เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ) ณ อาคารรัฐสภา ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
กราบเรียน ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคารพ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ
กระผม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอชี้แจงประเด็นความห่วงใยและข้อเสนอแนะของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ
กระผม ได้ติดตามฟังการอภิปรายของท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอด 3 วันที่ผ่านมา มีประเด็นที่ท่านสมาชิกฯ ได้แสดงความคิดเห็น ความห่วงใย และความต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก การแก้ปัญหาหนี้สินครู การพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษา การสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การอุดหนุนด้านการศึกษา การสนับสนุนค่าใช้จ่ายอาหารกลางวัน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวตามที่อภิปรายและนำเสนอมาแล้ว ทุกท่านคงทราบดีว่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหาร
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอขอบคุณในประเด็นความห่วงใยและข้อแนะนำ กระผมขออนุญาตเรียนว่า งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับการจัดสรร 5 ปีย้อนหลัง สามารถจำแนกตามงบรายจ่าย (ดังกราฟ) ที่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามในปีนี้ทางรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นผู้นำ ได้กรุณาในการปรับเพิ่มงบประมาณขึ้นมาประมาณ 0.31% ซึ่งหากดูโครงสร้างงบประมาณ จะเห็นว่างบประมาณส่วนใหญ่ จะอยู่ที่งบบุคลากร 61.58% งบเงินอุดหนุน 27.59% งบดำเนินงาน 3.08% งบลงทุน 3.83% และงบรายจ่ายอื่น 3.92% อาจจะถือว่าน้อย ซึ่งจากการอภิปรายที่ปรากฎข้อมูลทางสื่อออนไลน์ต่างๆ ทุกคนอาจจะพูดว่าเป็นปัญหา แต่ผมและทีมงานเชื่อว่า มันเป็นความท้าทายการศึกษาในปัจจุบัน ที่เราจะต้องร่วมกันในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็น :
- การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
- ผลคะแนน PISA 2022 ในระดับนานาชาติที่ลดลง
- ทักษะความสามารถทางการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ลดลง
- โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากอัตราประชากรการเกิดน้อยลง
- ครูไม่ครบชั้น
- สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ยังมีไม่ค่อยเพียงพอ
- งบประมาณอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่มีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
- ยังมีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจต่างๆ
- โครงการอาชีวะเรียนฟรี มีอาชีพ ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ
แต่ที่สำคัญ ซึ่งเป็นความคาดหวังของสังคมต่อการศึกษาไทย เป็นเรื่องประเด็นหลักที่ทางรัฐบาลนำมาเป็นแนวคิดในการกำหนดงบประมาณที่จะดำเนินการแก้ไข
จากความความท้าทายต่างๆ ประกอบกับงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามขั้นตอนงบประมาณ เพื่อให้ได้งบประมาณมาพัฒนาคุณภาพการศึกษา ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามสร้างโอกาส ความเท่าเทียมทางการศึกษา โดยนำเทคโนโลยี อุปกรณ์ และสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เข้ามาช่วยในการลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันทางด้านรายได้ของผู้ปกครอง สภาพพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล
ซึ่งในส่วนนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้น้อมนำแนวคิดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกล และพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ที่ทรงมีพระราชปณิธานในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น มาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก เป็นต้น
กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำหนดนโยบายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนได้ มีความรู้ที่เท่าเทียมกัน ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยจะจัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ มาผสมผสานกับการเรียนการสอนแบบเดิม หรือเรียกว่าเป็นการเรียนการสอนแบบ Hybrid เพื่อขยายการเรียนรู้ให้คนทุกช่วงวัยทั่วประเทศมีโอกาสทางการศึกษา เข้าถึงเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ ตลอดจนพัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยกิตการเรียนรู้ (Credit Bank System)
กระทรวงศึกษาธิการ ยังมีความตั้งใจที่จะนำระบบสอบเทียบ กลับมาใช้อีกครั้ง (ไฮไลต์สีแดง ตามภาพด้านล่าง) เพราะเราทราบกันดีว่า ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เกิดขึ้น มาจากการส่งบุตรหลานเข้าเรียน ดังนั้น ผู้เรียนที่ไม่ต้องการเสียเวลาเรียนในระบบ ต้องสามารถสอบเทียบได้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ ผู้เรียนบางส่วนสามารถเทียบคุณวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อมาใช้ในการศึกษาต่อ โดยไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบการศึกษาปกติ โดยเฉพาะผู้เรียนที่มีความเป็นเลิศด้านต่างๆ สามารถนำเวลาที่เหลือไปเลือกเรียนตามความสนใจ หรือความถนัดของตนเอง
กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดให้มีหลักสูตรระยะสั้น (Up-Skill, Re-Skill, New-Skill) เพื่อสร้างทักษะอาชีพและทักษะชีวิต สามารถขอรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ได้ในระหว่างที่กำลังศึกษา เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างการเรียน ควบคู่กับการทำงานไปพร้อมกัน
กระผมจึงมีความเชื่อมั่นว่า นโยบายด้านการศึกษาที่รัฐบาล คณะรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และกระทรวงศึกษาธิการได้รับแนวทางมากำหนดนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” จะช่วยสร้างโอกาส ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่ผู้เรียนทุกช่วงวัย กระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะทำให้นโยบายดังกล่าว ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงใคร่ขอกราบเรียนท่านประธานสภาฯ ไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพทุกท่าน ได้โปรดให้การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ
ขอบคุณครับ
คลิปคำชี้แจงของ รมว.ศธ.
https://www.facebook.com/MOE360degree/videos/233353203140293