29 มีนาคม 2567/ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่สภานายกสภาลูกเสือไทย เป็นประธานการประชุมสภาลูกเสือไทย ประจำปี 2567 ภายใต้คำขวัญ“ทำดี ทำได้ ทำทันที”โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย และผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่าย จำนวน 250 คน ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบกล่าวรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ได้ดำเนินกิจการลูกเสือตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 ข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้แนวทาง “ทำดี ทำได้ ทำทันที”เพื่อปลูกฝัง ฝึกฝนอบรม พัฒนาเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของลูกเสือ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคม อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญในการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไปในอนาคต รวมถึงบริหารกิจการลูกเสือให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างความสัมพันธ์กับคณะลูกเสือนานาชาติ ซึ่งประสบความ สำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายทุกประการ โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาทุกสังกัด องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคีเครือข่ายให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ยังได้น้อมนำโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ มาเสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง สร้างจิตบริการและจิตสาธารณะ บำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สำหรับปีนี้ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำ (ร่าง) นโยบายและข้อเสนอแนะการพัฒนากิจการลูกเสือไทยและการจัดอภิปรายเยาวชนลูกเสือ Youth Forum ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2567 มีผู้แทนจากหน่วยงานทุกภาคส่วนตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และผู้แทนเยาวชนลูกเสือเข้าร่วมประชุม โดยจะนำเสนอผลสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวในวันนี้ด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูลกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงพระราชทาน“หลักสูตรลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน”มุ่งประสานทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อส่งเสริมให้ลูกเสือและบุคลากรทางการลูกเสือ ได้เสริมสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโครงการที่ทรงคุณค่า สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับ“ธรรมนูญของลูกเสือโลก”ที่ระบุว่าหลักการขับเคลื่อนลูกเสือ คือ ขบวนการการศึกษาสำหรับเยาวชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นไปโดยสมัครใจ ไม่จำกัดเพศ ศาสนา และเชื้อชาติ มุ่งพัฒนาเยาวชน ให้บรรลุศักยภาพด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกทางสังคม และจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยม ในฐานะพลเมืองที่รับผิดชอบ และในฐานะสมาชิกของชุมชนในท้องถิ่นระดับประเทศ และระดับนานาชาติ แนวคิดสำคัญในการพัฒนากิจการลูกเสือไทย คือ“การบูรณาการความรู้ทางวิชาการ กับอุดมการณ์การลูกเสือ หลักการการลูกเสือ และเจตนารมณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ ให้เกิดผลเชิงประจักษ์ในสังคม”พัฒนาหลักวิชาการที่สอดคล้องกับยุคสมัย ประยุกต์ใช้ได้จริง สามารถพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะทางสังคม ทักษะวิชาชีพ สำนึกการประกอบวิชาชีพ การดำรงชีพด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งที่ยั่งยืน และสร้างจิตวิญญาณแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงขอนำนโยบายของสภาลูกเสือไทย ให้ทุกท่านได้ยึดถือปฏิบัติ ดังนี้ 1. ขับเคลื่อนโครงการลูกเสือจิตอาสาพระราชทานเน้นให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพสังคมไทยร่วมกัน โดยใช้กระบวนการลูกเสือ 2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนและสนับสนุนการจัดตั้งสภาเยาวชนลูกเสือแห่งชาติ สภาเยาวชนลูกเสือจังหวัดทุกจังหวัดในอนาคต เพื่อให้เยาวชนลูกเสือมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น ความต้องการและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สอดคล้องกับนโยบายการมีส่วนร่วมของเยาวชนในระดับการตัดสินใจของลูกเสือโลก ภายใต้แนวคิด“เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่สนับสนุน” 3. พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมลูกเสือทุกระดับ ทุกประเภทให้ได้มาตรฐานตามวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ และสอดคล้องกับนโยบายหลักสูตรกิจกรรมเยาวชนลูกเสือโลก รวมทั้งกำหนดแนวทาง วิธีการจัดกิจกรรมลูกเสือให้เหมาะสมกับทุกระดับ และทุกประเภท 4. ผู้ใหญ่ในการลูกเสือต้องเป็นกำลังสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ และเครือข่ายให้ได้มาตรฐานและเกิดความเข้มแข็ง ปฏิบัติงานได้ทันต่อเหตุการณ์ ด้วยการทบทวนองค์ความรู้ สร้างประสบการณ์เพิ่มเติมอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง สอดคล้องกับ “นโยบายผู้ใหญ่ในการลูกเสือ” ของลูกเสือโลก 5. ดูแลความปลอดภัยจากการคุกคามรวมถึงความปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจกรรมลูกเสือ ทั้งการคุกคามทั้งจากผู้ใหญ่ และจากเยาวชนด้วยกัน ตาม “นโยบายความปลอดภัยจากการคุกคาม” ของลูกเสือโลก 6. พัฒนาและยกระดับค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือให้ได้มาตรฐานสากลด้วยการสำรวจตรวจสอบค่ายลูกเสือทั่วประเทศ เพื่อทำการปรับปรุง และพัฒนาค่ายลูกเสือและกิจการลูกเสือ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จังหวัดละ 1 แห่ง 7. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของลูกเสือด้วยการจัดให้มีระบบบริหารจัดการที่ดี มีระเบียบรองรับการปฏิบัติงานที่เป็นธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมไปถึงการก่อตั้ง “ร้านลูกเสือ” (Scout Shop) เป็นกิจการที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าลูกเสือ และของที่ระลึก ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหารายได้มาสนับสนุนการจัดกิจกรรมของลูกเสือ ดำเนินการโดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 8. พัฒนาระบบ ระเบียบ วิธีการบริหารจัดการกิจการลูกเสือที่ดี มีคุณภาพ แบบมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาลและให้เป็นไปตามธรรมนูญและนโยบายต่าง ๆ ขององค์การลูกเสือโลก “ขอให้ท่านได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายด้วยความรู้ ความสามารถ จิตสาธารณะ และทำให้ กิจการลูกเสือไทย มีความทันสมัยอยู่เสมอ ตามคำกล่าวที่ว่า การลูกเสือเป็นกิจกรรมของเด็ก แต่เป็นภารกิจของผู้ใหญ่” นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้าย...
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
18 มีนาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล), นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ., นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ., นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ., นายภูมิพัทธ เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา, นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ., นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการ กอศ., นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดี สกร., นายพิเชฐร์ วันทอง รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. และนายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กช. เดินทางไปวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย เพื่อร่วมกับ รมว.ศธ. เยี่ยมชมผลงานนักศึกษา และพบปะผู้บริหารการศึกษาของจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ทั้งในห้องประชุมและระบบออนไลน์โดยได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ถึงแม้จะมีคนบอกว่า รมว.ศธ.และ รมช.ศธ. เป็นรัฐมนตรีที่โลกลืม แต่ผมมั่นใจว่าครูจะไม่ลืม วงการศึกษาจะคิดถึงเรา ปัญหาหลายอย่างที่ไม่เคยแก้ไขได้ ก็จะแก้ได้ในยุคเรา ขอเป็นกำลังใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน และยืนยันว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เราจะจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” จากนั้น รมช.ศธ. และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุม ครม.สัญจร ณ โรงเรียนวัดพระเกิดคงคาราม อ.เทิง จ.เชียงราย โดยมี ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผอ.โรงเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ ในการนี้ นางกัญจนา สัตตรัตนำพร ผอ.สพป.เชียงราย เขต 4 รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. โรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” ได้ขับเคลื่อนโครงการฯ โดยมีโรงเรียนในสังกัด สพป. 18 โรงเรียน และสังกัด สพม. 18 โรงเรียน ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคเรื่องความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนโครงการฯ และการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด รวมถึงความเชื่อมั่นในการใช้ทรัพยากรร่วมกันของโรงเรียนเครือข่าย ซึ่งหากสามารถข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ได้ เชื่อมั่นว่าผู้เรียนจะมีทักษะความรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” 2. “การส่งเสริมและพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของผู้เรียน” เนื่องจากผู้เรียนบางส่วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีปัญหาเกี่ยวกับการออกเสียง รวมถึงสื่อ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับการส่งเสริมการอ่านไม่เพียงพอ จึงทำให้ทักษะด้านการอ่านเขียนไม่สูงมากนัก จึงอยากให้พัฒนาทักษะครู และสร้างนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนที่หลากหลาย ทันสมัย และใช้ได้จริง 3. “การแก้ไข ปัญหาหนี้สินครู และบุคลากรทางการศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม” ครูและบุคลากรทางการศึกษาของจังหวัดเชียงราย ขอปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย จำนวน 40 คน ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จำนวน 4 คน ตามเงื่อนไขของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย ทั้งนี้ยังพบปัญหาอุปสรรคอยู่ คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงราย ไม่สามารถให้ปรับโครงสร้างหนี้ได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงรายและสถาบันทางการเงินอื่นไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ตามที่ร้องขอ ทั้งนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1,เขต 2 ,เขต 3, เขต 4 และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย ด้วยมุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคมโลก โดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” และใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ดังที่กล่าวไว้ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนสำหรับต้อนรับที่ไม่มีของชำร่วย เรามาพบปะกันอย่างเรียบง่าย ประหยัด ตามข้อสั่งการของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ที่ได้บอกไว้ว่า “การลงพื้นที่ตรวจราชการต้องไม่เป็นภาระให้กับคนในพื้นที่ เราจะไม่สร้างงานที่ไม่จำเป็น แต่จะมาช่วยเหลือทุกท่าน” โดยรับรองว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้จะไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน ที่ผ่านมาการทำงานของ ศธ. ภายใต้นโยบายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งเป็นข้อความที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย ความสุขที่หมายถึงความสุขของทุกคนจริง ๆ ทุกระดับ ทุกมิติ โดยมุ่งหวังลดภาระครู นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งเราได้ดำเนินการจนปรากฏขึ้นแล้วหลายเรื่อง เช่น การยกเลิกครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เวรรักษาการณ์ในสถานศึกษา อย่างจังหวัดเชียงรายเอง ทราบมาว่าตำรวจเข้ามาช่วยดูแลโรงเรียนทั้งจังหวัด โดยมี QR Code ที่โรงเรียนควบคู่กับตู้แดง แล้วตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบทุก 4...
จังหวัดบุรีรัมย์ 16 มีนาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อร่วมโครงการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ พร้อมบรรยายพิเศษใน หัวข้อ การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2567-2570 และมี นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ให้เกียรติบรรยายพิเศษ หัวข้อ มุมมองต่อการศึกษาในมุมมองของภาคเอกชน ทั้งยังมี ผู้บริหารบริษัท โตโยต้าฯ จำกัด ผู้บริหารบริษัท ยามาฮ่าฯ จำกัด ผู้บริหารบริษัท ฮอนด้าฯ จำกัด ร่วมบรรยายพิเศษ หัวข้อ การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชน ซึ่งมีนักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นายสุรศักดิ์กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ แนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ว่า การสัมมนาครั้งนี้ เป็นการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษากำหนดทิศทาง/แนวทางการดําเนินงานด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการดําเนินงาน ร่วมกันบูรณาการและสร้างภาคีเครือข่ายการบริหารจัดการศึกษา ตามนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก ทั้งนี้ ศธ.ได้แบ่งโครงสร้างส่วนราชการออกเป็น 4 องค์กรหลัก เพื่อขับเคลื่อน ภารกิจที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานปลัด ศธ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมถึงองค์กรในกำกับ ทั้ง 4 องค์กรหลัก และหน่วยงานในกำกับ “กิจกรรมสัมมนาแบบนี้ จะทำให้ผู้บริหารของ ศธ.ได้มีโอกาสในการพบปะ หารือ ส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน เกี่ยวกับแนวทางการทำงาน การตัดสินใจ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา สร้างความไว้วางใจ เพื่อประสานความร่วมมือในการจัด การศึกษาให้มีคุณภาพ สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อวางเป้าหมาย ทิศทางการพัฒนา การศึกษาร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อคุณภาพการศึกษา คุณภาพของเด็กไทยในภาพรวมของประเทศต่อไป” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มการจัดการศึกษาในอนาคต หลาย ๆ ประเทศจะเน้นที่รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การแข่งขันเป็นผู้นําทางเศรษฐกิจโลก เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ใช้ทักษะกระบวนการคิด วุฒิทางอารมณ์ สังคม เพื่อความอยู่รอด ระบบการศึกษาตามอัธยาศัย จะได้รับความนิยมมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการ ประกอบอาชีพที่มีอยู่อย่างหลากหลายดังนั้นขอฝากทุกท่านร่วมกันกำหนดทิศทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายเรียนดี มีความสุข เพราะการจัดการศึกษาจําเป็นต้องเริ่มจากความสุข ทั้ง ผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อทุกคนมีความสุขจะทำให้การเรียนดีขึ้น การพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศชาติพัฒนายิ่งขึ้น
เสมา 1 นำผู้บริหารในสังกัด ร่วมสัมมนาวันหยุดที่บุรีรัมย์ หวังปลุกพลังการทำงาน เสริมสร้าง Mindset เปิดโลกทัศน์การทำงานร่วมกับผู้บริหารชั้นนำจากเอกชน แนะร่วมกันสร้าง DNA ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกระทรวง ดัวยการทำงานในรูปแบบ “We are the One” เราเป็นหนึ่งเดียว ครอบครัวกระทรวงศึกษาธิการ จังหวัดบุรีรัมย์ 16 มีนาคม 2567: พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงทุกองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมการประชุม ระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมบอลรูมชั้น 2 สนามช้างอารีนา โรงแรมอมารี บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ รมว.ศธ.กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งว่า ถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรหลัก/ในกำกับ ร่วมเปิดโลกทัศน์ในการสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งสิ่งที่คาดหวังจากการสัมมนาครั้งนี้ คือ 1) อยาก transform แนวคิด/การทำงาน เพื่อให้ผู้บริหาร ศธ.ช่วยกันเปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองโลกให้กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโลกการศึกษา หรือโลกแห่งความร่วมมือกับเอกชน ที่จะร่วมตอบสนองต่อภาคการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ 2) ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน 3) ให้คิดนอกกรอบการทำงาน ซึ่งได้เชิญผู้บริหารจากภาคเอกชนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 4) สร้างความรักสามัคคีให้เกิดขึ้นกับผู้บริหาร ให้เป็น “We are the One” เราเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะแท่งหรือคนละแท่ง แต่วันนี้เราคือครอบครัวเดียวกัน “ครอบครัวกระทรวงศึกษาธิการ” 5) เป็นการเตรียมประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในเดือนสิงหาคม 2567 6) อยากให้กระทรวงศึกษาธิการมี DNA ในภาพของกระทรวง อัตลักษณ์ การกำหนดวัฒนธรรมองค์กรจะเป็นอย่างไร ต้องหา DNA ของกระทรวงร่วมกันให้เจอ 7) อยากให้ร่วมกันขับเคลื่อนกระทรวงไปในทิศทางที่ถูกต้อง กว้างขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนา ฝากให้ผู้บริหารนำแนวคิด ประโยชน์ที่ได้รับ ไปถ่ายทอดต่อให้บุคลากรในหน่วยงาน เพื่อให้เกิดแรงขับในการทำงานร่วมกันทั้งกระทรวง อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว แต่พยายามทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว เพื่อสามารถเติมเต็มได้ตลอดเวลา และอย่าลืมทำงานให้ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ร่วมกันพิจารณาหาจุดที่เราขาด และช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน รมช.ศธ.กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นความอบอุ่น และยินดีที่ผู้บริหาร ศธ.มาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งจะช่วยเพิ่มความผูกพันกันมากขึ้น ฝากให้นำความผูกพันที่เราช่วยกันสร้างในวันนี้ กลับไปทำงานร่วมกันต่อไป “เชื่อมั่นว่าต่อไปการเรียนรู้ตามอัธยาศัยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้มากขึ้น มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการศึกษามากขึ้น ซึ่งผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทุกคนต้องเตรียมพรัอมรับมือในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือ CPกล่าวบรรยายตอนหนึ่งถึงความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก ปี ค.ศ. 2023-2030 ที่โลกจะมีทั้งความเหลื่อมล้ำ การปฏิรูปดิจิทัล ความผันผวนภูมิอากาศ ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สุขภาพมนุษย์/สังคมสูงวัย/ประชากรที่ลดลง ล้วนเป็นความท้าทายของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมา ภาพรวมการศึกษาไทย อาจจะยังเป็นแบบเดิม คือ ครูยังเป็นศูนย์กลางความรู้และให้คำสั่ง นักเรียนต้องทำการบ้านให้เสร็จ สอบให้ผ่าน ส่งรายงานให้ทัน นั่งเรียนแบบหน้ากระดาน ไม่ได้เลือกเรียนตามความสนใจ ถนัดงานเดี่ยว ทำงานคนเดียว แต่ต่อไปการศึกษาไทยต้องเป็นยุค 5.0 คือ การให้ความรัก ความมั่นคง ปลอดภัย ความมั่นใจ ผู้เรียนตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ บทบาทครูเปลี่ยนจาก Instructor เป็น Facilitator เป็น Guardian ที่มีเมตตาสูง ทำงานและสำเร็จพร้อมกับทีม มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล มีการเรียนรู้การลงมือปฏิบัติ (Learning Center) ซึ่งเป็นเรื่องของทุกคน ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างความมั่นใจ และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการเรียนแบบลงมือปฏิบัติจริง นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดกล่าวตอนหนึ่งว่า ยินดีต้อนรับสู่ “ลมหายใจแห่งบุรีรัมย์” “Breathof Buriram” ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีตที่ผ่านมา ติดอันดับ 6 จังหวัดที่มีความยากจนที่สุดในประเทศไทย แต่ 14 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนแปลงไปมาก จากสนามฟุตบอล เป็นสนามแข่งรถ มีระบบเศรษฐกิจที่ดี จากที่เคยเป็นแค่เมืองผ่าน แต่ตอนนี้เป็น Destination หนึ่งของประเทศไทยในหลายด้าน สิ่งสำคัญที่บุรีรัมย์ทำอะไรก็ตาม คือ ต้องมีความเป็นมาตรฐาน (Buriram Standard) 3 ด้าน คือ ต้องมีความแปลก อลังการ และมีความเป็น World Standard ด้วย “ความเชื่อของผมและคนบุรีรัมย์...
13 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 11/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ซึ่งภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า การสอบ PISA ในปี 2025 คาดว่านักเรียนไทยจะมีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน อาจต้องมีการทบทวนเรื่องการประเมินผลของโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมสถานศึกษาเห็นได้ว่าการเข้าทดสอบ PISA พบว่าปัจจัยส่วนหนึ่งคือเด็กขาดทักษะในการทำข้อสอบ และบางโรงเรียนยังมีข้อจำกัดเรื่องระบบ จึงทำการสำรวจความพร้อมของระบบว่าควรปรับขยายหรือย้ายฐานเก็บข้อมูลข้อสอบหรือไม่ เพื่อให้สามารถรองรับนักเรียนที่จะเข้ามาทำแบบทดสอบในระบบได้ทั่วประเทศ และจะลงพื้นที่ดูปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนที่มีผลสอบสูง นำวิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการมาแบ่งปันวิธีคิด Reskill เป็นต้นแบบให้ผู้บริหารสถานศึกษาดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันเป็นมาตรฐานการศึกษาไทย นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ที่มอบหมายให้ สพฐ.ดำเนินการสืบค้นข้อมูลถึงผลสอบ O-net ในใบระเบียนที่หายไป เนื่องจากผลคะแนนสอบดังกล่าวเป็นการสอบตามความสมัครใจ ไม่ได้บังคับให้ผู้เรียนไปสอบ ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าจะระบุไว้ในใบระเบียนการศึกษาหรือไม่ โดยในเชิงลึกโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัด สพฐ.จะมีมาตรฐานในการศึกษาที่ดี เป็นการสร้างความเสมอภาคให้เท่าเทียมกันมากที่สุด ศธ.เตรียมเสนอยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘พิธีไหว้ครู’ เป็นมรดกโลก รมว.ศธ.กล่าวว่า พิธีไหว้ครูที่จะมีการเตรียมเสนอ UNESCO เป็นมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จะวางแผนขับเคลื่อนใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพื่อตอบกระแสสังคมให้ทั่วโลกยอมรับ การสักการะตอบแทนคุณครูเพื่อให้รู้สึกถึงพระคุณและความตั้งใจในการเรียน “การเป็นครู นักเรียน เป็นกันแล้วต้องเป็นชั่วชีวิตไม่มีวันเลิก” ศธ.ของบกลางจ้างนักการภารโรง งบประมาณปี 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอของบประมาณปี 2567 สำหรับการจ้างนักการภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ขาด เป็นเงินกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 มีมติไม่อนุมัติงบประมาณในการจ้างดังกล่าว แต่ก็ได้จัดทำคำของบประมาณปี 2568 ด้วย โดยจะเสนอของบประมาณกลางให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป เมื่อมีงบประมาณในการจ้างบุคลากรมาสนับสนุนครู การสอนก็จะเต็มประสิทธิภาพครูก็จะมีความสุข และพร้อมจะแบ่งปันความสุขให้ผู้เรียน การสั่งซื้อหนังสือเรียนประจำปี 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า สพฐ.ได้มอบหมายผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ดูภาพรวมในเรื่องการจัดระบบการสั่งซื้อหนังสือเรียน ซึ่งมีกระบวนการเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว โดยแต่ละโรงเรียนจะมีคณะกรรมการภาคี 4 ฝ่ายประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู กรรมการสถานศึกษา และนักเรียน เพราะฉะนั้นการซื้อหนังสือจากที่ใดที่ต้องผ่านกรรมการชุดนี้ก่อน และ สพฐ.ได้ทำหนังสือเน้นย้ำเรื่องการพิจารณาซื้อหนังสืออิงมาตรการกลาง โดยให้อิสระกับสถานศึกษาในการตัดสินใจ แต่จะต้องเป็นหนังสือที่มีคุณภาพดี ทันสมัย ในราคาที่เหมาะสม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพราะนโยบายที่เน้นย้ำคือ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” และทุกส่วนต้องนำไปถือปฏิบัติโดยทั่วกัน เรื่องความรุนแรงในสถานศึกษากรณีทำโทษนักเรียน เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า รมว.ศธ.มอบนโยบายในเรื่อง “เรียนดี มีความสุข” จึงต้องป้องกันความรุนแรงให้นักเรียนได้รับความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยได้มีมาตรการเน้นย้ำกับโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันมาโดยตลอด ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่เหมาะสมต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือและสืบข้อเท็จจริง พร้อมหาวิธีป้องกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มการใช้ความรุนแรงกับผู้เรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเน้นย้ำทุกหน่วยงานให้ขับเคลื่อนการทำงานที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น ชื่นชมนักเรียนช่วยเหลือรถเกิดอุบัติเหตุ และช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจมน้ำ รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอชื่นชมนักเรียนหัวใจจิตอาสา ที่นำทักษะและประสบการณ์จากวิชาลูกเสือ ช่วยเหลือผู้อื่นในเหตุฉุกเฉิน มีภาวะผู้นำในการตัดสินใจทำ CPR ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต และแจ้งหน่วยกู้ชีพได้ทันท่วงที อยากฝากคุณครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการต่อยอดในเรื่องดังกล่าวให้ขยายวงกว้างต่อไป ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้ชื่นชม กรณี นายณัฐพงษ์ สำราญใจ จากโรงเรียนขัวเรียงศึกษา และ นายกฤษฎี ขันทีท้าว จากโรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น ได้ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุรถเสียหลักตกหลุมขนาดใหญ่ พร้อมแจ้งกู้ภัยในพื้นที่ได้ทันท่วงที รวมถึงกรณี นายพลายเงิน ดีอ่อน นายรชตะ สุขแจ่ม นางสาวกัลย์สุดา สามสุวรรณ และคุณครูฐิติมา วารี ครูกลุ่มสาระการงานอาชีพฯ (ครูอนามัย)จากโรงเรียนสิชลประชาสรรค์ จ.นครศรีธรรมราช ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจมน้ำที่เกาะกระดาน จ.ตรัง ในการนี้ นายพลายเงิน ดีอ่อน เป็นนักเรีนนฮีโร่ในเหตุการณ์ช่วยคนให้รอดจากเหตุไฟไหม้รถยนต์เสียหายทั้งคัน พื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา พบพร ผดุงพล / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / วิดีโอ นัทสร ทองกำเหนิด /...
จังหวัดศรีสะเกษ – 8 มีนาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพแรงงานนอกระบบเพื่อลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน พร้อมมอบนโยบายและสอบถามปัญหาที่เกิดจากการพลัดถิ่นและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาของนักเรียน ผู้ปกครอง พร้อมด้วยนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง เข้าร่วมฯ โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติมาเป็นประธานในการพบปะครูและนักเรียน ณ โรงเรียนบ้านตูม นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมอาชีพแรงงานนอกระบบ เพื่อลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ในวันนี้ศธ. โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายการศึกษา ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาสความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็นตามบริบทของประเทศและสังคมโลก โดยเน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ภายใต้แนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ.นำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ 1. พัฒนาวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ 2. พัฒนาหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง โอน ย้ายของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนา ที่ตรงกับความประสงค์ของตนเอง เน้นพิจารณาด้วยความโปร่งใสและไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน3.แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและ4.จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม “ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ได้แก่ 1. เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 2. จัดให้มีโรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียน ต่อ 1 อำเภอ 3. พัฒนาระบบการแนะแนวการศึกษา (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม 4. จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ 5. จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย 6. ผู้เรียน เรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) ในส่วนของรัฐบาล ได้มีนโยบายด้านการศึกษาที่จะปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ความสำคัญต่อความมีคุณภาพของครูทั้งประเทศรวมถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของนักเรียนทุกคน ขอขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน ผู้บริหาร คณะครู เจ้าหน้าที่และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่มาร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานฯ ในวันนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับท่านผู้บริหาร คณะครูตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผมยินดีที่จะสนับสนุนการทำงานของท่านในทุกโอกาส จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” รมช.สุรศักดิ์กล่าว
จังหวัดศรีสะเกษ – 8 มีนาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมรับฟังสภาพปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จากคณะครู และให้คำแนะนำนักเรียนในการเตรียมตัวเข้าตลาดแรงงาน พร้อมด้วยนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาโดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติมาเป็นประธานในการพบปะครูและนักเรียน ณ วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงาน “ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูงตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ” ในวันนี้ การศึกษาด้านอาชีวศึกษา มีความสำคัญต่อประเทศชาติ เพราะเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลและสร้างคนคุณภาพ อันนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลได้มีนโยบายในการสนับสนุนสถาบันอาชีวศึกษา ในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศ ผ่านองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ของการเรียนในสถานที่จริง เพื่อยกระดับความสามารถของผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษา ให้มีความรู้ ทักษะความสามารถ นำไปใช้ในการทำงานได้ทันที “ศธ.โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวคิดการศึกษา เพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เรียนจบมาแล้วมีงานทำ ทั้งนี้นโยบายที่มุ่งเน้นในการทำงาน คือ ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งจะขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” สอศ. ได้วางกรอบและนโยบาย คือ ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา มุ่งพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ตามแนวทางการพัฒนาเพิ่มความร่วมมือในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง สร้างความเข้มแข็งด้านภาคีเครือข่ายความร่วมมือคุณภาพสูง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศระดมทรัพยากร และยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษา สร้าง Soft Power ของอาชีวศึกษา” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสในการเข้าถึงอาชีวศึกษาที่หลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการสนับสนุนให้วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์เปิดศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน นักศึกษา ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นแรงงานที่มีทักษะ มีฝีมือ และมีมาตรฐาน โดยวิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ ได้รับอนุญาตให้เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 3 สาขา ได้แก่ 1.สาขาอาชีพช่างซ่อมรถยนต์ ระดับ 1 2. สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 และ 3.สาขาอาชีพพนักงาน แผนกบริการอาหาร และเครื่องดื่ม ในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ระดับ 1 ขอขอบคุณท่านพิพัฒน์ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน สอศ.วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ และผู้มีส่วนร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกท่าน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจในการผลักดันนโยบายการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และขออวยพรให้การขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของศธ.และของรัฐบาลประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ
7 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อห่วงใยถึงนักเรียนทุกคนในช่วงก่อนปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2566 โดยกล่าวว่าสัปดาห์นี้เป็นการสอบปลายภาคของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงปิดเทอมใหญ่ ที่นักเรียนจะได้พักผ่อนและทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ตนสนใจนอกโรงเรียน แต่ก็ยังมีกลุ่มนักเรียนที่ต้องเตรียมตัวสอบ A-Level เพื่อเตรียมพร้อมยื่นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งการสอบ A-Level มีความสำคัญมาก เพราะสอบ 1 ครั้งสามารถใช้คะแนนยื่นเข้ามหาลัยได้ 3 รอบ ได้แก่ รอบโควตา รอบ Admission และรอบรับตรงเก็บตกรอบสุดท้าย ที่สำคัญยังเป็นคะแนนสำหรับยื่นเข้าเรียนในสายแพทย์ด้วย กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดกิจกรรมเสริมความรู้นักเรียนระดับชั้น ม.6 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ (Applied Knowledge Level: A – LEVEL) มอบเป็นของขวัญความรู้ เทคนิคพิชิตข้อยากให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยติวเตอร์ระดับประเทศ ในวันที่ 11 – 14 มีนาคม 2567 ผ่าน OBEC Channel ทุกช่องทาง “กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งในของขวัญที่ ศธ.มอบให้เยาวชนไทย น้อง ๆ ทุกคนสามารถเข้าเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้น้อง ๆ คลายความกังวลก่อนสอบ ลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง และเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) รวมทั้งให้มีความมั่นใจในการทำข้อสอบมากขึ้น และขอให้ความมุ่งมั่นตั้งใจของน้อง ๆ นำพาให้ก้าวเดินไปสู่ความสำเร็จ สามารถเข้าเรียนต่อในเส้นทางที่ใฝ่ฝันได้ทุกคน” รมว.ศธ.กล่าว ในส่วนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา จะมีการสอบปลายภาคและปิดเทอมช่วงปลายเดือนมีนาคม ก็อยากฝากครูผู้สอนช่วยกันดูแลเด็ก ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีการศึกษานี้ ทั้งเรื่องของการเก็บคะแนน การเตรียมตัวสอบ รวมถึงเรื่องสุขอนามัยในโรงเรียน สุขภาพความแข็งแรงของนักเรียน โดยไม่อยากให้เด็ก ๆ ไม่สบายหรือเจ็บป่วยในช่วงสอบ เพราะอาจจะทำให้เสียโอกาสได้ สำหรับช่วงปิดภาคเรียนใหญ่ที่จะถึงนี้ เด็ก ๆ จะได้ใช้เวลาอยู่ที่บ้าน หรืออยู่นอกโรงเรียนมากขึ้น ก็ขอฝากพ่อแม่ผู้ปกครองหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ช่วงปิดเทอมให้ลูกทำ เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่อยากเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมในช่วงปิดเทอมก็จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะทางร่างกายและความคิด แต่ก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของเด็กด้วย เช่น อุบัติเหตุจากการตกน้ำ หรือจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของเด็กไทย ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าคลาดสายตา อย่าให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำ รวมถึงอุบัติเหตุจากยานพาหนะ สิ่งของล้มทับ สัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟดูด ไฟช๊อต เป็นต้น ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป
จังหวัดนนทบุรี – 7 มีนาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ครูผู้ตรวจประจำศูนย์ตรวจ ครูผู้ตรวจผ่านระบบออนไลน์ และคณะทำงานประจำศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัย O-NET วิชาภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 โดยมี ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) (องค์การมหาชน) วิทยากร ครูผู้ตรวจประจำศูนย์ตรวจ ครูผู้ตรวจผ่านระบบออนไลน์ และคณะทำงานประจำศูนย์ตรวจ ร่วมให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานเปิดงานการตรวจข้อสอบอัตนัย การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ( O-NET ) วิชาภาษาไทย ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2566 ในวันนี้ จากคำกล่าวรายงานจะเห็นได้ว่า สทศ. มีการพัฒนาการสอบ O-NET วิชาภาษาไทยด้วยรูปแบบข้อสอบอัตนัยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการพัฒนาวิธีการตรวจ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการดำเนินการตรวจข้อสอบอัตนัย สอดคล้องกับนโยบายของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีการเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ซึ่งจะเห็นได้จาก สทศ. ได้มีความร่วมมือกับสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการพัฒนาหลักสูตรการอบรมครูผู้ตรวจข้อสอบอัตนัย การจัดทำเกณฑ์การตรวจและการเป็นศูนย์ตรวจข้อสอบอัตนัย โดยความร่วมมือกับครูในการตรวจข้อสอบอัตนัยในครั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลาการตรวจระหว่างวันที่ 7-16 มีนาคม 2567 “สำหรับปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับการทดสอบ 658,932 คน คิดเป็นจำนวนกระดาษคำตอบที่ต้องดำเนินการตรวจ 2,635,728 แผ่น มีครูผู้ตรวจ 908 คน และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนเข้ารับการทดสอบ 409,777 คน คิดเป็นจำนวนกระดาษคำตอบที่ต้องดำเนินการตรวจ 819,554 แผ่น มีครูผู้ตรวจ 832 คน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในการเป็นศูนย์ตรวจ นอกจากนี้ สทศ. ได้มีการนำร่องศึกษาและวิจัยการตรวจกระดาษคำตอบผ่านระบบออนไลน์ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 172 คน ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตรวจด้วยระบบออนไลน์ 100% โดย สทศ. จะประกาศผลการทดสอบ O-NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 ซึ่งผลทดสอบจะใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน วางแผนการจัดการเรียนการสอนของครู และผู้บริหารระดับสูงได้นำผลไปกำหนดนโยบายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป” รมช.สุรศักดิ์ กล่าว นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สทศ. มีการนำระบบการตรวจแบบออนไลน์ มาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งสามารถดำเนินการตรวจได้ทั้งในศูนย์ตรวจและที่พักอาศัยของผู้ตรวจ สอดคล้องกับนโยบาย “Anywhere Anytime”การสอบด้วยข้อสอบอัตนัย ส่งผลให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ การสรุปใจความสำคัญ การเชื่อมโยงความคิด และการสื่อสารของตนเอง รวมถึงการแสดงความคิดเห็นและการโต้แย้งอย่างมีเหตุผลได้ดีขึ้นถือเป็นการพัฒนาสมรรถนะด้านการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดีในการตรวจข้อสอบอัตนัยครั้งนี้ รู้สึกได้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนานวัตกรรม ด้านการทดสอบทางการศึกษาของ สทศ. รวมถึง ครู อาจารย์ และคณะทํางานทุกท่าน ที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาทางการศึกษา ตนขอขอบคุณในความทุ่มเทเสียสละและขอเป็นกําลังใจให้กับครูทุกท่าน ทั้งยังขอให้การตรวจข้อสอบอัตนัยในครั้งนี้ประสบผลสําเร็จตามวัตถุประสงค์
6 มีนาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 10/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ เตรียมความพร้อมการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการประชุมซักซ้อมการดำเนินการให้สามารถปรับเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งรายละเอียดแต่ละหน่วยงานต้องมีข้อสรุปเรื่องของบุคลากรและจำนวนงบประมาณ เพื่อประสานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และแจ้งสำนักงานงบประมาณในการขับเคลื่อนการปรับเงินเดือนขึ้น ทั้งผู้บรรจุใหม่ที่จะได้รับในอัตรา 16,500 บาท ในปี 2567 และได้รับไม่น้อยกว่า 18,000 บาท ในปี 2568 ในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ พร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยเน้นย้ำการดำเนินการให้ทันภายใน 1 พฤษภาคม 2567 ตามกรอบเวลาที่กำหนด ไม่ให้เกิดปัญหาตามมาย้อนหลัง ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISAการติดตามการดำเนินงานของคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA มีอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในยุคนี้จะเน้นการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ไม่ทำงานเชิงรับแบบเดิม ดูภาพรวมในมิติการทำงาน การวางโครงสร้าง การใช้งบประมาณในการดำเนินการ และฝากแนวทางให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำให้เห็นชัดถึงความเปลี่ยนแปลงของลำดับในอนาคต จัดทำแผนให้เป็นมิติในการพัฒนาการสอบ PISA ในประเทศ ให้เด็กไทยมีความสามารถทางวิชาการ มีทักษะและสมรรถนะเทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งจะมีการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ในวันที่ 13 มีนาคม 25567 ขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” (Anywhere Anytime)สพฐ.ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “กล่องความรู้สู่ความสุข A-LEVEL” เสริมเทคนิคพิชิตข้อยากกับติวเตอร์ระดับประเทศ สร้างโอกาสการเรียนรู้ที่หลากหลาย เสริมความมั่นใจในการเลือกเป้าหมายอนาคตของนักเรียน ให้พร้อมสำหรับการสอบวัดความรู้เชิงวิชาการ หรือ A-LEVEL (Applied Knowledge Level) ระหวางวันที่ 11 – 14 มีนาคม 2567 ผ่าน OBEC Channel ทุกช่องทาง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การจัดงาน 132 ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการวันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี และตรงกับวันข้าราชการพลเรือน ซึ่งจะกำชับการดำเนินการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการที่ล่วงลับไปแล้ว และประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ปัจจุบัน ในพิธีมอบรางวัลเข็ม “เสมาคุณูปการ” และพิธีมอบเข็ม “เชิดชูเกียรติ” รวมถึงเรื่องของจิตอาสาบริจาคโลหิต ซึ่งในปีนี้ไม่ได้จัดแค่ส่วนกลาง แต่ทุกหน่วยงานในสังกัดจะร่วมกันขับเคลื่อนทั่วประเทศ กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา รมว.ศธ.กล่าวว่า เนื่องจากปีนี้เป็นปีมหามงคล 72 พรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบศธ.จะดำเนินการจัดทำ 72 โครงการ 72 พรรษา ซึ่งปีนี้จะต้องเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ โดยจะกำชับเรื่องการปรับภูมิทัศน์สถานที่รอบบริเวณกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงาน สถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งติดธงสัญลักษณ์และตราสัญลักษณ์ เน้นความสะอาดเรียบร้อยในการดำเนินการ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี การขับเคลื่อน IGNITE THAILAND ขับเคลื่อนไทยสู่ความเป็นศูนย์กลางรมว.ศธ.กล่าวว่า IGNITE THAILAND เป็นวิสัยทัศน์ที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมดำเนินการในการจัดการศึกษาเพื่อรองรับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ “MOE IGNITE THAILAND” จุดพลังการศึกษาไทย ร่วมใจขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ คนไทยต้องเป็นหนึ่ง “เรียนดี มีความสุข” เตรียมดำเนินการใน 8 ด้าน คือ 1.ความเท่าเทียมกัน 2.สร้างโอกาสทางการศึกษา 3.วัฒนธรรมที่เปิดกว้าง 4.ความปลอดภัย 5.เอกชนมีส่วนร่วม 6.Play-based Learning 7.อ่านภาษาอังกฤษ ต่อยอดภาษาต่างประเทศ 8.การประกอบอาชีพ ซึ่งจะเน้นตามนโยบายของรัฐบาลมาขับเคลื่อนในมิติของความเท่าเทียมด้านการศึกษา โดยมีภาคเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนการศึกษา รวมถึงร่วมกันผลักดันเรื่อง SOFT POWER ซึ่งหลังจากหารือและตกผลึกแล้ว จะมีการดำเนินการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และมีคณะกรรมการขับเคลื่อนในการทำงานร่วมกันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้สู่การพัฒนาอาชีพ การเตรียมความพร้อมในการรับสมัครเข้าเรียน ม.1 และ ม.4ขณะนี้ทุกโรงเรียนมีปฏิทินที่ สพฐ. แจ้งไปล่วงหน้าแล้ว และได้รับรายงานรายงานว่าทุกโรงเรียนเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญได้กำชับและเน้นย้ำเรื่องมาตรการ “ไม่รับฝากเด็ก” หรือรับแป๊ะเจี๊ยะใต้โต๊ะ ซึ่งได้ประชุมทำความเข้าใจกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมแจ้งแนวทางนโยบายให้รับทราบร่วมกัน และขณะนี้พบว่าโรงเรียนในสังกัดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามได้เป็นอย่างดี การดำเนินการกรณี สพป.ขอนแก่น เขต 2 ทุจริตสอบครูผู้ช่วยขณะนี้ สพฐ.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการทางวินัยอย่างเต็มที่ ส่วนทาง ก.ค.ศ. ภายหลังคณะกรรมการพิจารณาแล้ว มีมติให้ออกตั้งแต่วันที่พักการปฎิบัติหน้าที่ทันที และส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีทางอาญาตามอำนาจหน้าที่แล้วเช่นกัน...
29 กุมภาพันธ์ 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการที่ล่วงลับไปแล้ว และประกาศเกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ปัจจุบัน ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ งานด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ การจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาฯ จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 ประกอบด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 132 รูป พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงศึกษาธิการ ณ บริเวณสนามหญ้ากระทรวงศึกษาธิการ พิธีมอบรางวัลเข็ม “เสมาคุณูปการ” และประกาศเกียรติคุณบัตรแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2567 จำนวน 132 ราย และพิธีมอบเข็ม “เชิดชูเกียรติ” และประกาศเกียรติบัตรให้กับข้าราชการพลเรือนดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2566 ณ หอประชุมคุรุสภา นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบ การจัดทำหนังสือที่ระลึกวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี ในแก่นเรื่อง (Theme) “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งจะเผยแพร่ในวันที่ 1 เมษายน 2567 โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย บทความพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา เช่น “โรงเรียนกับโรงสอน” โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ “Future Literacy เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีความสุขและยั่งยืนสำหรับผู้เรียนในยุคดิจิทัล” โดย ศ.จินตวีร์ คล้ายสังข์ “คุณภาพการจัดการศึกษาไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความสุขของผู้เรียน” โดย รศ.อรพรรณ บุตรกตัญญู ผลการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” จากทุกหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และการเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2567 โดยหนังสือที่ระลึกวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี จะจัดทำในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) เพื่อให้ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจสามารถอ่านหนังสือระลึกวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี ได้ทุกที่ทุกเวลา เจษฎา วณิชชากร / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
28 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 9/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ ซึ่งภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการโดยคณะทำงานขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย ทิศทางพัฒนาการศึกษาของประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างดี โดยขณะนี้ ศธ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนการสอนและคู่มือเพื่อนำไปสอนเป็นรายวิชาเพิ่มเติมในสถานศึกษา ให้ทุกโรงเรียนเปิดรายวิชาเพิ่มเติมพร้อมติดตามประเมินผล และจัดอบรมครูในการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ศธ. ยังดำเนินการจัดทำระบบข้อสอบ PISA ออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.1 – ม.3 ฝึกทดลองทำข้อสอบ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไปจนกว่าจะได้ระบบการสอบที่สมบูรณ์ และเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อประโยชน์แก่นักเรียนผู้เข้าสอบทุกคน ทั้งนี้ จากผลการดำเนินการติดตามและสังเกตการณ์จัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเพื่อสมรรถนะความฉลาดรู้ตามแนวทางของ PISA โดยใช้ระบบการทดสอบออนไลน์ที่ชื่อ PISA Style Online Testing ซึ่งมีการดำเนินงานใน 3 กลุ่มโรงเรียน คือโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ พบว่าแผนการจัดการเรียนรู้ ฯ ตามแนวทาง PISA สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนได้จริง กิจกรรมการเรียนรู้กระตุ้นแรงจูงใจในการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดี และการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนควรเพิ่มความยืดหยุ่นสูงขึ้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ของ สช. เพื่อจัดทำแผนและแนวทางการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนฯ จัดทำรายงานแผนและแนวทางขับเคลื่อนการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนฯ เสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ รวมถึงกำกับติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางฯ ที่กำหนด นอกจากนี้ รมว.ศธ. มอบหมายสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติดำเนินการ (สทศ.) รวบรวมข้อสอบ PISA ในปีที่ผ่านมานำมาจัดทำเป็นข้อสอบออนไลน์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารเขตพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอน ทดลองทำข้อสอบดังกล่าว และสรุปผลการสอบเพื่อนำข้อมูลมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ต่อไป ปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รมว.ศธ. กล่าวว่า ตามที่การประชุมคณะรัฐมนตรีมีวาระที่สำคัญคือ เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลนี้ โดยมีลายพระราชทานหลักจำนวน 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์, ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 2567, ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี เพื่อนำไปตัดเป็นเสื้อผ้าให้รัฐบาลสวมใส่เพื่อประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรม เร่งรัดพิจารณารายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “ชุดไทยพระราชนิยม” เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโก พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (National Commission for UNESCO) จึงสั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ในส่วนของการเตรียมจัดกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมี รมว.ศธ. เป็นประธาน มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติทุกประการ รวมถึงจัดทำหนังสือที่ระลึกและพิธีวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 132 ปี ด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) ที่ประชุมได้รับทราบ แนวทางการดำเนินงานการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test: O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2566 ซึ่งมีการสอบด้วยระบบการทดสอบดิจิทัล (Digital Testing) รอบที่ 3 – 4 จำนวน ผู้มีสิทธิ์สอบรวมทั้งสิ้น 103,203 คน ซึ่งจะจัดสอบในวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2567 โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 62 แห่งทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานการจัดสอบ ในการนี้ รมว.ศธ. ได้มีข้อสั่งการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการอย่างรอบคอบ...
เมื่อวันพุธ ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีกระทรวงศึกษาธิการเสนอของบประมาณสนับสนุนให้จัดสรรนักการภารโรงให้สถานศึกษาทั่วประเทศ ว่า จากการลงพื้นและได้รับฟังสภาพปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ นั้น ทำให้ทราบถึงปัญหาของโรงเรียนว่าการที่โรงเรียนไม่มีนักการภารโรง ส่งผลทำให้ครูมีภาระเพิ่มขึ้นคือ นอกจากจะทำหน้าที่ในการสอนนักเรียนแล้ว ยังต้องทำงานที่ไม่ใช่การสอน เช่น ต้องทำหน้าที่ในการซ่อมบำรุง ทำความสะอาดอาคารสถานที่ ดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนและอีกหลาย ๆ หน้าที่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเห็นในปัญหาดังกล่าว จึงอยากให้ครูได้มีเวลาในการเตรียมการสอน รวมทั้งดูแลเด็กนักเรียน และพัฒนาตัวเองมากขึ้น “กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการตั้งเรื่องของบประมาณปี 2567 ในการจ้างนักการภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ขาด โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่ามีความต้องการนักการภารโรงจำนวน 14,210 อัตรา เป็นเงิน 639,450,000 บาท (อัตราละ 9,000 บาท ต่อเดือน) สามารถเริ่มจ้างได้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2567 นอกจากนี้ในงบประมาณปี 2568 ยังจะมีการดำเนินการจ้างอีกจำนวน 25,370 อัตรา เป็นเงินจำนวน 2,739,960,000 บาท ซึ่งจะสามารถดำเนินจ้างได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 จากนั้นก็จะดำเนินการเตรียมการเพื่อของบประมาณในปีต่อ ๆ ไปอีกด้วย” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
27 กุมภาพันธ์ 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเข้ารับการประเมินเพื่อขอมีคุณวุฒิวูดแบดจ์ ประเภทผู้นำ รุ่นที่ 959 โดยมี ดร.วีระกุล อรัณยะนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการตรวจขั้นที่ 5 ขั้นปฏิบัติการและประเมินผล ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน ได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือระดับผู้นำ รุ่นที่ 959 ระหว่างวันที่ 25 – 30 กันยายน 2566 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีวัตถุประสงค์ เพื่อจูงใจและเสริมสร้างผู้บริหาร บุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการ วิธีการ วัตถุประสงค์ สาระสำคัญของการลูกเสือ มีทักษะและประสบการณ์ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้มีความซื่อสัตย์ สุจริตมีความเสียสละ ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เสริมสร้างวินัย รู้จักบำเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยการฝึกอบรมบุคลากรทางการลูกเสือระดับผู้นำ พ.ศ. 2563 เมื่อบุคลากรทางการลูกเสือผ่านการฝึกอบรมแล้วไม่น้อยกว่า 4 เดือน และไม่เกิน 2 ปี ให้เสนอขอรับการประเมินเพื่อขอมีคุณวุฒิวูดแบดจ์ประเภทผู้นำ โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เป็นผู้แต่งตั้งคณะทรงคุณวุฒิ เพื่อประเมินการขอมีคุณวุฒิโดยการสัมภาษณ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติกำหนด