23 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 ทั้งในด้านความปลอดภัยและการจัดการเรียนการสอน โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม จำนวน 650 คน ณ ห้องประชุมฉัตรแก้ว โรงเรียนสตรีนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting กว่า 21,002 คน และรับชมถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง OBEC Channel จำนวน 20,905 คน รวมทั้งสิ้นกว่า 42,557 คน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้สื่อสารนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้แก่ผู้บริหารเขตพื้นที่และสถานศึกษา ซึ่งทุกคนเป็นเป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญในการเชื่อมต่อนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ ตัวผู้เรียน ทำอย่างไรให้ “เรียนดี มีความสุข” ทั้งนี้ ศธ. มีกำหนดเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 จึงขอให้สถานศึกษาดำเนินการในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา ให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียน และเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน กิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติม เป็นต้น ด้านเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ สถานศึกษาประสานเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต บูรณาการความร่วมมือการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กนักเรียน เป็นต้น “ก่อนเปิดภาคเรียนปีนี้ก็จะมีความแปลกใหม่เล็กน้อย ซึ่งทุกท่านก็คงทราบอยู่แล้ว เรื่องของการจ้างนักการภารโรง ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสรรหาบุคคล ซึ่งตามแผนแล้วจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ และจะเริ่มจ้างในวันที่ 1 พฤษภาคม วันนี้เราจึงมาประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจกันก่อน และมอบนโยบายการปฏิบัติงานทุกเรื่อง ไม่ว่าจะในมิติของเรื่องสภาพแวดล้อม สถานที่ ด้านวิชาการ การรักษาความปลอดภัยในการดูแลเด็ก ๆ ผมและ รมช.ศธ.ก็ได้ถือโอกาสมาให้กำลังใจทุกท่าน โดยจากที่ติดตามการทำงานมาตลอดก็เห็นว่า เลขาธิการ กพฐ.และผู้บริหารระดับสูงทุกท่านล้วนมีความพร้อมในการขับเคลื่อน ซึ่งการประชุมวันนี้มีผู้เข้าร่วมรับฟังในแต่ละช่องทางจำนวนมาก เราก็จะให้สแกน QR Code เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สื่อสารกลับมาว่าการรับรู้การถ่ายทอดวันนี้เป็นอย่างไร มีสิ่งใดที่สงสัย หรือไม่เข้าใจก็สามารถแจ้งเข้ามา เราจะติดตามนำข้อคำถาม คำแนะนำต่าง ๆ มาพัฒนาให้ดีที่สุด” รมว.ศธ. กล่าว รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องการสร้างความเท่าเทียมในการใช้ห้องน้ำ ที่ให้ครูกับนักเรียนเข้าห้องน้ำร่วมกันได้โดยไม่แบ่งแยกนั้น ก็เป็นข้อแนะนำของรัฐมนตรี ซึ่งก็แล้วแต่ความเหมาะสมของโรงเรียนที่จะดำเนินการ ไม่ได้เป็นข้อสั่งการหรือข้อบังคับให้ปฏิบัติทุกโรงเรียน โดยประสบการณ์ของรัฐมนตรีเองที่เคยทำงานมา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ประชาชน นักเรียน ข้าราชการ พ่อค้าหรือใครก็ตาม สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกกัน การที่เน้นย้ำเรื่องของห้องน้ำเพราะว่าห่วงใยเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย สิ่งนี้สำคัญมากกว่าประเด็นที่ครูใช้ห้องน้ำของนักเรียน หรือนักเรียนใช้ห้องน้ำของครูแล้วจะทำให้เกิดความไม่เคารพกัน หากเราสามารถมาใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ ก็เป็นมิติหนึ่งที่สามารถทำได้ที่ครูได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งบางทีครูเข้าไปในห้องน้ำนักเรียน อาจจะได้เห็นว่ามีอุปกรณ์ชำรุดก็จะได้เร่งซ่อมแซม หรือแม้แต่หากเกิดมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เช่น การกลั่นแกล้งบูลลี่กัน การแอบสูบบุหรี่หรือสารเสพติด ครูก็จะรับรู้และช่วยแก้ไขได้ ทั้งนี้ก็เป็นดุลพินิจของโรงเรียนว่าจะแยกห้องน้ำหรือไม่แยกก็ได้ แต่กำชับว่าห้องน้ำครูและห้องน้ำนักเรียนต้องมีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ อุปกรณ์ที่ใช้ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน “ดังนั้น ในห้วงเวลาก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่นี้ จึงขอความร่วมมือจากทุกท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่กำกับดูแลสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนดูแลนักเรียนเป็นจำนวนมาก ได้ร่วมกันในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ทั้งในด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงด้านความปลอดภัย อาคารสถานที่ อุปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จ นำไปสู่การสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาครอบคลุมทุกด้าน เป็นประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป”รมว.ศธ. กล่าว นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ.ได้กล่าวแสดงความห่วงใยครูและนักเรียน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน จะเห็นได้ว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ สามารถลดภาระครูได้อย่างชัดเจนและสร้างความสุขให้ครูได้ไม่น้อย แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างความสุขให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น เพราะจากนี้ไปพวกเราจะมาช่วยกันทำให้ความสุขเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นในการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครู ผู้ปกครอง นักเรียน รวมทั้งขอย้ำว่านโยบาย ศธ. จะมีแต่นโยบายที่ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา จะไม่มีนโยบายไหนที่ออกไปแล้วสร้างภาระนอกเหนือจากการสอนให้กับครูและบุคลากรของเรา หรือภาระที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงมีแต่จะต้องโดนลดลงไป การเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 นี้จะเป็นปีแรกจริง ๆ ที่จะดำเนินการตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” ดังนั้นนโยบายที่กำลังออกมาเรื่อย ๆ จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องคุณภาพการศึกษา สภาพแวดล้อม สถานที่การจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 29,000 กว่าแห่ง อีกเรื่องหนึ่งคือ ห้องสุขา ก็เป็นนโยบายที่ รมว.ศธ.ให้ความสำคัญ ซึ่งมาจากเสียงสะท้อนของเด็กนักเรียน เราก็นำมาขับเคลื่อนแก้ปัญหา เพื่อให้ลูก...
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
มติคณะรัฐมนตรี (23 เมษายน 2567) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ อนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รวม 8 ราย และเห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยไม่ถือเป็นวันลา อนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ สทศ. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รวม 8 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ดังนี้ นายเธียรชัย ณ นครประธานกรรมการ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์ปานใจ ธารทัศนวงศ์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์อดิศร เนาวนนท์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์จิรดา วุฑฒยากรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นางสาวพรวิลัย เดชอมรชัยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร้อยตำรวจโทหญิง สุทธิมา พิพัฒน์พิบูลย์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายธนาวัฒน์ สังข์ทองกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นต้นไป เห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่ถือเป็นวันลา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2567 (รวม 23 วัน) การดำเนินการ/กิจกรรม ระยะเวลา (1) การรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ (สปน.ได้มีหนังสือแจ้งเวียนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐด้วยแล้ว) วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม-วันอังคารที่ 30 เมษายน 2567 (2) การตรวจสอบคุณสมบัติ เดือนพฤษภาคม 2567 (3) การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ เดือนมิถุนายน 2567 (4) การเตรียมดำเนินโครงการฯ เช่น จัดหาเครื่องอัฐบริขารและการขอมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่ถือเป็นวันลา เดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน 2567 (5) พิธีปลงผม (โดยมีการรายงานตัวในวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567) วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 (6) พิธีรับประทานผ้าไตรจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธฯ (ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จากส่วนกลาง 73 คน และผู้แทนจังหวัด ๆ ละ 1 คน) วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 (7) พิธีบรรพชาอุปสมบท วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 (8) ศึกษาและปฏิบัติธรรม วันจันทร์ที่ 15-วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 (9) พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 (10) การศึกษาและปฏิบัติธรรม วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม-วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 (11) พิธีลาสิกขา วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2567 ทั้งนี้ ผู้ที่เคยลาอุปสมบทระหว่างรับราชการมาแล้ว สามารถลาบรรพชาอุปสมบทถวายพระราชกุศลครั้งนี้ได้อีก โดยจะได้รับเงินเดือนตามปกติในระหว่างการลา สำหรับผู้ที่ไม่เคยลาอุปสมบทระหว่างรับราชการมาก่อน และได้ลาบรรพชาอุปสมบทถวายพระราชกุศลในครั้งนี้ จะได้รับเงินเดือนตามปกติในระหว่างการลาและจะไม่เสียสิทธิในการลาอุปสมบทที่จะได้รับเงินเดือนระหว่างการลาในอนาคต บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษา ระหว่างนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อผลักดันความรู้ทางการเงินเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนากรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับภาคการศึกษา (Financial Competency Framework for Educational Purpose) รวมถึงเป็นแนวทางกำหนดการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมแก่นักเรียนแต่ละระดับชั้นการศึกษา อีกทั้งยังได้กำหนดเนื้อหาความรู้ทางการเงินที่จำเป็นและสำคัญ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร เครื่องมือและสื่อการสอนต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันให้เกิดเครือข่ายครูแกนนำที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับและส่งต่อความรู้ทางการเงินภายในสถานศึกษาได้ในวงกว้างและยั่งยืน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและเครือข่ายสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามบันทึกข้อตกลงนี้ ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษาของ 6 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในภาคการศึกษา ที่จะปลูกฝังให้เยาวชนสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม เสริมทักษะชีวิตที่สำคัญแก่กำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ให้มีความรู้ ทักษะ และค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง ครอบคลุมการมีเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสม มีเงินออมและประกันภัยเพื่อคุ้มครองตนเองเวลาฉุกเฉิน มีการลงทุนที่เพียงพอ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในทุกช่วงวัยจนถึงวัยเกษียณ มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม รู้จักเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงมีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันจากภัยทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (financial well-being) และช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
กระทรวงศึกษาธิการ 22 เมษายน 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานรับมอบอุปกรณ์การศึกษา เพื่อส่งต่อแก่นักเรียนและโรงเรียนในสังกัด เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อร่วมส่งเสริมนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ. ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ รมว.ศธ. กล่าวว่าขอบคุณผู้แทนจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 (วปอ.66) ปีการศึกษา 2566 และภาคเอกชน ที่ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาตามนโยบาย ”เรียนดี มีความสุข” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมอันเนื่องมาจากพระราชปณิธาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาท หรือพระราชกรณียกิจ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประชาชน สถานศึกษาและผู้เรียน เพื่อให้นักเรียนและโรงเรียนในสังกัด ศธ. นำอุปกรณ์การศึกษาที่ได้รับไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการส่งเสริมทักษะ พัฒนาด้านความรู้และสุขภาพกายใจ เสริมสร้างความรัก ความสามัคคีให้กับเยาวชนไทย ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเข้าถึงโอกาสได้อย่างทั่วถึง “ผมเชื่อมาตลอดว่าการให้ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้ให้ด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ เพราะผู้รับรับอุปกรณ์การศึกษาในครั้งนี้ก็จะมีความสุขตามไปด้วย” รมว.ศธ. กล่าว ทั้งนี้ ศธ. ได้รับมอบสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่สถานศึกษาและโรงเรียนในสังกัด ดังนี้ กลุ่มบริษัท คิง พาวเวอร์ ไทยมอบลูกฟุตบอลจากโครงการ ‘ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย’ จำนวน 2,000 ลูก รวมมูลค่า 1,000,000 บาท นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครตัวแทนนักศึกษา วปอ.66 หมู่นกยูง ร่วมกับบริษัทอนุสรณ์มหาชัยซูริมิ จำกัด มอบปลากระป๋องเพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน จำนวน 72 ลัง (7,200 กระป๋อง) รวมมูลค่า 72,000 บาท นางสาววราภรณ์ วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัดตัวแทนนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 ปีการศึกษา 2566 หมู่นกยูง มอบยาและเวชภัณฑ์ยาชุดแรก สำหรับโรงเรียนในสังกัด ศธ. จำนวน 5 โรงเรียน (เป้าหมาย 72 โรงเรียน) นายสุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอตลาส เอ็นเนอยี (PT)มอบอุปกรณ์ประกอบอาหารกลางวันถังก๊าซหุงต้มพีทีพร้อมใช้งานขนาด 15 กิโลกรัม แก่ 72 โรงเรียน รวมมูลค่า 175,536 บาท พบพร ผดุงพล / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
22 เมษายน 2567 : นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจของคู่มือและรายละเอียดสำหรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมณรงค์ บุญมี อาคารรัชมังคลาภิเษก ชั้น 4 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมจำนวน 114 หน่วยงาน ซึ่งที่ประชุมได้ชี้แจงรายละเอียดการประเมิน ITA หรือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 3 แบบวัด ประกอบด้วย แบบวัดที่ 1แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้เสียภายใน (IIT) จำนวน 15 ข้อ แบบวัดที่ 2แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้เสียภายนอก (EIT) จำนวน 9 ข้อ แบบวัดที่ 3แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (OIT) จำนวน 35 ข้อ รองปลัด ศธ. ได้เน้นย้ำให้แต่ละหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการสื่อสารและสร้างความเข้าใจในแต่ละประเด็นข้อคำถามให้ชัดเจนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้ผลการประเมินสามารถสะท้อนการดำเนินงานขององค์กรด้านคุณธรรมและความโปร่งใสอย่างแท้จริง
ราชกิจจานุเบกษา(18 เมษายน 2567) เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดทำประกาศการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นของโรงเรียนเอกชน ประกาศใช้บังคับปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ คือ เพื่อให้โรงเรียนเอกชนกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ค่าตอบแทนครูที่มีความรู้ความสามารถที่ดี และค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการขยายกิจการและผลตอบแทนที่ได้จากการดำเนินกิจการของโรงเรียนให้แก่ผู้รับใบอนุญาต การจัดทำประกาศอัตราค่าธรรมเนียม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก“คณะกรรมการบริหารโรงเรียน”ก่อนประกาศไว้ในที่เปิดเผยในโรงเรียน ทั้งนี้ โรงเรียนที่ได้รับการอุดหนุนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ไม่เกินส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายรายบุคคลสำหรับนักเรียนภาครัฐและเงินอุดหนุนรายบุคคลที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐเว้นแต่โรงเรียนใดไม่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาได้ตามประกาศ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนใดมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอื่น ให้พิจารณาเรียกเก็บได้โดยคำนึงถึงความจำเป็นที่เหมาะสม โดยอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ต้องเป็นไปตามรายการที่กำหนดไว้ในรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนจะเรียกเก็บเงินอื่นใดจากผู้ปกครองหรือนักเรียนนอกจากที่กำหนดไว้ในประกาศอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นมิได้หากฝาฝืนจะมีความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติ สำหรับการประกาศอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น โรงเรียนต้องกำหนดเงื่อนไขการคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นไว้ในประกาศทุกครั้ง โดยการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมแก่โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ในปีการศึกษาใดที่โรงเรียนเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษานั้น ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในวาระเริ่มแรก ให้โรงเรียนจัดทำประกาศอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นประจำปีการศึกษา 2567 ตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ ให้ สช.จัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้โรงเรียนบันทึกข้อมูลอัตราค่าธรรมเนียมให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันมีผลใช้บังคับ บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
22 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานรับมอบเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนจาก บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศภายใต้แบรนด์ Mitsubishi Heavy Duty จำนวน 100 เครื่อง มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท พร้อมส่งต่อแก่สถานศึกษา 46 แห่ง โดยมีนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. นายสุริยา สิทธิดำรงค์ ผู้จัดการฝ่ายบริการเครื่องปรับอากาศฯ ผู้บริหาร/ผู้แทนสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยานและรับมอบ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความมุ่งหวังที่จะส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาของผู้เรียนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา และการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการพัฒนานักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับ รวมถึงสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ ประสิทธิภาพ และมีทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย รวมถึงทักษะด้านเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศที่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกสาขาวิชาชีพหนึ่ง ศธ. จึงให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ด้วยการเสริมสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ขับเคลื่อนพร้อมกับภาคเอกชน ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือกับบริษัทฯ และผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนการศึกษา เมื่อ ศธ. เราผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แบบทวิภาคีไปสู่ผู้ประกอบการแล้ว จึงอยากขอให้ผู้ประกอบการออกใบรับรองแรงงานคุณภาพให้กับนักศึกษาอาชีวะ เพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพสายที่ถนัดในอนาคต “ขอชื่นชมผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจกันให้เกิดกิจกรรมในครั้งนี้ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่สนับสนุน โดยเฉพาะสาขาวิชาไฟฟ้า สาขางานเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ ให้มีเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ถือว่าได้ร่วม “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณบริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด ที่ได้สนับสนุน เครื่องปรับอากาศจำนวน 100 ชุด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะส่งมอบให้กับสถานศึกษาในสังกัดที่จัดการเรียนการสอนต่อไป” นายสุริยา สิทธิดำรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้งานและติดตั้งเครื่องปรับอากาศจำนวนมากขึ้น ทำให้ขาดแคลนบุคลากรต่อภาคธุรกิจและการพัฒนา อีกทั้งในระยะที่ผ่านมาปริมาณการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม บริษัทฯ จึงมีความมุ่งมั่นในการสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะวิชาชีพ สามารถประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการด้านเครื่องปรับอากาศได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ เมื่อช่วงปีการศึกษา 2566 ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) โดยวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม ได้ประสานมาขอความร่วมมือให้บริษัทฯ เป็นผู้สนับสนุนเครื่องปรับอากาศจำนวน 100 เครื่อง เพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาเครื่องปรับอากาศ ให้กับวิทยาลัยในสังกัดการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ “การบริจาคเครื่องปรับอากาศจำนวนมากเช่นนี้ถือเป็นโครงการแรกที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูง ด้วยเหตุผลที่ปรารถนาให้การอาชีวศึกษาได้พัฒนาเยาวชนของชาติให้เป็นบุคลากรมีคุณภาพในระดับสากล และให้ได้ปริมาณที่มากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการมีความยินดีที่ได้มอบเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ภายใต้แบรนด์ “Mitsubishi Heavy Duty” ไว้ให้เป็นสื่อการเรียนการสอน และจะรอผลผลิตของการอาชีวศึกษา ออกมาร่วมกันพัฒนางานในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศต่อไป” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
นายสุเทพ แก่งสันเทียะปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะ เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างวันที่ 17 – 18 เมษายน 2567 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เพื่อเตรียมการขับเคลื่อนโครงการ โครงการ UNESCO-Huawei Funds-in-Trust on Technology-enabled Open Schools for All ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์การยูเนสโกกับบริษัทหัวเหว่ยเพื่อขับเคลื่อนการเรียนรู้ดิจิทัลในโรงเรียน โดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางผสมผสานเทคโนโลยีและความสามารถของมนุษย์ ในการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ครอบคลุม และมีคุณภาพ ทั้งในรูปแบบห้องเรียนและการเรียนรู้ออนไลน์ โดยโครงการในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการแล้วในอียิปต์ เอธิโอเปีย กานาตั้งแต่ปี 2563 และกำลังจะดำเนินโครงการระยะที่ 2 ในบราซิล อียิปต์ และประเทศไทยในปี 2567 โดยนายสุเทพ แก่งสันเทียะปลัดกระทรวงศึกษาธิการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล และยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ตามแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อการศึกษา คือ 1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง 2. สร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา 3. ก้าวสู่การเป็นหน่วยงานดิจิทัล 4. การพัฒนากำลังคน 5. พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา จากนั้นนายพิเชฐ โพธิ์ภักดีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้นำเสนอรายละเอียดในหัวข้อ“ภาพรวมเกี่ยวกับประเด็นสำคัญและโอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการศึกษาดิจิทัล”ตามนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มโอกาสและคุณภาพการศึกษาด้วยวิธีการหลากหลายที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการมีแผนมอบอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ให้กับนักเรียนและครูผู้สอน เพื่อให้เกิดความครอบคลุมทางดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ได้กล่าวถึงประเด็นท้าทายในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา อาทิ การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา สนับสนุนอุปกรณ์ในการเรียนรู้ พัฒนาเนื้อหาในแอปพลิเคชัน รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ระดับชาติ เพื่อให้นักเรียนและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ พร้อมกล่าวขอบคุณองค์การยูเนสโกและบริษัทหัวเหว่ยที่สนับสนุนงบประมาณและกรอบแนวคิดในการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการเตรียมทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะหารือในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานโครงการฯ ระยะที่ 2 เพื่อให้มีความครอบคลุมตามมิติการพัฒนาที่ประเทศไทยต้องการและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพตามกรอบเวลาของโครงการฯ ต่อไป พร้อมกันนี้นางพวงทอง ศรีวิลัยผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ.ได้ร่วมนำเสนอแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานปัจจุบัน ได้แก่ OBEC Content Center เป็นห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 เน้นทักษะเฉพาะทางตามความต้องการของตลาด รวมถึงมาตรการในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform: NDPL) การพัฒนาเครือข่าย การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล รวมทั้งการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการทำงานของครู และพัฒนาสมรรถนะเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น นอกจากนี้ ได้นำเสนอกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ในการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) และเรียนดีมีความสุข โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทยยังต้องการสนับสนุนและพัฒนาด้านดิจิทัล อาทิ ด้านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาดิจิทัล การพัฒนาแพลตฟอร์ม การพัฒนาครู และอุปกรณ์ดิจิทัล โดยการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานตามนโยบายการศึกษาของประเทศไทย โอกาสนี้นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทย ณ ทำเนียบทูต กรุงปารีสโดยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนและขับเคลื่อนภารกิจขององค์การยูเนสโก ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาการศึกษาของไทยรวมทั้งได้ไปเยี่ยมสำนักงานคณะทำงานผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก โดยมีนางสาวสุปราณี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ให้การต้อนรับและสรุปรายงานการปฏิบัติงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้บรรลุตามภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล #กระทรวงศึกษาธิการ #UNESCO #เรียนดีมีความสุข #เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา #AnywhereAnytime #Huawei ข้อมูลและภาพถ่าย : สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
ราชกิจจานุเบกษา(17 เมษายน 2567) เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2567 สาระสำคัญ คือ ปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบํานาญ (ช.ค.บ.) เพื่อกําหนดให้ผู้ได้รับ หรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบํานาญ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาทให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบํานาญเพิ่มขึ้นตามอัตราที่กําหนด “มาตรา 4 นว ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ผู้ได้รับ หรือมีสิทธิได้รับบํานาญปกติ บํานาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ บํานาญพิเศษ หรือบํานาญตกทอด ในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ ตามกฎหมายว่าด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ถ้าได้รับเบี้ยหวัดหรือบํานาญรวมกันทุกประเภทเมื่อรวมกับ ช.ค.บ. แล้ว ต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มอีกในอัตราเดือนละเท่ากับส่วนต่างของจํานวนเงิน 11,000 บาท หักด้วยจํานวนเบี้ยหวัดหรือบํานาญทุกประเภท และ ช.ค.บ. ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่มา :https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/25992.pdf
ปลัด ศธ. “สุเทพ แก่งสันเทียะ” นำเสนอนโยบายและการดำเนินการด้านการศึกษาดิจิทัล ณ องค์การยูเนสโก สาธารณรัฐฝรั่งเศส ย้ำต่อที่ประชุมถึงนโยบายสำคัญของ ศธ. ในการส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล และยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ตามแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อการศึกษา คือ 1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 2) สร้างโอกาส ความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางการศึกษา 3) ก้าวสู่การเป็นหน่วยงานดิจิทัล 4) พัฒนากำลังคน 5) พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา 17 เมษายน 2567 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส/ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะ เข้าร่วมการนำเสนอนโยบายการบูรณาการด้านการเชื่อมต่อ เนื้อหาการเรียนรู้ และสมรรถนะด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของประเทศไทย ในการประชุมโครงการUNESCO-Huawei Funds-in-Trust on Technology-enabled Open Schools for All ในการนี้ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและสมรรถนะทางดิจิทัลอย่างจริงจัง โดยมียุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งแผนการศึกษาแห่งชาติสนับสนุนให้นักเรียนได้เข้าถึงเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาครูให้มีความสามารถและทักษะด้านดิจิทัล นอกจากนี้ พลเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ดิจิทัล เช่น “เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา” “1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต” “1 ครู 1 แท็บเล็ต” และ “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ในด้านแผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อการศึกษา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอยุทธศาสตร์ 5 ข้อ ได้แก่ (1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูง (2) สร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา (3) ก้าวสู่การเป็นหน่วยงานดิจิทัล (4) การพัฒนากำลังคน และ (5) พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ในการประชุมดังกล่าว มีผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย และกานา เข้าร่วมนำเสนอเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในการเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 1 เกี่ยวกับประเด็นในการพัฒนาด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาทักษะครู การพัฒนาแพล็ตฟอร์มและเนื้อหา และแบบเรียนดิจิทัล และมีผู้แทนประเทศสมาชิกโครงการฯ ระยะที่ 2 ได้แก่ ไทย และบราซิล เข้าร่วมนำเสนอเกี่ยวกับภาพรวมของการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษาดิจิทัล นอกจากนี้ มีผู้แทนมหาวิทยาลัย Turku ประเทศฟินแลนด์ สภายุโรป และสำนักงานยูเนสโก เข้าร่วมนำเสนอมุมมองด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดระบบการเรียนรู้ด้วย AI การประเมินความพร้อมของ AI การออกกฎหมายด้าน AI ในการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ ในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ มีคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางพวงทอง ศรีวิลัย ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. นางสาวสุปราณี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก นางสาวจิตรลดา จันทร์แหยม ผู้อำนวยการกลุ่มความร่วมมือกับองค์การยูเนสโก และนางสาวหงษ์ฟ้า วีระนพรัตน์ นักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.
17 เมษายน 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า แม้ช่วงเวลานี้จะอยู่ระหว่างปิดเทอม ที่เด็ก ๆ ได้เที่ยวเล่น ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัว รวมทั้งเพิ่งจะผ่านเทศกาลแห่งความสุขของคนไทย คือ วันสงกรานต์และวันครอบครัวที่ผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังห่วงใยสุขภาพของเยาวชนไทยเสมอ โดยหลังจากการเล่นน้ำตากแดดติดต่อกันหลายวัน ก็ต้องพักผ่อน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วยหลังทำกิจกรรมหนัก “ที่จริงแล้วช่วงหน้าร้อนนั้นมีเสน่ห์มาก แต่ก็เป็นเวลาที่โรคอาหารเป็นพิษกำลังระบาดอย่างหนัก โดยเฉพาะในเด็ก ๆ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะการย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ และการระบาดของเชื้อโรคจะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้ จึงขอฝากไปถึงผู้ปกครองนักเรียนให้ระวังและรักษาความสะอาดในการจัดเตรียมอาหาร เช่น ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ใช้อุปกรณ์สะอาดในการปรุงอาหาร และเก็บอาหารในที่เย็นโดยรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย เพื่อให้เด็กๆ เติบโตแข็งแรงและสุขภาพดีในทุกฤดู ไม่เพียงเพื่อความสุขของเด็กเท่านั้น แต่ยังเพื่อเป้าหมายตามนโยบายเรียนดีมีความสุขของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย” แต่หากเจอปัญหาอาหารที่มีเชื้อโรคแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะสิ่งสำคัญคือการประคองตัวให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ ดื่มเกลือแร่ทดแทนน้ำที่เสียไป งดอาหารรสจัด อาหารหมักดอง นม และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการรุนแรงควรพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว-กราฟิก
ราชกิจจานุเบกษา(5 เมษายน 2567) เผยแพร่ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับโรงเรียนในระบบ ประเภทสามัญศึกษา ด้วยกระทรวงศึกษาธิการเห็นสมควรให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับโรงเรียนในระบบ ประเภทสามัญศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เพื่อให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีความเท่าเทียม เป็นธรรม สอดคล้องกับหลักการและจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแต่ละระดับ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐ การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับโรงเรียน มีรูปแบบห้องเรียน คือ 1) ห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ English Program : EP และ 2) ห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ Mini English Program : MEP โรงเรียนใดประสงค์จะจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ ให้ยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง คำขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียน โครงการ และเอกสารหลักฐานต่อสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ที่โรงเรียนตั้งอยู่ โดยให้จัดทำโครงการตามแบบแนบท้ายประกาศนี้ ที่มา :https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/24276.pdf
11 เมษายน 2567 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือประธานและฝ่ายเลขานุการของคณะทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมดำเนินการและกำหนดทิศทาง ในการดำเนินงานเตรียมการจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ รองปลัด ศธ.กล่าวว่า การประชุมคณะทำงานด้านต่าง ๆ ในวันนี้ เป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานเตรียมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคมนี้ ณ โรงแรมอัลวาเรซ จ.บุรีรัมย์ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมในหัวข้อหลัก “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล (Transforming Education in the Digital Era)”โดยแนวทางและความคืบหน้าของการดำเนินการฯ จะนำเสนอต่อ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 3/2567 ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จะแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับปลัดกระทรวงฯ ดังนี้ 1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 19(19th ASEAN Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 – 16.00 น. 2. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14(14th ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Education: APT SOMED) อาเซียน 10 ประเทศ บวกสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น ในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 – 11.00 น. 3. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9(9th East Asia Summit Senior Officials Meeting on Education: EAS SOMED) อาเซียน 10 ประเทศ บวกสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ในวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 – 16.30 น. 4. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13(13th ASEAN Education Ministers Meeting: ASED) ในวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 – 12.15 น. 5. การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7(7th ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting: APT EMM) ในวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 08.45 – 10.45 น. 6. การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7(7th East Asia Summit Education Ministers Meeting: EAS EMM) ในวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 10.45 – 13.00 น. ทั้งนี้ ศธ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ 7 คณะ ในการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13...
10 เมษายน 2567/ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวกิจกรรมอาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน เทศกาลสงกรานต์ 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ผู้บริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วม ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านhttp://www.vec.go.th พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนในทุกระดับเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียมในทุกมิติ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง Active Learning โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการจัดตั้งศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน ภายใต้แคมเปญ “ส่งความสุข มอบความปลอดภัยในการเดินทาง” มอบให้กับประชาชน กิจกรรมดังกล่าวเป็นการนำนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาในสาขาต่าง ๆ อาทิ สาขาช่างยนต์ สาขาไฟฟ้า สาขาอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมด้วยการเรียนการสอนกับเหตุการณ์ สถานการณ์จริง เพื่อนักเรียน นักศึกษาได้นำความรู้ที่ได้เรียนในห้องเรียนมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม รวมถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม เป็นผู้เสียสละ มีจิตอาสาบริการและช่วยเหลือสังคมในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และยังสร้างจิตสำนึกการใช้รถด้วยความปลอดภัยบนท้องถนน ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน จัดขึ้น 104 ศูนย์ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 8.30 น.- 20.30 น. บนถนนสายหลัก และถนนสายรอง โดยประชาชนที่ต้องเดินทางทั่วประเทศมั่นใจได้ว่ามีศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน คอยให้บริการ “พักรถ” บริการตรวจเช็คซ่อมบำรุงยานพาหนะ ซ่อมฉุกเฉินนอกสถานที่ ให้คำปรึกษาและนำวิธีแก้ปัญหา “พักคน” บริการนวดผ่อนคลาย ผ้าเย็น น้ำดื่ม กาแฟ และข้อมูลเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว พร้อมแนะนำรายชื่ออู่รถที่เปิดให้บริการ (ในกรณีรถเสียต้องซ่อมอู่) และมีจุดให้บริการรถยนต์เครื่องยนต์ EV จำนวน 50 ศูนย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการขนส่งทางบก และภาคีเครือข่ายภาคเอกชน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และบริษัท เทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นายยศพล เวณณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษากล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังมาถึงนี้ สอศ. พร้อมบริการประชาชน จัดศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน ตามข้อห่วงใยของ รมว.ศธ และเตรียมความพร้อมไปยังสถานศึกษาที่จัดตั้งศูนย์ฯ ทั่วประเทศ แล้ว ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถค้นหาจุดบริการจากช่องทาง ต่างๆ ดังนี้ ค้นหาที่ google พิมพ์ อาชีวะอาสา เลือกตำแหน่งของศูนย์ให้บริการอาชีวะ และกดนำทาง เว็บไซต์ vecrsa.vec.go.th กดเลือกตำแหน่งของศูนย์ที่ให้บริการและกดนำทาง Google map พิมพ์ ศูนย์อาชีวะอาสา จะขึ้นศูนย์อาชีวะอาสา ที่อยู่ใกล้กับตำแหน่งของท่านหรือเลือกตำแหน่งของศูนย์ที่ต้องการ แอปพลิเคชั่น “อาชีวะอาสา” บน play store QR Code บนเว็บไซต์ สอศ. (www.vec.go.th) และเฟสบุ๊ค : ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สายด่วนการศึกษา 1579 ศูนย์บริการประชาชน กระทรวงศึกษาธิการ หรือเว็บไซต์ 1579.moe.go.th