17 เมษายน 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า แม้ช่วงเวลานี้จะอยู่ระหว่างปิดเทอม ที่เด็ก ๆ ได้เที่ยวเล่น ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัว รวมทั้งเพิ่งจะผ่านเทศกาลแห่งความสุขของคนไทย คือ วันสงกรานต์และวันครอบครัวที่ผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังห่วงใยสุขภาพของเยาวชนไทยเสมอ โดยหลังจากการเล่นน้ำตากแดดติดต่อกันหลายวัน ก็ต้องพักผ่อน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วยหลังทำกิจกรรมหนัก “ที่จริงแล้วช่วงหน้าร้อนนั้นมีเสน่ห์มาก แต่ก็เป็นเวลาที่โรคอาหารเป็นพิษกำลังระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะในเด็ก ๆ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะการย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ และการระบาดของเชื้อโรคจะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้ จึงขอฝากไปถึงผู้ปกครองนักเรียนให้ระวังและรักษาความสะอาดในการจัดเตรียมอาหาร เช่น ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ใช้อุปกรณ์สะอาดในการปรุงอาหาร และเก็บอาหารในที่เย็นโดยรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย เพื่อให้เด็กๆ เติบโตแข็งแรงและสุขภาพดีในทุกฤดู ไม่เพียงเพื่อความสุขของเด็กเท่านั้น แต่ยังเพื่อเป้าหมายตามนโยบายเรียนดีมีความสุขของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย” แต่หากเจอปัญหาอาหารที่มีเชื้อโรคแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะสิ่งสำคัญคือการประคองตัวให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ ดื่มเกลือแร่ทดแทนน้ำที่เสียไป งดอาหารรสจัด อาหารหมักดอง นม และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการรุนแรงควรพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว-กราฟิก
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
11 เมษายน 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อห่วงใยถึงการเดินทางของครู นักเรียนและผู้ปกครองช่วงปิดเทอม ที่เดินทางกลับต่างจังหวัดในวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการจัดทัศนศึกษาของทางโรงเรียนในช่วงปิดเทอม ที่ต้องนำนักเรียนออกจากสถานศึกษาไปร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตามพื้นที่ต่าง ๆ รมว.ศธ.กล่าวว่า ในช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีจะตรงกับช่วงปิดเทอมของเด็กนักเรียน ทั้งคุณครูและผู้ปกครองต่างพากันเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนา หรือไปเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ โดยก่อนการเดินทางควรเช็คความเรียบร้อยของบ้านหรือสำนักงาน ล็อกกุญแจ ปิดวาล์วน้ำ ปิดสวิตช์ไฟ ตรวจสอบสภาพรถและเคร่งครัดในการขับขี่ปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งในช่วงเทศกาล กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน Fix it Center ตั้งจุดให้บริการประชาชนในการตรวจสภาพยานพาหนะก่อนการเดินทางฟรี 104 จุดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 การนำเด็กออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่ก็เช่นกัน นอกจากระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุแล้ว ยังต้องมีความรอบคอบในการดูแลด้วยเพราะเด็กที่ไปร่วมกิจกรรมเป็นคณะ การนับยอดตอนขึ้นลงรถเป็นสิ่งสำคัญ เด็กจะได้ไม่ตกหล่น กลับบ้านมาหาผู้ปกครองได้อย่างปลอดภัย เพราะการดูแลความปลอดภัยของผู้เรียน ไม่ได้เป็นเรื่องของคุณครูและโรงเรียนเท่านั้น ควรเป็นเรื่องของผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมที่ต้องร่วมมือกัน อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคำนึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเด็กในวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า หากเราปกป้องดูแลเค้าได้อย่างปลอดภัย ในอนาคตเราจะคงทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อประเทศได้ ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้มีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา และยังฝากถึงคุณครู นักเรียนและผู้ปกครองที่กลับภูมิลำเนา ขอให้ใช้เวลาที่มีค่ากับครอบครัวอย่างมีความสุข “วางแผนการเดินทาง เช็คสภาพรถ เคารพกฎจราจร อ่อนเพลียพักก่อน ง่วงนอนไม่ขับ เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ” และขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ดูแลระมัดระวังความปลอดภัยสถานศึกษา ที่เสียสละในช่วงวันหยุดมาทำงาน คอยตรวจตราความเรียบร้อยรอบบริเวณสถานศึกษาหากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถติดต่อสายด่วนกู้ชีพ 1669 หรือสอบถามเส้นทางทั่วประเทศสายด่วนทางหลวง 1193 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง “ขอให้ใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวนี้อยู่กับครอบครัวให้เต็มที่ วางเรื่องการงานเอาไว้ชั่วคราวก่อน เพื่อมอบความสุขให้กับครอบครัวอย่างเต็มที่ ตามนโยบายของเรา นอกจากจะขับเคลื่อนการทำงานเรียนดี มีความสุขแล้ว ชีวิตในด้านอื่น ๆ ก็ต้องมีความสุขด้วยเช่นกัน ตลอดจนช่วยกันรักษาประเพณีในการเล่นน้ำเทศกาลสงกรานต์อย่างมีวัฒนธรรม ช่วยกันประหยัดและตระหนักในคุณค่าของน้ำ แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ไทยเราไว้ และขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเคารพนับถือ อีกทั้งพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้ท่านทั้งหลายมีความสุข ความเจริญ ประสบแต่สิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ” ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว – กราฟิก
10 เมษายน 2567/ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวกิจกรรมอาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน เทศกาลสงกรานต์ 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ผู้บริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วม ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านhttp://www.vec.go.th พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนในทุกระดับเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียมในทุกมิติ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง Active Learning โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน ภายใต้แคมเปญ “ส่งความสุข มอบความปลอดภัยในการเดินทาง” มอบให้กับประชาชน กิจกรรมดังกล่าวเป็นการนำนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาในสาขาต่าง ๆ อาทิ สาขาช่างยนต์ สาขาไฟฟ้า สาขาอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมด้วยการเรียนการสอนกับเหตุการณ์ สถานการณ์จริง เพื่อนักเรียน นักศึกษาได้นำความรู้ที่ได้เรียนในห้องเรียนมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นผู้เสียสละ มีจิตอาสาบริการและช่วยเหลือสังคมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยังสร้างจิตสำนึกการใช้รถด้วยความปลอดภัยบนท้องถนน ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน จัดขึ้น 104 ศูนย์ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 8.30 น.- 20.30 น. บนถนนสายหลัก และถนนสายรอง โดยประชาชนที่ต้องเดินทางทั่วประเทศมั่นใจได้ว่ามีศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน คอยให้บริการ “พักรถ” บริการตรวจเช็คซ่อมบำรุงยานพาหนะ ซ่อมฉุกเฉินนอกสถานที่ ให้คำปรึกษาและนำวิธีแก้ปัญหา “พักคน” บริการนวดผ่อนคลาย ผ้าเย็น น้ำดื่ม กาแฟ และข้อมูลเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว พร้อมแนะนำรายชื่ออู่รถที่เปิดให้บริการ (ในกรณีรถเสียต้องซ่อมอู่) และมีจุดให้บริการรถยนต์เครื่องยนต์ EV จำนวน 50 ศูนย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการขนส่งทางบก และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และบริษัท เทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นายยศพล เวณณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังมาถึงนี้ สอศ. พร้อมบริการประชาชน จัดศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน ตามข้อห่วงใยของ รมว.ศธ และเตรียมความพร้อมไปยังสถานศึกษาที่จัดตั้งศูนย์ฯ ทั่วประเทศ แล้ว ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาจุดบริการจากช่องทาง ต่างๆ ดังนี้ ค้นหาที่ google พิมพ์ อาชีวะอาสา เลือกตำแหน่งของศูนย์ให้บริการอาชีวะ และกดนำทาง เว็บไซต์ vecrsa.vec.go.th กดเลือกตำแหน่งของศูนย์ที่ให้บริการและกดนำทาง Google map พิมพ์ ศูนย์อาชีวะอาสา จะขึ้นศูนย์อาชีวะอาสา ที่อยู่ใกล้กับตำแหน่งของท่านหรือเลือกตำแหน่งของศูนย์ที่ต้องการ แอปพลิเคชั่น “อาชีวะอาสา” บน play store QR Code บนเว็บไซต์ สอศ. (www.vec.go.th) และเฟสบุ๊ค : ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สายด่วนการศึกษา 1579 ศูนย์บริการประชาชน กระทรวงศึกษาธิการ หรือเว็บไซต์ 1579.moe.go.th
‘เพิ่มพูน’ แถลง ครม.อนุมัติงบกลาง จ้างนักการภารโรงทุกโรงเรียน ชื่นชมนักเรียนกล้าหาญจากสมุทรปราการช่วยคนจมน้ำ แนะเชิญโรงเรียนสังกัดอื่นมาร่วมเตรียมตัวสอบ PISA 2025 พร้อมเตรียมชาวอาชีวะช่วยประชาชนช่วงสงกรานต์ 10 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 14/2567 ขอบคุณนายกรัฐมนตรี อนุมติงบกลาง จ้างนักการภารโรงครบทุกโรงเรียน เริ่ม 1 พ.ค. 2567 รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 618,795,000 บาท สำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรง เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการจ้างนักการภารโรงครบทุกโรงเรียนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม 2567 จำนวน 13,751 อัตราระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม-กันยายน 2567 ในส่วนของปี 2568ครม.ได้อนุมัติงบประมาณปี พ.ศ. 2568 ในลักษณะผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) จำนวน 25,370 อัตรา รวมเป็นเงินกว่า 2,739,960,000 บาท ซึ่ง สพฐ.จะจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป โดยหลังจากนี้ทาง สพฐ. จะได้แจ้งบัญชีจัดสรรนักการภารโรงไปยังเขตพื้นที่การศึกษา ก่อนจัดสรรต่อไปให้โรงเรียน ซึ่งคาดว่าโรงเรียนจะสามารถสรรหาและทำสัญญาจ้างได้ภายใน 30 เมษายนนี้ ขณะนี้ได้กำชับ สพฐ. วางคุณสมบัติผู้สมัครให้ชัดเจน เช่น ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นต้น ที่สำคัญคือหากผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เนื่องจากเราต้องเข้มงวดเรื่องการรักษาความปลอดภัย ดังนั้นผู้ที่จะมาเป็นนักการภารโรง หากผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วหรือผ่านการเป็นนักศึกษาวิชาทหารเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพไทยภายใต้การควบคุมของโรงเรียนรักษาดินแดน (รด.) มาแล้วก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก “นอกจากนั้นก็ต้องมีคุณสมบัติในเรื่องของการเป็นช่างซ่อมด้านต่าง ๆ ช่างฝีมือ ขับรถยนต์หรือจักรยานยนต์ได้ โดยจะร่างเป็นเกณฑ์ขึ้นมาให้ชัดเจน ดังนั้นนักการภารโรงของต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นมา ซึ่งเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพราะนักการภารโรงสำหรับเราเปรียบเสมือนกับแก้วสารพัดนึกที่จะมาช่วยคุณครูของเราลดภาระงานต่าง ๆ ช่วยดูแลโรงเรียน เป็นผู้ปฏิบัติงานสำคัญ ไม่ใช่เป็นแค่ยามเฝ้าโรงเรียนแต่จะเป็นทุกอย่างที่เข้ามาช่วยเติมเต็มโรงเรียน ให้ครูและนักเรียนของเรา” ชื่นชมนักเรียนฮีโร่จากสมุทรปราการช่วยคนจมน้ำ รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้ยกย่องชื่นชมด.ช.อมรเทพ เมษา นักเรียนชั้น ม.2/6 โรงเรียนหาดอมราอักษรลักษณ์วิทยาสังกัด สพม.สมุทรปราการ ที่ได้กระทำความดีที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา โดย ด.ช.อมรเทพ ได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือ จึงโยนโฟมลงไปให้ผู้ประสบเหตุ แต่ผู้ประสบเหตุไม่ยอมเกาะ จึงตัดสินใจกระโดดลงน้ำเพื่อว่ายเข้าไปช่วยเหลือ จนสามารถนำตัวผู้ประสบเหตุขึ้นจากฝั่งได้อย่างปลอดภัย ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า สสวท. ได้รายงานการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA ซึ่ง สสวท. ได้รายงานหลักสูตรการวัดผลประเมินผลตามแนวทาง PISA เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจและสามารถนำแนวทาง PISA มาปรับใช้ในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์แบบสะสมชั่วโมงเรียนจนครบ 7 บทเรียน มีครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียน 6,562 ราย เข้ารับการอบรมแล้ว 1,573 ราย เรียนสำเร็จแล้ว 607 ราย และกำลังเรียน 966 ราย ทั้งนี้ รมว.ศธ.ได้แนะนำให้เชิญสถานศึกษาจากสังกัดอื่นเข้ามาร่วมเรียนด้วย เพื่อให้ผลการสอบ PISA 2025 มีผลคะแนนสูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ สพฐ. ได้มีแนวคิดในการจัดระบบพี่เลี้ยง “โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง” โดยพัฒนาชุดกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะความรู้ จัดการเรียนรู้ในห้องเรียน เพิ่มเติมคลังแบบทดสอบตามแนวทางการประเมิน PISA พร้อมพัฒนาแนวทางการวัดผลในรูปแบบ Computer Based ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการเตรียมความพร้อมให้ศึกษานิเทศก์ในเรื่อง PISA ขณะเดียวกันมีนักเรียนเป้าหมายที่เข้าระบบ PISA Style Online Testing ทดลองใช้เครื่องมือในการพัฒนา กว่า 56,973 คน โดยในอนาคต สพฐ. ได้วางแผนการฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและการเตรียมความพร้อมเป็นพี่เลี้ยงของเขตพื้นที่รูปแบบออนไลน์ รวมถึงเขตพื้นที่มัธยมศึกษาและประถมศึกษาต่อไป สพฐ.รายงานสรุปความคิดเห็นครู-นักเรียนทั่วประเทศ การประชุมครั้งนี้ สพฐ. ได้รายงานผลการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน และการดำเนินการพัฒนา ของนักเรียนสังกัด สพฐ. ชั้น ป.4-6 และ ม.1-ม.6 รวม 511,711 คน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกิจกรรมการพัฒนานักเรียนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ เรียนรู้เรื่องการเงินเห็นด้วย 97.2% ไม่เห็นด้วย 2.8% การเรียนรู้และป้องกันอันตรายจากการใช้สื่อออนไลน์เห็นด้วย 97.2% ไม่เห็นด้วย 2.8% กีฬาE-Sportควรมีการสอนในโรงเรียน ฝึกการคิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหาได้...
10 เมษายน 2567 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานงาน “ประเพณีสงกรานต์ ศึกษาธิการสืบสานวัฒนธรรมไทย” โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้อาวุโส สมาชิก ช.อ.ศ., มบอศ. ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมคุรุสภา นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานว่า“ประเพณีสงกรานต์ ศึกษาธิการสืบสานวัฒนธรรมไทย”จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันสงกรานต์ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ชาวกระทรวงศึกษาธิการจะได้มารวมตัวกันรดน้ำขอพรจากผู้บังคับบัญชาและผู้อาวุโส เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามตามเทศกาล และเป็นการส่งเสริมสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย แสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาคุณต่อผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวชื่นชมชาวกระทรวงศึกษาธิการ ที่ยังคงรักษาและสืบทอดประเพณีอันดีงามเกี่ยวกับวันสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ มีการจัดกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นไทยมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนรุ่นหลัง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประกอบไปด้วยวันสงกราน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ และวันครอบครัวนั้น อาจกล่าวโดยรวมได้ว่าเป็นเทศกาลสำคัญต่อการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มีมาอย่างยาวนานจึงขอให้ใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวนี้อยู่กับครอบครัวให้เต็มที่ วางเรื่องการงานเอาไว้ชั่วคราวก่อน เพื่อมอบความสุขให้กับครอบครัวอย่างเต็มที่ ตามนโยบายของเรา นอกจากจะขับเคลื่อนการทำงานเรียนดี มีความสุขแล้ว ชีวิตในด้านอื่น ๆ ก็ต้องมีความสุขด้วยเช่นกันตลอดจนช่วยกันรักษาประเพณีในการเล่นน้ำเทศกาลสงกรานต์อย่างมีวัฒนธรรม ช่วยกันประหยัดและตระหนักในคุณค่าของน้ำ แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ไทยเราไว้ รมว.ศธ.ให้เกียรติกล่าวคำอำนวยพรเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 “ประเพณีสงกรานต์ ศึกษาธิการสืบสานวัฒนธรรมไทย” ว่า ขอให้โอกาสเทศกาลสงกรานต์นี้ เป็นห้วงเวลาแห่งการเสริมสร้างความสุข ความรัก ความสามัคคี และขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเคารพนับถือ อีกทั้งพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้ท่านทั้งหลายมีความสุข ความเจริญ ประสบแต่สิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ #กระทรวงศึกษาธิการ #เรียนดีมีความสุข #สงกรานต์2567 #เดินทางปลอดภัย #สงกรานต์67 #สงกรานต์2024 //////////////////////////////////// ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง, ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ, พีรณัฐ ยุชยะทัต, ณัฐพล สุกไทย/ถ่ายภาพ
ขอเชิญผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมรับชมศึกษาเรียนรู้ข้อมูลความรู้ จากการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูมชั้น 2 สนามช้างอารีนา โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมืองฯ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนา โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมการประชุม สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้บริหารชั้นนำจากภาคเอกชน มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP), นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, นายอุกฤษณ์ ภาควิวรรธ รองผู้จัดการใหญ่ ด้านวางแผนการค้า และการตลาด บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด, นายอารักษ์ พรประภา ประธานบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด, นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, นางสาวฐิติรัตน์ เจริญยิ่งวัฒนา และนายธนาวิชญ์ จินดาประดิษฐ์ กระทรวงศึกษาธิการ จึงขอเชิญผู้บริหาร ข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทุกสังกัด ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ รับชมศึกษาเรียนรู้ข้อมูลความรู้จากการสัมมนาดังกล่าวตามลิงก์ รวมคลิป “หลักสูตรการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ” ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ขอเชิญผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมรับชมศึกษาเรียนรู้ข้อมูลความรู้ จากการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูมชั้น 2 สนามช้างอารีนา โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมืองฯ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรหลักในสังกัด/ในกำกับ เข้าร่วมสัมมนา สรุปภาพรวมการสัมมนา https://youtu.be/BbmqvMN8YMg พิธีเปิดโครงการสัมมนา https://youtu.be/l0wRqJig-30 การขับเคลื่อนนโยบาย ศธ. (พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.) https://youtu.be/ZItq14v7Jco แนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ.) https://youtu.be/xSd8b17P_RQ มุมมองต่อการศึกษาในมุมมองของภาคเอกชน (นายศุภชัย เจียรวนนท์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด) https://youtu.be/5Se05fTv9DU การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชน 3 ผู้บริหารบริษัทเอกชนด้านยานยนต์ (นายอารักษ์ พรประภา จากไทยฮอนด้า, นายอุกฤษณ์ ภาควิวรรธ จากไทยยามาฮ่ามอเตอร์ และนายศุภกร รัตนวราหะ จากโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย) https://youtu.be/X7HQYwwPKs4 Mindset สําหรับนักบริหาร (นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด) https://youtu.be/IyziWsKxWA0 การสังเคราะห์ DNA ของกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวฐิติรัตน์ เจริญยิ่งวัฒนา บริษัท รีเทล แพสชั่น จำกัด) https://youtu.be/1g3GDgCjvBg MoE Digital Transformation (นายธนาวิชญ์ จินดาประดิษฐ์ บริษัท แอทไวส คอนซัลติ้ง จำกัด) https://youtu.be/2jOYfV7qRao พิธีปิด https://youtu.be/GjE68t0g_N4 •• รับชมต่อเนื่องตาม Playlist การนำเสนอ https://youtube.com/playlist?list=PLCNhsGIYTlkxqnSUCzRGlVz0F4cX_iieD&si=-9cE1oe4zpTHJrXx
9 เมษายน 2567 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ฝากข้อห่วงใยถึงการระวังโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกให้แก่ประชาชน เน้นย้ำให้ดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นพิเศษ โดยผู้ปกครองควรกำชับไม่ให้เด็กออกไปเล่นกลางแจ้งในช่วงแดดร้อนจัด เนื่องจากสภาวะอากาศที่อาจทำให้ร่างกายได้รับความร้อนเกินไป จนทำให้เกิดอาการของโรคได้ โรคฮีทสโตรกสามารถทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส เกิดอาการเหงื่อออกน้อย หรือไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังร้อนและแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ชัก หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เราสามารถป้องกันโรคลมแดดควรได้โดยดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อรักษาความชื้นในร่างกาย สวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ และเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีดำหรือสีเข้มที่จะสะสมความร้อนในร่างกาย หลีกเลี่ยงการออกไปกลางแจ้งในช่วงเวลาที่แดดร้อน หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ควรเลือกเวลาในช่วงเช้าหรือตอนบ่ายที่แดดไม่ร้อนจัด กางร่ม ทาครีมกันแดด ใช้ผ้าคลุมหน้าหรือหมวกป้องกันแดด และพักผ่อนให้เพียงพอ “ขอให้ระวังเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคฮีทสโตรกมากกว่า ในช่วงปิดเทอมหน้าร้อนนี้ อุณหภูมิประเทศไทยสูงขึ้นมาก เด็ก ๆ อาจจะเพลิดเพลินกับการออกไปเล่นนอกบ้าน เล่นกลางแจ้ง ออกกำลังกาย กระทรวงศึกษาธิการจึงขอเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลเด็ก ๆ ตามข้อแนะนำ เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้มีโอกาสเดินทางกลับภูมิลำเนาไปพบญาติผู้ใหญ่ ก็ขอให้กำชับผู้สูงอายุให้ดูแลตัวเองให้มาก ดื่มน้ำบ่อย ๆ ตลอดทั้งวันก็จะช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกายไม่ให้ร้อนจนเกินไปได้” รมว.ศธ.กล่าว นอกจากนี้หลายจังหวัดยังต้องเผชิญปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 อยู่อย่างหนัก การหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านจึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการรับฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ด้วย และควรหมั่นสังเกตอาการเด็ก ๆ และคนในครอบครัว หากมีอาการผิดปกติ เช่น เคืองตา คันตา ตาแดง ให้ใช้น้ำสะอาดล้างดวงตา หลีกเลี่ยงการขยี้ตา และดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้หากมีอาการรุนแรงให้ไปพบแพทย์ทันที ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว-กราฟิก
7 เมษายน 2567 / นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย รองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองโฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2567 โดยเฉพาะการดูแลนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน ในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ตามนโยบาย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญทางด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ป้องกันเด็กตกหล่นและหลุดจากระบบการศึกษา โดยเน้นย้ำว่า “เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน” ครบถ้วนก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 นี้ นางภัทริยาวรรณกล่าวว่า ตามที่ผู้ปกครองได้ยื่นความจำนงขอรับการจัดสรรที่เรียนไว้ ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และผ่านทางระบบออนไลน์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่ง จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2567 นั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ประกาศผลให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้ทราบแล้ว ในวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ยังคงห่วงใยและกำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ให้ความช่วยเหลือนักเรียนทุกคน หากพบว่านักเรียนคนใดยังไม่มีที่เรียน ให้อำนวยความสะดวกแก่นักเรียนและผู้ปกครองในการจัดหาที่เรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลใจของผู้ปกครอง พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้รวบรวมรายชื่อโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศที่ยังมีที่นั่งว่างอยู่ โดยข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2567 มีโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ. ยังมีที่นั่งว่างสามารถรับนักเรียน ชั้น ม.1 ได้จำนวน 45,009 ที่นั่ง และชั้น ม.4 ได้จำนวน 54,162 ที่นั่ง โดยผู้ปกครองสามารถติดต่อสอบถามกับทางโรงเรียนได้โดยตรง และพาบุตรหลานไปสมัครเข้าเรียนกับทางโรงเรียนได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “ศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน” ของทุกเขตพื้นที่การศึกษา ตามรายละเอียดและหมายเลขโทรศัพท์ ที่ปรากฏตามลิงก์นี้ https://drive.google.com/drive/folders/14sLL6RymRH743keeChFsz2IOWxnxhdVR หรือสแกน QR CODE ตามที่ปรากฏ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ได้ที่ “ศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน สพฐ.” หมายเลขโทรศัพท์ 0 2280 5530 และ 0 2288 5839 “สพฐ. ได้เน้นย้ำกำชับให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษา ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้เด็กทุกคนได้มีที่เรียน รวมทั้งประสานกับสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ/เขต ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด โรงเรียนเอกชน ครอบครัวและสถานประกอบการที่จัดการศึกษาทางเลือก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนปกติได้ เพื่อให้เด็กทุกคนไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา ได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัยในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ “เรียนดี มีความสุข” อย่างถ้วนหน้าในทุกพื้นที่ของประเทศต่อไป ”รองโฆษก สพฐ. กล่าว ประชาสัมพันธ์ สพฐ. / ข่าว ปารัชญ์ ไชยเวช / กราฟิก รมว.ศธ.
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ชี้แจงในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2567 ณ อาคารรัฐสภา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการนำไปขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องที่ดำเนินการไปแล้วในด้านการลดภาระครู ได้แก่ ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา นำครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ รวมถึงเรื่องที่เพิ่มเติมจากนโยบายที่ได้แถลงไป คือ การยกเลิกเวรครู ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า“ชีวิตและความปลอดภัยของครูสำคัญกว่าทรัพย์สิน”การจัดหานักการภารโรง และปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ส่วนการลดภาระนักเรียนที่ดำเนินการแล้ว คือ การมีรายได้ระหว่างเรียน จบมามีงานทำ และอาหารกลางวันโรงเรียนขยายโอกาส การลดภาระครู ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1. ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาลดขั้นตอน ปริมาณเอกสาร (paperless) และเปิดช่องทางต่าง ๆ นำระบบประเมินวิทยฐานะผ่านระบบออนไลน์ Digital Performance Appraisal : DPA มาใช้ในกระบวนการประเมินทุกขั้นตอน ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ว่าเรื่องอยู่ในขั้นตอนใด ได้รับการพิจารณาหรือยัง ซึ่งระบบ DPA ใช้เวลาประเมินเร็วสุดหลังจากยื่นผลงาน 17 วัน ค่าเฉลี่ยเวลาการประเมินไม่เกิน 3 เดือน ประหยัดงบประมาณได้มากถึง 10 เท่า และปิดช่องทางการทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์จากครู และลดภาระครูในการผลิตเอกสารที่เสียค่าใช้จ่ายมากมายอีกด้วย 2. ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่นได้มอบนโยบายให้สำนักงาน ก.ค.ศ. จัดทำระบบการย้ายสับเปลี่ยนผ่านระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching System : ระบบ TMS) เพื่อให้การบริหารจัดการย้ายครูเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยครูที่ต้องการย้ายสับเปลี่ยนสามารถมาลงข้อมูลในระบบ จากนั้นระบบจะจับคู่ให้ตามความต้องการ ซึ่งครูสามารถเข้ามาติดตามดูผลได้ตลอด สำหรับครูที่จับคู่ย้ายได้แล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ. จะส่งรายชื่อไปให้ สพท. ปลายทางที่ผู้ขอย้ายประสงค์จะไปดำรงตำแหน่ง เพื่อนำเสนอ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณา ส่วนครูที่ยังจับคู่ย้ายไม่ได้ เราก็จะทราบข้อมูลและหาทางช่วยเหลือให้สามารถย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมได้ตามต้องการ 3. แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาศธ.แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการโดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. เป็นประธานได้วางมาตรการ 9 อย่าง ได้แก่ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ยกระดับการหักเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ ชะลอการดำเนินการทางกฎหมาย จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครู ปรับโครงสร้างหนี้ ใช้ ช.พ.ค.เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ติดอาวุธให้ความรู้และทักษะด้านการเงิน จัดทำ MOU กับหน่วยงานและสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในส่วนกลางและภูมิภาค มีการแบ่งครูออกเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง ตามสภาพคล่องที่สามารถชำระหนี้ได้ นอกจากแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้ว ยังจัดให้ให้ความรู้ด้านการเงิน โดยได้รับความร่วมมือจากโค้ชหนุ่ม นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ The money coach และคณะ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ และระยะต่อไปจะมีการนำความรู้ด้านการบริหารเงินและหนี้สินขยายผลไปสู่กลุ่มนักเรียนด้วย 4. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลด้านระบบคอมพิวเตอร์สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล จัดหาซอฟท์แวร์สำเร็จรูป การเช่าระบบคลาวด์ระดับ และการเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนรู้ Tablet, Notebook หรือ Chromebook 5. ยกเลิกครูเวรทราบกันดีอยู่แล้วว่าครูมีภาระงานที่ต้องสอนหนังสือเป็นหลัก แต่ก็ยังมีภาระหน้าที่อื่น ๆ ที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ทั้งงานธุรการ ดูแลรักษาความสะอาด โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กมีบุคลากรค่อนข้างน้อย ครูอาจทำหน้าที่หลายด้าน รวมถึงการอยู่เวรนอกเวลาราชการที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษา “ผมมีความเชื่อว่า ชีวิตและความปลอดภัยของครู สำคัญกว่าทรัพย์สิน จึงได้ขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่23 มกราคม 2567 ให้ยกเลิกครูอยู่เวร เป็นการพิจารณาเรื่องของการป้องกันรักษาความเสียหายจากเหตุภัยอันตรายในชีวิตและร่างกายครู พร้อมทั้งขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานศึกษา” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว 6. จัดหานักการภารโรงศธ.มีนโยบายจัดหาตำแหน่งนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน ซึ่งที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบหลักการในการจ้างนักการภารโรง ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 25,370 อัตรา เป็นเงิน 2,739,960,000 บาทเพื่อจ้างนักการภารโรงให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ส่วนของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อยู่ระหว่างการขออนุมัติใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน หรือ พ.ศ. 2567 แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นค่าจ้างนักการภารโรงในโรงเรียนที่ขาดแคลน จำนวน 13,751 อัตรา 7. ปรับลดงานที่ไม่จำเป็นหรือซ้ำซ้อน ลดภาระการประเมินของสถานศึกษามีการ ลด/เลิก โครงการ กิจกรรม ตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อน การเก็บข้อมูลจาก สพท. สถานศึกษา การรายงานในรูปแบบกระดาษ การเขียนด้วยลายมือ การจัดเตรียมการเพื่อรองรับการติดตามประเมินผล ลดปริมาณข้อมูลที่จัดเก็บและประเด็นที่ประเมิน และลดความซ้ำซ้อน...
5 เมษายน 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง โดย นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายอารักษ์ พรประภา ประธาน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด และ นายพงศธร เอื้อมงคลชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ร่วมลงนามความมือ ซึ่งมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. และผู้บริหาร ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โถงอาคารราชวัลลภ ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ. กล่าวว่าในนามกระทรวงศึกษาธิการรู้สึกชื่นชมยินดีกับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โตโยต้า ฮอนด้า และยามาฮ่า ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ที่เล็งเห็นความสำคัญในการเข้ามีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนาผู้เรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” นักเรียน นักศึกษา มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ” โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Active Learning) เพื่อผลิตพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ให้พร้อมพัฒนาประเทศในยุคเทคโนโลยีสมัยใหม่ วันนี้ถือเป็นอีกก้าวของความร่วมมือแบบทวิภาคีเข้มข้นมากขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการร่วมกันจัดการเรียนการสอนและออกแบบหลักสูตร ในอนาคตเมื่อนักเรียน นักศึกษา เรียนจบได้ใบประกอบวิชาชีพ จะเป็นเครื่องหมายการันตีว่าผู้เรียนผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่อาชีวะและภาคเอกชนร่วมมือกันอย่างเป็นมาตรฐาน สามารถเข้าไปทำงานบริษัทในเครือทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเด็กที่มีความรู้ความสามารถที่โดดเด่น จะได้รับการคัดเลือกจากบริษัทเอกชนชั้นนำ หรือประกอบกิจการส่วนตัวหรือทำงานบริษัทในเครือต่างประเทศ ฝากไปถึงผู้บริหารของอาชีวะทั่วประเทศ ถึงการสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการในพื้นที่ให้เกิดการดำเนินการร่วมกัน เชื่อว่าหากเด็กได้รับการันตีจากสถานประกอบการแล้ว จะเป็นใบนำทางที่จะประกอบอาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก นี่คือสิ่งที่ดีที่เราจะร่วมกันดำเนินการต่อไป สู่ความสำเร็จที่ทำให้เด็กมีรายได้ที่ไม่จำกัดแค่ในประเทศเท่านั้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในวันนี้จะก่อให้เกิดผลดีกับทุกฝ่าย และประสบความสำเร็จตาม เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ มาร่วมสร้างกำลังคนอาชีวะที่มีความรู้ความสามารถ ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ช่วยกันทำงานเพื่อบ้านเมืองทุกมิติต่อไป นายยศพล เวณุโกเศศกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาระบบปกติและระบบทวิภาคี ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Education : DVE) เป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ที่ร่วมกันจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกัน มีการวัดและการประเมินผล และเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้มีความชำนาญ รวมถึง Re-skill Up-skill และ New-skill ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะขีดความสามารถในสาขาวิชาชีพเพิ่มขึ้น โดยนักเรียน นักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมีโอกาสฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการจริง จบแล้วสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ พบพร ผดุงพล / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / วิดีโอ ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ , นัทสร ทองกำเหนิด / ภาพ สหัสยา จันทร์หอม / TIK TOK
5 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ผู้บริหาร ศธ. ตลอดจนคณะกรรมการฯ จากภาครัฐและเอกชนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และระบบออนไลน์ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ รมว.ศธ.กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคมนี้ เป็นภารกิจที่สำคัญเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของประเทศสมาชิก เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรม/โครงการภายใต้แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน และแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาและภารกิจด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงขอให้ทุกหน่วยงาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จะแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับปลัดกระทรวงฯ ดังนี้ 1) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 19 (19th ASEAN Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) 2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14 (14th ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Education: APT SOMED) อาเซียน 10 ประเทศ บวกสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น 3) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 (9th East Asia Summit Senior Officials Meeting on Education: EAS SOMED) อาเซียน 10 ประเทศ บวกสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา 4) การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 (13th ASEAN Education Ministers Meeting: ASED) 5) การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 (7th ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting: APT EMM) 6) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 (7th East Asia Summit Education Ministers Meeting: EAS EMM) นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ ในการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางและรูปแบบในการจัดการประชุมฯ อำนวยการและกำกับดูแลการเตรียมการจัดการประชุมฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานฯ จำนวน 7 คณะ คือ 1) คณะทำงานด้านการต้อนรับ พิธีการและงานเลี้ยงรับรอง โดยมี นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน 2) คณะทำงานด้านสารัตถะ โดยมี นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านความร่วมมือต่างประเทศของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน 3) คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ โดยมี นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน 4) คณะทำงานด้านการเดินทาง พาหนะและรักษาความปลอดภัย โดยมี นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน 5) คณะทำงานสุขภาพและปฐมพยาบาล โดยมี นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข...
สัปปายะสภาสถาน 3 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 13/2567 พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., ผู้บริหารระดับสูงองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับเข้าร่วม ณ ห้องประชุม N 405 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา และประชุมผ่านระบบ e-Meeting มีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ ความก้าวหน้าเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 รมว.ศธ.กล่าวเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน พิจารณาแนวทางการพัฒนาและดำเนินการสร้างมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยให้มีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)ได้มีการประชุมร่วมกับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF) เรื่อง การใช้ PISA ในทางปฏิบัติ : พลังของข้อมูลเพื่อการปรับปรุงการศึกษา เป็นการเชื่อมโยงผลจาก PISA กับการปฏิรูประบบการศึกษา เป็นเวทีการประชุมให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงทางการศึกษาและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนในสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาด้วยการใช้ข้อมูล PISA เพื่อการปรับปรุงการศึกษาและการเชื่อมโยงผลจาก PISA กับการปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งสิ่งที่ ศธ. ต้องเร่งดำเนินการ คือการใช้ผลการประเมิน PISA เป็นกลไกในการผลักดันคุณภาพครู ผู้เรียน และการศึกษาในองค์รวม การพัฒนาครู ให้เป็นครูสมรรถนะสูง และการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)ได้เสนอผลการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติที่ผ่านมา โดยดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานภายในหน่วยงานแต่ละสังกัดที่มีนักเรียนเข้าร่วมการสอบ PISA มีการวางแผนระยะยาวในการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA และบริหารจัดการให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการขับเคลื่อน PISA ลงสู่สถานศึกษาทุกสังกัดในจังหวัด โดยให้ดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศของกระทรวงศึกษาธิการ (คปภ.)และดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการพัฒนานักเรียนชั้น ม.2 และ ม.3 ในปีการศึกษา 2567 โดยได้ร่วมกับ สพฐ. ในการนำแนวข้อสอบแนว PISA ในฐานข้อมูลมาจัดทำเป็นแบบฝึกความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และจัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านอย่างฉลาดรู้ ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามแนวของ PISA นอกจากนี้ยังได้ทำการจัดหาและจัดทำแบบฝึกเพิ่มเติมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะด้านการวิเคราะห์และการแก้โจทย์ปัญหาที่เกี่ยวกับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและเตรียมความพร้อมการเป็นพี่เลี้ยงของเขตพื้นที่ และฝึกอบรมวิทยากรประจำสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา เพื่อขยายผลและขับเคลื่อนเอกสารชุดแบบฝึก 183 เขตพื้นที่ รวม 4 ภูมิภาค และจัดประชุมชี้แจงการดำเนินการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยการใช้องค์ความรู้ PISA ไปยังทุกโรงเรียนในสังกัดผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับโปรแกรมการสอบ PISA ของผู้บริหารสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนักเรียนเข้ารับการทดสอบ PISA และมอบหมายให้ สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการให้มีการเข้าสอบ โดยขยายไปยังผู้บริหารของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั้ง 62 เขต และผู้บริหารของทุกหน่วยงาน เพื่อให้ผู้บริหารได้รับการประเมินและเป็นข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาและข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งผลการประเมินของ PISA ทำให้ทราบว่า ระบบการศึกษาของประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนในการเตรียมความพร้อมในการสอบมากน้อยเพียงใด โดย สทศ. ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลข้อสอบ PISA มาจัดทำเป็นระบบการทดสอบออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริหารได้ทดลองเข้าสอบ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) (องค์การมหาชน)ได้เสนอผลการประชุมหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ. สช. อปท. กทม. สอศ. สกร. สป.อว. และ สทศ.) ในการปรับวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก ด้านคุณภาพของผู้เรียน โดยใช้หลักการพิจารณาเชิงระบบเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบความสอดคล้องระหว่างผลการประเมินคุณภาพภายนอกด้านคุณภาพของผู้เรียน กับผลการทดสอบระดับชาติ และพัฒนาเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลทรัพยากรการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์หาปัจจัยเชิงสาเหตุ (ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านทรัพยากรการจัดการศึกษา) ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน รวมถึงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการยกระดับคุณภาพการศึกษาเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดและกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ได้เสนอผลการดำเนินการยกร่างแนวทางยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 ของ สอศ. ซึ่งได้กำหนดกิจกรรม ดังนี้ 1) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมิน PISA ให้แก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ในสังกัด สอศ. 2) เตรียมความพร้อมครู โดยการจัดอบรมเพิ่มทักษะการสอนตามแนวทางการประเมิน PISA 3) ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับแนวทางการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล และ 4) ให้สถานศึกษาส่งเสริม Self learning...
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 132 ปี วันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” กล่าวยกย่องผู้ทำคุณประโยชน์ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น และบุคลากร ศธ. เป็นส่วนที่สำคัญยิ่งในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับ ศธ. พร้อมยกเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน สำหรับการจัดงานในปีนี้ เริ่มเวลา 07.09 น.โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ,นายสิริพงศ์ อังคสกลุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.,นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ.,นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ.,นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ.,นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ.รวมทั้งนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ.,นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ.ตลอดจนครูอาวุโส ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร ศธ. ร่วมประกอบพิธีบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ ศธ.ที่ล่วงลับไปแล้ว และตักบาตรพระสงฆ์ สามเณร จำนวน 133 รูป ณ บริเวณสนามหน้า ศธ. จากนั้น รมว.ศธ. และคณะ ได้ประกอบพิธีสักการะพระพุทธรูปประจำกระทรวงศึกษาธิการ “พระพุทธบารมีศักดิ์สิทธิ์ สยามิศรจักรีสัฏฐีอนุสรณ์ ศึกษาทรรังสรรค์” รวมทั้งพระภูมิหรือพ่อปู่ชัยมงคล และพระพุทธรูปประจำสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนประกอบพิธีพราหมณ์บวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ตามลำดับเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมคุรุสภา– รมว.ศธ. เป็นประธานในพิธีมอบเข็ม “เสมาคุณูปการ” และประกาศเกียรติคุณบัตรแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้ ศธ. ประจำปี 2567 จำนวน 135 ราย/รูป และมอบเข็ม “กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567” แก่ครูผู้เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง จำนวน 5 ราย รวมทั้งมอบเข็ม “เชิดชูเกียรติ” และประกาศเกียรติบัตรให้กับข้าราชการพลเรือนดีเด่น ศธ. ประจำปี 2566 จำนวน 12 ราย รมว.ศธ.กล่าวว่า ในโอกาสวันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี นับเป็นวันสำคัญของข้าราชการ และบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับ ที่ได้รับผิดชอบภาระหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพของคน ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศ และการที่จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญก้าวหน้า ที่เรียกว่า “การพัฒนา” นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นที่ “การพัฒนาคน” เป็นลำดับแรกก่อน การวางรากฐานด้านการพัฒนาคน เพื่อรองรับความเจริญของประเทศในอนาคต รัฐบาลได้กำหนดนโยบายสำคัญที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี เอาไว้หลายประการ ซึ่งได้แก่ การมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ การเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนตามความถนัดเพื่อสร้างอนาคตและสร้างรายได้ การกระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ โดยมีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน และการสร้างผู้เรียนให้มีความพร้อม ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกสมัยใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทที่จะต้องพิจารณาดำเนินการให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ได้ตั้งเอาไว้ ประการสำคัญคือรัฐบาลจะมุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เป็นรากฐานของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งอาจถือว่าเป็นแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงวางจุดเน้นการทำงานไปที่การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิด “การเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) โดยพยายามเร่งส่งเสริมบทบาทของทุกภาคส่วนให้เข้ามาสนับสนุนและจัดการศึกษา จัดหาสื่อดิจิทัลและแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทุกท่าน ณ ที่ประชุมแห่งนี้จะสามารถช่วยเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญต่อภารกิจดังกล่าว ดั่งแนวทางการทำงานของ ศธ. “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ที่จะขาดไปไม่ได้ต้องขอบคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการประจำปี 2567 ครูผู้เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง และข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่งทุกคนเป็นผู้มีความสำคัญยิ่งในการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน อีกทั้งยังเสมือนเป็นตัวแทนของผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาคนอื่น ๆ ที่มีเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย ปลัด ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในชื่อว่า “กระทรวงธรรมการ” มีหน้าที่ในการจัดการพระศาสนา การศึกษา การพยาบาลและพิพิธภัณฑ์ นับถึงวันนี้มีอายุครบ 132 ปี สู่การเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ในโลก Digital Transformation ซึ่งยังคงทำหน้าที่สำคัญ ในการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษา ถ่ายทอดความรู้ พัฒนาจิตใจและสติปัญญาของผู้เรียนทุกระดับทุกประเภท เพื่อสร้างบุคลากรของประเทศให้เจริญเติบโต มีความเจริญงอกงามรอบด้าน การจัดงานในวันนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนากระทรวงศึกษาธิการขึ้น และรำลึกถึงผู้ทำคุณประโยชน์ที่ล่วงลับไปแล้ว พร้อมทั้งเป็นการเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2567 อีกด้วย ทั้งนี้ ในวันที่ 1 เมษายน 2567 ยังเป็น...
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีมอบสารเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี วันที่ 1 เมษายน 2567 สำหรับลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี “เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี วันที่ 1 เมษายน 2567 ผมขอส่งความปรารถนาดีมายังผู้บริหาร ข้าราชการ ครู คณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและเจ้าหน้าที่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการทุกท่าน การศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นรากฐานที่สําคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปการศึกษาและเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีเป้าหมายสําคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานและอย่างทั่วถึง สามารถใช้ความรู้ ความสามารถ ทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพ เพื่อประกอบสัมมาชีพและการดํารงชีวิต รวมทั้งมุ่งสร้างทักษะและความสามารถของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการศึกษา ทั้งเพื่อความเป็นเลิศ และเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยให้ความสําคัญกับการนําระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร และวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ขณะเดียวกันยังมีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของครูผู้สอน ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ตลอดจนสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขับเคลื่อนให้งานการศึกษาของชาติบรรลุเป้าหมาย ผมขอชื่นชมบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทและเสียสละ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติและพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อยกระดับศักยภาพคนไทย อันเป็นรากฐานสําคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงตลอดไป และขออวยพรให้ทุกท่าน ประสบแต่ความสุข มีสุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรงสมบูรณ์ และประสบความสําเร็จในสิ่งที่มุ่งหวังทุกประการ” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี