28 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 9/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ซึ่งภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดยคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย ทิศทางพัฒนาการศึกษาของประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างดี โดยขณะนี้ ศธ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนการสอนและคู่มือเพื่อนำไปสอนเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในสถานศึกษา ให้ทุกโรงเรียนเปิดรายวิชาเพิ่มเติมพร้อมติดตามประเมินผล และจัดอบรมครูในการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ศธ. ยังดำเนินการจัดทำระบบข้อสอบ PISA ออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.1 – ม.3 ฝึกทดลองทำข้อสอบ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไปจนกว่าจะได้ระบบการสอบที่สมบูรณ์ และเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อประโยชน์แก่นักเรียนผู้เข้าสอบทุกคน ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการติดตามและสังเกตการณ์จัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเพื่อสมรรถนะความฉลาดรู้ตามแนวทางของ PISA โดยใช้ระบบการทดสอบออนไลน์ที่ชื่อ PISA Style Online Testing ซึ่งมีการดำเนินงานใน 3 กลุ่มโรงเรียน คือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ พบว่าแผนการจัดการเรียนรู้ ฯ ตามแนวทาง PISA สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง กิจกรรมการเรียนรู้กระตุ้นแรงจูงใจในการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดี และการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนควรเพิ่มความยืดหยุ่นสูงขึ้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ของ สช. เพื่อจัดทำแผนและแนวทางการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนฯ จัดทำรายงานแผนและแนวทางขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนฯ เสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ รวมถึงกำกับติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางฯ ที่กำหนด นอกจากนี้ รมว.ศธ. มอบหมายสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติดำเนินการ (สทศ.) รวบรวมข้อสอบ PISA ในปีที่ผ่านมานำมาจัดทำเป็นข้อสอบออนไลน์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอน ทดลองทำข้อสอบดังกล่าว และสรุปผลการสอบเพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ต่อไป ปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่การประชุมคณะรัฐมนตรีมีวาระที่สำคัญคือ เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลนี้ โดยมีลายพระราชทานหลักจำนวน 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์, ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567, ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี เพื่อนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าให้รัฐบาลสวมใส่เพื่อประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรม เร่งรัดพิจารณารายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชุดไทยพระราชนิยม” เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO) จึงสั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ในส่วนของการเตรียมจัดกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี รมว.ศธ. เป็นประธาน มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติทุกประการ รวมถึงจัดทำหนังสือที่ระลึกและพิธีวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี ด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) ที่ประชุมได้รับทราบ แนวทางการดำเนินงานการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test: O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2566 ซึ่งมีการสอบด้วยระบบการทดสอบดิจิทัล (Digital Testing) รอบที่ 3 – 4 จำนวน ผู้มีสิทธิ์สอบรวมทั้งสิ้น 103,203 คน ซึ่งจะจัดสอบในวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2567 โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 62 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานการจัดสอบ ในการนี้ รมว.ศธ. ได้มีข้อสั่งการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการอย่างรอบคอบ...
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
ภารกิจผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ
27 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ารับการประเมินเพื่อขอมีคุณวุฒิวูดแบดจ์ ประเภทผู้นำ รุ่นที่ 959 โดยมี ดร.วีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการตรวจขั้นที่ 5 ขั้นปฏิบัติการและประเมินผล ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือระดับผู้นำ รุ่นที่ 959 ระหว่างวันที่ 25 – 30 กันยายน 2566 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อจูงใจและเสริมสร้างผู้บริหาร บุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการ วิธีการ วัตถุประสงค์ สาระสำคัญของการลูกเสือ มีทักษะและประสบการณ์ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้มีความซื่อสัตย์ สุจริตมีความเสียสละ ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เสริมสร้างวินัย รู้จักบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือระดับผู้นำ พ.ศ. 2563 เมื่อบุคลากรทางการลูกเสือผ่านการฝึกอบรมแล้วไม่น้อยกว่า 4 เดือน และไม่เกิน 2 ปี ให้เสนอขอรับการประเมินเพื่อขอมีคุณวุฒิวูดแบดจ์ประเภทผู้นำ โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้แต่งตั้งคณะทรงคุณวุฒิ เพื่อประเมินการขอมีคุณวุฒิโดยการสัมภาษณ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติกำหนด
ชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย จัดประชุมระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อให้สมาชิกชมรมฯ ได้มีโอกาสประชุมระดมความคิดเห็นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการปฏิบัติงานระหว่างกัน ตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือ ความสามัคคีในการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการคุรุทายาท เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มดำเนินการคัดเลือกคนดี คนเก่งและมีเจตคติที่ดี มาศึกษาในคณะครุศาสตร์/คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2530 ต่อเนื่อง จำนวน 13 รุ่น จากนั้นมีตำแหน่งให้บรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปัจจุบันผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาท เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในตำแหน่งหลากหลาย ได้แก่ ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ นอกจากจะจัดประชุมเสวนาวิชาการแล้ว ชมรมคุรุทายาท จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม และโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีด้วย ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี (คุรุทายาทรุ่นที่ 1) ประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทยกล่าวถึงที่มาของการจัดตั้งชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศได้แนวคิดมาจากชมรมแพทย์ชนบท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ ข้อคิดเห็น มุมมองเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา และรวมกันเสนอแนวคิดสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาไทย ในการจัดงานรวมพลคุรุทายาทแต่ละครั้งจะมีประเด็นหารือร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการศึกษา เช่น กระบวนการผลิตครูอย่างมีคุณภาพ การช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจน ขาดแคลน โรงเรียนที่ขาดแคลน และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น ชมรมคุรุทายาท เป็นองค์กรที่เน้นการมีส่วนร่วมจากสมาชิกและเครือข่ายอื่น ๆ ในการขับเคลื่อนการศึกษาตามนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัดไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เกิดผลดีต่อการศึกษา ตัวแทนสมาชิกจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศเสียสละเงินส่วนตัวมาร่วมประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 โดย ดร.วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการและกลุ่มคุรุทายาทแกนนำริเริ่มดำเนินการ โดยพยายามทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสะท้อนประเด็นความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาสู่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในการพัฒนาได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะการจัดการศึกษาที่เน้นโรงเรียนเป็นฐาน เพราะเป็นภารกิจที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด “ผมมีความเชื่อว่าสนามรบที่แท้จริงของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่โรงเรียนและห้องเรียน หากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงให้กลับไปที่ห้องเรียน ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการและผู้เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุนด้านบุคลากร งบประมาณให้โรงเรียนอย่างเพียงพอ” ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ กล่าวสรุปการสัมมนา รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. (คุรุทายาทรุ่นที่ 3)กล่าวว่า การที่ชมรมคุรุทายาทจัดกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำทุกปี เป็นการสร้างความร่วมมือในการพัฒนางาน และเป็นเวทีการเสนอประเด็นในการที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ต่อผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่าปัญหาของระบบการศึกษาของประเทศไทยที่มีปัญหาอยู่ 4 เรื่องใหญ่ คือ 1. ผลลัพธ์การศึกษาไทยอยู่ในระดับต่ำมาก 2. เด็กไทยไม่รู้เป้าหมายของตัวเอง 3. ขาดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และ 4. ระบบพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคลโดยตรง ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติ ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาจากงานวิจัย ตลอดจนแนวปฏิบัติทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาสู่การพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลให้มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาลโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยในปัจจุบันได้ดำเนินงานสำคัญหลายประการที่สอดคล้องตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบการประเมินวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ ว.PA จะลดภาระครู ลดค่าใช้จ่ายในการประเมิน และทำให้การประเมินวิทยฐานะรวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน และนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอน วิธีปฏิบัติงานที่คุ้นชินเดิม ๆ และนำไปสู่เปลี่ยนระบบการเรียนรู้ของ ผอ.โรงเรียนและคุณครูด้วย 2. การพัฒนาระบบการย้ายครูกลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนา จะทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และ 3. การพัฒนาระบบการกำหนดวิชาเอกและอัตรากำลังในสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (คุรุทายาทรุ่นที่ 2)กล่าวว่า โครงการผลิตครูระบบปิดของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้แก่ โครงการเพชรในตม โครงการคุรุทายาท โครงการครูพันธุ์ใหม่ โครงการครูพัฒนาท้องถิ่น โครงการครูรักษ์ถิ่น โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ซึ่งโครงการผลิตครูทุกโครงการล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การคัดเลือก คนดี คนเก่ง และมีอุดมการณ์ในความเป็นครู เข้ามาเรียนครู เมื่อจบแล้วกระจายไปทำงานในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศไทย และสร้างผลงานอย่างหลากหลาย ชาวคุรุทายาทจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับทุนของกระทรวงศึกษาธิการทุกประเภท โดยเฉพาะคุรุทายาทที่มีจำนวนมากกระจายอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศ ให้เป็นต้นแบบในการพัฒนางานเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฝากแง่คิดแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต ดังนี้ ควรจัดทำระบบฐานข้อมูลปัจจุบันของผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันให้สมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อให้สามารถสื่อสารและประสานความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาอย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง ประโยชน์ ประหยัด ควรนำเสนอผลงานของผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันต่อสาธารณชนผ่าน Platform ต่าง ๆ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทั้งนวัตกรรมการเรียนการสอน และการบริหารการศึกษา เพื่อให้สังคมได้รับทราบผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการผลิตครูระบบปิด และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา นอกจากการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ราชการตามกฎหมายกำหนดแล้ว ผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ควรจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาท้องถิ่นหรือพัฒนาสังคมด้วยวิธีการหลากหลาย ได้แก่ การกลับไปพัฒนาโรงเรียนที่เคยเรียนหรือเคยปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ รวมทั้งเป็นแบบอย่างในการสร้างสิ่งดีงามต่อถิ่นกำเนิดและอาจเผยแพร่สิ่งดี ๆ ที่ได้ทำเพื่อเป็นแบบอย่างต่อสาธารณชนผ่าน Platform หลากหลาย ควรมีการยกย่อง เชิดชูเกียรติ ผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันด้วยวิธีการหลากหลาย ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานการศึกษาและพัฒนาสังคมมิติต่าง ๆ โดยอาจมีรางวัลที่มอบโดยกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานต้นสังกัด ควรยึดแนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” โดยผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการคุรุทายาทและโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันควรจัดกิจกรรมร่วมกัน บูรณาการความร่วมมือร่วมกันในด้านต่าง ๆ ได้แก่...
จังหวัดขอนแก่น – 23 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “ปั้นฝันด้วยพหุปัญญา พัฒนาทักษะอาชีพสู่ฐานอนาคตที่มั่นคง ระยะที่ 3” โดยมี นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมคณะมาด้วย และมี นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ตรวจราชการ ศธ. นายสุภชัย จันปุ่ม ศึกษาธิการภาค 13 ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั้ง 5 เขต ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีชุมแพไทย-เยอรมัน (จี-เทค) รมช.ศธ.กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการปั้นฝันด้วยพหุปัญญาพัฒนาทักษะอาชีพ สู่ฐานอนาคตที่มั่นคง ระยะที่ 3 ในวันนี้ จากการรับฟังคำกล่าวรายงานทำให้ทราบว่าสถานศึกษาในพื้นที่ของ สพป.ขอนแก่น เขต 5 โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มีนักเรียนที่เรียนต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนสายอาชีพในปี 2565 เกินร้อยละ 50 มีการเชื่อมโยงหลักสูตรด้านอาชีพกับหน่วยงานอาชีวศึกษา ส่งเสริมศักยภาพให้แก่ผู้เรียน (Upskill) และส่งเสริมให้เกิดทักษะใหม่ด้านอาชีพ (Reskill) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่จะปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายการศึกษาที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างคุณภาพให้กับผู้เรียน และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทาง จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ส่งเสริมการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคง “สิ่งที่ ศธ.ให้ความสำคัญและมุ่งหวัง คือผู้เรียนเมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ มีการสร้างอาชีพที่มั่นคง ตอบสนองตลาดแรงงาน รวมทั้งตอบสนองทิศทางเศรษฐกิจประเทศ และเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ขอขอบคุณความร่วมมือของจีเทค สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งขอชื่นชม สพป.ขอนแก่น เขต 5 ที่ได้ตระหนักถึงความรู้ ความสามารถ และทักษะของนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และจัดโครงการดีๆนี้ขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนในทุก ๆ ด้าน ขอขอบคุณผู้บริหาร คณะครู นักเรียน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ได้นำเสนอความรู้ที่สำคัญให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และนำความรู้กลับไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้บริหาร คณะครู ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผมยินดีที่จะสนับสนุนการทำงานของทุกท่าน ที่สำคัญขอเป็นกำลังใจให้กับลูก ๆ นักเรียนทุกคนในการพัฒนาตัวเองให้เต็มตามศักยภาพ และขอให้การจัดงานในครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทุกประการ” รมช.สุรศักดิ์ กล่าว
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลเชิญชวนศาสนิกชนรวมพลังแห่งศรัทธา ร่วมสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ – ๓ มีนาคม ๒๕๖๗ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง และ ๓ ภูมิภาค 🕤 ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๒๐.๐๐ น. ของทุกวัน 🗓️ ๒๔ กุมภาพันธ์ ถึง ๓ มีนาคม ๒๕๖๗ 📌 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง 🗓️ ๕-๘ มีนาคม ๒๕๖๗ 📌 ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ 🗓️ ๑๐-๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ 📌 ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี 🗓️ ๑๕-๑๘ มีนาคม ๒๕๖๗ 📌 ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ มาร่วมนำหลักธรรม สร้างสันติธรรม เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศตวรรษแห่งธรรม (Dharma Centuries) สร้างความสงบสุขแก่สังคมและประเทศชาติ
21 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 8/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ., นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ ความก้าวหน้าเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ที่เป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ ถือเป็นความท้าทายในการปฏิบัติภารกิจของ ศธ. จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานอย่างจริงจัง ในการจัดทำข้อมูลให้มีความถูกต้อง ตรงเป้าหมาย ตรงประเด็น และตรงกัน เพื่อให้การแก้ปัญหาให้ตรงจุด มีความเป็นเอกภาพ สร้างมาตรฐานการศึกษาให้มีความเสมอภาค เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินงาน ศธ. จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ซึ่งล่าสุดได้แต่งตั้งนายธงชัย ชิวปรีชา อดีตผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการยกระดับผลการประเมิน PISA 2025เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาของประเทศ และสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาของประเทศในทุกภาคส่วนให้ประสานความร่วมมือกัน มีการจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 บูรณาการการทำงานและมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานแต่งตั้งคณะทำงานภายในเพื่อนำแผนการขับเคลื่อนไปดำเนินงานกับครูและนักเรียนในสังกัดของตนเอง ผลการประเมิน PISA 2022 พบว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยลดลง ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน จากโรงเรียนทุกสังกัดการศึกษา จำนวน 279 แห่ง ที่ถูกสุ่มเพื่อเป็นตัวแทนนักเรียนไทยอายุ 15 ปี จำนวน 8,495 คน จากประชากรนักเรียนทั้งประเทศ จำนวนประมาณ 600,000 คน ซึ่งผลเฉลี่ยของประเทศไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ในทุกด้าน จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ผลเฉลี่ยการประเมิน PISA ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ให้เทียบเท่าหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD เบื้องต้นได้มีการดำเนินการจัดทำรายงานผลการประเมิน PISA 2022 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร ตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน ในประเด็นการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล การดำเนินการวิจัย PISA ผลการประเมินและการเปรียบเทียบคะแนน PISA และ O-NET จำแนกตามกลุ่มโรงเรียน จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีมาตรการเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงาน “ปัจจัยความสำเร็จของการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา ต้องให้ความสำคัญกับต้นน้ำก่อน คือ การพัฒนาครูให้มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยต้องหันกลับพิจารณาว่าระบบการผลิตและพัฒนาครูมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดเป็นอันดับแรก ต่อมาคือการทบทวนหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่น ตอบสนองความต้องการของนักเรียน เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองเต็มตามศักยภาพ”รมว.ศธ. กล่าว ศธ. จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนระดับ 3 คือ การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ต้องสามารถเชื่อมโยงเป้าหมายและตัวชี้วัดในเชิงนโยบายให้ได้ตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บทฉบับต่าง ๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาลไปสู่แผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการดำเนินการให้ผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนด KPI (Key Performance Indicator : ดัชนีชี้วัดผลความสำเร็จของงาน) เพื่อลดภารกิจที่ต้องดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการพัฒนา รวมทั้งโครงการที่จะมาสนับสนุนการดำเนินการเพื่อปิดช่องว่างของค่าเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้แผนระดับ 3 ดังกล่าว ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนการขับเคลื่อนยกระดับผลการทดสอบ PISA 2025 การดำเนินงานเพื่อพัฒนานักเรียนสู่การเรียนการสอน สำหรับแผนระยะสั้นคือ เร่งพัฒนาสื่อนวัตกรรมเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทั้งในรูปแบบของ Paper-based Testing และ Computer-based Testing ส่วนแผนระยะยาวคือ ต้องพัฒนาความสามารถด้านการอ่านให้กับนักเรียนในทุกระดับชั้น ทั้งในกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการฝึกฝนสมรรถนะด้านการอ่านเชิงคิดวิเคราะห์ โดยใช้เนื้อหาที่มีความหลากหลายและซับซ้อนตามช่วงวัย และระดับการศึกษาของผู้เรียน ขณะเดียวกันยังมีการขับเคลื่อนด้วยคู่พี่เลี้ยงโรงเรียนวิทยาศาสตร์พลังสิบกับโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ช่วยในการพัฒนาเครื่องมือและวิทยากรหลัก เป็นพี่เลี้ยงพัฒนาให้กับเขตพื้นที่ประถมศึกษา และครูแกนนำวิทยาศาสตร์พลังสิบ “การประเมิน PISA เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ามาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยยังคงมีเหลื่อมล้ำอยู่ ตนจึงอยากลดหรือขจัดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ให้หมดไป ด้วยการสร้างมาตรฐานการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุด ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนที่จัดการศึกษา” ชื่นชมนักเรียนโรงเรียนสิชลประชาสรรค์ นำความรู้วิชาลูกเสือ มาช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ และปฐมพยาบาล ในสถานการณ์จริง รมว.ศธ. กล่าวชื่นชม นายพลายเงิน ดีอ่อน อายุ 15 ปี นักเรียนโรงเรียนสิชลประชาสรรค์ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการประชุม ZOOM ในครั้งนี้ ที่ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุเพลิงไหม้รถยนต์เสียหาย โดยได้รีบเข้าไปช่วยเหลือคนขับออกจากรถ และช่วยขนสัมภาระในรถออกมาอย่างปลอดภัย ก่อนที่เพลิงจะลุกไหม้รถเสียหายทั้งคัน “เป็นเรื่องที่น่ายินดีและรู้สึกดีใจที่นักเรียนในสังกัด ศธ....
20 กุมภาพันธ์ 2567 – นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นายโมฮัมหมัด ซูฮายล์ อัลมาดานี (Mr. Mohammad Suhail Almadani) ผู้บริหารบริษัท Classera Inc. ซาอุดีอาระเบีย ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา โดยนายอิบราฮิม บัรนาวี ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ปลัด ศธ.กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Classera ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านการศึกษาระดับโลก สนับสนุนการดำเนินงานและให้ความร่วมมือผลักดันด้านการศึกษา ด้วยบริษัท Classera ถือเป็นผู้ให้บริการทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งอาศัยระบบการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการแนวคิดแบบเกมมิฟิเคชัน (Gamification : การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยเกม) ทั้งการเรียนรู้แบบควบคู่ (Hybrid learning) และ การเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended learning) ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนจากห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 หรือที่เรียกว่า “โรงเรียนเสมือนจริง” ด้วยเหตุนี้ ศธ.จึงเล็งเห็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทย กับประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยส่งเสริมการใช้บทเรียน อิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) การบริหารจัดการด้านการศึกษา ตลอดจนติดตามผลการเรียน พัฒนาความสามารถของครูผู้สอน ด้วยการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยีมาใช้ จนเกิดเป็น “ห้องเรียนอัจฉริยะ” ซึ่งการลงนามร่วมกันในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการดำเนินงาน ที่มีส่วนช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้เรียน รวมทั้งครูผู้สอนในโรงเรียนนำร่องผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ทันสมัย และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะร่วมกันส่งเสริมในมิติต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานร่วมกันเป็นไปด้วยความราบรื่น เกิดประโยชน์จากความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย รวมถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษา และยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยในอนาคตต่อไป นายโมฮัมหมัด ซูฮายล์ อัลมาดานีกล่าวว่า ขอขอบคุณและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงการบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อพลิกโฉมการศึกษา เสริมสร้างให้เยาวชนเติบโตก้าวทันยุคดิจิทัล สร้างโอกาสในการก้าวข้ามขีดจำกัดของการเรียน จุดประกายให้ผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาตนเองมากขึ้น ที่สำคัญคือใช้แพลตฟอร์มสารสนเทศทางการศึกษา “HP Classeasy LSP” มาอำนวยความสะดวกแก่สถานศึกษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกเรียนรู้ผ่านระบบ AI ที่ทันสมัย ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เรียนทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่มเพื่อต่อยอดการศึกษาผ่านเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และหวังว่าจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับไทยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พบพร ผดุงพล / ข่าว พัรณัฐ ยุชยะทัต / ภาพ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ / ข้อมูล
สำนักงาน ก.ค.ศ. มีหนังสือที่ ศธ 0206.4/ว6 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีสาระสำคัญดังนี้ ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษา ทราบและถือปฏิบัติ นั้น ก.ค.ศ. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้ ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว 18ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในหลักเกณฑ์และวิธีการใหม่นี้ กำหนดให้นำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกโดยย่อว่า“ระบบ TRS”มาใช้ในการย้าย โดยให้ใช้บังคับกับทุกส่วนราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากการจัดทำระบบ TRS ยังไม่แล้วเสร็จ ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ตามหนังสือที่อ้างถึง มาใช้บังคับโดยอนุโลมไปพลางก่อนจนกว่าระบบ TRS จะแล้วเสร็จ ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ. สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี ดำเนินการย้ายรอบที่ 1 และ 2 ประจำปี พ.ศ. 2567 ตามปฏิทินที่ส่วนราชการกำหนดและหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ตามหนังสือที่อ้างถึง ต่อไปให้แล้วเสร็จ รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.
16 กุมภาพันธ์ 2567 / ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้แทนจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. ได้เข้าร่วมงานเปิดโครงการ The International Academic Partnership Program (IAPP) โดยมีนาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยให้การต้อนรับ พร้อมผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อธิการบดีจากสถาบันอุดมศึกษา สมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา (AUA) และภาคีภาคเอกชน เข้าร่วมงานเปิดตัวโครงการดังกล่าว ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวว่า “สหรัฐฯ มุ่งมั่นสานต่อความสัมพันธ์อันยาวนานกับประเทศไทย ในด้านการเสริมสร้างความร่วมมือทางการศึกษาและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาอนาคตที่ดีและมั่นคงมากขึ้นสำหรับประชาชนของทั้งสองประเทศ อีกทั้งการศึกษาระหว่างประเทศจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ตลอดจนกระชับมิตรภาพระหว่างเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯกล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จะให้ความร่วมมือในการดำเนินงานด้านการศึกษาในประเทศไทย และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ร่วมสนับสนุนโดยเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยไทยที่มีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการ IAPP พร้อมประสานงาน ผลักดันและแสวงหาความเป็นหุ้นส่วนทางวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาสหรัฐอเมริกา” ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ.ได้กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ไทยและสหรัฐอเมริกาเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานและมีความร่วมมือด้านการศึกษาร่วมกันในทุกระดับ ทั้งนี้ ในส่วนโครงการ IAPP นั้นถือเป็นโครงการต้นแบบที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาได้ริเริ่มกิจกรรมขึ้นในระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม หากมีการริเริ่มโครงการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาด้วยจะเป็นที่น่ายินดียิ่ง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการไทยพร้อมสนับสนุนความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างไทย – สหรัฐอเมริกาในทุกมิติ สำหรับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา กระทรวงศึกษาธิการ มีความร่วมมือกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาหลายหน่วยงาน และมีกิจกรรมความร่วมมือสำคัญ อาทิ มูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (ฟุลไบรท์) ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและครู ในการศึกษาต่อหรือฝึกอบรมในสหรัฐฯ เป็นประจำทุกปี โดยมูลนิธิเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้ได้รับทุนเอง ซึ่งความร่วมมือตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน มีคนไทยได้รับทุนFulbright มากกว่า 5,000 คน นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานคัดเลือกผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษ (English Teaching Assistant : ETA) ไปช่วยสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทุกปี ปีละประมาณ 20 คน หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (The American Chamber of Commerce in Thailand) ให้การสนับสนุนความช่วยเหลือแก่โรงเรียนไทยหลายโครงการ เช่น ทุนการศึกษา งบประมาณสนับสนุนโครงการผู้ช่วยสอนภาษาอังกฤษ (English Teaching Assistants : ETAs) ผ่าน Thailand-U.S. Educational foundation (TUSEF) และสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์กีฬา และการปรับปรุงอาคารสถานที่ในโรงเรียน เป็นต้น หน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย (Peace Corps Thailand) โครงการเพื่อนครูเพื่อการพัฒนา “Teacher Collaboration and Community Service: TCCS” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา ประเทศไทย (Peace Corps Thailand) ร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพการสอนของครูสอนภาษาอังกฤษ ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของนักเรียน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในชุมชน โดยฝ่ายสหรัฐฯ จัดส่งอาสาสมัครชาวอเมริกัน ปีละประมาณ 30 คน เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่การสอนภาษาอังกฤษร่วมกับครูไทย ที่โรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลาง หรือโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของไทย โดยมีระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันมีอาสาสมัครที่เข้ามาในประเทศไทย ประมาณ 5,500 คน นับตั้งแต่สหรัฐฯ ได้ส่งอาสาสมัครมาประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2504 ข้อมูลเพิ่มเติม โครงการ The International Academic Partnership Program (IAPP) เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมี Institute of International Education (IIE) สำนักงานใหญ่มหานครนิวยอร์ก เป็นผู้ดำเนินการให้ทุนสนับสนุนกิจกรรม โดยเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ IAPP จะคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาสหรัฐฯ 19 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษาไทย 29 แห่ง ให้เข้าร่วมโครงการ โดยคัดเลือกสถาบันจากทั่วภูมิภาคเพื่อให้กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะเฉพาะและมีความหลากหลาย อีกทั้งยังใช้เกณฑ์พิจารณาลักษณะต่างๆ เช่น ขนาด ประเภทของสถาบัน การดำเนินงานในระดับภูมิภาค ชื่อเสียง และสาขาวิชา เป็นต้น โครงการ IAPP มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับอุดมศึกษา...
15 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ทิศทางการบริหารสู่คุณภาพ เรียนดี มีความสุข และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ครั้งที่ 53 สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้บริหาร โดยมี นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรมว.ศธ. นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายภูธร จันทะหงส์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ร่วมคณะมาด้วย และมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คณะผู้บริหารระดับสูง ครู และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ตนมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มามอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้บริหารที่มีผลงานดีเด่นประจำปี 2566 ในโอกาสที่สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ทิศทางการบริหารสู่คุณภาพ เรียนดี มีความสุข Educational Administration for Wisdom and Wellness และประชุมใหญ่สามัญ ประจําปี 2566 นับเป็นโอกาสอันดี ที่สมาชิกทุกท่าน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นสําคัญ และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับทิศทางการบริหารสู่คุณภาพ มีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพของผู้บริหารสถานศึกษา ตามหลักเกณฑ์ใหม่ ที่มีความสอดคล้องต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และได้พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งช่วยกันพัฒนาการศึกษาของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป “ขอแสดงความยินดีกับสมาชิกฯ ผู้ที่ได้รับรางวัล ผู้บริหารการศึกษาดีเด่น ผู้บริหารสถานศึกษาดีเด่น ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาดีเด่น ด้านทําคุณประโยชน์ ต่อการมัธยมศึกษาไทยและผู้ทรงคุณค่าต่อการมัธยมศึกษาไทยทุกท่าน ทั้งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ อดทน และเสียสละ ขอขอบคุณคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้ ทั้งยังขอเป็นกําลังใจให้ทุกคน ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขอให้มีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง ปราศจากอันตรายทั้งปวง ทั้งนี้ผมยินดีที่จะสนับสนุนการทํางานของทุกท่านเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของท่าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. หากมีสิ่งใดที่เป็นปัญหา อุปสรรค แล้วผมสามารถแก้ไขเป็นนโยบายเร่งด่วนได้ก็พร้อมที่จะแก้ไขให้ทันที เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของประเทศ ร่วมกันจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”รมช.ศึกษาธิการ กล่าว คณะทำงาน รมช.ศธ. / ข่าว-ภาพ
จังหวัดนครปฐม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจาก นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการติดตาม ประเมิน และรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายโกเมศ กลั่นสมจิตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. คณะทำงานในสังกัด สป.ศธ. เข้าร่วม ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รองปลัด ศธ.กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำงบประมาณ แผนปฏิบัติราชการ รวมทั้งการเร่งรัด ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการที่ตอบสนองต่อนโยบายและแผนระดับชาติ ระดับกระทรวง ระดับกรม และภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านการติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานสำคัญของ สป.ศธ. จึงต้องวางแนวทางกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน การติดตาม ประเมินผล ให้มีความครอบคลุมภารกิจตามข้อกำหนดของกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับต่าง ๆ นโยบายรัฐบาล นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งการติดตามและประเมินผลควรสะท้อนถึงข้อมูลที่เป็นผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการปฏิบัติภารกิจด้านการติดตาม ประเมิน และรายงาน สามารถสะท้อนแนวคิดการบริหารภาครัฐแนวใหม่ ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ได้อย่างดียิ่ง นอกจากปฏิบัติภารกิจด้านการติดตาม ประเมิน และรายงานผลการดำเนินงานของ สป. แล้ว ขอฝากให้ประสานการทำงานกับหน่วยงานต่าง โดยเฉพาะ ศธจ. ต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัด และส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อประสานความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ การนำระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Meeting มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการนำวงจรการควบคุมคุณภาพ หรือ วงจรเดมมิ่ง PDCA (Deming Cycle : plan วางแผน, do ปฏิบัติ, Check การตรวจสอบ, Act การปรับปรุง) มาเป็นเครื่องมือที่ใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยในการปฏิบัติงานตามนโยบายของ ศธ. นั้น นอกจะลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครองแล้ว ต้องลดภาระของข้าราชการ ผู้ปฏิบัติงานด้วยเช่นเดียวกัน “ขอฝากและคาดหวังว่าทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการรวมใจเป็นหนึ่งเดียว จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านการติดตาม ประเมิน และรายงานผลจากการนำนโยบายและจุดเน้นการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลสำคัญสำหรับผู้บริหารในการใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารจัดการศึกษา รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนางานให้กับผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” ผอ.สนย.สป.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สป. มีภารกิจในการกำกับติดตามประเมินและรายงานผลการนำนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการของ สป.ศธ. ผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณตามเป้าหมายในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี ผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการรายปีและระยะ 5 ปี โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 กำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดทำรายงานผลสัมฤทธิ์ของแผนปฏิบัติราชการ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรายงานในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ตลอดจนรายงานผลสัมฤทธิ์การปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณต่อสำนักงบประมาณ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ด้วยความสำคัญดังกล่าว สนย. สป. จึงได้จัดการประชุมฯ ครั้งนี้ขึ้น เพื่อชี้แจงกรอบแนวทางและเครื่องมือในการติดตาม ประเมินและรายงานผลการดำเนินงานของสป.ศธ. ให้กับหน่วยงานในสังกัด และนำเสนอข้อมูลผลสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะของการจัดการศึกษาในปีที่ผ่านมา พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนางานด้านการติดตาม ประเมิน และรายงานสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งสอดรับกับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของ สป.ศธ. ซึ่งหวังว่าทุกหน่วยงานใน สป.ศธ. จะสามารถนำกรอบแนวทางและเครื่องมือไปใช้ในการติดตาม ประเมินและรายงานผลตามนโยบายและแผน รวมทั้งภารกิจที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานยุคใหม่ที่เป็นระบบดิจิทัลเพิ่มมากยิ่งขึ้น อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก มานัส ศรีสำอางค์ สนย. สป. / ภาพ
นายธนากรดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้วว่าหน่วยงานภายในสกร. (Department of LearningEncouragement : DOLE) ในส่วนกลาง มี 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กลุ่มตรวจสอบภายใน กลุ่มกฎหมายและนิติการ สำนักงานเลขานุการกรม กองบริหารการคลัง กองบริหารทรัพยากรบุคคล กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต กองมาตรฐานความรู้และรับรองวุฒิ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและสารสนเทศศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับระดับพื้นที่จะมีหน่วยงานการศึกษา/สถานศึกษา กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด (สกร.จังหวัด) สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาค สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร สถาบันการศึกษาทางไกล และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายพิเศษ ภายใต้ สกร.จังหวัด จะมีศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ ศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล และศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ กรอบอัตรากำลังของ สกร.ทั้งหมดมีดังนี้ เป็นข้าราชการ 4,980 อัตรา พนักงานราชการ 15,139อัตรา และ ลูกจ้างประจำ 248 อัตราซึ่งโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ และการกำหนดกรอบอัตรากำลังใหม่นี้จะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ขณะเดียวกัน เร่งดำเนินการในส่วนของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง เช่น การกำหนดสถานที่ตั้งของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร /ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอและเขต (กทม.) / ศูนย์การเรียนรู้ตำบลและแขวง (กทม.) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา“แม่ฟ้าหลวง”การประกาศให้จัดตั้งศูนย์หรือสถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการซึ่งกำหนดให้เป็นสถานศึกษาไปแล้วจำนวน 39 แห่งและการกำหนดให้หน่วยจัดการเรียนรู้มีอำนาจในการรับรองคุณวุฒิให้แก่ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษา โดยมีการออกเป็นประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตร หรือหนังสือรับรองความรู้เพื่อนำไปสะสมในการได้รับการรับรองคุณวุฒิ สกร.เป็นกรมใหม่ เราต้องเร่งทำงานอย่างรอบด้านในทุกมิติเพื่อให้มีการขับเคลื่อนงานได้ซึ่ง สกร.ได้นำนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาปฏิบัติ เช่นลดภาระงานครู แก้ไขปัญหาหนี้สินให้นักเรียนนักศึกษาเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยมี 2 นโยบายของ รมว.ศธ.ที่ สกร.ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วในปี 2567 นี้ คือการจัดการศึกษาเพื่อเด็กอัจฉริยะและการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ สกร.ในทุกมิติ ในส่วนของการจัดการศึกษาเพื่อเด็กอัจฉริยะสกร.กำลังดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสอบเทียบเพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้ และเพื่อให้การศึกษาขั้นพื้นฐานมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สกร.จึงได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและสำนักงานคณะการรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ในการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานของชาติมาจัดสอบและมอบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ออกข้อสอบ นอกจากนี้ จะหารือกับมหาวิทยาลัยให้ช่วยจัดทำหลักสูตรนักส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้ครูและบุคลากรเข้ารับการอบรมโดยเรียนที่มหาวิทยาลัยเพียง 1-2 วัน และศึกษาทำงานในพื้นที่ให้มาก 3-6 เดือนจบแล้วได้รับหน่วยกิตไปสอบเทียบระดับปริญญาโทได้ เพื่อเตรียมบุคลากรได้ปรับตัวและพร้อมปฏิบัติงานใหม่ๆ ตามภารกิจในกฎหมายและโครงสร้างใหม่ของ สกร. เพราะงานของสกร.คือ แผนที่เพิ่มโอกาสคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย
14 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยในสถานการณ์ฝุ่นที่เสี่ยงต่อสุขภาพของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยได้สั่งการให้ติดตามค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่เสมอ ซึ่งวันนี้กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์สถานการณ์ค่า PM 2.5 ในกทม. และปริมณฑลมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 ก.พ. ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์แนวโน้มการระบายอากาศระหว่างวันที่ 14-15 ก.พ.มีการระบายอากาศอ่อน ประกอบกับอากาศใกล้พื้นผิวมีลักษณะปิด ส่งผลให้ความเข้มข้นของฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ระหว่างวันที่ 10-13 ก.พ. มีจุดเผาจำนวนมากในประเทศไทยทั้งบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (3,241 จุด) และกัมพูชา (14,939 จุด) โฆษก ศธ.กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ขณะนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่แย่มากเกือบจะทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งอยู่ในระดับเริ่มมีผลต่อสุขภาพ โดยขณะนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศให้หน่วยงานสังกัด กทม. Work From Home (WFH) เป็นเวลา 2 วัน ในวันที่ 15-16 ก.พ. นี้ ส่วน รร. สังกัด กทม. ยังเปิดตามปกติ เนื่องจากเป็นพื้นที่ Safe Zone ที่มีการทำห้องเรียนปลอดฝุ่นให้แก่เด็ก “สำหรับแนวปฏิบัติของโรงเรียนในสังกัด ศธ.ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาเฝ้าระวังสุขภาพนักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษา ลดเวลาหรือหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัยที่กรอง PM2.5 ได้ หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ พร้อมเน้นย้ำให้ถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างเคร่งครัด” ทั้งนี้หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย เพื่อขอรับการสนับสนุนตามความต้องการของพื้นที่ได้ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการรายงานคุณภาพอากาศ การคาดการณ์คุณภาพอากาศ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4Thai ได้ตลอด 24 ชม.
14 กุมภาพันธ์ 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 7/2567 โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมือง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ รมว.ศธ.กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแห่งความรัก แต่สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถือเป็นวันแสดงพลังรักสีม่วง ที่แสดงออกให้เห็นว่าชาวศธ. ได้แสดงสัญลักษณ์แห่งความรักและความจงรักภักดีสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพราะสีม่วงเป็นสีประจำพระชนมวารของพระองค์ หน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานในกำกับ จึงพร้อมใจสวมเครื่องแต่งกายสีม่วงโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นการแสดงความรักและความจงรักภักดีที่พระองค์ท่านมีพระเมตตาต่อวงการการศึกษา อย่างหาที่สุดมิได้ ศธ.เตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ในปี พ.ศ. 2567 นั้น ศธ.ได้เตรียมจัดงานดังกล่าว โดยได้ประดับธงตราสัญลักษณ์ฯ และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และแต่ละหน่วยงานได้เตรียมเสนอโครงการและกิจกรรม เพื่อให้คณะกรรมการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ พิจารณา และส่งให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ขอความร่วมมือบุคลากรในสังกัด ศธ.แต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองประดับตราสัญลักษณ์ฯ ทุกวันจันทร์ และในโอกาสที่เหมาะสมโดยพร้อมเพรียงกันตลอดทั้งปี ติดตามการทดสอบ O-NET ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการสอบดังกล่าวให้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแนวทางมาตรฐานการวัดความรู้และทักษะของผู้เรียน ลดภาระในการสอบซ้ำซ้อน ตอบโจทย์นโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” การศึกษาของเด็กแต่ละช่วงชั้นควรสอบวัดประเมินผล เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งในการพัฒนาผู้เรียน จะได้ทราบว่าต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนหรือปรับการสอนหรือไม่ ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเพื่อนำเกณฑ์มาประเมินกระบวนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ด้วย อีกทั้งในอนาคต จะมีการนำการสอบเทียบกลับมา เป็นการสอบรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าO-NET+ (โอเน็ตพลัส)อาจปรับแนวข้อสอบให้เน้นทักษะคิดวิเคราะห์มากขึ้น เพราะการสอบแบบเดิมไม่ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในรูปแบบใหม่หากใครมีคะแนน O-NET 4 วิชาเดิมอยู่แล้ว ก็นำคะแนนมาใช้ในการสอบเทียบเพิ่มได้เลย เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เหมือนเป็นการสะสมหน่วยกิตไม่ได้เป็นการบังคับ แต่ให้สอบด้วยความสมัครใจไม่เป็นการเสียเวลาและยังนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษาได้ด้วย “การส่องกระจกเงาไม่มีใครบังคับให้เราทำ แต่เราทำไปเพื่อดูความเรียบร้อยของตนเอง การสอบก็คือกระบวนการเดียวกันกับการส่องกระจกเงา ที่ทำไปเพื่อดูว่าเราพร้อมหรือยัง หรือมีสิ่งที่ควรแก้ไข ทำอย่างไรเราถึงจะดูดี ทำอย่างไรเราถึงจะเก่ง เราขาดตกบกพร่องตรงไหนที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่อยากให้คิดแค่ว่าการสอบเป็นเรื่องบังคับเพื่อจัดลำดับเข้ามหาวิทยาลัย ควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้สอบอย่างมีความสุข เห็นประโยชน์ที่ทำให้รู้ตัวตนเหมือนเราส่องกระจกเงา” รมว.ศธ. กล่าวในประเด็นนี้ การจัดทำ MoU กับหน่วยงานต่างประเทศ ที่ประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับการลงนามความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด กับหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น หากหน่วยงานหรือสถานศึกษาจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) หรือลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศศธ.จะต้องแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อพิจารณาก่อนทุกครั้งจึงขอให้ทุกส่วนราชการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว เพื่อให้มีผลผูกพันตามกฎหมายด้วย ความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA 2025 ของประทศไทย ที่ประชุมได้ติดตามแนวทางดำเนินงานของส่วนราชการเกี่ยวข้อง ในการยกระดับผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA)โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำเสนอความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่ง รมว.ศธ. ได้มอบแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ส่วนด้านส่งเสริมการเรียนรู้ สพฐ.จัดให้มีโครงการ“โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง”สายวิทยาศาสตร์ เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนเครือข่าย เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแล เพื่อยกระดับการศึกษาให้เท่าเทียมกัน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการ PISA เพื่อประเมินภาพรวมทั้งประเทศ ในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551 ซึ่ง รมว.ศธ.ได้มีหนังสือกำชับทุกหน่วยงาน ให้ยึดความสมัครใจของผู้เป็นหนี้เป็นหลัก โดยกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นหนี้ เพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัดให้มีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือนรวมถึงมีการตั้งสถานีแก้หนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ศธ.ได้เชิญ“โค้ชหนุ่ม”ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาให้ความรู้ เพื่อเป็นต้นแบบและเป็นมิติใหม่ในการเสริมสร้างหลักสูตรในการแก้ไขปัญหาหนี้สินอีกด้วย การติดตามนโยบายความปลอดภัยของสถานศึกษาในส่วนภูมิภาค ปลัด ศธ. ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงแนวทางดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยของสถานศึกษาในส่วนภูมิภาคโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน บูรณาการทำงานร่วมกันหน่วยงานในพื้นที่ระดับจังหวัดทั่วประเทศ การพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้มีส่วนร่วมยกระดับคุณภาพการศึกษา รมว.ศธ.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ศึกษาเรื่องการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะหารือร่วมกับสมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทยด้วยว่าควรมีการรวมหรือแยกหน่วยงานระหว่างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือไม่เพื่อให้ศึกษานิเทศก์เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาในระดับภูมิภาคให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พบพร ผดุงพล, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป ณัฐพล สุกไทย ถ่ายภาพ ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ วีดิทัศน์