29 มีนาคม 2567/ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรรมการและผู้แทนเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาปรับปรุงการจัดและพัฒนาส่วนราชการและวิธีปฏิบัติงาน ตลอดจนระบบบุคคลให้ทันสมัยและรองรับกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและภารกิจที่มีความสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล รวมทั้งบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและแนวโน้มที่สำคัญในอนาคต พิจารณากำหนดหน้าที่และอำนาจ รวมถึงขอบเขตความรับผิดชอบของส่วนราชการ และองค์กรรูปแบบอื่นที่มิใช่ส่วนราชการภายในสังกัด โดยในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบการแบ่งส่วนราชการภายในของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และร่างกฎกระทรวงของหน่วยงานโดยในส่วนของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีการนำข้อเสนอของหน่วยงานกลางไปปรับแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของรายละเอียดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อเสนอสำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการต่อไป ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว นัทสร ทองกำเหนิด/ถ่ายภาพ กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
29 มีนาคม 2567/ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่สภานายกสภาลูกเสือไทย เป็นประธานการประชุมสภาลูกเสือไทย ประจำปี 2567 ภายใต้คำขวัญ“ทำดี ทำได้ ทำทันที”โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย และผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่าย จำนวน 250 คน ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบกล่าวรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ได้ดำเนินกิจการลูกเสือตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้แนวทาง “ทำดี ทำได้ ทำทันที”เพื่อปลูกฝัง ฝึกฝนอบรม พัฒนาเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของลูกเสือ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไปในอนาคต รวมถึงบริหารกิจการลูกเสือให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ ซึ่งประสบความ สำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายทุกประการ โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาทุกสังกัด องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคีเครือข่ายให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ยังได้น้อมนำโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ มาเสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สร้างจิตบริการและจิตสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สำหรับปีนี้ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำ (ร่าง) นโยบายและข้อเสนอแนะการพัฒนากิจการลูกเสือไทยและการจัดอภิปรายเยาวชนลูกเสือ Youth Forum ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2567 มีผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และผู้แทนเยาวชนลูกเสือเข้าร่วมประชุม โดยจะนำเสนอผลสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวในวันนี้ด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูลกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงพระราชทาน“หลักสูตรลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน”มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อส่งเสริมให้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ได้เสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโครงการที่ทรงคุณค่า สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับ“ธรรมนูญของลูกเสือโลก”ที่ระบุว่าหลักการขับเคลื่อนลูกเสือ คือ ขบวนการการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นไปโดยสมัครใจ ไม่จำกัดเพศ ศาสนา และเชื้อชาติ มุ่งพัฒนาเยาวชน ให้บรรลุศักยภาพด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกทางสังคม และจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยม ในฐานะพลเมืองที่รับผิดชอบ และในฐานะสมาชิกของชุมชนในท้องถิ่นระดับประเทศ และระดับนานาชาติ แนวคิดสำคัญในการพัฒนากิจการลูกเสือไทย คือ“การบูรณาการความรู้ทางวิชาการ กับอุดมการณ์การลูกเสือ หลักการการลูกเสือ และเจตนารมณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ในสังคม”พัฒนาหลักวิชาการที่สอดคล้องกับยุคสมัย ประยุกต์ใช้ได้จริง สามารถพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม ทักษะวิชาชีพ สำนึกการประกอบวิชาชีพ การดำรงชีพด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งที่ยั่งยืน และสร้างจิตวิญญาณแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงขอนำนโยบายของสภาลูกเสือไทย ให้ทุกท่านได้ยึดถือปฏิบัติ ดังนี้ 1. ขับเคลื่อนโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทานเน้นให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพสังคมไทยร่วมกัน โดยใช้กระบวนการลูกเสือ 2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนและสนับสนุนการจัดตั้งสภาเยาวชนลูกเสือแห่งชาติ สภาเยาวชนลูกเสือจังหวัดทุกจังหวัดในอนาคต เพื่อให้เยาวชนลูกเสือมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น ความต้องการและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สอดคล้องกับนโยบายการมีส่วนร่วมของเยาวชนในระดับการตัดสินใจของลูกเสือโลก ภายใต้แนวคิด“เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่สนับสนุน” 3. พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือทุกระดับ ทุกประเภทให้ได้มาตรฐานตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และสอดคล้องกับนโยบายหลักสูตรกิจกรรมเยาวชนลูกเสือโลก รวมทั้งกำหนดแนวทาง วิธีการจัดกิจกรรมลูกเสือให้เหมาะสมกับทุกระดับ และทุกประเภท 4. ผู้ใหญ่ในการลูกเสือต้องเป็นกำลังสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ และเครือข่ายให้ได้มาตรฐานและเกิดความเข้มแข็ง ปฏิบัติงานได้ทันต่อเหตุการณ์ ด้วยการทบทวนองค์ความรู้ สร้างประสบการณ์เพิ่มเติมอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง สอดคล้องกับ “นโยบายผู้ใหญ่ในการลูกเสือ” ของลูกเสือโลก 5. ดูแลความปลอดภัยจากการคุกคามรวมถึงความปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมลูกเสือ ทั้งการคุกคามทั้งจากผู้ใหญ่ และจากเยาวชนด้วยกัน ตาม “นโยบายความปลอดภัยจากการคุกคาม” ของลูกเสือโลก 6. พัฒนาและยกระดับค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือให้ได้มาตรฐานสากลด้วยการสำรวจตรวจสอบค่ายลูกเสือทั่วประเทศ เพื่อทำการปรับปรุง และพัฒนาค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จังหวัดละ 1 แห่ง 7. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของลูกเสือด้วยการจัดให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีระเบียบรองรับการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมไปถึงการก่อตั้ง “ร้านลูกเสือ” (Scout Shop) เป็นกิจการที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าลูกเสือ และของที่ระลึก ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหารายได้มาสนับสนุนการจัดกิจกรรมของลูกเสือ ดำเนินการโดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 8. พัฒนาระบบ ระเบียบ วิธีการบริหารจัดการกิจการลูกเสือที่ดี มีคุณภาพ แบบมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาลและให้เป็นไปตามธรรมนูญและนโยบายต่าง ๆ ขององค์การลูกเสือโลก “ขอให้ท่านได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้วยความรู้ ความสามารถ จิตสาธารณะ และทำให้ กิจการลูกเสือไทย มีความทันสมัยอยู่เสมอ ตามคำกล่าวที่ว่า การลูกเสือเป็นกิจกรรมของเด็ก แต่เป็นภารกิจของผู้ใหญ่” นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้าย...
22 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (รางวัลเสมาพิทักษ์) ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี และนายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัด ศธ. คณะผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา รมว.ศธ.กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภัยในรูปแบบใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ ได้มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงการที่เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การละเมิดสิทธิบุคคล ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท และการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องร่วมมือร่วมใจกัน ในการดูแล คุ้มครอง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชน ในบริบทของสังคมปัจจุบัน จึงเป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความรู้ ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ซึ่งการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น เมื่อการเรียนดีขึ้นจะส่งผลกลับไป ทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น ขอให้ยึดตามแนวทางการทำงานของ รมว.ศธ. “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ”ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นคนดี มีความปลอดภัย สามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข มีทักษะชีวิตที่ดี มีพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป” ปลัด ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ มีประกาศจัดตั้งศูนย์เสมารักษ์สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานลูกเสือ และกิจการนักเรียนในพื้นที่จังหวัด รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ด้านการส่งเสริมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา และได้เห็นความสำคัญของบุคลากร ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน ซึ่งต้องอุทิศเวลาในการทำงาน จึงได้ดำเนินการพิจารณามอบรางวัลเชิดชูเกียรติ พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา “รางวัลเสมาพิทักษ์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2562 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “พสน.” เกิดเจตคติที่ดีมีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในการส่งเสริม ป้องกัน คุ้มครองและป้องปราม ร่วมเป็นกำลังสำคัญให้ทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนและนักศึกษาได้รับการแก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนา ไปสู่การนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและจบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความปลอดภัยในทุกมิติ ในปัจจุบันมี พสน. อยู่ในระบบฐานข้อมูลของสำนักการลูกเสือยุวกาชาดและกิจการนักเรียน กว่า 32,000 คน ปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์เสมารักษ์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร มีโดยบทบาทและหน้าที่สำคัญในการป้องกัน ปลูกฝัง ป้องปราม ด้านการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ตามมาตรการความปลอดภัยสถานศึกษา ที่มุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยต่อนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา สำหรับพิธีมอบรางวัลฯ ครั้งนี้ มีผู้บริหารและบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ที่ได้รับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนทั้งสิ้น 334 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ บุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ศูนย์เสมารักษ์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมเป็นเกียรติประกอบด้วย ผู้บริหารหรือผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / วีดิทัศน์ พีรณัฐ ยุชยะทัต, ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
21 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ : เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี โดยเป็นความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมด้วยผู้บริหารระดับสูง นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.กล่าวว่า วันนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษา ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ซึ่งสอดรับกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะการที่ผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีสุขภาวะทางกายและใจที่ดี ย่อมส่งผลให้มีความสุขในสถานศึกษาด้วย เราจึงต้องมีธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ที่เป็นเหมือนข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียน ชุมชน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน ออกแบบรูปแบบการดำเนินการร่วมกัน อีกทั้งตอนนี้ได้รับความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ร่วมตรวจตราในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ไม่ให้มีการขายสิ่งของในลักษณะสุ่มเสี่ยงที่เป็นอันตรายกับผู้เรียน ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม ส่วนโรงเรียนอาจจะต้องขอยกระดับความร่วมมือกับผู้ปกครองมากขึ้น ตามบริบทแต่ละสถานที่เพื่อดำเนินการร่วมกันได้ ที่สำคัญแต่ละสถานศึกษาจะได้ลองทบทวนว่าธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาที่มีอยู่แล้ว ได้ดูแลสุขภาพใจสุขภาพกายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้ายังไม่มีจะได้เป็นโอกาสในการปรับปรุงและไปประยุกต์ใช้ สร้างสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ให้กับผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานศึกษา ที่จะเป็นพลังในการเฝ้าระวังและเป็นรั้วให้กับสถานศึกษา คาดว่าหลังจากนี้จะมีอีกหลายโครงการเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่วนการร่างธรรมนูญสถานศึกษานั้น ยังต้องทำอีกหลายขั้นตอนให้รอบคอบที่สุด แต่สิ่งที่อยากเพิ่มเติมคือเน้นเรื่องของการจัดการยาเสพติดในสถานศึกษา รวมถึงเรื่องอื่นที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาวะทางใจ การบังคับใช้ด้านกฎเกณฑ์บางอย่างในสถานศึกษาที่มากเกินไป การบูลลี่ในสถานศึกษา จนส่งผลต่อจิตใจผู้เรียน จะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งเป้าให้ทุกสถานศึกษา มีธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาร่วมกันไม่น้อยกว่า 50% ในปีแรก และส่วนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้องส่งเสริมให้มีเช่นเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นงานในวันนี้แล้ว ทางเขตพื้นที่การศึกษาจะเริ่มขับเคลื่อนได้เลย และจะมีการติดตามการดำเนินงานจากคณะกรรมการนโยบายของ รมว.ศธ.ที่ดูแลเกี่ยวกับสุขภาวะทุกด้านของผู้เรียนในทุกมิติต่อไป นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า สุขภาพของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของประเทศนั้น เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่หลากหลายมากมาย หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดำเนินการจัดการได้ ต้องอาศัยหน่วยงาน หรือภาคีจากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการนั้นถือเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญมากในเรื่องนี้ เนื่องจากสถานศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมและเอื้อให้เกิดสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางปัญญา รวมถึงการตระหนักรู้ มีสำนึกรับผิดรับชอบ และสุขภาวะทางสังคม ครบทุกมิติตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โรงเรียนและสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างสุขภาพ และสุขภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ ให้ประเทศไทยยังคงมีขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต สำหรับเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนสู่ระบบสุขภาพสถานศึกษาที่ต้องการร่วมกันนั้นคือ “ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา” ไม่ใช่แต่เฉพาะครู ผู้เรียน หรือผู้ปกครองและครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงชุมชนโดยรอบ และภาคีที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและรอบ ๆ สถานศึกษา ตลอดจนภาคีที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพสถานศึกษา โดยในแต่ละสถานศึกษานั้น ก็จะมีบริบทที่แตกต่างกัน สามารถออกแบบธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาที่สอดคล้องกับสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องพยายามอย่าละเลยหรือมองข้ามกลุ่มบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เกิดการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เกิดการยอมรับในธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนระบบสุขภาพของสถานศึกษาเห็นความสำคัญกับเรื่องความเป็นธรรม และมีการดำเนินงานที่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายร่วมได้จริงตลอดจนมีความสอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติด้วย นายแพทย์สุเทพได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จะเป็นกรอบนโยบายการพัฒนาสุขภาพตามบริบทและความต้องการของสถานศึกษานั้น ๆ อย่างมีส่วนร่วม โดยเป็นข้อตกลงร่วมกันของภาคีที่เกี่ยวข้องที่กำหนดทิศทางหรือแนวปฏิบัติอันจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีของสถานศึกษา เป็นเครื่องมือที่เพิ่มทางเลือกให้กับการพัฒนาระบบสุขภาพสถานศึกษา และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การปฏิบัติได้ โดยสามารถนำเอาธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติมาใช้เป็นกรอบหรือเป็นต้นแบบในการพัฒนา เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่นำไปสู่เป้าหมาย เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี ได้ในที่สุด” สำหรับการประชุมฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นในวันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมจาก สำนักงานศึกษาธิการภาค 1-18, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด 5 จังหวัด, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, ผู้บริหารหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 650 คน พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
21 มีนาคม 2567 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เผยถึงข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบาย “ลดภาระครู” ซึ่งจะเร่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หลุดกรอบการทำเอกสารของครูผู้สอนแบบเดิม สู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบโดยเร็วที่สุด โฆษก ศธ.กล่าวว่า จากที่ได้รับเสียงสะท้อนของเพจดังในโลกออนไลน์ เรื่องภาระครูที่มีความซ้ำซ้อนอยู่มากในหลายเรื่อง ที่ยังคงแบบเดิมอย่างเห็นได้ชัดคือ การที่ครูต้องกรอกรายละเอียดด้วยลายมือใน ปพ.5 เป็นเอกสารที่ผู้สอนจัดทำขึ้นเพื่อใช้บันทึกผลการเรียนเป็นรายวิชา แสดงผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียน เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับตรวจสอบ ยืนยัน สภาพการเรียน และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยจำนวนนักเรียนแต่ละชั้นเรียนทำให้ใช้เวลานานและล่าช้า และด้วยแนวปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งบางประการทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามสู่ระบบดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ทราบถึงเรื่องดังกล่าว และให้ความสำคัญกับนโยบาย “ลดภาระครู” ที่เน้นย้ำอย่างชัดเจนมาโดยตลอด ถึงการนำ Digital Transformation มาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการลดภาระครู ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของโลก “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” จึงได้สั่งการให้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ดำเนินการในส่วนนี้เพื่อลดภาระครู ก้าวสู่องค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ใช้เทคโนโลยีพัฒนาแพลตฟอร์มการจัดทำใบ ปพ. 5 และทุกเอกสารที่เป็นใบสำคัญทางด้านการศึกษา เพื่อลดขั้นตอนของครูผู้สอนอย่างเป็นระบบ และในอนาคตจะต้องตรวจสอบและติดตามข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ได้ 100 % ซึ่งขณะนี้องค์การค้า ของ สกสค. ได้จัดทำระบบจัดเก็บเอกสารหลักฐานทางการศึกษาแบบอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการผ่าน Block chain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย ไม่สามารถปลอมแปลงหรือแก้ไขได้ เป็นประโยชน์ในระยะยาว ทั้งนี้ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบจัดทำและจัดเก็บเอกสารหลักฐานทางการศึกษาแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจัดทำคำสั่งที่ลงนามโดย รมว.ศธ. และร่างแนวทางในการ Transform แปลงโฉมจากระบบเดิมที่ครูต้องบันทึกการผลการเรียนด้วยลายมือ ให้เกิดเป็นการลงระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดงานด้านเอกสารที่ซ้ำซ้อนของครูผู้สอน คาดว่าจะเสร็จสิ้นและ ให้สถานศึกษาเปิดใช้ได้อย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป และนอกจากจะเริ่มจาก สพฐ. แล้ว หน่วยงานอื่นในสังกัดก็จะทยอยปฏิบัติตามให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย พบพร ผดุงพล / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / กราฟิก
จังหวัดเชียงราย 20 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง สังกัด สพป.เชียงราย เขต 3 โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ คณะครู นักเรียน ให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของรัฐบาล จุดที่ 1 ศูนย์การเรียนเกษตร จุดที่ 2 ห้องสมุด & ร้านกาแฟ (นักเรียนดำเนินการเอง)จุดที่ 3 การเรียนแบบจิตศึกษา สร้างสมาธิ (แก้ปัญหาการอ่าน การเขียน ภาษาไทย) จุดที่ 4 Art for Living จุดที่ 5 ห้องเรียนคหกรรมศาสตร์ โดยแต่ละจุดมีนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ นำเสนอการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข ของ รมว.ศธ. โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2507 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ 61 ต่อมาได้โอนมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2520 โรงเรียนได้ขยายโอกาสทางการศึกษาและได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย ตามแผนพัฒนาการศึกษาของโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนชาวเขา ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้เรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนำความรู้กลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตน ในระยะเริ่มต้นได้ดำเนินการโดยเปิดเป็นห้องเรียนในสาขาของโรงเรียนแม่จันวิทยาคม และใช้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นสถานที่ในการจัดการเรียนการสอน ต่อมาจึงได้รับอนุมัติให้เปิดขยายชั้นเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และจัดการเรียนการสอนด้วยตนเองตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 เป็นต้นมา ปีการศึกษา 2550 ให้ย้ายสถานที่มายังโรงเรียนแห่งใหม่ซึ่งได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง จำนวน 13 ล้านเศษ บนพื้นที่ 7 ไร่ 11 ตารางวา ซึ่งเป็นสำนักงานชั่วคราวของแขวงการทางลำปางโรงเรียนได้จัดการศึกษาโดยยึดพระราชปณิธานของสมเด็จย่าที่ว่า “ช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเขาเอง”โดยมี นายศุภโชค ปิยะสันติ์ เป็นผู้อำนวยการ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 34 คน นักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 426 คน สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีผู้บริหาร ศธ. เข้าร่วม อาทิ นายวัลลภ ไม้จำปา รองศึกษาธิการภาค 17 นายเกรียงศักดิ์ ยอดสาร ผอ.สพม.เชียงราย นายวิเศษ เชยกระรินทร์ ผอ.สพป.เชียงราย เขต 3 นายมรกต อนุเคราะห์ ผอ.สพป.เชียงราย เขต 1 นางกัญจนา สัตตรัตนำพร ผอ.สพป.เชียงราย เขต 4 สพม.เชียงราย / ภาพ-ข่าว
จังหวัดเชียงราย – 18 มีนาคม 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อมอบนโยบายผู้บริหารการศึกษาของจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย และโรงเรียนอนุบาลเชียงราย โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ ร้อยตรีธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ., นายชาตรี ม่วงสว่าง ผู้ตรวจราชการ ศธ., นายนิติ นาชิต ที่ปรึกษา รก.รองเลขา สกศ., นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการ กอศ., นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้, รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช., นายธัชกร วงศ์เพ็ง รองศึกษาธิการภาค 10 ร่วมลงพื้นที่ รมว.ศธ.กล่าวว่า จากการรับฟังเสียงสะท้อนของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ก็ได้มอบนโยบายให้บุคลากรด้านการศึกษาทุกสังกัดรับทราบโดยทั่วกัน ซึ่งศึกษาธิการจังหวัดจะเป็นผู้ประสานงานเพื่อบูรณาการร่วมกันตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ทั้งการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิต ทำให้เด็กนักเรียนมีมาตรฐานทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเท่าเทียมกันมากที่สุด สำหรับข้อสั่งการที่เน้นย้ำ คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ธรรมชาติ มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ แต่ด้วยปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป บวกกับคนในพื้นที่บางกลุ่มยังติดกับความเชื่อเดิมว่าการเผาหน้าดินจะทำให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม ลดเวลาการถากถาง ฆ่าแมลงได้หมด จึงอยากฝากกำลังคนอาชีวะให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกกับคนในชุมชน ให้เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาหน้าดิน สร้างนวัตกรรมในบริบทพื้นที่ช่วยเสริมการป้องกันการเกิดมลภาวะที่เป็นตัวการทำลายโลก จากการเยี่ยมชมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย พบจุดเด่นคือการทำนาปลูกข้าว จึงได้มอบแนวความคิดเพิ่มเติมเพื่อให้นำไปต่อยอดการทำงานในเชิงพื้นที่เกษตรกรรม เลือกเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจพันธุ์ดีที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ และอยากแนะนำนักเรียนที่รู้ตัวว่าชอบด้านการเกษตร หากต้องการมีอาชีพโดยไม่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดแต่ยังคงมีรายได้ดำรงชีวิต มองช่องทางเรียนต่อสายอาชีพได้เลย เพราะเรามีสถานศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ จากนั้น รมว.ศธ. และคณะ ได้เดินทางไปอนุบาลเชียงราย โดยตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยกับครูและนักเรียน รมว.ศธ.กล่าวว่า หลังจากได้รับทราบถึงความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน คุณครู สมาคมผู้ปกครองที่เข้มแข็ง ที่สำคัญคือนักเรียนโรงเรียนนี้มีความน่ารัก ตั้งใจแสวงหาความรู้และกล้าแสดงออก การจัดการเรียนการสอนมีความหลากหลาย เห็นแล้วเกิดความสบายใจว่าการศึกษาประเทศเราไม่ได้แย่ไปทั้งหมด สิ่งที่ต้องดำเนินการคือต้องขับเคลื่อนผลักดันให้โรงเรียนอื่นมีมาตรฐานการศึกษา ในส่วนของบางโรงเรียนที่ยังไม่เกิดความพร้อม ต้องตั้งเป้าให้มาสู่โรงเรียนคุณภาพ และโรงเรียนคุณภาพจะต้องเป็นแม่ข่ายที่ให้การบริการโรงเรียนในเครือข่าย ที่จะมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงแนะนำโรงเรียนใกล้เคียงให้เกิดการยกระดับเป็นโรงเรียนคุณภาพเช่นเดียวกัน พบพร ผดุงพล / ข่าว เจษฎา วณิชชากร / ภาพ
เสมา 1 นำผู้บริหารในสังกัด ร่วมสัมมนาวันหยุดที่บุรีรัมย์ หวังปลุกพลังการทำงาน เสริมสร้าง Mindset เปิดโลกทัศน์การทำงานร่วมกับผู้บริหารชั้นนำจากเอกชน แนะร่วมกันสร้าง DNA ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกระทรวง ดัวยการทำงานในรูปแบบ “We are the One” เราเป็นหนึ่งเดียว ครอบครัวกระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดบุรีรัมย์ 16 มีนาคม 2567: พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมการประชุม ระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูมชั้น 2 สนามช้างอารีนา โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ รมว.ศธ.กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า ถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรหลัก/ในกำกับ ร่วมเปิดโลกทัศน์ในการสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งสิ่งที่คาดหวังจากการสัมมนาครั้งนี้ คือ 1) อยาก transform แนวคิด/การทำงาน เพื่อให้ผู้บริหาร ศธ.ช่วยกันเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองโลกให้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลกการศึกษา หรือโลกแห่งความร่วมมือกับเอกชน ที่จะร่วมตอบสนองต่อภาคการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ 2) ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน 3) ให้คิดนอกกรอบการทำงาน ซึ่งได้เชิญผู้บริหารจากภาคเอกชนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 4) สร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นกับผู้บริหาร ให้เป็น “We are the One” เราเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะแท่งหรือคนละแท่ง แต่วันนี้เราคือครอบครัวเดียวกัน “ครอบครัวกระทรวงศึกษาธิการ” 5) เป็นการเตรียมประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในเดือนสิงหาคม 2567 6) อยากให้กระทรวงศึกษาธิการมี DNA ในภาพของกระทรวง อัตลักษณ์ การกำหนดวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นอย่างไร ต้องหา DNA ของกระทรวงร่วมกันให้เจอ 7) อยากให้ร่วมกันขับเคลื่อนกระทรวงไปในทิศทางที่ถูกต้อง กว้างขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนา ฝากให้ผู้บริหารนำแนวคิด ประโยชน์ที่ได้รับ ไปถ่ายทอดต่อให้บุคลากรในหน่วยงาน เพื่อให้เกิดแรงขับในการทำงานร่วมกันทั้งกระทรวง อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว แต่พยายามทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว เพื่อสามารถเติมเต็มได้ตลอดเวลา และอย่าลืมทำงานให้ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ร่วมกันพิจารณาหาจุดที่เราขาด และช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน รมช.ศธ.กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นความอบอุ่น และยินดีที่ผู้บริหาร ศธ.มาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความผูกพันกันมากขึ้น ฝากให้นำความผูกพันที่เราช่วยกันสร้างในวันนี้ กลับไปทำงานร่วมกันต่อไป “เชื่อมั่นว่าต่อไปการเรียนรู้ตามอัธยาศัยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการศึกษามากขึ้น ซึ่งผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกคนต้องเตรียมพรัอมรับมือในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือ CPกล่าวบรรยายตอนหนึ่งถึงความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก ปี ค.ศ. 2023-2030 ที่โลกจะมีทั้งความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปดิจิทัล ความผันผวนภูมิอากาศ ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สุขภาพมนุษย์/สังคมสูงวัย/ประชากรที่ลดลง ล้วนเป็นความท้าทายของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมา ภาพรวมการศึกษาไทย อาจจะยังเป็นแบบเดิม คือ ครูยังเป็นศูนย์กลางความรู้และให้คำสั่ง นักเรียนต้องทำการบ้านให้เสร็จ สอบให้ผ่าน ส่งรายงานให้ทัน นั่งเรียนแบบหน้ากระดาน ไม่ได้เลือกเรียนตามความสนใจ ถนัดงานเดี่ยว ทำงานคนเดียว แต่ต่อไปการศึกษาไทยต้องเป็นยุค 5.0 คือ การให้ความรัก ความมั่นคง ปลอดภัย ความมั่นใจ ผู้เรียนตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ บทบาทครูเปลี่ยนจาก Instructor เป็น Facilitator เป็น Guardian ที่มีเมตตาสูง ทำงานและสำเร็จพร้อมกับทีม มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล มีการเรียนรู้การลงมือปฏิบัติ (Learning Center) ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคน ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างความมั่นใจ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริง นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดกล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีต้อนรับสู่ “ลมหายใจแห่งบุรีรัมย์” “Breathof Buriram” ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีตที่ผ่านมา ติดอันดับ 6 จังหวัดที่มีความยากจนที่สุดในประเทศไทย แต่ 14 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนแปลงไปมาก จากสนามฟุตบอล เป็นสนามแข่งรถ มีระบบเศรษฐกิจที่ดี จากที่เคยเป็นแค่เมืองผ่าน แต่ตอนนี้เป็น Destination หนึ่งของประเทศไทยในหลายด้าน สิ่งสำคัญที่บุรีรัมย์ทำอะไรก็ตาม คือ ต้องมีความเป็นมาตรฐาน (Buriram Standard) 3 ด้าน คือ ต้องมีความแปลก อลังการ และมีความเป็น World Standard ด้วย “ความเชื่อของผมและคนบุรีรัมย์...
14 มีนาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในสังกัด ติดตามการดำเนินงานพร้อมมอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และมอบเข็มเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติบัตรแก่นักเรียนที่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้จนรอดชีวิต ณ โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ และโรงเรียนท่าวุ้งวิทยาคาร โดยมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ผู้บริหารในสังกัดและส่วนท้องถิ่น คณะครู และนักเรียน ให้การต้อนรับ รมว.ศธ.กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดลพบุรีวันนี้ ได้เห็นการดำเนินการที่ตอบโจทย์นโยบาย แต่จากนี้ทุกสังกัดต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนทุกมิติที่อยากเน้นย้ำคือ “โรงเรียนคุณภาพ” 1 อำเภอ ต้องมี 1 โรงเรียนคุณภาพ ผลักดันการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิตสนับสนุนความชอบและทักษะของเด็กให้ถูกด้าน เรียนเพื่อสามารถอยู่ในสังคมได้ มีความรู้มีทักษะชีวิตในสภาวะที่เปลี่ยนแปลง ใช้เทคโนโลยี AI ต่อยอดให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และทำให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน สำหรับหลักสูตรทางการศึกษาของครูผู้สอน ที่ตอบโจทย์การลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครองหากนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” สำเร็จด้วยดี แพลตฟอร์มทางการศึกษาจะเสมอภาคกันเป็นพื้นฐานทั่วประเทศทุกโรงเรียนสามารถจัดทำ E-Books ให้นักเรียนดาวน์โหลดในการเรียนออนไลน์ ทำเนื้อหารูปภาพที่ครบถ้วนเข้าใจง่าย สร้าง QR Code สำหรับให้ผู้เรียนวิพากษ์เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนได้ เรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งสายสามัญและสายอาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ ทั้งนี้ การศึกษาไม่ใช่เรื่องของ ศธ.เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องทุกคนในสังคมขอให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นคนประสานการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนมองในมิติการบูรณาการร่วมกัน วางแผนสกัดความเสี่ยง อุปสรรค ปัญหาในการบริหารงาน เล็งเห็นผลที่คาดว่าจะได้รับจากการแก้ไข และปัจจัยความสำเร็จในอนาคต “การจะมีความสุขได้ ต้องลดภาระในส่วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากครูมีความสุข การจัดการเรียนการสอนก็ดีขึ้น ผู้เรียนมีการศึกษาดีขึ้น ทุกคนก็จะมีความสุขด้วย อยากฝากแนวทาง‘จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน’ หวังว่าจะนำไปปรับใช้และดำเนินการ ‘ทำดี ทำได้ ทำทันที’มาร่วมกันร่วมกันเติมเต็มให้การศึกษามีคุณภาพ สร้างการศึกษาของประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น ”รมว.ศธ.กล่าว สุดท้ายนี้คาดหวังว่าโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่เพื่อสนับสนุนเกื้อกูลกัน สามารถเฉลี่ยความสุข แบ่งปันทรัพยากรผู้เรียนร่วมกันทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน ขยับไปเป็นโรงเรียนคุณภาพทุกตำบล จนขยายไปทุกสถานศึกษาในที่สุด ด้านปลัด ศธ.กล่าวว่า นโยบายของ รมว.ศธ. ต้องขับเคลื่อนในทุกมิติ ทั้งโรงเรียนคุณภาพ การลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง ความปลอดภัยในสถานศึกษาโดยเฉพาะหน่วยงานที่จัดการศึกษาในพื้นที่ จะต้องมีการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับนักเรียนทุกสังกัดให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันซึ่งมีกรอบการดำเนินงานคือศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ขับเคลื่อนระดับจังหวัด และขณะนี้กำลังจัดทำแอปพลิเคชันแจ้งเหตุเพื่อรับทราบข้อมูลในการดูแลอย่างใกล้ชิดอีกระดับหนึ่ง ศธ. ในฐานะที่ดูแลการศึกษาตลอดชีวิต จึงต้องดำเนินการในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”เพื่อดูแลคนทุกช่วงวัยให้ได้รับการศึกษา อย่างน้อยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งผู้เรียนที่อยู่ในและนอกระบบ กลุ่มที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยและมีความประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองไปด้วย ไปจนถึงผู้สูงวัยที่เกษียณอายุราชการ เพื่อดูแลให้มีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดีต่อไปในอนาคต โอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้เดินทางไปโรงเรียนท่าวุ้งวิทยาคาร มอบเข็มเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติบัตร ชื่นชมนักเรียนและนักศึกษาที่ร่วมกันทำความดี เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม มีจิตอาสา “ทำดี ทำได้ ทำทันที” แก่นักเรียนและนักศึกษาในสังกัด 5 คนดังนี้ นายวีรภัทร ม่วงกุน ชั้น ม.4 โรงเรียนท่าวุ้งวิทยาคาร เด็กชายกิตตินันท์ เกตุดี ชั้น ม.1 โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ นายจิรานุวัฒน์ จงสำราญ ชั้น ม.4 โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ นายวุฒิศักดิ์ ม่วงวงษ์ ชั้น ปวช. ปี 2 วิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี นางสาวนฤมล หวันจิ ชั้น ปวช. ปี 3 วิทยาลัยเทคโนโลยีละโว้ พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
14 มีนาคม 2567/ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง ที่ให้ความสำคัญกับเด็กของเราอย่างเข้มข้น โดยล่าสุดได้ออก 4 มาตรการเข้ม ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งข้อสำคัญอันดับแรกคือ “ต้องทำให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” โดยทางตำรวจจะสืบสวนจับกุมร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่รอบสถานศึกษาทุกแห่งอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมตัดวงจรรายใหญ่ ปราบปรามช่องทางออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ความรู้แก่ชุมชนสถานศึกษา เกี่ยวกับข้อกฎหมายและอันตรายจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นอันตรายมากกว่าบุหรี่มวนเพราะบุหรี่มวนมีการจำกัดปริมาณนิโคตินต่อมวน แต่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเติมนิโคตินได้ตลอดเวลา ซึ่งนิโคตินมีผลกระทบทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก และทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลันจากการสำรวจของกรมควบคุมโรค พบว่าเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 17.6% และเกือบทั้งหมดซื้อผ่านทางออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยผลิตให้มีรูปแบบเป็นตัวการ์ตูน กล่องนม ให้ดูเป็นเรื่องธรรมดา เข้าถึงง่าย จนเด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว นับเป็นภัยคุกคามเยาวชนที่ต้องเร่งจัดการโดยด่วน ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ ให้เข้มงวดตรวจตราการนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียนอยู่เสมอ โดยยึดกฎระเบียบเช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ธรรมดา อ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 กำหนดให้โรงเรียนหรือสถานศึกษา เป็นสถานที่สาธารณะ ต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด “ศธ. มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขว่า จะทำอย่างไรเมื่อพบเห็นว่านักเรียนครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ ศธ. มีมาตรการสื่อสารลงไปในโรงเรียนทุกแห่งว่า หากเจอในเด็กนักเรียน เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนผิด เราคิดว่าเป็นเหยื่อ โดยจะจัดให้มีตัว Dropbox เพื่อหย่อนบุหรี่ไฟฟ้าลงไป เหมือนเวลาผ่านด่านศุลกากรต่าง ๆ ในการยึดของกลาง ก็จะส่งให้ตำรวจไปทำลาย”นายสิริพงศ์ กล่าว นอกจากนี้ เรายังพบการโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าว่าสูบแล้วเท่ สูบแล้วดีกว่า 97% มียอดวิวและยอดไลก์ 98% ใน TIKTOK ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้คนใช้งานมากที่สุดและฮิตมากในอาเซียน ทำให้การระบาดในเด็กขยายไปเร็วมาก เพราะเด็กคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย และผู้ปกครองไม่รู้ว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นการร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้เข้าถึงตัวเด็ก จึงต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการกวาดล้างจับกุมผู้ขาย การปิดกั้นช่องทางออนไลน์ การให้ความรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า หรือหากจำเป็นต้องมีการให้บำบัด ทุกหน่วยงานภาครัฐก็พร้อมจะเข้ามาทำงานร่วมกันเสมอ โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ ศธ. ก็อยากฝากให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทุกท่าน กวดขันเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอยู่เสมอ โดยขอให้มองนักเรียนว่าเป็นลูก ๆ ของท่าน เด็กยังอ่อนต่อโลก ขาดประสบการณ์พิจารณาว่าสิ่งใดเหมาะสม และมักจะทำตามเพื่อนหากเราเริ่มต้นหยุดยั้งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้ถึงมือเด็กแล้ว ก็น่าจะเป็นหนทางที่เด็ก ๆ จะสร้างค่านิยมในกลุ่มเพื่อนถึงโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสารเสพติด หรือสารมึนเมาอื่น ๆ ทำให้สถานศึกษาเป็นสีขาวและปลอดภัยอย่างแท้จริงตามนโยบายการศึกษาของ รมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข” ////////////////////////////////////////// ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว-กราฟิก
13 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 11/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ซึ่งภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า การสอบ PISA ในปี 2025 คาดว่านักเรียนไทยจะมีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน อาจต้องมีการทบทวนเรื่องการประเมินผลของโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาเห็นได้ว่าการเข้าทดสอบ PISA พบว่าปัจจัยส่วนหนึ่งคือเด็กขาดทักษะในการทำข้อสอบ และบางโรงเรียนยังมีข้อจำกัดเรื่องระบบ จึงทำการสำรวจความพร้อมของระบบว่าควรปรับขยายหรือย้ายฐานเก็บข้อมูลข้อสอบหรือไม่ เพื่อให้สามารถรองรับนักเรียนที่จะเข้ามาทำแบบทดสอบในระบบได้ทั่วประเทศ และจะลงพื้นที่ดูปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนที่มีผลสอบสูง นำวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการมาแบ่งปันวิธีคิด Reskill เป็นต้นแบบให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันเป็นมาตรฐานการศึกษาไทย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ที่มอบหมายให้ สพฐ.ดำเนินการสืบค้นข้อมูลถึงผลสอบ O-net ในใบระเบียนที่หายไป เนื่องจากผลคะแนนสอบดังกล่าวเป็นการสอบตามความสมัครใจ ไม่ได้บังคับให้ผู้เรียนไปสอบ ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าจะระบุไว้ในใบระเบียนการศึกษาหรือไม่ โดยในเชิงลึกโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัด สพฐ.จะมีมาตรฐานในการศึกษาที่ดี เป็นการสร้างความเสมอภาคให้เท่าเทียมกันมากที่สุด ศธ.เตรียมเสนอยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘พิธีไหว้ครู’ เป็นมรดกโลก รมว.ศธ.กล่าวว่า พิธีไหว้ครูที่จะมีการเตรียมเสนอ UNESCO เป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จะวางแผนขับเคลื่อนใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพื่อตอบกระแสสังคมให้ทั่วโลกยอมรับ การสักการะตอบแทนคุณครูเพื่อให้รู้สึกถึงพระคุณและความตั้งใจในการเรียน “การเป็นครู นักเรียน เป็นกันแล้วต้องเป็นชั่วชีวิตไม่มีวันเลิก” ศธ.ของบกลางจ้างนักการภารโรง งบประมาณปี 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอของบประมาณปี 2567 สำหรับการจ้างนักการภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ขาด เป็นเงินกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 มีมติไม่อนุมัติงบประมาณในการจ้างดังกล่าว แต่ก็ได้จัดทำคำของบประมาณปี 2568 ด้วย โดยจะเสนอของบประมาณกลางให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป เมื่อมีงบประมาณในการจ้างบุคลากรมาสนับสนุนครู การสอนก็จะเต็มประสิทธิภาพครูก็จะมีความสุข และพร้อมจะแบ่งปันความสุขให้ผู้เรียน การสั่งซื้อหนังสือเรียนประจำปี 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า สพฐ.ได้มอบหมายผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ดูภาพรวมในเรื่องการจัดระบบการสั่งซื้อหนังสือเรียน ซึ่งมีกระบวนการเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว โดยแต่ละโรงเรียนจะมีคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่ายประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู กรรมการสถานศึกษา และนักเรียน เพราะฉะนั้นการซื้อหนังสือจากที่ใดที่ต้องผ่านกรรมการชุดนี้ก่อน และ สพฐ.ได้ทำหนังสือเน้นย้ำเรื่องการพิจารณาซื้อหนังสืออิงมาตรการกลาง โดยให้อิสระกับสถานศึกษาในการตัดสินใจ แต่จะต้องเป็นหนังสือที่มีคุณภาพดี ทันสมัย ในราคาที่เหมาะสม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะนโยบายที่เน้นย้ำคือ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” และทุกส่วนต้องนำไปถือปฏิบัติโดยทั่วกัน เรื่องความรุนแรงในสถานศึกษากรณีทำโทษนักเรียน เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า รมว.ศธ.มอบนโยบายในเรื่อง “เรียนดี มีความสุข” จึงต้องป้องกันความรุนแรงให้นักเรียนได้รับความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยได้มีมาตรการเน้นย้ำกับโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันมาโดยตลอด ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่เหมาะสมต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือและสืบข้อเท็จจริง พร้อมหาวิธีป้องกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการใช้ความรุนแรงกับผู้เรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเน้นย้ำทุกหน่วยงานให้ขับเคลื่อนการทำงานที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น ชื่นชมนักเรียนช่วยเหลือรถเกิดอุบัติเหตุ และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจมน้ำ รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอชื่นชมนักเรียนหัวใจจิตอาสา ที่นำทักษะและประสบการณ์จากวิชาลูกเสือ ช่วยเหลือผู้อื่นในเหตุฉุกเฉิน มีภาวะผู้นำในการตัดสินใจทำ CPR ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต และแจ้งหน่วยกู้ชีพได้ทันท่วงที อยากฝากคุณครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการต่อยอดในเรื่องดังกล่าวให้ขยายวงกว้างต่อไป ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้ชื่นชม กรณี นายณัฐพงษ์ สำราญใจ จากโรงเรียนขัวเรียงศึกษา และ นายกฤษฎี ขันทีท้าว จากโรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น ได้ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุรถเสียหลักตกหลุมขนาดใหญ่ พร้อมแจ้งกู้ภัยในพื้นที่ได้ทันท่วงที รวมถึงกรณี นายพลายเงิน ดีอ่อน นายรชตะ สุขแจ่ม นางสาวกัลย์สุดา สามสุวรรณ และคุณครูฐิติมา วารี ครูกลุ่มสาระการงานอาชีพฯ (ครูอนามัย)จากโรงเรียนสิชลประชาสรรค์ จ.นครศรีธรรมราช ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจมน้ำที่เกาะกระดาน จ.ตรัง ในการนี้ นายพลายเงิน ดีอ่อน เป็นนักเรีนนฮีโร่ในเหตุการณ์ช่วยคนให้รอดจากเหตุไฟไหม้รถยนต์เสียหายทั้งคัน พื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา พบพร ผดุงพล / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / วิดีโอ นัทสร ทองกำเหนิด /...
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสแห่งเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ประจำปี พ.ศ. 2567 (ฮิจเราะห์ศักราช 1445) ตรงกับวันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ขอแสดงความยินดีและส่งความปรารถนาดีต่อนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาชาวมุสลิมทั่วประเทศ ที่จะได้ถือศีลอด และปฏิบัติศาสนกิจสำคัญในห้วงเวลาอันประเสริฐของศาสนาอิสลาม จนบรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ตั้งมั่นไว้ทุกประการ การอดอาหารแม้จะเป็นส่วนสำคัญในวัตรปฏิบัติของเดือนรอมฎอน แต่อาหารก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ฝากถึงครู นักเรียน และผู้ปกครอง ชาวมุสลิมทั่วประเทศ เรื่องการดูแลสุขภาพช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ทั้งมื้อเช้าและมื้อเย็น เริ่มด้วยอาหารที่ย่อยง่ายเพื่อให้กระเพาะได้ปรับตัว รวมถึงหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มากเกินไป ไขมันสูง รสหวานจัด รสเค็มเกินไป เพราะจะทำให้กระหายน้ำระหว่างการถือศีลอดในตอนกลางวัน และหลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร อาจส่งผลให้เกิดกรดไหลย้อนได้ ควรเว้นอย่างน้อย 2 – 4 ชั่วโมง “ในนามกระทรวงศึกษาธิการ ขอส่งความปรารถนาดี และขอพรดุอาอ์ จากพระผู้อภิบาลของท่าน ได้โปรดอำนวยพรอันประเสริฐ ให้ท่านจุฬาราชมนตรี รวมถึงครู นักเรียน และผู้ปกครองชาวมุสลิมทั่วประเทศ จงประสบแต่ความสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ตรงกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นอย่างสม่ำเสมอในเรื่อง“เรียนดี มีความสุข”เพื่อร่วมกันมีพลานามัยที่ดี มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่สมบูรณ์แข็งแรง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสันติสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป”รมว.ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล/ข่าว กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สป.ศธ.
7 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อห่วงใยถึงนักเรียนทุกคนในช่วงก่อนปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2566 โดยกล่าวว่าสัปดาห์นี้เป็นการสอบปลายภาคของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงปิดเทอมใหญ่ ที่นักเรียนจะได้พักผ่อนและทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ตนสนใจนอกโรงเรียน แต่ก็ยังมีกลุ่มนักเรียนที่ต้องเตรียมตัวสอบ A-Level เพื่อเตรียมพร้อมยื่นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งการสอบ A-Level มีความสำคัญมาก เพราะสอบ 1 ครั้งสามารถใช้คะแนนยื่นเข้ามหาลัยได้ 3 รอบ ได้แก่ รอบโควตา รอบ Admission และรอบรับตรงเก็บตกรอบสุดท้าย ที่สำคัญยังเป็นคะแนนสำหรับยื่นเข้าเรียนในสายแพทย์ด้วย กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดกิจกรรมเสริมความรู้นักเรียนระดับชั้น ม.6 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ (Applied Knowledge Level: A – LEVEL) มอบเป็นของขวัญความรู้ เทคนิคพิชิตข้อยากให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยติวเตอร์ระดับประเทศ ในวันที่ 11 – 14 มีนาคม 2567 ผ่าน OBEC Channel ทุกช่องทาง “กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในของขวัญที่ ศธ.มอบให้เยาวชนไทย น้อง ๆ ทุกคนสามารถเข้าเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้น้อง ๆ คลายความกังวลก่อนสอบ ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง และเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) รวมทั้งให้มีความมั่นใจในการทำข้อสอบมากขึ้น และขอให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของน้อง ๆ นำพาให้ก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จ สามารถเข้าเรียนต่อในเส้นทางที่ใฝ่ฝันได้ทุกคน” รมว.ศธ.กล่าว ในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา จะมีการสอบปลายภาคและปิดเทอมช่วงปลายเดือนมีนาคม ก็อยากฝากครูผู้สอนช่วยกันดูแลเด็ก ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีการศึกษานี้ ทั้งเรื่องของการเก็บคะแนน การเตรียมตัวสอบ รวมถึงเรื่องสุขอนามัยในโรงเรียน สุขภาพความแข็งแรงของนักเรียน โดยไม่อยากให้เด็ก ๆ ไม่สบายหรือเจ็บป่วยในช่วงสอบ เพราะอาจจะทำให้เสียโอกาสได้ สำหรับช่วงปิดภาคเรียนใหญ่ที่จะถึงนี้ เด็ก ๆ จะได้ใช้เวลาอยู่ที่บ้าน หรืออยู่นอกโรงเรียนมากขึ้น ก็ขอฝากพ่อแม่ผู้ปกครองหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ช่วงปิดเทอมให้ลูกทำ เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่อยากเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมในช่วงปิดเทอมก็จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะทางร่างกายและความคิด แต่ก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของเด็กด้วย เช่น อุบัติเหตุจากการตกน้ำ หรือจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กไทย ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าคลาดสายตา อย่าให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำ รวมถึงอุบัติเหตุจากยานพาหนะ สิ่งของล้มทับ สัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟดูด ไฟช๊อต เป็นต้น ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
6 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มวัยรุ่นที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนในตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เมื่อคืนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งในบ้านหลังดังกล่าว เป็นบ้านชั้นดียว มีผู้พักอาศัยเป็นผู้สูงอายุและผู้พิการ จำนวน 3 คน ได้แก่ พ่อ อายุ 80 ปี แม่ อายุ 75 ปี และลูกสาว อายุ 52 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงและพิการทางสายตา โดยขณะเกิดเหตุ ได้มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบ้านหลังดังกล่าวแล้วสังเกตเห็นกลุ่มควันไฟ จึงได้รีบเข้าไปช่วยเหลือคนในบ้านให้ออกมาพ้นตัวบ้านได้อย่างปลอดภัยในที่สุด ทั้งนี้ ในกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว มีนักเรียนของโรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งป็นโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา (การกุศลของวัด) ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 2 คน ได้แก่ เด็กชายกิตตินันท์ เกตุดี อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และนายจิรานุวัฒน์ จงสำราญ อายุ 19 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอขอบคุณและขอชื่นชมนักเรียนทั้ง 2 คน ที่เสี่ยงอันตรายในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยพิการ ให้รอดปลอดภัยจากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญและเสียสละเป็นอย่างยิ่ง เป็นคุณสมบัติของพลเมืองที่ดี มีคุณธรรม และจริยธรรม เชื่อมั่นว่านักเรียนกลุ่มนี้จะแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนคนอื่น ๆ และสามารถเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ กรมประชาสัมพันธ์ NBT CONNEXT ประชาสัมพันธ์ สช.