19 มกราคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานเปิดงานการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและมาตรการป้องกันการทุจริตในสถานศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมคณะมาด้วย และมี นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายชัยวัฒน์ คลังทรัพย์ ศึกษาธิการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครู และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมต้อนรับ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาและมาตรการป้องกันการทุจริตในสถานศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 และเขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพระนครศรีอยุธยา และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งเปิดโครงการแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเด็นการป้องกันการทุจริตโครงการ อาหารกลางวัน และโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียนในครั้งนี้ ทั้งนี้ขอชื่นชม จ.พระนครศรีอยุธยาที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ให้มีความซื่อสัตย์สุจริตตามที่ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญในการป้องกันการทุจริต “สำหรับการป้องกันการทุจริตในโรงเรียน โดยเฉพาะการทุจริตโครงการอาหารกลางวันและอาหารเสริม(นม)โรงเรียน เป็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตนักเรียนและภาพลักษณ์ของโรงเรียนผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องให้ความสำคัญ ปฏิบัติตามระเบียบและแนวทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด การจัดอบรมในครั้งนี้ ศธ.ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ขอขอบคุณ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ได้มาร่วมกันวางแนวทางการปฏิบัติ พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับ ศธ. บุคลากรทางการศึกษา และโรงเรียน ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวัน ทั้ง เรื่องการเบิกจ่ายและการปฏิบัติตามระเบียบ เพราะหลายครั้งที่เกิดปัญหา ต้องยอมรับว่าบุคลากรของศธ.ยังขาดองค์ความรู้ ส่งผลให้หลายครั้งบุคลากรทำผิดระเบียบทั้งที่ไม่มีเจตนาแต่เกิดจากความไม่เข้าใจ ดังนั้นเมื่อมีเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช.มาให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ก็จะเป็นแนวทางที่ทำให้ไม่มีการกระทำผิดระเบียบเหล่านั้นอีก นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องมีการส่งเสริม คือ เรื่องหลักสูตรการป้องกันการทุจริตในโรงเรียนของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สอนให้กับลูกๆนักเรียน ถือเป็นโครงการที่ดี ที่จะช่วยปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้และเข้าใจ พร้อมร่วมกันต่อต้านการทุจริตเพื่อเป็นทรัพยากรที่ดีต่อไปในอนาคต ดังนั้นจังหวัดอยุธยาจะเป็นจังหวัดนำร่องในการนำหลักสูตรการป้องกันการทุจริตในโรงเรียนของ ป.ป.ช. มาสอนในโรงเรียน”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านที่เข้าร่วมโครงการในวันนี้จะร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการ การดำเนินงานและสร้างการมีส่วนร่วมต้านทุจริตจากทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยร่วมกันสะท้อนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการบริหารงานภาครัฐ ให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดี มีความโปร่งใส ทั้งยังส่งผลให้ประชาชนและสาธารณชน มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐได้มากขึ้น ทั้งนี้ขอให้การดำเนินการในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทุกประการ
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
17 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร พนักงานให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมเทพหัสดิน ชั้น 1 อาคาร สกสค. และผ่านระบบ Zoom Meeting ร่วมกับสำนักงาน สกสค.จังหวัดทั่วประเทศ รมว.ศธ.กล่าวว่า วันนี้เป็นการมอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่เน้นในเรื่องของการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้เรียนและผู้ปกครอง รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ต้องผลิตให้ตรงกับผู้ใช้ สวัสดิการต่าง ๆ และเรื่องของ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ที่อยากให้เพิ่มฐานของผู้ที่เป็นสมาชิกให้ได้มากที่สุด ยกระดับบัตรสมาชิกให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด และผลักดันในเรื่องแอปพลิเคชันให้สะดวกใช้งานง่าย โปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อรับผลตอบแทนในการใช้เป็นส่วนลดสินค้าและบริการ เพราะผู้ที่เป็นสมาชิกต้องได้ใช้สิทธิและสวัสดิการที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ปัจจุบันภารกิจของ ศธ. ค่อนข้างเยอะและหลากหลาย ที่ผ่านมาผู้บริหารได้ดำเนินการขับเคลื่อนทำอะไรใหม่เพิ่มขึ้น เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ สอดรับกับนโยบาย “ทำดี ทำได้ ทำทันที” และยิ่งผู้บริหารมีวิธีคิดและมุมมองนอกกรอบการบริหารงาน ก็จะได้เห็นมุมมองใหม่ จึงควรทำรูปแบบให้ออกมาเป็นระบบในงานสวัสดิการดิจิทัล ซึ่ง สกสค. ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแก้ไขหนี้สินครูด้วย และในส่วนของโรงพยาบาลครูก็ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี ทำแผนบริหารจัดการให้ดี ปรับใช้อุปกรณ์ให้ทันสมัย เป็นมืออาชีพที่คิดออกนอกกรอบ ตอบสนองยุคปัจจุบัน ด้วยวัตถุประสงค์หลักของเราคือดูแลสวัสดิการที่ดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษา บริหารต้นทุนให้คุ้มค่าโดยการเพิ่มศักยภาพของคนในองค์กร สร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ตื่นตัวในการทำงานและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยลดขั้นตอนลดภาระงานทุกฝ่าย ที่สำคัญทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินการ ซึ่งแนวทางที่อยากฝากไว้ในการทำงานคือสาม ท. “ทำดี ทำได้ ทำทันที” และ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมองค์กรเป็นหลัก และสร้างการรับรู้ให้เข้าถึงอย่างสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้การมอบนโยบายในครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด พบพร ผดุงพล / ข่าว นัทสร ทองกำเหนิด / ภาพ
16 มกราคม 2567 – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันครู ครั้งที่ 68 ประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ภายใต้แนวคิด “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” พร้อมมอบรางวัลต่อหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโล่รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ และเข็มคุรุสภาสดุดีพร้อมเกียรติบัตร รางวัลคุรุสภา “ระดับดี” โดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวคำปราศรัย ณ หอประชุมคุรุสภา นายอนุทินกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับคุณครูที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของความทุ่มเทและอุตสาหะจนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ วันนี้มีโอกาสได้มาร่วมแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจกับบรรดาครูทั้งหลาย ที่สั่งสอนลูกศิษย์ให้ช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง เติบโตเป็นคนดีและเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและส่วนรวม บทบาทของครูในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งตรงกับคำขวัญวันครูที่นายกรัฐมนตรีได้มอบไว้ว่า “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์” เพราะความรู้ใหม่นั้นสามารถเพิ่มเติมได้เองตลอดชีวิต แต่ครูจะต้องวางรากฐานทางความคิด ให้แรงบันดาลใจ และให้วิธีการที่ลูกศิษย์จะสามารถต่อยอดได้ สิ่งที่อยากฝากถึงคณะครูอาจารย์ในยุคสมัยปัจจุบันคือ อยากให้พยายามปรับการสอนตามเทคโนโลยี แต่คงรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ดีของไทยให้มากที่สุด จะทำให้เด็กได้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันเด็กก็ยังไม่ลืมวัฒนธรรมประเพณีที่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย จากการดำเนินงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหาร ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อปรับปรุงสวัสดิการและลดภาระของเรื่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับครูและผู้เรียน ถือเป็นภารกิจสำคัญในเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครู รวมถึงปัญหาด้านหนี้สินครู ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้รับโจทย์และพยายามที่จะทำให้ภาระทางการเงินลดลงของครูมากที่สุด ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลเน้นย้ำในเรื่องให้ความสำคัญกับครูและผู้เรียนเป็นลำดับแรกอย่างแน่นอน รมว.ศธ.กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาในวันนี้ ขอชื่นชมผู้ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกยกย่องเชิดชูเกียรติ ที่เป็นครูและผู้บริหารที่ดีมาอย่างสม่ำเสมอ ขอให้มองเห็นผลแห่งการกระทำในตัวเองที่ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ตั้งใจพัฒนาเพื่อผู้เรียนและการศึกษา ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงการรวมพลังของพวกเราที่จับมือไว้แล้วไปด้วยกันสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ ในวันครูปีนี้ ศธ.ได้เตรียมของขวัญวันครู เพื่อที่จะมอบให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด เช่น การปรับหลักเกณฑ์และย้ายครูคืนถิ่น, การจัดระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching Syster:TMS) หลักสูตร E-learning 2 หลักสูตร, จัดเต็ม 8 หลักสูตร “เติมความรู้ ครูยุคใหม่ ก้าวไปด้วยกัน” ให้ครูโรงเรียนเอกชน เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime” และร่วมมือกับภาคเอกชน จัดอบรมหลักสูตร AIS academy และ หลักสูตรความปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ต และการจัดการ Google Workspace Admin ฟรี รวมถึงโครงการ “โลกสวย ตาใส ข้าราชการครูไทยไร้ต้อกระจก” การตรวจคัดกรองโรคต้อกระจกตาฟรีอีกด้วย ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธานในพิธีได้มอบรางวัลต่อหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังนี้ เข็มพระราชทานจารึกพระนามาภิไธยย่อ สธ แก่ผู้ได้รับรางวัลครูภาษาไทยดีเด่น จำนวน 3 คน โล่พระราชทานรางวัลคุรุสภา “ระดับดีเด่น” แก่ผู้ได้รับรางวัล จำนวน 9 คน เข็มคุรุสภาสดุดีและเกียรติบัตร รางวัลคุรุสภา “ระดับดี” แก่ผู้ได้รับรางวัล จำนวน 18 คน โล่รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จำนวน 7 คน ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้มอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติของคุรุสภา และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ เข็มพระราชทานจารึกพระนามาภิไธยย่อ กว แก่ผู้ได้รับรางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น จำนวน 2 คน รางวัลของคุรุสภา ประจำปี 2566 จำนวน 4 รางวัล รวมจำนวน 63 คน รางวัลครูผู้สอนดีเด่น จำนวน 27 คน รางวัลผลงาน “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” จำนวน 23 คน รางวัลผลงานวิจัยของคุรุสภา จำนวน 5 คน รางวัล Next Generation Teacher Award 2023 จำนวน 8 คน รางวัลพระพฤหัสบดี ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 10 คน รางวัล “ครูดีในดวงใจ” จำนวน 37 คน โดย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา...
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่รับฟังนโยบายการช่วยเหลือฟื้นฟูสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่ประสบอุทกภัยและรับฟังการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษาเพื่อคนพิการ ณ โรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง สพป.ปัตตานี เขต 1 และวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันจันทร์ ที่ 15 มกราคม 2567 โดยมี นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงานรมช.ศึกษาธิการ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ร่วมคณะมาด้วย และมีนายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายสุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น นักเรียน และผู้ปกครอง ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า การมาโรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง สพป.ปัตตานี เขต 1 ในครั้งนี้ ตนได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ให้มาตรวจเยี่ยมและติดตามโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จากนั้นก็จะรวบรวมข้อมูลความเสียหายต่างๆและนำไปรายงานต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ก่อนสรุปข้อมูลและดำเนินการทำเรื่องเสนอของงบกลางจากนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนกับโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายต่อไป สำหรับเหตุการณ์อุทกภัยในโรงเรียน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงสร้างความเสียหายหนักในรอบ 70 ปี ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ดําเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในวันนี้ได้นําอุปกรณ์การเรียนมาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับนักเรียนและสถานศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สพฐ. และมอบหมายให้สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 1 ดําเนินการ ในการนี้ได้นําเครื่องอุปโภคบริโภคที่ได้รับจากธารน้ำใจของพี่น้องโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทยมาให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ขอส่งกําลังใจให้ทุกท่าน ขอให้มีขวัญกําลังใจในการทํางานและมีความผาสุกตลอดไป จากนั้นรมช.ศธ. ได้เดินทางไปยังเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานีโดย นายสุรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทั้งจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี ทำให้ตนได้รับข้อมูลของโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยอย่างรอบด้าน ทั้งยังได้เห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณอาชีวะ ที่เป็นอีกกำลังสำคัญในการดูแลช่วยเหลือประชาชนทั้งในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด อย่างไรก็ตามนอกจากสถานการณ์อุทกภัยแล้ว การมาในครั้งนี้ยังได้รับฟังนโยบายการช่วยเหลือผู้พิการที่ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ซึ่งในอนาคตจะมีการผลักดันให้วิทยาลัยเทคนิคฯเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอุปกรณ์ดูแลและซ่อมแซมวีลแชร์ต่อไป “สำหรับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ท่านย้ำเสมอว่าผลสำเร็จของการเรียน คือการเรียนจบแล้วสามารถสร้างความมั่นคงในชีวิต เรียนจบแล้วมีงานทำ ซึ่งในหลายเรื่องที่ได้รับฟังรายงานจากพื้นที่ อาชีวะถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ในวันนี้ขอขอบคุณผู้บริหารทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ครู บุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทุกท่าน ที่ร่วมกันทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีในการดูแลลูก ๆ นักเรียนของเราให้ได้รับการศึกษาที่ดีภายใต้นโยบาย เรียนดี มีความสุข”รมช.สุรศักดิ์ กล่าว
รมช.ศธ. “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” ลุยตรวจเยี่ยมให้กำลังใจโรงเรียนประสบอุทกภัยใน จ.นราธิวาส พร้อมรับฟังข้อมูลความเสียหาย ก่อนของบกลางฯ ดูแลช่วยเหลือเร่งด่วนตามลำดับ “โรงเรียนสีแดง-เหลือง-เขียว” เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 14 มกราคม 2567นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ณ โรงเรียนอัลเราะห์มานวิทยา, โรงเรียนบ้านสาเมาะ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ร่วมคณะมาด้วย และมี นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายชาร์รีฟท์ สือนิ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น นักเรียน และผู้ปกครอง ร่วมให้การต้อนรับ รมช.ศธ.กล่าวว่า การมาในครั้งนี้ตนได้รับมอบหมายจากพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ให้มาตรวจเยี่ยมและติดตามโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จากนั้นก็จะทำการรวบรวมข้อมูลความเสียหายต่างๆและนำไปรายงานต่อ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ก่อนสรุปข้อมูลและดำเนินการทำเรื่องเสนอของงบกลางจากนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนกับโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายต่อไป โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีโรงเรียนได้รับผลกระทบประมาณ 300 แห่งซึ่งทางเขตพื้นที่การศึกษาได้มีการแยกโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายออกเป็น สีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อให้การช่วยเหลือตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วนก่อนสำหรับความเสียหายที่ได้รับรายงานเบื้องต้น พบว่ามีทั้งอุปกรณ์การเรียนต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ รวมไปถึงห้องเรียน กำแพงโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำที่กัดเซาะ เป็นต้น การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ได้เห็นภาพความเสียหายและได้รับข้อมูลที่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจะช่วยทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด สำหรับการช่วยเหลือเมื่อกลับไปจะเร่งดำเนินการของบกลาง โดยเริ่มจากโรงเรียนสีแดงซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน ตามด้วยสีเหลือง และสีเขียวตามลำดับ ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่มีความขาดแคลนและต้องการความช่วยเหลือในด้านอื่นที่จำเป็น ศธ.ก็จะมีการจัดสรร โดยใช้งบฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในการดำเนินการต่อไป “วันนี้ผมรู้สึกดีใจที่ได้มาเยี่ยมให้กำลังใจ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองทุกท่าน ในยามที่ท่านลำบาก แต่ไม่ได้ดีใจเพราะท่านลำบาก ที่ดีใจเพราะเมื่อท่านลำบากแล้วท่านได้เห็นหน้าผม อย่างไรก็ตามถึงแม้ไม่ใช่ในยามวิกฤตก็จะมาเป็นกำลังใจให้กันและกัน ขอบคุณทุกท่านที่มาให้การต้อนรับ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนขอนำกำลังใจจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.เพิ่มพูนซึ่งถึงแม้ท่านจะไม่ได้มาด้วยตัวเอง แต่ก็ฝากกำลังใจมายังบุคลากรทางการศึกษา พ่อแม่พี่น้องประชาชน และลูกๆ นักเรียนทุกคน ซึ่งท่านได้กำชับให้ตนลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจให้การช่วยเหลือทุกท่านอย่างเร่งด่วน ในส่วนของนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”ของ รมว.ศธ. เป็นความหมายที่เข้าใจง่าย คือ ความสุขเกิดที่ไหน ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความสำเร็จ ก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก โดยความสุขต้องเริ่มจากทุกท่านทั้ง ครู ผู้ปกครอง นักเรียน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ส่วนการลดภาระครู ลดภาระบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนนั้น ขณะนี้กระทรวงกำลังลดภาระครูด้วยการคืนนักการภารโรงให้กับโรงเรียน ซึ่งความสำเร็จต่างๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากทุกท่าน.
13 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดโอกาสให้คณะสภานักเรียน โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นตัวแทนสภานักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูที่ปรึกษาและคณะทำงานกว่า 200 คน เข้าเยี่ยมคารวะรับโอวาท พร้อมนำเสนอข้อคิดเห็นจากแนวความคิดของเด็กในขอบเขตของกฎ กติกา ที่สามารถปฏิบัติได้ จากการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2567 พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารฝ่ายการเมือง องค์กรหลัก หน่วยงานในกำกับ เข้าร่วม ณ เวทีกลางหน้าอาคารราชวัลลภ นายธนกฤต พิพัฒน์รัตนกุล ประธานสภานักเรียน สพฐ. ระดับประเทศ และคณะสภานักเรียนฯนำเสนอแนวคิดในการจัดการศึกษาของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน โดยการจัดการศึกษาควรคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการสร้างความเข้าใจและพัฒนาตามวิถีประชาธิปไตย ตามที่สภานักเรียนระดับประเทศ มีการระดมความคิดเห็นในเรื่องของวิถีประชาธิปไตยในบริบทของสถานศึกษา สังคม ชุมชน และประเทศชาติ จึงเสนอประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 การมีส่วนร่วมของสภานักเรียนในบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาเนื่องจากสภานักเรียนถือเป็นองค์กรหนึ่งในโรงเรียนที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา และส่งเสริมการศึกษาในระบอบประชาธิปไตยผ่านกระบวนการจัดการของสภานักเรียน ขอเสนอ 3 เรื่อง คือ 1. ให้สภานักเรียนเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2. มีส่วนร่วมในการวางแผนและออกแบบการจัดการศึกษา และ 3. เข้าไปมีส่วนร่วมในการวัดผลและประเมินผลในการจัดการศึกษาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ฯ ประเด็นที่ 2 การรู้จักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตนเองอย่างลึกซึ้งขอเสนอใน 4 เรื่อง คือ 1. ขอส่งเสริมให้เพื่อนนักเรียนและคนในชุมชนตระหนักรู้ถึงประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง 2. ขอส่งเสริมให้เพื่อนนักเรียนและผู้คนในชุมชนศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งและสร้างสรรค์ 3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านโลกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และ 4. การให้คณะสภานักเรียน มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาประวัติศาสตร์ ประเด็นที่ 3 การรู้จักมารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนขอเสนอ 3 เรื่อง คือ 1. ขอรับการส่งเสริมให้มีโครงการงดใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน 2. สนับสนุนให้โรงเรียนนั้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาในการใช้โทรศัพท์ในเวลาเรียน และ 3. ขอส่งเสริมให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมแนวทางการป้องกันการบูลลี่ในสถานศึกษาขอเสนอ 4 เรื่อง คือ 1. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำประเด็นปัญหาการบูลลี่นำเข้ามติคณะรัฐมนตรีเพื่อออกกฎเกณฑ์ หรือร่างกฎหมายฯ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบูลลี่ 2. จัดหาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน เพื่ออบรมให้ความรู้และเยียวยาสภาพจิตใจนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ 3. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎหรือระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ ให้แก้ไขเรื่องของการบูลลี่ในสถานศึกษาอย่างเข้มงวด และ 4. มีโครงการในการรวบรวมผลของการบูลลี่ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบูลลี่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จากนั้น รมว.ศธ.ให้โอวาท ตอนหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน และเน้นย้ำให้ รมว.ศธ. มาร่วมรับฟังทุกคนในวันนี้ ต้องขอบคุณคณะสภานักเรียนทุกคนที่ได้ร่วมแสดงความเห็น ถือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย กระทรวงศึกษาธิการเปิดโอกาสให้นักเรียนและประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญใน 4 ประเด็น คือเรื่องการมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลหรือการสอบนั้น จะต้องมีการหารือผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนักเรียนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการสอบ จึงอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการคิดหรือกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบอื่น เรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ควรที่จะเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน บุคคลสำคัญในท้องถิ่น หรือผู้มีความรู้โดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ตรงตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นอกเหนือจากการศึกษาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ก็ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล อีกประการหนึ่งคือการเรียนรู้การดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาท ถือเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์จากบุคคลสำคัญของชาติ ส่วนการรักษามารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนนั้น ถือเป็นอีกปัญหาที่มีผลสะท้อนมากจากนักเรียน ในฐานะเยาวชนยุคใหม่ อยากให้ทุกคนร่วมกันเป็นแบบอย่างที่ดี ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างมารยาทในการใช้โทรศัพท์ แต่ถ้าเกินกว่าจะดำเนินการได้ก็ต้องหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อ โดยในฐานะ รมว.ศธ. ไม่อยากให้มีการบังคับ หรือบังคับใช้กฎต่าง ๆ ในเรื่องนี้ แต่อยากให้ใช้วิถีของประชาธิปไตยมาดำเนินการ “ประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือการบูลลี่ในสถานศึกษา ก็ได้มีการเร่งรัดและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา ขอฝากน้องสภานักเรียนช่วยดูแลน้อง ๆ คอยสอดส่อง ช่วยเหลือและประสานครู อาจารย์ ในการหาวิธีการแก้ไข ในส่วนของ ศธ. ก็จะเร่งดำเนินการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป และขอฝากให้ทุกคนร่วมใจกันในการดำเนินงานต่าง ๆ ในโรงเรียนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ พี่ดูแลน้อง เพื่อนดูแลเพื่อน ดำเนินตามแนวทางประชาธิปไตย เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า เป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
กระทรวงศึกษาธิการ จัดงานวันฉลองเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 อย่างยิ่งใหญ่ ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 ณ บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ร่วมด้วย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ และน้อง ๆ เยาวชนจากหลากหลายโรงเรียน ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข” จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน มอบความสุข..ปลุกความคิด..สร้างสรรค์ กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนเอง ตลอดจนปลูกฝังให้มีส่วนร่วมในสังคม มีความสามัคคี เป็นกำลังสำคัญของชาติ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันเด็กทุกปีทำให้ผมนึกย้อนเวลาไปสู่วัยเด็กทุกครั้ง ซึ่งวันนี้รู้สึกยินดีที่ได้มาเปิดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มาพบปะกับน้อง ๆ เด็ก ๆ และเยาวชนรุ่นใหม่ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งผมได้มอบคำขวัญวันเด็กปีนี้ไว้ว่า “มองโลกกว้างคิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย”โดยมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคนเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพและยอมรับความแตกต่างในโลกไร้พรมแดน อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ทุกคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีหัวใจที่เข้มแข็ง มีความเพียบพร้อมทั้งความรู้ ความสามารถ มีทัศนคติที่ดี มีความคิดที่ถูกต้อง มีความเป็นสากล ตลอดจนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การจะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ คิดเป็น ทำเป็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติได้นั้น เกิดจากสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาที่มีส่วนสำคัญในการเสริมประสบการณ์ และเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็น ทั้งด้านการศึกษา การให้โอกาสแสดงออก การดำรงชีวิตการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกที่ดี รู้จักคัดกรอง รู้จักวิเคราะห์ แยกแยะสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เพื่อให้เท่าทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน “ผมขอเป็นกำลังใจให้กับน้อง ๆ และเยาวชนทุกคน ขอให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ประพฤติปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดี ศิษย์ที่ดี และพลเมืองที่ดีของสังคม ตั้งมั่นอยู่ในความดี มีคุณธรรม จริยธรรม และทำในสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ให้บรรลุผลสำเร็จ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมฉลองวันเด็กแห่งชาติครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่มีคุณค่าต่อไป สุขสันต์วันเด็กครับ”นายกรัฐมนตรี กล่าว พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวว่า การจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ส่วนกลางจัดงานที่กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข” “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” มีส่วนราชการ หน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมมือร่วมใจกันส่งมอบความสุขให้แก่เด็ก ๆ โดยเน้นกิจกรรมที่เกิดกระบวนการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ กิจกรรม Active Learning และการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ส่งเสริมให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจในการเรียน สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง มีทักษะชีวิตที่ดี เป็นเด็กไทยยุคใหม่ที่รู้หน้าที่พลเมืองไทย ในส่วนภูมิภาค กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดกิจกรรมฉลองวันเด็กแห่งชาติในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเน้นกิจกรรมที่เติมเต็มความสุขให้กับทุกคน และลดภาระผู้ปกครองด้วย หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมพบปะพูดคุยกับเด็ก ๆ ถ่ายภาพร่วมกัน แจกของขวัญ และเยี่ยมชมบูธต่าง ๆ ที่มาร่วมจัดงาน โดยนายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมและให้กำลังใจเด็ก ๆ ที่มาร่วมต้อนรับ ตลอดจนอวยพรให้เด็กทุกคนสุขภาพแข็งแรง มีความสุข เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของประเทศชาติต่อไป สำหรับกิจกรรมตลอดทั้งวันแบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนที่ 1: EDU Main Stage (ภายในกระทรวงศึกษาธิการ) ประกอบด้วยพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ 2567, การแสดงพิธีเปิดเรียนดีมีความสุข Festival, TALK SHOW พูดคุยกับดาราต้นแบบ My Idol Talk, การแสดงดนตรีของเด็กและเยาวชน, การแสดงศิลปะร่วมสมัย Cover Dance, การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพลังเด็ก, การประกวดหนูน้อยแห่งวังจันทรเกษม หัวข้อ “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ครองใจทั่วโลก” โซนที่ 2: EDU Digital Technology (บริเวณถนนราชดำเนินนอก) ประกอบด้วยการนำเสนอนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและกิจกรรมการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่, กิจกรรมทักษะพื้นฐานด้านสื่อด้านสื่อดิจิทัล, กิจกรรมจากหน่วยงาน โซนที่ 3: EDU Network (บริเวณถนนลูกหลวง) ประกอบด้วยกิจกรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กิจกรรมจากหน่วยงานเครือข่าย, เวทีกิจกรรม การแสดงดนตรี และการแสดงของเยาวชน อีกประสบการณ์พิเศษที่เด็ก ๆ ให้ความสนใจและต่อคิวเข้าร่วมอย่างคึกคัก คือ กิจกรรมตามรอย...
12 มกราคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้ รมช.ศธ.ได้ร่วมใส่เสื้อคลุมนารูโตะในพิธีเปิดงานวันเด็กฯ เช่นเดียวกับ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้ร่วมกันใส่ชุดคอสเพลย์เป็นตัวการ์ตูนต่างๆ เพื่อร่วมกิจกรรมวันเด็กกับนักเรียนและเด็ก ๆ ที่มาร่วมงาน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน รมช.ศธ.กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจําปี 2567 ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจําจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ได้ให้ความสำคัญกับการจัดงานวันเด็กเป็นอย่างมาก โดยการจัดงานวันเด็กในวันนี้ เราทุกคนตระหนักถึงความสําคัญของเด็กและเยาวชน ว่าจะเติบโตขึ้นเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ทั้งยังเชื่อว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นจะทําให้เด็กและเยาวชนได้รับความรัก ความอบอุ่น ความปรารถนาดีจากผู้ใหญ่ และจะทําให้เด็กรู้สึกตระหนักถึงความสําคัญในบทบาทหน้าที่ของตนเองที่มีต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ นําไปสู่การสร้างพลังที่เป็นหนึ่ง ในพลังแห่งการพัฒนาต่อไปสําหรับคําขวัญวันเด็ก ปี 2567 จากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คือ “มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เป็นคําที่มีความหมายตรงประเด็น ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สําคัญสําหรับเด็กและเยาวชน ในสถานการณ์ปัจจุบัน “ขอให้เชื่อว่าเยาวชนทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศชาติ จงฝึกฝนเด็ก ๆ ของเราให้พร้อม ให้โอกาสพวกเขาได้แสดงความสามารถในมิติต่าง ๆ ตลอดจนปฏิบัติกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อให้เกิดทักษะ และมีประสบการณ์ สามารถนําความรู้ไปใช้ในการดํารงชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป ขอขอบคุณคณะกรรมการดําเนินการจัดงาน ผู้มีอุปการคุณทุกท่าน ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานวันเด็กแห่งชาติครั้งนี้ และขออวยพรให้เด็ก ๆ ทุกคนพร้อมด้วยครอบครัว จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และมีความสุขตลอดไป”รมช.ศธ. กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำทัพเด็กและเยาวชนดีเด่น พร้อมด้วยเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ จำนวน 1,220 คน เข้าเยี่ยมคารวะ และรับโอวาทจากนายกรัฐมนตรี พร้อมรับโล่รางวัลจากรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 10 มกราคม 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากร คณะกรรมการดำเนินงาน นำเด็กและเยาวชนดีเด่น และที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ รวม 1,220 คน เข้าคารวะและรับโอวาทจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมรับโล่รางวัลจาก รมว.ศธ. เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีกล่าวให้โอวาทว่า ขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ เยาวชนที่น่ารักทุกคน รู้สึกปลาบปลื้มใจที่เยาวชนทุกคนมีความรู้ ความสามารถ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และนำชื่อเสียงอันน่าภาคภูมิใจมาสู่ประเทศชาติ ขอชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมดำเนินการและให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนากำลังคนและให้ความสำคัญยิ่งแก่เด็กและเยาวชนของชาติ และสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการปลูกฝังการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความภูมิใจในชาติ ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิ่งสำคัญคือเด็กและเยาวชนทุกคนต้องมีความกตัญญูต่อบิดา มารดา ผู้มีพระคุณและประเทศชาติ มีความรู้จักสามัคคี รักชาติ มีความประพฤติดี พัฒนาตนในกรอบระเบียบวินัยที่ดีและประพฤติตนให้อยู่ในกรอบกฎหมาย รวมทั้งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถควบคู่คุณธรรม ตลอดจนตระหนักถึงความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ สอดรับกับคำขวัญวันเด็กในปีนี้ที่ได้มอบไว้ให้ว่า ”มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย“ โอกาสนี้ขอแสดงความยินดีและชื่นชมเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ทั้ง 1,220 คน ที่ได้รับรางวัลอันน่าภาคภูมิใจในวันนี้ ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ตนเองมีความขยันหมั่นเพียร ใฝ่หาความรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพยายามฝึกฝนให้มีทักษะด้านต่าง ๆ จนเกิดความสำเร็จ สร้างคุณประโยชน์แก่ตนเองสังคมและประเทศชาติ ขอเป็นกำลังใจและขอให้ทุกคนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งการศึกษา และทำในสิ่งที่ตนเองได้ตั้งเป้าหมายไว้ รางวัลในวันนี้ถือเป็นเกียรติประวัติที่สง่างามแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล รวมทั้งยังเป็นต้นแบบที่สร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนรุ่นต่อไป จากนั้นเวลา 11.00 น. รมว.ศธ. เป็นประธานมอบโล่รางวัล แก่เด็กและเยาวชนดีเด่น พร้อมด้วยเด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ จำนวน 1,220 คนโดยกล่าวให้ข้อคิดแก่เด็กและเยาวชนตอนหนึ่งว่า วันนี้รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบโล่รางวัลให้แก่เด็กและเยาวชนดีเด่น ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ซึ่งเห็นได้ว่าเด็กยุคใหม่มีความกล้าทำในสิ่งที่ดีและถูกต้อง อยากจะฝากถึงน้อง ๆ ทุกคน ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ให้เก็บความดีความภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ให้เป็นพลังกายพลังใจ ตั้งใจเรียนให้เก่งและเป็นคนที่มีความก้าวหน้าในสังคมที่มีคุณภาพ สิ่งที่ผมรู้สึกยินดีอีกอย่างหนึ่งคือขณะที่มอบโล่มีเด็กหลายคนแอบมากระซิบว่า “โตขึ้นอยากเป็นคุณครู” ได้ฟังแล้วก็รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่การศึกษาของเราเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกอาชีพในอนาคต หากเด็กคนไหนอยากเป็นครูสอนเด็กรุ่นต่อไปให้เป็นคนมีคุณภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา ขอให้มุ่งมั่นตั้งใจ เพราะเชื่อว่าเด็กทุกวันนี้มีความเก่งอยู่ในตัว และในอนาคตหวังว่าจะมีเด็กในสายอาชีพครูที่เก่ง สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกศิษย์ได้ ทั้งนี้ นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการคือ “เรียนดี มีความสุข” ที่เน้นย้ำให้เด็กและเยาวชนมีความสุขกับการเรียนให้มากที่สุด วันนี้เราเป็นนักเรียนมีหน้าที่เรียนหนังสือ เป็นคนดี เชื่อฟังบิดามารดา ครูบาอาจารย์ แบ่งเวลาให้เป็น ใช้โซเชียลให้เป็นประโยชน์ พัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน เพราะโลกของการเรียนรู้สามารถต่อยอดได้ไม่สิ้นสุด สุดท้ายนี้อยากฝากถึงเด็กและเยาวชนทุกคน เมื่อได้รับรางวัลแล้วให้เก็บเป็นความภาคภูมิใจ เพราะความดีจะส่งผลให้เราประสบความสำเร็จในทุกด้าน นำทุกเรื่องราวความสมหวังความผิดหวังเป็นพลังใจในการดำเนินชีวิต หมั่นศึกษาเล่าเรียน ทำงานเพื่อสังคมบ้านเมือง เติบโตไปในหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อเป็นผู้ที่ดูแลการพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้ มีเด็กและเยาวชนดีเด่นที่ผ่านการคัดเลือกจากส่วนราชการ/หน่วยงาน 17 หน่วยงาน โดยพิจารณาคัดเลือกจากเด็กและเยาวชนที่มีความประพฤติดี เรียนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์ ขยัน ประหยัด มีความมานะอดทน หาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง กตัญญูช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง และอุทิศตนเพื่อส่วนรวม เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ, ด้านศิลปวัฒนธรรมและดนตรี, ด้านทักษะฝีมือวิชาชีพ, ด้านกีฬาและนันทนาการ ด้านศีลธรรม คุณธรรมและจริยธรรม จำนวน 604 คน เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ จำนวน 279 คน และประเภททีม จำนวน 337 คน สำหรับประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมงานวันเด็กแห่งชาติ พบกันได้ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 16.00 น. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานในเวลา 08.30 น. ภายใต้แนวคิด “เรียนดี มีความสุข” เพื่อให้เด็ก ๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ในทุกรูปแบบการเรียน มุ่งเน้นกิจกรรมActive Learningที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) สามารถเข้าร่วมฟรีตลอดงาน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-618-7781-4 หรือโทร. 086-341-9978 พบพร ผดุงพล / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
สำนักพิมพ์มติชน – 9 มกราคม 2567 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแสดงความยินดีกับหนังสือพิมพ์มติชน เนื่องในวันคล้ายวันก่อตั้ง ‘หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน’ ครบรอบปีที่ 46 เข้าสู่ปีที่ 47 และขอบคุณการนำเสนอข่าวของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน และคณะผู้บริหารในเครือมติชน ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร ได้เข้ากราบนมัสการสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร หรือเจ้าคุณธงชัย เนื่องในโอกาสปีใหม่ พุทธศักราช 2567 เพื่อความเป็นสิริมงคล พบพร ผดุงพล / ข่าว อานนท์ วิชานนท์ / ภาพ
8 มกราคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ณ โรงเรียนจักราชวิทยา จ.นครราชสีมา โดยมี นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมคณะมาด้วย และมี นายสุรพันธ์ ศิลปะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า วันนี้มีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. จากการรับฟังการกล่าวรายงานจะเห็นได้ว่าจังหวัดนครราชสีมามีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จํานวน 7 เขตพื้นที่การศึกษา และมีเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจํานวน 1 เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งได้จัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ตรวจราชการในครั้งนี้ โรงเรียนจักราชวิทยาเป็นหนึ่งในโรงเรียนตัวอย่างของการจัดการศึกษาตามนโยบายของศธ. จังหวัดนครราชสีมามีโรงเรียนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ในสังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวนมาก ดังนั้นการมาตรวจเยี่ยมเพื่อรับฟังเสียงสะท้อนต่างๆจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้นำข้อเสนอแนะต่างๆไปปรับใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายต่อไป “การจัดงานในวันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ สพม. และ สพป. นครราชสีมา ได้เล็งเห็นถึงความสําคัญของการจัดการศึกษา อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในทุกๆด้าน และอีกสิ่งที่สำคัญของการลงพื้นที่คือการได้รับฟังเสียงสะท้อนและปัญหาอุปสรรคต่างๆจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมากหากเรื่องไหนสามารถทำได้ก็พร้อมที่จะดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ศธ.กำลังดำเนินการแก้ปัญหาการศึกษาและลดภาระครู เช่น การคืนนักการภารโรงสู่โรงเรียนกว่า 12,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ครูมีเวลาสอนในห้องเรียนมากขึ้น ,การใช้ครูธุรการร่วมกันในโรงเรียนเล็กๆ เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนที่ไม่มีครูธุรการ ,การอุดหนุนอาหารกลางวันให้กับเด็ก ม.1-ม.3 ในโรงเรียนขยายโอกาส ,การพิจารณาเงินอุดหนุนค่าเดินทางเด็กในอัตราใหม่ให้สอดรับกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน การสร้างบ้านพักให้กับบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้เขตพื้นที่ร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหาการสอบ PISA รอบต่อไปที่จะต้องร่วมมือกันทำให้ผลการสอบ PISA ดีขึ้น ขอขอบคุณและขอชื่นชม ท่านผู้บริหาร คณะครู นักเรียน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมและการแสดงผลงานต่างๆในครั้งนี้ ขออวยพรให้การจัดงาน บรรลุผลสําเร็จตามเป้าหมายตรงตามวัตถุประสงค์ของการ จัดงานทุกประการ”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว จากนั้น รมช.ศธ.พร้อมคณะได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการของนักเรียนและมอบอุปกรณ์กีฬาให้นักเรียน
เสมา 2 เปิดการประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการผู้นำทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 2
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดการประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการผู้นำทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 The 2ndThailand-Japan Educational Leaders Symposium: Science Education for Sustainability (TJ-ELS 2023) ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ผ่านระบบออนไลน์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการผู้นำทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ The 2nd Thailand-Japan Educational Leaders Symposium: Science Education for Sustainability (TJ-ELS 2023) ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ผ่านระบบออนไลน์โดยถ่ายทอดออกอากาศจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย กล่าวเปิดงานโดย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการการบรรยายพิเศษหัวข้อ ” What and How Would STEM Education Support Sustainable Development? ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โชคชัย ยืนยง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวข้อ “SDGs going to next stage” โดย Mr. OMURA Hiroshi, Project Professor, Global Engagement Center, Toyohashi University of Technology ประเทศญี่ปุ่น การนำเสนอผลผลงานวิชาการของครูและผู้บริหารไทยและญี่ปุ่นรวมจำนวน 32 คน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์และ ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย กว่า 500 คน การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีสำหรับผู้นำทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้เข้าร่วมจากประเทศไทยและญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ โดยการนำเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบโปสเตอร์ (Poster Presentations) และรูปแบบปากเปล่า (Oral Presentations) ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 2 เพื่อจัดการประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการผู้นำทางการศึกษาระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการจัดการศึกษาระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
20 ธันวาคม 2566 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. นายวรัท พฤกษาทวีกุล รักษาราชการแทนรองปลัด ศธ. ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการฯ ข้าราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ รมช.ศธ.เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา และมีมติที่สำคัญ ดังนี้ เห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครูฯ ของรัฐบาล ที่ประชุมเห็นชอบ การขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาตามแนวทางของรัฐบาลตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวการจัดการหนี้ทั้งในและนอกระบบ โดยครอบคลุมการแก้หนี้ครัวเรือนกว่า 16 ล้านล้านบาท แบ่งลูกหนี้เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19, กลุ่มที่ 2 ผู้ที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืน, กลุ่มที่ 3 ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้ชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง และกลุ่มที่ 4 ผู้ที่มีภาระหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นเวลานาน (NPL) โดยในกลุ่มที่ 2 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ ตำรวจ และทหาร จะได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้รายย่อย จากธนาคารออมสินไปรวมหนี้เป็นหนี้สหกรณ์ โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนสภาพคล่องให้แก่สหกรณ์เพื่อเสริมสภาพคล่องและนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษกับลูกหนี้ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 2 ปี โครงการสินเชื่อสวัสดิการข้าราชการและบุคลากรภาครัฐอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ของธนาคารออมสิน โดยสามารถขอสินเชื่อสวัสดิการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ อาทิ สินเชื่อเคหะสำหรับซื้อหรือต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สินเชื่อสวัสดิการสำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น และสินเชื่ออเนกประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและเสริมสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน การช่วยเหลือให้มีรายได้คงเหลือเพียงพอดำรงชีพ การผลักดันให้ส่วนราชการ กำหนดหลักเกณฑ์การตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของข้าราชการในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือในบัญชีอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด เห็นชอบให้มีการ MOU ของ ศธ. กับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมเห็นชอบ การเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา กับหน่วยงานและสถาบันการเงินจำนวน 12 แห่ง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารกรุงไทย ในวันที่ 6 มกราคม 2566 ณ หอประชุมคุรุสภา โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับประโยชน์จากหน่วยงาน และสถาบันการเงินในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การชะลอการฟ้องบังคับคดี การปรับโครงสร้างหนี้ การให้คำปรึกษาและความรู้ด้านการเงินการออม แต่ MOU ฉบับดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ลงนาม และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 6 มกราคม 2567 จึงเห็นควรให้เตรียมร่าง MOU ฉบับใหม่ ทั้งนี้เนื้อหาอาจมีปรับเปลี่ยนในบางส่วนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อนำเรียน รมว.ศธ. ทราบและลงนามต่อไป รับทราบการแต่งตั้งบอร์ดแก้หนี้ครูฯ และผลการดำเนินงานแก้หนี้ครูฯ ของ ศธ. ที่ผ่านมา ที่ประชุมรับทราบ การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดย รมช.ศธ. เป็นประธานและมี นายวรัท พฤกษาทวีกุล ผตร.ศธ. รักษาราชแทน รองปลัด ศธ. เป็นเลขานุการ ที่ประชุมรับทราบ ผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ ศธ. ที่ผ่านมาอาทิ – ลดดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ครูได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยกว่า 5 แสนราย ภาระหนี้สินลดลงทันทีกว่า 2.3 พันล้านบาท สามารถนำเงินไปใช้ในการชำระหนี้ธนาคารออมสินและสถาบันการเงินอื่น ให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินสำหรับครูได้มากขึ้น – จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคทั่วประเทศ 558 สถานี แบ่งเป็นระดับเขตพื้นที่การศึกษา 481 สถานี มีผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธาน ระดับจังหวัด 77 สถานี มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ แก่ครูที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือกว่า4 หมื่นราย รวมมูลค่าหนี้กว่า 5.9 หมื่นล้านบาท – ปรับโครงสร้างหนี้ โดยรวมหนี้มาไว้กับสถาบันการเงิน ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชำระต่อเดือนน้อยลง ปัจจุบันปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า...
19 ธันวาคม 2566 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2565 – 2566 สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 230 ชั้นตรา โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายวรัท พฤกษาทวีกุล รักษาราชการแทนรองปลัด ศธ. ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมบุณยเกศ หอประชุมคุรุสภา รมช.ศธ. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในวันนี้ การได้รับพระราชทานฯ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นมงคล เป็นเกียรติแก่ตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องสรรเสริญ และยืนยันว่าเป็นผู้ที่มีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ ซื่อสัตย์ และเอาใจใส่ต่อหน้าที่ บุคคลที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในวันนี้จึงเป็นทรัพยากรบุคคลที่กระทรวงศึกษาธิการมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการประกาศรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ในการนี้ สำนักพระราชวังได้แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นตราไปยังผู้ที่ได้รับพระราชทาน โดยไม่ต้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทาน ดังนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อมอบให้แก่ผู้ได้รับพระราชทานฯ และนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการจัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ฯ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติตามขั้นตอนปฏิบัติฯ โดยจำนวนชั้นตราที่เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 230 ชั้นตรา ประกอบด้วย สายที่ 1 ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) จำนวน 192 คน สายที่ 2 ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) จำนวน 32 คน สายที่ 3 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) จำนวน 5 คน สายที่ 4 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) จำนวน 1 คน