15 มิถุนายน 2568 – นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. ได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เข้าร่วมการประชุมสมาคมศิษย์เก่าจี๋เหม่ยทั่วโลก ครั้งที่ 5 และพิธีรับมอบตำแหน่งนายกและคณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนจี๋เหม่ยแห่งประเทศไทย สมัยที่ 23 โดยมีอธิการบดีจากสถานศึกษาของไทย ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ประธานหอการค้าไทย-จีน และนายจ้าว หมิงกวง ประธานสมาคมศิษย์เก่าจี๋เหม่ยทั่วโลก และสมาคมต่าง ๆ เข้าร่วม ณ หอการค้าไทย-จีน อาคารไทยซีซี กรุงเทพฯ นายพิษณุ พลธีเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรวมตัวกันของศิษย์เก่าจี๋เหม่ยจากหลายประเทศและหลายรุ่น ซึ่งแสดงถึงสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและความผูกพันที่มีต่อกันของไทยและจีนที่มีมาอย่างช้านาน และมีความร่วมมืออันดีในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมถึงการศึกษา และในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน กระทรวงศึกษาธิการของไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของจีนในการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวด้วย อาทิ การต้อนรับครูอาสาสมัครสอนภาษาจีนประจำปีการศึกษา 2568 กิจกรรมบริจาคโลหิต“ไทย-จีน เลือดเดียวกัน 50 ปี 5 ล้านซีซี”และงานมหกรรมการศึกษาไทย-จีน ชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนจี๋เหม่ยแห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2521 มีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของนายเจียเกิง ผู้ก่อตั้งสมาคมฯ ที่มีความมุ่งมั่นสร้างความสามัคคีและฟื้นฟูประเทศชาติ และรวบรวมศิษย์เก่าจี๋เหม่ยที่พำนักอยู่ในประเทศไทย กระชับความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่ากับโรงเรียน ทั้งยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศิษย์เก่าจี๋เหม่ยจากทุกภูมิภาคทั่วโลกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ส่งเสริมด้านการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรมจีน ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน และความร่วมมือแลกเปลี่ยนในด้านต่าง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างคุณประโยชน์ส่งเสริมมิตรภาพอันยั่งยืนระหว่างไทย-จีนร่วมกันต่อไป
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
12 มิถุนายน 2568 /นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) และนายธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริม การสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เข้าร่วมบันทึกเทปรายการข่าวการศึกษา ณ ETV Channel ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานด้านการศึกษาอาเซียนเพื่อจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568หัวข้อ “AI แฮกกาธอนเพื่อความยั่งยืนสีเขียว” (ASEAN Youth Camp 2025: AI Hackathon for Green Sustainability – AYC2025)ระหว่างวันที่ 17 – 20 มิถุนายน 2568 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี กิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ด้านการศึกษาและวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ เป็นเยาวชน อายุ 14 -17 ปี และครูผู้ดูแลจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและกลุ่มประเทศบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) และประเทศผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งหมด 13 ประเทศ รวมถึงทีมผู้แทนประเทศไทย 5 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง 3) โรงเรียนรุ่งอรุณกรุงเทพมหานคร 4) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 5) โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ได้มีการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนบุคลากรตลอดจนผู้ที่สนใจติดตามการถ่ายทอดสดพิธีเปิดกิจกรรมค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568 ในวันอังคารที่ 17 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป และร่วมรับชมถ่ายทอดสดการประกวดแข่งขันผลงาน AI Competition for Green Sustainability และพิธีประกาศรางวัลค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568 ในวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2568 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ทีมผู้แทนประเทศไทย โดยสามารถติดตามได้ ผ่านช่องทาง ของ ศธ. 360 องศา และ ETV Channel ที่ https://shorturl.moe.go.th/q6142 https://youtube.com/@moe360degree https://www.facebook.com/MOE360degree https://www.facebook.com/@etvchannelthailand การบันทึกเทปรายการข่าวการศึกษา กิจกรรมค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568 จะออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2568 เวลา 08.00 น. และ 17.00 น. ข้อมูล : สต. สป. ภาพ : ETV / สุกัญญา จันทรสมโภชน์ : กราฟฟิก
12 มิถุนายน 2568 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลักสูตร “พลิกโฉมการประชาสัมพันธ์ด้วย AI” (Transforming Public Relations with AI) พร้อมด้วยนางสาวนวลพรรณ วรรณสุธี ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป. โดยมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ขององค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ ศธ. กว่า 150 คน เข้าร่วม ระหว่างวันที่ 12 – 14 มิถุนายน 2568 ณ โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การสื่อสารและทำความเข้าใจของทีมประชาสัมพันธ์กระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในด้านการประชาสัมพันธ์ และเชื่อว่าหลายนโยบายที่ถูกกำหนดไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรม ขณะนี้เริ่มเห็นแนวทางที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้มากขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ว่า“เรียนดี มีความสุข”ทำอย่างไร จึงจะสามารถสื่อสารได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น เพื่อเป็นการถ่ายทอดการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ เราจึงต้องเริ่มต้นจาก “พัฒนาคน”ความสำคัญของการประชาสัมพันธ์สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับผู้ที่มีส่วนในการประชาสัมพันธ์นั่นก็คือ“การสร้างความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาให้แก่ผู้เรียน”เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า“การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในโลกนี้คือการลงทุนทรัพยากรมนุษย์”การพัฒนาให้มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การประกอบอาชีพ หรือการทำงานเพื่อสังคม การได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพที่ทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าขึ้นได้ ฉะนั้นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการศึกษาจึงมีความสำคัญในการ เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร สร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้ปกครอง ชุมชน สถานศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงเป็นแรงผลักดันให้นโยบายทางการศึกษาได้รับการสนับสนุนและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม “สร้างความเชื่อมั่น”การสื่อสารคือหัวใจของการสร้างความเชื่อมั่น ในปัจจุบันความรวดเร็วในการสื่อสารมีผลต่อภาพลักษณ์องค์กรโดยตรง การปิดข่าวไม่ใช่คำตอบ แต่การสื่อสารที่ตรงประเด็น ทันท่วงที พร้อมแนวทางแก้ไข จะช่วยสร้างความไว้วางใจจากประชาชนและสื่อมวลชน ส่วนวลีที่ว่า“ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีเสียตังค์”เป็นความจริงที่เราเผชิญอยู่ แต่เราจะไม่ปล่อยให้ข่าวดีไม่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชน ทีมประชาสัมพันธ์ของ ศธ. จึงต้องมีเครื่องมือการสื่อสารที่ทันสมัยเป็นมืออาชีพ โดยเน้นการทำงานเชิงรุก สื่อสารทุกเรื่องราวด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว “ปั้นคอนเทนต์”Content is the king คำนี้น่าจะมีความหมายครอบคลุมชัดเจน เราต้องสร้างเนื้อหาเรียนรู้การใช้ Generative AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ เพื่อผลิตเนื้อหาได้อย่างหลากหลาย อาทิ การสร้างข้อความ ภาพ วิดีโอ หรืออินโฟกราฟิกที่น่าสนใจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น การ“ลดภาพ ขยายเนื้อหา สร้างความน่าสนใจ”เป็นแนวทางสำคัญที่ฝากให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ปรับการสื่อสารจากรูปแบบเดิม ไปสู่คอนเทนส์รูปแบบใหม่ สร้างสาระผ่านความน่าสนใจ ประเด็นการศึกษาอย่างเช่นแนวทางของเพจ ศธ.360 องศา ที่เริ่มปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยยังคงเนื้อหาสาระครบถ้วน แต่มีการเล่าเรื่องผ่านมุมมองใหม่ ๆ ที่ประชาชนเข้าถึงง่าย และสื่อสารอย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น “การนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะ AI มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่คือการเปิดโอกาสให้เกิด “การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์” ที่เข้าถึงผู้คนได้หลากหลายมากขึ้น “การสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ พร้อมกระตุ้นให้เกิด Engagement อย่างแท้จริง คือหัวใจของงานประชาสัมพันธ์ยุคใหม่” ความเชื่อมั่นในระบบการศึกษา จะทำให้คนก็จะกล้าฝากอนาคตของลูกหลานไว้กับโรงเรียน ครูก็จะกล้าสร้างสรรค์ เด็กก็จะกล้าเรียนรู้ และทั้งหมดนี้คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง” ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป.กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การบริหารภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความก้าวหน้าของ AI และดิจิทัล ที่ส่งผลต่อรูปแบบการสื่อสารในทุกระดับ การอบรมในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นการเสริมสร้าง “ทักษะดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร” ให้กับบุคลากรประชาสัมพันธ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้สามารถปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และแผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสารในยุคดิจิทัล พัฒนาทักษะด้าน AI ด้านความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทันสมัย พร้อมทั้งเน้นย้ำการสร้างเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งในรูปแบบ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” “นักประชาสัมพันธ์และผู้ปฏิบัติงานด้านข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ถือเป็นบุคลากรยุคดิจิทัลที่จะได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และการตลาดดิจิทัลจากภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ เพื่อนำไปขยายผลต่อยอดพัฒนางาน สร้างเนื้อหาสาระอันเป็นประโยชน์ พร้อมเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของกระทรวงศึกษาธิการออกสู่สายตาของสาธารณชนต่อไป” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ / ภาพ
12 มิถุนายน 2568 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงข้อห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากกรณีที่มีนักเรียนชายรายหนึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตัดต่อภาพเพื่อนนักเรียนหญิงในลักษณะอนาจาร และมีการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เน้นย้ำสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง เพื่อน ๆ ช่วยกันตักเตือน โฆษก ศธ.กล่าวว่าพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพในสถานศึกษาเป็นอย่างมาก และเน้นย้ำในเรื่องความปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจของผู้เรียนมาโดยตลอด ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างร้ายแรง สร้างความเสียหายต่อจิตใจของเพื่อนนักเรียนและครอบครัว รวมถึงกระทบต่อบรรยากาศทางการศึกษาในโรงเรียน การนำเทคโนโลยีดิจิทัล AI เข้ามาช่วยในเรื่องการศึกษาเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผลักดันไปสู่ผู้เรียนอย่างเท่าเทียม ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีในวงการศึกษาบ้านเรา แต่ต้องใช้ในทางที่ถูกที่ควร ใช้อย่างสร้างสรรค์ ใช้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้ดีขึ้น แต่หากไม่มีการป้องกันที่ดีจนนำ AI มาใช้อย่างไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ควรตักเตือนให้เกิดความตระหนักถึงภัยทางไซเบอร์ที่จะตามมา ขอให้สถานศึกษา ครู และผู้ปกครองช่วยกันสร้างการรับรู้ให้กับนักเรียนเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม พร้อมเน้นย้ำความเข้าใจที่ถูกต้องว่าไม่ควรนำ AI หรือเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทางที่ผิด ละเมิดสิทธิผู้อื่น นอกจากเป็นเรื่องผิดศีลธรรม ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออนาคตของตัวเยาวชนผู้กระทำเองด้วย “ศธ.จะเร่งผลักดันและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรับผิดชอบในสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยเน้นย้ำบทบาทของครูในการเป็นที่ปรึกษา และผู้ปกครองในการปลูกฝังค่านิยมที่เหมาะสมให้แก่บุตรหลาน ท้ายที่สุดนี้ ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลเยาวชนที่เป็นผู้เรียนของเรา สร้างสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่ปลอดภัยและเคารพในสิทธิของผู้อื่นอย่างแท้จริง” โฆษก ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล : ข่าว บัลลังก์ โรหิตเสถียร : กราฟิก สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ
11 มิถุนายน 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษ ครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต : การเรียนรู้ การดำรงชีวิต และการทำงาน จัดโดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และสถาบันศิโรจน์ผลพันธิน ร่วมกับ คุรุสภา มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระอุปถัมภ์ และโรงเรียนปัญญาวุฒิกร ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2568 ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดย รศ.ดร.พรชณิชย์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้การต้อนรับ มีผู้เข้าร่วม อาทิ ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา, คณะผู้แทนจากมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์, มูลนิธิอนุสารสุนทรเพื่อสงเคราะห์คนหูหนวก ในพระอุปถัมภ์, เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนจากสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณาจารย์ นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ รมว.ศธ.กล่าวในพิธีเปิดว่า การประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ เป็นการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ด้านการศึกษาพิเศษระดับนานาชาติ และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ จึงนับว่าเป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เข้าถึงทุกการพัฒนา ปัจจุบัน การศึกษาของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น การจัดประชุมครั้งนี้ นับเป็นเวทีที่ทรงคุณค่า เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จัดแนวทางการปฏิบัติที่ดีจากนานาชาติ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน เข้าถึงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สอดรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ“เรียนดี มีความสุข”ซึ่งให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านของชีวิตเด็กที่มีความต้องการพิเศษในทุกมิติ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีคุณภาพ เป็นพลเมืองโลกที่ดี และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาพิเศษทุกท่านที่มาร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ . สุกัญญา จันทรสมโภชน์ / สรุป – กราฟิก ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
11 มิถุนายน 2568 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีต้อนรับ พร้อมให้โอวาทและกำลังใจครูอาสาสมัครสอนภาษาจีน รุ่นที่ 23 ร่วมกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (Center for Language Education and Cooperation: CLEC) เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบ On-site และ Online โดยได้รับเกียรติจากสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานกรรมการบริหารสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล พร้อมด้วยผู้บริหารจากฝ่ายจีน ได้แก่ นายยวี่ หยุนเฟิง ผู้อำนวยการ CLEC นางซวี หลาน อุปทูตฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยครูอาสาสมัครเข้าร่วมงาน จำนวน 664 คน ณ หอประชุมคุรุสภา รมว.ศธ. กล่าวว่าโครงการครูอาสาสมัครสอนภาษาจีน ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือด้านการศึกษาที่สำคัญระหว่างไทยและจีน ซึ่งมีบทบาทในการเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ โดยครูอาสาสมัครที่มาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ไม่เพียงถ่ายทอดความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีนให้แก่เยาวชนไทยเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้และปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตของสังคมไทย เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ไม่ใช่เพียงแต่การทำงาน แต่คือการเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน นับเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่ทรงคุณค่า และเป็นกำลังสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีน “ความร่วมมือด้านการศึกษา เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เสริมสร้างความเข้าใจอันดี และเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญสู่อนาคตที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ” รมว.ศธ. กล่าว ปลัด ศธ.กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการครูอาสาสมัครสอนภาษาจีน เป็นหนึ่งในความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและจีน ภายใต้บันทึกความเข้าใจที่ลงนามร่วมกันในปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมทั้งการส่งครูอาสาสมัคร การพัฒนาหลักสูตร การให้ทุนการศึกษา และการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา โดยตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2546 มีครูอาสาสมัครปฏิบัติหน้าที่แล้วกว่า 19,494 คน ทั้งนี้ ในปี 2568 ครูอาสาสมัครจำนวน 842 คน จะปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาทั่วประเทศ 525 แห่ง ครอบคลุม 71 จังหวัด แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 389 คน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 60 คน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 339 คน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 54 คน โดยจะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 ถึงเดือนมิถุนายน 2569 การจัดพิธีต้อนรับครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี อาทิ มหกรรมการศึกษาไทย–จีน การแข่งขันพูดภาษาจีน กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม และค่ายเยาวชน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่าง 2 ประเทศอย่างยั่งยืน ธรรมนารี ชดช้อย / ข่าว – กราฟิก ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กศจ.กรุงเทพมหานคร) ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ประขุมมีมติที่สำคัญคือ อนุญาตจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว สังกัด สพป.กทม. จำนวน 31 ครอบครัว ผู้เรียน 33 ราย และ สพม.กท 2 จำนวน 79 ครอบครัว ผู้เรียน 86 ราย และมอบหมายให้ ศธจ.กทม. ประสานกับ ศทก.สป. ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูลฯ ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 12 และเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษา ( Thailand Zero Dropout) และรายงานความก้าวหน้าต่อ กศจ.กทม.ทุกเดือน นอกจากนี้ได้พิจารณาการเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาในสังกัด สพป.กทม.คือ โรงเรียนวัดด่าน (หวอด ทรัพย์ คงเที่ยง อนุสรณ์) เป็นโรงเรียนวัดด่านพระราม 3 โดย ผอ.สพป.กทม. และ ผอ.รร.ได้รับรองการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนตามชื่อวัดด่านพระราม 3 ซึ่งคณะกรรมการสถานศึกษาได้เห็นชอบแล้ว กศจ.กทม. จึงมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียน จาก “ โรงเรียนวัดด่าน (หวอด ทรัพย์ คงเที่ยง อนุสรณ์)” เป็น “ โรงเรียนวัดด่านพระราม 3”
รมว.ศธ. เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 19/2568 เผย สถานการณ์ชายแดนไทย – กัมพูชาที่เกิดขึ้นอยู่ในสถานการณ์ปกติ เชื่อมั่นในการทำงานของฝ่ายรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และได้กำชับให้พื้นที่มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ตั้งเป้าหมายขยายผลกิจกรรมโรงเรียนพี่เลี้ยงคู่พัฒนา ให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งหมด 246 (245+กทม.) ภายในเดือนมิถุนายน พร้อมสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการกับ OECD-OEC จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพระบบการศึกษาไทยให้สามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานสากล พร้อมจัดทำแผนและปฏิทินการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 11 มิถุนายน 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 19/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นางสาวพิมพ์พร ชีวนานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว รมว.ศธ.กล่าว ในมิติของการ“ดำเนินงาน แก้ไข ติดตาม ขยายผล”ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองภาพรวมของการบริหารจัดการอย่างรอบด้านว่าได้ผลเพียงใด โดยให้ความสำคัญกับการประเมินผลอย่างเป็นระบบ หากการดำเนินงานใดที่ดีก็ให้ขยายผล ขณะเดียวกันหากพบว่ายังมีข้อบกพร่องในกระบวนการก็ต้องเร่งปรับปรุงอย่างตรงจุด เพื่อให้การพัฒนาเกิดความต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์ชายแดนไทย – กัมพูชาที่เกิดขึ้นนั้น กระทรวงศึกษาธิการมีความห่วงใยนักเรียนและบุคลากรทุกท่าน ซึ่งภาพรวมในขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ปกติ เชื่อมั่นในการทำงานของฝ่ายรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และได้กำชับให้พื้นที่มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนเผชิญเหตุ การจัดสถานที่หลบภัย ตลอดจนการฝึกซ้อมตามแผนอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว เหตุการณ์ไม่สงบ หรือการก่อเหตุร้ายโดยบุคคลภายนอก พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่อย่างใกล้ชิด “ฝากเรื่องการส่งเสริมสุขภาพร่างกายของนักเรียน ด้วยการนำ “มวยไทย” มาบูรณาการกับกิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นทั้งการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ และเป็นการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมไทยไปควบคู่กัน” สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้ การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่มาตรฐานสากล รมว.ศธ.กล่าวว่า สำหรับการนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ควรเสริมทักษะ 3+1 ภาษา ไทย จีน อังกฤษ และดิจิทัล (AI) รวมถึงการขยายผลการดำเนินงานกิจกรรมโรงเรียนพี่เลี้ยงคู่พัฒนา ตั้งเป้าหมายขยายผลกิจกรรมให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งหมด 246 (245+กทม.) ภายในเดือนมิถุนายนนี้ การนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ในการเสริมทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การอ่านจับใจความ และการเชื่อมโยง โดยเฉพาะชั้น ม.3 และ ม.4 ได้รับการฝึกฝนผ่านระบบ Computer-Based Test พัฒนาความคล่องในการใช้คีย์บอร์ด ฝึกให้รู้จักอ่านโจทย์ วิเคราะห์เนื้อหา และตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างมีระบบ สำหรับการสร้างคลังข้อสอบตามแนว PISA เขตพื้นที่การศึกษาได้ร่วมมือกันรวบรวมข้อสอบ แบ่งปัน แลกเปลี่ยน และนำไปใช้จริงในห้องเรียน ทั้งในการสอบกลางภาค ปลายภาค หรือกิจกรรมการเรียนรู้ การอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาในรูปแบบ “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) ผ่านระบบ On-Demand โดยมีการอบรมแบ่งออกเป็นหลายรุ่น ตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูแกนนำ ไปจนถึงครูผู้สอนทุกกลุ่มสาระ และมีระบบการติดตามและนิเทศอย่างต่อเนื่องทุกสองสัปดาห์ และมุ่งขยายผลสู่การคัดเลือกโรงเรียนและนักเรียนต้นแบบ เพื่อพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืน โรงเรียนพี่เลี้ยง โรงเรียนวิทยาศาสตร์ และศูนย์วิทยาศาสตร์ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ความก้าวหน้าในการเข้าร่วมโครงการกับ OECD รมว.ศธ.กล่าวว่า จากรายงานประจำปีขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD : Organisation for Economic Co-operation and Development)ที่รวบรวมข้อมูลและสถิติด้านการศึกษาจากหลายประเทศ เพื่อใช้เปรียบเทียบและวิเคราะห์ระบบการศึกษาในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการลงทุนด้านการศึกษา อัตราการเข้าเรียนและจบการศึกษา รายได้และสถานภาพของครู และความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับตลาดแรงงาน ซึ่งการเข้าร่วมโครงการกับ OECD จะเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวกับการศึกษาในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพระบบการศึกษาไทยให้สามารถเทียบเคียงกับมาตรฐานสากล การมีส่วนร่วมในโครงการนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างประเทศ นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่มติ ครม. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 (ภายหลังการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 18/2568) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ภายใต้การเสนอของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนทั้งสิ้น 15 คณะ ตามที่ ศธ. เสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเป็นต้นไป สำหรับคณะกรรมการโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” ได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่เฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการฯ ที่ได้รับการขยายระยะเวลาดำเนินการแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี...
11 มิถุนายน 2568 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แถลงข่าวกิจกรรมค่ายเยาวชนอาเขียน ประจำปี 2568 (ASEAN Youth Camp 2025) โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นางสาวพิมพ์พร ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. ผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ. กล่าวว่าในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานด้านการศึกษาของอาเซียน ตั้งแต่ปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ได้เล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของเยาวชนในฐานะพลังขับเคลื่อนที่สามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการศึกษา วัฒนธรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์มาโดยตลอด กิจกรรมค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568 หรือ AYC2025 ภายใต้หัวข้อ“AI แฮกกาธอนเพื่อความยั่งยืนสีเขียว”ในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบที่หลากหลาย ภายในงานมีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย ทั้งการบรรยายให้ความรู้ การฝึกปฏิบัติผ่านกิจกรรมแฮกกาธอน การแข่งขันการพัฒนา AI และหุ่นยนต์ ด้วยเครื่องมือซีราคอร์ (CiRA Core) การศึกษาดูงานการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันสุดท้าย จะมีการจัดการแข่งขันนำเสนอผลงาน AI เพื่อความยั่งยืนสีเขียว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่าน Facebook Fanpage ศธ.360 องศา เพื่อให้สถานศึกษาและผู้ที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับชมและร่วมเป็นกำลังใจให้กับตัวแทนเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ เชื่อมั่นว่าค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568 จะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ในหมู่เยาวชน ถึงอัตลักษณ์ของอาเซียน ความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในภูมิภาค ตลอดจนการปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอย่างยั่งยืนในระยะยาว สำหรับกิจกรรม “ค่ายเยาวชนอาเซียน ประจำปี 2568” หรือ AYC2025 ภายใต้หัวข้อ “AI แฮกกาธอนเพื่อความยั่งยืนสีเขียว” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 20 มิถุนายน 2568 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 86 คน เป็นเยาวชนจำนวน 4 คน และครู 1 คน จากประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (ยกเว้นเมียนมา ได้แจ้งสละสิทธิ์)สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ รวมถึงประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น รวม 13 ประเทศ ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนประจำปี 2568 ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (MWIT) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบพร ผดุงพล / ข่าว อินทิรา บัวลอย / ภาพ
ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอแนวคิดในเวทีเสวนาเยาวชนนานาชาติ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2568 ที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพมหานคร “การพัฒนาเยาวชนด้วยการศึกษา” คือการลงทุนที่ทรงคุณค่าและยั่งยืนเหนือสิ่งอื่นใด เพราะมิใช่เพียงการหล่อหลอมอนาคตของปัจเจกบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นการสร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับสังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้จึงกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า เยาวชนในวันนี้คือผู้นำแห่งอนาคต ผู้เปลี่ยนแปลงโลก และผู้สร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม รองปลัด ศธ. กล่าวว่าในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ที่เปี่ยมด้วยพลวัตและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน สังคม และเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้โลกของเรากำลังเผชิญกับความท้าทายนานัปการ หากมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนโลกไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คำตอบสำคัญประการหนึ่งคือ “การศึกษา” โดยเฉพาะการศึกษาที่มีเป้าหมายเพื่อหล่อหลอมให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ ที่สอดคล้องและตอบรับต่อการเป็นพลเมืองโลก กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยเล็งเห็นคุณค่าของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ จึงมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และขยายโอกาสทางการศึกษาให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการดำเนินงานอย่างหลากหลายได้แก่ ส่งเสริมเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้ได้รับการศึกษาการจัดตั้งโรงเรียนคุณภาพในแต่ละอำเภอ การส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะดิจิทัล และการยกระดับทักษะภาษาต่างประเทศ โดยมีความมุ่งหวังที่จะเตรียมพร้อมเยาวชนไทยสู่โลกยุคใหม่อย่างมั่นใจและยั่งยืน รองปลัด ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่าในยุคที่โลกขับเคลื่อนไปด้วยพลังของเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่จึงเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแค่ในมิติของนวัตกรรม่และเทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันวางรากฐานให้กับโลกใบนี้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
10 มิถุนายน 2568 / รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมาย นางสาวพิมพ์พร ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประกาศผลและมอบรางวัลโครงการประกวดภาพวาดระบายสี “โตโยต้ารถยนต์ในฝัน” 2025 ครั้งที่ 14 ชิงถ้วยรางวัล พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ Convention Hall ชั้น 1 Toyota Alive บางนา โดยมีผู้บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด /นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ /สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เลขานุการ รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า นับเป็นโอกาสดีที่ได้ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับเกียรติมาร่วมงานประกาศผลและมอบรางวัล โครงการประกวดภาพวาดระบายสี ไตโยต้ารถยนต์ในฝัน” 2025 (Toyota D:ream Car Art Contest.2025) ในวันนี้ จากการที่กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพคนของประเทศ และร่วมบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถานประกอบการ และภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีทักษะในทุกมิติ สำหรับโครงการประกวดวาดภาพระบายสี “โตโยต้ารถยนต์ในฝัน 2025” (TOYOTA Dream Car Art Contest 2025) ภายใต้แนวคิด “รถยนต์ในฝัน” ชิงถ้วยรางวัล พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดโดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการหนึ่งที่มีส่วนในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และทักษะทางด้านศิลปะ พร้อมแสดงศักยภาพทางด้านศิลปะผ่านผลงานการประกวดวาดภาพ เพื่อส่งแข่งแข่งขันในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ถือเป็นการส่งเสริมเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถ ให้มีโอกาสได้แสดงศักยภาพของตนในทางที่เหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการขอแสดงความยินดีกับผลงานที่ได้รับรางวัล 9 ผลงานสุดท้าย รางวัลชนะเลิศ /รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 ในแต่ละกลุ่มอายุ (ระดับอายุไม่เกิน 8 ปี, ระดับอายุ 8-11 ปี และ ระดับอายุ 12-15 ปี) และทุก ๆ ผลงานที่ส่งเข้าประกวด ถือเป็นการนำความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการของเด็กและเยาวชนไทยต่อยอดเพื่อพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการยินดีให้ความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการประกวดวาดภาพระบายสี “โตโยต้ารถยนต์ในฝัน 2025” ไปยังนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกแห่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรับรู้และเข้าถึงโครงการฯ เพื่อสมัครและส่งผลงานเข้าประกวด กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมสนับสนุนเยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพทางศิลปะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะด้าน Soft Skill โดยเฉพาะด้านความคิดสร้างสรรค์ ขอขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้น และจัดต่อเนื่องมานานถึง 14 ปี และยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนของชาติต่อไป สุกัญญา จันทรสมโภชน์ / สรุป ณัฐพล สุกไทย / กราฟิก ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
9 มิถุนายน 2568 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ร่วมขับเคลื่อนโครงการ THAI Academy – Al in Education มุ่งยกระดับระบบการศึกษาไทยเข้าสู่ยุคใหม่ วางรากฐานพร้อมสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วย AI ให้กับคนไทยทุกช่วงวัย เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษาด้วยแพลตฟอร์มและเครื่องมือดิจิทัลแห่งอนาคต ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย โถงชั้น 1 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ. กล่าวว่านับเป็นก้าวสำคัญในการพลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยพลังของ AI และเทคโนโลยีจากบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) สะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ควบคู่ไปกับการลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ คุณภาพ ไม่ถูกจำกัดด้วยพิกัดที่อยู่ และเด็กไทยต้องเติบโตอย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ภายใต้วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายสร้างระบบนิเวศ AI ที่เข้มแข็ง โดยมุ่งผลิตบุคลากรเฉพาะทางกว่า 30,000 คน และ พัฒนาทักษะ AI ให้ประชาชนทั่วไปกว่า 10 ล้านคนภายในปี 2570 กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์“3+1 ภาษา”ได้แก่ ภาษาไทย จีน อังกฤษ และ ภาษาดิจิทัล เพื่อให้เยาวชนไทยมีทักษะพร้อมสำหรับโลกอนาคต ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการยกระดับการศึกษา คือโครงการ“Anywhere Anytime”บนแพลตฟอร์ม NDLP (National Digital Learning Platform) ที่กำลังพัฒนาให้เป็น“ห้องเรียนกลางของประเทศ”เป็นระบบเรียนรู้ครบวงจรที่รองรับ ทั้งนักเรียน ครู และผู้บริหาร ด้วยเป้าหมายในการสร้างระบบการศึกษาที่เท่าเทียม ยืดหยุ่น และทันสมัยอย่างแท้จริง สำหรับในระยะแรก NDLP จะช่วยให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายกว่า 600,000 คนทั่วประเทศ เข้าถึง บทเรียนมาตรฐานเดียวกัน ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระ พร้อมขยายสู่ระดับชั้นอื่นอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับ ไมโครซอฟท์ นำเนื้อหา AI และทักษะแห่งอนาคตเข้าสู่ระบบในรูปแบบ microlearning ที่เรียนง่าย ใช้เวลาสั้น แต่ต่อเนื่อง และตรงกับความสนใจของผู้เรียน เด็กไทยจะได้โอกาสการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามจังหวะชีวิตและความถนัดของตนเองอย่างแท้จริง ด้วยเนื้อหาที่มีคุณภาพพร้อมรับกับโลกอนาคต ในส่วนของครูสามารถเข้าถึงบทเรียนคุณภาพและสื่อการสอนที่ครบถ้วนได้ทันที มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมสร้างเนื้อหาที่เหมาะสม ช่วยให้การวางแผนการสอนตอบสนองผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้บริหารจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ระบบติดตามผลการเรียนแบบเรียลไทม์ การวิเคราะห์จุด ที่โรงเรียนต้องพัฒนา การอนุมัติเอกสารผ่านระบบดิจิทัล ลดงานซ้ำซ้อน และคืนเวลาให้ผู้บริหารเพื่อมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษา ขอเน้นย้ำว่า AI in Education และ NDLP ไม่ใช่แค่การเพิ่มเทคโนโลยี แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ที่ยกระดับทั้งผู้เรียน ผู้สอน และระบบการจัดการศึกษา ให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และตอบโจทย์อนาคต ต่อยอดองค์ความรู้ในระดับมหาวิทยาลัย ผ่านหลักสูตร AI ออนไลน์ฟรีกว่า 200 หลักสูตร เกิดเป็นระบบการศึกษาที่ไร้รอยต่อ จากโรงเรียนสู่มหาวิทยาลัยและสู่การสร้างสังคมแห่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้รับความร่วมมือจาก Microsoft ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม NDLP ให้มีความทันสมัยและดียิ่งขึ้นเพื่อสอดรับกับการจัดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยแนวทางในการดำเนินการจะสื่อสารไปยังคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาในการเรียนรู้และบริหารจัดการเพื่อถ่ายทอดสู่ผู้เรียน ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลและคำแนะนำอย่างใกล้ชิด สามารถนำ AI เป็นผู้ช่วยในการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ปลัด อว. กล่าวว่าปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ซับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ การพัฒนากำลังคนจึงต้องทันกับความเปลี่ยนแปลง ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่จำกัดอายุหรือสถานะทางการศึกษา ความร่วมมือในวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของระบบที่ทุกคนจะมีสิทธิ์เข้าถึงความรู้ใหม่ และสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ โดย อว.ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาทั่วไปและการพัฒนาทักษะข้ามสายงานในสถาบันอุดมศึกษา (GETS) เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของทรัพยากรบุคคลให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ เป็นแพลตฟอร์มรองรับโครงการความ ร่วมมือดังกล่าวนี้ต่อไปในอนาคต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่าวันนี้คือจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานด้านการศึกษาที่แข็งแกร่ง โดยนำทักษะ AI มาให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ทั้งการเพิ่มทักษะภาษา การลดช่องว่างระหว่างผู้สอนและผู้เรียน รวมถึงยกระดับจากการเป็นผู้ใช้งานไปสู่ผู้สร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูด้วยทักษะ AI ตั้งแต่ระดับพื้นฐานและชั้นสูง ซึ่งในอนาคตจะมีการวางแผนระยะยาวร่วมกันเพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย เชื่อมโยงทุกวัยสู่ระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ โครงการ THAI Academy – Al in Education ได้ครอบคลุมถึงการพัฒนาทักษะ AI เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตั้งแต่ระดับประถม ศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา อาชีวศึกษา ไปจนถึงการเรียนรู้นอกระบบ นอกจากนี้ ศธ. และ อว. ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาคลังหน่วยกิตกลาง หรือ National Credit Bank System ซึ่งจะเป็นระบบที่รวบรวมผลการเรียนรู้ในทุกช่วงวัยเข้าสู่ฐานข้อมูลเดียว และยังมีแอปพลิเคชันพอร์ตโฟลิโอ ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถวางแผนเส้นทางการศึกษาและอาชีพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาจึงไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในห้องเรียนหรือกรอบของอายุอีกต่อไป แต่จะเป็นระบบที่เชื่อมโยงการเรียนรู้กับโอกาสการทำงานในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม พบพร...
9 มิถุนายน 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นางสาวพิมพ์พร ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าเยี่ยมชมและให้กำลังใจในการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือทางการศึกษากับต่างประเทศ “สู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยมี ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน รวมพลังการศึกษาไทยสู่เวทีโลก” ณ โรงแรม ปริ๊นพาเลซ กรุงเทพฯ พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมปาฐกถาพิเศษ “อนาคตการศึกษาไทยในเวทีสากล : ความร่วมมือและโอกาสที่ควรพัฒนา“ โดยมี ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา นางสาวจิตรลดา จันทร์แหยม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. นักวิชาการ นักวิจัย บุคลากรด้านการศึกษา เข้าร่วมในรูปแบบผสมผสานทั้งออนไซต์ และออนไลน์ผ่าน Facebook Live ศธ. 360 องศา และ ETV Channel รองปลัด ศธ.กล่าวว่า“การพัฒนาคุณภาพการศึกษา”เป็นภารกิจสำคัญในการสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กไทยและคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าในด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขับเคลื่อนนโยบาย“เรียนดี มีความสุข” (Happy Learning)ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในปัจจุบัน โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พร้อมส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาและสนับสนุน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีความสุข เพราะการศึกษาในยุคปัจจุบันไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงในห้องเรียนหรือหนังสือเรียนเท่านั้น แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะในหลายมิติ ทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ รวมถึงทักษะทางสังคม เพื่อให้สามารถปรับตัวในยุคปัจจุบันได้ การนำเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่การนำ AI มาใช้ควรเป็นเพียง “เครื่องมือช่วยงาน”ไม่ใช่ตัวแทนของครูหรือผู้สอนเพราะหัวใจสำคัญของการศึกษาไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลหรือระบบเทคโนโลยีเท่านั้น แต่อยู่ที่ “คน” โดยเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีบทบาทในการถ่ายทอดคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ได้ เราควรใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียน ช่วยในการจัดการทรัพยากรทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และเร่งรัดการดำเนินภารกิจต่าง ๆ ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีควรเดินควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทุกระดับ “การพัฒนาการศึกษาของไทยให้เท่าทันนานาประเทศ โดยเฉพาะในบริบทของเอเชียและอาเซียน เป็นภารกิจที่ท้าทาย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบและยั่งยืน การศึกษาคือรากฐานสำคัญของประเทศ การสร้างระบบการเรียนรู้ที่ดี มีคุณภาพ และสอดรับกับโลกยุคใหม่ จึงเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกภาคส่วน “รู้เขา รู้เรา ลงมือทำจริง เติบโตไปด้วยกัน” หวังว่าความร่วมมือและแนวคิดที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ทันสมัย เข้มแข็ง และยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานไทยและประเทศชาติ” นอกจากนี้การประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือการศึกษากับต่างประเทศ “สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการจัดทำ “ร่างแผนพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษากับต่างประเทศ พ.ศ. 2569 – 2573” ของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากปี พ.ศ. 2573 ตรงกับวาระสำคัญระดับโลก คือ “Education 2030” ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการศึกษาที่จัดทำโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals – SDGs) ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และยั่งยืนสำหรับทุกคน และขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศในระยะยาว แผนพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาฉบับนี้ พัฒนาให้มีความสอดคล้องและบูรณาการอย่างเป็นระบบกับแผนการศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทด้านการต่างประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การศึกษาไทยสามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและเชื่อมโยงกับมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง ขอให้พวกเราร่วมกันสร้าง “พลังเครือข่าย” ที่จะร่วมกันยกระดับการศึกษาไทยอย่างเป็นรูปธรรมในระดับนานาชาติ ภายในงานมีการเสวนาความร่วมมือทางการศึกษากับต่างประเทศ “การสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาในบริบทโลก : บทเรียนจากประสบการณ์และแนวทางในการพัฒนา” โดยมีนางสาวมนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผศ.ดร.วันวิสา สืบนุสรณ์ คล้ายจำแลง คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเสวนาดำเนินรายการโดย นางขนิษฐา ห้านิรัติศัย อดีตผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก สมประสงค์ ชาหารเวียง / FB Live ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
4 มิถุนายน 2568 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการและโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. และรองโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือกับ นายก่อพงศักดิ์ ตันติศิริรักษ์ นายกสมาคมการค้าอินฟลูเอนเซอร์ (TITA) โดยมี ผู้อำนวยการด้านงานประชาสัมพันธ์ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ ห้องประชุมวชิราวุธ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ สำหรับการหารือในครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร และพัฒนาการสื่อสารให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยนำ influencer เข้ามาช่วยสร้างสรรค์งานประชาสัมพันธ์ด้านการศึกษา เผยแพร่ข้อมูลให้บุคลากรสามารถสื่อสารได้ทั้งภายในและภายนอกให้เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันและยืนหยัดที่จะพัฒนางานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุกในยุคดิจิทัล AI ต่อไป นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ประโยชน์ในการทำงานด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายงานประชาสัมพันธ์ การผลิต เผยแพร่ และสื่อสารนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการต่อสาธารณชนก็ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการประชาสัมพันธ์ จึงได้มีกำหนดจัดอบรมหลักสูตร “พลิกโฉมการประชาสัมพันธ์ด้วย AI” ในวันที่ 12 – 14 มิถุนายน 2568 นี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายจากส่วนกลาง สำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 121 คน เข้าร่วมฯ เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI มาใช้ในการออกแบบกระบวนการประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร พร้อมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมและประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ธรรมนารี ชดช้อย / ข่าว ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ ภาพ