19 กันยายน 2567 / นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน นักศึกษา ช่วงปิดภาคเรียน โดยมีนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวรายงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ศธ. พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในงาน ผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนจากสถานประกอบ 22 แห่ง ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ให้ความสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสในการทำงาน การได้รับสิทธิคุ้มครองและผลตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนไทยทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่เป็นหนึ่งในกำลังแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต กระทรวงแรงงาน จึงได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน นักศึกษาในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียนขึ้น ระหว่าง “กระทรวงแรงงาน” โดย กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และ “กระทรวงศึกษาธิการ” โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำอีก 22 แห่ง พร้อมทั้งจัดเตรียมตำแหน่งงานทั่วประเทศ รองรับการทำงานของ นักเรียน นิสิต และ นักศึกษา จำนวนกว่า 10,000 อัตรา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานในอนาคตให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงลักษณะงาน ความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในด้านทักษะและกายภาย รวมถึงสามารถนำประสบการณ์จากการทำงานจริงมาใช้เพื่อการวางแผนการยกระดับความสามารถและพัฒนาทักษะของตนเองให้มีความเหมาะสมและตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานภายหลังจากจบการศึกษา และยังเป็นการสร้างรายได้ตั้งแต่วัยเรียนลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้อีกด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ และขอชื่นชมกระทรวงแรงงานที่สร้างโอกาส สนับสนุน นักเรียน นักศึกษา ที่ประสงค์จะทำงานให้มีงานทำที่เหมาะสม ได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริง ได้เรียนรู้โลกของอาชีพ ซึ่งในส่วนของสถาบันการศึกษาจะร่วมประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการมีงานทำ และกำหนดหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการของนักเรียน นักศึกษา และตลาดแรงงานต่อไป นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นความตั้งใจและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วน ที่จะสร้างกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษามีงานทำ ทั้งด้านพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ตลอดจนคุ้มครองการทำงานแก่นักเรียน นักศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยกรมการจัดหางาน จะทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน รับสมัครนักเรียน นักศึกษาที่ต้องการจะทำงาน และส่งตัวไปสถานประกอบการเพื่อพิจารณาบรรจุงาน ในส่วนของสถานประกอบการจะจัดส่งตำแหน่งงานว่างที่เหมาะสมสำหรับนักเรียน นักศึกษาให้กรมการจัดหางานเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดหางาน รวมทั้งประชาสัมพันธ์การรับสมัครงานผ่านช่องทางการรับสมัครงานต่าง ๆ ของสถานประกอบการ ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการหางานทำสามารถใช้บริการที่เว็บไซต์ “ไทยมีงานทำ.doe.go.th” หรือแอปพลิเคชัน “ไทยมีงานทำ” โดยคนหางานสามารถค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ในตำแหน่งงานตามพื้นที่ และ ภูมิลำเนา รวมถึงจับคู่ตำแหน่งงานจากความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีอยู่ ส่วนนายจ้าง สถานประกอบการ ที่ต้องการเพิ่มช่องทางรับสมัครงาน สามารถลงทะเบียนนายจ้าง เพื่อประกาศตำแหน่งงาน และคัดลอกรายชื่อผู้หางาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 โดยสถานประกอบการชั้นนำอีก 22 แห่ง ประกอบด้วย เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เดอะมอลล์ กรุ๊ป แมคไทย เชสเตอร์ฟู้ด ซูกิชิ พีทีจี เอ็นเนอยี ซีพี แอ็กซ์ตร้า เคที เรสทัวรองท์ เซ็น คอร์ปอเรชั่น เอส เอฟ บีเอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ โจนส์สลัด มีทชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ รีเทล บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ โออิชิ กรุ๊ป บางจากรีเทล อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ปลูกผักเพราะรักแม่ และ แบล็ค แคนยอน
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
18 กันยายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 31/2567 และถือเป็นการประชุมผู้บริหาร ศธ.ครั้งแรก หลังจากมอบนโยบายในโอกาสเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 2 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting รมว.ศธ. กล่าวว่าวันนี้เป็นการประชุมประสานภารกิจครั้งแรกหลังจากที่ได้มอบนโยบายการศึกษาไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามการดำเนินการต่าง ๆ ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานรับไปปฏิบัติ ก็จะมีการทบทวนการดำเนินการ 3 ปีจากนี้ไปว่าเราจะทำอะไรต่อบ้าง เพื่อตอบสนองนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล เช่น เพิ่มเติมการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียม รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการในการทำงานหรือการศึกษา ทั้งนี้แผนงานต่าง ๆ เราต้องทำงานเป็นทีมมีการพูดคุยกันอยู่ตลอด เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านงานก็ขอให้หารือกันเพื่อจะได้ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นการทำงานเชิงระบบ การขอรับอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง เพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติจากสถานการณ์อุทกภัย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วม มี 30 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ซึ่ง 3 จังหวัดที่รุนแรงที่สุด คือ เชียงราย พระนครศรีอยุธยา และหนองคาย ขณะที่ผลสำรวจหน่วยงานในสังกัด ศธ. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พบความเสียหายดังนี้ 1) สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย และโรงเรียนเอกชน 6 แห่ง (สังกัด สป.) 2) หน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) 36 แห่ง 3) โรงเรียนในสังกัด สพฐ. 456 แห่ง 4) สถานศึกษาในสังกัด สอศ. 45 แห่งรวมประมาณการเสนอขอรับอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางเพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติ จำนวน 197.67 ล้านบาท ในการนี้รมว.ศธ.ได้เน้นย้ำการทำงานว่าก่อนเกิดเหตุต้องมีการซักซ้อมเตรียมการรับมือภัยพิบัติให้เรียบร้อย เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการอย่างไรบ้าง ส่วนกลางสามารถเชื่อมต่ออะไรได้บ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ได้รายงานในที่ประชุม ครม. ไปแล้วว่าในส่วนของ ศธ. มีสถานศึกษาได้รับความเสียหายหลายแห่ง ไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้ อุปกรณ์การเรียนการสอนสูญหายไปกับน้ำขอให้เร่งทำขออนุมัติจัดสรรงบกลางฯ ให้เร็วที่สุด เรื่องแบบนี้ช้าไม่ได้ สำรวจความเสียหายมีเท่าไหร่ ก็ดำเนินการเสนอส่งไปก่อน แล้วหากไม่เพียงพอจึงค่อยทำของบประมาณเพิ่มเติมต่อไป ผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 จากข้อมูลของสำนักงบประมาณศธ. สามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้เป็นอันดับที่ 1 จากทั้งหมด 24 หน่วยงานคิดเป็น 100.09% ด้านข้อมูลสถานะรายจ่ายเงินลงทุน 2567 และเงินจัดสรรเหลือจ่าย ณ วันที่ 13 ก.ย. 2567 มีจำนวนรายการที่ลงนามในสัญญาแล้ว 98.90% และเบิกจ่ายแล้ว 55.82% รมว.ศธ.กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ตอนนี้ ศธ. มีการเบิกจ่ายเป็นอันดับ 1 ของหน่วยงานราชการ เป็นผลมาจากการช่วยกันคนละไม้คนละมือในการทำงาน ทั้งรมช.ศธ. ในการกำกับดูแลการทำงาน คณะที่ปรึกษา รมว.ศธ. ในการประสานงาน และหัวหน้าแท่งต่าง ๆ ที่ช่วยในการขับเคลื่อนถึงแม้ว่างบลงทุนบางส่วนจะยังลบอยู่ แต่คิดว่าน่าจะดำเนินการทันในปีนี้ทั้งหมดรวมทั้งได้มอบนโยบายไปว่าในช่วงกลางปีหน้าควรจะจัดการให้เรียบร้อย เพื่อจะได้รู้ว่ามีเงินเหลือจ่ายเท่าไหร่ จะได้นำมาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การติดตามผลการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมิน PISA ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานรายงานผลการการยกระดับฯ PISA ของ สพฐ. 5 ประเด็น ดังนี้ 1. ความก้าวหน้าของการนำชุดพัฒนาไปใช้ ฯ (เล่ม 3 และ 4)นักเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 662,300 คน (ม.2 และ ม. 3) ได้รับการพัฒนาผ่านชุดพัฒนาฯ จำนวน 506,374 คนโดย 78.23% นำไปบูรณาการวิชาพื้นฐาน 13.15% ไปบูรณาการกับรายวิชาเพิ่มเติม 8.62% ด้านอื่น ๆ เช่น รายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมเสริมหลักสูตร ชั่วโมงเสริม เป็นต้นและผลการเข้าใช้ระบบนักเรียนเข้าสู่ระบบ Computer Based TestPISA Style Online Testing มีนักเรียนที่ฝึกทำข้อสอบในระบบ PISA แล้ว จำนวน 729,825 คน (ม.2 และ ม.3) 2. การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามแนวทางการประเมิน PISA 245 เขต +1 (สศศ.)กลุ่มเป้าหมาย คือ ครูสอนวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ กลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์และศึกษาสงเคราะห์ 52 โรงเรียน เพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินตามแนวทาง PISA การออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ฯ การสร้างแรงจูงใจ และการนำนักเรียนเข้าระบบ Computer Based test รูปแบบการพัฒนาผ่านระบบ Online...
16 กันยายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ พร้อมทั้งจัดประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting ร่วมกับผู้บริหารการศึกษาทุกสังกัดในส่วนภูมิภาค โดยมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live : ศธ. 360 องศา รวมทั้ง YouTube : ศธ. 360 องศา, BICT และ ETV Channel รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2567 โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 ได้มอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” พร้อมที่จะ“เดินหน้าสานต่อนโยบายเดิม เพิ่มเติมนโยบายรัฐบาลใหม่”ซึ่งการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ขอขอบคุณผู้บริหาร ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจเป็นอย่างดี จนทำให้ผลการดำเนินงานประสบผลสำเร็จและเป็นที่ประจักษ์ “รัฐบาล”เชื่อว่าทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยจะเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ส่งเสริมการเกิดและเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เติบโตอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมการปลดล็อคศักยภาพทั้งทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน เพื่อตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อสร้างรายได้ ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต “การศึกษา”ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า กระทรวงศึกษาธิการจึงมุ่งมั่นใช้การศึกษาเพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการดำเนินงาน พร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” สานต่อนโยบายเดิม และเพิ่มการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเพิ่มเติมนโยบายตามแนวทางของรัฐบาลชุดใหม่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย“เพื่อเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต”ภายใต้นโยบายหลัก คือ“ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา”และ“ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง”มุ่งเน้น“การเพิ่มเครือข่ายทางการศึกษา”เพิ่มการมีส่วนร่วม สร้างภาคีเครือข่าย โดยนำงานวิจัยเป็นฐาน มีการทำงานเป็นทีม สร้างบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข และสร้างองค์กรแห่งวัฒนธรรม ทั้งภาควิชาการ หน่วยงานทางการศึกษา สถานศึกษา/สถาบันทางการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน เพื่อ“การศึกษาที่เท่าเทียม”พัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ให้ผู้เรียน“ฉลาด รู้ฉลาดคิด ฉลาดทำ”พัฒนา ส่งเสริม และสร้างความเสมอภาคเพื่อ“ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา”มาร่วมกัน“ปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ”เพื่อให้ประเทศมีความ“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขอให้ความมั่นใจต่อทุกท่านว่า พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งที่สำคัญต้องขอขอบคุณคณะรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติงบประมาณโครงการต่าง ๆ อาทิ อาหารกลางวัน หรือการจ้างนักการภารโรง เพื่อสวัสดิภาพของครูและนักเรียน และขอบคุณรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพรทองธาร ชินวัติ นายกรัฐมนตรี ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา ที่ได้มีนโยบายทางการศึกษาที่มุ่งเน้นในการพัฒนาทุนมนุษย์และการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน จะร่วมจับมือและก้าวไปพร้อมกับ รมว.ศธ. เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน เดินหน้า และสานต่อนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”ให้ภารกิจและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าต่อไป” เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อเป้าหมายในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ภายใต้ 2 นโยบายหลัก พร้อมยกระดับความร่วมมือด้านการศึกษาในทุกมิติ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา นโยบายการลดภาระครูด้วยการปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านระบบออนไลน์ (DPA) เพื่อลดขั้นตอน ทำให้การประเมินมีความสะดวก รวดเร็ว ช่วยประหยัดเวลา งบประมาณ ปิดช่องทางการทุจริต และลอกเลียนแบบผลงานทางวิชาการ ด้วยโปรแกรม “อักขราวิสุทธิ์” สำหรับการโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นนั้น ยึดหลักการสำคัญคือ ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม จึงนำระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (TMS) ระบบย้ายข้าราชการครู (TRS) และระบบบริหารอัตรากำลัง (SCS) เชื่อมโยงกับระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียน เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังมีความถูกต้อง แม่นยำ เหมาะสมกับภาระงานตามสภาพบริบทของพื้นที่ การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินงานโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ ยกระดับการหักเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ ลดจำนวนครูกลุ่มเป็นหนี้ระดับวิกฤต จัดสรรวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียน เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน ให้ความรู้และทักษะการบริหารจัดการด้านการเงิน การออมควบคู่กับการสร้างวินัยในการบริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเดินเครื่องเต็มกำลังแก้ปัญหา เติมความสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมความปลอดภัยให้กับครู และนักเรียน ด้วยการยกเลิก “ครูอยู่เวร” เพื่อความปลอดภัยของครู รวมทั้งจ้างนักการภารโรงในโรงเรียนที่ขาดแคลนเพื่อช่วยลดภาระงานครู ทั้งยังช่วยเกิดการจ้างงานในชุมชน รวมถึงการปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ลดภาระการประเมินของสถานศึกษา...
วันที่ 14 กันยายน 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ณ ศูนย์ประชุม NICE สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล และนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง และนายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. รวมถึง ผอ.สพท. และรอง ผอ.สพท. ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 77 จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักและบุคลากรของ สพฐ. เข้าร่วมกว่า 1,000 คน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุลกล่าวว่า ตามที่ทุกท่านได้รับทราบแล้วว่า ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงศึกษาธิการมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผม นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่พวกเราจะได้สานต่อนโยบายการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2567 จะเห็นได้ว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในงานด้านการศึกษาของประเทศ เพราะ “ทุนมนุษย์ เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริม ผลักดัน ให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ” โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ การจัดสรรสวัสดิการ ด้านการศึกษา สาธารณสุขและสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เด็กไทยทุกคน จะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตก็ได้เรียนหนังสือ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพ ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระและลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษา โดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง เพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ เฟ้นหา และช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ที่หลุดจากระบบการศึกษา ส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) “นอกจากนโยบายการจัดการศึกษาแล้ว ยังให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของเด็กนักเรียน เราควรมุ่งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรับมือกับภัยธรรมชาติ และปัญหา PM 2.5 โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และนอกจากภัยดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ ยังประสบกับอุทกภัยอย่างหนัก โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องชาวภาคเหนือทุกท่าน รวมถึงในจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ และได้ฝากให้ สพฐ. เร่งดูแลและให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ ขอชื่นชมกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ที่ปรับโฉมใหม่ เน้นการนำเสนอผลงานให้เห็นประจักษ์ เพราะจะทำให้ผู้บริหารได้มุมมอง แนวคิด วิธีการบริหารงานด้านการศึกษาที่มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น สามารถนำไปบูรณาการ และปรับใช้ตามบริบทในเชิงพื้นที่ต่อไป” นางเกศทิพย์ ศุภวานิชกล่าวว่า ตามข้อสั่งการของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดาเลขาธิการ กพฐ. กำหนดให้การจัดกิจกรรมในการประชุมฯ ตลอดช่วงระยะเวลา 3 วันนี้ (14-16 กันยายน 2567) ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้แทนสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้นำเสนอผลงานการบริหารจัดการองค์กร หรือผลงานที่ภาคภูมิใจที่ประสบผลสำเร็จในการนำนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของ สพฐ. ไปขับเคลื่อนในพื้นที่จนประสบผลสำเร็จและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการ 5W1H คือ Who What When Where Why และ How นอกจากนี้ จะมีการแจ้งข้อราชการสำคัญ และเตรียมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากกลุ่มพื้นที่ประจำเขตตรวจราชการ ทั้ง 18 เขตตรวจฯ (245 เขตพื้นที่การศึกษา)...
รมช.ศึกษาธิการ “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” ห่วงน้ำท่วมเชียงราย กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือสถานศึกษา เน้นย้ำความปลอดภัย ลูก ๆ นักเรียน – ผู้ปกครอง – ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหลัก เผย มี 17 โรงเรียน 1 สพม. ได้รับผลกระทบ ทั้งน้ำท่วมบริเวณพื้นอาคารเรียน – สนามโรงเรียน และดินสไลด์ปิดทางเข้าออกโรงเรียน 11 กันยายน 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันจากพายุ “ยางิ” ที่ จังหวัดเชียงราย ว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และตน มีความห่วงใยในสถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างมากและขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนเราจะก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน ทั้งนี้ตนได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ทำการติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องประกาศปิดโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการได้ทันที ในส่วนของพื้นที่ใดหากมีรายงานว่าน้ำกำลังมาก็ขอให้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก “โดยเบื้องต้นเมื่อเวลา 10.40 น. ได้รับรายงานข้อมูลจากศูนย์ความปลอดภัย สพม. และสพป.เชียงราย เขต1 เกี่ยวกับเหตุการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงรายพบว่า มี 17 โรงเรียน และ 1 สพม. ได้รับผลกระทบ เช่น น้ำท่วมบริเวณพื้นอาคารเรียน สนามโรงเรียน ดินสไลด์ปิดทางเข้าออกโรงเรียน เป็นต้น เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง และปริมาณน้ำในแม่น้ำกกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ่อล้นท่วมบริเวณโดยรอบแม่น้ำ ไหลเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ส่งผลให้การจราจรติดขัด หลายเส้นทางปิดการใช้งาน รถยนต์เก๋ง รถเล็กไม่สามารถผ่านไปได้ รวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำกกทุกสะพานในเขตเมืองเชียงรายปิดการจราจร ส่งผลให้บุคลากรในสังกัด สพม.เชียงราย ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติงานได้ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าว”รมช.สุรศักดิ์ กล่าว รมช.ศธ.กล่าวด้วยว่า จากการได้รับรายงานการดำเนินการในระยะเร่งด่วนเบื้องต้นทาง สพม.และ สพป.เชียงราย เขต 1 กำลังจัดเตรียมถุงยังชีพเพื่อมอบให้กับโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งได้มีการกำชับให้ผู้บริหารในทุกกลุ่มงานขนย้ายเอกสารสำคัญและทรัพย์สินทางราชการขึ้นไว้ชั้น 2 เพื่อเตรียมการป้องกันความเสียหาย และเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำกกอย่างใกล้ชิด โดยอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคลากรในสังกัด ทั้งนี้ในส่วนของบุคลากรที่ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติงาน ณ สำนักงานเขตพื้นที่ได้ ให้ปฏิบัติงานในรูปแบบออนไลน์ (Work Form Home) พร้อมแจ้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์เส้นทางการจราจรเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับโรงเรียนในสังกัดหรือผู้มาติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิดต่อไป
เสมา 2 เยือนถิ่นดอกบัวงาม ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในสังกัด ขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต่อเนื่อง
จังหวัดอุบลราชธานี – 8 กันยายน 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา โรงเรียนบ้านนาจาน อำเภอพิบูลมังสาหาร (สพป.อุบลราชธานี เขต 3) โรงเรียนบ้านไร่ อำเภอศรีเมืองใหม่ (สพป.อุบลราชธานี เขต 3) และโรงเรียนอนุบาลกุดข้าวปุ้น (ศาสนานุเคราะห์) อำเภอกุดข้าวปุ้น (สพป.อุบลราชธานี เขต 2) โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ให้การต้อนรับ รมช.ศธ.กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 12-13 กันยายน 2567 นี้ ซึ่งทุกคนจะได้รับทราบแนวทางนโยบายการศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่ในเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก และเป็นห่วงเรื่องการขับเคลื่อนการศึกษาที่ผ่านมา เช่น การยกระดับโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ (PISA) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมนำนโยบายของนายกรัฐมนตรี ไปขับเคลื่อนต่อยอดอย่างเต็มที่ ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ได้ทำงานด้านการศึกษาภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน เห็นนโยบายการศึกษาที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกครูเวร การคืนอัตรานักการภารโรง การเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส และโครงการสุขาดีมีความสุข เป็นต้น ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเจรจาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่พบว่า สหกรณ์หลายแห่งมีการปล่อยดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง ทำให้ครูแบกรับภาระหนี้และเหลือเงินใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่เพียงพอ ดังนั้น ขอฝากเขตพื้นที่ทุกแห่งได้หาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำมาให้ครูเป็นทางเลือก จะได้ไม่เป็นการมัดมือชกให้ครูต้องกู้กับสหกรณ์แห่งเดียว นอกจากนี้ ขอฝากเรื่องระบบความโปร่งใสในการบริหารจัดการงานทุกเรื่อง ขอให้ดำเนินการยึดหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายครู ขอให้ไม่มีการเรียกรับเงินจากการโยกย้ายครูเกิดขึ้น และขอให้ระบบการย้ายครูดำเนินการด้วยความเป็นธรรม ห้ามมีการเรียกรับผลประโยชน์อย่างเด็ดขาด สำหรับนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime นั้น ยังเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีการจัดทำแพลตฟอร์มคลังการเรียนรู้สำหรับครูและนักเรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนแล้ว “จากนี้ไปเราจะใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการศึกษาให้มากขึ้น เพราะการนำไอทีเข้ามาในระบบการศึกษาเป็นสิ่งที่นักการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ต้องการผลักดันเทคโนโลยีกับการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งผมขอฝากครูทุกคนเมื่อเรานำไอทีเข้ามาใช้ในการศึกษามากขึ้นก็อยากให้ครูได้กำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีของนักเรียนให้เกิดความเหมาะสมด้วย เพราะเทคโนโลยีเมื่อใช้อย่างสร้างสรรค์จะเกิดประโยชน์อย่างมาก”
รมช.ศธ. “สุรศักดิ์” ห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วม กำชับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือสถานศึกษา ทั้งระยะเร่งด่วน-ระยะยาว ย้ำ เน้นความปลอดภัย “ลูก ๆ นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นหลัก เผยมีโรงเรียนได้รับผลกระทบ 238 โรงเรียน 29 สิงหาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ว่า ตนมีความห่วงใยในสถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างมาก จึงได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ทำการติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้หากจำเป็นต้องประกาศปิดโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ก็ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการได้ทันที ในส่วนของพื้นที่ใดหากมีรายงานว่าน้ำกำลังมาก็ขอให้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก รมช.ศธ.กล่าวต่อว่า เบื้องต้นได้รับข้อมูลสถานการณ์สถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัยจากศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย ของ สพฐ. ล่าสุดเมื่อวันพุธ ที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 31 เขต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 22 เขต และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 9 เขต โดยมีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 238 โรงเรียน มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 4,857 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 759 คน รวมมีนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,616 คน ซึ่งเบื้องต้น สพฐ. ได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาในระยะสั้น ด้วยการมอบถุงยังชีพ เป็นต้น “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และผม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงขอกำชับให้สถานศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสังกัดอื่น ๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยในระยะเร่งด่วน ให้ดูแลเรื่องอาหาร ที่พัก รวมถึงการจัดส่งเรือเพื่อมอบถุงยังชีพ ตามสถานศึกษา บ้านพักครู หรือบ้านเรือนของนักเรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ส่วนในระยะยาว หากพื้นที่ไหนที่ปลอดภัยแล้วให้สำรวจความเสียหายของอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ของโรงเรียนในสังกัด จากนั้นให้แจ้งผ่านไลน์กลุ่ม “ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย” สพฐ. เพื่อพิจารณาในการให้การช่วยเหลือต่อไป”รมช.สุรศักดิ์ กล่าว
9 สิงหาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำทัพผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บุรีรัมย์ ประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งสุดท้ายก่อนจัดงานจริง ณ ห้องประชุมประโคนชัย โรงแรมอัลวาเรซ จ.บุรีรัมย์ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามความพร้อมสำหรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการซ้อมใหญ่และสำรวจพื้นที่จริงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันจัดขึ้น ถือเป็นเป็นการแสดงศักยภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสื่อสารออกมาให้เป็นภาพเชิงบวก เพราะเป็นโอกาสที่เราจะได้ผลักดันชื่อเสียงของประเทศไทยในสายตานานาชาติ ซึ่งช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายลงรายละเอียดกับงานทุกเรื่อง ต้องใช่ ต้องเนี้ยบ ให้ได้มาตรฐานจังหวัดบุรีรัมย์ และประเทศไทย การประชุมของรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน (ASED) อย่างเป็นทางการ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เป็นประจำทุกปี จนในปี 2552 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเชียน ครั้งที่ 4 ซึ่งการประชุมครั้งนั้นเห็นพ้องกันว่า ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของอาเซียน 5 ปี 2554-2558 (ASEAN 5-Year Work Plan on Education 2011-2015) ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการศึกษาของอาเซียน ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง กระชับ และขยายความร่วมมือทางการศึกษาในอาเซียนกับกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก และกลุ่มประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ได้มีการหารือถึงเปลี่ยนแปลงของการศึกษาอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่หลายประเทศได้หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และเห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับความท้าทายของโลก ขณะที่ปีนี้ประเทศไทยรับเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2567 – 2568 และการเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล (Transforming Education to Fit in the Digital Era)” มุ่งมั่นสานต่อการดำเนินงานของอาเซียน โดยเห็นว่าการศึกษาในยุคต่อจากนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ครูต้องเป็นเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนมากกว่าการสอนในห้องเรียน ให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาของแต่ละบุคคล “การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเวทีการเจรจาความร่วมมือที่ทุกประเทศอาเซียนจะร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ก้าวทันโลกดิจิทัลอย่างเข้มแข็งด้วย” รมว.ศธ. ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว นัทสร ทองกำเหนิด , ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มน้อย / ภาพ
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา – 8 สิงหาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาวิชาการนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวัน) พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่วิทยากรและผู้ร่วมแสดงผลงานวิชาการ ณ เดอะ คาวาลิ คาซ่า โดยมี นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมคณะมาด้วย และมี นางกัลยา มาลัย ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 นางสาวรุ่งทิวา บุญมีโชติ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผอ.โรงเรียนจากภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวัน กว่า 150 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า มีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาวิชาการนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก) ในวันนี้สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ “แนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันโดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง ซึ่งการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน มี องค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความครอบคลุมทางสังคม และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย จึงครอบคลุมมิติการพัฒนา ด้านการพัฒนาคน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพและความยุติธรรม ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังเป็นกรอบในการจัดทำแผนการพัฒนาประเทศ ให้มีความสอดคล้องและบูรณาการร่วมกัน เพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง “ทั้งนี้ สพฐ.ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงการส่งเสริมศักยภาพบุคคล ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา โดย สพป.พระนครศรีอยุธยาเขต 1 ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารการศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนา เป็นนวัตกรด้านการจัดการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสถานศึกษาที่ทำให้ครูผู้สอนและผู้เรียนเป็นพลเมืองไทย ที่มีสมรรถนะในการเป็นพลเมืองโลกอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ขอขอบคุณผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการในครั้งนี้ ขอบคุณสพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 วิทยากร คณะทำงานทุกท่าน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมในวันนี้ ขอให้การจัดกิจกรรมประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
2 สิงหาคม 2567/ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานครบรอบ 40 ปี ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พร้อมมอบ โล่เกียรติคุณ ต่อผู้ทำคุณประโยชน์แก่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และทุน พสวท.และมอบเสื้อ พสวท.โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ.ดร.ประสาท สืบค้า ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติ คณะผู้จัดการประชุม นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้แต่ละประเทศ จะต้องคิดกลยุทธ์ให้กับประเทศของตนเอง รวมถึงประเทศไทยที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ตั้งแต่ฐานราก และวางอนาคตอย่างมีทิศทางที่ชัดเจนการเตรียมพื้นฐานความรู้ให้แก่เยาวชน ทั้งด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคตฉะนั้นการส่งเสริมการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องของโลกและวัตถุต่าง ๆ จึงมีความสำคัญ ในขณะเดียวกัน เด็กไทยในอนาคต ก็ต้องคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของไทยที่ดีงาม ควบคู่กับการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยด้วยเช่นกัน การศึกษาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการฝึกคิด วิเคราะห์ ค้นคว้า และพัฒนาไปสู่การดำรงชีวิตในโลกอนาคต จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความจำเป็น โดยเฉพาะปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญถึงขีดสุด อิทธิพลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเราในทุก ๆ ด้าน ดังนั้นการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการเตรียมคน ไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต “การที่ไทยจะเป็นประเทศนวัตกรรม หัวใจสำคัญคือ คนไทยต้องมีความพร้อมด้านการศึกษา ที่มีการเชื่อมโยงความรู้ด้านต่าง ๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ให้มีทักษะความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะการพัฒนาความสามารถด้าน SMT และภาษาต่างประเทศ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้บุคลากรไทยมีความพร้อม รองรับต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยยึดหลักการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ มีเป้าหมายนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผล และคำนึงถึงส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งทุกหน่วยงานที่มาร่วมงานในวันนี้ถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป”รมช.ศึกษาธิการกล่าว นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า การจัดงานครบรอบ 40 ปี ทุน พสวท. นี้ ถือเป็นฐานรากสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการเผยแพร่ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เยาวชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยผลักดันให้กระบวนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศมีคุณภาพสู่ระดับสากล“การสร้างกำลังคน พสวท. เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 40 ปีที่ผ่านมา ทุน พสวท. ได้ทำการบ่มเพาะ พัฒนาและผลิตนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย และนวัตกร ซึ่งถือเป็นฐานกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศ ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์เข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการยกระดับของการศึกษา เพื่อเป็นฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และนำไปสู่ความยั่งยืนของประเทศในอนาคตต่อไป
14 กรกฎาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “สพฐ.สัญจร รวมพลังแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร” เพื่อเร่งขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จุดที่ 4 ภาคกลาง ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมกับ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย อัยการจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด และ ดร.นรินทร์ ชำนาญดู ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี พร้อมผู้เข้าร่วมงานจากหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำโดย นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ผู้จัดการธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย รวมถึงประธานกรรมการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสระบุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีครูและบุคลากรเป็นสมาชิก จำนวนกว่า 3 หมื่นคน และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจำเขตตรวจราชการที่ 1 และ 2 ทั้ง 9 จังหวัด 21 เขตพื้นที่การศึกษา มีครูและบุคลากรในสังกัดกว่า 73,787 คน รวมถึงผู้ลงทะเบียนในระบบแก้หนี้ออนไลน์ของ สพฐ. และผู้มีเงินเดือนเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน และผู้สนใจ เข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน รวมทั้งผู้ชมที่อยู่ในระบบออนไลน์ Facebook live : ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. ประกอบด้วยสถานีแก้หนี้ระดับ สพท. ทั่วประเทศ จำนวน 245 แห่ง สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และผู้ที่สนใจร่วมรับชมจำนวนกว่า 3,400 ราย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุลได้เน้นย้ำนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่มีนโยบายและมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลดภาระครูและบุคลากร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ครูและบุคลากร สามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้เห็นผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง สามารถใช้ทรัพยากร เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาหนี้สินจะทำให้ครูและบุคลากรมีสภาพคล่องทางการเงิน มีขวัญ กำลังใจ และมีสมาธิจดจ่อในการแก้ปัญหาและพัฒนานักเรียน รวมทั้งสามารถวางแผนพัฒนาตนเองได้อย่างดี ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สินทั้งภาคประชาชนและบุคลากรภาครัฐ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งมั่นที่จะดำเนินการให้เห็นผล โดยการแก้ปัญหาหนี้สินจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาสังคมในภาพรวมไปพร้อมกัน ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างตำแหน่งต่างๆ กว่า 9 แสนคน รวมถึงครอบครัวของครูและบุคลากรดังกล่าวหลายล้านคน มีสหกรณ์เป็นที่พึ่งทั้งฝากออม และกู้เพื่อการลงทุน และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดูแลตนเองและครอบครัว ส่งบุตรหลานเล่าเรียน ตอบแทนพระคุณและเลี้ยงดูพ่อแม่ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละบุคคล การบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวงจรชีวิตครูและบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา สังคม และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเรา ดังนั้น การบริหารของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจึงเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของกระทรวงศึกษาธิการ ความร่วมมือของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลังจากการพูดคุยเจรจาที่คุรุสภา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีครูและบุคลากรได้รับประโยชน์มากกว่า 6 แสนคน ซึ่งมีคุณค่าและสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของข้าราชการครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการในระยะยาว สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร การดำเนินการทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ เป้าหมายสำคัญคือ การปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2551 รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี ข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือ ให้ครูและบุคลากรมีเงินเดือนเหลือสุทธิมากกว่าร้อยละ 30 รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการบริหารการเงิน อาจเกิดจากตนเองหรือเพราะความมีน้ำใจของคนไทยในการค้ำประกัน ต้องถูกฟ้อง ถูกยึดบ้าน ยึดทรัพย์สินและที่ดิน เหล่านี้เป็นปัญหาที่ไม่ใช่ความผิดรุนแรงเราจึงห่วงใยและจะแก้ไขให้ดีขึ้น เพื่อให้ครูและบุคลากรใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความสุข พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี มีความรู้และคุณธรรม ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างเสริมสมรรถนะนักเรียนของเราทุกคน ให้มีความรู้ ทักษะ และสมรรถนะด้านการเงิน สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป “โอกาสนี้ ขอขอบคุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกท่านที่ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองสู่การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและความมั่นคงของชีวิต ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไปให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ที่สำคัญขอขอบคุณ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย พร้อมคณะวิทยากรทุกท่าน ที่จะให้ความกระจ่างในการดำเนินงานและการปฏิบัติที่ดีในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรในครั้งนี้ ขอขอบคุณ สพฐ. รวมถึงประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกท่าน ทุกสถานศึกษา และทุกส่วนราชการ ที่นำนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรลงสู่การปฏิบัติอย่างเห็นผลต่อเนื่อง และขอเป็นกำลังใจในการดำเนินงานเพื่อครู บุคลากร และนักเรียนต่อไป”รมช.ศธ. กล่าว นางเกศทิพย์ ศุภวานิชกล่าวว่า สพฐ. ขอขอบคุณรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มาเป็นประธาน สพฐ. สัญจร ในครั้งนี้ และที่สำคัญยังเป็นแม่ทัพในการขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมา ยังมีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ...
เสมา 2 นำคณะ สพฐ. เยือน Tokyo Gakugei University Senior High School ศึกษาต้นแบบการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ต่อยอดคู่พัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยและโรงเรียนในกำกับของมหาวิทยาลัย Tokyo Gakugei University ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะผู้บริหาร สพฐ. เยือนโรงเรียน Tokyo Gakugei University Senior High School ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาลในการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย Tokyo Gakugei University และเป็นโรงเรียนคู่พัฒนาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ที่มีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางวิชาการกันมาอย่างต่อเนื่อง นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า โรงเรียน Tokyo Gakugei University Senior High School เป็นต้นแบบที่ดีของการจัดการเรียนการสอนที่ทันยุค ทันสมัย มีการส่งเสริมให้นักเรียนเพิ่มพูนทักษะความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เน้นการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนสามารถพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ขึ้นได้ด้วยตนเองตามสถานการณ์ปัจจุบัน มีการพัฒนาและปรับรายวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาเสริมพัฒนาการของนักเรียน ให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอตามความสนใจ อนุญาตให้นักเรียนใช้โปรแกรม Generative AI เพื่อหาคำตอบ และเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องระบบโปรแกรมที่มาของแหล่งข้อมูลที่ควรตรวจสอบความถูกต้องและนำไปปรับใช้ได้จริง นอกจากนี้โรงเรียนยังมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมนอกเวลาอย่างหลากหลาย อาทิ กิจกรรม one day trip กิจกรรม sport day กิจกรรม summer camp ชมรมเคนโด้ ชมรมฮอกกี้ ชมรมดนตรี ชมรมออเคสต้าและชมรมละคร เป็นต้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวเพิ่มเติมว่า การได้มาเยือนโรงเรียน Tokyo Gakugei University Senior High School ซึ่งเป็นโรงเรียนคู่พัฒนาของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย ครั้งนี้ ทำให้ สพฐ. มั่นใจว่าความร่วมมือทางการศึกษาของไทยและญี่ปุ่นเป็นไปด้วยดี สพฐ. พร้อมส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้รับการพัฒนาทั้งด้านการเรียนการสอน อารมณ์ และสังคม อย่างมีคุณภาพ เตรียมเป็นพลเมืองโลกที่ดีในอนาคตและสามารถยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิใจ ทั้งนี้ สพฐ. จะสนับสนุนต่อยอดการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ให้ทันยุคสมัย สอดคล้องกับนโยบายการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ต่อไป
27 มิถุนายน 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ของสมาคมรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย พร้อมมอบเกียรติบัตรและโล่เชิดชูเกียรติ ณ ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมคณะมาด้วย และมี นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายจรินทร์ สุรเสรีวงษ์ ศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี นายธัชกร วงศ์เพ็ง รองศึกษาธิการภาค 10 รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 10 นายสาส์นลิขิตชัย พลไธสง ผอ.สำนักงานเขตพื้นการศึกษามัธยมศึกษาอุดรธานี นายอนันต์ มีพจนา นายกสมาคมรองผอ.โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศ ไทย (ส.ร.ม.ท.) ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาวิชาการ และประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2566 เรื่อง “การจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียน เรียนดี มีความสุข และปลอดภัย” ของสมาคมรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ในวันนี้จากคำกล่าวรายงาน ของนายกสมาคมรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ทำให้ทราบถึงวัตถุประสงค์และความเป็นมาของการจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดี ที่รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาทุกแห่ง ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาและพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ ได้ตระหนักถึงการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียน เรียนดี มีความสุข และปลอดภัย สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัย ได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่จำเป็น ตามบริบทของประเทศและสังคมโลกโดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา จากทุกภาคส่วน ดังที่กล่าวไว้ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานในสังกัด และในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ นำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย สู่การปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม “ขอแสดงความยินดีกับรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมทั้งรองผู้อำนวยการที่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และขอแสดงมุฑิตาจิตแด่ รองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เกษียณอายุราชการ ขอขอบคุณสมาคมรองผู้อำนวยการโรงเรียน มัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดอุดรธานี และรองผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกแห่ง ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานในครั้งนี้ขออวยพรให้กิจกรรมในครั้งนี้ สำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
15 มิถุนายน 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานโครงการสัมมนาวิชาการ พร้อมบรรยายพิเศษโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ความท้าทายของระบบการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption” สำหรับนักเรียนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาประจำปีงบประมาณ 2566 และมอบเกียรติบัตร ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร โดยมี นายบัณฑิต ฉัตรวิโรจน์ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร นายสมศักดิ์ เอี่ยมดี ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร อดีต ผอ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 2 นายภูมิพิพัฒน์ รักพรมงคล ประธานสาขาและคณะกรรมการบัณฑิตศึกษา ประจำสาขาการบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร นายมงคล ศรนวล ศึกษาธิการจังหวัดกำแพงเพชร นางปรานี คู่มณี ศึกษาธิการจังหวัดตาก ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ “ความท้าทายการบริหารจัดการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption: ทิศทางและนโยบายใหม่”ในวันนี้ จากการรับฟังคำกล่าวรายงานฯ จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการบัณฑิตศึกษาประจำสาขาวิชาการบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (ระดับ ป.โท – ป.เอก) ให้ความสำคัญในการพัฒนามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับ รวมถึงได้รับรู้ทิศทางและนโยบายใหม่ ในการบริหารจัดการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption เป็นการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล และสมรรถนะในด้านบริหารการศึกษา รวมทั้งสามารถประยุกต์หลักการ แนวคิด ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นผู้บริหารมืออาชีพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งในชุมชน ท้องถิ่น ตามบริบทของสังคมไทยในยุค Digital Disruption ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง จากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา และการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล “ขอขอบคุณวิทยากร ที่ได้เสียสละเวลา มาร่วมเสวนาวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับทิศทางและนโยบายใหม่ ในการบริหารจัดการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption และทักษะการบริหารสถานศึกษา ของผู้บริหารในยุค Digital Disruption ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุคดิจิทัล ขอบคุณนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตร์มหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่สนใจในการบริหารการศึกษาไทยในยุค Digital Disruption ทุกท่าน ขอขอบคุณ คณะกรรมการดำเนินงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดสัมมนาวิชาการทุก ๆ ท่าน ขออวยพรให้การจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทุกประการ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์กล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า ตลอด 9 เดือนที่เข้ารับตำแหน่ง รมช.ศธ. ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เราได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา ทำงานด้วยความรู้ถึงปัญหา สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด สามารถแก้ปัญหาได้ในหลายเรื่อง เช่น การยกเลิกครูอยู่เวร จัดสรรงบอาหารกลางวันให้นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาส คืนนักการภารโรงให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลน การย้ายครูคืนถิ่น สร้างสุขาดี มีความสุข สร้างบ้านพักครูโดยทำเป็นแฟลต การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาพร้อมประสานสถาบันการเงินทำให้ครูมีแหล่งเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลง ทั้งนี้ ศธ.ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเริ่มจากครูและบุคลากรทุกท่าน ในการทำให้ทุกท่านมีความสุข เพราะเมื่อเรามีความสุขแล้ว ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วอย่างไรบุคลากรทุกท่านก็พร้อมที่จะปรับตัว ดังนั้นนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” จึงถือเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ยุค Digital Disruption คณะทำงาน รมช.ศธ. / ภาพ-ข่าว