จังหวัดขอนแก่น – 23 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “ปั้นฝันด้วยพหุปัญญา พัฒนาทักษะอาชีพสู่ฐานอนาคตที่มั่นคง ระยะที่ 3” โดยมี นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมคณะมาด้วย และมี นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ตรวจราชการ ศธ. นายสุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการภาค 13 ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั้ง 5 เขต ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีชุมแพไทย-เยอรมัน (จี-เทค) รมช.ศธ.กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปั้นฝันด้วยพหุปัญญาพัฒนาทักษะอาชีพ สู่ฐานอนาคตที่มั่นคง ระยะที่ 3 ในวันนี้ จากการรับฟังคำกล่าวรายงานทำให้ทราบว่าสถานศึกษาในพื้นที่ของ สพป.ขอนแก่น เขต 5 โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มีนักเรียนที่เรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนสายอาชีพในปี 2565 เกินร้อยละ 50 มีการเชื่อมโยงหลักสูตรด้านอาชีพกับหน่วยงานอาชีวศึกษา ส่งเสริมศักยภาพให้แก่ผู้เรียน (Upskill) และส่งเสริมให้เกิดทักษะใหม่ด้านอาชีพ (Reskill) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่จะปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายการศึกษาที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างคุณภาพให้กับผู้เรียน และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทาง จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ส่งเสริมการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคง “สิ่งที่ ศธ.ให้ความสำคัญและมุ่งหวัง คือผู้เรียนเมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ มีการสร้างอาชีพที่มั่นคง ตอบสนองตลาดแรงงาน รวมทั้งตอบสนองทิศทางเศรษฐกิจประเทศ และเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ขอขอบคุณความร่วมมือของจีเทค สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งขอชื่นชม สพป.ขอนแก่น เขต 5 ที่ได้ตระหนักถึงความรู้ ความสามารถ และทักษะของนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และจัดโครงการดีๆนี้ขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในทุก ๆ ด้าน ขอขอบคุณผู้บริหาร คณะครู นักเรียน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ได้นำเสนอความรู้ที่สำคัญให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำความรู้กลับไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้บริหาร คณะครู ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผมยินดีที่จะสนับสนุนการทำงานของทุกท่าน ที่สำคัญขอเป็นกำลังใจให้กับลูก ๆ นักเรียนทุกคนในการพัฒนาตัวเองให้เต็มตามศักยภาพ และขอให้การจัดงานในครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทุกประการ” รมช.สุรศักดิ์ กล่าว
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลเชิญชวนศาสนิกชนรวมพลังแห่งศรัทธา ร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ – ๓ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และ ๓ ภูมิภาค 🕤 ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ของทุกวัน 🗓️ ๒๔ กุมภาพันธ์ ถึง ๓ มีนาคม ๒๕๖๗ 📌 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง 🗓️ ๕-๘ มีนาคม ๒๕๖๗ 📌 ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ 🗓️ ๑๐-๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ 📌 ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี 🗓️ ๑๕-๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗ 📌 ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ มาร่วมนำหลักธรรม สร้างสันติธรรม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศตวรรษแห่งธรรม (Dharma Centuries) สร้างความสงบสุขแก่สังคมและประเทศชาติ
สรุปมติคณะรัฐมนตรี (20 กุมภาพันธ์ 2567) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. จำนวน 29,312 โรงเรียน โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 วงเงินรวม 22,102.97 ล้านบาท นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) วงเงินทั้งสิ้น 22,102,973,600 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 7,469,328,800 บาท ส่วนที่เหลือ จำนวน 14,633,644,800 บาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – พ.ศ. 2572 ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 สาระสำคัญ ศธ. เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงศตวรรษที่ 21 โดยจะมีการปรับรูปแบบการเรียนรู้และการสอนเพื่อพัฒนาทักษะและอาชีพของคนทุกช่วงวัยด้วยการปรับโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัยและนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการจัดการเรียนการสอน มีการพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ศธ. ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายประสิทธิภาพการทำงานของดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform: NDLP) ระยะที่ 1 จากการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการสื่อสารและการเรียนแบบสองทาง โดยนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะของครูและบุคลากรทางการศึกษาในกำกับ ศธ. ให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567สพฐ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา : พัฒนาระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในศตวรรษที่ 21 วงเงินงบประมาณ 482.26 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลของ ศธ. โดยสามารถรองรับโรงเรียนคุณภาพ ในสังกัด ศธ. จำนวน 349 โรงเรียน และมีการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ การดำเนินการ วงเงิน (ล้านบาท) (1) เช่าใช้ระบบคลาวด์ระดับ ศธ. 36.38 (2) จ้างที่ปรึกษาพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน (NDLP) 200.88 (3) จ้างที่ปรึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฐาน 245.00 รวมทั้งสิ้น 482.26 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568สพฐ.จะจัดทำโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 : จัดหาอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย (Anywhere Anytime) เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด ศธ. จำนวน 29,312 โรงเรียน โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 วงเงินรวม 22,102.97 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 กิจกรรม สรุปได้ ดังนี้ การส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 งบประมาณ 6,531.08 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เปลี่ยนบทบาทครูเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยการเรียนรู้เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระและประกอบอาชีพได้โดยไม่เป็นภาระต่อสังคม มีการดำเนินการ ดังนี้ (1) การพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น จัดหาซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับการรักษาความปลอดภัยข้อมูล การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและการบริหารจัดการระบบ การจัดทำนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ (2) การเช่าใช้ระบบคลาวด์ สำหรับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา การจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา งบประมาณ 15,571.90 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยสนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และมีโอกาสได้อย่างเท่าเทียมครอบคลุมทั้งในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร โดยมีการดำเนินการ ดังนี้ (1) เช่าอุปกรณ์การเรียนการสอน (Tablet หรือ Notebook หรือ Chromebook) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา จำนวน 607,655 เครื่องรวมเป็นเงิน 15,491.90 ล้านบาท ระยะเวลา 60 เดือน สรุปได้ ดังนี้ เป้าหมาย โรงเรียนคุณภาพจำนวน 932 แห่ง...
เสมา 2 ลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี รับฟังเสียงสะท้อนปัญหาอุปสรรค ลั่นเรื่องไหนขับเคลื่อนเร่งด่วนได้ทำทันที
จังหวัดสุราษฎร์ธานี – 19 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดอาคารเรียนแบบพิเศษ “อาคารหิรัญราษฎร์” โดยมี นายพิชัย ชมภูพล ส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขต 6 นายบุญยิ่ง ย้งลี สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอท่าชนะ นายโชคดี ศรัทธากาล ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายศิริ ศักดิ์ศรี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน นางสุชาดา ลิ่มสวัสดิ์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุราษฎร์ธานี เขต 2 ผอ.โรงเรียนทุกโรงเรียน บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนวัดศรีสุวรรณ รมช.ศธ.กล่าวว่า ตนมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียนแบบพิเศษ “อาคารหิรัญราษฎร์”ของโรงเรียนวัดศรีสุวรรณในวันนี้ จากการรับฟังคำกล่าวรายงาน จะเห็นได้ว่าอาคารและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน เนื่องจากสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ดีจะส่งผลที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้เรียนเป็นอย่างมาก สำหรับอาคารเรียนแบบพิเศษหลังนี้ มีความพิเศษเพราะมีการออกแบบที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน โดยอาคารเรียนแบบพิเศษเป็นอาคารหลังแรกของ สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 2 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนแห่งนี้ นอกจากนี้ยังได้รับรายงานด้วยว่า อาคารเรียนแห่งนี้ กระแสไฟฟ้าที่จะใช้ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการขยายหม้อแปลงไฟฟ้าและโรงเรียนยังขาดงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง ในฐานะ รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ให้มารับฟังเสียงสะท้อนต่างๆเมื่อรับทราบถึงปัญหาก็พร้อมที่จะให้การดูแลช่วยเหลือเพื่อทำให้ลูก ๆ นักเรียนของเราทุกคนได้ใช้อาคารเรียนอย่างเต็มศักยภาพ “ผมได้เห็นอาคารเรียนแล้ว รู้สึกยินดีกับทางโรงเรียนวัดศรีสุวรรณเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้ใช้ประโยชน์จากอาคารเรียน ในการแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขอขอบคุณคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ทั้งยังหวังว่าอาคารเรียนหลังนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน มีความสะดวกสบาย ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ทั้งนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับท่านผู้บริหาร คณะครูตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผมยินดีที่จะสนับสนุนการทำงานของท่านในทุกโอกาส จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว จากนั้น รมช.ศธ. ได้เดินทางไปยังโรงเรียนไชยาวิทยา อำเภอไชยา เพื่อมอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” พร้อมรับฟังการขับเคลื่อนนโยบายและรับฟังปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากตัวแทนผู้อำนวยการโรงเรียน ตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน ตัวแทนผู้บริหารอาชีวศึกษา ตัวแทนสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รมช.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มอบหมายให้ตนลงพื้นที่ เพราะเห็นว่าการลงพื้นที่เป็นเรื่องที่จำเป็น อย่างยิ่ง ที่จะทำให้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้บริหาร และที่สำคัญคือได้รับฟังปัญหาอุปสรรคต่างๆจากพื้นที่ ได้เห็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้รับฟังสภาพปัญหาที่ตรงจุด ดังนั้นหากเรื่องไหนที่ได้รับการสะท้อนปัญหามาแล้ว สามารถขับเคลื่อนแก้ไขได้ก็พร้อมที่จะนำกลับไปดำเนินการขับเคลื่อนและแก้ไขในทันที เราจะร่วมใจกันจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน
16 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และระบบออนไลน์ Zoom Meeting รมว.ศธ.เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมฯ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอนั้น ได้มีการดำเนินงานและจัดประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาของประเทศ และสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาของประเทศในทุกภาคส่วนให้ประสานความร่วมมือกัน และได้จัดทำแผนการดำเนินงานระยะเวลา 4 ปี ของคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ โดยมีประเด็นสำคัญคือ การดำเนินการวิจัยของ PISA ร่วมกับ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ The Organization for Economic Cooperation and Development) และการดำเนินงานขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการนำผลการประเมิน PISA 2022 ไปปรับปรุงและยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สร้างความร่วมมือกับทุกสังกัดที่เข้าร่วมการประเมิน PISA 2025 เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2568 สำหรับรายงานการประเมิน PISA 2022ผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยของประเทศทั้งสามด้าน (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน) ลดลง ในภาพรวมของผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงควรมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ โดยการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด ในส่วนของตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกันในประเด็นการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากลนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการประเมิน ได้มีมติเห็นชอบประเด็นการจัดทำตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนโยบายสำคัญ โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ PISA คือ การยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียน ตามมาตรฐานสากล (PISA) ด้วยเช่นเดียวกัน ในการนี้มีหน่วยงานในสังกัดเสนอกลไก แนวทาง แผนการขับเคลื่อนในการยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 ดังนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)เสนอกลไกการขับเคลื่อนการยกระดับผลการสอบ PISA 2025 ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายและแผนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการวิเคราะห์และเปรียบเทียบสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีมาตรการเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงานต่อไป ขณะที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดตัวชี้วัดการประเมินประสิทธิผล การดำเนินงาน (Performance Based) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษา 3 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1) ระดับความสำเร็จในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านทักษะ แรงงานในอนาคต 2) ตัวชี้วัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการศึกษา และ 3) ตัวชี้วัดร้อยละของนักเรียนที่มีสมรรถนะจากการประเมินโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ไม่ถึงระดับพื้นฐานของทั้ง 3 วิชาในแต่ละกลุ่มโรงเรียน โดยให้จัดทำแนวทางในการพัฒนาตัวชี้วัดทั้ง 3 ตัวชี้วัด ในรูปแบบของแผนระดับ 3 เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้การดำเนินการเป็นระบบและต่อเนื่อง มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน รวมทั้งเกิดการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกศ. จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนระดับ 3 ด้าน การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยมีสาระสำคัญในการดำเนินงาน คือ กำหนดแนวทางในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา โดยใช้ดัชนีชี้วัดในระดับนานาชาติ อาทิ IMD WEF และ PISA เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก จัดทำเป็นแผนระดับ 3 เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการทำงานอย่างต่อเนื่อง และกำหนดกรอบระยะเวลาของแผน มีกำหนดดำเนินการถึงปี พ.ศ. 2570 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยระยะเวลาในการดำเนินการจัดทำแผนระดับ 3 แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างเครือข่าย ส่งเสริม ช่วยเหลือ บูรณาการการยกระดับผลการทดสอบ ด้วยการส่งเสริมเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับแนวทางการทดสอบ PISA ให้ครอบคลุมสถานศึกษาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย...
15 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ทิศทางการบริหารสู่คุณภาพ เรียนดี มีความสุข และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ครั้งที่ 53 สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้บริหาร โดยมี นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรมว.ศธ. นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายภูธร จันทะหงส์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมคณะมาด้วย และมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คณะผู้บริหารระดับสูง ครู และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ตนมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มามอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้บริหารที่มีผลงานดีเด่นประจำปี 2566 ในโอกาสที่สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ทิศทางการบริหารสู่คุณภาพ เรียนดี มีความสุข Educational Administration for Wisdom and Wellness และประชุมใหญ่สามัญ ประจําปี 2566 นับเป็นโอกาสอันดี ที่สมาชิกทุกท่าน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นสําคัญ และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับทิศทางการบริหารสู่คุณภาพ มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพของผู้บริหารสถานศึกษา ตามหลักเกณฑ์ใหม่ ที่มีความสอดคล้องต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งช่วยกันพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป “ขอแสดงความยินดีกับสมาชิกฯ ผู้ที่ได้รับรางวัล ผู้บริหารการศึกษาดีเด่น ผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่น ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาดีเด่น ด้านทําคุณประโยชน์ ต่อการมัธยมศึกษาไทยและผู้ทรงคุณค่าต่อการมัธยมศึกษาไทยทุกท่าน ทั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ อดทน และเสียสละ ขอขอบคุณคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ทั้งยังขอเป็นกําลังใจให้ทุกคน ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขอให้มีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง ปราศจากอันตรายทั้งปวง ทั้งนี้ผมยินดีที่จะสนับสนุนการทํางานของทุกท่านเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของท่าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. หากมีสิ่งใดที่เป็นปัญหา อุปสรรค แล้วผมสามารถแก้ไขเป็นนโยบายเร่งด่วนได้ก็พร้อมที่จะแก้ไขให้ทันที เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของประเทศ ร่วมกันจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว คณะทำงาน รมช.ศธ. / ข่าว-ภาพ
14 กุมภาพันธ์ 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 7/2567 โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมือง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ รมว.ศธ.กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแห่งความรัก แต่สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถือเป็นวันแสดงพลังรักสีม่วง ที่แสดงออกให้เห็นว่าชาวศธ. ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งความรักและความจงรักภักดีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะสีม่วงเป็นสีประจำพระชนมวารของพระองค์ หน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานในกำกับ จึงพร้อมใจสวมเครื่องแต่งกายสีม่วงโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นการแสดงความรักและความจงรักภักดีที่พระองค์ท่านมีพระเมตตาต่อวงการการศึกษา อย่างหาที่สุดมิได้ ศธ.เตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ในปี พ.ศ. 2567 นั้น ศธ.ได้เตรียมจัดงานดังกล่าว โดยได้ประดับธงตราสัญลักษณ์ฯ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และแต่ละหน่วยงานได้เตรียมเสนอโครงการและกิจกรรม เพื่อให้คณะกรรมการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ พิจารณา และส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ขอความร่วมมือบุคลากรในสังกัด ศธ.แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ฯ ทุกวันจันทร์ และในโอกาสที่เหมาะสมโดยพร้อมเพรียงกันตลอดทั้งปี ติดตามการทดสอบ O-NET ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการสอบดังกล่าวให้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแนวทางมาตรฐานการวัดความรู้และทักษะของผู้เรียน ลดภาระในการสอบซ้ำซ้อน ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” การศึกษาของเด็กแต่ละช่วงชั้นควรสอบวัดประเมินผล เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งในการพัฒนาผู้เรียน จะได้ทราบว่าต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนหรือปรับการสอนหรือไม่ ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อนำเกณฑ์มาประเมินกระบวนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ด้วย อีกทั้งในอนาคต จะมีการนำการสอบเทียบกลับมา เป็นการสอบรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าO-NET+ (โอเน็ตพลัส)อาจปรับแนวข้อสอบให้เน้นทักษะคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะการสอบแบบเดิมไม่ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในรูปแบบใหม่หากใครมีคะแนน O-NET 4 วิชาเดิมอยู่แล้ว ก็นำคะแนนมาใช้ในการสอบเทียบเพิ่มได้เลย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เหมือนเป็นการสะสมหน่วยกิตไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ให้สอบด้วยความสมัครใจไม่เป็นการเสียเวลาและยังนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ด้วย “การส่องกระจกเงาไม่มีใครบังคับให้เราทำ แต่เราทำไปเพื่อดูความเรียบร้อยของตนเอง การสอบก็คือกระบวนการเดียวกันกับการส่องกระจกเงา ที่ทำไปเพื่อดูว่าเราพร้อมหรือยัง หรือมีสิ่งที่ควรแก้ไข ทำอย่างไรเราถึงจะดูดี ทำอย่างไรเราถึงจะเก่ง เราขาดตกบกพร่องตรงไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่อยากให้คิดแค่ว่าการสอบเป็นเรื่องบังคับเพื่อจัดลำดับเข้ามหาวิทยาลัย ควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้สอบอย่างมีความสุข เห็นประโยชน์ที่ทำให้รู้ตัวตนเหมือนเราส่องกระจกเงา” รมว.ศธ. กล่าวในประเด็นนี้ การจัดทำ MoU กับหน่วยงานต่างประเทศ ที่ประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับการลงนามความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด กับหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น หากหน่วยงานหรือสถานศึกษาจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หรือลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศศธ.จะต้องแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาก่อนทุกครั้งจึงขอให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว เพื่อให้มีผลผูกพันตามกฎหมายด้วย ความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA 2025 ของประทศไทย ที่ประชุมได้ติดตามแนวทางดำเนินงานของส่วนราชการเกี่ยวข้อง ในการยกระดับผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA)โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำเสนอความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่ง รมว.ศธ. ได้มอบแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ส่วนด้านส่งเสริมการเรียนรู้ สพฐ.จัดให้มีโครงการ“โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง”สายวิทยาศาสตร์ เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนเครือข่าย เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแล เพื่อยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียมกัน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการ PISA เพื่อประเมินภาพรวมทั้งประเทศ ในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ซึ่ง รมว.ศธ.ได้มีหนังสือกำชับทุกหน่วยงาน ให้ยึดความสมัครใจของผู้เป็นหนี้เป็นหลัก โดยกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นหนี้ เพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัดให้มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือนรวมถึงมีการตั้งสถานีแก้หนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ศธ.ได้เชิญ“โค้ชหนุ่ม”ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาให้ความรู้ เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นมิติใหม่ในการเสริมสร้างหลักสูตรในการแก้ไขปัญหาหนี้สินอีกด้วย การติดตามนโยบายความปลอดภัยของสถานศึกษาในส่วนภูมิภาค ปลัด ศธ. ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของสถานศึกษาในส่วนภูมิภาคโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน บูรณาการทำงานร่วมกันหน่วยงานในพื้นที่ระดับจังหวัดทั่วประเทศ การพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้มีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษา รมว.ศธ.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ศึกษาเรื่องการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะหารือร่วมกับสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทยด้วยว่าควรมีการรวมหรือแยกหน่วยงานระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือไม่เพื่อให้ศึกษานิเทศก์เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาในระดับภูมิภาคให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พบพร ผดุงพล, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป ณัฐพล สุกไทย ถ่ายภาพ ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ วีดิทัศน์
สรุปมติคณะรัฐมนตรี (13 กุมภาพันธ์ 2567) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ 1) รับทราบผลการพิจารณาจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา 2) การปรับบทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และ 3) รับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการแข่งขันทางการศึกษากับนานาประเทศ รวมทั้งการบริหารและการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการบริหารงานวิชาการ 2) ด้านการบริหารงานงบประมาณ 3) ด้านการบริหารงานบุคคล และ 4) ด้านการบริหารงานทั่วไป โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยไม่เพิ่มหน่วยงาน เป็นการบูรณาการรวมสำนักซึ่งมีภารกิจใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน และปรับปรุงหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายในได้แก่สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) เป็นหน่วยงานในโครงสร้างให้มีชื่อใหม่ว่า “สบม.”เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้การจัดตั้ง สบม.ต้องเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สบม. วัตถุประสงค์เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลสารสนเทศในทุกด้านของโรงเรียนมัธยมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น หน้าที่และความรับผิดชอบส่งเสริม สนับสนุนงานนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. สำหรับการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น การแบ่งส่วนราชการภายใน สบม.แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ (1) กลุ่มบริหารทั่วไป (2) กลุ่มนโยบายและแผน (3) กลุ่มส่งเสริมทรัพยากรบุคคล (4) กลุ่มพัฒนาคุณภาพวิชาการและการจัดการศึกษา (5) กลุ่มส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการมัธยมศึกษา (6) กลุ่มวิจัยพัฒนาสื่อและดิจิทัลทางการศึกษา รับทราบการปรับบทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสำนักงานปลัดกระทรวงส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงในส่วนของหน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตซึ่งมีสาระปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของ ศปท. โดยแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของ สปน. สำนักงานปลัดกระทรวง ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง รวม 35 ฉบับ ใน 6 ประเด็น ดังนี้ กำหนดให้มีหน้าที่ในการเสนอแนะต่อหัวหน้าส่วนราชการเกี่ยวกับการป้องกันและปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัด ประเมินความเสี่ยงและกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดและปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ กำหนดให้มีหน้าที่เร่งรัดและกำกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน กำหนดให้มีหน้าที่ในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และรับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการในสังกัด และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงาน เร่งรัด และติดตามจนได้ข้อยุติ กำหนดให้ติดตาม ประเมินผลสัมฤทธิ์ และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีการประสานความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชนที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อมูลการจัดทำ และการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม ตลอดจนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานดังกล่าวเพื่อเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อหัวหน้าส่วนราชการในการจัดทำรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชนดังกล่าวต่อไป กำหนดให้ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมาย รับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 (42ndSession of UNESCO General Conference: GC) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ศธ. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแผนงาน งบประมาณ และกิจกรรม การดำเนินงานขององค์การยูเนสโก โดยผลการประชุม สรุปได้ ดังนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนบทบาทองค์การยูเนสโกที่มุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของไทยที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เน้นผสมผสานการเรียนการสอนในห้องเรียนและแบบออนไลน์ มุ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคต รวมทั้งกล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มขององค์การยูเนสโกในการจัดทำหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการศึกษาสีเขียว1การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพื้นที่สงวนต่าง ๆ เป็นศูนย์ทดลองและศูนย์การเรียนด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศขององค์การยูเนสโก เพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการศึกษา ภาพรวมการประชุมคณะกรรมาธิการของยูเนสโก ที่ประชุมได้พิจารณาแผนงาน งบประมาณ และกิจกรรมการดำเนินงาน 5 สาขาหลักขององค์การยูเนสโก ได้แก่ ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ สังคมและมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม และสื่อสารมวลชนและสารสนเทศ รวมทั้งการเงิน...
7 กุมภาพันธ์ 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจขององค์กรหลักและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมือง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีผลการประชุมที่สำคัญสรุป ดังนี้ รมว.ศธ. ชื่นชม “น้องฟ้าเวิ้ง” นายปกรณ์ นิ่มตรงนักเรียนชั้น ม.5 ประธานนักเรียน โรงเรียนนครสวรรค์ อาสา CPR ช่วยคนประสบอุบัติเหตุอย่างไม่ลังเลระหว่างรอรถพยาบาล ทำให้นำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ได้อย่างปลอดภัย ผ่านการประชุม ZOOM ในครั้งนี้ “เป็นเรื่องที่น่ายินดีและรู้สึกดีใจที่นักเรียนในสังกัดได้ทำคุณงามความดี มีความสุขกับการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น มีความกล้าและช่วยบนวุฒิภาวะที่มีความสามารถใช้วิธีการ CPR อย่างถูกต้อง ขอขอบคุณต้นสังกัดที่จัดการฝึกอบรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ อยากให้มีการอบรมรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะให้เด็กได้เก็บความรู้และทักษะไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉินได้ และกระทรวงศึกษาธิการจะมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเพื่อเป็นกำลังใจแก่เยาวชนตัวอย่างที่ดีของสังคม ขอให้รักษาความดีและขยายผลให้รุ่นน้องช่วยกันทำความดีต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว ผลการประชุมคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดย นายพีระพันธ์ เหมะรัต ได้รับคัดเลือกเป็นผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการสรรหาตามหลักเกณฑ์ ด้วยประสบการณ์ทางด้านการเงิน มีแนวคิดและวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นมิติใหม่ที่จะช่วยบริหาร สกสค. ให้มีรายได้จากทรัพย์สินที่มีเพิ่มขึ้น สามารถจัดสวัสดิการให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มากขึ้น ประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นประธานคณะทำงาน ได้มีการขับเคลื่อน ทำ MOU ตามแนวทางของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะมีการประชุมสถานีแก้หนี้เพื่อให้ผู้บริหารประชุมร่วมกัน พร้อมเชิญโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจชื่อดัง ในการสร้างสุขภาพการเงินที่ดีและชีวิตที่มีความสุข เป็นวิทยากรให้ความรู้แนะนำการดำเนินการแก้ไขหนี้ สพฐ. นำนโยบายลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เร่งรัดและกำชับทุกหน่วยงานดำเนินงานรูปแบบ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” เพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อนในการรายงานหรือการตรวจราชการ และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานด้านระบบฐานข้อมูล ให้เปลี่ยนแปลงสู่ยุคข้าราชการดิจิทัล ประเด็นติดตามการดำเนินงาน PISAซึ่งสภาการศึกษาเป็นหลักในการดูในเรื่องต่าง ๆ จากที่ได้มีการจัดสัมมนามาแล้ว 3 ครั้ง ได้นำข้อสรุปมาคิดวิเคราะห์ เพื่อมอบนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงาน ต่อยอดให้ดีขึ้นจากเดิมที่เคยทำอยู่ พบพร ผดุงพล / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / วิดีโอ นัทสร ทองกำเหนิด / Tik Tok ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี เรื่อง การเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) และได้ผ่านการเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จะแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับปลัดกระทรวงฯ ดังนี้ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 19(19th ASEAN Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14(อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน เกาหลี และญี่ปุ่น) (14th ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Education: APT SOMED) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9(อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา) (9th East Asia Senior Officials Meeting on Education: EAS SOMED) การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13(13th ASEAN Education Ministers Meeting: ASED) การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7(7th ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting: APT EMM) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7(7th East Asia Summit Education Ministers Meeting: EAS EMM)
2 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ในฐานะโฆษก ศธ. และ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขา กพฐ.) ร่วมลงพื้นที่เปิดกิจกรรมงาน WT Open House “Edutainment เล่น เรียน รู้ ในสไตล์ที่เป็นคุณ” ณ โรงเรียนวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ โดยมี นายกิตติภัทท์ ไกรเพชร ศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ จากนั้นได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาพื้นที่ จ.สุรินทร์ รมช.ศธกล่าวว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานการเปิดกิจกรรม WT Open House 2023 “Edutainment เล่น เรียน รู้ ในสไตล์ที่เป็นคุณ” จากคำกล่าวรายงานของคณะกรรมการดำเนินงาน จะเห็นได้ว่ากิจกรรมจัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานของโรงเรียน ซึ่งมีการจัดบูธและนิทรรศการของหน่วยงาน/องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้นักเรียนผู้ปกครองและชุมชนได้เข้ามาเยี่ยมชมโรงเรียน รวมถึงได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ที่สำคัญลูก ๆ นักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้รับคำแนะนำแนวทางการศึกษาต่อของสถาบันระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายเป็นตลาดนัดทางการศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ ทั้งนี้ขอขอบคุณสถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายโรงเรียนประถมและมัธยมในจังหวัดสุรินทร์ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี ทำให้ ลูก ๆ นักเรียนได้มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตนเองตามความถนัดและความสนใจ ดังชื่อกิจกรรม Edutainment เล่น เรียนรู้ ในสไตล์ที่เป็นคุณ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. จากนั้น รมช.ศธ.พร้อมคณะได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานฯ เพื่อติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาพื้นที่ จ.สุรินทร์ รมช.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า การมาในครั้งนี้ตนได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ให้มาติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาพื้นที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะกับทุกท่าน เพื่อรับฟังผลการดําเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในพื้นที่ จ.สุรินทร์ จากคํากล่าวรายงาน ทำให้ทราบว่าทุกส่วนราชการ รวมถึงภาคประชาสังคมของจังหวัดสุรินทร์ ได้ให้ความสําคัญและให้ความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษา สามารถนํานโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โดยมีเป้าหมายให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” เพื่อพัฒนา คุณภาพการจัดการศึกษา จนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของสาธารณชน มาเป็นลำดับ ทั้งนี้ตนได้ติดตามการดําเนินงานของแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้รับฟังปัญหาอุปสรรคในการ บริหารจัดการ และการปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละบริบทของพื้นที่ รวมถึงข้อสั่งการและแนวปฏิบัติอื่น ๆ ของศธ. เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนและเป็นที่พึงพอใจของผู้ปกครอง “การมาในครั้งนี้จะไม่เสียเปล่า สิ่งใดที่สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาได้ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนทันที ที่สำคัญขอฝากกับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ทุกเขต ให้ร่วมกันขับเคลื่อนการจัดให้มีหลักสูตรการสอนภาษาท้องถิ่น หรือภาษาเขมร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราจะต้องร่วมกันจัดหลักสูตรและร่วมกันขับเคลื่อนการใช้ภาษาท้องถิ่นในทุกโรงเรียน โดย ศธ.พร้อมที่จะสนับสนุนทั้งในส่วนของบุคลากรและสื่อการเรียนการสอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ขอขอบคุณผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ได้เสียสละและทุ่มเทกำลังกายกําลังใจ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และพร้อมให้กําลังใจทุกท่านที่จะร่วม “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” เพื่อพัฒนาลูกหลานของชาวสุรินทร์ ให้บรรลุเป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข” และเป็นกําลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป”นายสุรศักดิ์ กล่าว คณะทำงาน รมช.ศธ. / ภาพ-ข่าว
1 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการฯ ข้าราชการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ รมช.ศธ.เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณา และมีมติที่สำคัญ ดังนี้ เห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนแก้ไขหนี้ครูฯ ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาตามที่ รมว.ศธ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี รมช.ศธ. เป็นประธานนั้น จึงเห็นควรมอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องสำรวจและสรุปข้อมูลหนี้สิน โดยแยกประเภทเป็นหนี้วิกฤติ ใกล้วิกฤติ และปกติ เพื่อจะได้รวบรวมสรุปผลในภาพรวมนำเสนอในที่ประชุมฯ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำโปรแกรมออนไลน์ “ระบบแก้หนี้ สพฐ. (debt obec)” สำหรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ในสังกัด สพฐ. ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ พิจารณาแล้วเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เป็นเอกภาพและสามารถรวบรวมข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับจำนวนหนี้ให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลกำหนดนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้ สพฐ. จัดทำระบบลงทะเบียนในภาพรวม โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ รับทราบผลการดำเนินการเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินครูฯ ที่ประชุมรับทราบ สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ หน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาค สายด่วนการศึกษา 1579 จดหมาย รวมทั้งสิ้น 106 เรื่อง แบ่งเป็น ขอความอนุเคราะห์ใช้ระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือน ปี 2551 (รวมหนี้ให้อยู่ในกรอบไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือน) 60 เรื่อง, คดีความ ชะลอ ไกล่เกลี่ยชำระหนี้ 30 เรื่อง, อื่น ๆ เช่น ติดตามเรื่องหนี้สินครู ปรับโครงสร้างหนี้ เสนอแนะจัดมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 16 เรื่อง จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงมอบฝ่ายกฎหมายทุกหน่วยงานองค์กรหลัก (สป. สพฐ. สอศ. สกศ.) ติดตามกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด และกรณีเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ ได้ดำเนินการเร่งแจ้งสถานีแก้หนี้ในพื้นที่นั้น ๆ เข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. ดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 โดยต้องพิจารณาปรับปรุงกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนที่ชำระหนี้เงินกู้ของบุคลากรในสังกัด ต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิหลังจากชำระหนี้ประจำเดือนแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือเมื่อรวมหนี้แล้วห้ามไม่ให้หักเกินร้อยละ 70 พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์) ในการประสานกับสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาดำเนินการลดภาระช่วยให้ลูกหนี้สามารถส่งคืนหนี้ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหมาะสม สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงและรูปแบบการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมทั้งกำหนดค่างวดการส่งคืนเงินกู้ให้เหมาะสมกับรายได้ของผู้กู้ ตลอดจนใช้ทุนเรือนหุ้นของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อบรรเทาภาระหนี้เงินกู้สวัสดิการได้ตามความจำเป็น สำหรับระยะต่อไป ศธ. เตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยมี (ร่าง) สาระสำคัญ อาทิ ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในการรวมหนี้รีไฟแนนซ์ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 4.75 ชะลอการฟ้อล้มละลายครูที่มีหนี้วิกฤต หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL เป็นระยะเวลา 3 ปี ขยายงวดการผ่อนชำระถึงอายุ 75 ปี อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
29 มกราคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดนครนายก เพื่อมอบนโยบายพร้อมพบปะและให้กำลังใจ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา “ในการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการพัฒนาผู้บริหารการศึกษา สพฐ. OBEC ONE TEAM ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-31 ม.ค.2567” โดยมี นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผอ.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ร่วมให้การต้อนรับณ โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท จ.นครนายก รมช.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมโครงการพัฒนาผู้บริหารการศึกษา สพฐ. OBEC ONE TEAM ซึ่งมีทั้ง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่จำนวน 387 คนมาร่วมอบรม ตนจึงขอถือโอกาสนี้มาแสดงความยินดีและชื่นชมทุกคนที่เข้ามาสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสําคัญในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพในระดับพื้นที่ ถ้าดูจากกําหนดการจัดกิจกรรมจะเห็นได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี มีการแบ่งการจัดกิจกรรมออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกระหว่างวันที่ 22 – 31 ม.ค.2567 ณ โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท นครนายก เป็นการเสริมสร้างสมรรถนะของผู้บริหาร โดยการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ระยะที่ 2 เป็นการเรียนรู้ตามสภาพจริง (ฝึกงาน) ระหว่างวันที่ 2 – 11 ก.พ. 2567 ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และระยะที่ 3 เป็นการจัดทําและนําเสนอแผนกลยุทธ์การพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาระหว่างวันที่ 15 – 17 ก.พ.2567 ณ กรุงเทพฯ “กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกระบวนการที่มีคุณค่าในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้บริหาร มีทั้ง การให้ความรู้ ฝึกปฏิบัติ และถอดบทเรียนเพื่อจัดทําแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้ระบบการศึกษาก้าวไปข้างหน้าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการจัดการศึกษาในอนาคตหลายๆประเทศจะเน้นรูปแบบ การจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การแข่งขันเป็นผู้นําทางเศรษฐกิจโลก ส่วนใหญ่เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ เน้นให้คนใช้ทักษะกระบวนการคิด วุฒิทางอารมณ์ สังคม เพื่อความอยู่รอด ระบบการศึกษาตามอัธยาศัย จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อตอบสนอง ความต้องการประกอบอาชีพที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ดังนั้นความคาดหวังของระบบการศึกษาไทย อาจจะแบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่ 1.การศึกษาตามระบบ ที่เน้นวิชาการเพื่อความเป็นเลิศ และ2. การศึกษาตามความถนัด ที่เน้นวิชาชีพ ตามศักยภาพของผู้เรียน”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว รมช.ศธ.กล่าวต่อว่า ขอเป็นกําลังใจในการทำงานทั้งยังขอฝากให้ทุกท่านร่วมกันพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งการบริหารหลักสูตร การเตรียมบุคลากรเพื่อจัดการเรียนรู้ รูปแบบใหม่ การมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน การยกระดับ ผลการเรียนรู้ การปรับปรุงเชิงโครงสร้าง และการใช้เทคโนโลยีการศึกษาต่าง ๆ รวมถึงร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เพราะการจัดการศึกษาจําเป็นต้อง เริ่มจากความสุข ทั้งผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อทุกคนมีความสุขจะทำให้การเรียนดีขึ้น การพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศชาติพัฒนายิ่งขึ้น และต้องร่วมมือ ร่วมใจกันพัฒนาการศึกษา ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้ แนวทางการทำงาน จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน คณะทำงาน รมช.ศธ. / ภาพ-ข่าว
เสมา 2 “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” ลงพื้นที่กระบี่ เล็งเพิ่มหลักสูตรต่อต้านทุจริตแก่ผู้เรียน และตรวจเยี่ยมโรงเรียนอนุบาลพังงา รับแก้ไขปัญหาขาดโรงอาหารให้เด็ก ๆ จังหวัดกระบี่ จังหวัดกระบี่ 21 มกราคม 2567– นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยตรวจเยี่ยมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ (สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย) พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการจากโรงเรียนในพื้นที่ และจากสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดกระบี่ (สกร.กระบี่) โดยมีนายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายอาคม สุชาติพงษ์ ศึกษาธิการจังหวัดกระบี่ ตลอดจนคณะครูและนักเรียนให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมกิ่งจันทร์ รมช.ศธ. กล่าวว่า วันนี้มีโอกาสมาตรวจเยี่ยมราชการและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ ศธ.ในจังหวัดกระบี่ ซึ่งจากการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แต่ละหน่วยงานเข้าใจถึงนโยบายและการขับเคลื่อนในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการลดภาระครูนักเรียนและผู้ปกครอง การแก้ไขหนี้สินครู ความปลอดภัยในสถานศึกษา บ้านพักครู ครูคืนถิ่น การจัดสรรงบประมาณ การขาดแคลนโรงอาหาร รวมถึงเรื่องอาหารกลางวัน สำหรับ Thai School Lunch เป็นแอปพลิเคชันของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เคยมีอยู่แล้ว โดยต่อไปนี้ ศธ.จะกำชับอย่างเคร่งครัดว่าการทำอาหารกลางวันในโรงเรียนแต่ละมื้อต้องอิงจากเมนูเทรนด์อาหารแนะนำในแอปพลิเคชัน โดยให้แต่ละโรงเรียนถ่ายรูปส่งมาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อเป็นหลักฐาน ในแต่ละมื้ออาหารต้องเหมาะกับสมโภชนาการและสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ซึ่งได้มีหนังสือสั่งการไปทั่วประเทศในการอ้างอิงการประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนตามเมนูในแอปพลิเคชัน Thai School Lunch สำหรับการดำเนินงานร่วมกับ ปปช. ที่กำลังขับเคลื่อนหลักสูตรการต่อต้านการทุจริตให้กับผู้เรียน เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องของการสร้างรากฐานที่ดีในการปลูกฝังให้ผู้เรียนต่อต้านคอร์รัปชันตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้ง ปปช.จังหวัดที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูผู้สอน สร้างความเข้าใจการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกต้องตามระเบียบ เพราะบางโรงเรียนยังทำไม่ถูกต้องแต่เป็นไปด้วยเจตนาดี โดยเฉพาะโครงการอาหารกลางวันและการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุต่าง ๆ เพื่อให้ครูนำข้อแนะนำมาดำเนินการให้ถูกระเบียบ ให้เกิดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด ตอนนี้ที่ให้ความสำคัญที่สุด คือ เรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่ง ศธ. ได้ทำ MOU ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการขอความร่วมมือให้ฝ่ายปกครองช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับโรงเรียนในสังกัด ศธ. และจะทำหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์ในการเน้นย้ำถึงฝ่ายปกครอง ให้คอยดูแลรับผิดชอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ ศธ.มีแนวทางที่จะยกระดับ “ศูนย์ความปลอดภัย” ให้เป็น “สำนักความปลอดภัย” โดยมีบุคลากรที่มีความชำนาญในอัตราที่เพียงพอ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการตรวจสอบดูแลรับเรื่องร้องเรียนในแต่ละเขตพื้นที่ และหากในอนาคตมีการจ้างนักการภารโรงประจำโรงเรียน ก็จะเป็นการทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ผู้เรียนและครูได้ดียิ่งขึ้น “ขอยืนยันว่าทุกคดีที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ศธ.จะดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด ไม่มีการยอมความอย่างแน่นอน เพราะเป็นนโยบายด้านความปลอดภัยและข้อกำชับของ รมว.ศธ. ที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องเป็นที่ปลอดภัย” รมช.ศธ. กล่าว ภาพกระบี่https://shorturl.at/qxERZ จังหวัดพังงา จังหวัดพังงา 22 มกราคม 2567– นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมโรงเรียนอนุบาลพังงาอำเภอเมืองจังหวัดพังงา โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดพังงาร่วมให้การต้อนรับ รมช.ศธ. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่โรงเรียนอนุบาลพังงาในวันนี้ เพื่อรับฟังการสะท้อนปัญหาภาพรวมด้านการศึกษาของจังหวัดพังงา ซึ่งทุกหน่วยงานในพื้นที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย ศธ.อย่างจริงจัง พร้อมนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการที่สร้างสรรค์ และสร้างรายได้ให้แก่ผู้เรียนด้วย นอกจากนี้ ได้เดินตรวจสอบอาคารของโรงเรียนอนุบาลพังงาแล้ว พบว่าไม่มีโรงอาหารสำหรับรับประทานอาหารกลางวัน โดยนักเรียนใช้วิธีการยกหม้ออาหารขึ้นไปตักข้าวกินชั้นบน แล้วก็รับประทานอาหารในห้องเรียน ก็เป็นเรื่องที่มองแล้วดูว่าเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งโรงอาหารก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักเรียนด้วย ต้องมีพื้นที่ที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ก็จะเป็นประเด็นที่รับไว้ไปหาแนวทางร่วมกับ สพฐ. และสำนักงบประมาณเพื่อช่วยเหลือต่อไป ภาพพังงาhttps://shorturl.at/gkCQ9 ปารัชญ์ ไชยเวช, พบพร ผดุงพล / ข่าว -ภาพ