จังหวัดสงขลา, 17 กุมภาพันธ์ 2568 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนคุณภาพ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2568 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา) โดยมีนางสาวอัฐภรณ์ สุทธินวล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเทพชุมนุม คณะครูและนักเรียน ให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนวัดเทพชุมนุม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รมว.ศธ.ได้พบปะพูดคุยกับนักเรียนที่นำเยี่ยมชมโรงเรียนอย่างอบอุ่น ทั้งบริเวณอาคารเรียน ห้องสมุดโลกนิทานของหนู รวมถึงร่วมกิจกรรมหน้าเสาธงก่อนเลิกเรียน และมอบแนวคิด“ห่างไกลยาเสพติด รู้รักสามัคคี เทิดทูนสถาบัน”ปลูกฝังการเรียนรู้สร้างสรรค์กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน สอดคล้องนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะให้ครูเป็นแรงบันดาลใจทุกความสำเร็จของผู้เรียน นำเทคโนโลยีมาเสริมให้การสอนให้เข้าถึงภาษาต่างประเทศอย่างเท่าทันโลก โรงเรียนวัดเทพชุมนุม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สงขลา เขต 2 เป็นโรงเรียนประถมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 700 คน และมีครูชาวไทยและครูชาวต่างชาติจำนวน 40 คน โดยมีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบสามัญศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางของ สพฐ. และหลักสูตร Mini English programme (MEP) จุดเด่นโรงเรียนนี้ คือ ห้องสมุดโลกนิทานของหนูแห่งที่ 13 ภายในมีหนังสือนิทานและการ์ตูนวิชาการสำหรับเด็กกว่า 4,000 เล่ม จัดแบ่งเป็นมุมต่าง ๆ เช่น มุมกรมสมเด็จพระเทพฯ มุมนิทานสำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี, 7-9 ปี, 10-12 ปี และนิทานภาษาอังกฤษ มุมหนังสือวิชาการตามระบบทศนิยมดิวอี้ โรงละครหุ่นมือ มุมบรรณารักษ์ มุมเลโก้ มุมคอมพิวเตอร์สืบค้น และมุมนั่งอ่านหนังสือ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรักการอ่านและสนับสนุนการกล้าแสดงออกในเวทีกิจกรรมต่าง ๆ พบพร ผดุงพล / ข่าว , กราฟิก ประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. / ภาพ
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย – 17 กุมภาพันธ์ 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการ “ไทยจีนเลือดเดียวกัน 50 ปี 5 ล้านซีซี“ เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน ณ ห้องจุมกฏ 1 – 3 ชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน, รศ.พญ.ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ตลอดจนบุคลากรในหลายหน่วยงานให้การต้อนรับและร่วมบริจาคโลหิต รมว.ศธ.กล่าวว่า โครงการ “ไทยจีนเลือดเดียวกัน 50 ปี 5 ล้านซีซี” ที่จัดขึ้นในวันนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ. 2568 แสดงถึงความร่วมมือและการร่วมใจจากทุกภาคส่วน เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างสองประเทศ ซึ่งได้รับการเสริมสร้างมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 50 ปี “โลหิต” เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตประชาชนทุกคน การบริจาคโลหิตจึงเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการแสดงออกถึงความรัก ความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการโลหิตแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ตามคำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล เราคือครอบครัวเดียวกัน” (จง-ไท่-อี้-เจีย-ชิน) ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และผู้บริจาคโลหิตทุกท่านที่ได้ร่วมมือกันจัดโครงการนี้ “กระทรวงศึกษาธิการพร้อมจะสนับสนุนความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน พร้อมที่จะร่วมกิจกรรมอันมีประโยชน์ต่อประชาชน โครงการบริจาคโลหิตครั้งนี้ จึงสะท้อนถึงความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างสองประเทศ และเป็นการยกย่องคุณค่าของการเสียสละและความเมตตา ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ ปลูกฝังให้เยาวชนที่มีจิตสำนึก และพร้อมที่จะร่วมมือในการสร้างสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต” นายหาน จื้อเฉียงกล่าวว่า ในนามของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ขอแสดงความเคารพอย่างยิ่งต่อกระทรวงศึกษาธิการ สภากาชาดไทย หอการค้าไทย-จีน สมาคมครูภาษาจีน (ประเทศไทย) และหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ร่วมกันจัดโครงการนี้ ขอนำความปรารถนาดีจากใจไปยังผู้บริจาคโลหิตที่ไม่หวังผลตอบแทนและอาสาสมัครทุกท่านที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ การบริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจและไม่หวังผลตอบแทน เป็นหลักการที่สภากาชาดสากลและองค์การอนามัยโลกได้ริเริ่มและส่งเสริมมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 จนถึงปัจจุบัน มีเกือบ 100 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกที่ได้นำระบบการบริจาคโลหิตโดยไม่หวังผลตอบแทนมาใช้ ผู้คนบริจาคโลหิตอันมีค่าของตนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น การบริจาคเลือดทุกครั้งเปรียบเสมือนของขวัญแห่งความเมตตาที่มอบให้แก่ชีวิตผู้อื่น สะท้อนถึงความเจริญก้าวหน้าทางอารยธรรมของสังคม และกลายเป็นสายสัมพันธ์ที่เสริมสร้างความเอื้ออาทรและมิตรภาพระหว่างผู้คน จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยมีการเชื่อมโยงกันทั้งในด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม ผ่านภูเขาและแม่น้ำ เป็นญาติที่ผูกพันด้วยสายเลือด และเป็นหุ้นส่วนที่มีอนาคตร่วมกัน ตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ทั้งสองประเทศได้ยึดมั่นในหลักการเคารพซึ่งกันและกัน การปฏิบัติต่อกันด้วยความเสมอภาค การสร้างความไว้วางใจอย่างจริงใจ และการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การใส่ใจในชีวิตและการดูแลช่วยเหลือผู้อื่นถือเป็นเสียงเรียกร้องร่วมกันของมวลมนุษยชาติ และเป็นคุณธรรมดั้งเดิมที่ทั้งจีนและไทยมีร่วมกัน “การกระทำแห่งความเมตตาของอาสาสมัครทุกท่าน ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของคำว่า “ไทยจีนเลือดเดียวกัน” และเป็นการยกย่องอย่างจริงใจต่อความช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนในสังคมจีนและไทยร่วมมือกัน รวมพลังให้ยิ่งใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและไทย และขอให้มิตรภาพระหว่างทั้งสองประเทศนี้มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป” ปลัด ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมีความร่วมมือในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการที่ต่อเนื่อง สร้างความผูกพันที่ยาวนาน ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายได้เพิ่มความร่วมมือในทุกด้าน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับสมาคมครูจีนแห่งประเทศไทย สภากาชาดไทย หอการค้าไทย-จีน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดโครงการ “ไทยจีนเลือดเดียวกัน 50 ปี 5 ล้านซีซี” การเริ่มต้นโครงการ (Kick-off) ที่สภากาชาดไทยในวันนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมบริจาคโลหิตกว่า 300 คน สำหรับในส่วนภูมิภาค ทั้ง 76 จังหวัด ศึกษาธิการจังหวัดจะเป็นผู้ขับเคลื่อนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายให้แต่ละจังหวัดมีผู้บริจาคโลหิตไม่น้อยกว่า 200 คน รวมทั้งประเทศกว่า 15,000 คน กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 17 – 70 ปีบริบูรณ์ เพื่อสนับสนุนการสำรองโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทยผ่านสัญลักษณ์ “เลือดเดียวกัน” ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนทั้งสองประเทศ อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก นัทสร ทองกำเหนิด / TikTok ณัฐพงษ์ สุกไทย / ภาพ
13กุมภาพันธ์2568 –นายสิริพงศ์อังคสกุลเกียรติโฆษกกระทรวงศึกษาธิการเผยการดำเนินการจัดการขั้นเด็ดขาด “ให้ออกจากราชการไว้ก่อน”กรณีครูโค้ชฟุตซอลโรงเรียนชื่อดังกระทำอนาจารล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนพร้อมตั้งคณะกรรมการสอบโรงเรียนอย่างเคร่งครัดในกรณีเพิกเฉยไม่ตรวจสอบและรายงานมายังต้นสังกัดยืนยันการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนระเบียบราชการหากพบผิดวินัยร้ายแรงจริงคาดโทษสูงสุดแน่นอน โฆษกศธ.กล่าวว่าจากกรณีข่าวล่าสุดที่ครูโค้ชโรงเรียนชื่อดังถูกรวบคาสนามฟุตซอลถูกจับกุมตัวจากข้อกล่าวหาข้อหากระทำอนาจารเด็กและพรากเด็กอายุต่ำกว่า18ปีไปเพื่อการอนาจารบังคับขู่เข็ญหรือชักจูงให้เด็กประพฤติมิชอบพล.ต.อ.เพิ่มพูนชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษาเป็นอย่างมากและจะปล่อยให้มีการกระทำเช่นนี้ซ้ำอีกไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงดำเนินการอย่างเร่งด่วนกรณีล่วงละเมิดทางเพศเด็กขออย่าได้กังวลว่าต้องเป็นข่าวถึงจะทำงานไวกว่าเดิมเพราะถึงจะไม่เป็นข่าวแต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดไม่ว่าจะเป็นครูกับนักเรียนหรือครูกับครูก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดรวดเร็วเช่นกันกรณีแบบนี้รอช้าไม่ได้เพราะส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกกระทำอย่างรุนแรง ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงขั้นสูงสุดโดยดำเนินการทางวินัยให้ครูผู้ก่อเหตุ“ออกจากราชการไว้ก่อน”ในระหว่างการสอบสวนซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาให้ออกจากราชการในทันทีหากมีหลักฐานชัดเจนและให้โรงเรียนติดตามประเมินสภาพจิตใจนักเรียนผู้ประสบเหตุพร้อมวางแนวทางการดูแลช่วยเหลือเยียวยารวมถึงประสานผู้ปกครองแจ้งความดำเนินคดีและติดตามทุกระยะ นอกจากนี้จะสอบสวนโรงเรียนให้ครอบคลุมเช่นกันที่เพิกเฉยไม่รายงานและดำเนินการในช่วงเวลาที่เหตุเกิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังต้นสังกัดและศธ.จะวางมาตรการเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศซ้ำซากในสถานศึกษา ขอชี้แจงว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนทั้งหมดเป็นไปตามระเบียบราชการและข้อกฎหมายผู้เกี่ยวข้องจะได้รับการสอบสวนอย่างจริงจังเกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่ายแน่นอนการเร่งดำเนินการจัดการที่เห็นชัดเจนเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากและสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน “เราจะเดินหน้ายกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาอย่างจริงจังเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองและนักเรียนครูต้องเป็นพื้นที่เซฟโซนของผู้เรียนสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคนในระบบการศึกษาไทยอยู่ในรั้วโรงเรียนอย่างอุ่นใจกลับบ้านไปอย่างมีความสุข”โฆษกศธ.กล่าว พบพรผดุงพล/ข่าว ธรรมนารีชดช้อย/กราฟิก
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.30 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โปรดให้ พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ เป็นผู้เชิญของขวัญพระราชทานมอบแก่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2568 โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมในพิธีเบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ ณ บริเวณโถง ชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ยังความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทั้งยังเป็นสิริมงคลแก่คณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง ในการเริ่มต้นปีพุทธศักราช 2568
10 กุมภาพันธ์ 2568 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เผยความห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากกรณีข่าวรุ่นพี่สาดน้ำร้อนใส่หน้ารุ่นน้อง ผู้เรียนอาจได้รับอิทธิพลจากกระแสสังคมหรือสื่อออนไลน์ กลายเป็นค่านิยมละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความรุนแรงตามมา โฆษก ศธ. กล่าวว่าจากกรณีดังกล่าวแม้ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงจากผู้เรียนหรือบุคลากรในสังกัด แต่ก็สร้างความสะเทือนใจให้กับครูและผู้ปกครองที่ดูแลเด็กและเยาวชนวัยเรียนเป็นอย่างมาก พฤติกรรมนี้นอกจากจะเข้าข่ายอาชญากรรมแล้ว ยังสะท้อนถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงจากการไม่ยอมรับความแตกต่างอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นประเด็นที่ ศธ.ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”ที่ต้องการให้ผู้เรียนของเราเรียนรู้และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เคารพสิทธิและเสรีภาพท่ามกลางความหลากหลายในรั้วโรงเรียน จึงอยากให้คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่นและไม่ควรมีพฤติกรรมที่รุนแรง ปัญหาความขัดแย้งที่ถูกเพิกเฉยจนเข้าใจว่าเป็ฯเรื่องปกติอาจจะนำไปสู่การใช้กำลัง หากไม่มีการปลูกฝังแนวคิดเรื่องการเคารพสิทธิและเสรีภาพของกันและกันอย่างถูกต้อง ฝากครูและผู้ปกครองช่วยกันแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสมแก่ผู้เรียน รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะการเสพสื่อที่มีเนื้อหารุนแรงอาจเกิดเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ รวมถึงการโพสต์หรือแชร์เนื้อหาที่กระทบต่อความรู้สึกผู้อื่นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต ขอยืนยันจุดยืนว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกรูปแบบ และจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน หากเราปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้องตั้งแต่วันนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมแก้ไขปัญหาด้วยเหตุผลแทนการใช้กำลัง ทำให้สังคมการศึกษาก้าวไปสู่อนาคตที่ปราศจากความรุนแรงและเต็มไปด้วยความเข้าใจระหว่างกันอย่างแท้จริง “ยุคนี้ต้องให้ความสำคัญกับการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้กับเยาวชนไทย ให้เข้าใจและรักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน อย่าให้ความรุนแรงถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติจนกลายเป็นบรรทัดฐานลุกลามสู่การใช้กำลัง ต้องการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมการศึกษาอีกต่อไป” โฆษก ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล / ข่าว ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก
10 กุมภาพันธ์ 2568 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่นักเรียนผู้แทนประเทศไทย ที่เข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการ ASMOPSS Thailand เพื่อไปแข่งขันต่อระดับนานาชาติใน โครงการ Asian Science & Mathematics Olympiad for Primary and Secondary School (ASMOPSS) รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอน ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ. กล่าวว่า“นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เรียนดี มีความสุข มีเป้าหมายการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต การส่งเสริมให้นักเรียนมีความเป็นเลิศด้านวิชาการ มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จนสามารถร่วมการแข่งขันและได้รับการรางวัลการันตีในระดับนานาชาตินั้น แสดงว่านักเรียนแต่ละคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจพยายามฝึกฝนเรียนรู้และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ และยังได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากผู้ปกครอง ครูผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สิ่งที่อยากฝากให้ทุกคนนำไปปรับใช้นั่นคือ ความฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ” นางสาวพรพัชร แผลงเดช ประธานโครงการ ASMOPSS THAILAND กล่าวว่า“ถือเป็นปีที่เราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะนักเรียนผู้แทนที่เข้าแข่งขันได้รับรางวัลกลับมาให้คนไทยชื่นชมทุกคน รู้สึกภูมิใจมากเพราะเราคัดเลือกกันอย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้นักเรียนที่มีความสามารถมากที่สุดมาเป็นตัวแทนประเทศไทย และนอกจากนี้ทาง บริษัท ไมราห์ อินเตอร์ กรุ๊ป ได้รับสิทธิ์และความไว้วางใจในการจัดสอบแข่งขันระดับนานาชาติในปีนี้หลายรายการอีกด้วย นายธนากร แผลงเดช นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบกล่าวถึงการสนับสนุนและผลักดันโรงเรียนเอกชนนอกระบบว่า “เราพร้อมที่จะสนับสนุน ผลักดันทั้งโรงเรียนกวดวิชา สอนภาษา ดนตรี กีฬา เสริมทักษะชีวิต บริบาล และโรงเรียนสอนอาชีพ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ ศธ. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทยทุกช่วงวัยและพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นพลังที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับสังคมต่อไป” สำหรับโครงการ ASMOPSS THAILAND เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกวดวิชาเอซายน์ และ บริษัท ไมราห์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ได้รับสิทธิ์ให้จัดการแข่งขันเพื่อคัดเลือกนักเรียน ผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับนานาชาติ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และยังเป็นการสนับสนุนเวทีให้เด็กไทยแสดงความสามารถด้านวิชาการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนความสำเร็จของเด็กไทยใน Gen นี้ เน้นทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นฐาน โดยมีประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม ทาจิกิสถาน กัมพูชา ปากีสถานชาอุดิอาระเบีย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ มีนักเรียนผู้แทนจากประเทศไทยได้รับรางวัลทั้งหมด 36 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลประเภทบุคคล 28 รางวัล (10 เหรียญทอง, 12 เหรียญเงิน, 6 เหรียญทองแดง) และ รางวัลประเภททีม 8 รางวัล (รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1รางวัล , รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 4 รางวัล , รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 3 รางวัล) โดยมีนักเรียนจากทั่วประเทศผ่านการคัดเลือกจากโครงการ ASMOPSS THAILAND เข้าร่วมแข่งขัน ASMOPSS 14 จำนวน 28 คน จากผู้เข้าแข่งขันประเภทบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนจากประเทศอื่นทั้งหมด 136 คน และประเภท ทีมทั้งหมด 37 ทีม จาก 10 ประเทศ นอกจากนี้ภายในงานยังได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ เปิดบูธให้ความรู้และแนะนำหลักสูตรต่างๆเพื่อเป็นทางเลือกในการศึกษาเพิ่มเติม และสร้างพลังสนับสนุนเยาวชนไทยใส่ใจการศึกษา อาทิ บูธ Coaching English การใช้ Smart Learning App สอนภาษาอังกฤษ, บูธ Talent Detective โปรแกรมค้นหาตัวตนจากลายนิ้วมือด้วยเทคโนโลยีสุดทันสมัย, บูธ JCS แนะนำการเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น และบูธสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกขนนอกระบบ (APANE) เป็นต้นการแข่งขันวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ASMOPSS (แอสมอพส์) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยโครงการ ASMOPSS THAILAND เป็นผู้จัดสอบเพื่อคัดเลือกนักเรียน จัดสอบรอบแรก (รอบประเทศ) ในเดือนสิงหาคม ส่วนรอบสอง (รอบคัดเลือกผู้แทนประเทศ) ช่วงต้นเดือนตุลาคม จะคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านเข้ารอบตามเกณฑ์มาตรฐานระดับนานาชาติของ ASMOPSS เท่านั้น เพื่อคัดเลือกเป็นผู้แทนของประเทศไทย ธรรมนารี ชดช้อย / ข่าว – กราฟิก ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
จังหวัดสตูล – 5 กุมภาพันธ์ 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) โดยมีนายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษา ข้าราชการ บุคลากรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนสตูลวิทยา และระบบ Zoom Meeting รมว.ศธ.กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี ในการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานการศึกษาในภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความน่าสนใจอย่างยิ่ง การพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านการศึกษากับผู้บริหารระดับจังหวัด ผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษาทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะช่วยเสริมสร้างการบูรณาการการทำงานร่วมกัน สร้างความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมพัฒนาให้มีสมรรถนะ มีภูมิคุ้มกัน และสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ การขับเคลื่อนนโยบาย “จังหวัดเป็นหนึ่ง” รมว.ศธ.กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายทางการศึกษาคือส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในแต่ละพื้นที่ให้ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะการบูรณาการในระดับจังหวัด ผ่านการประสานงานระหว่างหน่วยงานการศึกษาและการแบ่งปันทรัพยากร ทั้งบุคลากร งบประมาณ และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาของจังหวัด โดยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ การพัฒนาทักษะครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงการจัดหาทรัพยากรการเรียนรู้ที่ทันสมัย การสร้างเครือข่ายการศึกษาระหว่างจังหวัดที่ใกล้เคียงกันช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และมีความหลากหลายทางด้านสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจด้านการบริการ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษา เน้นการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในสถาบันการศึกษาท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต มีการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาแรงงานในด้านการท่องเที่ยว จะช่วยสร้างบุคลากรที่มีความรู้และทักษะที่ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ บูรณาการการกับงานกับหน่วยงานในพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชน เพื่อการพัฒนาไปพร้อมกัน การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ขอให้ทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักร่วมมือ ผลักดัน สนับสนุน และพัฒนาร่วมกันในการดำเนินงาน เมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์ที่ผ่านมามีการสอบ O-NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2567 ซึ่งผลสอบจะเป็นเครื่องมือช่วยสะท้อนคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา การสะท้อนความสำเร็จของการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการเตรียมความพร้อมนักเรียนในการสอบ PISA 2025 รวมถึงการสอบสำหรับนักเรียน นักศึกษาในทุกระดับ เชื่อมั่นว่าเมื่อผู้เรียนมีความสุขและมีความพึงพอใจในการเรียน จะสามารถส่งผลต่อการเรียนที่ดี และเมื่อผลการศึกษาศึกษาดีจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับโดยเฉพาะผู้บริหารส่วนภูมิภาคที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ ควรมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยใช้ผลการประเมิน O-NET เป็นเครื่องมือในการประเมินและปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพที่เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียนในแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกมิติ การติดตามและค้นหากลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา Zero Dropout รมว.ศธ.กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานพบว่ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันมีผลการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษามีการติดตามได้ 100% เกือบทุกจังหวัด ต้องมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดฯ และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวปฏิบัติและการใช้บุคลากรร่วมกัน ในการค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กสัญชาติไทย เพื่อนำเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึด 4 แนวทางหลักคือ “ป้องกัน” ไม่ให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา เมื่อเด็กออกนอกระบบการศึกษาต้องมีการ “แก้ไข” เพื่อตรวจสอบและติดตามนำเด็กที่ออกนอกระบบกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มีแนวทางในการ “ส่งต่อ” ไปยังหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม และวางแผนในการ “ติดตามดูแล” ต้องมีมาตราการในการป้องกันไม่ให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของเด็ก รวมถึงการสนับสนุนทรัพยากรร่วมกัน เพราะเด็กไทยทุกคนต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ การดำเนินงานตามนโยบายฯ รมว.ศธ.กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายฯ ณ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ต้องเน้นย้ำและฝากแนวทางในการดำเนินงาน อาทิ ระบบจับคู่ครูคืนถิ่น (Teacher Rotation System : TRS) ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ครูและสถานศึกษาต่าง ๆ ทราบ เกี่ยวกับระบบฯ เพื่อให้ครูคืนถิ่นสามารถกลับไปทำงานในพื้นที่ของตนได้ตรงกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในบางพื้นที่ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ควรเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลเพื่อให้ครูสามารถบริหารจัดการเงินของตนเองได้ และสามารถลดปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น การยกเลิกการให้ครูเวร ควรมีการประสานงานกับตำรวจในพื้นที่เพื่อร่วมมือดูแลรักษาความปลอดภัย การจัดหานักการภารโรง ควรให้ความสำคัญและให้คุณค่ากับนักการภารโรงในการสนับสนุนการทำงานในโรงเรียน ถือเป็นแนวทางในการลดภาระและพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่จะช่วยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โครงการ “อาชีวะพี่ช่วยน้อง” รมว.ศธ.กล่าวว่า ถือเป็นมิติที่ดีในการช่วยพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยได้รับการตอบรับอย่างดีจากสถานศึกษาและเยาวชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และช่วยเหลือระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องในสถาบันอาชีวะ รยมทั้งสถานศึกษาสังกัดอื่นที่ต้องการช่วยเหลือ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนได้รับทักษะและประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง นอกจากนี้ยังมีการขยายผลโครงการอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนทักษะทางวิชาชีพและการส่งเสริมการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของรุ่นพี่ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและพัฒนาความสามารถของนักเรียนในสายอาชีพ การบูรณาการการจัดการศึกษาในภูมิภาค รมว.ศธ.กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนการบริหารการจัดการศึกษาในภูมิภาค ตามนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในภูมิภาค โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางการจัดการศึกษาในภูมิภาคหรือจังหวัด และมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนที่ระดับพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานและประสานความร่วมมือในพื้นที่ต่าง ๆ เน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท เพื่อให้ทุกนักเรียนและนักศึกษาได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาไทยอย่างทั่วถึง ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” มีกลไกการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ผ่านการบูรณาการทรัพยากรและการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของนักเรียนในแต่ละท้องถิ่น นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังได้เน้นย้ำแนวทางป้องกันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ซึ่ง ศธ. ได้หารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจยึดบุหรี่ไฟฟ้า และจัดทำโครงการที่เหมาะสมกับสถานศึกษา รวมถึงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพของนักเรียน ซึ่งจะเป็นกรอบปฏิบัติที่สถานศึกษาสามารถนำไปใช้ในการออกแบบกฎระเบียบของตัวเอง ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น...
5 กุมภาพันธ์ 2568 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เผยความห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา ย้ำชัดเจนยุคนี้ฟันโทษวินัยร้ายแรงจริงจัง พบการกระทำผิดร้ายแรงไล่ออกถอดใบประกอบวิชาชีพสถานเดียว วอนช่วยกันดูแลให้ทุกพื้นที่ในสถานศึกษาเป็นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียนและครู โฆษก ศธ. กล่าวว่าจากข่าวปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษาที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจและต้องการสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินการจัดการเร่งด่วน ที่คำนึงถึงความปลอดภัยในรั้วโรงเรียนให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะปัญหานี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดบาดแผลทางร่างกายแต่ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในระยะยาว แน่นอนว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เด็กหรือครูหลายคนไม่กล้าเปิดเผยเพราะเกิดความกลัวหรือความอับอาย ทำให้ปัญหานี้อาจไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที มาตรการป้องกันที่ทำได้เลยตอนนี้คือครูคอยสังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเด็กวิตกกังวลที่ผิดปกติ หลีกเลี่ยงจากเพื่อนและกิจกรรมหรือมีสัญญาณการถูกล่วงละเมิด ควรพูดคุยและให้คำปรึกษาอย่างอ่อนโยนเพื่อเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และหากปัญหานั้นเกินรับมือสามารถประสานนักจิตวิทยาในพื้นที่ เพื่อการช่วยเหลือที่รวดเร็วและเหมาะสม นอกจากนี้โรงเรียนควรมีการจัดอบรมสร้างความเข้าใจเรื่องการล่วงละเมิดให้กับครูและนักเรียน และมีนักจิตวิทยาสนับสนุนด้านจิตใจพร้อมให้คำปรึกษาแก่เด็ก เพื่อช่วยเหลือให้เด็กได้รับการฟื้นฟูจิตใจเร็วขึ้น ที่สำคัญคือต้องสร้างระบบช่องทางการรายงานที่ปลอดภัยไม่เปิดเผยตัวตน เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครองสามารถแจ้งเหตุการณ์ล่วงละเมิดได้อย่างมั่นใจว่าจะได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและเป็นความลับ หากเราร่วมกันดูแลช่วยเหลือนักเรียนและครูให้ได้รับการปกป้องจากการล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่ต้นทาง จะสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความอบอุ่น ให้โอกาสพวกเขามีชีวิตที่ดีและเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งเพียงลำพัง ยังมีครูและเพื่อนเป็นเกราะป้องกันและคอยเสริมกำลังใจ ขอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาพึงระลึกอยู่เสมอว่ากว่าจะฝ่าฟันมาอยู่ในหน้าที่การงานจุดนี้ต้องใช้ความพยายามมากมายแค่ไหน อย่าทำให้กระทำไม่เหมาะสมเพียงชั่ววูบมาตัดอนาคตและทำร้ายผู้อื่นผ่านทางร่างกายและจิตใจ และอย่าเพิกเฉยการกระทำอันไม่เหมาะสม หากกรณีใดพบว่ามีความผิดจรรยาบรรณของวิชาชีพ ต้นสังกัดพร้อมที่จะลงโทษทางวินัยร้ายแรงอย่างเด็ดขาด และคุรุสภาพร้อมที่จะพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุกประเภทเช่นกัน “กระทรวงศึกษาธิการจะไม่ปล่อยผ่านปัญหาล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ต้องปลอดภัยส่งเสริมให้เด็กเติบโตไปอย่างมีความสุข และขอย้ำชัดเจนว่าหากพบการกระทำผิดจะลงโทษวินัยร้ายแรงอย่างถึงที่สุด”โฆษก ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล / ข่าว ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 5/2568 นำทัพผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดสตูล ติดตามการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA และการสอบ O-NET พร้อมวางแนวทางสร้างความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (Digital literacy) ให้เยาวชน กำชับผู้บริหารทางการศึกษาในพื้นที่เร่งแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เข้าสู่ระบบครบทุกคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีสัญชาติไทย จังหวัดสตูล – 5 กุมภาพันธ์ 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 5/2568 ซึ่งถือเป็นการประชุมฯ สัญจรครั้งแรก ณ ห้องประชุมบานบุรี โรงเรียนสตูลวิทยา โดย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมผ่านระบบ e-Meeting จากห้องประชุมราชวัลลภ ซึ่งเป็นการประชุมในลักษณะ on-site ทัังสองแห่ง ภายหลังการประชุม รมช.ศธ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการสอบ O-NET ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2567 ทั้ง สพฐ. สทศ. สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีการวางแผนการดำเนินงาน การสร้างการรับรู้ให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการสอบ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของพวกเราในการดำเนินการ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ทั้งนี้ ในโอกาสวาระที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความร่วมมืออันดีทางการทูตครบรอบ 50 ปี ซึ่งในวันที่ 14 ก.พ. นี้ จะมีกิจกรรมบริจาคโลหิต “ไทยจีนเลือดเดียวกัน” ขอให้ทุกหน่วยงานสำรวจความร่วมมือด้านการศึกษากับจีน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของการพัฒนาหลักสูตร การแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา และโอกาสในการศึกษาต่อ เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือในอนาคต สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้ การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อน PISA เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ โดยการสอบ O-NET ที่เพิ่งผ่านไปนั้น ถือเป็นมิติสำคัญในการประเมินความสามารถด้านการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับต่าง ๆ และเป็นข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ถึงแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป สำหรับความก้าวหน้าผลการดำเนินงานการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ฯ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตามเป้าหมายในปี 2568 ในขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนและอบรมแล้วเสร็จกว่า 1.3 แสนคน ในส่วนของการเตรียมความพร้อมการประเมินนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในการนำผลพัฒนามาเติมเต็มนักเรียนในภาคเรียนที่ 1/2568 โดยจะมีการประเมินผ่านระบบ PISA Style Online Testing โดยมีศึกษานิเทศก์เป็นผู้รับผิดชอบ ในการวิเคราะห์บริบทความพร้อมของโรงเรียน ดำเนินการผ่านระบบเครือข่ายที่มีความพร้อม เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่มีความต้องการ และนำผลสรุปประเมินวิเคราะห์ไปสู่การพัฒนา และมีการเตรียมการในการส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมความพร้อมคอมพิวเตอร์ Summer Camp 2025 โดยมีการอบรมหลักการใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน การฝึกปฏิบัติใช้คีย์บอร์ดและเมาส์ และการฝึกทำข้อสอบในระบบออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2568 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนเครือข่ายและเพื่อให้นักเรียนมีความคล่องตัวในการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าในการจัดทำการสำรวจการอ่านของคนไทย ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ดำเนินการสำรวจการอ่านของคนไทย โดยเน้นทักษะการอ่านซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่สะท้อนให้เห็นคือคุณภาพการศึกษา คุณภาพผู้เรียน และยังเป็นส่วนหนึ่งในการวัดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ ทั้งการจัดอันดับและการทดสอบ PISA โดย สกศ. ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ศธ. อาทิ สกร. และ สลช. จัดทำโครงการสำรวจการอ่านของคนไทย โดยพัฒนามาจากแบบสำรวจการอ่านของประชากร ซึ่งผลจากการสำรวจการอ่านของคนไทยนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางสำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป ความฉลาดรู้ทางดิจิทัลหรือ Digital literacy รมว.ศธ.กล่าวว่า ในมิติของการพัฒนานักเรียน โดยเฉพาะด้านความฉลาดรู้ทางดิจิทัล การใช้ AI ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในปัจจุบัน เด็ก ๆ ทุกคนต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือเป็น โดยต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการปรับปรุงหลักสูตรให้ส่งเสริมการใช้ทักษะคอมพิวเตอร์ในทุกช่วงวัยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมเด็ก ๆ ให้พร้อมสำหรับการประเมิน PISA ในปี 2025 ที่กำลังจะถึงนี้ สำหรับ PISA 2022 ที่ผ่านมากับการพัฒนาคุณภาพผลลัพธ์ด้านความฉลาดรู้ทางดิจิทัลหรือ Digital literacy เป็นความเข้าใจในการใช้เครื่องมือดิจิทัล การใช้งานอินเทอร์เน็ตและบริการ ความเข้าใจในการป้องกันภัยคุกคามและการกำหนดความปลอดภัย โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งผู้เรียนส่วนใหญ่มีผลการประเมินต่ำกว่าระดับพื้นฐาน เกือบทุกสังกัด ยกเว้นโรงเรียนในกลุ่มที่เน้นวิทย์และโรงเรียนสาธิต ในประเทศที่มีผู้เรียนที่มีผลในระดับสูงจะมีแนวทางการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลที่ดีกว่าประเทศที่มีคะแนนต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยยังมีผู้เรียนที่มีผลการประเมินต่ำกว่าระดับพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ และมีการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลค่อนข้างน้อย จึงควรเน้นความฉลาดรู้ทางดิจิทัลที่ต้องเร่งพัฒนาโดยเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องมีการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาเพื่อสามารถเสริมหนุนความฉลาดรู้ทางดิจิทัลให้กับผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น อาทิ การส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณ การพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างรอบด้าน การพัฒนาในทุกช่วงวัย หรือการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อจะส่งผลไปถึงการประเมินสมรรถนะการเรียนรู้ด้านดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA 2025 โดย สพฐ. ได้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการจัดการเรียนรู้การพัฒนาทักษะดิจิทัลและการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ โดยมีการอบรมครูและศึกษานิเทศก์ เพื่อให้สามารถใช้ AI ในการออกแบบการเรียนการสอน การใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงการใช้ AI ในการทำโครงการของนักเรียน เพื่อเพิ่มทักษะและการเรียนรู้ของครูและนักเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา...
30 มกราคม 2568 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ โครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่าง สถานศึกษาในจังหวัดบุรีรัมย์ กับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วย นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายโสภณ ราชรักษา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จังหวัดบุรีรัมย์ รมว. ศธ. กล่าวว่าการศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม กลายเป็นเครือข่ายทางการศึกษา“จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”ร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งสร้างต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ“โรงเรียนร่วมพัฒนา”ที่ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทย ความตั้งใจในวันนี้นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีก่อให้เกิดการทำงาน ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม จับมือร่วมพัฒนาและขยายผลให้สามารถยกระดับการศึกษาของประเทศได้ เป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาที่ครอบคลุมยั่งยืน และเป็นพลังนำการศึกษาไทยก้าวไปทัดเทียมนานาประเทศ สำหรับการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการ“โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project)ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กับ สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ 46 แห่ง แบ่งเป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาบุรีรัมย์ จำนวน 23 แห่ง และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา บุรีรัมย์ เขต 1 – 4 จำนวน 23 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา ภายใต้หลักการ“การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และ การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต”โดยใช้แนวทางการทำงาน“จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”เกิดเป็น นวัตกรรมการบริหารและจัดการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้การสนับสนุน ทรัพยากร องค์ความรู้ จากทุกภาคส่วน ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาผู้เรียนให้“ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ”เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่าง“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” พบพร ผดุงพล / ข่าว ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ อินทิรา บัวลอย / วิดีโอ
รมช.ศธ. “สุรศักดิ์” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 4/2568 โดย รมว.ศธ. เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์เน้นย้ำผู้บริหาร ข้าราชการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะมาถึงปลื้ม ครม. อนุมัติงบกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา กำชับสถานศึกษาเตรียมแผนรับมือ PM 2.5 พร้อมเร่งติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา วาง Buriram Zero Dropout Model (BZDM) เป็นต้นแบบ ด้วยแนวทาง “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตามดูแล” ต่อเนื่อง 29 มกราคม 2568 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 4/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมผ่านระบบ e-Meeting ซึ่งภายหลังการประชุม รมช.ศธ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว รมว.ศธ.กล่าวผ่านระบบออนไลน์ว่า ในการประชุมประสานภารกิจทุกครั้ง สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นคือการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระดมสมอง และพัฒนาแนวคิดร่วมกันของผู้บริหารจากทุกหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานของ ศธ. ประสบความสำเร็จ สำหรับแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ ขอให้พิจารณาโดยมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลด้านการศึกษา อาทิ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (ODOS) โครงการ 1 อำเภอ 1 ซัมเมอร์แคมป์ และโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ที่มุ่งยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ให้มีการขยายโอกาสทางการศึกษาไปยังโรงเรียนและกลุ่มเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาส โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ได้เข้ามามีบทบาทในการส่งต่อความรู้และแนวทางการพัฒนาสู่โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปพร้อมกันทั้งระบบ ซึ่งมีผู้ตรวจราชการ ศธภ. และรอง ศธภ. เป็นผู้ขับเคลื่อนในส่วนภูมิภาค เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไป สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูแลนักเรียน ครู และบุคลากรทุกคน ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัย และสั่งการไปยัง สพฐ. ดำเนินการเร่งแจ้งมาตรการป้องกันไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยให้งดกิจกรรมกลางแจ้งทุกรูปแบบ และหากพื้นที่ใดอยู่ในระดับสีส้มหรือสีแดงที่มีความเสี่ยงสูง ผู้อำนวยการสถานศึกษาสามารถตัดสินใจปิดโรงเรียนได้ทันที พร้อมให้มีการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนในทางเลือกอื่น อาทิ การเรียนออนไลน์ หรือวิธีการที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและครู นอกจากนี้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากรที่มาทำงานยังสำนักงานทุกแห่ง หากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน อาจมีมาตรการในการ Work from home หรือดำเนินการตามความเหมาะสม รมช.ศธ.กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอขออนุมัติรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับโครงการด้านการศึกษาที่สำคัญ คือ โครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัล พัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ (The Digital Skill/Credit Portfolio: Empowering Educations) โครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา ระยะที่ 2 (เช่า 5 ปี 2569-2573) โดย สพฐ. เป็นหน่วยดำเนินการ งบประมาณ 29,765 ล้านบาท ครอบคลุมนักเรียนระดับระดับ ม.4-ม.6 และครูผู้สอน จำนวน 1,236,985 เครื่อง และโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษา ทุกที่ทุกเวลา : จัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกสถานที่ (เช่า 4 ปี 2569-2572) โดย สอศ. เป็นหน่วยดำเนินการ งบประมาณ 3,302 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมนักศึกษาในระดับ ปวช.1-ปวช.3 และครูผู้สอน 159,332 เครื่อง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใช้จ่ายและจัดสรรงบประมาณอย่างรอบคอบ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ทางการศึกษาของประชาชนเป็นสำคัญ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเตรียมข้อมูลและวางแผนการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด รวมถึงกำหนดแนวทางการบริหารจัดการงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้ การยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมช.ศธ.กล่าวว่า ได้รับทราบแนวทางการขับเคลื่อน PISA ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้ฯ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งตามเป้าหมายในปี 2568 ที่ให้มีผู้ลงทะเบียน มากกว่า 4 แสนคน ซึ่งในขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้วเกือบ 200,000 คน เข้าสู่เป้าหมายครึ่งหนึ่งของที่วางแนวทางไว้และดำเนินการได้ตั้งแต่ในเดือนแรกของปีนี้ และมีผู้อบรมแล้วเสร็จกว่า 134,994 คน และมีการอบรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบในระดับเขตพื้นที่นั้นมีเขตพื้นที่ที่ลงทะเบียนครบ 100% ถึง 35 เขตพื้นที่ สำหรับปฏิทินการดำเนินงานฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ มีกำหนดการซ้อมทำข้อสอบสำหรับนักเรียนชั้น ม.2 จำนวนกว่า...
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ มอบแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) พร้อมติดตามนโยบาย “บุรีรัมย์โมเดล” และ “สุรินทร์เป็นหนึ่ง” บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนตั้งเป้าหมายให้เด็กกลับสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด 29 มกราคม 2568 –พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) และติดตามนโยบาย“สุรินทร์เป็นหนึ่ง”ณ โรงเรียนวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ รวมถึงติดตามนโยบาย“บุรีรัมย์โมเดล”เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ ด้วย รมว.ศธ. กล่าวว่าวันนี้เราจะจับมือกันพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพราะทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างนโยบาย“สุรินทร์เป็นหนึ่ง”ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นพ่อเมืองในการสร้างเครือข่ายการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาช่วยแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการเรียนการสอน กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่“จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” เรื่อง Zero Dropout ถ้ามองในนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”เมื่อเรามีความสุขร่วมกันในการทำการศึกษาให้ดีขึ้น ทั้งการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิต ทำให้เด็กที่หลุดออกนอกระบบหรือไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษากลับมาอยู่ในระบบการศึกษาตามบวน“ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ ติดตาม”ที่วางไว้ รวมถึงทำงานเชื่อมกับหน่วยงานอื่นให้ดำเนินการต่อในด้านดูแลกลุ่มเสี่ยง พร้อมหาวิธีการช่วยเหลือและแก้ไข ในส่วนของคุณภาพการศึกษาเราต้องเติมเต็มในการสร้างสิ่งนี้ให้มีมิติ ครูทุกคนต้องร่วมสนับสนุนในส่วนนี้ด้วย ต้องรู้ว่าเด็กอ่อนวิชาไหนและเติมให้ได้มาตรฐาน ส่วนเด็กคนไหนที่มีแววอัจฉริยะต้องส่งเสริมเรื่องการเป็นเลิศในด้านนั้น หากกระบวนการของครูยังไม่เข้มข้นต้องเพิ่มทักษะให้ครูในวิชานั้น เสริมครูพี่เลี้ยงแนะนำแลกเปลี่ยนกัน เป้าหมายที่จะต้องเดินร่วมกันคือลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการศึกษาเท่าเทียม ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษาเป็นอย่างดี รวมถึง สพฐ.และ สกร.ที่นำเด็กเข้ามาสู่ระบบและพาการศึกษาไปสู่เด็ก โดยนำแนวทาง“ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ”ไปปรับใช้ให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ คิดอย่างมีเหตุผล และทำในสิ่งที่มีประโยชน์ และแลกเปลี่ยนมุมมองในการทำงานเสนอแนวทางมายังศึกษาธิการจังหวัดเพื่อนำมาประมวลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป “เราจะร่วมกับทุกภาคส่วน“จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”ทำให้การศึกษาของเด็กและเยาวชนทั้งจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์เป็นต้นแบบการขับเคลื่อนให้เป็นมิติ หวังว่าทั้ง 2 จังหวัดจะเติบโตคู่กันได้เป็นอย่างดี และกระจายไปยังจังหวัดอื่นให้พัฒนายิ่งขึ้นต่อไป ทำให้นักเรียนไทยมีการศึกษาที่ดีขึ้นในอนาคต”รมว.ศธ. กล่าว ในการนี้ รมว.ศธ. ยังได้ลงพื้นที่ติดตามนโยบาย“บุรีรัมย์โมเดล”เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ณ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม จ.บุรีรัมย์ เพื่อรับฟังและมอบแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนออกนอกระบบโดยใช้“บุรีรัมย์โมเดล”Buriram Zero Dropout Model (BZDM) โดยเริ่มต้นนำร่องจากอำเภอกระสังและขยายผลสู่อำเภออื่นครอบคลุมทั้งจังหวัด เริ่มตั้งแต่กระบวนการค้นหาและตรวจสอบสถานะของเด็กเพื่อนำไปวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคลอย่างละเอียด แล้วบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมวางแผนการให้ความช่วยเหลือในการติดตามผู้เรียนเข้าสู่ระบบของสถานศึกษาในสังกัด สำหรับการประชุมลงพื้นที่ประชุมติดตามการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ในครั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายปิยะ ปิจนำ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์, นายภัทรวรรธน์ นิลแก้วบวรวิชญ์ ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์, นายกิตติภัทท์ ไกรเพชร ศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารการศึกษาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ เข้าร่วม พบพร ผดุงพล / ข่าว ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ อินทิรา บัวลอย / วิดีโอ
28 มกราคม 2568 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เผยความห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต่อสุขภาพของผู้เรียนครูและบุคลากรทางการศึกษา ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ยังคงส่งผลกระทบ แม้ในบางพื้นที่ค่าฝุ่นจะเริ่มเบาบางลง แต่ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังตามมาตรการที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง โฆษก ศธ. กล่าวว่าจากการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาฝุ่นมาถึงสัปดาห์นี้ พบว่าคุณภาพอากาศค่อนข้างดีขึ้นมีฝุ่นละอองขนาดเล็กน้อยลง แม้วันนี้ค่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มลดลงแล้ว แต่ภาพรวมของคุณภาพอากาศก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีมาตรการที่วางไว้ คือให้ติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศเป็นประจำ หากพบว่ามีค่าฝุ่นสูงเกินค่ามาตรฐานให้ปรับกิจกรรมในสถานศึกษาจากกลางแจ้งเป็นในร่มแทน ปรับการจัดเรียนการสอนให้เป็นรูปแบบออนไลน์ได้ตามดุลพินิจผู้อำนวยการโรงเรียน แล้วแต่บริบทพื้นที่ พร้อมสร้างความตระหนักรู้ถึงการป้องกันฝุ่นพิษและผลกระทบต่อสุขภาพให้ เพื่อให้ครูและนักเรียนเรียนรู้และใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ฝากเน้นย้ำหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ อย่างเพิ่งวางใจกับสถานการณ์ฝุ่นที่สามารถวกกลับมาได้เสมอ ฝากดูแลสุขภาพสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก และขอให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างอยู่ในห้องปลอดฝุ่น หรือใช้เครื่องฟอกอากาศช่วย และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนรับมือและเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้เรียนทุกคนในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง “กระทรวงศึกษาธิการ จะติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อย่างใกล้ชิด และจะคอยสนับสนุนสถานศึกษาในการจัดทำแผนรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินควบคู่กับปลอดภัยและมีคุณภาพ ตามนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”สุขทั้งผู้เรียน ทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษา”โฆษก ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล / ข่าว ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟฟิก
28 มกราคม 2568 / นายปรีดี ภูสีน้ำ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก รมว.ศธ. และ ปลัด ศธ. ให้การต้อนรับ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กลุ่มไม้ขีดไฟ เครือข่ายบางกอกดีจัง และเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสนับสนุนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ และยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ณ ห้องประชุมธีรราช และบริเวณหน้าอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นายปรีดี ภูสีน้ำเปิดเผยว่า ขอชื่นชมภาคีเครือข่ายคนทำงานด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งนำโดยเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเดียวกันกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะขยายเครือข่าย สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้รู้เท่าทันโทษ และเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังเป็นปัญหาในสังคมไทย สำหรับการร่วมหารือในวันนี้ ขสย. และภาคีเครือข่าย ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ในการดำเนินมาตรการเพื่อให้สถานศึกษาทุกระดับปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีข้อเสนอให้ ศธ. สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้สถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้า 100% และขอให้มีการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า การออกกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองและปกป้องครูจากผลกระทบในการทำงาน การสนับสนุนให้ครูช่วยเด็กนักเรียนเลิกบุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งยังเสนอให้มีการสนับสนุนเครื่องมือเพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับพิษของบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่เด็ก นักเรียน และผู้ปกครอง โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางแผนร่วมกันในการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทย ขณะเดียวกัน ขสย. และภาคีเครือข่ายยืนยันท่าทีคัดค้านและไม่สนับสนุนการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็น “วาระแห่งชาติ”และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นการกำหนดมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ถึงโทษและพิษภัยของยาเสพติด รู้จักการปฏิเสธและหลีกเลี่ยงยาเสพติด รวมถึงการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้หลงใหลในสิ่งเสพติดและอบายมุข และยังมีการดูแลและช่วยเหลือนักเรียนที่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยให้สถานศึกษาเป็นองค์กรหลักในการดำเนินงาน ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2548 โดยกำหนดว่า นักเรียนและนักศึกษาต้องไม่ประพฤติตนขัดกับข้อบังคับของกฎกระทรวง และให้สถานศึกษาสามารถกำหนดระเบียบที่เหมาะสมตามกฎกระทรวงนี้ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 2 เพื่อปรับปรุงและแก้ไขการกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเน้นส่งเสริมความประพฤติที่รับผิดชอบต่อสังคมและคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและนักศึกษา โดยนักเรียนและนักศึกษาต้องไม่ประพฤติตนในลักษณะต่าง ๆ เช่น การหนีเรียน การเสพสารเสพติด รวมถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า การทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำโครงการที่เหมาะสมกับสถานศึกษา รวมถึงการจัดทำธรรมนูญสุขภาพของนักเรียน ซึ่งจะเป็นกรอบปฏิบัติที่สถานศึกษาสามารถนำไปใช้ในการออกแบบกฎระเบียบของตัวเอง ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการใช้สารเสพติด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ง่ายในปัจจุบันและอาจเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบจากกลุ่มเพื่อนหรือสังคม “ที่ผ่านมา ศธ. ได้สั่งการให้ทุกสถานศึกษาในสังกัดสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยห้ามสูบในสถานศึกษาและกำหนดให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบเดียวกันกับการห้ามสูบบุหรี่ธรรมดา ผู้บริหารและคณะครูต้องร่วมกันตรวจตราภายในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด เพื่อผลักดันนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้สามารถลดอัตราการเสพติดได้อย่างเป็นรูปธรรม” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก ณัฐพล สุกไทย / ภาพ