22 มีนาคม 2567/ นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ : เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี โดยมีผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จำนวน 4,250 คน เข้าร่วม ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบ Zoom Meeting นายธนู ขวัญเดชกล่าวว่า จากการรับฟังรายงานสรุปผลการประชุมเรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนระดับพื้นที่ เห็นได้ชัดว่าผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนทั่วประเทศเข้าใจถึงความสำคัญในการปฏิรูปการเรียนรู้และสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการร่วมดำเนินการ“จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”อย่างเป็นกัลยาณมิตร เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนและระบบสุขภาพของสถานศึกษาของผู้เรียน 4 มิติ ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านสติปัญญา และด้านสังคม เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย“เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี” โดยหลังจากนี้ผู้บริหารทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการส่วนกลาง และหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่กำกับดูแลสถานศึกษา ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมไปถึงผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศจะนำแนวนโยบายพร้อมทั้งข้อมูลความรู้ และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มาเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนคุณภาพสถานศึกษา สุขภาพ และทักษะที่ดีของผู้เรียน ตามความพร้อมและบริบทของแต่ละพื้นที่ได้ทันที ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เชื่อมั่นว่าการได้เป็นภาคีเครือข่ายกันในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อผู้เรียน คุณครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้เรียนรู้และได้รับการบ่มเพาะ มีส่วนร่วมในวิถีประชาธิปไตยผ่านกระบวนการธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา และสามารถนำไปต่อยอดการดำเนินชีวิตให้เป็นทรัพยากรธรรมมนุษย์ที่มีคุณภาพกับประเทศชาติในอนาคต ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้บริหารระดับสูง และผู้เข้าร่วมทุกคนที่อยู่ร่วมมือกันจนสุดทาง และขอร่วมเป็นหนึ่งพลังที่ทำให้ภารกิจที่ร่วมกันในครั้งนี้บรรลุเป้าหมาย “เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี” ตามที่ทุกฝ่ายมุ่งมั่นตั้งใจ สำหรับกิจกรรมในวันนี้ มีการสร้างความเข้าใจเรื่องธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 รวมถึงกรอบแนวทาง ในการกําหนด นโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดําเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ และเวทีเสวนาในหัวข้อ “รูปธรรมความสําเร็จการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพ ด้วยกระบวนการ มีส่วนร่วม” ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาผู้นําด้านสุขภาพของโรงเรียนรัตนปัญญาวิชชาลัย, การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ขอนแก่นเมืองแห่งโอกาส เพื่อความเสมอภาค ทางการศึกษาและอาชีพ, เด็กเจริญอาหารภายใต้ “สุรินทร์โมเดล” จัดการอาหารในโรงเรียน เพื่ออนาคตเด็กไทย และ เด็กเชียงเพ็งสุขภาพดี มีไอคิวเกิน 100 โดย นางพลินี เสริมสินสิร เป็นผู้ดําเนินรายการ #ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา #ธรรมนูญสุขภาพ #เรียนดีมีความสุข #เครือข่ายการศึกษา #สุขภาพผู้เรียน #สุขภาพสถานศึกษา พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
22 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (รางวัลเสมาพิทักษ์) ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี และนายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัด ศธ. คณะผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา รมว.ศธ.กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในสังคมยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภัยในรูปแบบใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสังคมออนไลน์ ได้มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงการที่เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การละเมิดสิทธิบุคคล ยาเสพติด การทะเลาะวิวาท และการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องร่วมมือร่วมใจกัน ในการดูแล คุ้มครอง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชน ในบริบทของสังคมปัจจุบัน จึงเป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความรู้ ภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ซึ่งการเรียนการสอนจำเป็นต้องเริ่มจากความสุขทั้งผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น เมื่อการเรียนดีขึ้นจะส่งผลกลับไป ทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น ขอให้ยึดตามแนวทางการทำงานของ รมว.ศธ. “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ”ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความชื่นชมและยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นคนดี มีความปลอดภัย สามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข มีทักษะชีวิตที่ดี มีพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติต่อไป” ปลัด ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ มีประกาศจัดตั้งศูนย์เสมารักษ์สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานลูกเสือ และกิจการนักเรียนในพื้นที่จังหวัด รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ด้านการส่งเสริมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา และได้เห็นความสำคัญของบุคลากร ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ตลอดจนผู้บริหารหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุน ซึ่งต้องอุทิศเวลาในการทำงาน จึงได้ดำเนินการพิจารณามอบรางวัลเชิดชูเกียรติ พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา “รางวัลเสมาพิทักษ์” ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2562 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “พสน.” เกิดเจตคติที่ดีมีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในการส่งเสริม ป้องกัน คุ้มครองและป้องปราม ร่วมเป็นกำลังสำคัญให้ทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนและนักศึกษาได้รับการแก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนา ไปสู่การนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและจบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เติบโตเป็นพลเมืองที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความปลอดภัยในทุกมิติ ในปัจจุบันมี พสน. อยู่ในระบบฐานข้อมูลของสำนักการลูกเสือยุวกาชาดและกิจการนักเรียน กว่า 32,000 คน ปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์เสมารักษ์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร มีโดยบทบาทและหน้าที่สำคัญในการป้องกัน ปลูกฝัง ป้องปราม ด้านการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ตามมาตรการความปลอดภัยสถานศึกษา ที่มุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยต่อนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา สำหรับพิธีมอบรางวัลฯ ครั้งนี้ มีผู้บริหารและบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ที่ได้รับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนทั้งสิ้น 334 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ บุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ศูนย์เสมารักษ์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมเป็นเกียรติประกอบด้วย ผู้บริหารหรือผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / วีดิทัศน์ พีรณัฐ ยุชยะทัต, ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
22 มีนาคม 2567 / นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมบรรยายพิเศษ “คุณค่าการขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษา ผ่านธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา” ภายในงานการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ : เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า เด็กที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงศึกษาธิการมีหลายช่วงวัยด้วยกัน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบ นอกจากในสถานศึกษาแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษารูปแบบทวิภาคี ที่ต้องโยงไปถึงผู้เรียนที่ฝึกอาชีพในสถานประกอบการด้วย รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน ก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการสุขภาพ ดังนั้นจึงต้องดูแลคนทุกช่วงวัยด้วยเช่นกัน นี่คือภาพรวมของบริบทที่แตกต่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า หากดูให้ดีจะเห็นว่าธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เกี่ยวข้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในทุกประเด็น ซึ่งกรรมการสถานศึกษาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องนำภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานเดียว แต่ต้องเกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในบริบทในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลสุขภาพผู้เรียน ให้มีสุขลักษณะที่ดี มีสุขภาวะรอบด้านครบถ้วน พร้อมพัฒนาตนเองในการเรียนรู้ด้านวิชาการและวิชาชีพ เพื่อเป็นพลเมืองที่ดีรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคตข้างหน้า ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาที่แท้จริง คือการมีข้อตกลงร่วมกันพัฒนาสุขภาพผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สังคม สติปัญญา และจิตใจ นอกเหนือจากยาเสพติด อาหาร และสุขภาพแล้ว ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้เรียนในโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนผ่านจาก VUCA world เป็น BANI world เกิดความผันผวนอย่างรวดเร็ว สื่อที่เข้ามาในมือของเด็กมีหลากหลายช่องทางทั้งคุณและโทษ ถ้าผู้เรียนนำไปใช้ในทางที่ดีก็จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้ารับมาโดยไม่มีภูมิคุ้มกันในเรื่องการกลั่นกรองก็จะเป็นโทษกับตัวเด็กได้ จากสถานการณ์ข่าวหลายเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าผู้เรียนมีภาวะเครียด มีปัญหาสุภาพจิต โรคซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง หนักไปจนถึงแก่ชีวิตก็มี ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของผู้นำในสถานศึกษา จึงต้องทำให้ผู้เรียนมีภูมิคุ้มกันในเรื่องของการรับสื่อต่าง ๆ และธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาต้องเกิดขึ้นทุกระดับในอนาคต โดยที่รูปแบบไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขอเพียงให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ตอบสนองกับวัยของผู้เรียนที่แตกต่างกัน ทั้งเด็กประถม เด็กมัธยม และเด็กนอกระบบ ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีกระบวนการทำตัวชี้วัดให้ทุกฝ่ายสะท้อนกลับมาในทุกมิติ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าสิ่งที่ทำมีประโยชน์กับผู้เรียนและสถานศึกษา สิ่งสำคัญในอนาคตคือต้องขับเคลื่อนโดยไม่ชี้นำ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และต้องแสวงหาความร่วมมือ ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาจะต้องเกิดจากข้อตกลงร่วมกัน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาเชื่อมโยงในทุกมิติ สอดคล้องกับบริบทสภาพภูมิประเทศ วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นนั้นด้วย สุดท้ายนี้ คาดหวังว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้ จะเกิดแนวทางที่เป็นประโยชน์กับภาคีเครือข่าย ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา สามารถนำไปถ่ายทอดและดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปใช้ได้จริงทั่วประเทศ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้มีสุขภาพที่ดี สอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” อย่างยั่งยืน พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
21 มีนาคม 2567 – นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน คุรุสภา และสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ ให้การต้อนรับ Mrs. Roseline Kathure Njogu ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเคนยา และคณะ ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมหารือด้านการศึกษา ณ ห้องดำรงราชานุภาพ กระทรวงศึกษาธิการ ปลัด ศธ.กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการคือ “เรียนดี มีความสุข” (Happy Learning) เป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้แก่ผู้เรียนและผู้สอน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความรู้ และฝึกฝนทักษะด้านภาษาอังกฤษให้แก่ผู้เรียนในประเทศ ซึ่งครูชาวต่างประเทศรวมถึงชาวเคนยาต่างมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาความสามารถด้านภาษาให้แก่นักเรียนชาวไทย จึงอยากชี้แจงทำความเข้าใจถึงโครงสร้างภารกิจในภาพรวม แนวทางปฏิบัติและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจ้างชาวต่างประเทศที่เข้ามาสอนในสถานศึกษาของประเทศไทย สิ่งสำคัญของการจ้างครูชาวต่างประเทศ ต้องคำนึงถึงคุณภาพของครูผู้สอน และเงื่อนไขด้านงบประมาณของสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุน หากทั้งสองฝ่ายสามารถหารือเพื่อนำไปสู่ข้อตกลง หรือความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่ตกลงร่วมกัน ในการนี้จะมีการหารือในรายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ปลัด กต. เคนยากล่าวว่า ขอบคุณปลัด ศธ. ที่ให้การต้อนรับในวันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศทั้งไทยและเคนยา มีความใกล้ชิดและยาวนานกว่า 60 ปี ทำให้เกิดความร่วมมือระดับทวิภาคีในหลากหลายมิติ รวมถึงความร่วมมือด้านการศึกษา การมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ จึงมุ่งหมายที่จะหารือเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างครูชาวเคนยาเพื่อเข้ามาสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาของไทย ที่ดำเนินการผ่านช่องทางทางการทูต ซึ่งในปัจจุบันมีคุณครูชาวเคนยาที่ได้รับอนุญาตให้สอนในสถานศึกษาของประเทศไทย กว่า 700 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในเรื่องระบบการผลิตบุคลากรครูของประเทศเคนยานั้น สามารถผลิตครูที่มีทักษะในหลากหลายสาขาวิชา และมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่ได้มาตรฐาน ถึงแม้จะไม่ใช่กลุ่มประเทศเจ้าของภาษา (Non-native English speakers) แต่ด้วยทักษะดังกล่าวทำให้ชาวเคนยาสามารถประกอบอาชีพครูในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ จากการหารือด้านการศึกษาในวันนี้ฝ่ายเคนยาขอรับทราบแนวทางและระเบียบที่เกี่ยวข้องสำหรับการจ้างครูชาวเคนยา เพื่อสอนในสถานศึกษาของประเทศไทยและพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในอนาคต นัศรูน เปาะมะ , ภัสศรี ศิริประภา (สต.) / สรุป พบพร ผดุงพล / เรียบเรียง พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
21 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ : เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี โดยเป็นความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมด้วยผู้บริหารระดับสูง นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.กล่าวว่า วันนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษา ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ซึ่งสอดรับกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะการที่ผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีสุขภาวะทางกายและใจที่ดี ย่อมส่งผลให้มีความสุขในสถานศึกษาด้วย เราจึงต้องมีธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ที่เป็นเหมือนข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียน ชุมชน กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน ออกแบบรูปแบบการดำเนินการร่วมกัน อีกทั้งตอนนี้ได้รับความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ร่วมตรวจตราในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา ไม่ให้มีการขายสิ่งของในลักษณะสุ่มเสี่ยงที่เป็นอันตรายกับผู้เรียน ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม ส่วนโรงเรียนอาจจะต้องขอยกระดับความร่วมมือกับผู้ปกครองมากขึ้น ตามบริบทแต่ละสถานที่เพื่อดำเนินการร่วมกันได้ ที่สำคัญแต่ละสถานศึกษาจะได้ลองทบทวนว่าธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาที่มีอยู่แล้ว ได้ดูแลสุขภาพใจสุขภาพกายของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้ายังไม่มีจะได้เป็นโอกาสในการปรับปรุงและไปประยุกต์ใช้ สร้างสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ให้กับผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานศึกษา ที่จะเป็นพลังในการเฝ้าระวังและเป็นรั้วให้กับสถานศึกษา คาดว่าหลังจากนี้จะมีอีกหลายโครงการเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่วนการร่างธรรมนูญสถานศึกษานั้น ยังต้องทำอีกหลายขั้นตอนให้รอบคอบที่สุด แต่สิ่งที่อยากเพิ่มเติมคือเน้นเรื่องของการจัดการยาเสพติดในสถานศึกษา รวมถึงเรื่องอื่นที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาวะทางใจ การบังคับใช้ด้านกฎเกณฑ์บางอย่างในสถานศึกษาที่มากเกินไป การบูลลี่ในสถานศึกษา จนส่งผลต่อจิตใจผู้เรียน จะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งเป้าให้ทุกสถานศึกษา มีธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาร่วมกันไม่น้อยกว่า 50% ในปีแรก และส่วนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้องส่งเสริมให้มีเช่นเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นงานในวันนี้แล้ว ทางเขตพื้นที่การศึกษาจะเริ่มขับเคลื่อนได้เลย และจะมีการติดตามการดำเนินงานจากคณะกรรมการนโยบายของ รมว.ศธ.ที่ดูแลเกี่ยวกับสุขภาวะทุกด้านของผู้เรียนในทุกมิติต่อไป นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า สุขภาพของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของประเทศนั้น เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่หลากหลายมากมาย หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดำเนินการจัดการได้ ต้องอาศัยหน่วยงาน หรือภาคีจากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการนั้นถือเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญมากในเรื่องนี้ เนื่องจากสถานศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมและเอื้อให้เกิดสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางปัญญา รวมถึงการตระหนักรู้ มีสำนึกรับผิดรับชอบ และสุขภาวะทางสังคม ครบทุกมิติตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โรงเรียนและสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างสุขภาพ และสุขภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ ให้ประเทศไทยยังคงมีขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต สำหรับเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนสู่ระบบสุขภาพสถานศึกษาที่ต้องการร่วมกันนั้นคือ “ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา” ไม่ใช่แต่เฉพาะครู ผู้เรียน หรือผู้ปกครองและครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงชุมชนโดยรอบ และภาคีที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและรอบ ๆ สถานศึกษา ตลอดจนภาคีที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพสถานศึกษา โดยในแต่ละสถานศึกษานั้น ก็จะมีบริบทที่แตกต่างกัน สามารถออกแบบธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาที่สอดคล้องกับสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องพยายามอย่าละเลยหรือมองข้ามกลุ่มบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เกิดการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เกิดการยอมรับในธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนระบบสุขภาพของสถานศึกษาเห็นความสำคัญกับเรื่องความเป็นธรรม และมีการดำเนินงานที่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายร่วมได้จริงตลอดจนมีความสอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติด้วย นายแพทย์สุเทพได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จะเป็นกรอบนโยบายการพัฒนาสุขภาพตามบริบทและความต้องการของสถานศึกษานั้น ๆ อย่างมีส่วนร่วม โดยเป็นข้อตกลงร่วมกันของภาคีที่เกี่ยวข้องที่กำหนดทิศทางหรือแนวปฏิบัติอันจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีของสถานศึกษา เป็นเครื่องมือที่เพิ่มทางเลือกให้กับการพัฒนาระบบสุขภาพสถานศึกษา และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การปฏิบัติได้ โดยสามารถนำเอาธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติมาใช้เป็นกรอบหรือเป็นต้นแบบในการพัฒนา เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่นำไปสู่เป้าหมาย เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี ได้ในที่สุด” สำหรับการประชุมฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นในวันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมจาก สำนักงานศึกษาธิการภาค 1-18, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด 5 จังหวัด, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, ผู้บริหารหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 650 คน พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
จังหวัดนครปฐม – 21 มีนาคม 2567/ นายธนู ขวัญเดช รองเลขาธิการสภาการศึกษา รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิด โครงการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะ สมรรถนะข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา นายธนู ขวัญเดชกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้นำควรมีคือคุณธรรม ความดีงามในจิตใจอันเป็นคุณสมบัติที่อยู่ในใจคน และจริยธรรม ความประพฤติที่ชอบที่ควรในสังคม ซึ่งสังคมจำเป็นต้องวางกติกาให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ปัญหาบางอย่างอาจแก้ไขด้วยกฎหมายไม่ได้จำเป็นต้องใช้คุณธรรม จริยธรรม ความเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของราชการเข้ามาช่วยด้วย ถึงแม้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในทันที แต่ก็สามารถสั่งสมปลูกฝังไว้ในใจคนได้ การจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บังคับบัญชานั้น มีสำนวนที่ว่า “นายดึง เพื่อนผลัก ลูกน้องดัน” ก็เป็นกลยุทธ์ของแต่ละคนที่ไม่มีสอนในตำรา แต่สิ่งที่เราต้องเรียนรู้มากที่สุดคือ เรียนรู้ผู้บังคับบัญชา รู้เขารู้เรา และเมื่อเราเติบโตเป็นผู้บังคับบัญชาแล้ว ก็ต้องแสดงคุณธรรมให้เด่นชัดขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคน การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงขึ้น สิ่งที่ควบคู่กันมาด้วยคืออำนาจ ขอให้ถือเป็นโอกาสที่จะได้ใช้อำนาจที่มีนั้นสร้างคุณงามความดีต่อสังคม อย่าใช้เพื่อกอบโกยเด็ดขาด เตือนตัวเองไว้เสมอว่า “คนเราเกิดมาแล้วต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” การมีคุณธรรมจะกำกับดูแลการใช้อำนาจ ขอให้ทุกท่านยึดมั่นไว้ในใจ ต่อให้ไม่มีใครรู้ เราก็จะไม่ยอมทำสิ่งที่ไม่ดีเด็ดขาด นอกจากนี้ยังต้องจัดสมดุลงานกับชีวิตให้ดี งานสำคัญมากก็จริงแต่ชีวิตก็สำคัญมากเช่นกัน และสิ่งที่จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมรับได้คือ ความรู้ ความสามารถ ความเชื่อมั่น และคุณธรรมของท่านเอง สำหรับการจัดโครงการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะ สมรรถนะข้าราชการและบุคลากรภาครัฐของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สืบเนื่องจากสำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ โดยให้ส่วนราชการต้องปลูกฝังกรอบความคิดในการปฏิบัติงานให้บุคลากรทุกระดับ มุ่งเน้นการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำงานบนหลักคุณธรรม จริยธรรม มีทัศนคติแบบสากลที่สอดรับกับการทำงานยุคดิจิทัล ดังนั้น การเสริมสร้างกระบวนการทางความคิด หรือการปลุก Mindset ที่ดีในการปฏิบัติงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติงานได้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร โดยเฉพาะเมื่อผู้นำทีม มีทักษะ กรอบความคิดที่ดีในการปฏิบัติงาน เป็นผู้นำที่ดี ได้รับการยอมรับในทีมงาน ทีมงานมีศักยภาพและพฤติกรรมในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรรวมถึงบุคลากรมีความสุขและเกิดความสมดุลในการทำงาน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้กำหนดโครงการเสริมสร้างและพัฒนาทักษะ สมรรถนะข้าราชการและบุคลากรภาครัฐของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อให้บุคลากรมีความรู้และได้รับการพัฒนากรอบความคิด ทักษะที่จำเป็นของการเป็นผู้นำยุคใหม่ในการบริหารงานและสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพการปลูกฝัง พัฒนากระบวนการทางความคิด และเสริมสร้างทัศนคติที่ดีในการทำงาน รวมถึงการควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา คือ ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ปฏิบัติงานในฐานะผู้อำนวยการกลุ่ม หัวหน้ากลุ่ม ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 60 คน ระหว่างวันที่ 20 – 22 มีนาคม 2567 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา อ.สามพราน จ.นครปฐม ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว – ภาพ
กระทรวงศึกษาธิการ – 20 มีนาคม 2567 นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดทำยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2566 -2570) ครั้งที่ 1/2567 โดย ว่าที่ร้อยเอก วิสาร ปัญญชุณห์ นายชัยพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัด เข้าร่วม ณ ห้องประชุมจันทรเกษม ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. ร่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2567 – 2570) มีมติเห็นชอบ ปรับชื่อ ร่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2566 – 2570) เป็น ร่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2567 -2570) มีมติเห็นชอบ ทบทวนประเด็นสาระสำคัญเพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา โดยมีข้อปรับปรุงวิสัยทัศน์จากเดิมคือ ระบบบริหารจัดการและการบริการด้านการศึกษาที่ทันสมัย ตามหลักธรรมาภิบาล มุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล เป็น “องค์กรที่ทันสมัย เป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้อย่างดีและมีความสุข” มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการติดตามมติ ครม. เรื่อง ร่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ(พ.ศ. 2567 – 2570) ของสำนักงาน กพร. เพื่อแจ้งให้กรรมการทราบ พร้อมทั้งแนบแผนฯ ดังกล่าว เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 2. แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ มีมติเห็นชอบ เปลี่ยนชื่อคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 417/2565 ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เป็น “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ” และให้กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ปรับปรุงขอบเขตอำนาจหน้าที่ให้เหมาะสมเสนอการปรับปรุงตามลำดับ เพื่อปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่งตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติมจำนวน 1 คณะ คือ คณะอนุกรรมการดำเนินงานเครือข่ายเพื่อการพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ อีก 1 ชุด 3. การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา การจัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้องค์กรมีกรอบแนวทางในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงการทำงานโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (Digital Transformation) มาใช้ในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย 1.)สถาปัตยกรรมของการบริการตามภารกิจ (Business Architecture) 2.)สถาปัตยกรรมข้อมูลสารสนเทศ(Data/Information Architecture) 3.)สถาปัตยกรรมระบบงานสารสนเทศ (Application Architecture) และ 4.)สถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี (Technology Infrastructure Architecture) ทั้งนี้ หลังจากที่ประชุมอนุมัติหลักการให้ฝ่ายเลขานุการฯ แล้ว จะดำเนินการเสนอปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาลงนามประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2567 – 2570)ให้ทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกัน โดยจะมีการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพฤษภาคม 2567 พบพร ผดุงพล / ข่าว นัทสร ทองกำเหนิด / ภาพ
กระทรวงศึกษาธิการ – 20 มีนาคม 2567 นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ Professor Luo Shengquan Vice Dean of Faculty of Education และคณะผู้แทนจาก มหาวิทยาลัยซีหนาน ในโอกาสหารือความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและจีน ณ ห้องดำรงราชานุภาพ รองปลัด ศธ.กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากให้ความสำคัญการศึกษาในประเทศและระดับอาเซียนแล้ว ยังรวมไปถึงการศึกษาระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศจีนด้วย โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง โดยครูนั้นจะเน้นไปที่การสอนหนังสือเท่านั้น ตัดภาระหน้าที่ที่ไม่จำเป็นออกเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน อีกทั้ง นโยบาย “Anywhere Anytime” ที่มีแหล่งการเรียนรู้ทันสมัย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการเรียนรู้แบบ “Active Learning” สร้างการปฏิบัติให้เกิดประสบการณ์จริง นำไปต่อยอดทักษะชีวิตได้ในอนาคต รวมถึงนโยบาย “ครูคืนถิ่น” ที่มีระบบโอนย้ายอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้ครูได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อสร้างความอบอุ่นของครอบครัว ลดภาระค่าใช้จ่าย สามารถแก้ไขปัญหาทางหนี้สินได้อีกด้วย การที่จะสำเร็จได้นั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” หวังว่ามิตรภาพอันดีของไทยและจีน จะร่วมกันจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ Professor Luoกล่าวว่า สำหรับการศึกษาในประเทศจีนนั้น มีนโยบาย One Belt One Road คือจับมือกับประเทศเพื่อนบ้านและพัฒนาการศึกษาไปด้วยกัน ในนามมหาวิทยาลัยซีหนาน ขอขอบคุณสำหรับโอกาสพบปะหารือในครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งครูมาเรียนรู้งานด้านการศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สุดท้ายนี้ คาดหวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบการศึกษา และการพัฒนาครูในประเทศไทย และขานรับนโยบายในอนาคตเช่นเดียวกัน สหัสยา จันทร์หอม / สรุป พบพร ผดุงพล / ข่าว พีรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ
19 มีนาคม 2567 / ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ ดร.ทัศนีย์ พิศาลรัตนคุณ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 โดยมี ดร.อรทัย ทองฤกษ์ฤทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป., รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), รศ.ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา ภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว. ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงาน สป.ศธ. เข้าร่วม ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร ดร.ทัศนีย์ พิศาลรัตนคุณกล่าวว่า การจัดทำแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นภารกิจที่สำคัญและเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของการบริหารจัดการงานวิจัย รวมทั้งเป็นกรอบทิศทางการสร้างสรรค์และส่งมอบงานวิจัยที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ การประชุมปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนฯ ในวันนี้จึงเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่บุคลากร สร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษาให้มีคุณภาพ สร้างเครือข่าย และเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นการตอบโจทย์บริบทการพัฒนาประเทศด้วยกระบวนการพัฒนาแผนงานแบบมีส่วนร่วม “สป.ศธ. ให้ความสำคัญกับการบริหารงานวิจัย และให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปขับเคลื่อนและใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาฐานข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ที่จะดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทั้งในด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพยังประโยชน์ขององค์กรและประเทศชาติต่อไป“ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูลกล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของ สป.ศธ. เน้นการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ผู้เรียนมีคุณภาพ รู้เท่าทันโลกยุคใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ การได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง เสมอภาค และเท่าเทียม ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีสมรรถนะที่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัล และนวัตกรรมที่เชื่อมโยงและบูรณาการการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังกล่าวถึง “การศึกษาไร้รอยต่อ (Seamless Education)” ซึ่งยังมีรอยต่อในเรื่องของการศึกษาในระบบและนอกระบบ ความหลากหลาย ศาสตร์ความรู้ และผู้เกี่ยวข้อง จึงได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเชื่อมต่อการศึกษาในระบบและนอกระบบ คือการที่ผู้เรียนมีการย้ายระบบการศึกษา มีการข้ามเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาในและนอกโรงเรียนได้ เช่น การเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้ระหว่างในระบบและนอกระบบ การยกระดับและการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ที่ได้มาตรฐาน รองรับการศึกษาด้านความหลากหลาย สนับสนุนให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการยอมรับ การอยู่ร่วมกันและเรียนรู้ได้ในความแตกต่าง เช่น การสนับสนุนการเรียนการสอนในภาษาแม่เชื่อมเข้าสู่ภาษาไทย ขณะเดียวกันต้องเพิ่มทักษะพหุวัฒนธรรมให้แก่ครูและหลักสูตรการผลิตครู เชื่อมต่อการศึกษากับการปฏิรูปกฎหมายสถานะบุคคล การบูรณาการศาสตร์ความรู้ ซึ่งผู้เรียนสามารถเรียนสิ่งที่ต้องการได้ มีการแก้ปัญหาโดยใช้ความรู้ที่หลากหลาย เช่น การปรับหลักสูตรแกนกลาง และแนวทางการประเมินให้ง่ายต่อการบูรณาการ ปรับหลักสูตรผลิตครูสร้างครูที่สอนแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning) และเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้อง มีการทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน เช่น ความร่วมมือแบบภาคีระหว่างหน่วยงานรัฐ และองค์กรนอกภาครัฐ การจัดสรรงบประมาณวิจัยแบบ Open Grant เพื่อสร้างงานวิจัยสหสาขาและขยายนวัตกรรมการศึกษา รศ.ดร.วิไลลักษณ์ ลังกากล่าวถึงแนวโน้มการศึกษาของโลกในศตวรรษที่ 21 กับประเด็นการวิจัย ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น เป็นการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านรูปแบบการศึกษาทางไกล (Tele-education) โรงเรียนเสมือน (Virtual School) และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน VR และ AR เข้ากับการเรียนรู้ มีปัญญาประดิษฐ์ที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้สอนในการวิเคราะห์และวางแผนให้ผู้เรียน โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียน มีระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจากการประกอบอาชีพ การฝึกอบรม การศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย การคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน สังคมจะให้คุณค่าต่อทักษะที่เหมาะสมต่องาน เป็นการจัดการศึกษาที่เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะมนุษย์ พัฒนาทักษะทางสังคม เข้าถึงการเป็นมนุษย์และเกิดการค้นพบตนเองมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเด็นการวิจัยในอนาคตจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามแนวโน้มการศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตามที่ Moonpreneur ได้มีการเผยแพร่ 15 แนวโน้มการศึกษาโลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 ได้แก่ 1) Gamification การใช้องค์ประกอบของเกม 2) Immersive Reality: AR, VR, และ Mixed Reality เทคโนโลยีสมจริง 3) Microlearning การเรียนรู้ระยะเวลาสั้น ๆ 4) AI and Human Synergy การใช้ประโยชน์จาก AI มาช่วยเสริมการจัดการเรียนการสอน 5) Leveraging Big Data การใช้ประโยชน์จาก Big Data สร้างระบบสารสนเทศทางการศึกษา 6) Evolving K-12 Digital Education ระบบการศึกษาระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา (K-12) ที่สามารถเรียนทางออนไลน์ผ่านโรงเรียนและ โปรแกรมเสมือนจริง 7) Blockchain in Education เทคโนโลยีซึ่งเป็นที่รู้จักเรื่องความปลอดภัยและความโปร่งใส 8) Personalized Learning การเรียนรู้ส่วนบุคคล 9) STEAM-based Programs...
จังหวัดเชียงราย – 18 มีนาคม 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน เพื่อมอบนโยบายผู้บริหารการศึกษาของจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย และโรงเรียนอนุบาลเชียงราย โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ ร้อยตรีธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ., นายชาตรี ม่วงสว่าง ผู้ตรวจราชการ ศธ., นายนิติ นาชิต ที่ปรึกษา รก.รองเลขา สกศ., นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการ กอศ., นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้, รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ., นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการ กช., นายธัชกร วงศ์เพ็ง รองศึกษาธิการภาค 10 ร่วมลงพื้นที่ รมว.ศธ.กล่าวว่า จากการรับฟังเสียงสะท้อนของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ก็ได้มอบนโยบายให้บุคลากรด้านการศึกษาทุกสังกัดรับทราบโดยทั่วกัน ซึ่งศึกษาธิการจังหวัดจะเป็นผู้ประสานงานเพื่อบูรณาการร่วมกันตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ทั้งการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิต ทำให้เด็กนักเรียนมีมาตรฐานทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเท่าเทียมกันมากที่สุด สำหรับข้อสั่งการที่เน้นย้ำ คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะพื้นที่ภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ธรรมชาติ มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ แต่ด้วยปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป บวกกับคนในพื้นที่บางกลุ่มยังติดกับความเชื่อเดิมว่าการเผาหน้าดินจะทำให้พืชผลทางการเกษตรงอกงาม ลดเวลาการถากถาง ฆ่าแมลงได้หมด จึงอยากฝากกำลังคนอาชีวะให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกกับคนในชุมชน ให้เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาหน้าดิน สร้างนวัตกรรมในบริบทพื้นที่ช่วยเสริมการป้องกันการเกิดมลภาวะที่เป็นตัวการทำลายโลก จากการเยี่ยมชมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย พบจุดเด่นคือการทำนาปลูกข้าว จึงได้มอบแนวความคิดเพิ่มเติมเพื่อให้นำไปต่อยอดการทำงานในเชิงพื้นที่เกษตรกรรม เลือกเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจพันธุ์ดีที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ และอยากแนะนำนักเรียนที่รู้ตัวว่าชอบด้านการเกษตร หากต้องการมีอาชีพโดยไม่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดแต่ยังคงมีรายได้ดำรงชีวิต มองช่องทางเรียนต่อสายอาชีพได้เลย เพราะเรามีสถานศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ จากนั้น รมว.ศธ. และคณะ ได้เดินทางไปอนุบาลเชียงราย โดยตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยกับครูและนักเรียน รมว.ศธ.กล่าวว่า หลังจากได้รับทราบถึงความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงเรียน คุณครู สมาคมผู้ปกครองที่เข้มแข็ง ที่สำคัญคือนักเรียนโรงเรียนนี้มีความน่ารัก ตั้งใจแสวงหาความรู้และกล้าแสดงออก การจัดการเรียนการสอนมีความหลากหลาย เห็นแล้วเกิดความสบายใจว่าการศึกษาประเทศเราไม่ได้แย่ไปทั้งหมด สิ่งที่ต้องดำเนินการคือต้องขับเคลื่อนผลักดันให้โรงเรียนอื่นมีมาตรฐานการศึกษา ในส่วนของบางโรงเรียนที่ยังไม่เกิดความพร้อม ต้องตั้งเป้าให้มาสู่โรงเรียนคุณภาพ และโรงเรียนคุณภาพจะต้องเป็นแม่ข่ายที่ให้การบริการโรงเรียนในเครือข่าย ที่จะมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นโรงเรียนพี่เลี้ยงแนะนำโรงเรียนใกล้เคียงให้เกิดการยกระดับเป็นโรงเรียนคุณภาพเช่นเดียวกัน พบพร ผดุงพล / ข่าว เจษฎา วณิชชากร / ภาพ
เสมา 1 นำผู้บริหารในสังกัด ร่วมสัมมนาวันหยุดที่บุรีรัมย์ หวังปลุกพลังการทำงาน เสริมสร้าง Mindset เปิดโลกทัศน์การทำงานร่วมกับผู้บริหารชั้นนำจากเอกชน แนะร่วมกันสร้าง DNA ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกระทรวง ดัวยการทำงานในรูปแบบ “We are the One” เราเป็นหนึ่งเดียว ครอบครัวกระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดบุรีรัมย์ 16 มีนาคม 2567: พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมการประชุม ระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูมชั้น 2 สนามช้างอารีนา โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ รมว.ศธ.กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า ถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรหลัก/ในกำกับ ร่วมเปิดโลกทัศน์ในการสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งสิ่งที่คาดหวังจากการสัมมนาครั้งนี้ คือ 1) อยาก transform แนวคิด/การทำงาน เพื่อให้ผู้บริหาร ศธ.ช่วยกันเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองโลกให้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลกการศึกษา หรือโลกแห่งความร่วมมือกับเอกชน ที่จะร่วมตอบสนองต่อภาคการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ 2) ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน 3) ให้คิดนอกกรอบการทำงาน ซึ่งได้เชิญผู้บริหารจากภาคเอกชนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 4) สร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นกับผู้บริหาร ให้เป็น “We are the One” เราเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะแท่งหรือคนละแท่ง แต่วันนี้เราคือครอบครัวเดียวกัน “ครอบครัวกระทรวงศึกษาธิการ” 5) เป็นการเตรียมประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในเดือนสิงหาคม 2567 6) อยากให้กระทรวงศึกษาธิการมี DNA ในภาพของกระทรวง อัตลักษณ์ การกำหนดวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นอย่างไร ต้องหา DNA ของกระทรวงร่วมกันให้เจอ 7) อยากให้ร่วมกันขับเคลื่อนกระทรวงไปในทิศทางที่ถูกต้อง กว้างขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนา ฝากให้ผู้บริหารนำแนวคิด ประโยชน์ที่ได้รับ ไปถ่ายทอดต่อให้บุคลากรในหน่วยงาน เพื่อให้เกิดแรงขับในการทำงานร่วมกันทั้งกระทรวง อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว แต่พยายามทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว เพื่อสามารถเติมเต็มได้ตลอดเวลา และอย่าลืมทำงานให้ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ร่วมกันพิจารณาหาจุดที่เราขาด และช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน รมช.ศธ.กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นความอบอุ่น และยินดีที่ผู้บริหาร ศธ.มาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความผูกพันกันมากขึ้น ฝากให้นำความผูกพันที่เราช่วยกันสร้างในวันนี้ กลับไปทำงานร่วมกันต่อไป “เชื่อมั่นว่าต่อไปการเรียนรู้ตามอัธยาศัยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการศึกษามากขึ้น ซึ่งผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกคนต้องเตรียมพรัอมรับมือในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือ CPกล่าวบรรยายตอนหนึ่งถึงความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก ปี ค.ศ. 2023-2030 ที่โลกจะมีทั้งความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปดิจิทัล ความผันผวนภูมิอากาศ ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สุขภาพมนุษย์/สังคมสูงวัย/ประชากรที่ลดลง ล้วนเป็นความท้าทายของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมา ภาพรวมการศึกษาไทย อาจจะยังเป็นแบบเดิม คือ ครูยังเป็นศูนย์กลางความรู้และให้คำสั่ง นักเรียนต้องทำการบ้านให้เสร็จ สอบให้ผ่าน ส่งรายงานให้ทัน นั่งเรียนแบบหน้ากระดาน ไม่ได้เลือกเรียนตามความสนใจ ถนัดงานเดี่ยว ทำงานคนเดียว แต่ต่อไปการศึกษาไทยต้องเป็นยุค 5.0 คือ การให้ความรัก ความมั่นคง ปลอดภัย ความมั่นใจ ผู้เรียนตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ บทบาทครูเปลี่ยนจาก Instructor เป็น Facilitator เป็น Guardian ที่มีเมตตาสูง ทำงานและสำเร็จพร้อมกับทีม มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล มีการเรียนรู้การลงมือปฏิบัติ (Learning Center) ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคน ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างความมั่นใจ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริง นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดกล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีต้อนรับสู่ “ลมหายใจแห่งบุรีรัมย์” “Breathof Buriram” ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีตที่ผ่านมา ติดอันดับ 6 จังหวัดที่มีความยากจนที่สุดในประเทศไทย แต่ 14 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนแปลงไปมาก จากสนามฟุตบอล เป็นสนามแข่งรถ มีระบบเศรษฐกิจที่ดี จากที่เคยเป็นแค่เมืองผ่าน แต่ตอนนี้เป็น Destination หนึ่งของประเทศไทยในหลายด้าน สิ่งสำคัญที่บุรีรัมย์ทำอะไรก็ตาม คือ ต้องมีความเป็นมาตรฐาน (Buriram Standard) 3 ด้าน คือ ต้องมีความแปลก อลังการ และมีความเป็น World Standard ด้วย “ความเชื่อของผมและคนบุรีรัมย์...
14 มีนาคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในสังกัด ติดตามการดำเนินงานพร้อมมอบนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และมอบเข็มเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติบัตรแก่นักเรียนที่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้จนรอดชีวิต ณ โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ และโรงเรียนท่าวุ้งวิทยาคาร โดยมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ผู้บริหารในสังกัดและส่วนท้องถิ่น คณะครู และนักเรียน ให้การต้อนรับ รมว.ศธ.กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดลพบุรีวันนี้ ได้เห็นการดำเนินการที่ตอบโจทย์นโยบาย แต่จากนี้ทุกสังกัดต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนทุกมิติที่อยากเน้นย้ำคือ “โรงเรียนคุณภาพ” 1 อำเภอ ต้องมี 1 โรงเรียนคุณภาพ ผลักดันการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคงในชีวิตสนับสนุนความชอบและทักษะของเด็กให้ถูกด้าน เรียนเพื่อสามารถอยู่ในสังคมได้ มีความรู้มีทักษะชีวิตในสภาวะที่เปลี่ยนแปลง ใช้เทคโนโลยี AI ต่อยอดให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และทำให้ผู้เรียนทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน สำหรับหลักสูตรทางการศึกษาของครูผู้สอน ที่ตอบโจทย์การลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครองหากนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” สำเร็จด้วยดี แพลตฟอร์มทางการศึกษาจะเสมอภาคกันเป็นพื้นฐานทั่วประเทศทุกโรงเรียนสามารถจัดทำ E-Books ให้นักเรียนดาวน์โหลดในการเรียนออนไลน์ ทำเนื้อหารูปภาพที่ครบถ้วนเข้าใจง่าย สร้าง QR Code สำหรับให้ผู้เรียนวิพากษ์เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนได้ เรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งสายสามัญและสายอาชีพ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ ทั้งนี้ การศึกษาไม่ใช่เรื่องของ ศธ.เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องทุกคนในสังคมขอให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นคนประสานการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนมองในมิติการบูรณาการร่วมกัน วางแผนสกัดความเสี่ยง อุปสรรค ปัญหาในการบริหารงาน เล็งเห็นผลที่คาดว่าจะได้รับจากการแก้ไข และปัจจัยความสำเร็จในอนาคต “การจะมีความสุขได้ ต้องลดภาระในส่วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากครูมีความสุข การจัดการเรียนการสอนก็ดีขึ้น ผู้เรียนมีการศึกษาดีขึ้น ทุกคนก็จะมีความสุขด้วย อยากฝากแนวทาง‘จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน’ หวังว่าจะนำไปปรับใช้และดำเนินการ ‘ทำดี ทำได้ ทำทันที’มาร่วมกันร่วมกันเติมเต็มให้การศึกษามีคุณภาพ สร้างการศึกษาของประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น ”รมว.ศธ.กล่าว สุดท้ายนี้คาดหวังว่าโรงเรียนคุณภาพต้นแบบ จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่เพื่อสนับสนุนเกื้อกูลกัน สามารถเฉลี่ยความสุข แบ่งปันทรัพยากรผู้เรียนร่วมกันทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน ขยับไปเป็นโรงเรียนคุณภาพทุกตำบล จนขยายไปทุกสถานศึกษาในที่สุด ด้านปลัด ศธ.กล่าวว่า นโยบายของ รมว.ศธ. ต้องขับเคลื่อนในทุกมิติ ทั้งโรงเรียนคุณภาพ การลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง ความปลอดภัยในสถานศึกษาโดยเฉพาะหน่วยงานที่จัดการศึกษาในพื้นที่ จะต้องมีการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับนักเรียนทุกสังกัดให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันซึ่งมีกรอบการดำเนินงานคือศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ขับเคลื่อนระดับจังหวัด และขณะนี้กำลังจัดทำแอปพลิเคชันแจ้งเหตุเพื่อรับทราบข้อมูลในการดูแลอย่างใกล้ชิดอีกระดับหนึ่ง ศธ. ในฐานะที่ดูแลการศึกษาตลอดชีวิต จึงต้องดำเนินการในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”เพื่อดูแลคนทุกช่วงวัยให้ได้รับการศึกษา อย่างน้อยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งผู้เรียนที่อยู่ในและนอกระบบ กลุ่มที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยและมีความประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองไปด้วย ไปจนถึงผู้สูงวัยที่เกษียณอายุราชการ เพื่อดูแลให้มีสุขภาพจิต สุขภาพกายที่ดีต่อไปในอนาคต โอกาสนี้ รมว.ศธ. ได้เดินทางไปโรงเรียนท่าวุ้งวิทยาคาร มอบเข็มเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติบัตร ชื่นชมนักเรียนและนักศึกษาที่ร่วมกันทำความดี เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม มีจิตอาสา “ทำดี ทำได้ ทำทันที” แก่นักเรียนและนักศึกษาในสังกัด 5 คนดังนี้ นายวีรภัทร ม่วงกุน ชั้น ม.4 โรงเรียนท่าวุ้งวิทยาคาร เด็กชายกิตตินันท์ เกตุดี ชั้น ม.1 โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ นายจิรานุวัฒน์ จงสำราญ ชั้น ม.4 โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ นายวุฒิศักดิ์ ม่วงวงษ์ ชั้น ปวช. ปี 2 วิทยาลัยเทคโนโลยีลพบุรี นางสาวนฤมล หวันจิ ชั้น ปวช. ปี 3 วิทยาลัยเทคโนโลยีละโว้ พบพร ผดุงพล / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
14 มีนาคม 2567/ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับเยาวชนว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง ที่ให้ความสำคัญกับเด็กของเราอย่างเข้มข้น โดยล่าสุดได้ออก 4 มาตรการเข้ม ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งข้อสำคัญอันดับแรกคือ “ต้องทำให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” โดยทางตำรวจจะสืบสวนจับกุมร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่รอบสถานศึกษาทุกแห่งอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมตัดวงจรรายใหญ่ ปราบปรามช่องทางออนไลน์ รวมถึงประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ความรู้แก่ชุมชนสถานศึกษา เกี่ยวกับข้อกฎหมายและอันตรายจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นอันตรายมากกว่าบุหรี่มวนเพราะบุหรี่มวนมีการจำกัดปริมาณนิโคตินต่อมวน แต่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเติมนิโคตินได้ตลอดเวลา ซึ่งนิโคตินมีผลกระทบทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก และทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลันจากการสำรวจของกรมควบคุมโรค พบว่าเด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 17.6% และเกือบทั้งหมดซื้อผ่านทางออนไลน์ ซึ่งดูเหมือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยผลิตให้มีรูปแบบเป็นตัวการ์ตูน กล่องนม ให้ดูเป็นเรื่องธรรมดา เข้าถึงง่าย จนเด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว นับเป็นภัยคุกคามเยาวชนที่ต้องเร่งจัดการโดยด่วน ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศ ให้เข้มงวดตรวจตราการนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียนอยู่เสมอ โดยยึดกฎระเบียบเช่นเดียวกับการห้ามสูบบุหรี่ธรรมดา อ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกมาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 กำหนดให้โรงเรียนหรือสถานศึกษา เป็นสถานที่สาธารณะ ต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด “ศธ. มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขว่า จะทำอย่างไรเมื่อพบเห็นว่านักเรียนครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ ศธ. มีมาตรการสื่อสารลงไปในโรงเรียนทุกแห่งว่า หากเจอในเด็กนักเรียน เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนผิด เราคิดว่าเป็นเหยื่อ โดยจะจัดให้มีตัว Dropbox เพื่อหย่อนบุหรี่ไฟฟ้าลงไป เหมือนเวลาผ่านด่านศุลกากรต่าง ๆ ในการยึดของกลาง ก็จะส่งให้ตำรวจไปทำลาย”นายสิริพงศ์ กล่าว นอกจากนี้ เรายังพบการโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าว่าสูบแล้วเท่ สูบแล้วดีกว่า 97% มียอดวิวและยอดไลก์ 98% ใน TIKTOK ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้คนใช้งานมากที่สุดและฮิตมากในอาเซียน ทำให้การระบาดในเด็กขยายไปเร็วมาก เพราะเด็กคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย และผู้ปกครองไม่รู้ว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นการร่วมมือกันป้องกันและปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้เข้าถึงตัวเด็ก จึงต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการกวาดล้างจับกุมผู้ขาย การปิดกั้นช่องทางออนไลน์ การให้ความรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า หรือหากจำเป็นต้องมีการให้บำบัด ทุกหน่วยงานภาครัฐก็พร้อมจะเข้ามาทำงานร่วมกันเสมอ โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ ศธ. ก็อยากฝากให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทุกท่าน กวดขันเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาอยู่เสมอ โดยขอให้มองนักเรียนว่าเป็นลูก ๆ ของท่าน เด็กยังอ่อนต่อโลก ขาดประสบการณ์พิจารณาว่าสิ่งใดเหมาะสม และมักจะทำตามเพื่อนหากเราเริ่มต้นหยุดยั้งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ให้ถึงมือเด็กแล้ว ก็น่าจะเป็นหนทางที่เด็ก ๆ จะสร้างค่านิยมในกลุ่มเพื่อนถึงโทษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสารเสพติด หรือสารมึนเมาอื่น ๆ ทำให้สถานศึกษาเป็นสีขาวและปลอดภัยอย่างแท้จริงตามนโยบายการศึกษาของ รมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข” ////////////////////////////////////////// ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว-กราฟิก
(14 มีนาคม 2567) นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น จำนวน 12 ราย ดังนี้ นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาหลักสูตร กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายเอกราชชวีวัฒน์ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ นายวชิรพันธ์ นาคก้อนผู้อำนวยการสำนักนิติการ ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.ค.ศ. นายโกเมศ กลั่นสมจิตต์ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธัชกร วงศ์เพ็งผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สป. ให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค10 นายรัชพร วรรณคำศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น ให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค 5 นางยุพิน บัวคอมศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค 6 นายสันติภัทร โคจีจุลศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการ 7 นายวิญญู สันติภาพวิวัฒนาศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค 8 นายสัมนาการณ์ บุญเรืองศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค 13 นายวัลลภ ไม้จำปาศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ให้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค 17 รายละเอียดhttps://drive.google.com/file/d/1ldfSGgAsq9RV7CYq6_4BCzeQMqcc39hU/view?usp=sharing