13 มิถุนายน 2567 – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ตรวจเยี่ยมกระทรวงศึกษาธิการ และหารือการดำเนินการขับเคลื่อนการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.เปิดเผยภายหลังการประชุมว่าพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิสอนทางไกล และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติตรวจเยี่ยมรับชมความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรรวมทั้งรับฟังรายงานนโยบายการศึกษาจากหน่วยงานในสังกัด พร้อมหารือแลกเปลี่ยนการจัดการการเรียนการสอนทางไกล โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้รายงานการดำเนินงานการผลิตสื่อการเรียนการสอนระบบ DLTV การประเมิน การจัดสรรวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งองคมนตรีพอใจกับภาพรวมการดำเนินการ และได้ให้คำแนะนำเรื่องการพัฒนาครู รวมถึงฝากคุรุสภาที่เป็นหน่วยงานกำกับ ดูแลมาตรฐานการผลิตครูให้มีคุณภาพ ก่อนหน้านี้รมว.ศธ.ได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) และโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อรับทราบการดำเนินการจัดการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งเป็นโครงการจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ พ.ศ. 2537ถือเป็นสิ่งดีและช่วยเติมเต็มปัญหาครูไม่ครบชั้นในพื้นที่ห่างไกลของ ซึ่งจากการเยี่ยมชมได้เห็นการจัดการเรียนรู้ Anywhere Anytime ตามนโยบาย ศธ.ที่ได้น้อมนำแนวคิดของรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้เพื่อเติมเต็มการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนครบชั้น และมีการศึกษาที่ดีขึ้น ในส่วนของ สพฐ.เป็นหน่วยงานหลักในการผลิดตภาพรวม BIG DATA ของการเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม และยังได้ใช้งานในโรงเรียนสังกัดอื่นด้วย เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม ฯลฯ โดย สพฐ.เป็นศูนย์กลางเก็บฐานข้อมูลโรงเรียนที่ใช้ระบบสอนทางไกล นอกจากนี้ยังมีระบบประเมินสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม เพื่อนำร่องเป็นโรงเรียนต้นแบบ best practice และขยายผลตามหลักการเพื่อนช่วยเพื่อน หากโรงเรียนใดมีความพร้อมก็จะมาดูแลโรงเรียนสอนทางไกลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันการใช้สื่อการเรียนการสอน DLTV มีผู้เรียนจำนวนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.5 ล้านคน จากกว่า 2,000 โรงเรียน ที่มีจำนวนครูไม่ครบชั้น เนื่องจากปรับลดปริมาณครูตามอัตราส่วนของผู้เรียนดังนั้น DLTV จึงเข้ามาเติมเต็มโรงเรียนขนาดเล็ก ให้ได้รับสื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นชัดเจนว่าจุดไหนใช้สื่อการเรียนรู้ทางไกล และหากอุปกรณ์การเรียนการสอนมีการชำรุด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะให้ความร่วมมือจากสถานศึกษาในสังกัด สนับสนุนการซ่อมบำรุง เพื่อความรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และหากสิ่งไหนที่เกินกำลังความสามารถของนักศึกษา ก็ดำเนินการจัดซ่อมโดยช่างผู้เชี่ยวชาญตามระเบียบ “กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมน้อมนำพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10 ที่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา และจะนำข้อเสนอแนะจากองคมนตรีมาดำเนินการขับเคลื่อนระบบ DLTV เป็นหลัก ในการให้สาระความรู้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และขอย้ำว่าไม่มีนโยบายยุบสถานศึกษา แต่จะควบรวมการจัดการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด” รมว.ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล / ข่าว พีรณัฐ ยุชยะทัต และกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี ศธ. / ภาพ
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
ภารกิจ รมช.ศธ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในกิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จัดขึ้นในวันจันทร์แรกของทุกเดือน เวลา 07.00 น. ณ ศาลา 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายนนี้ เป็นการจัดกิจกรรมในครั้งแรก พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ผู้บริหารทุกระดับ ข้าราชการ บุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกิจกรรมโดยพร้อมเพรียง รมว.ศธ.กล่าวว่า กิจกรรมทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคลากร และพุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญตักบาตร (อาหารแห้ง) พระสงฆ์จำนวน 9 รูป โดยชาวกระทรวงศึกษาธิการพร้อมใจกันสวมเสื้อเหลืองเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ แสดงความจงรักภักดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวกระทรวงศึกษาธิการ โดยกิจกรรมฯ ในครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม 2567 นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการ “72 กิจกรรม ศึกษาธิการ เทิดไท้องค์ราชัน 72 พรรษา มหามงคล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยขอความร่วมมือให้ข้าราชการ ครู บุคลากร นักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ทั่วไทยตลอดปี 2567 โดยสร้างสรรค์กิจกรรม 7 ด้าน ได้แก่ กิจกรรมพลเมืองดีตามรอยพระยุคลบาท กิจกรรมพัฒนาสื่อการเรียนรู้ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมพัฒนาอาชีพและบริการชุมชน กิจกรรมพัฒนาศาสนสถาน และกิจกรรมปันน้ำใจ โครงการสานพลังร่วมใจใน 2 โครงการ คือ ลูกเสือจิตอาสา และบริจาคโลหิต เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติ และแสดงความจงรักภักดี ของบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
เมื่อวันเสาร์ ที่ 8 มิถุนายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2567 ณ สนามสอบโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานี นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ภาพรวมการสอบแข่งขันฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ของ สพฐ. ในปี 2567 นี้ มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และอ.ก.ค.ศ. สศศ. ที่ดำเนินการสอบ รวม 179 แห่ง เปิดสอบจำนวน 52 กลุ่มวิชา (ไม่มีผู้สมัคร 1 กลุ่มวิชา (อรรถบำบัด) ไม่มีผู้มีสิทธิสอบ 1 กลุ่มวิชา (ภาษาเขมร) มีตำแหน่งว่างบรรจุได้ 4,399 อัตรา โดยทั้งประเทศมีผู้สมัครสอบจำนวน 154,191 ราย ในจำนวนนี้มีผู้มีสิทธิสอบจำนวน 153,566 ราย ซึ่งจะสอบในสนามสอบ 227 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งการสอบเป็น 2 วัน ได้แก่ วันเสาร์ ที่ 8 มิถุนายน 2567 เป็นวันสอบข้อเขียน ภาค ก (ความรู้ความสามารถทั่วไป) และในวันอาทิตย์ ที่ 9 มิถุนายน 2567 เป็นวันสอบข้อเขียน ภาค ข (มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ) ทั้งนี้จะมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ค (ความเหมาะสมกับตำแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงานในสถานศึกษา) ภายในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2567 ประเมิน ภาค ค และประกาศผลการสอบให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 “จากการตรวจสนามสอบที่สนามสอบครูผู้ช่วย ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาพรวมจังสุราษฎร์ธานี มีสนามสอบได้แก่ สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร จำนวน 56 ห้อง ผู้เข้าสอบ 1, 364 ราย ใช้สนามสอบ โรงเรียน สุราษฎร์ธานี , สพป. สุราษฎร์ธานี เขต 1 จำนวน 21 ห้องสอบ มีผู้เข้าสอบ 500 คน ใช้สนามสอบ โรงเรียนอนุบาลสุราษฎร์ธานี ในจำนวนนี้มีผู้พิการ 1 ราย แจ้งพิการทางการเคลื่อนไหวแต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ , สพป. สุราษฎร์ธานี เขต 2 มีผู้เข้าสอบ 2,467 ราย ซึ่งสนามสอบโรงเรียนเมืองสุราษฎร์ธานีมี 58 ห้องสอบ และสนามสอบโรงเรียนสุราษฎร์พิทยามี 41 ห้องสอบ มีผู้พิการทางสายตา สามารถช่วยตนเองได้ร่วมสอบด้วย ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้รับรายงานว่าการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถดำเนินการจัดสอบได้เป็นอย่างดี จากการสอบถามไม่พบว่ามีปัญหา ขอขอบคุณคณะกรรมการดำเนินการจัดสอบ และคณะกรรมกำกับห้องสอบทุกท่าน ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการออกข้อสอบและตรวจข้อสอบให้ในครั้งนี้ ซึ่งในวันอาทิตย์ที่9 มิถุนายนนี้จะมีการจัดสอบอีก 1 วัน จึงขอเป็นกำลังให้ทุกคน ทั้งนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าสอบทุกคน และขอยืนยันกับทุกคนที่เข้าสอบจะได้รับความเท่าเทียมและความยุติธรรม อย่างไรก็ตามในการสอบบรรจุข้าราชการครูผู้ช่วย กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
29 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 20/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว รมว.ศธ.กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินงานและมีกิจกรรมหลายภารกิจด้วยกัน ขอขอบคุณความร่วมมือของชาวกระทรวงศึกษาธิการทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานทำให้งานสำเร็จ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการป้องกันระวังภัย และมีการเตรียมแผนรับมือเป็นอย่างดี ขอเน้นย้ำการทำงานในเชิงรุก สอดประสานการทำงานร่วมกัน และการรับผิดชอบในบทบาทภาระหน้าที่ของทุกคนเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการสอบ PISA และร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ มีแผนการดำเนินงานและแผนการติดตามการดำเนินงานในทุกเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษาทุกสังกัด พร้อมทั้งจัดทำแผนระยะยาวเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาความรู้ เสริมสร้างศักยภาพของผู้บริหาร ครูแกนนำ ครูพี่เลี้ยง รวมถึงผู้ออกข้อสอบ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ฝากแนวคิดในการพัฒนาการสอบของเด็กนักเรียนตั้งแต่วัยประถม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA และการสอบอื่น ๆ ที่สำคัญ เน้นการพัฒนาข้อสอบให้มีการเน้นการคิด การวิเคราะห์ เพื่อให้นักเรียนมีความเข้าใจในรูปแบบของข้อสอบเพื่อการสอบในอนาคต รวมถึงการสร้างค่านิยมหรือแรงจูงใจที่จะผลักดันให้เด็กนักเรียนเห็นความสำคัญ และเห็นคุณค่าของการสอบ ดังนั้น นอกจากการปรับกระบวนการออกข้อสอบแล้ว ต้องมีการปรับเนื้อหาข้อสอบให้มีความทันสมัย เข้าใจง่าย ใช้ภาษาสื่อสารที่เข้ากับยุคสมัยใหม่ หรือสิ่งที่วัยรุ่นวัยเรียนใน Gen Z คือ คนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2541 -2565 (1998 – 2024) มีความสนใจ ซึ่งต้องดำเนินการในสถานศึกษาทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาอื่น ๆ ทั้งประเทศ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สสวท. และ สพฐ.วางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรอบรม การใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา ติดตามกลุ่มเป้าหมาย มีการกระตุ้นให้ทุกกลุ่มเป้าหมายให้ความสำคัญและเข้ารับการอบรมระบบออนไลน์ฯ เน้นการสำรวจข้อมูลในเชิงลึก จัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและวาง Timeline ให้ชัดเจน วางแผนการบริหารจัดการสำหรับผู้ที่มีการขยายผลและได้ผลลัพธ์ที่ดี และหาวิธีการสำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการอบรม โดยนอกจากการแจ้งผลคะแนนแล้วควรมีการปรับปรุงพัฒนาในระยะต่อไปด้วย ผลการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอให้ติดตามผลการดำเนินงานเบิกจ่ายงบประมาณ งบรายจ่ายลงทุน โดยไม่มีเงินคงค้างหรือเหลือจ่าย วางแผน ติดตาม ควบคุมการใช้จ่ายอย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด กำหนดปฏิทินการดำเนินงานให้แล้วเสร็จทุกขั้นตอนภายในเดือนมิถุนายน และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านงบประมาณต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด มีการนำ KPI (Key Performance Indicator) มาใช้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน เพื่อประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ Thailand Zero Dropout รมว.ศธ.กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยมี 4 มาตรการสำคัญคือ 1) มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การค้นพบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา 2) มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละรายทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม 3) มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาและพัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง 4) มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือการเรียนรู้ในลักษณะ Learn to Earn ให้เด็กและเยาวชนอายุ 15-18 ปี ได้พัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน เหมาะสมตามศักยภาพและมีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ จะขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัด Thailand Zero Dropout รวม 25 จังหวัด เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนที่หลุดออกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นได้ จำนวน 20,000 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และจะครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป โดย ศธ. ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เร่งสำรวจเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาทั้งประเทศ ดำเนินการสำรวจในพื้นที่ 77 จังหวัด และสาเหตุที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษา 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ความจำเป็นทางครอบครัว การย้ายถิ่นฐาน และสาเหตุจากผู้เรียนเอง โดยจากการสำรวจเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา...
17 พฤษภาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาปีการศึกษา 2567 ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยภูมิ เขต 2 จ.ชัยภูมิ พร้อมมอบทุนการศึกษาและมอบ “บ้านน้ำใจ คืนความสุขสู่ลูก สพฐ. ปีที่ 10 หลังที่ 100” โดยมีนายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมคณะมาด้วย มีนายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวต้อนรับ และมี นายไพศาล ที่รัก ศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิผอ.สพป. ชัยภูมิ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ชัยภูมิ ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมมอบนโยบายแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษา ปีการศึกษา 2567 พร้อมมอบทุนการศึกษา และมอบ “บ้านน้ำใจ คืนความสุขสู่ลูก สพฐ. ปีที่ 10 หลังที่ 100” ของ สพป.ชัยภูมิ เขต 2 ในวันนี้ จากคํากล่าวรายงานของ ผอ.สพป.ชัยภูมิ เขต 2 ได้รับทราบว่า สพป.ชัยภูมิ เขต 2 ได้เห็นถึงความสำคัญและนํานโยบายการศึกษา และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”ของ ศธ. สู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ภายใต้แนวทางการทำงาน“จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน”เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานในสังกัดของ ศธ.นําไปใช้ในการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว อีกทั้งได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน ได้จัดให้มีกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อมอบทุนการศึกษาให้ผู้เรียนในสังกัด รวมทั้งการสร้างบ้านและมอบบ้านน้ำใจ คืนความสุขสู่ลูก สพฐ. ให้กับผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั้งถึงปีที่ 10 หลังที่ 100 ซึ่งได้จัดให้มีกิจกรรมในวันนี้ขึ้น “นอกจากนี้ยังได้รวบรวมผลงานที่มีความโดดเด่นของเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญ มีความตระหนัก มุ่งมั่น จริงใจ และตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งจะเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีของประเทศชาติในอนาคต กิจกรรมในวันนี้ รู้สึกได้ถึงความตั้งใจของบุคลากรของ สพป.ชัยภูมิ เขต 2 ที่จะร่วมพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพของผู้เรียนไปด้วยกัน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้นํานโยบายแนวทางการยกระดับคุณภาพการศึกษาปีการศึกษา 2567 รวมทั้งความรู้ต่างๆ ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษา และพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการจัดกิจกรรมทุกฝ่ายที่ร่วมกันดำเนินงานอย่างดียิ่ง ขอให้การจัดกิจกรรมครั้งนี้บรรลุตาม วัตถุประสงค์ของการจัดงานทุกประการ” รมช.สุรศักดิ์ กล่าว นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า อีกสิ่งที่อยากเน้นย้ำและฝากกับผอ.โรงเรียน และผู้บริหารทุกท่าน คือขอให้ร่วมกันเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ทั้ง การจัดสวัสดิภาพของนักเรียน ,การจัดอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมโรงเรียนให้ปลอดภัย , การให้บริการดูแลด้านโภชนาการและสุขภาพ รวมทั้งร่วมกันสอดส่องดูแลป้องกันการจำหน่ายขนมที่ไม่มี อย. ,การป้องกันภัยธรรมชาติ ,การป้องกันโรคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ,การป้องกันภัยจากยาเสพติด/สารเสพติด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ,การป้องกันความรุนแรงในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา และการป้องกันการเล่นการพนันออนไลน์ เป็นต้น จากนั้น รมช.ศธ.พร้อมคณะเดินทางไปยังบ้านของด.ญ.ทิพย์เกสร แสนเหลา นักเรียนชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนโนนเสลาประสาทวิทย์ เพื่อมอบบ้านน้ำใจ “คืนความสุข สู่ลูก สพฐ.” ของ สพป.ชัยภูมิ เขต 2 ปีที่ 10 หลังที่ 100 นายสุรศักดิ์กล่าวว่า จากคํากล่าวรายงาน ทำให้ทราบความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการสร้างบ้านน้ำใจ “คืนความสุข สู่ลูก สพฐ.” ของ สพป.ชัยภูมิ เขต 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน จากการเยี่ยมบ้านนักเรียน ซึ่งเป็นภารกิจหลักในระบบการดูแล ช่วยเหลือนักเรียน ทำให้ทราบว่ามีนักเรียนจำนวนมาก มีภาวะยากลำบาก เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ ครอบครัวมีฐานะยากจน และอีกไม่น้อยที่ประสบปัญหาสภาพบ้านไม่มีความมั่นคงถาวร ทำให้ไม่มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ได้รับผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ส่งผลต่อคุณภาพและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว และนักเรียนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความพร้อมในการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ขอขอบคุณทุกท่านแทน ด.ญ.ทิพย์เกสร เจ้าของบ้าน ที่ท่านทั้งหลาย เสียสละกําลังกาย กําลังใจ กําลังทรัพย์ ช่วยเหลือในการสร้างบ้าน จนสำเร็จลุล่วงอย่างดียิ่ง ขอให้ทุกท่านได้ช่วยกันดูแลนักเรียนของท่านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อให้เติบโตมาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีพลังกาย พลังใจที่เข้มแข็ง เพื่อจะได้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าสืบไป คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ/ภาพ-ข่าว
รมช.ศธ. ‘สุรศักดิ์พันธ์เจริญวรกุล’ นำผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ ครม.สัญจรที่จังหวัดเพชรบุรี รับฟังปัญหาและแก้ไขอย่างจริงจัง เล็งปรับวิธีการจ่ายเงินอุดหนุน รร.ขนาดเล็ก พร้อมหาทางแก้ไขปัญหา “ลิง” บุกโรงเรียน ภาพเพิ่มเติม https://www.facebook.com/share/p/AJ1E6teEuXFxEtGa/?mibextid=oFDknk 13 พฤษภาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายส่วนราชการทางการศึกษา ติดตามข้อมูลการจัดการศึกษาระดับพื้นที่ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง (จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม) ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี รมช.ศธ.กล่าวในการมอบนโยบายว่าพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ฝากและเน้นย้ำมาคือ การมารับฟังปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขอขอบคุณศึกษาธิการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ที่ได้นำเสนอปัญหาในพื้นที่ และยังได้เสนอแนะวิธีแก้ไขที่สามารถเป็นไปได้ด้วย เป็นการทำงานเชิงรุกที่ดีมาก ทั้งนี้ รมว.ศธ. ได้กล่าวอยู่เสมอว่า“การทำงานของเราจะไม่เป็นผักตบที่ลอยน้ำ ต้องปรับตัวให้เป็นเรือที่วิ่งทวนน้ำ”ดังนั้น ศธ.ยุคใหม่นี้จะเน้นการรับฟังมากขึ้น พยายามหาทางแก้ปัญหาให้ได้ ซึ่งคำกล่าวของ รมว.ศธ. ก็ได้จุดประกายทำให้เรามีไฟในการขับเคลื่อนงานมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเรามีนโยบายที่เป็นรูปธรรม เช่น การยกเลิกครูเวร การจ้างนักการภารโรงทุกโรงเรียน อาหารกลางวันในโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีโรงเรียนขยายโอกาสมา และ รมว.ศธ. ก็ได้เน้นย้ำการทำงานลดภาระครู “โดยต่อไปนี้ทุกนโยบายที่ออกมาจะไม่เป็นการเพิ่มภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาในส่วนที่ไม่ใช่เนื้องานโดยตรง เราจะไม่ให้งานเหล่านั้นไปลดประสิทธิภาพในการสอนของท่าน รมว.ศธ. พูดเสมอว่า ก่อนหน้าที่พวกเราจะเข้ามา ศธ. ก็สามารถอยู่ได้ ดังนั้นเมื่อเราเข้ามารับตำแหน่งแล้ว เราจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานได้สะดวกขึ้น มีความสุขขึ้น” สำหรับคำว่า“เรียนดี มีความสุข”ก็เป็นคำที่สั้นและเข้าใจง่าย เพียงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาได้มีความสุขร่วมกัน นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับเรื่องขวัญและกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างมาก เรื่องสำคัญก็คือระบบ TMS จับคู่ครูคืนถิ่นที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ตั้งใจคิดและทำเพื่อประโยชน์ของครูอย่างแท้จริง ตลอดจนการปรับขึ้นเงินเดือนครูเดือนพฤษภาคมนี้ ขอยืนยันว่าจะไม่มีการตกเบิก สิ้นเดือนนี้จะได้รับเงินเดือนในอัตราใหม่อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องแก้หนี้ครู ก็ต้องขอขอบคุณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้ร่วมกันอย่างแข็งขัน มีการติดตามอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ปัญหานั้นเกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สำหรับในส่วนกลางนั้นมีการเจรจาดำเนินการสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลอยู่ตลอด รวมถึงการลดดอกเบี้ยเราก็มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูบางจังหวัดก็เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยให้แล้ว ขอขอบคุณมาในโอกาสนี้ด้วย ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามาให้ความรู้กับบุคลากรของเรา ทำให้การดำเนินการลดดอกเบี้ยเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น และยังเชิญโค้ชหนุ่ม “จักรพงษ์ เมษพันธุ์” หรือหนุ่ม Money Coach มาอบรมให้ความรู้ที่ ศธ. สร้างความเข้าใจแนวทางการบริหารการจัดการด้านการเงินให้บุคลากรของเรา อย่างไรก็ตามหนี้จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อคนเป็นหนี้อยากหมดหนี้ เปิดใจร่วมมือกัน ไม่ปิดบังข้อมูลต่อกัน นอกจากนี้ จะมีการเตรียมเรื่องของเงินอุดหนุนโรงเรียนขนาดเล็ก โดยผู้บริหาร ศธ. มีแนวคิดร่วมกันเรื่องการปรับแก้เงินอุดหนุนรายหัวให้กับเด็ก ต้องยอมรับว่ามีการวิจัยออกมาว่าการจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวในปัจจุบันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งการปรับเปลี่ยนเงินอุดหนุนรายหัวน่าจะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ ด้วยการอุดหนุนเงินก้อนให้กับโรงเรียนขนาดเล็กไปเบื้องต้นก่อน จากนั้นค่อยอุดหนุนรายหัวเพิ่มเข้าไป ซึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่อาจจะไม่ต้องมีเงินตรงนี้เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่มีต้นทุนมาก สามารถบริหารจัดการได้ทันที เช่น โรงเรียนที่มีเด็ก 3,000 คน กับโรงเรียนที่มีเด็ก 60 คน การบริหารจัดการจะไม่เหมือนกันเลย ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กมีเงินแทบไม่พอจ่ายในการดูแลรักษาโรงเรียน ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ไม่พอ แต่โรงเรียนขนาดใหญ่สามารถเหลือไปทำอย่างอื่นได้อีกมากมาย “ศธ. จะให้ความสำคัญกับปฐมวัยและเด็กอนุบาลมากขึ้น เนื่องจากเป็นรากฐานที่สำคัญของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งโอกาสที่เราจะบรรลุเป้าหมายนี้ก็คงต้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยต้องหารือกับหลายฝ่ายว่าจะสามารถใช้งบประมาณของปีไหนได้ คงไม่ถึงขั้นต้องของบกลาง เพียงแต่ว่าถ้าเรามีผลการศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจน ส่งให้สำนักงบประมาณได้พิจารณา เชื่อว่าท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกท่านจะเห็นด้วย และหากเรามีความพร้อมก็น่าจะดำเนินการต่อไปได้”รมช. ศธ. กล่าว ด้านนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ อยากให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพจริง ๆ เพราะหากมีโรงเรียนคุณภาพได้ครบทุกอำเภอ ก็อาจขยายลงไปยังโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลต่อไปได้ และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะเริ่มการจัดแพลตฟอร์มเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่จะรองรับอุปกรณ์เสริมการสอนของครูและนักเรียนในปี 2568 ขณะนี้มีกลุ่มบริษัทด้านไอทีระดับโลกให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมมือด้วยแล้ว ซึ่งการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนนั้นยังไม่กำหนดว่าจะเป็นการแจกแท็บเล็ต แล็ปท็อป แต่จะเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยพร้อมกับการใช้งานระบบ Wi-Fi ที่ไม่เป็นภาระให้แก่โรงเรียน และจะเป็นระบบของการเช่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าก็สามารถคืนอุปกรณ์ได้ทันทีโดยไม่กลายเป็นขยะไอที รมช.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบาย“สุขาดี มีความสุข”ขอให้ปฏิบัติในทุกหน่วยของ ศธ. ไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษาเท่านั้น ซึ่งถ้าสุขานักเรียนกับครูสะอาดเหมือนกัน ครูก็ใช้ร่วมกับนักเรียนได้ โดยแนวปฏิบัตินี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของโรงเรียน แต่มาตรฐานความสะอาดของห้องน้ำครูและนักเรียนต้องเท่ากัน โดยส่วนตัวแล้วมีข้อคิดเห็นว่า“ถ้าเราเรียกนักเรียนว่าลูก เราก็ต้องสามารถใช้สุขาเดียวกับลูก กับครอบครัวของเราได้”ทั้งนี้ขอฝากเขตพื้นที่ฯ สำรวจเพิ่มเติมในโรงเรียนที่ยังมีปัญหา ไม่สามารถรีโนเวทห้องน้ำตามนโยบาย “สุขาดี มีความสุข” ได้ ให้ทำเรื่องของบประมาณเข้ามา โดยทาง ศธ. อาจจะพิจารณานำเงินเหลือจ่ายปีงบประมาณ 2567-2568 มาใช้ในการจัดการเรื่องสุขาให้ได้ จากนั้นช่วงบ่าย รมช.ศธ.และคณะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนพรหมานุสรณ์ อ.เมือง และโรงเรียนวัดกุฏิ (นันทวิเทศประชาสรรค์) อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามการบริหารจัดการเรื่องลิงโดยสภาพปัญหาปัจจุบันของโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเขาวัง ได้รับผลกระทบจากลิงแสมที่มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ชุมชนเมือง แย่งชิงอาหาร ทำลายข้าวของ รบกวนมนุษย์ จนโรงเรียนต้องมีวิธีรับมือเบื้องต้นด้วยการจัดเวรยามเฝ้าในบริเวณหลังโรงเรียน 2 คน ป้องกันการคุ้ยเขี่ยอาหารของลิงที่มากันในช่วงเช้า เที่ยง และหลังเลิกเรียน รวมถึงการแย่งชิงอาหารจากนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้มาติดต่อราชการ และการทำลายทรัพย์สินของโรงเรียน เช่น รื้อหลังคา โหนดึงสายไฟและสายสัญญาณต่าง ๆ ได้รับความเสียหายเป็นต้น รมช.ศธ.กล่าวว่า วันนี้ได้เห็นปัญหาโดยเฉพาะเรื่องของลิงที่มางัดแงะทำลายอาคารสถานที่ สร้างความเดือดร้อน เป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียนและบุคลากร ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน...
9 พฤษภาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬาครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ครั้งที่ 5 ณ สนามกีฬาโรงเรียนวัดสนามไชย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายนพคุณ ลัคนาวิเชียร ผอ.สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ครู เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬา ครูและบุคลากรทางการศึกษา สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ครั้งที่ 5 ในวันนี้ จากการรับฟังคํากล่าวรายงาน จะเห็นได้ว่า กีฬาและการออกกําลังกาย มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐบาลและพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้ให้ความสำคัญ ในการออกกําลังกายและส่งเสริมให้ข้าราชการและลูกจ้างในหน่วยงาน ได้เล่นกีฬาและออกกําลังกายเป็นประจำ เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้จิตใจมีความสดชื่น แจ่มใส มีสมาธิในการทำงาน นอกจากนี้กีฬายังเป็นสื่อกลางในการผูกมิตร และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันอีกด้วย ดังนั้นจึงหวังว่าทุกท่านที่ได้เล่นกีฬาและออกกําลังกายเป็นประจำจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีบุคลิกภาพที่ดี มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน ในเขตพื้นที่บริการ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ.ต่อไป “ทั้งนี้จากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีการ Kick Off โครงการ “สุขาดี มีความสุข” ไปแล้วนั้น ขอฝาก ผอ.สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 ให้มีการติดตามการดำเนินโครงการ “สุขาดี มีความสุข” โดยการปรับปรุง ซ่อมแซม ห้องน้ำนักเรียน ให้มีสุขภัณฑ์ โถส้วม โถปัสสาวะ อ่างล้างมือ ประตู ช่องระบายอากาศ ที่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน มีระบบน้ำประปาที่เพียงพอ มีแสงสว่าง มีความปลอดภัย เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 ด้วย เนื่องจากจะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนของเรามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี พร้อมทั้งสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ ตามนโยบายและจุดเน้น ปีงบประมาณ 2567 – 2568 ของ สพฐ. อันจะส่งผลให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า การจัดงานในครั้งนี้ ขอกราบขอบพระคุณ พระครูขันติธรรมาลังการ (อภิชาต) เจ้าอาวาสวัดสนามไชย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสนามไชย ที่ให้ความอนุเคราะห์ด้านสถานที่จัดการแข่งขัน ทั้งยังขอขอบคุณ ประธานศูนย์พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาในอำเภอบางไทร ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนคณะกรรมการตัดสิน คณะนักกีฬา กองเชียร์ ลูกๆนักเรียน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ทุกฝ่าย ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน จัดการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ขึ้น ขอให้การแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สำเร็จลุล่วง สมดังจุดมุ่งหมายที่กําหนดไว้ ทุกประการ คณะทำงาน รมช.ศธ. / ภาพ-ข่าว
8 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 17/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการนั้น มีภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการในหลายภารกิจ จึงขอให้ทุกหน่วยงานประสานความร่วมมือในการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพัฒนาความรู้และพัฒนาสมรรถนะ สร้างความตระหนักและมีความตื่นตัวในการปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยขอให้ทุกหน่วยงานยึดนโยบายการทำงานด้วยความ“ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด”ไปเป็นแนวทางในทุกภารกิจที่ดำเนินการอยู่ นโยบายการทำงานด้วยความ “ถูกต้อง” การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา รมว.ศธ.กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น เป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานทั้งหน่วยงานในสังกัด ศธ. และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาเชิงรุก ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การดำเนินงานของสหกรณ์ และวาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยยึดแนวทางการทำงานด้วยความ“ถูกต้อง” โดย สพฐ. ได้จัดทำระบบบริหารงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการทางการเงินและสร้างองค์ความรู้ พร้อมทั้งนำความรู้ไปขยายผลส่งต่อความรู้สู่ผู้อื่นได้ โดยมีแนวทางในการดำเนินการ คือการคลายทุกข์ด้วยการเติมความรู้ในการบริหารจัดการการเงิน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสร้างความตระหนักในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง และยังมีการดำเนินการกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาบุคลากร ประสานเจรจา ขอความร่วมมือ ปรับปรุง แก้ไขระเบียบ กฎหมาย และกำหนดแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหา พร้อมสนับสนุนสถานีแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 245 แห่ง ให้มี OBEC Money Coach ที่จะสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาสมรรถนะด้านการเงินของครู บุคลากรและนักเรียนทุกคน การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานวางแผนการดำเนินงาน กำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งหาจัดทำแนวทางการนำระบบสารสนเทศด้านการรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดสามารถเข้ามากรอกข้อมูลผลการดำเนินงานเป็นรายโครงการในแต่ละสัปดาห์ โดยการจัดทำแอปพลิเคชันหรือระบบในการจัดทำงบประมาณและการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานในสังกัด โดยนำเสนอในรูปแบบ Dashboard ซึ่งต้องมีการพัฒนาขยายหน่วยงานผู้เข้าใช้ระบบงานให้ครอบคลุมทั้ง ศธ. โดยการดำเนินงานต้องคำนึงถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยึดแนวทางการทำงานด้วยความ“ถูกต้อง”และต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระเจ้าหน้าที่และบุคลากรในองค์กร ฝากผู้บริหารทุกคนต้องมีการขับเคลื่อน เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินการผลการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง นโยบายการทำงานด้วยความ “รวดเร็ว” การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รมว.ศธ.กล่าวว่า การปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 เห็นชอบการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการปรับอัตราเงินเดือนใหม่พร้อมกันในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิ เป็นกลุ่มของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่บรรจุใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และ 1 พฤษภาคม 2568 และ กลุ่มที่ 2 การปรับเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นกลุ่มของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ (วันที่ 1 พ.ค. 67 และ 1 พ.ค. 68) และได้รับอัตราเงินเดือนไม่เกินอัตราสูงสุดที่กำหนดให้ได้รับการปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละคุณวุฒิ ซึ่งได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบคุณวุฒิให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนดด้วยความถูกต้อง และ“รวดเร็ว”เร่งออกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยย้ำว่า “ทุกหน่วยงานต้องไม่มีการตกเบิก” หรือถ้ามีการตกเบิกต้องเป็นเฉพาะรายเท่านั้น ซึ่งขอให้เร่งดำเนินการและรายงานให้ รมว.ศธ. ทราบถึงสาเหตุของการตกเบิกทันที การยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA และ O-NET รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายด้วยความ“รวดเร็ว” ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA การสอบ O-NET รวมถึงการสอบในประเภทต่าง ๆ นั้น ถือเป็นความท้าทายของผู้บริหารทุกคน เป็นมิติของนักบริหารจัดการ คือการคิดและบริหารขับเคลื่อนให้การยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานสอดประสานกันและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และต้องมีการสื่อสารแนวทางการดำเนินการ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้สังคมด้วยความรวดเร็วและชัดเจน สิ่งที่สำคัญอีกประการคือการทำให้นักเรียน มองเห็นถึงความสำคัญและมีความมุ่งมั่น ในการเข้ารับการทดสอบในทุกประเภท เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนและผลระดับผลการทดสอบระดับประเทศ ต้องสร้างแรงจูงใจ สร้างความสนใจ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการสอบ ให้แก่ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาทุกคน ทั้งนี้ ได้รับทราบการพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมิน PISA สำหรับวิทยากรแกนนำของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดย สพฐ. ร่วมกับ สสวท....
มติคณะรัฐมนตรี (7 พฤษภาคม 2567) เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาลต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี พร้อมอนุมัติงบประมาณดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 30,327,930 บาท เพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อดูแลเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล มีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิม หรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อการเรียน และไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนในระหว่างภาคการศึกษา และมีความรู้สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพอีกด้วย หลักการและเหตุผล ในแต่ละปีมีเด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพจำนวนมากที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านเป็นเวลานานหรือต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สพฐ. โดยสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษร่วมกับโรงพยาบาลได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียนรู้ โดยมีการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา เพื่อให้เด็กได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการรักษา วัตถุประสงค์ สนับสนุนงบประมาณในการจ้างครูประจำศูนย์การเรียนฯ ให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุสำนักงานและวัสดุสำหรับใช้จัดการเรียนการสอนสำหรับโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ สธ. สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับจัดการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนฯ เป้าหมาย จัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าจ้างครูผู้สอนประจำศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียน จำนวน 151 อัตรา เด็กที่รักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวนไม่ต่ำกว่า 35,000 คน ได้รับบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องและสามารถส่งต่อเด็กกลับไปยังสถานศึกษาเดิมหรือเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย จัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการจัดซื้อวัสดุสำหรับใช้จัดการเรียนการสอนและวัสดุสำนักงานประจำศูนย์การเรียนฯ ในโรงพยาบาลนอกสังกัดกรมการแพทย์ สธ. จำนวน 4 จังหวัด 6 ศูนย์การเรียน จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับใช้จัดการเรียนการสอนให้แก่ศูนย์การเรียนฯ ใน 77 จังหวัด 85 ศูนย์การเรียน ประกอบด้วย แท็บเล็ตและอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลแบบภายนอก ครูผู้สอนประจำศูนย์การเรียนฯ จำนวน 151 อัตรา มีครุภัณฑ์สำหรับใช้จัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วยและเพียงพอ ประโยชน์ที่ได้รับ สามารถลดปัญหาภาคสังคมได้อย่างมาก เนื่องจากเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมีโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง ด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพความเจ็บป่วย ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม สามารถลดปัญหาค่าใช่จ่ายของภาครัฐในด้านการศึกษา เนื่องจากเมื่อเด็กออกจากโรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาเดิมได้อย่างต่อเนื่องหรือส่งต่อเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษานอกระบบหรือตามอัธยาศัย ส่งผลให้เด็กนักเรียนไม่รู้สึกท้อแท้ เบื่อการเรียน และไม่ต้องลาออกจากโรงเรียนในระหว่างภาคการศึกษาและมีความรู้สำหรับใช้ในการประกอบอาชีพ
6 พฤษภาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Kick Off “สุขาดี มีความสุข” ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ณ โรงเรียนวัดหนองน้ำส้ม (เจียนวิทยาคาร) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พร้อมเข้าร่วมกิจกรรม การติดป้ายโลโก้ “สุขาดี มีความสุข” ทุกโรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ซึ่งมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เป็นประธาน และมี ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ลงพื้นที่เพื่อร่วมกิจกรรม Kick Off “สุขาดี มีความสุข” ในทุกภูมิภาค โดยมี นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นางกัลยา มาลัย ผอ.สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่ม ครูและบุคลากรทางการศึกษา ในสังกัด สพป.พระนครศรีอยุธยาเขต 1 ร่วมเปิดโครงการ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธาน และกล่าวเปิดโครงการ Kick Off “สุขาดี มีความสุข” ของโรงเรียนวัดหนองน้ำส้ม (เจียนวิทยาคาร) พร้อมเข้าร่วมกิจกรรม การติดป้ายโลโก้ “สุขาดี มีความสุข” ทุกโรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ซึ่งมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เป็นประธานในวันนี้ ตามที่ได้รับฟังการกล่าวรายงานโครงการ และวัตถุประสงค์ของโครงการ “สุขาดี มีความสุข” นั้น พบว่า สพฐ. มีความตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาในการปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน ในปีการศึกษา 2567 ซึ่ง สพฐ. ได้จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 80 คน จำนวน 9,698 โรงเรียน โรงเรียนละ 10,000 บาท รวมใช้งบประมาณ 97 ล้านบาท ส่วนโรงเรียนทั่วไปใช้เงินรายได้ของสถานศึกษา หรือเงินอื่นๆ ที่โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้ โดยใช้ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 “ทั้งนี้ให้สถานศึกษา ได้ใช้จ่ายปรับปรุง ซ่อมแซม ห้องน้ำนักเรียน ให้มีสุขภัณฑ์ โถส้วม โถปัสสาวะ อ่างล้างมือที่สะอาดและถูกสุขลักษณะ มีประตู ช่องระบายอากาศ ที่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน มีระบบน้ำประปาที่เพียงพอ มีระบบไฟฟ้า มีแสงสว่าง มีความปลอดภัย ทาสีห้องน้ำ จัดสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกให้เหมาะสมถูกสุขลักษณะ ตามแนวทางการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ประเภทเงินเพื่อประโยชน์การศึกษา โครงการ “สุขาดี มีความสุข” ของ สพฐ.ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ “สุขาดี มีความสุข” ระดับเขตพื้นที่การศึกษานี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนของเรามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี พร้อมทั้งสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ ตามนโยบายและจุดเน้น ปีงบประมาณ 2567 – 2568 ของ สพฐ. อันจะส่งผลให้นักเรียน “เรียนดี มีความสุข” รมช.สุรศักดิ์ กล่าว จากนั้นรมช.ศธ.ได้เดินทางไปยังโรงเรียนหนองน้ำส้มวิทยาคม สังกัด สพม.พระนครศรีอยุธยาเพื่อเปิดโครงการ Kick Off “สุขาดี มีความสุข”ด้วย คณะทำงาน รมช.ศธ. / ข่าว-ภาพ
3 พฤษภาคม 2567 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมี อำเภอภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ตนมีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นได้รับรายงานจาก ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศสป.สพฐ.) ซึ่งได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พระนครศรีอยุธยา เขต 1 อย่างใกล้ชิด ทราบข้อมูลว่า นายอำเภอภาชี ได้ประสานกับ ผอ.สพป.พระนครศรีอยุธยาเขต 1 ขอให้อพยพประชาชนไปพักที่โรงเรียนตะโกดอนหญ้านาง เนื่องจากมีกลิ่นสารเคมีฟุ้งกระจาย และควันไฟลอยไปไกลกินพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอภาชี และนครหลวง ดังนั้นจึงได้มีการแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในมลภาวะที่เป็นพิษไปยังโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่อำเภอภาชีและอำเภอนครหลวง เพื่อแจ้งให้ครูและนักเรียนทราบ โดยข้อปฏิบัติ ได้แก่ 1.ครูและนักเรียนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด และใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามร่องประตู 2.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในพื้นที่โล่งแจ้ง และ3. หากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นทีโล่งแจ้งให้อยู่เหนือลม หลีกเลี่ยงการสูดควัน และสวมหน้ากาก N95 ตลอดเวลา พร้อมประสานผู้อำนวยการโรงเรียนตะโกดอนหญ้านาง เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่ของผู้อพยพ “สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ได้มอบหมายให้สถานศึกษาในพื้นที่อำเภอภาชี และอำเภอนครหลวง ตรวจสอบรายชื่อนักเรียนที่มีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง พบว่า ไม่มีครูหรือนักเรียน ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีต่อไป โดย สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 ได้มีการประสานไปยังผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่อำเภอภาชี และอำเภอนครหลวง ให้เฝ้าระวังเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งรายงานให้ผู้อำนวยการ สพป.พระนครศรีอยุธยาเขต 1 ทราบเป็นระยะ ๆ ทั้งยังได้กำชับไปยัง สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1ให้ดำเนินการใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงาน 2.แจ้งแนวทางการปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในมลภาวะที่เป็นพิษ 3.แจ้งมาตรการด้านความปลอดภัยของนักเรียนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง 4.ติดตามและรายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องและรายงานมายัง ศสป.สพฐ. และ5.หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม ให้รายงานต่อ ศสป.สพฐ. ทันที” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว คณะทำงาน รมช.ศธ. / ภาพ-ข่าว
3 พฤษภาคม 2567/ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นำทีมนักศึกษาอาชีวะ Kick Off ล้างแอร์เครื่องแรกในโครงการอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ ฟรี! ณ บ้านของนายศีลชัย คล้อยวงศ์ ประชาชนที่อาศัยอยู่ย่านถนนสุคันธาราม เขตดุสิต กรุงเทพฯ รมว.ศธ.กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดโครงการอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ ฟรี! โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาแอร์ การใช้แอร์อย่างถูกวิธี หากแอร์สกปรกเราก็จะเข้ามาช่วยล้างแอร์ให้ เพื่อยืดอายุการใช้งานและเป็นการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของประชาชนในหน้าร้อนนี้ “การ Kick Off วันนี้เป็นการเริ่มล้างแอร์ที่บ้านหลังแรกของโครงการฯ ในชุมชนสุคันธาราม ซึ่งพอได้มาดูด้วยตัวเองแล้วรู้สึกว่าคิดถูกที่มาเริ่มต้นที่นี่ เพราะสภาพแอร์ไม่เคยถูกล้างเลย จึงเป็นการ Kick Off ที่ได้ประโยชน์มาก ทำให้รัฐมนตรีและทีมงานได้เห็นว่า พี่น้องประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ บางเรื่องที่สามารถดูแลบำรุงรักษาแอร์เองได้ อย่างเช่นฟิลเตอร์กรองอากาศ หากสกปรกก็สามารถถอดนำออกมาล้างด้วยตัวเองได้ เพราะการมีฝุ่นสะสมในฟิลเตอร์นั้นนอกจากจะทำให้อากาศถ่ายเทอากาศไม่สะดวกแล้ว ยังทำให้แอร์ต้องทำงานหนักขึ้น ส่งผลกับความชื้นและเป็นแหล่งรวมเชื้อโรค ซึ่งการนำไปล้างทำความสะอาด เป่าลม ก็จะช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้นได้ รวมถึงการล้างทำความสะอาดแผงคอยล์เย็น ก็ช่วยให้ทำให้แอร์เย็นเร็วขึ้นและประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะหน้าร้อนอย่างนี้ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันลดพลังงาน เป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการคลายร้อนอีกแรงหนึ่ง” รมว.ศธ.กล่าว ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถลงทะเบียนทางhttp://www.vec.go.th, Facebook : ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ QR Code ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เมื่อลงทะเบียนสมบูรณ์แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปนัดหมายวันเวลาเพื่อเข้าไปล้างแอร์ให้ฟรี โดยโครงการฯ นี้ได้ตั้งเป้าหมายการล้างแอร์ฟรี 7,200 จุด ทั่วประเทศ ปารัชญ์ ไชยเวช / ข่าว พีรณัช ยุตยะทัช / ถ่ายภาพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา / กราฟิก
2 พฤษภาคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 16/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา PISA ตามที่ สพฐ. ร่วมกับ สสวท. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาสมรรถนะด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตามแนวทาง PISA นั้น ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ความสำคัญในเรื่องของการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา การเข้าร่วมการฝึกอบรมวิทยากรแกนนำและการเตรียมความพร้อมการเป็นวิทยากรพี่เลี้ยง ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (ศูนย์วิทยาศาสตร์พลังสิบ) การเข้ารับอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ในการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของผู้เรียนตามแนวทางการประเมินระดับนานาชาติ หรือ PISA สำหรับวิทยากรแกนนำ ระดับเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และการอบรมเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Paced Learning) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป การติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ผู้บริหารทุกหน่วยงาน วางแผนการดำเนินงาน กำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ มีการกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วันที่จัดทำรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ จำแนกเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายไตรมาส ตามเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในภาพรวมของประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 เพื่อให้การรายงานผลฯ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้จัดทำปฏิทินการทำงาน (Timeline) ในเรื่องของแผนงานโครงการที่เป็นงบรายจ่ายลงทุนของทุกหน่วยงาน พร้อมระบุรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินแต่ละช่วงเวลาที่ชัดเจน พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการวางระบบสารสนเทศด้านการรายงานผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดสามารถเข้ามากรอกข้อมูลผลการดำเนินงานเป็นรายโครงการในแต่ละสัปดาห์ โดยดำเนินการใน 2 มิติ คือ การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณฯ และการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณฯ วางแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยจัดทำแอปพลิเคชัน ระบบการรายงานผลแบบ Real Time การดำเนินการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง ประจำปีงบประมาณ 2567 รมว.ศธ.กล่าวว่า ตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในการจัดสรรอัตราจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ตำแหน่งนักการภารโรง ซึ่งขณะนี้ สพฐ. ได้จัดสรรอัตราจ้างทั้งสิ้นรวม 13,304 อัตรา คงเหลืออัตราที่ยังไม่ได้จัดสรรจำนวน 447 อัตรา จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จด้วยความรวดเร็วให้ทันต่อการเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา 2567 พร้อมมอบให้ ผอ.สพท. สำรวจว่าในแต่ละสถานศึกษาในเขตความรับผิดชอบ ได้ดำเนินการจ้างนักการภารโรงครบถ้วนถูกต้องในอัตราที่ได้รับจัดสรรหรือไม่ และเร่งรายงานให้ เลขาธิการ กพฐ. รับทราบ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยของอาคารสถานที่และทรัพย์สินของโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดภาระของครู ทำให้ครูสามารถทำหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งการมีนักการภารโรงจะช่วยดูแลสภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค ดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัยของครูและนักเรียน การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง รมว.ศธ.กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคมนี้ ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ในส่วนของจัดเตรียมความพร้อมได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ ในการดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนฯ จำนวน 7 คณะ คือ 1) คณะทำงานด้านต้อนรับพิธีการและงานเลี้ยงรับรอง 2) คณะทำงานด้านสารัตถะ 3) คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ 4) คณะทำงานด้านการเดินทางพาหนะและรักษาความปลอดภัย 5) คณะทำงานด้านที่พักและสถานที่จัดการประชุม 6) คณะทำงานด้านสุขภาพและปฐมพยาบาล และ 7) คณะทำงานด้านการศึกษาดูงานและกิจกรรมพิเศษ พร้อมมอบหมายให้ทุกฝ่ายกำกับ ติดตามการดำเนินงาน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานภายใต้คณะทำงานด้านต่าง ๆ ในการเตรียมความพร้อมการจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนอย่างเคร่งครัด และกำหนดปฏิทินการทำงานให้ชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ขอให้ทุกหน่วยงาน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของประเทศสมาชิก เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรม/โครงการภายใต้แผนงานด้านการศึกษาของอาเซียน และแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการศึกษาและภารกิจด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอให้คณะทำงานด้านต่าง ๆ ดำเนินงานด้วยความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้งานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ “โครงการ 72 กิจกรรม ศึกษาธิการ เทิดไท้องค์ราชัน 72 พรรษา” รมว.ศธ.กล่าวว่า ได้รับทราบแผนการดำเนินโครงการ 72 กิจกรรม ศึกษาธิการ เทิดไท้องค์ราชัน...
2 พฤษภาคม 2567/ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) และนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าวโครงการ “อาชีวะล้างแอร์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ดำเนินกิจกรรมล้างแอร์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงฤดูร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และประหยัดพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยมีนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ออกให้บริการในพื้นที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ต่างๆ ที่ประชาชนได้ขอรับบริการ พร้อมให้ข้อมูลความรู้พื้นฐาน แนะนำการดูแล บำรุงรักษา รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.ขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนใช้บริการล้างแอร์ ในกิจกรรมอาชีวะคลายร้อนทั่วไทย ร่วมใจล้างแอร์ ฟรี! ได้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ทางhttp://www.vec.go.th, Facebook : ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ QR Code เพื่อลดการใช้พลังงาน สร้างอากาศสะอาด และได้รับการดูแลรักษาแอร์ในครัวเรือนให้มีสภาพใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างคุณภาพอากาศที่ดีภายในบ้าน ลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานในภาพรวมของประเทศด้วย เพราะการล้างแอร์ทุก ๆ 6 เดือน จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ได้อย่างน้อย 10% เลขาธิการ กอศ.กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประชาชนจะได้รับบริการล้างแอร์ ฟรี จากนักศึกษาอาชีวะแล้ว น้องๆ ยังได้พัฒนาทักษะและเพิ่มประสบการณ์วิชาชีพ ด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพิ่มศักยภาพตนเอง เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ เป็น “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” ต่อไป ปารัชญ์ ไชยเวช/ ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ/ถ่ายภาพ