2 พฤษภาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 5/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ดังนี้ 1. คณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ ที่ประชุมเห็นชอบ นโยบาย ทิศทาง กรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทยกระทรวงศึกษาธิการ รายละเอียดกิจกรรมและมอบหมายผู้รับผิดชอบ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าใจและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีรากฐานจิตสำนึกรักความเป็นไทย มีคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยม และหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและสถาบันสำคัญของชาติ เป็นพลเมืองที่ดี ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการด้านการดำเนินงานของบุคคลและหน่วยงานภายนอกที่เข้าจัดกิจกรรมในสถานศึกษา ที่มีผลต่อหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและสถาบันหลักของชาติ มีการจัดทำข้อกำหนดและเงื่อนไขการจัดกิจกรรม จัดทำคู่มือหรือเอกสารแนะนำที่ชัดเจน รวมถึงกำกับดูแล ติดตามและประเมินผลและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ที่ประชุมเห็นชอบ แนวทางการอนุรักษ์ประเพณีไหว้ครูและขับเคลื่อนสู่การเป็น Soft Power ของชาติ โดยผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาดำเนินการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่นักเรียนและนักศึกษาเกี่ยวกับ พิธีไหว้ครู รวมถึงส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมในสถานศึกษา เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม 2. คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างดําเนินการขอจัดสรรงบประมาณจัดเตรียมการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง การดําเนินการโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับหน่วยงานราชการ และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง 13 หน่วยงาน และร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเตรียมการจัดทําโปรแกรมออนไลน์ “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ อย่างเป็นรูปธรรม 3. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) จัดทําแพลตฟอร์ม และพัฒนาระบบแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต คณะทำงานด้านการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” (Anywhere Anytime) ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกสื่อเทคโนโลยีสำหรับผู้เรียนระดับปฐมวัยตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้เพื่ออาชีพและมีงานทำ เพื่อนำเข้าสู่ ดิจิทัลแพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ (NDLP) คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรการป้องกันและเสริมสร้างความรอบรู้ อันตรายจากการเสพติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา และยาเสพติดทุกประเภท พร้อมขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คณะทำงานการขับเคลื่อนงานแนะแนว (Coaching) และเป้าหมายชีวิต ได้ดำเนินการพัฒนาเสริมพลังใจครูแนะแนวเพื่อการดูแลสุขภาพจิต การแนะแนวและการ Coaching นักเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และมีโครงการ “Fine MyFuture” แนะแนวการศึกษา อาชีพ ส่วนตัวและสังคม พร้อมศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบแนะแนวของประเทศไทย และจัดโครงการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) 4. คณะอนุกรรมการจัดทําระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate)และส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน (Learn to Earn) มีการดำเนินงาน ดังนี้ สกศ. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ. จัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองคุณวุฒิ พร้อมขอเพิ่มอัตราเงินเดือนสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง และขอเทียบคุณวุฒิระดับ ม.ปลาย และทักษะอาชีพ ให้เทียบเท่ากับระดับ ปวช. เพื่อใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน สพฐ. ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามการรับนักเรียนในโครงการทวิศึกษาแนวใหม่ปีการศึกษา 2567 ผ่านระบบ DMC และอยู่ระหว่างช่วงโรงเรียนดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อเตรียมการส่งเสริมการจัดการการศึกษาทวีศึกษาปีการศึกษา 2567 สอศ. ประกาศใช้หลักสูตร สอศ. 2567 และอนุมัติหลักสูตร ปวช. และ ปวส. พ.ศ. 2567 ที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงาน และมาตรฐานสากล ส่วนหลักสูตร ปวพ. กำลังดำเนินการรวบรวมผลการประชา พิจารณ์ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องมาตรฐานหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะ และสำหรับศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการ ติดตามการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ทดสอบ, จัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการพัฒนาแรงงาน, ประกาศและแจ้งหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติ, จัดกำระบบสืบค้นข้อมูลและฐานข้อมูลศูนย์กดสอบ, เชื่อมโยงนำระบบข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์ม EWE และจัดทำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนจัดทำระบบ วัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ สกร. ดำเนินการจัดทำร่างหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องด้านอาชีพให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ และจัดอบรมอาชีพเสริมในชุมชนทั่วประเทศ โดยมีผู้ผ่านการฝึกอบรมจบแล้วมีงานทำ จำนวนทั้งสิ้น 27,205 คน สช. การประชุมวิพากษ์หลักสูตรโรงเรียนนอกระบบที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ กลุ่มวิชาชีพเสริมสวยและตัดเย็บเสื้อผ้า และกลุ่มวิชาชีพบริบาล จำนวน 15 หลักสูตร 5. คณะอนุกรรมการจัดทําระบบการวัดผล เทียบระดับการศึกษา ประเมินผลการศึกษา และธนาคารเครดิตแห่งชาติ ดำเนินการออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิต ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรูปแบบการศึกษาในระบบ (สพฐ.), รูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สกร.) และรูปแบบการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี (สอศ.) พร้อมจัดทำคู่มือและออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล จัดทำหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานของแต่ละระดับการศึกษา ติดตามประเมินผลและแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกองค์กร 6. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษา เตรียมดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ในสถานศึกษาระหว่าง สป.ศธ. สพฐ. สอศ. สกร. และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน รวมถึงจัดทำร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนและนักศึกษา ตามนโยบายไม่ใช้ความรุนแรงหรือการกระทำที่สมควรแก่เหตุในสถานศึกษา และดำเนินการยกร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำทะเบียนนักเรียน...
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
2 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ครั้งที่ 2/2567 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และผู้แทนสมาคมจากภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom meeting โดยมีสรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้ เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยคุณสมบัติและจำนวนครูหรือผู้สอนของโรงเรียนนอกระบบ พ.ศ. …. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยคุณสมบัติและจำนวนครูหรือผู้สอนของโรงเรียนนอกระบบ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนครูหรือผู้สอนในโรงเรียนนอกระบบของแต่ละประเภท ให้มีความเหมาะสมกับหลักสูตรที่เปิดทำการสอนและมีจำนวนที่เหมาะสมกับนักเรียน อันจะทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนปรับแก้ร่างระเบียบฯ ตามข้อสังเกตของที่ประชุม และเสนอร่างระเบียบฯ ดังกล่าว ให้รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาลงนามต่อไป เห็นชอบระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา พ.ศ. …. โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา พ.ศ. …. เพื่อให้การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ในสถานที่ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียน อาจจัดทำหรือแปลงให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานกำหนด ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเสนอร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการเก็บรักษาเอกสารหลักฐานของโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษา พ.ศ. ….ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาลงนามต่อไป ที่ประชุมได้รับทราบ 2 ประเด็น รับทราบรายงานการแต่งตั้งผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ และกรรมการในคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ได้มีมติแต่งตั้งให้ นางสาวจินตนา สุชนชาติ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ สำหรับการแต่งตั้งกรรมการกองทุนสงเคราะห์ ประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ในแต่ละด้าน ได้แก่ 1) นางดวงพร วิวรรธนวรางค์ กรรมการประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงิน การคลัง 2) นายชูพงศ์ ปิ่นพุทธิกุล กรรมการประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารกองทุน และ 3) นายวรัชญ์ เพชรร่วง กรรมการประเภทผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย รับทราบรายงานประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษสำหรับโรงเรียนในระบบ ประเภทสามัญศึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับโรงเรียนในระบบ ประเภทสามัญศึกษา ประกาศ ณ วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เพื่อประโยชน์ในการขยายโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียน และเพื่อให้การดำเนินการมีมาตรฐานเป็นแนวทางเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย ส่วนที่ 1 บททั่วไป ส่วนที่ 2 หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอน และส่วนที่ 3 การกำกับ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนครั้งต่อไป (ครั้งที่ 3/2567) ในวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ประชาสัมพันธ์ สช. / ข่าว พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
2 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 16/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA ตามที่ สพฐ. ร่วมกับ สสวท. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสมรรถนะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง PISA นั้น ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา การเข้าร่วมการฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและการเตรียมความพร้อมการเป็นวิทยากรพี่เลี้ยง ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ) การเข้ารับอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ หรือ PISA สำหรับวิทยากรแกนนำ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และการอบรมเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Paced Learning) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงาน วางแผนการดำเนินงาน กำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ มีการกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วันที่จัดทำรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ จำแนกเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายไตรมาส ตามเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในภาพรวมของประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เพื่อให้การรายงานผลฯ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้จัดทำปฏิทินการทำงาน (Timeline) ในเรื่องของแผนงานโครงการที่เป็นงบรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงาน พร้อมระบุรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินแต่ละช่วงเวลาที่ชัดเจน พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการวางระบบสารสนเทศด้านการรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดสามารถเข้ามากรอกข้อมูลผลการดำเนินงานเป็นรายโครงการในแต่ละสัปดาห์ โดยดำเนินการใน 2 มิติ คือ การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณฯ และการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณฯ วางแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยจัดทำแอปพลิเคชัน ระบบการรายงานผลแบบ Real Time การดำเนินการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง ประจำปีงบประมาณ 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในการจัดสรรอัตราจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งนักการภารโรง ซึ่งขณะนี้ สพฐ. ได้จัดสรรอัตราจ้างทั้งสิ้นรวม 13,304 อัตรา คงเหลืออัตราที่ยังไม่ได้จัดสรรจำนวน 447 อัตรา จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จด้วยความรวดเร็วให้ทันต่อการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2567 พร้อมมอบให้ ผอ.สพท. สำรวจว่าในแต่ละสถานศึกษาในเขตความรับผิดชอบ ได้ดำเนินการจ้างนักการภารโรงครบถ้วนถูกต้องในอัตราที่ได้รับจัดสรรหรือไม่ และเร่งรายงานให้ เลขาธิการ กพฐ. รับทราบ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยของอาคารสถานที่และทรัพย์สินของโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดภาระของครู ทำให้ครูสามารถทำหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งการมีนักการภารโรงจะช่วยดูแลสภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค ดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยของครูและนักเรียน การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง รมว.ศธ.กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคมนี้ ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ในส่วนของจัดเตรียมความพร้อมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ ในการดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนฯ จำนวน 7 คณะ คือ 1) คณะทำงานด้านต้อนรับพิธีการและงานเลี้ยงรับรอง 2) คณะทำงานด้านสารัตถะ 3) คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ 4) คณะทำงานด้านการเดินทางพาหนะและรักษาความปลอดภัย 5) คณะทำงานด้านที่พักและสถานที่จัดการประชุม 6) คณะทำงานด้านสุขภาพและปฐมพยาบาล และ 7) คณะทำงานด้านการศึกษาดูงานและกิจกรรมพิเศษ พร้อมมอบหมายให้ทุกฝ่ายกำกับ ติดตามการดำเนินงาน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานภายใต้คณะทำงานด้านต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมการจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนอย่างเคร่งครัด และกำหนดปฏิทินการทำงานให้ชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ขอให้ทุกหน่วยงาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของประเทศสมาชิก เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรม/โครงการภายใต้แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน และแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาและภารกิจด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอให้คณะทำงานด้านต่าง ๆ ดำเนินงานด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้งานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ “โครงการ 72 กิจกรรม ศึกษาธิการ เทิดไท้องค์ราชัน 72 พรรษา” รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้รับทราบแผนการดำเนินโครงการ 72 กิจกรรม ศึกษาธิการ เทิดไท้องค์ราชัน...
2 พฤษภาคม 2567/ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าวโครงการ “อาชีวะล้างแอร์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ดำเนินกิจกรรมล้างแอร์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงฤดูร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และประหยัดพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยมีนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ออกให้บริการในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ต่างๆ ที่ประชาชนได้ขอรับบริการ พร้อมให้ข้อมูลความรู้พื้นฐาน แนะนำการดูแล บำรุงรักษา รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.ขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนใช้บริการล้างแอร์ ในกิจกรรมอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ ฟรี! ได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ทางhttp://www.vec.go.th, Facebook : ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ QR Code เพื่อลดการใช้พลังงาน สร้างอากาศสะอาด และได้รับการดูแลรักษาแอร์ในครัวเรือนให้มีสภาพใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างคุณภาพอากาศที่ดีภายในบ้าน ลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานในภาพรวมของประเทศด้วย เพราะการล้างแอร์ทุก ๆ 6 เดือน จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ได้อย่างน้อย 10% เลขาธิการ กอศ.กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประชาชนจะได้รับบริการล้างแอร์ ฟรี จากนักศึกษาอาชีวะแล้ว น้องๆ ยังได้พัฒนาทักษะและเพิ่มประสบการณ์วิชาชีพ ด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพิ่มศักยภาพตนเอง เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ เป็น “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” ต่อไป ปารัชญ์ ไชยเวช/ ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ/ถ่ายภาพ
1 พฤษภาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรในสังกัด เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 5 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผ่านระบบ Conference รมว.ศธ.กล่าวว่าวันนี้ถือเป็นการมอบนโยบายเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนของอาชีวะ ซึ่ง สอศ.ได้ติดตามเรื่องการรับสมัครผู้เรียนสายอาชีพในสถาบันอาชีวศึกษามาโดยตลอด โดยขณะนี้มียอดผู้สมัครจำนวน 100,000 กว่าราย และจะประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจากข้อมูลการรายงานได้ทราบว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนให้ความสำคัญกับการเรียนสายสามัญมากขึ้น ส่วนการตัดสินใจของผู้เรียนนั้นมีหลายปัจจัยที่จะเลือกเรียนสายที่ตนเองถนัด ซึ่งบางคนอาจจะสนใจทางสายสามัญมากกว่า หรือบางคนอาจไม่พร้อมเพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ออกไปเรียนหรือทำงานต่อที่ต่างประเทศ จนต้องออกกลางคันระหว่างเรียน หลังจากมอบแนวทางติดตามผู้เรียนให้กลับมาเรียนแล้ว จากนี้จึงต้องดูแลแก้ไขทุกมิติให้มีคุณภาพ ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัย สอศ.ได้วางแผนป้องกันและกำชับเรื่องบริหารจัดการกับทุกสถานศึกษาในสังกัดเรียบร้อยแล้ว เช่น เรื่องยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า การทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน ซึ่งได้มีการเฝ้าระวังในรูปแบบเชิงรุก ประสานความร่วมมือกับตำรวจนครบาลหารือในประเด็นที่เห็นว่าสามารถร่วมกันจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และคาดว่าจะมีการทำ MOU ระหว่าง สอศ. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในมาตรการป้องกันให้เข้มข้นมากขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกัน ส่วนการป้องกันปัญหายาเสพติดในสถาบันอาชีวศึกษา จะเน้นถึงการสื่อสารให้เข้าใจถึงพิษภัยยาเสพติด รวมไปถึงขอความร่วมมือจากชุมชนเข้มแข็ง เพื่อนอาชีวะ ช่วยกันดูแลเป็นหูเป็นตาในการป้องกัน ไม่ให้มีการจำหน่ายและเสพทั้งในและนอกสถานศึกษา และพยายามให้กำลังใจกันให้ตระหนักรู้ถึงอันตรายที่ตามมา “ตอนนี้สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำและประชาสัมพันธ์คือเรื่องการป้องกันการทะเลาะวิวาท เรื่องปัญหายาเสพติด และเรื่องสุขาดี มีความสุข ตามการบริหารจัดการ 4 มิติ ทั้งการบริหารจัดการศึกษา สถานศึกษา ครูและบุคลากร และ นักเรียนและนักศึกษา ที่ต้องร่วมกันทำให้มีคุณภาพ เป็นมาตรฐานเท่าเทียมกัน เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชนทั่วไปว่าจบจากสถาบันอาชีวศึกษาแล้ว ผู้เรียนเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการในตลาดแรงงานที่รับเข้าไปทำงานได้ เพราะการเรียนสายอาชีพมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำแน่นอน” รมว.ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
30 เมษายน 2567/ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีมติเห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 เห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ โดยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการปรับอัตราเงินเดือนใหม่พร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิ เป็นกลุ่มของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บรรจุใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และ 1 พฤษภาคม 2568 กลุ่มที่ 2การปรับเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นกลุ่มของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ (วันที่ 1 พ.ค. 67 และ 1 พ.ค. 68) และได้รับอัตราเงินเดือนไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนดให้ได้รับการปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละคุณวุฒิ สำหรับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิ จะทยอยปรับเพิ่มปีละ 10% ในปี 2567 และ 2568 และภายใน 2 ปี ผู้ที่บรรจุด้วยคุณวุฒิปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และปรับคุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้อง ส่วนการปรับอัตราเงินเดือนชดเชยกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะดำเนินการปรับอัตราเงินเดือนจำนวน 2 ครั้ง พร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยปรับชดเชยเงินเดือนข้าราชการที่เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับ และมีฐานเงินเดือนต่ำกว่าอัตราเงินเดือนแรกบรรจุที่กำหนดใหม่ นอกจากกลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังดำเนินการตามมติ ครม.ในการปรับเงินเดือนกลุ่มเป้าหมายข้าราชการพลเรือนสามัญ พนักงานราชการ ที่อยู่ในสังกัดอีกด้วย รวมถึงการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิมเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น ไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท ปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิมเดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท และปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำจากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท “เรียกว่าเป็นข่าวดีของคุณครูหลายๆ ท่าน ที่จะได้รับการปรับอัตราเงินเดือนใหม่พร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม ถือเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมนโยบาย “เรียนดีมีความสุข” และการพัฒนาการศึกษาของประเทศ การลดภาระครูจะส่งผลดีต่อการศึกษาของนักเรียนและการเจริญเติบโตของสังคมทั้งหมด การเพิ่มเงินเดือนยังเป็นการยืนยันถึงความห่วงใยและความใส่ใจที่รัฐบาลมอบให้ครูและข้าราชการทุกคนในประเทศอย่างเต็มใจ ขอให้การเพิ่มเงินเดือนนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ครูและข้าราชการทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความสุขยิ่งขึ้นต่อไป” นายสิริพงศ์ กล่าว นอกจากนี้วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ยังเป็นวันที่เริ่มจ้างนักการภารโรงจำนวน 13,751 อัตรา ตามนโยบายของกระทรวงศึกษา ที่มุ่งลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนของครู โดยให้โรงเรียนมีผู้ปฏิบัติงานนักการภารโรงครบทุกโรงเรียน ซึ่งหน้าที่ของนักการภารโรง ได้แก่ ดูแลและทำความสะอาดบริเวณทั่วไปภายในพื้นที่ของโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนมีความเหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน ดูแลอาคารเรียนและดูแลความสะดวกในการใช้พื้นที่ของโรงเรียน รวมถึงงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น ศธ.เชื่อมั่นว่าในปีการศึกษา 2567 ที่จะถึงนี้ เราจะมีความพร้อมมากที่สุด มีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนทุกมิติ ด้วยพลังของทุกคนในเส้นทางการศึกษา อันจะส่งผละโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนที่จะมาเป็นอนาคตของชาติต่อไป ด้วยแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”
29 เมษายน 2567/ เวลา 18.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และถวายเป็นพระกุศล แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 29 เมษายน 2567 โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้บริหารกระทรวง ข้าราชการ บุคลากรในสังกัด ประชาชน ร่วมพิธีพร้อมกัน ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพฯ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบเปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เพื่อเป็นการร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเสมอมา โดยเฉพาะด้านการศึกษาโดยทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพ สนับสนุนด้านการศึกษาให้กับประชาชนได้เรียนรู้สามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงสามารถนำความรู้มาพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ ทุน ม.ท.ศ.สนับสนุนแก่เยาวชนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมต้น ให้มีโอกาสศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน รวมถึงความช่วยเหลือส่วนพระองค์ที่พระราชทานให้ชาวกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครองในยามประสบเหตุเดือดร้อนทุกข์ยากอยู่เสมอ เป็นต้น รวมทั้งถวายเป็นพระกุศลในโอกาสที่วันนี้ 29 เมษายน 2567 เป็นวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงเจริญพระชันษา 19 ปี ซึ่งพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนไทยเสมอมา ทั้งการร่วมกิจกรรมจิตอาสาในโครงการจิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เสด็จฯ ไปประทานสิ่งของแก่ตัวแทนจิตอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ ทรงประกอบอาหารประทานให้แก่จิตอาสาฯ ทั้งยังทรงสนพระทัยในพระพุทธศาสนา และด้านกีฬาเป็นอย่างยิ่ง โดยกระทรวงศึกษาธิการจะได้น้อมนำแนวทางการมีหัวใจเป็นจิตอาสาไปปลูกฝังให้เยาวชนทั่วประเทศได้ปฏิบัติตาม เพื่อให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อ สร้างสังคมน่าอยู่ ตามแนวทาง “เรียนดีมีความสุข” ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง, ณัฐพล สุกไทย/ถ่ายภาพ
จังหวัดขอนแก่น – 29 เมษายน 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานประชุมสัมมนาวิชาการ “ ยกระดับคุณภาพผู้บริหารการศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาและวิชาชีพ” ประจำปี 2567 ณ โรงแรมเจริญธานี โดยมี นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมคณะมาด้วย และมี นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ประธานเขตตรวจราชการ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพป.) และผอ.สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (ผอ.สพม.) รองผอ.สพป.และรองผอ.สพม. ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมมอบโล่ ให้กับ ผอ.สพป. , ผอ.สพม. ,รองผอ.สพป. และรองผอ.สพม. รมช.ศธ.กล่าวว่า ตนมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดงาน ประชุมสัมมนาวิชาการ “ยกระดับคุณภาพผู้บริหารการศึกษา เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาและวิชาชีพ” ประจำปี 2567 ในวันนี้ การประชุมสัมมนาฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริหารการศึกษา ได้ร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงาน ร่วมทั้งได้สร้างเครือข่ายทางการศึกษาที่มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ได้รับความรู้ความเข้าใจ เพิ่มพูนประสบการณ์ในการบริหารการศึกษา ส่งผลต่อสมรรถนะในการบริหารจัดการ ยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้บริหารการศึกษาได้มีโอกาสรับฟัง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการ วิชาชีพอย่างกว้างขวาง หลากหลายและทันต่อสถานการณ์ นําองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาการจัดการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ทำให้ผู้บริหาร ครู ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำงานอย่างมีความสุข นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป “ขอชื่นชมแนวคิดและวิธีการความร่วมมือในการจัดงานของสมาคม รองผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งยังขอแสดงความยินดีกับรางวัลที่ทุกท่านได้รับในครั้งนี้ ขอให้ทุกท่านให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาให้มีคุณภาพ ร่วมกันบูรณาการการทำงานเชิงพื้นที่ หาวิธีการที่จะทำให้นักเรียนของเรา เรียนดี มีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามนโยบายของท่าน พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ขอขอบคุณคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ขอให้การจัดงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ทั้งยังขอเป็นกําลังใจให้กับทุกท่านในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผมจะเป็นอีกหนึ่งพลังที่เดินไปพร้อม ๆ กับทุกท่าน จับ มือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว รมช.ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ขอเน้นย้ำในสิ่งที่เคยฝากไว้แล้วในเรื่องการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 ได้แก่ 1. ความปลอดภัยในสถานศึกษา การเตรียมความพร้อมของอาคารสถานที่ สภาพห้องเรียน บริเวณโรงเรียน การปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำโรงเรียน การปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ ของนักเรียน 2.การเฝ้าระวังความปลอดภัยในการเดินทางมาเรียนของนักเรียน 3. การสอดส่อง/เฝ้าระวังอันตรายจากบุคคลภายนอก ที่อาจเข้ามาสร้างความไม่ปลอดภัย ให้กับครู และนักเรียนภายในโรงเรียน 4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ปกครอง หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ตำรวจ สาธารณสุข กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เพื่อช่วยกันสอดส่องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด 5. การใช้สื่อสังคมออนไลน์และไซเบอร์อย่างสร้างสรรค์ 6.โครงการอาหารกลางวันของนักเรียนให้ถูกต้อง เหมาะสมตามหลักโภชนาการ และ7. การจ้างนักการภารโรง เพื่อดูแลสภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค และทรัพย์สินของทางราชการ รวมถึงดูแลความปลอดภัยของครูและนักเรียน ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือนที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา และหวังว่าทุกท่านจะร่วมมือกันทำงานให้เกิดประสิทธิผล และประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อไป
นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนประธานที่ประชุมอาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ในปี 2567 (Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) เข้าร่วมการประชุม ASEAN Green Jobs Forum ระหว่างวันที่ 24 – 25 เมษายน 2567 ณ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ผ่านโครงการริเริ่มออสเตรเลียสำหรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลและทักษะในอนาคตของอาเซียน (Aus4ASEAN Digital Transformation and Future Skills Initiative) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนางานสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาค ร่วมหารือและแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี ร่วมสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ติมอร์-เลสเต และ ออสเตรเลีย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แนวทางการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เน้นย้ำความสำคัญกับนักเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข (Happy Learning)” รวมถึงผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีความครอบคลุมและแพร่หลายในการบริหารงานและการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยมีโครงการสนับสนุนอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการศึกษาให้กับครูและนักเรียน เพื่อให้ครูเป็นผู้ส่งเสริมนักเรียนในการใช้สื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ตลอดจนการลดภาระของครูและนักเรียนเพื่อให้มีเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ ยังได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสีเขียว ในการปลูกฝังเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมความพร้อมให้เป็นผู้ที่มีความตระหนักรู้ มีความรู้ความสามารถด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มี Green skills พร้อมกับงานในอนาคต เป็น Green Citizen ที่มีศักยภาพในอาเซียน โดยความร่วมมือกับกระทรวง ภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ โครงการโรงเรียนสีเขียว โครงการ Eco-School โครงการลูกเสือจิตอาสา โครงการการศึกษาสีเขียว ‘Green Education Initiative’ ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาฝีมือนักเรียนอาชีวศึกษา โดยที่ประชุมได้มีการร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติกับผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนองค์การนายจ้างและลูกจ้างจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยได้กล่าวถึง Green Jobs หรือ งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากความตระหนักที่มีมากขึ้นถึงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ที่ได้ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความต้องการต่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นที่มาของงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น หารือในการส่งเสริมงานสีเขียว ส่งเสริม MSME ด้านสีเขียว และสร้างความเชื่อมั่นว่าแรงงานอาเซียนจะมีทักษะฝีมือและมีความยืดหยุ่นทางอาชีพมากพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ศธ. / ข่าว-ภาพ
เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “2nd UN Ocean Decade Regional Conference & 11th WESTPAC International Marine Science Conference” โดย นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีในพิธี ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ.กล่าววว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ตามกรอบการดำเนินงานของสำนักงานคณะอนุกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก (IOC/WESTPAC) เป็นอย่างดีเสมอมา และขอชื่นชมการดำเนินงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เป็นส่วนสำคัญในการประสานงานทศวรรษแห่งมหาสมุทร ในด้านการศึกษานั้นอยากเน้นย้ำเรื่องการสร้างขีดความสามารถให้แก่เยาวชน ที่ตอนนี้มีการดำเนินโครงการขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ทางทะเลและมหาสมุทรไปสู่การเรียนการสอนในโรงเรียนนำร่องกว่า 1,500 แห่ง ใน 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ ตระหนักถึงคุณค่า และมีส่วนร่วมในการรักษาทะเลและมหาสมุทร รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมด้วย สำหรับการประชุมครั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพร่วมกับ IOC/WESTPAC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร ทั้งผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ นักวิจัย NGOs ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น หาแนวทางแก้ไขปัญหาและหาข้อท้าทายเพื่อการพัฒนา สู่ทศวรรษแห่งมหาสมุทรในปี ค.ศ. 2030 อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับเผยแพร่ผลงาน การแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงด้านการศึกษาของประเทศไทยด้วย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการบูรณาการระหว่างประเทศ ให้เกิดการพัฒนาและนำองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลไปใช้ในการพัฒนาและการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2567 โดยภายในงานมีการบรรยายพิเศษ และการประชุมย่อยแบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1) Ocean Processes and Climate Change 2) Marine Biodiversity, Seafood Safety and Security 3) Ocean and Human Health และ 4) Emerging Ocean Sciences and Cross-cutting Issues และมีการจัดแสดงนิทรรศการ การนำเสนอผลงานวิจัย และการประกวดภาพถ่าย โดยมีผู้แทน กว่า 1,200 คน จาก 40 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก เข้าร่วม พบพร ผดุงพล / ข่าว สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ข้อมูล / ภาพ
24 เมษายน 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 11 (11th Asia – Pacific Regional Scout Leaders Summit, 2024) โดย นายแอนดี้ แชปแมน ประธานคณะกรรมการลูกเสือโลก, นายอะห์มัด อัลฮินดาวี เลขาธิการสำนักงานลูกเสือโลก, ฯพณฯ เดล บี โควาร่า ประธานคณะกรรมการลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก, นายเจอาร์ ปังกิลินัน ผู้อำนวยการสำนักงานลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ผู้บริหารสูงสุดของสมาคมลูกเสือแห่งชาติ จากทุกประเทศสมาชิกภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร รมว.ศธ. กล่าวว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจการลูกเสือไทยและลูกเสือโลกเป็นอย่างมาก จึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการกิจกรรมลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนให้มีระเบียบวินัย กล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน รู้จักหน้าที่ ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงพัฒนาให้เด็กและเยาวชนมีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ดี การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ที่ผู้บริหารงาน เกิดทักษะการบริหารจัดการ นำไปพัฒนากิจการลูกเสือที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด หลักการทางการลูกเสือ ตลอดจนมีการนำเสนอผลงานโครงการพิเศษของสำนักงานลูกเสือโลก และภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ด้านการพัฒนาองค์กรที่เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังมีการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ เพื่อเปิดมุมมอง วิสัยทัศน์ที่จะสามารถนำไปพัฒนากิจการลูกเสือของประเทศสมาชิกได้ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติของประเทศไทย ขอขอบคุณสมาชิกขององค์การลูกเสือโลกที่ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมที่ประเทศไทยในครั้งนี้ ขอให้มีความสุขตลอดการเข้าร่วมงาน ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งสำนักงานลูกเสือแห่งชาติของประเทศไทย ยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีของประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนา ยกระดับเด็กและเยาวชนผ่านกระบวนการลูกเสือให้เป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพ นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติกล่าวว่า ในนามผู้นำลูกเสือไทย รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่ผู้นำลูกเสือระดับภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก มาเยี่ยมเยียนประเทศไทย การมารวมกันของสุดยอดผู้นำจากหลากหลายประเทศในวันนี้ มีจุดหมายเดียวกันคือสร้างเด็กและเยาวชนในภูมิภาคให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ผ่านกระบวนการลูกเสือ มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก หวังว่าการแลกเปลี่ยนมุมมองจากทุกฝ่ายจะถูกนำไปต่อยอดในการพัฒนากิจการลูกเสือในแต่ละประเทศ และส่งเสริมการดำเนินการในภาพรวมของกิจการลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก และลูกเสือโลกต่อไป พบพร ผดุงพล / ข่าว กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. / ภาพ
กระทรวงศึกษาธิการ 24 เมษายน 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดี สกร. และผู้บริหาร/คณะกรรมการ เข้าร่วมประชุมด้วยระบบ e-Meeting (ไม่ใช้กระดาษ) ณ ห้องประชุมราชวัลลภ รมว.ศธ. กล่าวว่าที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป. 112/2567 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เป็นประธาน ซึ่งมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. เป็นฝ่ายเลขานุการ องค์ประกอบรวมทั้งสิ้น 24 คน นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายละเอียดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย รายละเอียดดังนี้ 1)ส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัย เข้าใจและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย มีรากฐานจิตสำนึกรักความเป็นไทย มีคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยม และหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและ สถาบันสำคัญของชาติเป็นพลเมืองที่ดี 2)กำหนดคุณลักษณะของผู้สมัครเข้ารับราชการ เพื่อให้ได้ข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน มีจิตสำนึกรักและภูมิใจในความเป็นไทย มีจิตอาสา คุณธรรมจริยธรรม และจรรยาข้าราชการ ปฏิบัติหน้าที่ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม 3)ส่งเสริมให้ข้าราชการบรรจุใหม่ และข้าราชการ บุคลากร ทุกระดับ ทุกประเภท เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีของแผ่นดิน มีจิตสำนึก จิตอาสา คุณธรรมและจริยธรรม ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม ประพฤติตนเป็นข้าราชการที่ดีตามรอยพระยุคคลบาท และสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างนโยบาย ทิศทางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงร่างแนวทางการจัดกิจกรรมในสถานศึกษาที่มีผลต่อหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติ บ้านเมือง และสถาบันหลักของชาติ และ ร่างแนวทางการอนุรักษ์ประเพณีไหว้ครู และขับเคลื่อนสู่การเป็น Soft Power ของชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 โดย รมว.ศธ. ได้มอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการพิจารณาทบทวนในส่วนที่รับผิดชอบอย่างละเอียด เพื่อส่งข้อมูลจับต้องได้ที่ชัดเจนให้ฝ่ายเลขานำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 พบพร ผดุงพล / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
24 เมษายน 2567/ นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อดำเนินการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ นายธนู ขวัญเดชกล่าวว่า คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ชุดนี้ แต่งตั้งโดยคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเชียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่กำหนดแผนและมาตรการในการดำเนินงานของหน่วยร่วมปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนด ในการประชุมวันนี้ฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอแผนการประชาสัมพันธ์และมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนการประชุม ประกอบด้วย การจัดทำเว็บไซต์http://www.13ASED.moe.go.thการจัดงานแถลงข่าว ออกแบบและเผยแพร่ป้ายประชาสัมพันธ์ จัดจ้างสื่อโฆษณา จัดทำสปอตโฆษณาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพบนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสร้างการรับรู้ เป็นต้น ระหว่างการประชุม มีแผนการถ่ายทอดสดพิธีเปิดการประชุมผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง สื่อออนไลน์ รวมถึงถ่ายทอดสดช่วงกิจกรรมเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ และจัดแถลงข่าวหลังพิธีเปิดการประชุม ผลการประชุม พิธีปิดการประชุม หรือปฏิญญา หรือข้อตกลงต่าง ๆ จากการประชุม หลังการประชุม ดำเนินการเผยแพร่สกู๊ปวีดิทัศน์ ผลความสำเร็จการจัดงานทางสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และสกู๊ปข่าวทางสื่อสิ่งพิมพ์ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยประเทศไทยเจ้าภาพจัดงาน ในหัวข้อหลัก “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และอเมริกา ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรม/โครงการภายใต้แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน พ.ศ. 2564 – 2568 แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม พ.ศ. 2561 – 2568 และร่วมกำหนดนโยบายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้ยึดเป็นแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาภายใต้กรอบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นเวทีให้ผู้นำด้านการศึกษาของรัฐบาลประเทศสมาชิกและภาคีต่าง ๆ ระดมความคิดเห็นและทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาการประชุมด้านการศึกษาของอาเซียน ปี 2567 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย จาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงให้เห็นศักยภาพและบทบาทนำของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียน ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาของภูมิภาค ไปสู่ทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ ปารัชญ์/ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ/ถ่ายภาพ
24 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 15/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบออนไลน์ ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รมว.ศธ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รวม 8 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 โดยมี นายเธียรชัย ณ นคร เป็นประธานกรรมการฯ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์, รศ.ปานใจ ธารทัศนวงศ์, รศ.อดิศร เนาวนนท์, รศ.จิรดา วุฑฒยากร, น.ส.พรวิลัย เดชอมรชัย, ร.ต.ท.หญิง สุทธิมา พิพัฒน์พิบูลย์ และนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เป็นคณะกรรมการฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ชื่นชม “ศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน” (Fix it Center) ที่ร่วมส่งความสุข มอบความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่ผ่านมา รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ร่วมมือร่วมใจในการดำเนินกิจกรรม “ศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน” เทศกาลสงกรานต์ 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จัดขึ้น 104 ศูนย์ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 8.30 น.- 20.30 น. บนถนนสายหลัก และถนนสายรอง ภายใต้โครงการบูรณาการการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ กับการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนสายอาชีวศึกษาที่มีจิตอาสา ในแคมเปญ “ส่งความสุข มอบความปลอดภัยในการเดินทาง” ให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษากับสถานการณ์จริง ได้นำความรู้มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม รวมถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน ที่มาร่วมสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ “สุขาดี มีความสุข” ห้องน้ำโรงเรียนต้อง “สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม” ตามที่ รมว.ศธ. มีนโยบายในการปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนโดย สพฐ. จะจัดสรรงบประมาณปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนกว่า 100 ล้านบาท ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ประมาณ 9,700 แห่ง ที่มีนักเรียน 80 คนลงมา โดยงบที่จัดสรรให้จะให้โรงเรียนทาสีห้องน้ำเปลี่ยนสุขภัณฑ์หรือระบบประปาใหม่ ในด้านการสร้างความเท่าเทียมในการใช้ห้องน้ำ ที่ให้ครูกับนักเรียนเข้าห้องน้ำร่วมกันได้ โดยแบ่งแยกเฉพาะห้องน้ำชาย-หญิงนั้น เป็นข้อแนะนำของ รมว.ศธ. ซึ่งก็แล้วแต่ความเหมาะสมของโรงเรียนที่จะดำเนินการ ไม่ได้เป็นการบังคับหรือสั่งการให้ปฏิบัติทุกโรงเรียน เพียงแต่ประสบการณ์ของตนเองที่เคยทำงานมา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ประชาชน หรือนักเรียน ก็สามารถใช้ห้องน้ำที่สะอาดร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกกัน สิ่งสำคัญได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารดำเนินการกำกับ ติดตาม และเร่งรัดให้ทุกโรงเรียนดำเนินการสำรวจข้อมูลสภาพห้องน้ำทุกโรงเรียน และวางแผนดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมห้องน้ำโรงเรียน โดยต้องมีความ “สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม” และดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อไม่ให้กระทบต่อกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน โดยปรับปรุงทาสี จัดหาอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ สวยงาม เหมาะสม พร้อมทั้งบันทึกภาพทั้งก่อนและหลังการดำเนินการแล้วเสร็จ และรายงานผลการดำเนินงานก่อนเปิดภาคเรียน การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษาที่ 1/2567 รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”ผู้บริหารส่วนกลาง ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งมีกำหนดเปิดภาคเรียนในวันที่ 16 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จึงขอให้สถานศึกษาดำเนินการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ ทั้งความปลอดภัยของสถานศึกษา ให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียน จนออกจากโรงเรียนและเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน รวมทั้งการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันแก่นักเรียน อาทิ...