สรุปมติคณะรัฐมนตรี (13 กุมภาพันธ์ 2567) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ 1) รับทราบผลการพิจารณาจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา 2) การปรับบทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และ 3) รับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการแข่งขันทางการศึกษากับนานาประเทศ รวมทั้งการบริหารและการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการบริหารงานวิชาการ 2) ด้านการบริหารงานงบประมาณ 3) ด้านการบริหารงานบุคคล และ 4) ด้านการบริหารงานทั่วไป โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยไม่เพิ่มหน่วยงาน เป็นการบูรณาการรวมสำนักซึ่งมีภารกิจใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน และปรับปรุงหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายในได้แก่สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) เป็นหน่วยงานในโครงสร้างให้มีชื่อใหม่ว่า “สบม.”เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้การจัดตั้ง สบม.ต้องเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สบม. วัตถุประสงค์เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลสารสนเทศในทุกด้านของโรงเรียนมัธยมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น หน้าที่และความรับผิดชอบส่งเสริม สนับสนุนงานนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. สำหรับการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น การแบ่งส่วนราชการภายใน สบม.แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ (1) กลุ่มบริหารทั่วไป (2) กลุ่มนโยบายและแผน (3) กลุ่มส่งเสริมทรัพยากรบุคคล (4) กลุ่มพัฒนาคุณภาพวิชาการและการจัดการศึกษา (5) กลุ่มส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการมัธยมศึกษา (6) กลุ่มวิจัยพัฒนาสื่อและดิจิทัลทางการศึกษา รับทราบการปรับบทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสำนักงานปลัดกระทรวงส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงในส่วนของหน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตซึ่งมีสาระปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของ ศปท. โดยแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของ สปน. สำนักงานปลัดกระทรวง ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง รวม 35 ฉบับ ใน 6 ประเด็น ดังนี้ กำหนดให้มีหน้าที่ในการเสนอแนะต่อหัวหน้าส่วนราชการเกี่ยวกับการป้องกันและปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัด ประเมินความเสี่ยงและกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดและปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ กำหนดให้มีหน้าที่เร่งรัดและกำกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน กำหนดให้มีหน้าที่ในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และรับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการในสังกัด และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงาน เร่งรัด และติดตามจนได้ข้อยุติ กำหนดให้ติดตาม ประเมินผลสัมฤทธิ์ และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีการประสานความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชนที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อมูลการจัดทำ และการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม ตลอดจนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานดังกล่าวเพื่อเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อหัวหน้าส่วนราชการในการจัดทำรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชนดังกล่าวต่อไป กำหนดให้ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมาย รับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 (42ndSession of UNESCO General Conference: GC) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ศธ. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแผนงาน งบประมาณ และกิจกรรม การดำเนินงานขององค์การยูเนสโก โดยผลการประชุม สรุปได้ ดังนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนบทบาทองค์การยูเนสโกที่มุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของไทยที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เน้นผสมผสานการเรียนการสอนในห้องเรียนและแบบออนไลน์ มุ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคต รวมทั้งกล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มขององค์การยูเนสโกในการจัดทำหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการศึกษาสีเขียว1การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพื้นที่สงวนต่าง ๆ เป็นศูนย์ทดลองและศูนย์การเรียนด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศขององค์การยูเนสโก เพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการศึกษา ภาพรวมการประชุมคณะกรรมาธิการของยูเนสโก ที่ประชุมได้พิจารณาแผนงาน งบประมาณ และกิจกรรมการดำเนินงาน 5 สาขาหลักขององค์การยูเนสโก ได้แก่ ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ สังคมและมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม และสื่อสารมวลชนและสารสนเทศ รวมทั้งการเงิน...
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
13 กุมภาพันธ์ 2567 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการนำเสนอหัวข้อข่าว เรื่องการหักเงินบำเหน็จบำนาญแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยอาจทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการหักหนี้จากเงินบำนาญ และเกรงว่าจะไม่มีเงินเหลือใช้หลังเกษียณนั้น โฆษก ศธ.กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการจึงอยากชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่า ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 (5) กำหนดไว้ว่า ข้าราชการที่ประสงค์จะให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มีสิทธิที่จะได้เลือกใช้สวัสดิการภายในส่วนราชการหรือสหกรณ์ได้ตามความประสงค์ แต่ทั้งนี้การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ในกรณีการหักหนี้จากเงินบำนาญของข้าราชการบำนาญ ต้องคำนวนจากฐานเงินบำนาญในสัดส่วนที่ระเบียบกำหนด คือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพราะหากใช้การคำนวนจากฐานเงินเดือนก่อนเกษียณอายุราชการ อาจทำให้ลูกหนี้บางกลุ่มเหลือเงินเดือนสุทธิน้อยกว่าที่ระเบียบกำหนด เนื่องจากฐานของเงินเดือนก่อนเกษียณอายุราชการจะสูงกว่าฐานเงินบำนาญอยู่แล้ว ส่งผลให้ไม่เหลือเงินที่จะดำรงชีพในแต่ละเดือนได้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงออกแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาฉบับนี้ เพื่อให้ส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับ ศธ. ดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากแต่ละคนมีภาระหนี้สินที่แตกต่างกันตามความจำเป็น เราจึงคำนึงถึงเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพในส่วนนี้เป็นอย่างมาก จึงอยากให้ครูได้ใช้เงินหลังหักล้างยอดหนี้สินอย่างสุขใจ “มีกิน มีเก็บ มีเหลือ มีใช้” นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตั้งสถานีแก้หนี้ โดยมีคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่ละจังหวัด ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยประสานกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินอื่น และเชิญเจ้าหนี้ทุกรายร่วมเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้หรือแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ แล้วสรุปรวบรวมรายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบ ในวันที่ 10 ของทุกเดือน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป
12 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าว “Take care ดูแลใจ มอบความรักเติมเต็มความสุข” พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ เข้าร่วมฯ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ รมว.ศธ.กล่าวว่า ภารกิจด้านการศึกษานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศชาติ โดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จ โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากร ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิต ซึ่งได้มีการนำนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพกายและจิตสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และมีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง การดำเนินการที่ผ่านมา ศธ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตรอบด้าน สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับนักเรียน นักศึกษาและพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากร ให้สามารถส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้เรียนให้มีการเรียนรู้ที่สมวัยด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิตผ่าน 14 โครงการแห่งความรัก บวก 1 แนวทางเติมเต็มความสุขให้กับครูและนักเรียน ดังนี้ Online Up Skill โดยการติวให้กับนักเรียนที่จะสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับ ม.1 และม.4 พร้อมอบรมเพิ่มทักษะสำหรับครูในช่วงปิดภาคเรียน ลด (ภา)ระ เลิกโครงการที่ซ้ำซ้อน ปรับรูปแบบให้ทันสมัย พัฒนาสุขภาวะกายและใจเพิ่มมิติด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา และธรรมนูญสุขภาพในโรงเรียน MOE Content Creator Award 2024ด้วยการสร้างและพัฒนา Content เพื่อการสื่อสารด้านสุขภาพกายและจิตของนักเรียน นักศึกษา ครูในหัวข้อเด็กไทยฐานใจดี หัวข้อพลังความดีสร้างชาติ และหัวข้อ Coaching ปิ๊งอาชีพ ชิงเงินรางวัลกว่า 450,000 บาท สุขภาพจิตดีเริ่มที่เรา “Hello Good Day”จัดทำรูปแบบการสื่อสารสุขภาพจิตในโรงเรียนเชิงบวกด้วยการสวัสดีตอนเช้า และจัดทำ LINE STICKER “MOE Happy” เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างความตระหนักการมีส่วนร่วมและการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนร่วมกัน Guidance Teacher Skill Upพัฒนาครูแนะแนวในทุกสังกัดให้สามารถเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ดูแลช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และพัฒนาศักยภาพพร้อมดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน พัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายนักจิตวิทยาโรงเรียนเพิ่มทักษะการฟัง การให้คำปรึกษา และทักษะของนักจิตวิทยาคลินิกที่จำเป็นต้องใช้ในสถานศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค MOE Consulting Platformสร้างแพลตฟอร์มให้คุณครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ได้ขอรับการปรึกษาและการดูแลสุขภาพจิต จากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในรูปแบบ Face to Face บนระบบ Online ใส่ใจสุขภาพจิตนักเรียนด้วย Platform School Health HEROต่อยอดขยายผลการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนวิถีใหม่ให้ครอบคลุมทุกสังกัด Bully Free zone สร้างกลไกป้องกันการ Bully ในสถานศึกษาที่ครอบคลุมทั้งระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับต้นสังกัด เพื่อคอยให้คำปรึกษา เป็นที่พึ่งพิงสร้างความไว้วางใจ ความรู้สึกปลอดภัย คอยรับฟัง รวมทั้งช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียนที่ถูกกระทำอย่างเหมาะสม พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจประเมิน รักษา ฟื้นฟู เยียวยาจนจิตใจและร่างกายสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สกร. จัดตั้งหน่วยบริการแนะแนวให้การปรึกษาทางการศึกษาอาชีพ คุณภาพชีวิต และบริการตรวจสุขภาพใจอย่างครบครัน ครอบคลุมอำเภอ 928 แห่งทั่วประเทศ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วย 3 เร่ง (เร่งกำหนด “การฟื้นฟูเด็กปฐมวัยเป็นวาระแห่งชาติ”, เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก และสังคม, เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กในภาวะเปราะบาง) 3 ลด (ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง, ลดความเครียดคืนความสุขแก่เด็ก, ลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก) 3 เพิ่ม (เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป, เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า, เพิ่มศักยภาพบุคลากรและระบบนิเวศใกล้ตัวเด็ก) สถานศึกษาปลอดภัย 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัยมีกลไกการดูแล ช่วยเหลือ และส่งต่อด้านสุขภาพกายและจิตในสถานศึกษา ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ทุกแห่งทั่วประเทศ พัฒนากระบวนทัศน์ทักษะ อารมณ์สังคมในผู้เรียนให้รู้ตน รู้คน รู้สังคม รู้คิดบวก มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนอีก 1 แนวทางสนับสนุนกิจกรรม 3 ด้าน ทั้งศิลปะ ดนตรี และกีฬา “กระทรวงศึกษาธิการ จะดำเนินงานโครงการแห่งความรัก เติมเต็มความสุขให้กับครูและนักเรียน ด้วย 14 โครงการ บวก 1 แนวทาง สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากสถานศึกษา และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงาน “ศึกษา Take care ดูแลใจ มอบความรักเติมเต็มความสุข” ให้สำเร็จ ศธ. จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มความสุขในการเรียน การทำงาน ให้กับทุกท่าน ถือเป็นการสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เห็นผลสัมฤทธิ์ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นไป” โฆษก...
7 กุมภาพันธ์ 2567 : ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่รองเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ดร.วรัท พฤกษาทวีกุล ได้บรรยายพิเศษ ความตอนหนึ่งว่า “ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว มุมมองด้านหลักสูตรและกิจกรรมลูกเสือ ต้องปรับตามยุคสมัย เราจึงต้องผลักดันการจัดกิจกรรมลูกเสือให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยยกระดับการดำเนินงานด้านกิจกรรมการเรียนการสอนลูกเสือ เพื่อสร้างวินัย สร้างคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ด้วยการปลูกฝังตั้งแต่เด็กและเยาวชนนำไปสู่การเป็นนักเรียนที่มีคุณภาพผ่าน “กระบวนการลูกเสือ” การบริหารจัดการองค์กร จําเป็นจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ ให้บุคลากรให้มีความรู้ทันสมัย Re – Skill นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน คํานึงประโยชน์ขององค์กรเพื่อองค์กรจะได้เข้มแข็งขับเคลื่อนงานของชาติบ้านเมืองและให้ดํารงตน ตามแนวทางนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(พลตํารวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)ลูกเสือช่วยเหลือ ผู้อื่นทุกเมื่อ “ทําดี ทําได้ ทําทันที” สำหรับการจัดโครงการครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดี ขอให้บุคลากรทุกคนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น วิเคราะห์ปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นสำคัญ มีความสามัคคี รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง หากทุกคนปฏิบัติงานในหน้าที่ของตน จนเกิดผลสัมฤทธิ์สำเร็จตามกรอบเวลาแล้ว ก็จะส่งผลให้ภารกิจของกลุ่มงานและองค์กร สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และเชื่อมั่นว่าบุคลากรของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติทุกคนมีความตั้งใจ มีจิตอาสา เสียสละ มีระเบียบวินัยและมีคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นลูกเสือจึงเป็นพลังและกลไกที่สำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าต่อไป” สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากรสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดำเนินการระหว่างวันที่ 7 – 9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถและทักษะในด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์การทำงานเป็นทีมร่วมกัน และ 3) เพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลุ่มเป้าหมายในการเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหาร หัวหน้าค่ายลูกเสือและพนักงานเจ้าที่ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
7 กุมภาพันธ์ 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจขององค์กรหลักและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมือง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีผลการประชุมที่สำคัญสรุป ดังนี้ รมว.ศธ. ชื่นชม “น้องฟ้าเวิ้ง” นายปกรณ์ นิ่มตรงนักเรียนชั้น ม.5 ประธานนักเรียน โรงเรียนนครสวรรค์ อาสา CPR ช่วยคนประสบอุบัติเหตุอย่างไม่ลังเลระหว่างรอรถพยาบาล ทำให้นำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ได้อย่างปลอดภัย ผ่านการประชุม ZOOM ในครั้งนี้ “เป็นเรื่องที่น่ายินดีและรู้สึกดีใจที่นักเรียนในสังกัดได้ทำคุณงามความดี มีความสุขกับการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น มีความกล้าและช่วยบนวุฒิภาวะที่มีความสามารถใช้วิธีการ CPR อย่างถูกต้อง ขอขอบคุณต้นสังกัดที่จัดการฝึกอบรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ อยากให้มีการอบรมรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะให้เด็กได้เก็บความรู้และทักษะไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉินได้ และกระทรวงศึกษาธิการจะมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเพื่อเป็นกำลังใจแก่เยาวชนตัวอย่างที่ดีของสังคม ขอให้รักษาความดีและขยายผลให้รุ่นน้องช่วยกันทำความดีต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว ผลการประชุมคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดย นายพีระพันธ์ เหมะรัต ได้รับคัดเลือกเป็นผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการสรรหาตามหลักเกณฑ์ ด้วยประสบการณ์ทางด้านการเงิน มีแนวคิดและวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นมิติใหม่ที่จะช่วยบริหาร สกสค. ให้มีรายได้จากทรัพย์สินที่มีเพิ่มขึ้น สามารถจัดสวัสดิการให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มากขึ้น ประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นประธานคณะทำงาน ได้มีการขับเคลื่อน ทำ MOU ตามแนวทางของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะมีการประชุมสถานีแก้หนี้เพื่อให้ผู้บริหารประชุมร่วมกัน พร้อมเชิญโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจชื่อดัง ในการสร้างสุขภาพการเงินที่ดีและชีวิตที่มีความสุข เป็นวิทยากรให้ความรู้แนะนำการดำเนินการแก้ไขหนี้ สพฐ. นำนโยบายลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เร่งรัดและกำชับทุกหน่วยงานดำเนินงานรูปแบบ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” เพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อนในการรายงานหรือการตรวจราชการ และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานด้านระบบฐานข้อมูล ให้เปลี่ยนแปลงสู่ยุคข้าราชการดิจิทัล ประเด็นติดตามการดำเนินงาน PISAซึ่งสภาการศึกษาเป็นหลักในการดูในเรื่องต่าง ๆ จากที่ได้มีการจัดสัมมนามาแล้ว 3 ครั้ง ได้นำข้อสรุปมาคิดวิเคราะห์ เพื่อมอบนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงาน ต่อยอดให้ดีขึ้นจากเดิมที่เคยทำอยู่ พบพร ผดุงพล / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / วิดีโอ นัทสร ทองกำเหนิด / Tik Tok ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
6 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจราชการเขตตรวจฯ ที่ 11 (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ผู้บริหาร/ผู้แทน เจ้าหน้าที่ ศธ. ทุกสังกัดในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 300 คน ผตร.ศธ.กล่าวว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ไปดูแลเขตตรวจราชการที่ 11 เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการนำนโยบายและข้อสั่งการของ รมว.ศธ. ลงไปสู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่ในการทำแผนปฏิบัติราชการ (Action Plan) รวมถึงสร้างพื้นที่การศึกษาสำหรับการทดลองนวัตกรรมการศึกษา ให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชน (Education Sandbox) ส่งผลให้เกิดคุณภาพที่ดียิ่งแก่ผู้เรียนในทุกมิติ ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรให้กับประเทศได้ในอนาคตอันใกล้ โดยการตรวจราชการของตนจะใช้ระบบออนไลน์เป็นหลัก แต่ก็จะมีการลงพื้นที่บ้างตามความเหมาะสม โดยไม่ระบุล่วงหน้าว่าเป็นสถานศึกษาใด จะได้เห็นและรับรู้ถึงสภาพความเป็นจริง เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายตามนโยบายของ รมว.ศธ. ที่ว่า การลงพื้นที่ตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยมให้เฉพาะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับการตรวจราชการหรือตรวจเยี่ยม ดำเนินการอย่างเรียบง่ายและประหยัด เช่น ไม่ต้องติดป้ายต้อนรับ ไม่มีของที่ระลึกหรือของฝาก ซึ่งสิ่งที่จะให้ความสำคัญ คือ การดูแลนักเรียนให้เป็นคนดีและเก่ง ผู้บริหารขับเคลื่อนงานตามนโยบายได้เป็นอย่างดีมีคุณภาพ สิ่งสำคัญอยากเชิญชวนสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดทำ Education Sandbox ตามความพร้อมแต่ละบริบทเชิงพื้นที่ของสถานศึกษา อาจจะมากน้อยแตกต่างกัน เมื่อ ศธ. ได้เห็นภาพรวมก็จะสามารถสังเคราะห์ได้ว่า มิติทางการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดเป็นอย่างไร นโยบายที่มอบไปสำเร็จตามคาดหวังหรือไม่ ถ้ามีปัญหาอย่างไรจะได้นำกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC : Professional Learning Community) คือการร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา บนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตรมาปรับใช้ สุดท้ายจะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมในทุกสถานศึกษา “กระทรวงศึกษาธิการจะเห็นภาพรวมชัดเจนในการขับเคลื่อนการศึกษา ว่าสิ่งที่คาดหวังกับเป้าหมายที่วางไว้จะได้ผลลัพธ์ประการใด เพื่อจะได้นำมาทบทวนปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติ ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย รมว.ศธ. การตรวจราชการยุคใหม่ต้องใช้ระบบดิจิทัลเป็นเครื่องมือการทำงานในการสื่อสาร เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ อีกทั้งเป็นการลดภาระไม่ต้องรบกวนครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ยุ่งยากในการจัดนิทรรศการต้อนรับอีกต่อไป” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
5 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากข่าว คนร้ายฉวยโอกาสที่มีคำสั่งประกาศยกเลิก “ครูเวร” เข้าไปลักเงินโรงเรียนบ้านเขตเมือง ที่จังหวัดสมุทรสงครามนั้น คนร้ายเลือกลงมือในช่วงยามวิกาลของวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งไม่มี “ครูเวร” อยู่เฝ้า โดยบุกเข้าไปงัดหน้าต่างห้องเก็บของในโรงเรียน และขโมยเงินขายขนมในห้องสหกรณ์ไป ทั้งนี้จากการประสานกับตำรวจ สภ.ลาดใหญ่ ทราบว่าการติดตามจับกุมตัวคนร้ายไม่น่าจะยาก เพราะหลังมีประกาศยกเลิก “ครูเวร” ทางโรงเรียนก็สั่งติดตั้งกล้องวงจรปิดทันที ทำให้เห็นตัวคนร้ายที่เข้ามาก่อเหตุ สามารถตามเบาะแสจากเส้นทางที่คนร้ายใช้หลบหนีได้ ซึ่งเป็นบุคคลไม่ใกล้ไม่ไกลจากละแวกนั้น โดยวันนี้จะประชุมทีมสืบสวนฯ เพื่อแบ่งหน้าที่ในการออกติดตามตัว “จะเห็นได้ว่าการทำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเฝ้าระวังเหตุร้าย พร้อมกับการได้รับความร่วมมือจากตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถดูแลรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนได้ ถึงแม้หน้าต่างโรงเรียนจะได้รับความเสียหาย เงินจำนวนหนึ่งถูกขโมยไป แต่ก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ครูที่มานอนเฝ้าเวรเผชิญหน้ากับคนร้าย ซึ่งมีอาวุธแน่นอน อย่างน้อยอุปกรณ์ที่งัดหน้าต่างเข้ามาก็สามารถใช้ทำร้ายครูได้ จากเหตุการณ์นี้จึงอยากเน้นย้ำถึงเจตนาของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาการ ในการยกเลิกเวรครู ไม่ให้ครูต้องมานอนเฝ้าโรงเรียน เพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของครู อันมีค่ามากกว่าทรัพย์สินใด ๆ และการใช้เทคโนโลยี การประสานงานกับเครือข่ายอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที ก็จะช่วยให้สามารถจับกุมคนร้ายได้ โดยครูไม่ต้องเสี่ยงชีวิตต่อสู้กับคนร้ายเอง เพราะภารกิจหลักของครู คือ การสอนนักเรียนของเราให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข” โฆษก ศธ.กล่าว
5 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการแชร์คลิปในโลกออนไลน์จนเป็นกระแสชื่นชมขึ้นมา กรณีนักเรียนชั้น ม.ปลาย โรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี ซึ่งนักเรียนชายคนดังกล่าว อยู่ในชุดนักเรียนมัธยมปลาย ถอดรองเท้าลุยโคลนลงไปช่วยผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ขาเกิดติดในหล่มโคลนไม่สามารถขึ้นมาได้ โดยที่นักเรียนชายก็อยู่ในสภาพเปื้อนโคลนเช่นกัน แต่ก็ได้พยายามช่วยเหลือด้วยวิธีต่าง ๆ จนสามารถดึงหญิงคนดังกล่าวออกมาได้ในที่สุด ทางกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เห็นคลิปนี้แล้วเช่นกัน จึงฝากความชื่นชมไปยังนักเรียนชายในคลิป ทราบว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนธัญรัตน์ จ.ปทุมธานี ว่าเป็นเด็กที่มีน้ำใจ มีความกล้าหาญ ยินดีเสียสละเวลา แรงกาย แรงใจช่วยเหลือผู้ที่ประสบเหตุโคลนดูดอย่างทันท่วงที โดยใช้ความพยายามหาวิธีการดึงขึ้นมา แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนให้ได้ ล่าสุดทางโรงเรียนได้จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่นักเรียนชายคนดังกล่าวพร้อมเปิดคลิปเหตุการณ์ให้คนทั้งโรงเรียนได้ดูไปพร้อมกันและกล่าวข้อความว่า “หนูคือความภูมิใจของครูและเพื่อน ๆ ทั้งโรงเรียนรวมถึงชาวปทุมธานีนะลูก” “ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ จึงขอยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักเรียน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ให้ได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง พร้อมฝากถึงเยาวชนทุกคนด้วยว่า การทำความดีนั้นเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเชิดชู สามารถทำได้ทุกเรื่อง ทุกเวลา ตามกำลังความสามารถของตนเอง ทำดี ทำได้ ทำทันที”โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
2 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ในฐานะโฆษก ศธ. และ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขา กพฐ.) ร่วมลงพื้นที่เปิดกิจกรรมงาน WT Open House “Edutainment เล่น เรียน รู้ ในสไตล์ที่เป็นคุณ” ณ โรงเรียนวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ โดยมี นายกิตติภัทท์ ไกรเพชร ศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ จากนั้นได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาพื้นที่ จ.สุรินทร์ รมช.ศธกล่าวว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานการเปิดกิจกรรม WT Open House 2023 “Edutainment เล่น เรียน รู้ ในสไตล์ที่เป็นคุณ” จากคำกล่าวรายงานของคณะกรรมการดำเนินงาน จะเห็นได้ว่ากิจกรรมจัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานของโรงเรียน ซึ่งมีการจัดบูธและนิทรรศการของหน่วยงาน/องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้นักเรียนผู้ปกครองและชุมชนได้เข้ามาเยี่ยมชมโรงเรียน รวมถึงได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ที่สำคัญลูก ๆ นักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้รับคำแนะนำแนวทางการศึกษาต่อของสถาบันระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายเป็นตลาดนัดทางการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้ขอขอบคุณสถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายโรงเรียนประถมและมัธยมในจังหวัดสุรินทร์ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี ทำให้ ลูก ๆ นักเรียนได้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจ ดังชื่อกิจกรรม Edutainment เล่น เรียนรู้ ในสไตล์ที่เป็นคุณ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. จากนั้น รมช.ศธ.พร้อมคณะได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานฯ เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาพื้นที่ จ.สุรินทร์ รมช.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า การมาในครั้งนี้ตนได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ให้มาติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาพื้นที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะกับทุกท่าน เพื่อรับฟังผลการดําเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในพื้นที่ จ.สุรินทร์ จากคํากล่าวรายงาน ทำให้ทราบว่าทุกส่วนราชการ รวมถึงภาคประชาสังคมของจังหวัดสุรินทร์ ได้ให้ความสําคัญและให้ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษา สามารถนํานโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โดยมีเป้าหมายให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” เพื่อพัฒนา คุณภาพการจัดการศึกษา จนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของสาธารณชน มาเป็นลำดับ ทั้งนี้ตนได้ติดตามการดําเนินงานของแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้รับฟังปัญหาอุปสรรคในการ บริหารจัดการ และการปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละบริบทของพื้นที่ รวมถึงข้อสั่งการและแนวปฏิบัติอื่น ๆ ของศธ. เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนและเป็นที่พึงพอใจของผู้ปกครอง “การมาในครั้งนี้จะไม่เสียเปล่า สิ่งใดที่สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาได้ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนทันที ที่สำคัญขอฝากกับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ทุกเขต ให้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดให้มีหลักสูตรการสอนภาษาท้องถิ่น หรือภาษาเขมร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราจะต้องร่วมกันจัดหลักสูตรและร่วมกันขับเคลื่อนการใช้ภาษาท้องถิ่นในทุกโรงเรียน โดย ศธ.พร้อมที่จะสนับสนุนทั้งในส่วนของบุคลากรและสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ขอขอบคุณผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้เสียสละและทุ่มเทกำลังกายกําลังใจ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และพร้อมให้กําลังใจทุกท่านที่จะร่วม “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” เพื่อพัฒนาลูกหลานของชาวสุรินทร์ ให้บรรลุเป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข” และเป็นกําลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป”นายสุรศักดิ์ กล่าว คณะทำงาน รมช.ศธ. / ภาพ-ข่าว
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนประธานที่ประชุมอาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ปี 2567 (Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) เข้าร่วมการประชุม ASEAN-Australia Counter-Terrorism, Workshop on Good Practice Approaches to Countering Violent Extremism, Hate Speech, and Disinformation Online ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2567 ณ จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ติมอร์-เลสเต และ ออสเตรเลีย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ นักวิชาการ มูลนิธิอาเซียน รวมถึงภาคเอกชน การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีให้ผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานมีส่วนเกี่ยวข้องการต่อต้านแนวคิดสุดโต่งและความรุนแรง (Countering Violent Extremism) การใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (Hate Speech) และข้อมูลลวงบนช่องทางออนไลน์ (Disinformation Online) ร่วมหารือและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี สร้างเครือข่ายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในการต่อต้านการใช้ความรุนแรง การป้องกันและดูแลช่วยเหลือที่ได้รับผลกระทบจากการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชังและการให้ข่าวบิดเบือน โดยสรุปดังต่อไปนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัย (MOE Safety Center) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นอันดับหนึ่ง พร้อมดูแล ติดตามพฤติกรรมผู้เรียน จากภาวะความเครียด ความกดดัน เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียนรอบด้าน มีการติดตามความคืบหน้า มีการรายงานการแก้ไขปัญหาแบบ Real-time ที่สำคัญได้เก็บเป็นฐานข้อมูล Big-Data ที่จะนำมาวางแผนและกำหนดนโยบายการพัฒนาสถานศึกษาและด้านความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักเรียน ในการรับมือกับภัยไซเบอร์ เช่น Call Center, Cyber Bullying และ Hate Speech เป็นต้น มีการพัฒนาหลักสูตรเรื่อง Cyber Security มีลักษณะเป็นหลักสูตรอบรมในรูปแบบออนไลน์ และการบูรณาการในรูปแบบกิจกรรม เช่น Coding, STEAM, STEM, Digital Literacy และสนับสนุนการแข่งขัน Cyber Security มีเป้าหมายเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาทักษะและประสบการณ์ ให้กลายเป็นเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย พัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านสาธารณสุข สุขภาพกายแข็งแรง จิตใจดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย รวมทั้งปัญหาด้านโภชนาการในเด็ก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเด็กไทยมีภาวะเครียด ซึมเศร้าในกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการฟื้นฟูสภาพจิตใจนักเรียน ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาความรุนแรงได้ การส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อมุ่งหวังการสร้างพื้นฐานการเป็นพลเมืองที่ดี มองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีจิตสำนึกที่ดี และส่งเสริมให้บุคลากรทางการลูกเสือมีความรู้ความเข้าใจในหลักการและวิธีการของโครงการจิตอาสาพระราชทาน ส่งเสริมให้ลูกเสือ มีจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น ตามกฎและคำปฏิญาณ ตลอดจนนำประสบการณ์และความรู้ไปบูรณาการให้เยาวชนรู้ถึงหน้าที่พลเมือง เป็นคนดีที่สังคมและชาติต้องการ ความร่วมมือร่วมใจที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมลูกเสือจะเป็นการป้องกันปัญหาความประพฤตินักเรียนนักศึกษาได้อีกทางหนึ่ง โครงการครูแดร์ หรือ (Drug Abuse Resistance Education: D.A.R.E.) เป็นโครงการความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน รวมทั้งการสร้างความสัมพันธภาพที่ดีระหว่างตำรวจ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่เด็กนักเรียน รวมถึงภัยคุกคามในปัจจุบัน อาทิ การรับมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง และวิธีการเอาตัวรอดในเหตุกราดยิง ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix it Center ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 100 ศูนย์ทั่วประเทศ ส่งเสริมนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาได้แสดงฝีมือ และความสามารถทางสายอาชีพ รวมถึงเป็นการฝึกฝนเพื่อสะสมประสบการณ์ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงให้เกิดความเชี่ยวชาญแล้ว ยังเป็นกิจกรรมจิตอาสาและสร้างความสามัคคีไปพร้อมกัน โครงการ Young OVEC Creator ให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาตระหนักและเรียนรู้ในการสร้างสื่อสร้างสรรค์และมีประโยชน์ ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งจะนำไปสู่การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานดีๆ สู่สาธารณชน โครงการและกิจกรรมหลากหลายของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ช่วยพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ ทักษะด้านอาชีพ และเทคโนโลยีให้กับประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและการระมัดระวังข่าวลวงหรือข้อมูลบิดเบือน โครงการและกิจกรรมอื่นๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาครูและนักเรียน นอกจากนี้ นายพิเชฐ ยังได้นำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เน้นย้ำความสำคัญกับนักเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” รวมถึงผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีความครอบคลุมและแพร่หลายในการบริหารงานและการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยมีโครงการ...
30 มกราคม 2567 – นายปรีดี ภูสีน้ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นผู้แทนต้อนรับและหารือกับคณะมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล โดยได้พูดคุยประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาในกลุ่มผู้เรียนไร้สัญชาติ อาทิ การจัดการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน การตรวจสอบคัดกรองข้อมูลตกหล่นในฐานระบบ การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา การขอทุนการศึกษา การสนับสนุนงบประมาณการศึกษา และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายปรีดี ภูสีน้ำกล่าวว่า ด้วยฐานข้อมูลบุคคลจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย ในระบบกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนเพื่อเข้ารับบริการการศึกษาที่ยังไม่ตรงกัน รวมถึงระเบียบข้อกฎหมายบางประการที่ยังไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้เด็กและบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติบางส่วนยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการด้านสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงการศึกษามาโดยตลอด ทั้งลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นจากส่วนภูมิภาค บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในเรื่องของสถานะบุคคล นักเรียนและนักศึกษา ให้ได้รับการแก้ใขปัญหาในระบบทะเบียน และจะผลักดันในเรื่องของการเข้าถึงการศึกษาในอนาคตให้ครอบคลุมมากที่สุด ในนามกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณทางมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลและน้องนักเรียนทุกคน นับเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วมพูดคุยหารือในครั้งนี้ เพราะทุกคนคือความหวังของประเทศไทยที่จะช่วยพัฒนาสังคม และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต สถานะของผู้เรียนแต่ละคน อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ภาพรวมของทั้งประเทศ กระทรวงศึกษาธิการพยายามดูแลผู้เรียนทุกคนให้เท่าเทียมกันอย่างดีที่สุด และดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการศึกษาถือเป็นการยกระดับให้คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เรียนจบแล้วมีงานทำ ดูแลตัวเองและครอบครัว ไปจนถึงดูแลสังคมและบ้านเมืองได้ ทั้งนี้ มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลมีภารกิจการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิสถานะ โดยดำเนินงานช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ไร้รัฐในสถานศึกษา เช่น กลุ่มนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นตันด้วยตัวอักษร G (รหัส G = Generate หมายถึงการออกเลขประจำตัว 13 หลัก ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยระบบ Data Management Center สำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ซึ่งต้องมีตัวเลขประจำตัวเพื่อใช้ในระบบการศึกษา) ที่ประสบปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยบูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักทะเบียนอำเภอ และสมาชิกเครือข่ายสถานะบุคคล เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนแก่เด็กนักเรียนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ให้มีสถานะทางกฎหมายอย่างถูกต้อง พบพร ผดุงพล / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
30 มกราคม 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากข่าวที่ครูลงโทษเด็กด้วยวิธีใช้เข็มกลัดทิ่มริมฝีปากเด็ก ป.2 ยกห้องจนได้รับบาดเจ็บเลือดออกนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัย และมีการดำเนินคดีทางอาญาควบคู่กันไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบได้มีข้อห่วงใยในประเด็นนี้อย่างมาก ทั้งนี้ ศธ. มีกฎระเบียบการลงโทษนักเรียนอย่างชัดเจนอยู่แล้ว จากระเบียบและกฎกระทรวงศึกษาธิการ 3 ฉบับ เกี่ยวกับการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา และการกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2548 และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 2562 โดยสาระสำคัญคือนักเรียนต้องไม่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น หนีเรียน เล่นการพนัน พกพาอาวุธ เสพสิ่งมึนเมาหรือยาเสพติด ลักทรัพย์ ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น พฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม ค้าประเวณี เที่ยวเตร่ มั่วสุมอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น ส่วนการลงโทษนักเรียนที่กระทําความผิด ทำได้ 4 สถานเท่านั้น คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทําทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทํากิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “ศธ.ขอยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยกับการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง ห้ามลงโทษด้วยความโกรธ หรือใช้วิธีแปลกไปจากระเบียบโดยเด็ดขาด ซึ่งการลงโทษต้องคำนึงถึงอายุและความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบด้วย ทั้งนี้การกำหนดให้มีบทลงโทษนั้น เป็นไปด้วยเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดี ให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่อสหประชาชาติด้วย”โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว นอกจากกรณีที่เป็นข่าวนี้แล้ว อาจจะยังมีครูที่ลงโทษนักเรียนด้วยวิธีที่นอกเหนือจากระเบียบกระทรวงอยู่ จึงขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ศธ.ไม่ยอมรับการกระทำรุนแรงต่อกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นฝ่ายครูหรือนักเรียนก็ตาม ตลอดจนฝากผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครู เข้มงวดเรื่องการลงโทษนักเรียนให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงอย่างเคร่งครัดด้วย ทุกคนต้องช่วยกันสร้างสถานศึกษาให้เป็นที่ปลอดภัย บ่มเพาะเยาวชนทั้งด้านวิชาการและคุณธรรมจริยธรรม ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน และต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก
สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ – 27 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือน ศึกษาธิการภาค 7 รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธภ.7 รก. ผตร.ศธ.) เป็นประธานประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และบำเพ็ญกุศลแด่ผู้เคยมีอุปการคุณต่อกิจการยุวกาชาดไทย เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนายุวกาชาดไทย ครบรอบ 102 ปี โดยกราบนิมนต์ท่านเจ้าพระคุณ พระธรรมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหารพร้อมคณะสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร รวม 9 รูป เข้าร่วมพิธี เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมศุภชลาศัย รับชม LIVE พิธีสงฆ์ย้อนหลัง https://fb.watch/pQhRRXzOkx/?mibextid=Nif5oz ในการนี้ ศธภ.7 รก. ผตร.ศธ.จุดธูปเทียนและวางพวงมาลัย เพื่อบูชาแด่ผู้ที่เคยมีอุปการคุณต่อกิจการยุวกาชาดไทย ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม, นายฌ็อง อังรี ดูนังต์ ผู้จุดประกายกาชาด, ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้ริเริ่มสภาอุณาโลมแดง อันเป็นที่มาของสภากาชาดไทย, หลวงแจ่ม วิชาสอน และนางผิน แจ่มวิชาสอน ผู้บริจาคทรัพย์และที่ดินเพื่อบำรุงกิจการยุวกาชาดไทย จากนั้นพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ อนุโมทนา และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ศึกษาธิการภาค 7 รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ถวายภัตตาหารเพลและเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ สำหรับช่วงบ่าย มีพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามของยุวกาชาด พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ โปรดให้ พลเอก หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเปิดงาน มีหน่วยงานที่ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ สภากาชาดไทย กรมพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรุงเทพมหานคร “กิจการยุวกาชาดไทย ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2465 ในชื่อ “กองอนุสภากาชาดสยาม” โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม โดยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดี มีใจเมตตากรุณา และรู้จักบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น กิจการยุวกาชาดไทยเป็นส่วนหนึ่งของสภากาชาดไทย ซึ่งปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกสภากาชาดไทย” ณัฐพล สุกไทย / เรียบเรียง สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน / ภาพ เจษฎา วณิชชากร, สมประสงค์ ชาหารเวียง, ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ, ณัฐพล สุกไทย / ถ่ายทอดสด อานนท์ วิชานนท์ / กราฟิก