและข้อสั่งการ สรุปได้ ดังนี้ ให้ศึกษาธิการจังหวัด บูรณาการประสานความร่วมมือหน่วยงานการปกครอง และหน่วยงานในพื้นที่ ในการร่วมกันสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา ให้นำระบบ “ตู้แดง” มาใช้ในการป้องกันเหตุ ให้ตำรวจและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) มาร่วมดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาภาพรวม ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน โดยผู้เรียนต้องเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” บนแนวทางการทำงาน “3 ท คือ ทำดี ทำได้ ทำทันที” และ “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการปลูกฝังให้เด็กและบุคลากรทุกคนมีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทยและยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ และการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ และให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนองจัดทำหลักสูตร “อาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท อศ.กช.” โดยการบูรณาการหลักสูตรร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่เพื่อให้การดำเนินงานจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน ให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ นำระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (TMS) เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ครูสามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาได้ด้วยความโปร่งใส เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อลดภาระและขั้นตอนการย้าย ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ บูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมมือกันทำทวิภาคีเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่มีงานและอาชีพ ได้เพิ่มวุฒิการศึกษาและสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไป และผู้เรียนจบได้มีงานทำ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ บูรณาการการทำงานและการจัดการเรียน การสอนร่วมกับชุมชน ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในพื้นที่ในการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ทางทะเลและมหาสมุทรและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ไปสู่การเรียนการสอนในสถานศึกษา ให้ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ทะเลชายฝั่ง ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจและยึดถือผลประโยชน์ของชาติ เด็กและเยาวชนของประเทศเป็นสำคัญ ให้สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ในพื้นที่ ขอความร่วมมือข้าราชการเกษียณอายุราชการที่มีจิตอาสามาเป็น “ครูอาสา” เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนได้มากขึ้น ติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดกระบี่โดยมีข้อสั่งการ ดังนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ขาดแคลนโรงอาหาร บ้านพักครู และมีอาคารเรียนชำรุดทรุดโทรม ในจังหวัดกระบี่เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเร่งด่วน ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ต้องการพัฒนาอาคารเรียน ห้องพักครูและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชายานยนต์ไฟฟ้า EV ในจังหวัดกระบี่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดพังงาโดยมีข้อสั่งการ ดังนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เร่งดำเนินการสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ขาดแคลนโรงอาหารในจังหวัดพังงา เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเร่งด่วน ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างแฟลตสำหรับการพักอาศัยของครูในรูปแบบ Community โดยมีครูหลายโรงเรียนมาพักอาศัยอยู่ร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่พักครู ลดภาระครู เพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงาน และสร้างคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยให้กับเพื่อนครู ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาห้องปฏิบัติการและอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมของสถานศึกษาในจังหวัดพังงา เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 6 จังหวัดอันดามัน (Andaman Wellness Economic Corridor)
18 มกราคม 2567 / นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายธัชกร วงศ์เพ็ง ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป. เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนการลงพื้นติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล) พร้อมด้วยนายโกเมศ กลั่นสมจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. ศึกษาธิการจังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยมีนายอารักษ์ จะรา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระนอง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดระนอง ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมรักษะวาริน วิทยาลัยเทคนิคระนอง นายธัชกร วงศ์เพ็งเปิดเผยว่า การประชุมวันนี้หน่วยงานได้นำเสนอแผนการดำเนินงาน และกำหนดการในการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ ซึ่ง รมว.ศธ. มีกำหนดการเดินทางไปยังจังหวัดชุมพร ในวันที่ 22 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เพื่อตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอน โรงเรียนอนุบาลปะทิว (บางสนพิพิธราษฎร์บำรุง) อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร และเดินทางไปเป็นประธานการประชุมเพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ณ โรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร โดยมีการจัดการประชุม 2 รูปแบบ คือ Online และ On site หลังจากนั้นจะเดินทางไปยังจังหวัดระนอง เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระบุรี ร่วมชมนิทรรศการและรับฟังการนำเสนอผลงานตามนโยบายของรัฐบาลของสำนักงาน สกร.จังหวัดระนอง ร่วมกิจกรรม สกร. ส่งความสุขให้น้อง ประจำปี พ.ศ. 2567 พร้อมมอบสิ่งของ อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา ให้แก่ให้เยาวชน และมอบเครื่องอุปโภค/บริโภค แก่ผู้สูงอายุในอำเภอกระบุรี รวมกว่า 300 ชุด จากนั้นไปยังโรงเรียนไทยรัฐวิทยา67 (บ้านนาพรุ) อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เพื่อเยี่ยมชมเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสถานที่สุดท้ายคือ วิทยาลัยเทคนิคระนอง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เยี่ยมชมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านภาษาสู่การพัฒนาอาชีพ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทักษะอาชีพ การแสดงผลงานนักศึกษา เยี่ยมชมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it center) และมอบนโยบายส่วนราชการทางการศึกษาและติดตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ให้แก่ภาคีเครือข่าย ผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรทางการศึกษาในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีข้อสั่งการมายังบุคลากรทุกท่าน ในการเตรียมการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ รมว.ศธ. โดยขอให้ปฏิบัติงานด้วยมุ่งมั่นตั้งใจ และขอขอบคุณที่มีความทุ่มเทและเสียสละ เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับการแต่งกายขอให้แต่งเครื่องแบบข้าราชการมาด้วยความพร้อมเพรียงกัน 19 มกราคม 2567/ นายธัชกร วงศ์เพ็ง ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป. ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมก่อนการลงพื้นติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ของนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล) พร้อมด้วยนายโกเมศ กลั่นสมจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. คณะทำงาน สป. และคณะทำงานในพื้นที่จังหวัดกระบี่ นำโดยนายอาคม สุชาติพงษ์ ศธจ.กระบี่ และจังหวัดพังงา นำโดยนายนันท์ สังข์ชุม ศธจ.พังงา นายธัชกร วงศ์เพ็งกล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน รมช.ศธ. มีกำหนดการลงพื้นที่ 2 จุด ได้แก่ โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ในวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567 และโรงเรียนอนุบาลพังงา ในวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2567 ตามนโยบายของ รมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งการซักซ้อมเตรียมความพร้อมของทั้งสองจังหวัดค่อนข้างสมบูรณ์ อย่างที่จังหวัดกระบี่ ก็จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ปัญหาต่าง ๆ พบปะบุคลากรทั้งจาก ศธ. หน่วยงานภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้ปกครองและประชาชนจังหวัดกระบี่ กว่า 800 คน โดยจะเน้นการติดตามความคืบหน้าของผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม การอ่านออกเขียนได้ และการแก้ไขหนี้ปัญหาหนี้สินครู ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมนำเสนอมา เพื่อนำไปต่อยอดว่า ศธ.จะช่วยเหลือ ร่วมมือเรื่องใดได้บ้าง ตามแนวทางจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน สำหรับที่โรงเรียนอนุบาลพังงา หน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ได้เตรียมข้อมูลและผลการจัดการเรียนรู้ที่เป็นเลิศตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งมีทั้งการอ่านออกเขียนได้ การจัดการเรียนรู้ที่สร้างรายได้ระหว่างเรียน และการจัดการเรียนรู้แบบ Anywhere Anytime...
18 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., พล.อ.อภิชาติ อุ่นอ่อน ประธานคณะทำงาน รมว.ศธ. ฝ่ายอำนวยการ และคณะ ตรวจเยี่ยมกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยมี นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาราชการแทนอธิบดี สกร. ว่าที่ร้อยเอก วิสาร ปัญญชุณห์ รองอธิบดีสกร. พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบกล่าวว่า การตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ เพื่อรับทราบภารกิจ การดำเนินงานของ สกร. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณวุฒิตามระดับ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนด้านการสอบเทียบ ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และจำเป็นต้องมีมาตรฐานการศึกษาที่มีความชัดเจนอีกด้วย ฝากเน้นย้ำการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครอง อีกทั้งการปฏิบัติงานประจำควรคำนึงถึงความถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด รวมทั้งการพัฒนาการเรียนการสอน และแพลตฟอร์ม ให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และฝากแนวทางในการปฏิบัติงานในเรื่อง Upskill Reskill เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง และนำมาปรับใช้กับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ นายธนากร ดอนเหนือได้รายงานผลการดำเนินงาน ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ อีกทั้งยังได้กล่าวถึงนโยบายที่ รมว.ศธ. ได้สั่งการไว้ โดย สกร. พร้อมขับเคลื่อนตามนโยบายเร่งด่วนและข้อสั่งการของ รมว.ศธ. โดยเฉพาะเรื่องการสอบเทียบ และหลักสูตรการจัดการศึกษา โดยจะดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ จากนั้น รมว.ศธ. และคณะ ได้เดินตรวจเยี่ยมหน่วยงานต่าง ๆ ในกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมทั้งให้กำลังใจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในครั้งนี้อีกด้วย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ข้อมูล/ภาพ
17 มกราคม 2567/ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งในวันครูปีนี้ได้มอบของขวัญวันครูด้วยระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching System : TMS) เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ครูโยกย้ายกลับภูมิลำเนาได้ด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง โดยเริ่มเปิดใช้งานระบบ TMS วันแรกในโอกาสวันครู 16 มกราคม 2567 มีครูสนใจยื่นคำขอร้องย้ายสับเปลี่ยน 321 ราย และจับคู่กันสำเร็จแล้ว 66 ราย สำหรับวิธีดำเนินการย้ายผ่านระบบดิจิทัลในรูปแบบใหม่นี้ เป็นการลดขั้นตอน ลดเอกสาร อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกให้ครูย้ายกลับภูมิลำเนาได้ง่ายขึ้นด้วยความโปร่งใสเป็นธรรม ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งหากพบว่าครูยื่นคำร้องขอย้ายสับเปลี่ยนและสามารถจับคู่ได้แล้ว แต่ไม่สามารถทำการย้ายตามระบบได้ ก็จะมีการนำข้อมูลการยื่นคำร้องจากระบบมาพิจารณาว่าติดขัดตรงจุดใด เพื่อให้ทุกโรงเรียนได้มีบุคลากรซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้ามาทำการสอน โรงเรียนได้ครูครบชั้น และครูมีความสุขกับการสอนตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในระยะเริ่มต้นนี้ ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) จะเป็นรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์https://tms.otepc.go.thและแอพพลิเคชั่น TMS ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง android และ ios เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน โดยผู้ที่ต้องการยื่นขอย้ายสับเปลี่ยนผ่านระบบ TMS จะต้องเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว วิชาที่สอน โดยระบบจะดำเนินการจับคู่กับครูที่มีคุณสมบัติตรงกันที่กรอกข้อมูลเข้ามาในระบบ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการย้ายกรณีปกติได้ “ด้วยความห่วงใยคุณครูทุกท่าน จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงขอเชิญชวนครูที่มีความประสงค์ย้ายกลับบ้าน มีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว สามารถยื่นคำขอร้องย้ายสับเปลี่ยนได้ผ่านระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) ได้ทั้งช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน TMS ในช่วงระหว่างวันที่ 16 – 31 มกราคม 2567 โดยหวังอย่างยิ่งว่าของขวัญนี้จะทำให้ครูทั่วประเทศมีความสุขทั้งกายและใจ มีขวัญกำลังใจในการพัฒนาเยาวชนของชาติอย่างเต็มกำลังต่อไป”นายสิริพงศ์ กล่าว
รมช.ศธ. “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” ลุยตรวจเยี่ยมให้กำลังใจโรงเรียนประสบอุทกภัยใน จ.นราธิวาส พร้อมรับฟังข้อมูลความเสียหาย ก่อนของบกลางฯ ดูแลช่วยเหลือเร่งด่วนตามลำดับ “โรงเรียนสีแดง-เหลือง-เขียว” เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 14 มกราคม 2567นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ณ โรงเรียนอัลเราะห์มานวิทยา, โรงเรียนบ้านสาเมาะ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ร่วมคณะมาด้วย และมี นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายชาร์รีฟท์ สือนิ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น นักเรียน และผู้ปกครอง ร่วมให้การต้อนรับ รมช.ศธ.กล่าวว่า การมาในครั้งนี้ตนได้รับมอบหมายจากพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ให้มาตรวจเยี่ยมและติดตามโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จากนั้นก็จะทำการรวบรวมข้อมูลความเสียหายต่างๆและนำไปรายงานต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ก่อนสรุปข้อมูลและดำเนินการทำเรื่องเสนอของงบกลางจากนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนกับโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายต่อไป โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีโรงเรียนได้รับผลกระทบประมาณ 300 แห่งซึ่งทางเขตพื้นที่การศึกษาได้มีการแยกโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายออกเป็น สีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อให้การช่วยเหลือตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วนก่อนสำหรับความเสียหายที่ได้รับรายงานเบื้องต้น พบว่ามีทั้งอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ รวมไปถึงห้องเรียน กำแพงโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำที่กัดเซาะ เป็นต้น การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นภาพความเสียหายและได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะช่วยทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด สำหรับการช่วยเหลือเมื่อกลับไปจะเร่งดำเนินการของบกลาง โดยเริ่มจากโรงเรียนสีแดงซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน ตามด้วยสีเหลือง และสีเขียวตามลำดับ ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่มีความขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือในด้านอื่นที่จำเป็น ศธ.ก็จะมีการจัดสรร โดยใช้งบฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในการดำเนินการต่อไป “วันนี้ผมรู้สึกดีใจที่ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองทุกท่าน ในยามที่ท่านลำบาก แต่ไม่ได้ดีใจเพราะท่านลำบาก ที่ดีใจเพราะเมื่อท่านลำบากแล้วท่านได้เห็นหน้าผม อย่างไรก็ตามถึงแม้ไม่ใช่ในยามวิกฤตก็จะมาเป็นกำลังใจให้กันและกัน ขอบคุณทุกท่านที่มาให้การต้อนรับ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนขอนำกำลังใจจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.เพิ่มพูนซึ่งถึงแม้ท่านจะไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่ก็ฝากกำลังใจมายังบุคลากรทางการศึกษา พ่อแม่พี่น้องประชาชน และลูกๆ นักเรียนทุกคน ซึ่งท่านได้กำชับให้ตนลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจให้การช่วยเหลือทุกท่านอย่างเร่งด่วน ในส่วนของนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”ของ รมว.ศธ. เป็นความหมายที่เข้าใจง่าย คือ ความสุขเกิดที่ไหน ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความสำเร็จ ก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก โดยความสุขต้องเริ่มจากทุกท่านทั้ง ครู ผู้ปกครอง นักเรียน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ส่วนการลดภาระครู ลดภาระบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนนั้น ขณะนี้กระทรวงกำลังลดภาระครูด้วยการคืนนักการภารโรงให้กับโรงเรียน ซึ่งความสำเร็จต่างๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกท่าน.
10 มกราคม 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์แสดงความคิดเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีคำสั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 นักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ขอแค่มีตัวตน หากมาวันสอบแต่ไม่ส่งงานเลย ก็ต้องตัดเกรด 1 ให้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเข้าใจผิดให้แก่สังคม โฆษก ศธ.กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมาจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่าง สพฐ.ส่วนกลาง ถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในการกำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริม ดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส.) ให้มีผลการเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. และให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งเจตนาคือเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ ศธ. ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียน ผู้สอน โดยซักซ้อมแนวทางการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย รายงานความก้าวหน้า จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุงให้แก่ผู้เรียน วางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการตัดสินผลการเรียนตามบริบทแต่ละพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจพิจารณาจากผลงาน ชิ้นงาน แฟ้มสะสมงาน การสอบปากเปล่า ผ่านซูม ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่น ได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้การตัดสินผลการเรียนจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) เวลาเรียน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และ 2) คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม จะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป ส่วนกรณีที่ผู้เรียนมีผลการเรียนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ต้องจัดสอนซ่อมเสริมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนอย่างทันท่วงที ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดบทบาทการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ทั้งด้านของสถานศึกษา ครู และผู้เรียน “ในอดีต อาจมีการติด 0 ร มส. ค้างเทอม ค้างปี ทำให้เด็กเสียโอกาส เป็นภาระผู้ปกครอง สถานศึกษาจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด ให้เด็กได้แก้ไขจนผ่านเกณฑ์ก่อนจบปีการศึกษา ดังนั้น การกล่าวว่า ศธ. สั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 ร มส. จึงไม่เป็นความจริงทั้งหมด โดยผมขอยืนยันว่า สถานศึกษาทุกแห่งมีมาตรฐาน มีเกณฑ์ ในการประเมินผู้เรียนอยู่แล้ว และสามารถให้เกรดผู้เรียนได้ตามปกติ เพียงแต่ ศธ. ต้องการกระตุ้นให้สถานศึกษาและครู ติดตามเด็กอย่างใกล้ชิด สามารถใช้เครื่องมือ วิธีการสอน สื่อการสอน การเก็บคะแนนที่มีความหลากหลายและทันสมัย เพื่อลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. ซึ่งหากสถานศึกษาทุกแห่งสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ ไม่มีผู้เรียนที่สอบตก หรือติด ร มส. ก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้น สร้างบุคลากรที่มีเข้ามาพัฒนาประเทศได้ต่อไป”โฆษก ศธ. กล่าว กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สป.
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3/2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติกล่าวว่า วันนี้เป็นการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายด้านสุขภาพผู้เรียนและผู้สอนของหน่วยงานในสังกัด ทั้งทิศทางการทำงานที่ผ่านมา และการนำเสนอโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งอยากให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง รวมถึงเน้นย้ำเกี่ยวกับมาตรการในการติดตามประเมินผล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ หากการดำเนินการเป็นไปในทิศทางที่ดีให้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิดปัญหาให้นำมาปรับรูปแบบและวิธีการ พร้อมรีบแจ้งไปยังฝ่ายนโยบายและแผน เพื่อจะได้จัดการในส่วนของการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2568 ล่วงหน้า ตลอดจนขอชื่นชมชุดรูปภาพสวัสดีตอนเช้าที่ สพฐ.ดำเนินการจัดทำเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือเป็นเรื่องเชิงรุกที่สร้างสรรค์และได้รับความสนใจ ขอให้พัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ที่ที่จะถึงนี้ ศธ.จะจัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มอบแทนของขวัญในเดือนแห่งความรักสู่ครูและนักเรียน เป็นรางวัลให้กับประชาชน โดยแต่ละหน่วยงานรวบรวม 14 ความสุขให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่อย่างทั่วถึง โดยจะนำแผนงานส่งความสุขของแต่ละหน่วยงาน เสนอต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณา และจะจัดแถลงข่าวส่งความสุขของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อไป สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการด้านนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มีดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจัดอบรมออนไลน์กับคุณครูโรงเรียนเอกชน 1,292 คน จาก 580 โรงเรียนทั่วประเทศ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาและสถานการณ์เกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ซึ่งได้ปีนี้ได้กำหนดการอบรมแบบเข้มข้นกับโรงเรียนเอกชน 13 จุด โดยเริ่มจาก กทม. เป็นที่แรก มีการทำระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ ใช้แบบคัดกรองปัญหา ปรับพฤติกรรมและให้คำปรึกษา แล้วขยายการอบรมเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงในส่วนภูมิภาคต่อไป สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับกรมสุขภาพจิต จัดทำหลักสูตรพัฒนานักจิตวิทยา ทั้ง 245 เขต เพื่อทำหน้าที่นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน สร้างทักษะที่จำเป็นในพื้นที่โดยใช้เครือข่ายให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการทำงาน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือให้เด็ก ครู และบุคลากรทางการศึกษามีความปลอดภัย ซึ่งมีทีมในระดับเขตพื้นที่สามารถช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ได้ รวมถึงขับเคลื่อนการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม อบรมพัฒนาศักยภาพครูอนามัยและครูแนะแนวที่ดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเฉพาะความพิการ และมีการจัดประกวดสื่อสุขภาพจิตเชิงสร้างสรรค์ สร้างสังคมการเรียนรู้ในโรงเรียน ลดภาวะความเครียดและความซึมเศร้าในโรงเรียนได้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการจัดทำข้อมูลสื่อสารสนเทศที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้เรียน พร้อมขับเคลื่อนโครงการ 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัยอย่างต่อเนื่อง มีระบบการคัดกรองผู้เรียนและบุคลากรด้านสุขภาพจิต ให้ได้รับความรู้และการดูแลช่วยเหลือเป็นหลัก รวมถึงส่งเสริมผู้เรียนที่มีหน้าที่ช่วยครูอนามัย โดยยึดหลักเพื่อนช่วยเพื่อนให้มีความรู้ด้านจิตวิทยา ซึ่งได้ประสานกับสถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงกรมอนามัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้ปกครอง ที่สามารถสนับสนุนการทำงานด้านเสริมสร้างสุขภาพของผู้เรียนร่วมกันได้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดำเนินการจัดทำศูนย์แนะแนว 928 แห่ง มีการตรวจสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ ทักษะชีวิต โดยมีนักศึกษาและประชาชนเป็นเป้าหมาย ซึ่งได้หารือและตั้งคณะทำงานเรียบร้อยแล้ว
5 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีมอบรางวัลการแข่งขันวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ระดับนานาชาติ (ASMOPSS 2023) โดยมี พลเรือเอก ทักษิณ ฤกษ์สังเกตุ กรรมการฝ่ายศึกษาสงเคราะห์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ นางสุมิตรา ทองแสง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานการศึกษา สช. ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง และนักเรียนผู้รับรางวัล เข้าร่วม ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา นายนพ ชีวานันท์กล่าวว่า พิธีมอบรางวัลฯ ในวันนี้ เปรียบเสมือนการรวมตัวของนักเรียนผู้มีความรู้ ความสามารถในระดับชั้นนำของประเทศ ซึ่งกำลังเติบโตไปเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่า เป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต หากเปรียบน้อง ๆ นักเรียนเสมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้องขอบคุณผู้ปกครองที่อยู่เบื้องหลังการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและบรรจงเลือกสรรพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์เพื่อปลูกเมล็ดพันธุ์ให้เติบโต ตลอดจนผู้บริหาร คณะครู อาจารย์ ที่อยู่เบื้องหลังการรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ย จนเมล็ดพันธุ์น้อย ๆ กลายเป็นต้นกล้าที่แข็งแรง และที่ขาดไม่ได้ต้องขอชื่นชมคณะทำงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันตกแต่ง และฟูมฟักต้นกล้าเหล่านี้ให้เติบใหญ่ กลายเป็นต้นไม้ที่สร้างร่มเงาให้กับผู้อื่นได้ภายในอนาคตอันใกล้ “ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ขอชื่นชมนักเรียนทุกคนในความพยายามและความมุ่งมั่น ที่นำพาตนเองมาสู่วันแห่งความสำเร็จวันนี้ได้ ทั้งนี้ด้วยความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีต่อการศึกษา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเติบโตของต้นไม้ทุกต้นคงไม่หยุดยั้งแต่เพียงเท่านี้ แต่จะยิ่งออกดอก ออกผลและขยายเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้เติบโตและงดงามได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นางสุมิตรา ทองแสงกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Asian Science and Mathematics Olympiad for Primary and Secondary Schools หรือ ASMOPSS (แอสมอพส์) จัดการแข่งขันเป็นปีที่ 13 ด้วยความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ทาจิกิสถาน กัมพูชา ไนจีเรีย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เป็นโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับนานาชาติ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เน้นทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์โดยความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นฐาน ตลอดทั้งทักษะในศตวรรษที่ 21 และสร้างความสัมพันธ์ของครูและนักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน โดยในการแข่งขันฯ ครั้งนี้ โรงเรียนกวดวิชาบ้านพีระมิด ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ประเภทกวดวิชา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ร่วมกับโรงเรียนกวดวิชาเอซายน์ และบริษัท ไมราห์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด ผู้ซึ่งได้รับสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันเพื่อคัดเลือกตัวแทนนักเรียนอย่างเป็นทางการเป็นปีที่ 3 ทำการจัดการแข่งขันภายในประเทศ 2 รอบ โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 25,000 คน จาก 990 โรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ จนเหลือนักเรียนผู้แทนประเทศไทยจำนวน 29 คน ไปแข่งขันระดับนานาชาติ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤศจิกายน 2566 จนได้รับเหรียญรางวัลประเภทบุคคล 25 รางวัล และถ้วยรางวัลประเภททีม 8 รางวัล นอกจากการแข่งขันทางด้านวิชาการแล้ว นักเรียนผู้แทนประเทศไทยยังได้นำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยโดยนำเสนอการแสดง “มวยไทย” ซึ่งเป็น Soft Power ของไทยที่ต่างชาติรู้จัก ได้แก่ การแสดงแม่ไม้มวยไทย การไหว้ครูมวยไทย และคีตะมวยไทย ซึ่งการแสดงครั้งนี้ยังสร้างความประทับใจและเป็นที่ชื่นชมแก่ผู้เข้าร่วมแข่งขันจากหลายประเทศเป็นอย่างมาก อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ