รมว.ศธ. “พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ” ลงพื้นที่ตรวจราชการ และติดตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่จังหวัดระนอง รวมทั้งตรวจเยี่ยมหน่วยงาน/สถานศึกษา และมอบแนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย ศธ. ที่จังหวัดชุมพร
จังหวัดระนอง 22 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อตรวจราชการและติดตามนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายธฤติ ประสานสอน รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ สกศ., รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช. ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง ศธ. ร่วมคณะ
ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมมอบอุปกรณ์การเรียน – กีฬาให้แก่ให้เยาวชน และมอบเครื่องอุปโภค บริโภคแก่ผู้สูงอายุ รวม 300 ชุด ในกิจกรรม “ศธ.-สกร.ส่งความสุข เรียนดีมีความสุข จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ณ สกร.อำเภอกระบุรี จ.ระนอง
รมว.ศธ. กล่าวชื่นชมการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งได้มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจ ในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างดี ฝากถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ มาใช้เป็นต้นแบบในการจัดการศึกษา การส่งเสริมกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพให้กับนักเรียน การส่งเสริมกิจกรรมการอ่าน การตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาการเรียนรู้ของคนในชุมชน
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือข้าราชการทุกคน ทุกสังกัด ที่มีจิตอาสา มาเป็น “ครูอาสา” ให้กับ สกร. ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนได้มากขึ้น และขอย้ำผู้บริหาร สกร.ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน โดยผู้เรียนต้องเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”
เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากต้นจาก” ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 97 (บ้านบางบอน) อ.กระบุรี จ.ระนอง
รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอชื่นชมโรงเรียนที่ได้นำนโยบายของ ศธ. มาสู่การปฏิบัติ เป็นนโยบาย “ลูกเมืองนอง อ่านเขียน เรียนดี มีความสุข” เป็นแนวทางในการดำเนินงาน สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ขอให้ผู้นำหน่วยงานเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ทะเลชายฝั่ง ตลอดจนการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ทางทะเลและมหาสมุทร และผลประโยชน์ของชาติทางทะเลไปสู่การเรียนการสอนในสถานศึกษา บูรณาการการทำงานและจัดการเรียนการสอนร่วมกับชุมชน ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในพื้นที่
สิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้คือ สร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชน ให้รู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรทางธรรมชาติทางทะเล ปลูกฝัง สร้างความหวงแหน สร้างชุมชนเข้มแข็งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าชายเลน และระบบนิเวศ ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพของเด็กนักเรียนโดยการนำวัสดุจากธรรมชาติมาสร้างผลิตภัณฑ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานไม่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดการเรียนการสอน การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้จากอดีต เพื่อนำมาพัฒนาปัจจุบันและต่อยอดไปยังอนาคต สุดท้ายนี้ขอให้ผู้บริหาร คณะครูทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ยึดถือผลประโยชน์ของชาติ เด็กและเยาวชนของประเทศ
เยี่ยมชมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การแสดงผลงาน ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย รมว.ศธ. พร้อมมอบนโยบายส่วนราชการทางการศึกษา ภาคีเครือข่าย ผู้บริหาร คณะครูฯ ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ณ วิทยาลัยเทคนิคระนอง อ.เมืองระนอง
รมว.ศธ. กล่าวว่า ชื่นชมการบริหารงาน และการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐภาคเอกชน มิติใหม่ของการทำงานร่วมกันของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัดเป็นอย่างดี หลักการทำงานของรัฐมนตรีคือ “อริยสัจ 4” เมื่อมีปัญหาก็ต้องมีวิธีการและกระบวนการในการแก้ไขปัญหา ต้องทบทวนวิชาการและความรู้ที่ทันสมัย ดังเช่นเรื่องงบประมาณในการดำเนินงาน เรื่องของการวางแผนการใช้จ่าย เรื่องงบลงทุน ให้มีประสิทธิภาพ
“กระแสสังคมทั้งในเรื่องผลการประเมิน PISA เรื่องการประเมินทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย รวมทั้งข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ขอให้ทุกภาคส่วนในสังกัดร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาและทบทวนหลักสูตร พัฒนาเทคนิคการสอน รวมถึงการสร้างความท้าทายใหม่ ๆ และสร้างแรงจูงใจในการสอนและการเรียนรู้ บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐภาคเอกชน ในการร่วมมือกันทำทวิภาคี เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาประชาชนที่มีงานและอาชีพ ได้เพิ่มวุฒิการศึกษาและสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปจบไปมีงานทำ”
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันเดียวกัน รมว.ศธ. และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่จังหวัดชุมพร
ติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ณ โรงเรียนอนุบาลปะทิว (บางสนพิพิธราษฎร์บำรุง) อ.ปะทิว จ.ชุมพร
รมว.ศธ. กล่าวว่า ต้องชื่นชมความตั้งใจของผู้บริหารและคณะครู ในการพัฒนาโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการส่งเสริมด้านการอ่านและการเรียนผ่านกิจกรรมโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมีการศึกษาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน จัดการเรียนรู้ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้ระหว่างเรียน
ขอฝากให้นำวิชาหน้าที่พลเมือง มาบูรณาการร่วมกับวิชาอื่น ๆ ตามความเหมาะสม แต่ยังคงรักษาแก่นแท้ของวิชานี้ไว้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ เตรียมความพร้อมสู่การมีส่วนร่วมในสังคม โดยคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก การพัฒนาโรงเรียนอนุบาลปะทิวให้เป็นโรงเรียนคุณภาพนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ด้วยแนวทางการทำงาน 3ท. “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ทำได้ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องรอรัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชาสั่ง
“สิ่งที่สำคัญและอยากเน้นย้ำคือ การดูแลความปลอดภัยให้กับครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ฝากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชุมพรและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เปรียบเสมือนเลขานุการของกระทรวงศึกษาธิการ ในการทำงานด้านการศึกษาในจังหวัด ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานีตำรวจภูธร ภายใต้แนวทางการทำงาน โดยเฉพาะการดูแลความปลอดภัยฯ พร้อมทั้งดำเนินการจัดทำแผนป้องกันก่อนเกิดเหตุ เพราะ “ครูไม่มีอาวุธอื่นใดนอกเหนือจากปากกา” จึงต้องร่วมมือกันในการดูแลความปลอดภัยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ”
มอบนโยบายส่วนราชการทางการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ทั้งออนไซต์และออนไลน์ ณ โรงเรียนสอาดเผดิมวิทยา อ.เมืองฯ จ.ชุมพร
รมว.ศธ. กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญในการตอบโจทย์นโยบายเรียนดี มีความสุข คือ การลดภาระครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษา และผู้ปกครอง
การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น การลดภาระในการประเมินวิทยฐานะ ด้วยเกณฑ์ วPA การพัฒนาระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (TMS) ให้ครูโยกย้ายกลับภูมิลำเนาได้ด้วยความโปร่งใส การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ดำเนินการโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา มีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. เป็นประธาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน (แท็บเล็ต) ศธ. กำลังดำเนินการสำรวจความต้องการของบุคลากรทั้งประเทศเพื่อจัดสรรต่อไป
การลดภาระนักเรียน โดยมุ่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นหลัก มีการจัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์การศึกษาของประเทศ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนทบทวน (Rerun) ผ่านสื่อการสอนหรือบันทึกการสอน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา การประเมินผลทางการศึกษา หรือการสอบเทียบ ได้มอบหมายให้ สพฐ. / สกร. ขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อผู้เรียนที่มีความเป็นเลิศ เป็นเด็กดี เด็กเก่ง มีคุณธรรม ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ สำหรับนโยบายผู้เรียนเรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to earn) ให้ศึกษาบริบทในภาพรวมของโรงเรียนและผู้เรียนเป็นสำคัญ มากกว่าการมุ่งผลสัมฤทธิ์ของนโยบายเพียงอย่างเดียว
“ขอให้บุคลากรเรียนรู้ในการพัฒนาตนเอง เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการสร้างทักษะ (Reskill) การพัฒนาทักษะ (Upskill) เพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีกว่าเดิม รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านภาษา การเรียนรู้จากสื่อออนไลน์ หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และหากมีข้อเสนอแนะในการทำงาน สามารถเสนอผ่านผู้บริหารตามสายงานได้ สิ่งสำคัญทุกคนทุกหน่วยงานทางการศึกษาต้องทำงานในมิติที่สอดประสานกัน โดยยึดตามมาตรฐานความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นที่ตั้ง”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ