วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.30 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โปรดให้ พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ เป็นผู้เชิญของขวัญพระราชทานมอบแก่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2568 โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมในพิธีเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ยังความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทั้งยังเป็นสิริมงคลแก่คณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ในการเริ่มต้นปีพุทธศักราช 2568
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
สกก.สป.จัดทำหลักเกณฑ์และคู่มือการประกวดระเบียบแถวลูกเสือ-เนตรนารีทุกประเภท ใช้เป็นแนวทางในการประกวดระเบียบแถวลูกเสือ-เนตรนารี ทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ ให้มีความถูกต้องชัดเจน และมีมาตรฐาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร. วรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมจัดทำหลักเกณฑ์และคู่มือการประกวดระเบียบแถวลูกเสือ – เนตรนารี ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการส่งเสริมระเบียบแถวลูกเสือ – เนตรนารี โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านลูกเสือ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรจากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเข้าร่วมประชุม กว่า 50 คน ณ โรงแรมริเวอร์ไลน์ เพลส โฮเทล แอนด์ เรสซิ เด้นซ์ จังหวัดนนทบุรี รองปลัด ศธ. กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) มีความคาดหวังอยากให้เด็กไทยมีคุณลักษณะ 3 เรื่อง ความมีวินัย ความซื่อสัตย์ และทักษะชีวิต ภายใต้กระบวนการลูกเสือ โดยขบวนการลูกเสือ (Scout Movement) หรือการลูกเสือ คือกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสรรค์ให้เกิดพลังของเด็ก เยาวชน และคนหนุ่มสาว โดยวิธีลูกเสือ(Scout method) ซึ่งเป็นโปรแกรมการฝึกอบรมที่เพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการและความสนใจตามช่วงวัย โดยเน้นกิจกรรมกลางแจ้งที่สนุกสนาน ทันสมัย และสามารถนำไปใช้เหลือตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้จริง การประกวดระเบียบแถวลูกเสือ เนตรนารี ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของกระบวนการลูกเสือที่จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนได้หันมาให้ความสนใจในกิจการลูกเสือมากยิ่งขึ้น และเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกเสือ เนตรนารี และบุคลากรทางการลูกเสือทั่วประเทศได้มีโอกาสพบปะ และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต ความเป็นผู้นำ การอยู่ร่วมกัน สร้างความมีระเบียบวินัย ความเข้มแข็ง อดทน ตลอดจนสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตอันมีค่าที่ไม่อาจหาได้จากการเรียนการสอนในชั้นเรียน สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการจัดทำหลักเกณฑ์และคู่มือการประกวดระเบียบแถวลูกเสือ – เนตรนารี ทุกประเภทให้สอดคล้องกับปัจจุบัน โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมการประกวดระเบียบแถวลูกเสือ เนตรนารี ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สถานศึกษา บุคลากรทางการลูกเสือ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการประกวดระเบียบแถว และด้านการจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ ร่วมกันระดมความคิดเห็นและตรวจความถูกต้องของคู่มือและหลักเกณฑ์การประกวดระเบียบแถวลูกเสือ เนตรนารี ทุกประเภท ให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง สามารถใช้เป็นแนวทางในการเข้าร่วมการประกวดระเบียบแถวฯ ของสถานศึกษา และเป็นเครื่องมือสำหรับคณะกรรมการตัดสินการประกวดระเบียบแถวฯ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ นำไปใช้ตัดสินให้เกิดความถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
17 มกราคม 2567/ นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษา เดินทางเข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นวันแรก หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียน และทดแทนตำแหน่งที่ว่าง เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา TikTok :https://vt.tiktok.com/ZSNKqeD7e/ นายธนู ขวัญเดชกล่าวว่า ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตำแหน่งที่เคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว การขับเคลื่อนงานช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปตามกระบวนการดำเนินการที่ควรจะเป็น แต่สิ่งอื่นใดคงดำเนินการคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยทีมงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดในการขับเคลื่อนงานด้วย เพราะการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการเป็นลักษณะของการประสานงานระหว่างกันมากกว่าการสั่งการ วันนี้ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่ให้การต้อนรับอย่างดีเสมอมา โอกาสนี้ นายธนู ขวัญเดช ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงศึกษาธิการเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนการปฏิบัติหน้าที่ในวันแรก รวมทั้งพบปะพูดคุย ขอบคุณผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่มาร่วมแสดงความยินดีและให้การต้อนรับ ปารัชญ์ ไชยเวช / ภาพ-ข่าว สหัสยา จันทร์หอม / TikTok อานนท์ วิชานนท์ / กราฟิก
15 มกราคม 2567 – นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาคุรุสัมพันธ์วันครู ครั้งที่ 68 พ.ศ. 2567 พร้อมให้โอวาทแก่นักกีฬาผู้เข้าร่วมแข่งขัน โดย นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์ ศึกษาธิการจังหวัดนครปฐม พร้อมคณะผู้บริหารจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ให้การต้อนรับ ณ สนามกีฬาโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา รองปลัด ศธ.กล่าวว่า วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬาคุรุสัมพันธ์วันครู ครั้งที่ 68 พ.ศ. 2567 ที่จังหวัดนครปฐมในครั้งนี้ ขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจ ให้การสนับสนุนกิจกรรมจัดการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครู อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง รวมถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดนครปฐม ขอชื่นชมขอเป็นกำลังใจให้นักกีฬาผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน มุ่งมั่น ตั้งใจ แข่งขันกีฬาอย่างเต็มความสามารถ รู้จักแพ้รู้จักชนะ และรู้จักอภัย หวังว่าวันนี้ทุกฝ่ายจะได้รับความสนุกสนานและทำกิจกรรมร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรา ชาวกระทรวงศึกษาธิการทุกสังกัด เราทำงานด้วยกันภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ครูและบุคลากรก็ต้องมีความสุขด้วยไปด้วยกัน ขอให้การแข่งขันกีฬาคุรุสัมพันธ์วันครูในครั้งนี้ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายในทิศทางที่ดีร่วมกัน นายคงกระพัน เวฬุสาโรจน์กล่าวว่า ในนามของคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาคุรุสัมพันธ์วันครูครั้งที่ 68 ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดนครปฐม ขอขอบคุณความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะกรรมการดำเนินงานทุกภาคส่วน นักกีฬาผู้เข้าร่วม และผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันกีฬาคุรุสัมพันธ์วันครูในครั้งนี้ ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการประกวดแข่งขันฟุตบอลผู้บริหาร, ฟุตบอลครู, วอลเลย์บอลครูชาย/หญิง, เปตองชาย/หญิง, ขบวนพาเหรด, ส้มตำลีลา, กีฬาพื้นบ้าน และประกวดร้องเพลงชาย/หญิง และหลังจากตัดสินการประกวดทุกประเภทเรียบร้อยแล้ว จะประกาศผลและมอบโล่รางวัลในวันที่ 16 มกราคม 2567 ต่อไป พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
15 มกราคม 2567 / นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานประชุมคณะทำงานร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2567 โดยมีผู้บริหารและผู้แทน 13 หน่วยงานพันธมิตร เข้าร่วม ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ และระบบออนไลน์ ปลัด ศธ.เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เห็นชอบและรับทราบความคืบหน้าแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ซึ่งปัญหาหนี้สินของประชาชนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบยังคงเผชิญปัญหาหนี้เรื้อรัง โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ประสบปัญหาหนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ จึงเห็นควรสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาภายใต้กรอบภารกิจของทั้ง 14 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงยุติธรรม (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, กรมบังคับคดี), กรมส่งเสริมสหกรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด, สมาคมธนาคารไทย, สถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อย่างเป็นรูปธรรม มีสภาพคล่องในการชำระหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นระบบ อีกทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงินมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและได้รับความเชื่อมั่นจากสมาชิกผู้ใช้บริการและบุคคลทั่วไป รวมทั้งพัฒนาระบบบริหารการเงิน การจัดการหนี้สิน เพิ่มสภาพคล่อง สร้างความเป็นธรรม จัดสวัสดิการให้ครูฯ ตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาครูฯ ให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้ จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ขึ้น ทดแทนฉบับเดิมที่สิ้นสุดลงในวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
10 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ให้แก่คณะอนุกรรมการ ใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา 245 เขต ออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting และเปิดตัวระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) เพื่อมอบให้เป็นของขวัญแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันครู ปี 2567 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวว่า คณะอนุกรรมการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาทุกท่านถือได้ว่าเป็นผู้นำทางการศึกษาในพื้นที่ เป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารงานบุคคลสู่การปฏิบัติเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมในแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้เกิดขึ้นกับทั้งตัวผู้เรียน สถานศึกษา รวมไปถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อจะนำไปสู่นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ดังนั้นขอฝากท่านคณะอนุกรรมการทุกท่านให้นำนโยบายในเรื่องของการ “เรียนดี มีความสุข” ไปขับเคลื่อน ในเขตพื้นที่การศึกษาของท่าน รวมทั้งต้องสร้างจริยธรรมด้านการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้เกิดขึ้นในทุก ๆ ระดับ หากทุกภาคส่วนของการศึกษาทำงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส เป็นธรรมในการบริหารงาน ก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีทั้งในด้านความสุขของผู้เรียน ขวัญและกำลังใจของครูและบุคลากรทางศึกษา และในท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าด้านการศึกษาของประเทศ รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งดำเนินการนโยบายในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะประเด็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นนั้น ครูต้องสามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาได้ด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง มีการใช้บทลงโทษอย่างเข้มงวดและเด็ดขาดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการเรียกรับผลประโยชน์ในการโยกย้ายหรือแต่งตั้ง รวมทั้งได้พัฒนาระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับการดำเนินการย้ายกรณีปกติในรูปแบบของการย้ายสับเปลี่ยน ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างในการทุจริตระหว่างกระบวนการขอย้ายอีกด้วย “ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น คือแอปพลิเคชันการจับคู่ย้าย ขณะนี้เป็นระยะเบื้องต้นง่าย ๆ ในกรอบงบดำเนินการก่อน โดยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาลงข้อมูลในระบบว่าอยากย้ายไปที่ไหน เมื่อมีผู้เข้ามาดูแล้วมีความต้องการตรงกันก็จะจับคู่กันให้ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่เจ้าตัวจะนำเสนอคณะอนุกรรมการ อ.ก.ค.ศ. ในการดำเนินการพิจารณาปรับย้าย อีกทั้งยังสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าเมื่อมีการจับคู่แล้ว ทำไมถึงมีกรณีไม่ให้ย้ายตามผู้ขอย้ายต้องการ กรณีเหล่านี้ต้องมีคำอธิบายได้ ซึ่งในระยะต่อไปจะทำระบบให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เชื่อว่าต่อไปถ้า ศธ.มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนต่าง ๆ ลงไป ครูก็จะได้มีขวัญกำลังใจ มีเวลา สามารถทุ่มเทเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้ ความดีงามสู่สังคมให้ประเทศชาติก้าวหน้าต่อไป”รมว.ศธ.กล่าว ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะเริ่มต้น สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้จัดทำระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) ซึ่งมีทั้งในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์https://tms.otepc.go.thและแอพพลิเคชั่น TMS ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง android และ ios เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน โดยผู้ที่ต้องการยื่นขอย้ายสับเปลี่ยนผ่านระบบ TMS จะต้องเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว วิชาที่สอน ระบบจะดำเนินการจับคู่กับครูที่มีคุณสมบัติตรงกันที่กรอกข้อมูลเข้ามาในระบบ จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการย้ายกรณีปกติได้ และในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบสำหรับการย้ายทุกกรณีให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ครูสามารถใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจะเปิดใช้งานระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) มอบให้เป็นของขวัญวันครู ปี 2567 เพื่อให้ครูได้ยื่นคำขอร้องย้ายสับเปลี่ยนได้ในช่วงระหว่างวันที่ 16 – 31 มกราคม 2567 ที่จะถึงนี้ ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๗ สำหรับลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๖๗ ความว่า “รถยนต์ที่วิ่งเป็นปรกติทั่วไปได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มักถูกออกแบบให้มี ๔ ล้อเป็นอย่างน้อย ล้อนั้นเรียกอีกอย่างว่า “จักร” เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งช่วยนำพาให้ผู้ขับขี่รถยนต์นั้นสามารถเดินทางไปสู่ที่หมายได้สำเร็จ ถ้าขาดล้อใดล้อหนึ่ง หรือยางล้อใดแบนหรือแตกไป ก็อาจไม่ถึงที่หมาย หรือกว่าจะไปถึงก็เนิ่นช้าเสียเวลา หรืออาจเป็นอันตรายไปกลางทางได้ การดำเนินชีวิตของผู้หวังความสำเร็จก็อุปมาดุจกัน ย่อมจำเป็นต้องมี“จักร ๔”เป็นหลักธรรมนำไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย๑.ปฏิรูปเทสวาสะหมายถึง การอยู่ในถิ่นอันเหมาะสม๒.สัปปุริสูปสังเสวะหมายถึง การเข้าไปคบหากับคนดี๓.อัตสัมมาปณิธิหมายถึง การตั้งตนไว้ชอบด้วยสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ และ๔.ปุพเพกตปุญตาหมายถึง ความเป็นผู้สั่งสมความดีไว้ก่อนแล้ว เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่จะพาบ้านเมืองไทยให้รุ่งเรืองสืบไป จึงขอให้ผู้ใหญ่เร่งปลูกฝังและสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้หนักแน่นในจักร ๔ และขอให้เด็ก ๆ จงรักษาตนให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอันสมควร ห่างไกลอบายมุข คบหาทำความสนิทสนมแต่เฉพาะมิตรที่ชักพาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ไม่ประพฤติชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่คิดชั่ว อีกทั้งหมั่นสั่งสมความดี ด้วยการตั้งใจพากเพียรศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น เพื่อเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต ขออำนวยพรให้เด็กและเยาวชนทุกคน มีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์จักร ๔ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอจงรักษาเพิ่มพูนคุณลักษณะความเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม เพื่ออนาคตของตน และสังคมไทยที่รักของเราทุกคน.” สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
สำนักพิมพ์มติชน – 9 มกราคม 2567 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแสดงความยินดีกับหนังสือพิมพ์มติชน เนื่องในวันคล้ายวันก่อตั้ง ‘หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน’ ครบรอบปีที่ 46 เข้าสู่ปีที่ 47 และขอบคุณการนำเสนอข่าวของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน และคณะผู้บริหารในเครือมติชน ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร ได้เข้ากราบนมัสการสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือเจ้าคุณธงชัย เนื่องในโอกาสปีใหม่ พุทธศักราช 2567 เพื่อความเป็นสิริมงคล พบพร ผดุงพล / ข่าว อานนท์ วิชานนท์ / ภาพ
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 3/2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติกล่าวว่า วันนี้เป็นการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายด้านสุขภาพผู้เรียนและผู้สอนของหน่วยงานในสังกัด ทั้งทิศทางการทำงานที่ผ่านมา และการนำเสนอโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งอยากให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง รวมถึงเน้นย้ำเกี่ยวกับมาตรการในการติดตามประเมินผล ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ หากการดำเนินการเป็นไปในทิศทางที่ดีให้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิดปัญหาให้นำมาปรับรูปแบบและวิธีการ พร้อมรีบแจ้งไปยังฝ่ายนโยบายและแผน เพื่อจะได้จัดการในส่วนของการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2568 ล่วงหน้า ตลอดจนขอชื่นชมชุดรูปภาพสวัสดีตอนเช้าที่ สพฐ.ดำเนินการจัดทำเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือเป็นเรื่องเชิงรุกที่สร้างสรรค์และได้รับความสนใจ ขอให้พัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ที่ที่จะถึงนี้ ศธ.จะจัดแถลงข่าวผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มอบแทนของขวัญในเดือนแห่งความรักสู่ครูและนักเรียน เป็นรางวัลให้กับประชาชน โดยแต่ละหน่วยงานรวบรวม 14 ความสุขให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่อย่างทั่วถึง โดยจะนำแผนงานส่งความสุขของแต่ละหน่วยงาน เสนอต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณา และจะจัดแถลงข่าวส่งความสุขของกระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ต่อไป สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการด้านนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ มีดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยจัดอบรมออนไลน์กับคุณครูโรงเรียนเอกชน 1,292 คน จาก 580 โรงเรียนทั่วประเทศ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาและสถานการณ์เกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ซึ่งได้ปีนี้ได้กำหนดการอบรมแบบเข้มข้นกับโรงเรียนเอกชน 13 จุด โดยเริ่มจาก กทม. เป็นที่แรก มีการทำระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ ใช้แบบคัดกรองปัญหา ปรับพฤติกรรมและให้คำปรึกษา แล้วขยายการอบรมเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงในส่วนภูมิภาคต่อไป สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับกรมสุขภาพจิต จัดทำหลักสูตรพัฒนานักจิตวิทยา ทั้ง 245 เขต เพื่อทำหน้าที่นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน สร้างทักษะที่จำเป็นในพื้นที่โดยใช้เครือข่ายให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการทำงาน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือให้เด็ก ครู และบุคลากรทางการศึกษามีความปลอดภัย ซึ่งมีทีมในระดับเขตพื้นที่สามารถช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์ได้ รวมถึงขับเคลื่อนการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม อบรมพัฒนาศักยภาพครูอนามัยและครูแนะแนวที่ดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเฉพาะความพิการ และมีการจัดประกวดสื่อสุขภาพจิตเชิงสร้างสรรค์ สร้างสังคมการเรียนรู้ในโรงเรียน ลดภาวะความเครียดและความซึมเศร้าในโรงเรียนได้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการจัดทำข้อมูลสื่อสารสนเทศที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้เรียน พร้อมขับเคลื่อนโครงการ 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัยอย่างต่อเนื่อง มีระบบการคัดกรองผู้เรียนและบุคลากรด้านสุขภาพจิต ให้ได้รับความรู้และการดูแลช่วยเหลือเป็นหลัก รวมถึงส่งเสริมผู้เรียนที่มีหน้าที่ช่วยครูอนามัย โดยยึดหลักเพื่อนช่วยเพื่อนให้มีความรู้ด้านจิตวิทยา ซึ่งได้ประสานกับสถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงกรมอนามัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้ปกครอง ที่สามารถสนับสนุนการทำงานด้านเสริมสร้างสุขภาพของผู้เรียนร่วมกันได้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดำเนินการจัดทำศูนย์แนะแนว 928 แห่ง มีการตรวจสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ ทักษะชีวิต โดยมีนักศึกษาและประชาชนเป็นเป้าหมาย ซึ่งได้หารือและตั้งคณะทำงานเรียบร้อยแล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทสำหรับลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ปี 2567ดังนี้ “ความสุขความสบายทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการทำงานและทำความดี เด็กทุกคนจึงต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และฝึกฝนอบรมตนให้เต็มที่ จะได้สามารถประกอบอาชีพการงาน และปฏิบัติบำเพ็ญความดี เพื่อสร้างสรรค์ความสุขความเจริญทั้งของตนเองและส่วนรวมได้ในอนาคต” พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต วันที่ 3 มกราคม พุทธศักราช 2567
สาร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาส “วันเด็กแห่งชาติ” ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 เด็กและเยาวชนมีส่วนสำคัญในการร่วมกำหนดอนาคตของสังคมและประเทศชาติ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็กและเยาวชนที่จะต้องได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ และการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทุกมิติอย่างเหมาะสม ทั้งด้านสุขภาวะทางกายและจิตใจ รวมทั้งมีประสบการณ์และทักษะการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน และมีความพร้อมสำหรับการโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต โดยรัฐบาลมุ่งมั่นสร้างโอกาสในทุกด้านให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งปลูกฝังความเป็นคนดี มีวินัย มีคุณธรรมและจริยธรรม ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ผมได้มอบคำขวัญว่า “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เพื่อให้เด็ก เยาวชน รวมถึงผู้ปกครองทุกคนตระหนักว่า โลกปัจจุบันเชื่อมโยงกันไร้พรมแดนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีมุมมองที่กว้างขวางเป็นสากล มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมทั้งเป็นผู้ที่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับตัวให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเป็นพลเมืองที่เคารพและยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายในทุกมิติ มีความคิดและจิตใจที่เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อันเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมแห่งประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและเป็นพลังในการพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เหนือสิ่งอื่นใดเป็นผู้ที่ธำรงไว้และนำอัตลักษณ์ความเป็นไทยไปสู่สากล เนื่องในโอกาส “วันเด็กแห่งชาติ” ประจำปีพุทธศักราช 2567 ผมขออวยพรให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคน ประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเพียบพร้อมไปด้วยความสุขและความมั่นคงในการดำรงชีวิต เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบสาร เนื่องในโอกาส “วันเด็กแห่งชาติ” ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567
27 ธันวาคม 2566 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. ให้ข้อคิดและข้อแนะนำแก่คณะนักเรียนผู้ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 15 จำนวน 171 คน พร้อมร่วมแสดงความยินดีกับนักเรียนทุนฯ ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี จำนวน 88 คน และนักเรียนผู้รับทุนเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 10 คน ณ ห้องประชุมกรุงธน บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ จากนั้นให้ข้อคิดและกำลังใจแก่คณะครูผู้ดูแลนักเรียนทุนฯ จำนวน 171 คน และร่วมแสดงความยินดีกับคณะครูดีเด่น จำนวน 18 คน ณ ห้องประชุมภาณุรังสี ชั้น 1 โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหาร 6 ส่วนราชการ ที่ร่วมปฏิบัติงานในโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ให้ข้อคิดข้อแนะนำ และร่วมแสดงความยินดีกับนักเรียนทุน ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน ๔ ราย ดังนี้ ๑. นายอรรถพล สังขวาสีพ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ๒. นายสุเทพ แก่งสันเทียะพ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง ๓. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดาพ้นจากตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และแต่งตั้งให้ดำรงดำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๔. นายยศพล เวณุโกเศศพ้นจากตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มาhttps://ratchakitcha.soc.go.th/documents/11756.pdf