เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)มอบนโยบายและเป็นประธานพิธีปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการสร้างและส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี ตามรอยพระยุคลบาทด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอขอบคุณปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารทุกคนที่จัดให้มีโครงการนี้ เพื่อได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ตามนโยบายของ ศธ. “เรียนดี มีความสุข” แบ่งเป็น 2 ด้านคือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ การศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิต ลดภาระของครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งเรื่องการประเมินต่าง ๆ ครูคืนถิ่น ยกเลิกครูเวร การจ้างนักการภารโรง เป็นต้น ส่วนการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง คือ Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา อยากให้การเรียนการสอนมีการบันทึกเทป เมื่อเรียนในห้องเรียนไม่เข้าใจก็สามารถมาดูเทปย้อนหลังได้ เด็กที่ขาดโอกาสก็จะได้เรียนด้วยกัน อาจจะแตกต่างจาก DLTV บ้าง แต่ก็คิดไว้ว่าอาจจะนำ Content ดี ๆ ของ DLTV เพราะ DLTV ก็เกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทำให้เด็กของเราที่ขาดโอกาสในสถานที่ต่างได้เรียนอย่างเท่าเทียม เหมือนเป็นการน้อมนำแนวนโยบายของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาอยู่ประยุกต์ใช้ ให้ทันสมัย รวมทั้งเรื่อง Coaching ก็พยายามทำอยู่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ) ก็ได้เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนเครดิตแบงค์ ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วมีงานทำ ตลอดจนนโยบายที่เพิ่มเติมขึ้นมา เรื่องของอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส ดังนั้นเวทีนี้จึงขอให้พวกเราทุกคนได้มาจับมือกันขับเคลื่อนนโยบายต่อไป โดยศึกษาธิการจังหวัดจะเป็นพลังที่มาช่วยเพิ่มศักยภาพ เน้นในเรื่องของ Anywhere Anytime เช่น โครงการนี้ก็ขอให้ทำเป็นคลิปวีดีโอการให้ความรู้จากวิทยากรประเด็นต่าง ๆ แล้วลองเอาไปฉายให้ลูกน้องดู ให้เขาได้เกิดการคิด วิเคราะห์ จะมาปรับใช้กับยังไงในบริบทของจังหวัดเรา มีสิ่งใดที่เราจะเชื่อมโยงได้ เพื่อสอดประสานกันในการทำงาน “ท่านอาจจะคิดว่าอำนาจของท่านไม่มี จึงอยากขออำนาจที่เป็นของรัฐ ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าอำนาจที่เป็นของรัฐบางทีก็ใช้ไม่ได้ จึงอยากให้ลองทบทวนตัวเราดูว่าเราควรหันมาเพิ่มอำนาจบารมีด้วยตัวเราดีกว่า คือ ทำตนให้เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ทำให้เป็นบุคคลที่ผู้คนรัก เป็นผู้รู้ที่จะคอยแนะ นำสั่งสอน มีมนุษยสัมพันธ์ มีศิลปะในการพูดโน้มน้าว ชักจูงคนในการทำงาน โดยส่วนตัวรัฐมนตรีไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่ได้รู้จากที่ท่านเติมเต็มศักยภาพให้รัฐมนตรี เปรียบเหมือนเป็นครูให้กับรัฐมนตรีที่จะได้เรียนรู้แล้วก็นำความรู้ที่ได้สกัดออกมา แล้วนำมาดำเนินนโยบายด้วยการคิดวิเคราะห์ ปรับใช้กัน ขอฝากไว้ว่าทำอย่างไรให้หน้างานการศึกษาของเรามีคุณค่า เป็นที่ยอมรับของบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ” รมว.ศธ. กล่าว ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว พีระณัฐ ยุชยะทัต/ถ่ายภาพ
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดบุรีรัมย์ ลงนามโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ด้วยพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา อันเป็นการนำร่องในการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวมทั้งมีการขยายผลนวัตกรรมการศึกษาไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567 จึงประกาศให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
9 พฤษภาคม 2567 – พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ E-MEETING รมว.ศธ.เปิดเผยหลังการประชุมว่าขั้นตอนการดำเนินงานที่ทำอยู่บางอย่างอาจมีความยุ่งยากและซ้ำซ้อน จึงมีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ที่มีทั้งหัวหน้าส่วนราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีคุณค่าในการพัฒนาการศึกษา โดยมี สป.ศธ.เป็นแกนหลักของฝ่ายขับเคลื่อนนโยบายติดตามประเมินผล และให้ความสำคัญกับการประสานงานระหว่างผู้ตรวจราชการกับระดับพื้นที่ในการทำงานร่วมกัน สิ่งที่ได้จะเป็นเอกภาพในทำงานร่วมกันมากขึ้น และร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกันในทุกมิติ เพราะการทำงานเพียงฝ่ายเดียวอาจจะมองไม่ครอบคลุม จึงเป็นที่มาของการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น สำหรับในการตรวจราชการที่วางแผนไว้คือจะปรับรูปแบบให้เป็นดิจิทัล มีกระบวนการดึงฐานข้อมูลมาใช้ขับเคลื่อนติดตามการดำเนินงาน และด้วยภาพรวมการศึกษาที่มีกิจกรรมผูกโยงกับหน่วยงานอื่นในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นส่วนท้องถิ่น เอกชน อาชีวะท้องถิ่น จะมีเรื่องหลักสูตรที่ ศธ.รับผิดชอบอยู่ รวมถึงเรื่องการเรียนการสอน อาหารกลางวัน นมโรงเรียน ที่ผูกพันกับหลายหน่วยงาน อาจต้องบูรณาการร่วมกันระดับจังหวัด จะเกิดงานที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนสำคัญที่เน้นย้ำมาตลอดคือผู้เรียนของเราจะต้องมีคุณภาพในด้านการศึกษา อยากให้ร่วมกันสื่อสารนโยบายหรือสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการคาดหวังให้เข้าถึงปลายทาง เห็นทิศทางของกระทรวงไปหาองค์กรหลักต่าง ๆ และวิ่งไปสู่ห้องเรียน คุณครู และสถานศึกษา ทุกฝ่ายต้องรับทราบรับรู้และเข้าใจส่วนเรื่องแผนการดำเนินงาน การตรวจราชการในพื้นที่ก็ต้องดำเนินการให้ชัดเจนเช่นเดียวกัน สุดท้ายนี้ฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการชุดนี้ ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำ “การทำงานที่ดีต้องไม่มีข้อแม้ เพราะเราทำงานกันด้วยหัวใจ” หาจุดแข็งให้เจอเพื่อสนับสนุนในการขยายผลต่อ เชื่อว่าถ้าแม่แบบดีผลผลิตเราก็จะออกมาดีตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ มาตรา 20 วรรค 4 รวมถึงเห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจราชการ พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนการตรวจราชการประจำปี และเห็นชอบระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา พ.ศ.2560 หมวด 2 ข้อ 20 โดยได้คาดหวังว่าการดำเนินการตามแผนการตรวจราชการ และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะเป็นการขับเคลื่อนการนำนโยบายสู่การปฏิบัติให้การดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ บรรลุผลตามเป้าหมาย ตลอดจนรับทราบปัญหา อุปสรรค ข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบผลสำเร็จ และการจัดทำรายงานผลการตรวจราชการ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อการพัฒนาด้านการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป พบพร ผดุงพล / ข่าว พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
8 พฤษภาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 3/2567 โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบประชุมออนไลน์ รมว.ศธ. กล่าวว่าเวลาในการเตรียมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ได้ขยับเข้ามาใกล้ขึ้นทุกที จึงต้องมาร่วมกันดำเนินงานให้เป็นระบบชัดเจน ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะการจัดงานในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว แต่ยังเป็นหน้าเป็นตาของประเทศชาติไปถึงระดับโลก ที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ขอบคุณข้อแนะนำจากทุกฝ่ายที่เป็นประโยชน์ หวังว่างานจะดำเนินขึ้นอย่างราบรื่น และเชื่อมั่นว่าภาพลักษณ์ที่ดีที่เกิดขึ้นภายในงาน จะสร้างความประทับใจในระดับนานาประเทศ จนเกิดความเชื่อมั่นในทุกมิติได้อย่างแน่นอน ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ดังนี้ คณะทำงานด้านการต้อนรับ พิธีการและงานเลี้ยงรับรอง ที่ประชุมเห็นชอบ การดำเนินงานจัดเตรียมด้านการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและการต้อนรับ ไปจนถึงพิธีเปิดประชุมและงานเลี้ยงรับรอง การจัดอาหารว่าง อาหารกลางวัน และอาหารเย็น รวมถึงการจัดเตรียมของที่ระลึกสำหรับหัวหน้าคณะและผู้เข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ ในส่วนของที่ระลึกที่จัดเตรียมเพื่อมอบให้บุคคลสำคัญ จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน เพราะมีคุณค่าและอธิบายความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศเจ้าภาพ และยากที่จะลอกเลียนแบบ คณะทำงานด้านสารัตถะ ที่ประชุมเห็นชอบ การดำเนินงานจัดเตรียมเอกสารคำกล่าว ถ้อยแถลงของบุคคลสำคัญ และเอกสารการดำเนินงานตามแผนงานด้านการศึกษาอาเซียน (SOM-ED) รวมถึงการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ Liaison (LO) ที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานระหว่างการประชุม ให้สื่อสารทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับสมัคร และจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่พร้อมลงพื้นที่ซักซ้อมการปฏิบัติงานในลำดับถัดไป คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมเห็นชอบ การดำเนินงานตามแผนการประชาสัมพันธ์ ในการออกแบบและเผยแพร่ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อโฆษณาจอ Digital Billboard และสื่อโฆษณาภายในสนามบิน จัดทําสปอตโฆษณาวิทยุโทรทัศน์ผ่านสื่อออนไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทําเว็บไซต์http://www.13ASED.moe.go.thให้เข้าถึงแหล่งข้อมูล ลงทะเบียน ดูสถานที่ประชุม ที่พัก สนามบิน สถานที่ดูงาน เอกสารประชุม การเดินทาง แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ และการจัดแถลงข่าวล่วงหน้า 1 เดือน พร้อมเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมในวันงาน คณะทำงานการเดินทาง พาหนะ และรักษาความปลอดภัย ที่ประชุมเห็นชอบ การดำเนินงานจัดเตรียมแผนการเดินทาง ตั้งแต่ รับ – ส่ง บุคคลสำคัญจากท่าอากาศยานภายใประเทศ และทุกเส้นทางพื้นที่ดูงาน จนถึงที่พัก โดยได้ประสานงานขอความอนุเคราะห์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดพาหนะนำขบวนเพื่อความเป็นระเบียบในการจราจรตลอดการเดินทาง รวมถึงขอความอนุเคราะห์ บริษัริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งกํากับดูแลท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง และกรมท่าอากาศยาน ซึ่งกํากับดูแลท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ คณะทำงานสุขภาพและปฐมพยาบาล ที่ประชุมเห็นชอบ การดำเนินงานจัดทำแผนด้านการดูแลสุขภาพและด้านปฐมพยาบาล ด้านการแพทย์และสาธารณสุข แก่หัวหน้าคณะและคณะผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ในการจัดทีมปฏิบัติทางการแพทย์ การวางแผนการอพยพและการส่งต่อทั้งทางบกและอากาศ การเตรียมความพร้อมของระดับสถานพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรค ด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานด้านที่พักและสถานที่จัดการประชุม ที่ประชุมเห็นชอบ การดำเนินงานจัดเตรียมสถานที่ อาทิ ที่พัก ที่ประชุม ห้องพิธีเปิด ห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม และห้องอื่น ๆ พร้อมระบบแสง สี เสียง ระบบอินเตอร์เน็ต รวมถึงการจัดทำป้าย-ธง ป้ายชื่อ ของที่ระลึก นิทรรศการงานเลี้ยงรับรองบุคคลสำคัญ และพิธีกรดำเนินงานผู้มีประสบการณ์ด้านภาษาและการสื่อสารเป็นพิเศษ คณะทำงานด้านการศึกษาดูงานและกิจกรรมพิเศษ ที่ประชุมเห็นชอบ การดำเนินงานจัดเส้นทางสถานที่ศึกษาดูงานด้านการศึกษา ด้านกีฬาและวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจและสังคม และจัดนิทรรศการ ในส่วนนโยบายด้านการศึกษา โดยเฉพาะด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Al Hand gesture detection เขียนบนอากาศภาพปรากฏบนจอเพื่อสั่งการหุ่นยนต์ และ เทคโนโลยีสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการเรียนรู้และพัฒนางานวิจัย รวมถึงนิทรรศการ การจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษา ขั้นพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา, Anywhere Anytime, เรียนดี มีความสุข, ความปลอดภัยในสถานศึกษา, การประเมินนักเรียนและครู, พื้นที่นวัตกรรม และนิทรรศการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กำหนดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งต่อไปในวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 พบพร ผดุงพล / ข่าว นัทสร ทองกำเหนิด / ภาพ
8 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 17/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการนั้น มีภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการในหลายภารกิจ จึงขอให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือในการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพัฒนาความรู้และพัฒนาสมรรถนะ สร้างความตระหนักและมีความตื่นตัวในการปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยขอให้ทุกหน่วยงานยึดนโยบายการทำงานด้วยความ“ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด”ไปเป็นแนวทางในทุกภารกิจที่ดำเนินการอยู่ นโยบายการทำงานด้วยความ “ถูกต้อง” การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา รมว.ศธ.กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานทั้งหน่วยงานในสังกัด ศธ. และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาเชิงรุก ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การดำเนินงานของสหกรณ์ และวาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยยึดแนวทางการทำงานด้วยความ“ถูกต้อง” โดย สพฐ. ได้จัดทำระบบบริหารงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการทางการเงินและสร้างองค์ความรู้ พร้อมทั้งนำความรู้ไปขยายผลส่งต่อความรู้สู่ผู้อื่นได้ โดยมีแนวทางในการดำเนินการ คือการคลายทุกข์ด้วยการเติมความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสร้างความตระหนักในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง และยังมีการดำเนินการกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากร ประสานเจรจา ขอความร่วมมือ ปรับปรุง แก้ไขระเบียบ กฎหมาย และกำหนดแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหา พร้อมสนับสนุนสถานีแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 แห่ง ให้มี OBEC Money Coach ที่จะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาสมรรถนะด้านการเงินของครู บุคลากรและนักเรียนทุกคน การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานวางแผนการดำเนินงาน กำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งหาจัดทำแนวทางการนำระบบสารสนเทศด้านการรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดสามารถเข้ามากรอกข้อมูลผลการดำเนินงานเป็นรายโครงการในแต่ละสัปดาห์ โดยการจัดทำแอปพลิเคชันหรือระบบในการจัดทำงบประมาณและการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานในสังกัด โดยนำเสนอในรูปแบบ Dashboard ซึ่งต้องมีการพัฒนาขยายหน่วยงานผู้เข้าใช้ระบบงานให้ครอบคลุมทั้ง ศธ. โดยการดำเนินงานต้องคำนึงถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยึดแนวทางการทำงานด้วยความ“ถูกต้อง”และต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระเจ้าหน้าที่และบุคลากรในองค์กร ฝากผู้บริหารทุกคนต้องมีการขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินการผลการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง นโยบายการทำงานด้วยความ “รวดเร็ว” การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รมว.ศธ.กล่าวว่า การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 เห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการปรับอัตราเงินเดือนใหม่พร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิ เป็นกลุ่มของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บรรจุใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และ 1 พฤษภาคม 2568 และ กลุ่มที่ 2 การปรับเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นกลุ่มของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ (วันที่ 1 พ.ค. 67 และ 1 พ.ค. 68) และได้รับอัตราเงินเดือนไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนดให้ได้รับการปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละคุณวุฒิ ซึ่งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบคุณวุฒิให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดด้วยความถูกต้อง และ“รวดเร็ว”เร่งออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยย้ำว่า “ทุกหน่วยงานต้องไม่มีการตกเบิก” หรือถ้ามีการตกเบิกต้องเป็นเฉพาะรายเท่านั้น ซึ่งขอให้เร่งดำเนินการและรายงานให้ รมว.ศธ. ทราบถึงสาเหตุของการตกเบิกทันที การยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA และ O-NET รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายด้วยความ“รวดเร็ว” ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA การสอบ O-NET รวมถึงการสอบในประเภทต่าง ๆ นั้น ถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารทุกคน เป็นมิติของนักบริหารจัดการ คือการคิดและบริหารขับเคลื่อนให้การยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานสอดประสานกันและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และต้องมีการสื่อสารแนวทางการดำเนินการ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้สังคมด้วยความรวดเร็วและชัดเจน สิ่งที่สำคัญอีกประการคือการทำให้นักเรียน มองเห็นถึงความสำคัญและมีความมุ่งมั่น ในการเข้ารับการทดสอบในทุกประเภท เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนและผลระดับผลการทดสอบระดับประเทศ ต้องสร้างแรงจูงใจ สร้างความสนใจ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการสอบ ให้แก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาทุกคน ทั้งนี้ ได้รับทราบการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA สำหรับวิทยากรแกนนำของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดย สพฐ. ร่วมกับ สสวท....
มติคณะรัฐมนตรี (7 พฤษภาคม 2567) เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี พร้อมอนุมัติงบประมาณดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 30,327,930 บาท เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อดูแลเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล มีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิม หรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อการเรียน และไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนในระหว่างภาคการศึกษา และมีความรู้สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพอีกด้วย หลักการและเหตุผล ในแต่ละปีมีเด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพจำนวนมากที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านเป็นเวลานานหรือต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สพฐ. โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษร่วมกับโรงพยาบาลได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อให้เด็กได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา วัตถุประสงค์ สนับสนุนงบประมาณในการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ ให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุสำนักงานและวัสดุสำหรับใช้จัดการเรียนการสอนสำหรับโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ สธ. สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับจัดการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนฯ เป้าหมาย จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าจ้างครูผู้สอนประจำศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียน จำนวน 151 อัตรา เด็กที่รักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวนไม่ต่ำกว่า 35,000 คน ได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย จัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการจัดซื้อวัสดุสำหรับใช้จัดการเรียนการสอนและวัสดุสำนักงานประจำศูนย์การเรียนฯ ในโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ สธ. จำนวน 4 จังหวัด 6 ศูนย์การเรียน จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับใช้จัดการเรียนการสอนให้แก่ศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียน ประกอบด้วย แท็บเล็ตและอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบภายนอก ครูผู้สอนประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา มีครุภัณฑ์สำหรับใช้จัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วยและเพียงพอ ประโยชน์ที่ได้รับ สามารถลดปัญหาภาคสังคมได้อย่างมาก เนื่องจากเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วย ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม สามารถลดปัญหาค่าใช่จ่ายของภาครัฐในด้านการศึกษา เนื่องจากเมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมได้อย่างต่อเนื่องหรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อการเรียน และไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนในระหว่างภาคการศึกษาและมีความรู้สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพ
7 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ ทักษะการวางแผน และองค์ความรู้ทางการเงินและการออม ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ชั้น 4 หอประชุมคุรุสภา รมว.ศธ.กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคประชาชนและบุคลากรภาครัฐ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เห็นผล จนสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมไปพร้อมกัน ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นประเด็นสำคัญหนึ่งของนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการลดภาระครูฯ ซึ่ง รมว.ศธ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ขอขอบคุณกลุ่มตัวแทนจากทุกหน่วยงาน ที่มาร่วมขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้ฯ ถือเป็นการสร้างโมเดลในการแก้ไขปัญหา ที่จะสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาได้ เพราะเมื่อทุกคนมีความรู้และทักษะการวางแผนทางการเงินและการออม มีวินัยการบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถถ่ายทอด ต่อยอด ขยายความรู้ไปยังผู้อื่น เปรียบดังหมอที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาและจะช่วยเยียวยารักษาคนไข้ ให้มีสภาพคล่อง สร้างขวัญกำลังใจ สามารถเป็นต้นแบบในการวางแผนพัฒนาตนเองจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้อย่างเต็มศักยภาพ “สิ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน คือ ต้องมีวินัยในตนเอง เมื่อมีวินัยในตนเองก็จะสามารถจัดการสภาพคล่องของตนเองได้ และเชื่อว่าเราจะสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านไปได้ ด้วยการจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ร่วมกันเสริมสร้างสมรรถนะด้านการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ ทั้งในส่วนของครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทุกคน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการ วางแผนทางการเงิน การสร้างวินัยการออม รวมทั้งการลงทุนให้เกิดรายได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างดี และมีความสุข” นางเกศทิพย์ ศุภวานิชกล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรของ รมว.ศธ. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากร สพฐ. ได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือครู บุคลากรและนักเรียนทุกคน ในส่วนของครู บุคลากรต้องมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น มีเงินเดือนเหลือมากกว่าร้อยละ 30 เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเอง ในส่วนของนักเรียนต้องมีความรู้ และทักษะด้านการเงิน เพื่อให้มีสมรรถนะด้านการเงินพร้อมใช้ชีวิตในอนาคต เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้มีการดำเนินการจัดตั้งสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งจัดทำระบบออนไลน์รับลงทะเบียนผู้สมัครใจแก้ไขหนี้สิน ตลอดจนการประสานและเจรจาสถาบันการเงิน เพื่อลดดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ แสวงหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง “นับเป็นอีกย่างก้าวหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ผ่านการอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ มีทักษะการวางแผนทางการเงินและการออม ป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินรายบุคคล รวมถึงพัฒนาบุคลากรต้นแบบการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยตนเอง ตลอดจนพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นที่ปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ OBEC Money Coach ซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญในการช่วยเหลือ 245 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นสถานีแก้หนี้ ในการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่เพื่อนครูทั่วประเทศต่อไป” สำหรับพิธีเปิดฯ มีผู้บริหารระดับสูง ศธ. เข้าร่วม อาทิ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา, นางเกศทิพย์ ศุภวานิช นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. และนางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา โดยได้เกียรติจากนายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ (โค้ชหนุ่ม) และคณะ มาเป็นวิทยากรพร้อมดำเนินการพัฒนาหลักสูตร“เสริมสภาพคล่องการเงินครู” และ “ครูไทยการเงินดีมีความสุข เกษียณสบาย”การอบรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม 2567 / ผู้เข้าอบรมประกอบด้วยข้าราชการครูและบุคลากร สังกัด สป. สพฐ. สอศ. กคศ. สกสค. และ สกร. รวมทั้งสิ้น 168 คน อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
3 พฤษภาคม 2567/ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นำทีมนักศึกษาอาชีวะ Kick Off ล้างแอร์เครื่องแรกในโครงการอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ ฟรี! ณ บ้านของนายศีลชัย คล้อยวงศ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ย่านถนนสุคันธาราม เขตดุสิต กรุงเทพฯ รมว.ศธ.กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดโครงการอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ ฟรี! โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาแอร์ การใช้แอร์อย่างถูกวิธี หากแอร์สกปรกเราก็จะเข้ามาช่วยล้างแอร์ให้ เพื่อยืดอายุการใช้งานและเป็นการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของประชาชนในหน้าร้อนนี้ “การ Kick Off วันนี้เป็นการเริ่มล้างแอร์ที่บ้านหลังแรกของโครงการฯ ในชุมชนสุคันธาราม ซึ่งพอได้มาดูด้วยตัวเองแล้วรู้สึกว่าคิดถูกที่มาเริ่มต้นที่นี่ เพราะสภาพแอร์ไม่เคยถูกล้างเลย จึงเป็นการ Kick Off ที่ได้ประโยชน์มาก ทำให้รัฐมนตรีและทีมงานได้เห็นว่า พี่น้องประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ บางเรื่องที่สามารถดูแลบำรุงรักษาแอร์เองได้ อย่างเช่นฟิลเตอร์กรองอากาศ หากสกปรกก็สามารถถอดนำออกมาล้างด้วยตัวเองได้ เพราะการมีฝุ่นสะสมในฟิลเตอร์นั้นนอกจากจะทำให้อากาศถ่ายเทอากาศไม่สะดวกแล้ว ยังทำให้แอร์ต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลกับความชื้นและเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ซึ่งการนำไปล้างทำความสะอาด เป่าลม ก็จะช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้นได้ รวมถึงการล้างทำความสะอาดแผงคอยล์เย็น ก็ช่วยให้ทำให้แอร์เย็นเร็วขึ้นและประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะหน้าร้อนอย่างนี้ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันลดพลังงาน เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการคลายร้อนอีกแรงหนึ่ง” รมว.ศธ.กล่าว ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนทางhttp://www.vec.go.th, Facebook : ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ QR Code ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เมื่อลงทะเบียนสมบูรณ์แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปนัดหมายวันเวลาเพื่อเข้าไปล้างแอร์ให้ฟรี โดยโครงการฯ นี้ได้ตั้งเป้าหมายการล้างแอร์ฟรี 7,200 จุด ทั่วประเทศ ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว พีรณัช ยุตยะทัช / ถ่ายภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา / กราฟิก
2 พฤษภาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 5/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ดังนี้ 1. คณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมเห็นชอบ นโยบาย ทิศทาง กรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทยกระทรวงศึกษาธิการ รายละเอียดกิจกรรมและมอบหมายผู้รับผิดชอบ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าใจและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีรากฐานจิตสำนึกรักความเป็นไทย มีคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยม และหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและสถาบันสำคัญของชาติ เป็นพลเมืองที่ดี ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการด้านการดำเนินงานของบุคคลและหน่วยงานภายนอกที่เข้าจัดกิจกรรมในสถานศึกษา ที่มีผลต่อหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและสถาบันหลักของชาติ มีการจัดทำข้อกำหนดและเงื่อนไขการจัดกิจกรรม จัดทำคู่มือหรือเอกสารแนะนำที่ชัดเจน รวมถึงกำกับดูแล ติดตามและประเมินผลและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการอนุรักษ์ประเพณีไหว้ครูและขับเคลื่อนสู่การเป็น Soft Power ของชาติ โดยผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาดำเนินการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่นักเรียนและนักศึกษาเกี่ยวกับ พิธีไหว้ครู รวมถึงส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมในสถานศึกษา เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม 2. คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างดําเนินการขอจัดสรรงบประมาณจัดเตรียมการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การดําเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับหน่วยงานราชการ และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง 13 หน่วยงาน และร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเตรียมการจัดทําโปรแกรมออนไลน์ “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อย่างเป็นรูปธรรม 3. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทําแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต คณะทำงานด้านการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกสื่อเทคโนโลยีสำหรับผู้เรียนระดับปฐมวัยตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้เพื่ออาชีพและมีงานทำ เพื่อนำเข้าสู่ ดิจิทัลแพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ (NDLP) คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรการป้องกันและเสริมสร้างความรอบรู้ อันตรายจากการเสพติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา และยาเสพติดทุกประเภท พร้อมขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะทำงานการขับเคลื่อนงานแนะแนว (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ได้ดำเนินการพัฒนาเสริมพลังใจครูแนะแนวเพื่อการดูแลสุขภาพจิต การแนะแนวและการ Coaching นักเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และมีโครงการ “Fine MyFuture” แนะแนวการศึกษา อาชีพ ส่วนตัวและสังคม พร้อมศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบแนะแนวของประเทศไทย และจัดโครงการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) 4. คณะอนุกรรมการจัดทําระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate)และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) มีการดำเนินงาน ดังนี้ สกศ. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ. จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองคุณวุฒิ พร้อมขอเพิ่มอัตราเงินเดือนสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง และขอเทียบคุณวุฒิระดับ ม.ปลาย และทักษะอาชีพ ให้เทียบเท่ากับระดับ ปวช. เพื่อใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน สพฐ. ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามการรับนักเรียนในโครงการทวิศึกษาแนวใหม่ปีการศึกษา 2567 ผ่านระบบ DMC และอยู่ระหว่างช่วงโรงเรียนดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อเตรียมการส่งเสริมการจัดการการศึกษาทวีศึกษาปีการศึกษา 2567 สอศ. ประกาศใช้หลักสูตร สอศ. 2567 และอนุมัติหลักสูตร ปวช. และ ปวส. พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงาน และมาตรฐานสากล ส่วนหลักสูตร ปวพ. กำลังดำเนินการรวบรวมผลการประชา พิจารณ์ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรฐานหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะ และสำหรับศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการ ติดตามการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ทดสอบ, จัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการพัฒนาแรงงาน, ประกาศและแจ้งหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ, จัดกำระบบสืบค้นข้อมูลและฐานข้อมูลศูนย์กดสอบ, เชื่อมโยงนำระบบข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์ม EWE และจัดทำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนจัดทำระบบ วัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ สกร. ดำเนินการจัดทำร่างหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องด้านอาชีพให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ และจัดอบรมอาชีพเสริมในชุมชนทั่วประเทศ โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมจบแล้วมีงานทำ จำนวนทั้งสิ้น 27,205 คน สช. การประชุมวิพากษ์หลักสูตรโรงเรียนนอกระบบที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ กลุ่มวิชาชีพเสริมสวยและตัดเย็บเสื้อผ้า และกลุ่มวิชาชีพบริบาล จำนวน 15 หลักสูตร 5. คณะอนุกรรมการจัดทําระบบการวัดผล เทียบระดับการศึกษา ประเมินผลการศึกษา และธนาคารเครดิตแห่งชาติ ดำเนินการออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบการศึกษาในระบบ (สพฐ.), รูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สกร.) และรูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี (สอศ.) พร้อมจัดทำคู่มือและออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานของแต่ละระดับการศึกษา ติดตามประเมินผลและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกองค์กร 6. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา เตรียมดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษาระหว่าง สป.ศธ. สพฐ. สอศ. สกร. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมถึงจัดทำร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนและนักศึกษา ตามนโยบายไม่ใช้ความรุนแรงหรือการกระทำที่สมควรแก่เหตุในสถานศึกษา และดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำทะเบียนนักเรียน...
3 พฤษภาคม 2567/ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมีความกังวลของผู้ปกครองเกี่ยวกับการที่โรงเรียนจะไม่ออกใบรับรองผลการเรียน (Transcript) หรือเลื่อนชั้นให้นักเรียน หากพบว่ายังมีการค้างชำระเงินบำรุงการศึกษากับโรงเรียนอยู่ ซึ่งประเด็นนี้ตนได้สั่งการให้ สพฐ.ไปดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว จึงอยากให้ผู้ปกครองทุกคนมั่นใจว่าการจบการศึกษาหรือการเลื่อนชั้นของนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการติดค้างค่าใช้จ่ายหรือค่าบำรุงการศึกษาอื่นใด และทางโรงเรียนไม่สามารถใช้ประเด็นนี้ในการไม่ออกเอกสารใบรับรองผลการเรียน (Transcript) หรือการเลื่อนชั้นให้นักเรียนในทุกกรณี กรณีนักเรียนที่ค้างชำระค่าใช้จ่ายกับโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถประสานทางโรงเรียนเพื่อพิจารณาผ่อนชำระค่าใช้จ่ายได้ ซึ่ง สพฐ. มีแนวทางการเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา ตามหนังสือที่ ศธ. 14006/ว769 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา สังกัด สพฐ. อย่างเคร่งครัด หากพบว่านักเรียนและผู้ปกครองมีความจำเป็น ไม่สามารถชำระค่าใช้จ่ายได้ โรงเรียนจะต้องหาวิธีการช่วยเหลือ โดยอาจทำข้อตกลงผ่อนชำระหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครองให้ได้ “นโยบายการศึกษาของ ศธ. ที่เน้นย้ำมาตลอดคือ “เรียนดีมีความสุข” โดยเฉพาะความสุขนั้น ต้องสามารถสร้างให้ได้ครบทุกมิติ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต้องได้รับความสุขด้วย ซึ่งผู้ปกครองและนักเรียนจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรงที่ ศธ.จะดูแลเเบ่งเบาภาระด้านต่าง ๆ ดังนั้นพวกเราจะทำทุกอย่างเต็มที่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น ให้นักเรียนได้จบการศึกษาและได้เรียนต่อ ขณะนี้ได้มอบหมายให้ สพม. และ สพป. ติดตามกำกับให้ทุกโรงเรียนดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว โดยคำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นสำคัญ” รมว.ศธ. กล่าว ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว
2 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom meeting โดยมีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยคุณสมบัติและจำนวนครูหรือผู้สอนของโรงเรียนนอกระบบ พ.ศ. …. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยคุณสมบัติและจำนวนครูหรือผู้สอนของโรงเรียนนอกระบบ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนครูหรือผู้สอนในโรงเรียนนอกระบบของแต่ละประเภท ให้มีความเหมาะสมกับหลักสูตรที่เปิดทำการสอนและมีจำนวนที่เหมาะสมกับนักเรียน อันจะทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนปรับแก้ร่างระเบียบฯ ตามข้อสังเกตของที่ประชุม และเสนอร่างระเบียบฯ ดังกล่าว ให้รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาลงนามต่อไป เห็นชอบระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา พ.ศ. …. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา พ.ศ. …. เพื่อให้การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ในสถานที่ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียน อาจจัดทำหรือแปลงให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานกำหนด ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเสนอร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา พ.ศ. ….ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาลงนามต่อไป ที่ประชุมได้รับทราบ 2 ประเด็น รับทราบรายงานการแต่งตั้งผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ และกรรมการในคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ได้มีมติแต่งตั้งให้ นางสาวจินตนา สุชนชาติ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ สำหรับการแต่งตั้งกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ในแต่ละด้าน ได้แก่ 1) นางดวงพร วิวรรธนวรางค์ กรรมการประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงิน การคลัง 2) นายชูพงศ์ ปิ่นพุทธิกุล กรรมการประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารกองทุน และ 3) นายวรัชญ์ เพชรร่วง กรรมการประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย รับทราบรายงานประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษสำหรับโรงเรียนในระบบ ประเภทสามัญศึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับโรงเรียนในระบบ ประเภทสามัญศึกษา ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เพื่อประโยชน์ในการขยายโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียน และเพื่อให้การดำเนินการมีมาตรฐานเป็นแนวทางเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย ส่วนที่ 1 บททั่วไป ส่วนที่ 2 หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอน และส่วนที่ 3 การกำกับ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนครั้งต่อไป (ครั้งที่ 3/2567) ในวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ประชาสัมพันธ์ สช. / ข่าว พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
2 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 16/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA ตามที่ สพฐ. ร่วมกับ สสวท. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสมรรถนะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง PISA นั้น ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา การเข้าร่วมการฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและการเตรียมความพร้อมการเป็นวิทยากรพี่เลี้ยง ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ) การเข้ารับอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ หรือ PISA สำหรับวิทยากรแกนนำ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และการอบรมเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Paced Learning) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงาน วางแผนการดำเนินงาน กำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ มีการกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วันที่จัดทำรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ จำแนกเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายไตรมาส ตามเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในภาพรวมของประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เพื่อให้การรายงานผลฯ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้จัดทำปฏิทินการทำงาน (Timeline) ในเรื่องของแผนงานโครงการที่เป็นงบรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงาน พร้อมระบุรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินแต่ละช่วงเวลาที่ชัดเจน พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการวางระบบสารสนเทศด้านการรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดสามารถเข้ามากรอกข้อมูลผลการดำเนินงานเป็นรายโครงการในแต่ละสัปดาห์ โดยดำเนินการใน 2 มิติ คือ การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณฯ และการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณฯ วางแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยจัดทำแอปพลิเคชัน ระบบการรายงานผลแบบ Real Time การดำเนินการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง ประจำปีงบประมาณ 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในการจัดสรรอัตราจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งนักการภารโรง ซึ่งขณะนี้ สพฐ. ได้จัดสรรอัตราจ้างทั้งสิ้นรวม 13,304 อัตรา คงเหลืออัตราที่ยังไม่ได้จัดสรรจำนวน 447 อัตรา จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จด้วยความรวดเร็วให้ทันต่อการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2567 พร้อมมอบให้ ผอ.สพท. สำรวจว่าในแต่ละสถานศึกษาในเขตความรับผิดชอบ ได้ดำเนินการจ้างนักการภารโรงครบถ้วนถูกต้องในอัตราที่ได้รับจัดสรรหรือไม่ และเร่งรายงานให้ เลขาธิการ กพฐ. รับทราบ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยของอาคารสถานที่และทรัพย์สินของโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดภาระของครู ทำให้ครูสามารถทำหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งการมีนักการภารโรงจะช่วยดูแลสภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค ดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยของครูและนักเรียน การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง รมว.ศธ.กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคมนี้ ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ในส่วนของจัดเตรียมความพร้อมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ ในการดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนฯ จำนวน 7 คณะ คือ 1) คณะทำงานด้านต้อนรับพิธีการและงานเลี้ยงรับรอง 2) คณะทำงานด้านสารัตถะ 3) คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ 4) คณะทำงานด้านการเดินทางพาหนะและรักษาความปลอดภัย 5) คณะทำงานด้านที่พักและสถานที่จัดการประชุม 6) คณะทำงานด้านสุขภาพและปฐมพยาบาล และ 7) คณะทำงานด้านการศึกษาดูงานและกิจกรรมพิเศษ พร้อมมอบหมายให้ทุกฝ่ายกำกับ ติดตามการดำเนินงาน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานภายใต้คณะทำงานด้านต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมการจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนอย่างเคร่งครัด และกำหนดปฏิทินการทำงานให้ชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ขอให้ทุกหน่วยงาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของประเทศสมาชิก เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรม/โครงการภายใต้แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน และแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาและภารกิจด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอให้คณะทำงานด้านต่าง ๆ ดำเนินงานด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้งานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ “โครงการ 72 กิจกรรม ศึกษาธิการ เทิดไท้องค์ราชัน 72 พรรษา” รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้รับทราบแผนการดำเนินโครงการ 72 กิจกรรม ศึกษาธิการ เทิดไท้องค์ราชัน...
2 พฤษภาคม 2567/ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าวโครงการ “อาชีวะล้างแอร์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ดำเนินกิจกรรมล้างแอร์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงฤดูร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และประหยัดพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยมีนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ออกให้บริการในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ต่างๆ ที่ประชาชนได้ขอรับบริการ พร้อมให้ข้อมูลความรู้พื้นฐาน แนะนำการดูแล บำรุงรักษา รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.ขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนใช้บริการล้างแอร์ ในกิจกรรมอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ ฟรี! ได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ทางhttp://www.vec.go.th, Facebook : ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ QR Code เพื่อลดการใช้พลังงาน สร้างอากาศสะอาด และได้รับการดูแลรักษาแอร์ในครัวเรือนให้มีสภาพใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างคุณภาพอากาศที่ดีภายในบ้าน ลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานในภาพรวมของประเทศด้วย เพราะการล้างแอร์ทุก ๆ 6 เดือน จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ได้อย่างน้อย 10% เลขาธิการ กอศ.กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประชาชนจะได้รับบริการล้างแอร์ ฟรี จากนักศึกษาอาชีวะแล้ว น้องๆ ยังได้พัฒนาทักษะและเพิ่มประสบการณ์วิชาชีพ ด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพิ่มศักยภาพตนเอง เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ เป็น “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” ต่อไป ปารัชญ์ ไชยเวช/ ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ/ถ่ายภาพ
1 พฤษภาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรในสังกัด เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผ่านระบบ Conference รมว.ศธ.กล่าวว่าวันนี้ถือเป็นการมอบนโยบายเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนของอาชีวะ ซึ่ง สอศ.ได้ติดตามเรื่องการรับสมัครผู้เรียนสายอาชีพในสถาบันอาชีวศึกษามาโดยตลอด โดยขณะนี้มียอดผู้สมัครจำนวน 100,000 กว่าราย และจะประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจากข้อมูลการรายงานได้ทราบว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนให้ความสำคัญกับการเรียนสายสามัญมากขึ้น ส่วนการตัดสินใจของผู้เรียนนั้นมีหลายปัจจัยที่จะเลือกเรียนสายที่ตนเองถนัด ซึ่งบางคนอาจจะสนใจทางสายสามัญมากกว่า หรือบางคนอาจไม่พร้อมเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ออกไปเรียนหรือทำงานต่อที่ต่างประเทศ จนต้องออกกลางคันระหว่างเรียน หลังจากมอบแนวทางติดตามผู้เรียนให้กลับมาเรียนแล้ว จากนี้จึงต้องดูแลแก้ไขทุกมิติให้มีคุณภาพ ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัย สอศ.ได้วางแผนป้องกันและกำชับเรื่องบริหารจัดการกับทุกสถานศึกษาในสังกัดเรียบร้อยแล้ว เช่น เรื่องยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า การทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน ซึ่งได้มีการเฝ้าระวังในรูปแบบเชิงรุก ประสานความร่วมมือกับตำรวจนครบาลหารือในประเด็นที่เห็นว่าสามารถร่วมกันจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และคาดว่าจะมีการทำ MOU ระหว่าง สอศ. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรการป้องกันให้เข้มข้นมากขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกัน ส่วนการป้องกันปัญหายาเสพติดในสถาบันอาชีวศึกษา จะเน้นถึงการสื่อสารให้เข้าใจถึงพิษภัยยาเสพติด รวมไปถึงขอความร่วมมือจากชุมชนเข้มแข็ง เพื่อนอาชีวะ ช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตาในการป้องกัน ไม่ให้มีการจำหน่ายและเสพทั้งในและนอกสถานศึกษา และพยายามให้กำลังใจกันให้ตระหนักรู้ถึงอันตรายที่ตามมา “ตอนนี้สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำและประชาสัมพันธ์คือเรื่องการป้องกันการทะเลาะวิวาท เรื่องปัญหายาเสพติด และเรื่องสุขาดี มีความสุข ตามการบริหารจัดการ 4 มิติ ทั้งการบริหารจัดการศึกษา สถานศึกษา ครูและบุคลากร และ นักเรียนและนักศึกษา ที่ต้องร่วมกันทำให้มีคุณภาพ เป็นมาตรฐานเท่าเทียมกัน เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชนทั่วไปว่าจบจากสถาบันอาชีวศึกษาแล้ว ผู้เรียนเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการในตลาดแรงงานที่รับเข้าไปทำงานได้ เพราะการเรียนสายอาชีพมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำแน่นอน” รมว.ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ