26 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์โรงงานพลุระเบิดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น ได้ติดตามสถานการณ์และสั่งการให้ สพฐ. ดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งเบื้องต้นได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับนักเรียนทุกคนที่ได้รับผลกระทบ สำหรับการดูแลในระยะต่อไปคือให้โรงเรียนพิจารณาการยกเว้นค่าบำรุงการศึกษา พร้อมจัดหาทุนการศึกษา และจัดครูที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ได้มอบหมายนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนดูแลสภาพจิตใจ พร้อมตั้งกลุ่มไลน์สำหรับดูแลนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน นักจิตวิทยาของสาธารณสุข ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. เข้าร่วมด้วย และวางแผนติดตามนักเรียนเป็นระยะ ส่วนในกรณีนักเรียนที่ผู้ปกครองเสียชีวิต ไม่มีผู้ดูแลและต้องการไปศึกษาที่โรงเรียนประจำ จะประสานและดำเนินการติดต่อกับทางโรงเรียนให้ พร้อมกันนั้น สพม.สุพรรณบุรี จะแจ้งประชาสัมพันธ์ขอรับบริจาคช่วยเหลือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต รวมถึงโรงเรียน ครูและบุคลากรในสังกัด สพฐ. ทุกแห่ง ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการเช่นไร ขอให้รายงาน รมว.ศธ. ทราบในทันที จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับครู นักเรียน และบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการในหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อุบัติเหตุจากการจราจร เหตุการณ์ไฟไหม้ เหตุการณ์ความวุ่นวายจากพฤติกรรมก้าวร้าว นักเรียนจมน้ำเสียชีวิต จนถึงเหตุการณ์ครูผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายขณะอยู่เวร ดังนั้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงขอความร่วมมือผู้บริหารหน่วยงานและบุคลากรทุกท่าน ร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องในทุกภาคส่วน ในการให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษาและสถานศึกษา เพื่อให้บุคลากรกระทรวงศึกษาธิการได้รับการดูแลช่วยเหลือและเยียวยาได้ทันสถานการณ์ เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าในบางสถานการณ์อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เหตุการณ์ภัยพิบัติ อุบัติเหตุต่าง ๆ ก็ขอให้วางแผนการดำเนินงานหรือแผนเผชิญเหตุด้วยความรอบคอบ โดยการร่วมมือและบูรณาการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน นำไปสู่เป้าหมายเรียนดี มีความสุข อย่างยั่งยืนต่อไป ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
25 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อห่วงใยในประเด็นน้ำกระท่อมระบาดในสถานศึกษา และประเด็นผู้เรียนทำคอนเทนต์เชิงอนาจาร หรือถูกหลอกให้ทำโดยขาดวิจารณญาณแล้วนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบที่ผิด หวั่นจะเกิดปัญญาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ขอความร่วมมือจากครู ผู้ปกครองและทุกภาคส่วนร่วมกันเป็นหูเป็นตา คอยแนะนำให้เยาวชนห่างไกลอบายมุข และทำคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ รมว.ศธ.เปิดเผยว่า ขณะนี้ “น้ำกระท่อม” ได้ระบาดมากขึ้นในสถานศึกษา และในปัจจุบันใบกระท่อมก็ได้หาซื้อง่าย จุดจำหน่ายก็ใกล้เคียงสถานศึกษามากขึ้นจนดูเป็นเรื่องปกติ ด้วยเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเปราะบาง บางเรื่องอาจจะยังไม่มีวิจารณญาณที่มากพอ สิ่งที่น่ากังวลคือเด็กอาจนำมาผสมกับสารเสพติดชนิดอื่น ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและหากใช้ในชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลานานอาจทำลายประสาทจนส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ ฝากถึงศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด เน้นย้ำสถานศึกษาในพื้นที่ดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวด กำหนดระเบียบกฎเกณฑ์เป็นข้อห้ามข้อบังคับได้เลยยิ่งดี ในการห้ามการดื่มน้ำต้มใบกระท่อมในสถานศึกษา รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้เรียนอย่างเร่งด่วนว่า “น้ำกระท่อมเป็นสิ่งเสพติด” อาจทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่ครูผู้สอน เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้เรียนถึงพิษภัยของกระท่อมไม่ต่างจากสารเสพติดชนิดอื่นที่รุนแรง สำหรับอีกเรื่องที่น่าห่วงใยไม่แพ้กันคือประเด็นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมีข่าวในกระแสโซเชียลเรื่อง ครีเอเตอร์นำเด็กสาวอายุ 16 ปี ร่วมประเวณีและกระทำอนาจาร โดยทำการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวแบบไม่ปิดบังใบหน้า แล้วส่งต่อกลุ่มลับในแพลตฟอร์มออนไลน์ X (Twitter) และ OnlyFans เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการขายสื่อลามกเด็ก โดยที่เด็กไม่รู้ว่าคลิปของตนถูกนำเอาไปขายในโลกออนไลน์ ซึ่งยังมีอีกหลายกรณีที่ถูกกระทำเช่นเดียวกัน บางครั้งยังมีการนำเงินมาจูงใจเด็กด้วย และความที่เด็กยังขาดวุฒิภาวะและวิจารณญาณที่มากพอว่าสิ่งที่ทำถูกหรือผิด หรือไม่ได้คิดไตร่ตรองถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบคอบ อาจแค่คิดว่าทำสิ่งง่าย ๆ แล้วได้เงินมา แต่ภาพลามกอนาจารจะอยู่ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็วเกิดคาด จากประเด็นข้างต้นอยากฝากถึงครูและผู้ปกครอง ให้คอยสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน คอยพูดคุยให้คำปรึกษาอย่างอบอุ่นเสมอ เพราะหากเด็กไม่ได้รับการใส่ใจที่มากพออาจหาที่พึ่งทางใจในทางที่ผิดก็เป็นได้ ที่สำคัญควรสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียนถึงเรื่องการทำคอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์ เพราะหากทำออกมาได้น่าสนใจก็เกิดรายได้ด้วยเช่นกัน และยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนเยาวชนได้ทำตามในทางที่ดีอีกด้วย หากครู ผู้ปกครอง และเพื่อนของผู้เรียนร่วมกันแนะนำในทางที่ดี คอยป้องปรามไม่ให้เด็กหลงผิดและตัดไฟแต่ต้นลม ก็จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดเช่นนี้ลดน้อยลง ทั้งนี้ หากหากพบการกระทำดังกล่าวสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ทันทีที่ “ศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ” (MOE Safety Center) 4 ช่องทาง ดังนี้ แอปพลิเคชัน MOE Safety Center, เว็บไซต์http://www.MOESafetyCenter.com, LINE @MOESafetyCenter และ Call Center 0-2126-6565 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลและเร่งประสานงานช่วยเหลือตลอดเวลา มาร่วมกันทำสถานศึกษาสีขาวให้เป็นพื้นที่ปลอดอบายมุข คอยเฝ้าระวังการใช้สารเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมทั้งปลอดความรุนแรง การกลั่นแกล้งกันทั้งในและนอกสถานศึกษา สร้างค่านิยม และความตระหนักรู้ให้ลูกหลานของเรา และร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงมาตรการเชิงรุกโดยทั่วกันทุกพื้นที่ เพราะผู้เรียนคือทรัพยากรสำคัญที่จะเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมในอนาคต ศธ. จึงต้องร่วมมือในการกำจัดปัญหาที่กระทบต่อการศึกษา ต้องดูแลทุกมิติ พบพร ผดุงพล / ข่าว อานนท์ วิชานนท์ / กราฟิก
24 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมปาฐกถาพิเศษในงาน Thailand 2024 The Great Challenges เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายขยายโอกาส ในหัวข้อ “แม่น้ำ 4 สาย ขยายโอกาสคนไทย” โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเวที และมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องอินฟินิตี้ 1-2 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) รมว.ศธ.กล่าวในโอกาสปาฐกถาพิเศษว่า ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งก็ได้รับรู้ถึงปัญหามาโดยตลอด และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เรียนรู้ว่าควรจะทำอะไร ซึ่งได้เล็งเห็นว่าควรทำการศึกษาให้เท่าเทียมกัน เป็นแนวทางที่เฉลี่ยความสุขหรือการกระจายทรัพยากรที่มีร่วมกัน นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ต้องเริ่มจากมีความสุขก่อน ยิ่งโลกเปลี่ยนไปความสนใจของเด็กและเยาวชนก็เปลี่ยนไปตาม วิธีการสอนหรือสื่อการสอนของ ครูและบุคลากรทางการศึกษาประเทศเราต้องปรับเปลี่ยนในการดำเนินการด้วย สิ่งที่เป็นผลงานที่ชัดเจน ณ เวลานี้คือการ “ยกเลิกครูเวร” ตามมติ ครม. ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้เล็งเห็นถึงภาระของครู เพราะการไปอยู่เวรอาจป้องกันทรัพย์สินได้แต่ยังคงมีความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายอยู่ การยกเลิกครูเวรจะทำให้ลดความเสี่ยงในการสูญเสียบุคลากรที่มีประโยชน์ต่อประเทศได้ เป็นการลดภาระในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้ครูสามารถมีเวลาทั้งการพัฒนาตัวเองและเอาใจใส่นักเรียนให้บรรลุผล ทั้งเรียนดีและมีความสุขมากขึ้น และในตอนนี้จะมุ่งผลไปในทางลดภาระครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนทุกด้านให้มากที่สุด ส่วนในด้านนโยบายการศึกษาเพื่อคุณภาพชีวิตและด้านทักษะต่าง ๆ เรามีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ซึ่งนโยบายเรียนดีมีความสุขของเราแบ่งเป็นสองด้าน คือการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศกับการศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิต บวกด้วยนโยบาย “ครูคืนถิ่น” เมื่อครูได้ย้ายกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวก็จะมีความสุข ได้สอนอย่างมีความสุข ลดภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงการแก้ไขหนี้สินครูที่เป็นการลดภาระด้วยเช่นกัน ส่วนการลดภาระของนักเรียนและผู้ปกครองคือการทำแพลตฟอร์ม “Anywhere Anytime” ขึ้นมา ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสสามารถเรียนผ่านช่องทางนี้เพื่อสอบเทียบได้ และยังมีนโยบาย “Learn to Earn” ที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ด้านของอาชีวะมีการทำทวิภาคีในการเรียนด้วยและไปฝึกงานในสถานประกอบการ จะเป็นการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายของนักเรียนและผู้ปกครอง เช่นเดียวกันกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ก็จะมาซ้ำเสริมในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเรียนในระบบปกติ สามารถเรียนนอกระบบโดยผ่าน สกร. ที่เป็นกระบวนการฝึกอาชีพ สามารถเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย ซึ่งการเรียนรูปแบบนี้ไม่ใช่เป็นการซ้ำซ้อนแต่เป็นการซ้ำเสริมมากกว่า เรียนแล้วไม่สูญเปล่าต้องมีงานทำ สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำในตอนนี้คือปลูกฝังให้เด็กมีความรักชาติ สามัคคี ความจงรักภักดีต่อสถาบัน ศธ.จึงได้ทำ MOU ร่วมกับ 4 หน่วยงานใหญ่ และเพิ่มความเข้มข้นในหลักสูตรประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง เพื่อทำให้เยาวชนเติบโตเป็นคนดีในอนาคต และปัจจุบันการสอนประวัติศาสตร์ไม่ใช่ท่องจำอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ควบคู่กันไปด้วย ที่สำคัญคุณครูต้องมีทักษะในการสอนที่สนุกจะดึงดูดให้เด็กความสนใจในวิชานี้มากขึ้น สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญคือทิศทางการดำเนินการของ ศธ. ที่จะเป็นไปตามความต้องการของประชาชนของชุมชน และเราพยายามทำโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพทั้งหมด วันนี้มีนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ซึ่งในแต่ละอำเภออาจจะมีมากกว่าหนึ่งโรงเรียนก็ได้ถ้ามีความพร้อม และจะส่งเสริมโรงเรียนละแวกใกล้เคียงแนะแนวเด็กมาเรียน โดยมีการจัดสรรค่าเดินทาง พร้อมสนับสนุนหากผู้เรียนสนใจจะเข้ามาเรียน เพราะเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ศธ.จึงสร้างนโยบายเพื่อตอบโจทย์ความสุขของผู้เรียนให้ได้มากที่สุด “แนวความคิดของผมคือ ถ้ามีความสุข การเรียนก็จะดีขึ้น เพราะการมีความสุขสร้างการอยากเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการจะทำให้การศึกษาก้าวไกลไปไม่แพ้คนชาติใดในโลก จนเกิดเป็นหลักประกันอนาคตในวันข้างหน้าอย่างยั่งยืน”รมว.ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล / ข่าว พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ อานนท์ วิชานนท์ / กราฟิก
รมว.ศธ. “พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ” ลงพื้นที่ตรวจราชการ และติดตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่จังหวัดระนอง รวมทั้งตรวจเยี่ยมหน่วยงาน/สถานศึกษา และมอบแนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย ศธ. ที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง 22 มกราคม 2567 /พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดระนอง เพื่อตรวจราชการและติดตามนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2567 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายธฤติ ประสานสอน รักษาราชการแทนรองเลขาธิการ สกศ., รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช. ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง ศธ. ร่วมคณะ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและการจัดการเรียนการสอนของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมมอบอุปกรณ์การเรียน – กีฬาให้แก่ให้เยาวชน และมอบเครื่องอุปโภค บริโภคแก่ผู้สูงอายุ รวม 300 ชุด ในกิจกรรม “ศธ.-สกร.ส่งความสุข เรียนดีมีความสุข จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ณ สกร.อำเภอกระบุรี จ.ระนอง รมว.ศธ.กล่าวชื่นชมการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งได้มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ-เอกชนในพื้นที่ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจ ในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาเป็นอย่างดี ฝากถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ มาใช้เป็นต้นแบบในการจัดการศึกษา การส่งเสริมกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพให้กับนักเรียน การส่งเสริมกิจกรรมการอ่าน การตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาการเรียนรู้ของคนในชุมชน นอกจากนี้ ขอความร่วมมือข้าราชการทุกคน ทุกสังกัด ที่มีจิตอาสา มาเป็น “ครูอาสา” ให้กับ สกร. ในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับผู้เรียนได้มากขึ้น และขอย้ำผู้บริหาร สกร.ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน โดยผู้เรียนต้องเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากต้นจาก” ณ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 97 (บ้านบางบอน) อ.กระบุรี จ.ระนอง รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอชื่นชมโรงเรียนที่ได้นำนโยบายของ ศธ. มาสู่การปฏิบัติ เป็นนโยบาย “ลูกเมืองนอง อ่านเขียน เรียนดี มีความสุข” เป็นแนวทางในการดำเนินงาน สิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ขอให้ผู้นำหน่วยงานเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ทะเลชายฝั่ง ตลอดจนการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ทางทะเลและมหาสมุทร และผลประโยชน์ของชาติทางทะเลไปสู่การเรียนการสอนในสถานศึกษา บูรณาการการทำงานและจัดการเรียนการสอนร่วมกับชุมชน ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงประชาชนในพื้นที่ สิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้คือ สร้างความตระหนักรู้แก่เด็กและเยาวชน ให้รู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรทางธรรมชาติทางทะเล ปลูกฝัง สร้างความหวงแหน สร้างชุมชนเข้มแข็งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าชายเลน และระบบนิเวศ ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพของเด็กนักเรียนโดยการนำวัสดุจากธรรมชาติมาสร้างผลิตภัณฑ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานไม่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมและเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดการเรียนการสอน การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้จากอดีต เพื่อนำมาพัฒนาปัจจุบันและต่อยอดไปยังอนาคต สุดท้ายนี้ขอให้ผู้บริหาร คณะครูทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ยึดถือผลประโยชน์ของชาติ เด็กและเยาวชนของประเทศ เยี่ยมชมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การแสดงผลงาน ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย รมว.ศธ. พร้อมมอบนโยบายส่วนราชการทางการศึกษา ภาคีเครือข่าย ผู้บริหาร คณะครูฯ ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ณ วิทยาลัยเทคนิคระนอง อ.เมืองระนอง รมว.ศธ.กล่าวว่า ชื่นชมการบริหารงาน และการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐภาคเอกชน มิติใหม่ของการทำงานร่วมกันของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาของจังหวัดเป็นอย่างดี หลักการทำงานของรัฐมนตรีคือ “อริยสัจ 4” เมื่อมีปัญหาก็ต้องมีวิธีการและกระบวนการในการแก้ไขปัญหา ต้องทบทวนวิชาการและความรู้ที่ทันสมัย ดังเช่นเรื่องงบประมาณในการดำเนินงาน เรื่องของการวางแผนการใช้จ่าย เรื่องงบลงทุน ให้มีประสิทธิภาพ “กระแสสังคมทั้งในเรื่องผลการประเมิน PISA เรื่องการประเมินทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย รวมทั้งข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ขอให้ทุกภาคส่วนในสังกัดร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาและทบทวนหลักสูตร พัฒนาเทคนิคการสอน รวมถึงการสร้างความท้าทายใหม่ ๆ และสร้างแรงจูงใจในการสอนและการเรียนรู้ บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐภาคเอกชน ในการร่วมมือกันทำทวิภาคี เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาประชาชนที่มีงานและอาชีพ ได้เพิ่มวุฒิการศึกษาและสามารถเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปจบไปมีงานทำ” ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันเดียวกัน รมว.ศธ. และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่จังหวัดชุมพร ติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ณ โรงเรียนอนุบาลปะทิว (บางสนพิพิธราษฎร์บำรุง) อ.ปะทิว...
18 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทีย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom meeting ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน โดยได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน และมอบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนปรับแก้ร่างคำสั่งตามข้อสังเกตของที่ประชุม จัดทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยจะนำข้อสังเกตและความคิดเห็นของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ 7 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ข้อมูลจำนวนโรงเรียนเอกชน ประจำเดือนมกราคม 2567 การควบคุมกิจการของวิทยาลัยเทคโนโลยีชัยนาท จังหวัดชัยนาท และวิทยาลัยเทคโนโลยีเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง รายงานการเตรียมการจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี 2567 รายงานการออกระเบียบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน พ.ศ. 2566 รายงานการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ผลสถานะกองทุนสงเคราะห์ ประชาสัมพันธ์ สช. / ภาพ-ข่าว
18 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., พล.อ.อภิชาติ อุ่นอ่อน ประธานคณะทำงาน รมว.ศธ. ฝ่ายอำนวยการ และคณะ ตรวจเยี่ยมกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยมี นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการ ศธ. รักษาราชการแทนอธิบดี สกร. ว่าที่ร้อยเอก วิสาร ปัญญชุณห์ รองอธิบดีสกร. พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบกล่าวว่า การตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ เพื่อรับทราบภารกิจ การดำเนินงานของ สกร. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสำคัญในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณวุฒิตามระดับ อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนด้านการสอบเทียบ ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และจำเป็นต้องมีมาตรฐานการศึกษาที่มีความชัดเจนอีกด้วย ฝากเน้นย้ำการดำเนินงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครอง อีกทั้งการปฏิบัติงานประจำควรคำนึงถึงความถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด รวมทั้งการพัฒนาการเรียนการสอน และแพลตฟอร์ม ให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และฝากแนวทางในการปฏิบัติงานในเรื่อง Upskill Reskill เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง และนำมาปรับใช้กับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ นายธนากร ดอนเหนือได้รายงานผลการดำเนินงาน ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ อีกทั้งยังได้กล่าวถึงนโยบายที่ รมว.ศธ. ได้สั่งการไว้ โดย สกร. พร้อมขับเคลื่อนตามนโยบายเร่งด่วนและข้อสั่งการของ รมว.ศธ. โดยเฉพาะเรื่องการสอบเทียบ และหลักสูตรการจัดการศึกษา โดยจะดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ จากนั้น รมว.ศธ. และคณะ ได้เดินตรวจเยี่ยมหน่วยงานต่าง ๆ ในกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมทั้งให้กำลังใจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในครั้งนี้อีกด้วย กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ข้อมูล/ภาพ
17 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) โดยนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร พนักงานให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมเทพหัสดิน ชั้น 1 อาคาร สกสค. และผ่านระบบ Zoom Meeting ร่วมกับสำนักงาน สกสค.จังหวัดทั่วประเทศ รมว.ศธ.กล่าวว่า วันนี้เป็นการมอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ที่เน้นในเรื่องของการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้เรียนและผู้ปกครอง รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ต้องผลิตให้ตรงกับผู้ใช้ สวัสดิการต่าง ๆ และเรื่องของ ช.พ.ค.-ช.พ.ส. ที่อยากให้เพิ่มฐานของผู้ที่เป็นสมาชิกให้ได้มากที่สุด ยกระดับบัตรสมาชิกให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด และผลักดันในเรื่องแอปพลิเคชันให้สะดวกใช้งานง่าย โปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อรับผลตอบแทนในการใช้เป็นส่วนลดสินค้าและบริการ เพราะผู้ที่เป็นสมาชิกต้องได้ใช้สิทธิและสวัสดิการที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ปัจจุบันภารกิจของ ศธ. ค่อนข้างเยอะและหลากหลาย ที่ผ่านมาผู้บริหารได้ดำเนินการขับเคลื่อนทำอะไรใหม่เพิ่มขึ้น เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ สอดรับกับนโยบาย “ทำดี ทำได้ ทำทันที” และยิ่งผู้บริหารมีวิธีคิดและมุมมองนอกกรอบการบริหารงาน ก็จะได้เห็นมุมมองใหม่ จึงควรทำรูปแบบให้ออกมาเป็นระบบในงานสวัสดิการดิจิทัล ซึ่ง สกสค. ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแก้ไขหนี้สินครูด้วย และในส่วนของโรงพยาบาลครูก็ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดี ทำแผนบริหารจัดการให้ดี ปรับใช้อุปกรณ์ให้ทันสมัย เป็นมืออาชีพที่คิดออกนอกกรอบ ตอบสนองยุคปัจจุบัน ด้วยวัตถุประสงค์หลักของเราคือดูแลสวัสดิการที่ดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษา บริหารต้นทุนให้คุ้มค่าโดยการเพิ่มศักยภาพของคนในองค์กร สร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ ตื่นตัวในการทำงานและเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยลดขั้นตอนลดภาระงานทุกฝ่าย ที่สำคัญทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต้องร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินการ ซึ่งแนวทางที่อยากฝากไว้ในการทำงานคือสาม ท. “ทำดี ทำได้ ทำทันที” และ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมองค์กรเป็นหลัก และสร้างการรับรู้ให้เข้าถึงอย่างสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้การมอบนโยบายในครั้งนี้เกิดประโยชน์สูงสุด พบพร ผดุงพล / ข่าว นัทสร ทองกำเหนิด / ภาพ
16 มกราคม 2566 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ “คุรุสดุดี” ประจำปี 2566 ในงานวันครู ครั้งที่ 68 พ.ศ. 2567 แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติคุณและส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ประจำปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 956 คนณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา ภาพเพิ่มเติมhttps://www.facebook.com/MOE360degree/ รมว.ศธ.กล่าวว่า การที่ทุกคนได้รับรางวัล “คุรุสดุดี” ในวันนี้ ย่อมสะท้อนได้ว่าได้ทำดีจนเป็นที่ยอมรับ ขอให้รักษาและพัฒนาคุณความดีนั้นไว้ให้ยั่งยืนนานมากที่สุด นั่นคือการทําหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้เรียนให้พัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเทคโนโลยีในทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและล้ำสมัย ผู้คนในยุคใหม่จึงต้องเรียนตลอดเวลา ครูต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและคอยแนะนําแนวทางการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผู้เรียนอย่างเข้าใจ พร้อมที่จะทุ่มเทวิชาความรู้ด้วยวิธีการสมัยใหม่ตามธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง “ฝากถึงผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ขอให้ทุกท่านรักษาความดีความเป็นตัวตนของท่าน เปรียบเสมือนเป็นทองแท้ Anywhere และประพฤติตนเป็นตัวอย่างให้เพื่อนครู Anytime แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาไปอย่างมาก ความสามารถของครูอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แต่สิ่งที่ครูสามารถที่จะบอกผู้เรียนได้ว่าข้อมูลใดสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตจริง และสิ่งใดที่จะหาไม่ได้จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ ศีลธรรม คุณธรรม ที่ครูผู้สอนถ่ายทอดให้ผู้เรียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอันจะถูกพัฒนาไปพร้อมกับสติปัญญา เพื่อให้ความรู้แก่อนาคตของชาติอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ขอให้นำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในอดีต มารวมกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อที่จะไปถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชน ให้มีการตื่นรู้ ทันต่อโลก ขอฝากแนวทางนี้ให้ครูทุกท่านนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป” การจัดงานวันครูปีนี้ ได้กำหนดหัวข้อว่า “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” จากหัวข้อนี้ พวกเราในที่นี้ต่างต้องตระหนักถึงความสำคัญของตัวเองได้ว่า ทุกคนคือผู้ที่เป็นจุดเริ่มต้นของคุณภาพการศึกษา เป็นครูดีที่สอนดี ก็จะส่งผลไปที่ศิษย์ดีและเรียนดี ผลลัพธ์คือความสุขจะเกิดขึ้นแก่ทั้งครูและศิษย์ รวมถึงผู้ปกครอง เมื่อทุกฝ่ายต่างมีความสุข ก็จะสะท้อนไปถึงการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ด้วยเพราะครูต้องเป็นผู้สร้างศิษย์ สร้างตัวเอง และสร้างศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ การสร้างอนาคตของชาติ ครูจะต้องเป็นผู้สร้าง ต้องพัฒนาทักษะความเป็นครูให้เปี่ยมพร้อมยังผลไปยังศิษย์ เพื่อคุณภาพการศึกษาที่เข้มข้นยิ่งขึ้นไป “ขอบคุณสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ขึ้น เพื่อทำให้วิชาชีพครูเป็นที่รับรู้และได้รับการยกย่อง และยังเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนเกิดความตระหนักถึงความกตัญญูรู้คุณต่อครู ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ และขัดเกลาศิษย์ สร้างประชากรที่มีคุณภาพให้กับประเทศชาติ ขอแสดงความยินดีกับเกียรติและความสำเร็จที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้รับในวันนี้ ขอให้ประสบแต่ความสุข สวัสดี มีพลังกาย ใจ และสติปัญญาที่สมบูรณ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียน การศึกษา และวิชาชีพให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ได้รับการยอมรับสืบไป“ ในการนี้ มีผู้เข้ารับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติคุรุสดุดี ประจำปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 956 คน ประกอบด้วยครู 546 คน ผู้บริหารสถานศึกษา 219 คน ผู้บริหารการศึกษา 86 คน และศึกษานิเทศก์ 108 คน ซึ่งการจัดงานในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโอกาสวันครูครั้งที่ 68 พร้อมมีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” โดย รองศาสตราจารย์กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว คุรุสภา / ภาพ
มติคณะรัฐมนตรี (16 มกราคม 2567) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,600,000 ล้านบาท โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ประกอบด้วยประมาณการรายจ่าย ดังต่อไปนี้ รายจ่ายประจำจำนวน 2,713,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 180,873.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.14 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.38 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 72.78 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตั้งงบประมาณไว้ จำนวน 118,361.1 ล้านบาท) รายจ่ายลงทุนจำนวน 742,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 24,577.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.62 ของวงเงินงบประมาณรวม เท่ากับสัดส่วนต่องบประมาณของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จำนวน 144,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 25,680 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.70 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.00 ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.40 รายได้สุทธิจำนวน 2,887,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 งบประมาณขาดดุลจำนวน 713,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.89 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.56 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.64 เห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีขั้นตอนและกิจกรรม ดังนี้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระที่ 1 ในวันที่ 5-6 มิถุนายน 2567 สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระที่ 2-3 ในวันที่ 28-29 สิงหาคม 2567 วุฒิสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวันที่ 9-10 กันยายน 2567 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันที่ 17 กันยายน 2567 เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
16 มกราคม 2567 – นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันครู ครั้งที่ 68 ประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ภายใต้แนวคิด “ครูดีสอนดี ศิษย์ดีเรียนดี มีความสุข” พร้อมมอบรางวัลต่อหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโล่รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ และเข็มคุรุสภาสดุดีพร้อมเกียรติบัตร รางวัลคุรุสภา “ระดับดี” โดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวคำปราศรัย ณ หอประชุมคุรุสภา นายอนุทินกล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับคุณครูที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของความทุ่มเทและอุตสาหะจนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ วันนี้มีโอกาสได้มาร่วมแสดงมุทิตาจิตและให้กำลังใจกับบรรดาครูทั้งหลาย ที่สั่งสอนลูกศิษย์ให้ช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง เติบโตเป็นคนดีและเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและส่วนรวม บทบาทของครูในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งตรงกับคำขวัญวันครูที่นายกรัฐมนตรีได้มอบไว้ว่า “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์” เพราะความรู้ใหม่นั้นสามารถเพิ่มเติมได้เองตลอดชีวิต แต่ครูจะต้องวางรากฐานทางความคิด ให้แรงบันดาลใจ และให้วิธีการที่ลูกศิษย์จะสามารถต่อยอดได้ สิ่งที่อยากฝากถึงคณะครูอาจารย์ในยุคสมัยปัจจุบันคือ อยากให้พยายามปรับการสอนตามเทคโนโลยี แต่คงรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่ดีของไทยให้มากที่สุด จะทำให้เด็กได้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันเด็กก็ยังไม่ลืมวัฒนธรรมประเพณีที่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย จากการดำเนินงานที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหาร ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อปรับปรุงสวัสดิการและลดภาระของเรื่องต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับครูและผู้เรียน ถือเป็นภารกิจสำคัญในเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครู รวมถึงปัญหาด้านหนี้สินครู ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้รับโจทย์และพยายามที่จะทำให้ภาระทางการเงินลดลงของครูมากที่สุด ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลเน้นย้ำในเรื่องให้ความสำคัญกับครูและผู้เรียนเป็นลำดับแรกอย่างแน่นอน รมว.ศธ.กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาในวันนี้ ขอชื่นชมผู้ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกยกย่องเชิดชูเกียรติ ที่เป็นครูและผู้บริหารที่ดีมาอย่างสม่ำเสมอ ขอให้มองเห็นผลแห่งการกระทำในตัวเองที่ได้มุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ตั้งใจพัฒนาเพื่อผู้เรียนและการศึกษา ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงการรวมพลังของพวกเราที่จับมือไว้แล้วไปด้วยกันสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ ในวันครูปีนี้ ศธ.ได้เตรียมของขวัญวันครู เพื่อที่จะมอบให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด เช่น การปรับหลักเกณฑ์และย้ายครูคืนถิ่น, การจัดระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Matching Syster:TMS) หลักสูตร E-learning 2 หลักสูตร, จัดเต็ม 8 หลักสูตร “เติมความรู้ ครูยุคใหม่ ก้าวไปด้วยกัน” ให้ครูโรงเรียนเอกชน เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา “Anywhere Anytime” และร่วมมือกับภาคเอกชน จัดอบรมหลักสูตร AIS academy และ หลักสูตรความปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ต และการจัดการ Google Workspace Admin ฟรี รวมถึงโครงการ “โลกสวย ตาใส ข้าราชการครูไทยไร้ต้อกระจก” การตรวจคัดกรองโรคต้อกระจกตาฟรีอีกด้วย ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธานในพิธีได้มอบรางวัลต่อหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังนี้ เข็มพระราชทานจารึกพระนามาภิไธยย่อ สธ แก่ผู้ได้รับรางวัลครูภาษาไทยดีเด่น จำนวน 3 คน โล่พระราชทานรางวัลคุรุสภา “ระดับดีเด่น” แก่ผู้ได้รับรางวัล จำนวน 9 คน เข็มคุรุสภาสดุดีและเกียรติบัตร รางวัลคุรุสภา “ระดับดี” แก่ผู้ได้รับรางวัล จำนวน 18 คน โล่รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ จำนวน 7 คน ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้มอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติของคุรุสภา และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ เข็มพระราชทานจารึกพระนามาภิไธยย่อ กว แก่ผู้ได้รับรางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น จำนวน 2 คน รางวัลของคุรุสภา ประจำปี 2566 จำนวน 4 รางวัล รวมจำนวน 63 คน รางวัลครูผู้สอนดีเด่น จำนวน 27 คน รางวัลผลงาน “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” จำนวน 23 คน รางวัลผลงานวิจัยของคุรุสภา จำนวน 5 คน รางวัล Next Generation Teacher Award 2023 จำนวน 8 คน รางวัลพระพฤหัสบดี ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 10 คน รางวัล “ครูดีในดวงใจ” จำนวน 37 คน โดย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา...
16 มกราคม 2567 กระทรวงศึกษาธิการ / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับมอบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และวิดีทัศน์ออนไลน์ ชุด “อิ่มปัญญา” ภายใต้โครงการ “46 เมนูอาหารไทยสร้างสุข” จากสถาบันการอาหารไทยทีซีเอ Thai Cuisine Academy โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร ร่วมกับพันธมิตร บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย กะทิอร่อยดี และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยรวบรวมเนื้อหาตำรับอาหารไทยพร้อมวิธีการปรุงประกอบอาหาร จำนวน 46 ตำรับ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ด้านสาขาอาหาร และการพัฒนาการศึกษาด้านอาหารให้กับครู บุคลากรในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเป็นการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีพด้านอาหารไทยของประชาชน ผ่านสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวว่า ชุด “อิ่มปัญญา” เป็นสื่อพัฒนาทักษะชีวิตและวิชาชีพ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ผู้เรียนและผู้สนใจสามารถเข้าศึกษาองค์ความรู้ได้ทุกสถานที่ทุกเวลา ตามนโยบาย Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งเรื่องของอาหารก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศทั้งในมิติสุขภาวะ และมิติทางเศรษฐกิจ ประกอบกับในปี 2566 ถึง 2569 รัฐบาลพยายามผลักดันอุตสาหกรรมอาหารทั้งในรูปแบบสินค้า การบริการ ผ่านเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่ รู้จักในนามซอฟต์พาวเวอร์ การจัดทำเครื่องมือดังกล่าวนอกจากจะเป็นการส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาอาหารไทย ยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยในระดับประชาชนอีกด้วย สำหรับ ชุด “อิ่มปัญญา” จัดทำขึ้นมาใน 2 รูปแบบ คือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book และสื่อการเรียนรู้แบบดิจิทัล หรือ E-Learning เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนผู้สนใจ ทั้งในการนำไปปรุงประกอบอาหารเพื่อ รับประทาน นำไปเป็นแหล่งข้อมูลค้นคว้า หรือ นำไปประกอบวิชาชีพ อ่าน E-Book อิ่มปัญญา คลิ๊ก https://online.pubhtml5.com/asqu/vxow/ ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว พบพร ผดุงพล / ภาพ
15 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมมอบนโยบายการทำงาน “เรียนดี มีความสุข” เพื่อลดภาระครูและบุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง ด้วยแนวทางการทำงาน “ทำดี ทำได้ ทำทันที” และเดินสำรวจบรรยากาศในสถานที่ทำงาน และให้กำลังใจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช นายพัฒนะ พัฒนทวีดล นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. ผู้บริหารทุกระดับให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 4 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และYouTube OBEC Channel รมว.ศธ.กล่าวว่า การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการนั้น จะสำเร็จไปได้ก็ด้วยความร่วมมือของทุกคน สพฐ. ก็ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญยิ่ง ที่จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการศึกษา เพื่อพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพและมีคุณค่า สร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากมาโรงเรียน ร่วมกันแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ และการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ต้องสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา “Anywhere Anytime” ตลอดการดำรงตำแหน่ง รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำนโยบายหลักคือ “เรียนดี มีความสุข” โดยมีเป้าหมายในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งการมอบนโยบายในวันนี้ สพฐ. ได้นำเสนอผลงานที่ผ่านมา เป็นที่น่าชื่นชม อาทิ การลดภาระครูทั้งในเรื่องการประเมินวิทยฐานะ การพัฒนาระบบจับคู่ครูคืนถิ่น Teacher Matching System (TMS) การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่นำงานธุรการมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำแทน เป็นที่น่าพอใจและทำได้ดี ตลอดจนการดำเนินการโครงการการเรียนการสอนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่สร้าง 183 โรงเรียน DLTV ต้นแบบ Best of the Best ให้เป็นเครือข่ายโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง สร้างโอกาสทางการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ ทั้งนี้ ได้กำชับให้เข้มงวดเรื่องการทุจริต โดยเฉพาะเรื่องอาหารกลางวันนักเรียนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จ.แม่ฮ่องสอน ที่เมนูอาหารกลางวันเป็นไข่ต้มกับน้ำปลา ซึ่งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยตนต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์เป็นโรงเรียนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาของสังคม ครูสละเวลาและอุทิศตนทำงานอย่างหนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่อยากให้เหมารวม เพราะโรงเรียนราชประชานุเคราะห์อีกหลายแห่งบริหารจัดการตัวเองได้เป็นอย่างดี สำหรับการจัดทำการประเมินผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาด้วยรูปแบบใหม่นั้น ต้องการให้ผู้รับการประเมินเป็นผู้บอกเองว่าทำอะไรได้แบบไหน เพราะต้องยอมรับว่าทรัพยากรด้านงบประมาณและงานบุคคลต่าง ๆ แตกต่างกันตามบริบทแต่ละพื้นที่ ผู้รับการประเมินต้องรู้ตัวดีว่ามีศักยภาพทำได้มากน้อยแค่ไหน “ชื่นชมบุคลากรของ สพฐ. ที่ได้มีการขับเคลื่อนงานและนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอฝากให้บุคลากรทุกท่านปฏิบัติงานด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด นึกถึงประโยชน์ขององค์กร ประโยชน์ของส่วนรวม ประโยชน์ของ ศธ.เป็นหลัก อะไรที่ดีมีประโยชน์ก็ขอให้แนะนำมาได้ เพราะแนวคิดของทุกคนจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา ตนเชื่อมั่นเสมอว่าหากครูมีความสุขจะทำให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น สุดท้ายหลังจบการประชุมฝากให้ผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับทำแบบสอบถามและนำข้อแนะนำกลับมาให้ผมพิจารณา เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ณัฐพล สุกไทย/ ภาพ
12 มกราคม 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พลเอก อภิชาติ อุ่นอ่อน ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา (สอศ.) พร้อมมอบนโยบายการทำงาน “เรียนดี มีความสุข” แนวทางการทำงาน “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” และเดินสำรวจบรรยากาศในสถานที่ทำงาน และให้กำลังใจข้าราชการและเจ้าหน้าที่ โดยมี นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ นายวิทวัต ปัญจมะวัต นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ กอศ. นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. ผู้อำนวยการสำนัก ข้าราชการและบุคลากร ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เป็นสิ่งสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา จึงอยากเน้นย้ำในด้านการเรียนระบบทวิภาคี พัฒนาหลักสูตร EV ของอาชีวะให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานโลก ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายและทันสมัย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะได้เท่าทันเทคโนโลยีในปัจจุบัน การเรียนรู้ในการใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย หรือนวัตกรรมใหม่ในสถานประกอบการที่มีความพร้อม ทันสมัย ลงมือปฏิบัติได้จริงเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเราในฐานะหน่วยงานราชการเวลาขอจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์เครื่องมือต้องใช้เวลา บางทีกว่าจะได้มาต้องใช้เวลาอาจมีความล้าสมัยไปแล้ว จึงต้องพึ่งพากับสถานประกอบการเพื่อเอื้อเฟื้อกันในเรื่องนี้ ทั้งนี้ สอศ. ถือเป็นเป็นแรงสำคัญในการสร้างงานทั้งในและนอกประเทศสิ่งที่คาดหวังคือ การขับเคลื่อนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตเกษตรกรไทย สามารถพัฒนา และนำมาประยุกต์ใช้ในวงการเกษตรของไทยให้ดีขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้ รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูลการรับบริจาค และอยากให้สถาบันอาชีวะทุกภาคส่วนสำรวจข้อมูลอุปกรณ์การเรียน การสอน หลักสูตร วิธีการสอน ให้ครอบคลุมทันสมัยตอบโจทย์โลกยุคใหม่ได้ เพื่อเป็นการลดภาระครู และยังเป็นการต่อยอดสร้างคุณภาพในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สำหรับหลักคิดในการดำเนินงาน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีดังนี้ ถูกต้อง : ตามหลักการจัดการเรียนการสอน รวดเร็ว : ทันต่อเหตุการณ์ คิดเร็ว ทำเร็ว ประโยชน์ : เป็นต่อประเทศชาติ องค์กร และตนเอง ประหยัด : คุ้มค่าอย่างยั่งยืน และแนวทางการทำงาน “ทำดี ทำได้ ทำทันที” พบพร ผดุงพล / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / ภาพ
13 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดโอกาสให้คณะสภานักเรียน โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นตัวแทนสภานักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูที่ปรึกษาและคณะทำงานกว่า 200 คน เข้าเยี่ยมคารวะรับโอวาท พร้อมนำเสนอข้อคิดเห็นจากแนวความคิดของเด็กในขอบเขตของกฎ กติกา ที่สามารถปฏิบัติได้ จากการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สัมมนาสภานักเรียนระดับประเทศ ประจำปี 2567 พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารฝ่ายการเมือง องค์กรหลัก หน่วยงานในกำกับ เข้าร่วม ณ เวทีกลางหน้าอาคารราชวัลลภ นายธนกฤต พิพัฒน์รัตนกุล ประธานสภานักเรียน สพฐ. ระดับประเทศ และคณะสภานักเรียนฯนำเสนอแนวคิดในการจัดการศึกษาของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน โดยการจัดการศึกษาควรคำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ มีการสร้างความเข้าใจและพัฒนาตามวิถีประชาธิปไตย ตามที่สภานักเรียนระดับประเทศ มีการระดมความคิดเห็นในเรื่องของวิถีประชาธิปไตยในบริบทของสถานศึกษา สังคม ชุมชน และประเทศชาติ จึงเสนอประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 การมีส่วนร่วมของสภานักเรียนในบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาเนื่องจากสภานักเรียนถือเป็นองค์กรหนึ่งในโรงเรียนที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษา และส่งเสริมการศึกษาในระบอบประชาธิปไตยผ่านกระบวนการจัดการของสภานักเรียน ขอเสนอ 3 เรื่อง คือ 1. ให้สภานักเรียนเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2. มีส่วนร่วมในการวางแผนและออกแบบการจัดการศึกษา และ 3. เข้าไปมีส่วนร่วมในการวัดผลและประเมินผลในการจัดการศึกษาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ฯ ประเด็นที่ 2 การรู้จักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นของตนเองอย่างลึกซึ้งขอเสนอใน 4 เรื่อง คือ 1. ขอส่งเสริมให้เพื่อนนักเรียนและคนในชุมชนตระหนักรู้ถึงประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง 2. ขอส่งเสริมให้เพื่อนนักเรียนและผู้คนในชุมชนศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งและสร้างสรรค์ 3. ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านโลกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และ 4. การให้คณะสภานักเรียน มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาประวัติศาสตร์ ประเด็นที่ 3 การรู้จักมารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนขอเสนอ 3 เรื่อง คือ 1. ขอรับการส่งเสริมให้มีโครงการงดใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน 2. สนับสนุนให้โรงเรียนนั้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาในการใช้โทรศัพท์ในเวลาเรียน และ 3. ขอส่งเสริมให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน ประเด็นที่ 4 การส่งเสริมแนวทางการป้องกันการบูลลี่ในสถานศึกษาขอเสนอ 4 เรื่อง คือ 1. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำประเด็นปัญหาการบูลลี่นำเข้ามติคณะรัฐมนตรีเพื่อออกกฎเกณฑ์ หรือร่างกฎหมายฯ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการบูลลี่ 2. จัดหาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยาประจำโรงเรียน เพื่ออบรมให้ความรู้และเยียวยาสภาพจิตใจนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ 3. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ ออกกฎหรือระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ ให้แก้ไขเรื่องของการบูลลี่ในสถานศึกษาอย่างเข้มงวด และ 4. มีโครงการในการรวบรวมผลของการบูลลี่ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบูลลี่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ จากนั้น รมว.ศธ.ให้โอวาท ตอนหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน และเน้นย้ำให้ รมว.ศธ. มาร่วมรับฟังทุกคนในวันนี้ ต้องขอบคุณคณะสภานักเรียนทุกคนที่ได้ร่วมแสดงความเห็น ถือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย กระทรวงศึกษาธิการเปิดโอกาสให้นักเรียนและประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ซึ่งประเด็นสำคัญใน 4 ประเด็น คือเรื่องการมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลหรือการสอบนั้น จะต้องมีการหารือผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนักเรียนเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการสอบ จึงอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการคิดหรือกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบอื่น เรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ควรที่จะเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน บุคคลสำคัญในท้องถิ่น หรือผู้มีความรู้โดยตรง เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ตรงตามประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นอกเหนือจากการศึกษาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ก็ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล อีกประการหนึ่งคือการเรียนรู้การดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาท ถือเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์จากบุคคลสำคัญของชาติ ส่วนการรักษามารยาทการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนนั้น ถือเป็นอีกปัญหาที่มีผลสะท้อนมากจากนักเรียน ในฐานะเยาวชนยุคใหม่ อยากให้ทุกคนร่วมกันเป็นแบบอย่างที่ดี ประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างมารยาทในการใช้โทรศัพท์ แต่ถ้าเกินกว่าจะดำเนินการได้ก็ต้องหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อ โดยในฐานะ รมว.ศธ. ไม่อยากให้มีการบังคับ หรือบังคับใช้กฎต่าง ๆ ในเรื่องนี้ แต่อยากให้ใช้วิถีของประชาธิปไตยมาดำเนินการ “ประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือการบูลลี่ในสถานศึกษา ก็ได้มีการเร่งรัดและให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา ขอฝากน้องสภานักเรียนช่วยดูแลน้อง ๆ คอยสอดส่อง ช่วยเหลือและประสานครู อาจารย์ ในการหาวิธีการแก้ไข ในส่วนของ ศธ. ก็จะเร่งดำเนินการในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป และขอฝากให้ทุกคนร่วมใจกันในการดำเนินงานต่าง ๆ ในโรงเรียนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ พี่ดูแลน้อง เพื่อนดูแลเพื่อน ดำเนินตามแนวทางประชาธิปไตย เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า เป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ