15 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมมอบนโยบายการทำงาน “เรียนดี มีความสุข” เพื่อลดภาระครูและบุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง ด้วยแนวทางการทำงาน “ทำดี ทำได้ ทำทันที” และเดินสำรวจบรรยากาศในสถานที่ทำงาน และให้กำลังใจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช นายพัฒนะ พัฒนทวีดล นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้บริหารทุกระดับให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 4 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และYouTube OBEC Channel รมว.ศธ.กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการนั้น จะสำเร็จไปได้ก็ด้วยความร่วมมือของทุกคน สพฐ. ก็ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญยิ่ง ที่จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการศึกษา เพื่อพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพและมีคุณค่า สร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากมาโรงเรียน ร่วมกันแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ และการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา “Anywhere Anytime” ตลอดการดำรงตำแหน่ง รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำนโยบายหลักคือ “เรียนดี มีความสุข” โดยมีเป้าหมายในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งการมอบนโยบายในวันนี้ สพฐ. ได้นำเสนอผลงานที่ผ่านมา เป็นที่น่าชื่นชม อาทิ การลดภาระครูทั้งในเรื่องการประเมินวิทยฐานะ การพัฒนาระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่นำงานธุรการมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำแทน เป็นที่น่าพอใจและทำได้ดี ตลอดจนการดำเนินการโครงการการเรียนการสอนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่สร้าง 183 โรงเรียน DLTV ต้นแบบ Best of the Best ให้เป็นเครือข่ายโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง สร้างโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ ทั้งนี้ ได้กำชับให้เข้มงวดเรื่องการทุจริต โดยเฉพาะเรื่องอาหารกลางวันนักเรียนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จ.แม่ฮ่องสอน ที่เมนูอาหารกลางวันเป็นไข่ต้มกับน้ำปลา ซึ่งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยตนต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เป็นโรงเรียนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาของสังคม ครูสละเวลาและอุทิศตนทำงานอย่างหนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่อยากให้เหมารวม เพราะโรงเรียนราชประชานุเคราะห์อีกหลายแห่งบริหารจัดการตัวเองได้เป็นอย่างดี สำหรับการจัดทำการประเมินผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาด้วยรูปแบบใหม่นั้น ต้องการให้ผู้รับการประเมินเป็นผู้บอกเองว่าทำอะไรได้แบบไหน เพราะต้องยอมรับว่าทรัพยากรด้านงบประมาณและงานบุคคลต่าง ๆ แตกต่างกันตามบริบทแต่ละพื้นที่ ผู้รับการประเมินต้องรู้ตัวดีว่ามีศักยภาพทำได้มากน้อยแค่ไหน “ชื่นชมบุคลากรของ สพฐ. ที่ได้มีการขับเคลื่อนงานและนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอฝากให้บุคลากรทุกท่านปฏิบัติงานด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด นึกถึงประโยชน์ขององค์กร ประโยชน์ของส่วนรวม ประโยชน์ของ ศธ.เป็นหลัก อะไรที่ดีมีประโยชน์ก็ขอให้แนะนำมาได้ เพราะแนวคิดของทุกคนจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา ตนเชื่อมั่นเสมอว่าหากครูมีความสุขจะทำให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น สุดท้ายหลังจบการประชุมฝากให้ผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับทำแบบสอบถามและนำข้อแนะนำกลับมาให้ผมพิจารณา เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ณัฐพล สุกไทย/ ภาพ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
12 มกราคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้ รมช.ศธ.ได้ร่วมใส่เสื้อคลุมนารูโตะในพิธีเปิดงานวันเด็กฯ เช่นเดียวกับ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้ร่วมกันใส่ชุดคอสเพลย์เป็นตัวการ์ตูนต่างๆ เพื่อร่วมกิจกรรมวันเด็กกับนักเรียนและเด็ก ๆ ที่มาร่วมงาน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน รมช.ศธ.กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจําปี 2567 ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจําจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ได้ให้ความสำคัญกับการจัดงานวันเด็กเป็นอย่างมาก โดยการจัดงานวันเด็กในวันนี้ เราทุกคนตระหนักถึงความสําคัญของเด็กและเยาวชน ว่าจะเติบโตขึ้นเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ทั้งยังเชื่อว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นจะทําให้เด็กและเยาวชนได้รับความรัก ความอบอุ่น ความปรารถนาดีจากผู้ใหญ่ และจะทําให้เด็กรู้สึกตระหนักถึงความสําคัญในบทบาทหน้าที่ของตนเองที่มีต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ นําไปสู่การสร้างพลังที่เป็นหนึ่ง ในพลังแห่งการพัฒนาต่อไปสําหรับคําขวัญวันเด็ก ปี 2567 จากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คือ “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เป็นคําที่มีความหมายตรงประเด็น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สําคัญสําหรับเด็กและเยาวชน ในสถานการณ์ปัจจุบัน “ขอให้เชื่อว่าเยาวชนทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศชาติ จงฝึกฝนเด็ก ๆ ของเราให้พร้อม ให้โอกาสพวกเขาได้แสดงความสามารถในมิติต่าง ๆ ตลอดจนปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อให้เกิดทักษะ และมีประสบการณ์ สามารถนําความรู้ไปใช้ในการดํารงชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป ขอขอบคุณคณะกรรมการดําเนินการจัดงาน ผู้มีอุปการคุณทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานวันเด็กแห่งชาติครั้งนี้ และขออวยพรให้เด็ก ๆ ทุกคนพร้อมด้วยครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และมีความสุขตลอดไป”รมช.ศธ. กล่าว
10 มกราคม 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อออนไลน์แสดงความคิดเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีคำสั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 นักเรียนไม่ต้องเข้าเรียน ไม่ส่งงาน ขอแค่มีตัวตน หากมาวันสอบแต่ไม่ส่งงานเลย ก็ต้องตัดเกรด 1 ให้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเข้าใจผิดให้แก่สังคม โฆษก ศธ.กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมาจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่าง สพฐ.ส่วนกลาง ถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาให้เกิดความเข้าใจชัดเจนในการกำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริม ดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส.) ให้มีผลการเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. และให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งเจตนาคือเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ ศธ. ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียน ผู้สอน โดยซักซ้อมแนวทางการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ด้วยเครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย รายงานความก้าวหน้า จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุงให้แก่ผู้เรียน วางแผนออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการตัดสินผลการเรียนตามบริบทแต่ละพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อสอบเพียงอย่างเดียว อาจพิจารณาจากผลงาน ชิ้นงาน แฟ้มสะสมงาน การสอบปากเปล่า ผ่านซูม ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่น ได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้การตัดสินผลการเรียนจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) เวลาเรียน ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และ 2) คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม จะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป ส่วนกรณีที่ผู้เรียนมีผลการเรียนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ต้องจัดสอนซ่อมเสริมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผู้เรียนอย่างทันท่วงที ซึ่ง สพฐ.ได้กำหนดบทบาทการปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ทั้งด้านของสถานศึกษา ครู และผู้เรียน “ในอดีต อาจมีการติด 0 ร มส. ค้างเทอม ค้างปี ทำให้เด็กเสียโอกาส เป็นภาระผู้ปกครอง สถานศึกษาจึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด ให้เด็กได้แก้ไขจนผ่านเกณฑ์ก่อนจบปีการศึกษา ดังนั้น การกล่าวว่า ศธ. สั่งไม่ให้นักเรียนติด 0 ร มส. จึงไม่เป็นความจริงทั้งหมด โดยผมขอยืนยันว่า สถานศึกษาทุกแห่งมีมาตรฐาน มีเกณฑ์ ในการประเมินผู้เรียนอยู่แล้ว และสามารถให้เกรดผู้เรียนได้ตามปกติ เพียงแต่ ศธ. ต้องการกระตุ้นให้สถานศึกษาและครู ติดตามเด็กอย่างใกล้ชิด สามารถใช้เครื่องมือ วิธีการสอน สื่อการสอน การเก็บคะแนนที่มีความหลากหลายและทันสมัย เพื่อลดปัญหาของผู้เรียนในการติด 0 ร มส. ซึ่งหากสถานศึกษาทุกแห่งสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ ไม่มีผู้เรียนที่สอบตก หรือติด ร มส. ก็จะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้สูงขึ้น สร้างบุคลากรที่มีเข้ามาพัฒนาประเทศได้ต่อไป”โฆษก ศธ. กล่าว กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สป.
8 มกราคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ณ โรงเรียนจักราชวิทยา จ.นครราชสีมา โดยมี นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมคณะมาด้วย และมี นายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า วันนี้มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. จากการรับฟังการกล่าวรายงานจะเห็นได้ว่าจังหวัดนครราชสีมามีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จํานวน 7 เขตพื้นที่การศึกษา และมีเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจํานวน 1 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ตรวจราชการในครั้งนี้ โรงเรียนจักราชวิทยาเป็นหนึ่งในโรงเรียนตัวอย่างของการจัดการศึกษาตามนโยบายของศธ. จังหวัดนครราชสีมามีโรงเรียนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ในสังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวนมาก ดังนั้นการมาตรวจเยี่ยมเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้นำข้อเสนอแนะต่างๆไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายต่อไป “การจัดงานในวันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ สพม. และ สพป. นครราชสีมา ได้เล็งเห็นถึงความสําคัญของการจัดการศึกษา อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในทุกๆด้าน และอีกสิ่งที่สำคัญของการลงพื้นที่คือการได้รับฟังเสียงสะท้อนและปัญหาอุปสรรคต่างๆจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมากหากเรื่องไหนสามารถทำได้ก็พร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ศธ.กำลังดำเนินการแก้ปัญหาการศึกษาและลดภาระครู เช่น การคืนนักการภารโรงสู่โรงเรียนกว่า 12,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ครูมีเวลาสอนในห้องเรียนมากขึ้น ,การใช้ครูธุรการร่วมกันในโรงเรียนเล็กๆ เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนที่ไม่มีครูธุรการ ,การอุดหนุนอาหารกลางวันให้กับเด็ก ม.1-ม.3 ในโรงเรียนขยายโอกาส ,การพิจารณาเงินอุดหนุนค่าเดินทางเด็กในอัตราใหม่ให้สอดรับกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน การสร้างบ้านพักให้กับบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้เขตพื้นที่ร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหาการสอบ PISA รอบต่อไปที่จะต้องร่วมมือกันทำให้ผลการสอบ PISA ดีขึ้น ขอขอบคุณและขอชื่นชม ท่านผู้บริหาร คณะครู นักเรียน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมและการแสดงผลงานต่างๆในครั้งนี้ ขออวยพรให้การจัดงาน บรรลุผลสําเร็จตามเป้าหมายตรงตามวัตถุประสงค์ของการ จัดงานทุกประการ”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว จากนั้น รมช.ศธ.พร้อมคณะได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการของนักเรียนและมอบอุปกรณ์กีฬาให้นักเรียน
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน ๔ ราย ดังนี้ ๑. นายอรรถพล สังขวาสีพ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๒. นายสุเทพ แก่งสันเทียะพ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง ๓. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดาพ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และแต่งตั้งให้ดำรงดำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๔. นายยศพล เวณุโกเศศพ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มาhttps://ratchakitcha.soc.go.th/documents/11756.pdf