ราชกิจจานุเบกษา(30 เมษายน 2567) เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ลงนามโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการอาชีวศึกษาของประเทศไทยสู่การปฏิบัติ และผลักดันไปสู่การดำเนินงานที่เป็นระบบอย่างชัดเจน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน และประชาชนได้นำผลการเรียนหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ มาสะสมเทียบโอน และใช้ประโยชน์ในการเพิ่มคุณวุฒิการทำงานและการศึกษาต่อ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง ด้วยความเชื่อมโยงการเรียนรู้กับการทำงาน การเรียนรู้และการฝึกอบรมใหม่ได้ตลอดเวลา โดยไม่จำกัดอายุ รวมทั้งสร้างโอกาสให้แรงงานและประชาชนทั่วไปได้เพิ่มทักษะและพัฒนาทักษะใหม่ นำไปสู่การยกระดับวิชาชีพให้สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่มา:https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/27701.pdf
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
29 เมษายน 2567/ เวลา 18.00 น. พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และถวายเป็นพระกุศล แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 29 เมษายน 2567 โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้บริหารกระทรวง ข้าราชการ บุคลากรในสังกัด ประชาชน ร่วมพิธีพร้อมกัน ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพฯ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบเปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เพื่อเป็นการร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยเสมอมา โดยเฉพาะด้านการศึกษาโดยทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพ สนับสนุนด้านการศึกษาให้กับประชาชนได้เรียนรู้สามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมถึงสามารถนำความรู้มาพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ ทุน ม.ท.ศ.สนับสนุนแก่เยาวชนที่กำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมต้น ให้มีโอกาสศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน รวมถึงความช่วยเหลือส่วนพระองค์ที่พระราชทานให้ชาวกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครองในยามประสบเหตุเดือดร้อนทุกข์ยากอยู่เสมอ เป็นต้น รวมทั้งถวายเป็นพระกุศลในโอกาสที่วันนี้ 29 เมษายน 2567 เป็นวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ทรงเจริญพระชันษา 19 ปี ซึ่งพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนไทยเสมอมา ทั้งการร่วมกิจกรรมจิตอาสาในโครงการจิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เสด็จฯ ไปประทานสิ่งของแก่ตัวแทนจิตอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ ทรงประกอบอาหารประทานให้แก่จิตอาสาฯ ทั้งยังทรงสนพระทัยในพระพุทธศาสนา และด้านกีฬาเป็นอย่างยิ่ง โดยกระทรวงศึกษาธิการจะได้น้อมนำแนวทางการมีหัวใจเป็นจิตอาสาไปปลูกฝังให้เยาวชนทั่วประเทศได้ปฏิบัติตาม เพื่อให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อ สร้างสังคมน่าอยู่ ตามแนวทาง “เรียนดีมีความสุข” ปารัชญ์ ไชยเวช/ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง, ณัฐพล สุกไทย/ถ่ายภาพ
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จุดเน้นด้านสุขภาพองค์รวมของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้นโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ สาระสำคัญการกำหนดจุดเน้นดังกล่าว เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ให้บรรลุเป้าหมายอย่างครอบคลุมในทุกมิติ 2 ด้านหลัก ได้แก่ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการสร้างเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพปัญญา สุขภาพสังคม ให้แก่ผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ในการดำเนินชีวิตได้ด้วยความผาสุก ผ่านกระบวนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงกันในทุกมิติ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีโดยส่งเสริมและสนับสนุนการจัดระเบียบพื้นที่ ให้มีความมั่นคงและปลอดภัยในทุกมิติ ลดความเสี่ยงจากโรคภัย อุบัติเหตุ และภัยคุกคามต่าง ๆ การมีพื้นที่สีเขียวเพื่อการผ่อนคลาย และพื้นที่การทำกิจกรรมทางสังคมที่สร้างสรรค์และหลากหลาย มีการดำเนินการตามมาตรฐานด้านสุขาภิบาล อาหาร และน้ำ และมาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอย โดยให้ส่วนราชการในสังกัดและในกำกับ นำจุดเน้นด้านสุขภาพองค์รวมนี้ ไปเป็นกรอบแนวทางดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
26 เมษายน 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อห่วงใยเรื่อง “โรคพิษสุนัขบ้า” กับเด็กและเยาวชนช่วงปิดเทอมหน้าร้อน โดยเฉพาะอากาศร้อนทำให้สัตว์หงุดหงิดและกัดง่ายกว่าปกติ จึงมีโอกาสที่โรคจะแพร่กระจายได้มากขึ้น เน้นย้ำการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันความเสี่ยง รมว.ศธ.กล่าวว่า หมาและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่บ้านคนไทยมาตั้งแต่อดีต และปัจจุบันก็ยังมีสัตว์อื่นชนิดที่นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าโรคที่มากับสัตว์คือ “พิษสุนัขบ้า” โรคที่ยังคงเป็นปัญหาทั่วโลกมาจนทุกวันนี้ ช่วงปิดเทอมหากเด็กเล่นกับสัตว์อาจโดนกัด โดนข่วน จึงอยากฝากผู้ปกครองให้ความใส่ใจเรื่องการฉีดวัคซีนประจำปีของสัตว์ เพื่อความปลอดภัยของบุตรหลานที่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำทำความเข้าใจกับเด็ก ๆ อย่าแหย่สัตว์เล่น อย่าเหยียบอวัยวะใด ๆ ของสัตว์ อย่าแยกสัตว์ที่รวมกลุ่มออกจากกัน อย่าหยิบอาหารจากสัตว์ขณะที่สัตว์กำลังกิน และอย่างยุ่งกับสัตว์ที่ไม่มีรู้จักหรือไม่มีเจ้าของ ที่สำคัญอยากฝากไปถึงชุมชนให้คอยสอดส่องสำรวจสุนัขจรจัด เพราะในช่วงปิดเทอมเด็กอาจออกไปเล่นข้างนอกบ้าน เจอสุนัขก็เอ็นดู อยากรู้อยากเห็น ไปลูบ ไปจับ ไปสัมผัส เสี่ยงโดนกัดได้ง่าย ๆ หากพบเจอสุนัขที่มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สามารแจ้งไปยังเทศบาล อบจ. อบต. สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เพื่อประสานเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลการฉีดวัคซีนสุนัขในพื้นที่ กรณีถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้รีบล้างบริเวณแผลทันที และไปพบแพทย์พร้อมติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ส่วนสัตว์ที่ทำร้ายเด็กควรกักตัวไว้ก่อนเพื่อสังเหตอาการว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ทั้งนี้ฝากย้ำไปถึงคุณครูผู้สอนด้วย สามารถให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า การลดความเสี่ยง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นกับเด็กตอนเปิดเทอม เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยช่วงปิดเทอมทุกครั้งไป พบพร ผดุงพล / ข่าว ปารัชญ์ ไชยเวช / กราฟิก
24 เมษายน 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก ครั้งที่ 11 (11th Asia – Pacific Regional Scout Leaders Summit, 2024) โดย นายแอนดี้ แชปแมน ประธานคณะกรรมการลูกเสือโลก, นายอะห์มัด อัลฮินดาวี เลขาธิการสำนักงานลูกเสือโลก, ฯพณฯ เดล บี โควาร่า ประธานคณะกรรมการลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก, นายเจอาร์ ปังกิลินัน ผู้อำนวยการสำนักงานลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. ผู้บริหารสูงสุดของสมาคมลูกเสือแห่งชาติ จากทุกประเทศสมาชิกภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย และคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร รมว.ศธ. กล่าวว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจการลูกเสือไทยและลูกเสือโลกเป็นอย่างมาก จึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการกิจกรรมลูกเสือช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนให้มีระเบียบวินัย กล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน รู้จักหน้าที่ ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงพัฒนาให้เด็กและเยาวชนมีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ดี การจัดงานครั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ที่ผู้บริหารงาน เกิดทักษะการบริหารจัดการ นำไปพัฒนากิจการลูกเสือที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด หลักการทางการลูกเสือ ตลอดจนมีการนำเสนอผลงานโครงการพิเศษของสำนักงานลูกเสือโลก และภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ด้านการพัฒนาองค์กรที่เป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังมีการจัดกิจกรรมทัศนศึกษา เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ เพื่อเปิดมุมมอง วิสัยทัศน์ที่จะสามารถนำไปพัฒนากิจการลูกเสือของประเทศสมาชิกได้ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติของประเทศไทย ขอขอบคุณสมาชิกขององค์การลูกเสือโลกที่ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมที่ประเทศไทยในครั้งนี้ ขอให้มีความสุขตลอดการเข้าร่วมงาน ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งสำนักงานลูกเสือแห่งชาติของประเทศไทย ยังคงเป็นพันธมิตรที่ดีของประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนา ยกระดับเด็กและเยาวชนผ่านกระบวนการลูกเสือให้เป็นคนดี คนเก่งและมีคุณภาพ นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติกล่าวว่า ในนามผู้นำลูกเสือไทย รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่ผู้นำลูกเสือระดับภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก มาเยี่ยมเยียนประเทศไทย การมารวมกันของสุดยอดผู้นำจากหลากหลายประเทศในวันนี้ มีจุดหมายเดียวกันคือสร้างเด็กและเยาวชนในภูมิภาคให้เป็นพลเมืองตื่นรู้ผ่านกระบวนการลูกเสือ มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก หวังว่าการแลกเปลี่ยนมุมมองจากทุกฝ่ายจะถูกนำไปต่อยอดในการพัฒนากิจการลูกเสือในแต่ละประเทศ และส่งเสริมการดำเนินการในภาพรวมของกิจการลูกเสือภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิก และลูกเสือโลกต่อไป พบพร ผดุงพล / ข่าว กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ. / ภาพ
กระทรวงศึกษาธิการ 24 เมษายน 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดี สกร. และผู้บริหาร/คณะกรรมการ เข้าร่วมประชุมด้วยระบบ e-Meeting (ไม่ใช้กระดาษ) ณ ห้องประชุมราชวัลลภ รมว.ศธ. กล่าวว่าที่ประชุมได้รับทราบคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สป. 112/2567 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เป็นประธาน ซึ่งมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. เป็นฝ่ายเลขานุการ องค์ประกอบรวมทั้งสิ้น 24 คน นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายละเอียดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย รายละเอียดดังนี้ 1)ส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัย เข้าใจและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย มีรากฐานจิตสำนึกรักความเป็นไทย มีคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยม และหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและ สถาบันสำคัญของชาติเป็นพลเมืองที่ดี 2)กำหนดคุณลักษณะของผู้สมัครเข้ารับราชการ เพื่อให้ได้ข้าราชการที่ดีของแผ่นดิน มีจิตสำนึกรักและภูมิใจในความเป็นไทย มีจิตอาสา คุณธรรมจริยธรรม และจรรยาข้าราชการ ปฏิบัติหน้าที่ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม 3)ส่งเสริมให้ข้าราชการบรรจุใหม่ และข้าราชการ บุคลากร ทุกระดับ ทุกประเภท เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดีของแผ่นดิน มีจิตสำนึก จิตอาสา คุณธรรมและจริยธรรม ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม ประพฤติตนเป็นข้าราชการที่ดีตามรอยพระยุคคลบาท และสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างนโยบาย ทิศทางกรอบแนวทางการขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงร่างแนวทางการจัดกิจกรรมในสถานศึกษาที่มีผลต่อหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติ บ้านเมือง และสถาบันหลักของชาติ และ ร่างแนวทางการอนุรักษ์ประเพณีไหว้ครู และขับเคลื่อนสู่การเป็น Soft Power ของชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 โดย รมว.ศธ. ได้มอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการพิจารณาทบทวนในส่วนที่รับผิดชอบอย่างละเอียด เพื่อส่งข้อมูลจับต้องได้ที่ชัดเจนให้ฝ่ายเลขานำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 พบพร ผดุงพล / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
24 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 15/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบออนไลน์ ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการ รมว.ศธ. นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว สรุปดังนี้ การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รมว.ศธ.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รวม 8 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 โดยมี นายเธียรชัย ณ นคร เป็นประธานกรรมการฯ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์, รศ.ปานใจ ธารทัศนวงศ์, รศ.อดิศร เนาวนนท์, รศ.จิรดา วุฑฒยากร, น.ส.พรวิลัย เดชอมรชัย, ร.ต.ท.หญิง สุทธิมา พิพัฒน์พิบูลย์ และนายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เป็นคณะกรรมการฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ชื่นชม “ศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน” (Fix it Center) ที่ร่วมส่งความสุข มอบความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่ผ่านมา รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ร่วมมือร่วมใจในการดำเนินกิจกรรม “ศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน” เทศกาลสงกรานต์ 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จัดขึ้น 104 ศูนย์ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ตั้งแต่เวลา 8.30 น.- 20.30 น. บนถนนสายหลัก และถนนสายรอง ภายใต้โครงการบูรณาการการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ กับการเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนสายอาชีวศึกษาที่มีจิตอาสา ในแคมเปญ “ส่งความสุข มอบความปลอดภัยในการเดินทาง” ให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษากับสถานการณ์จริง ได้นำความรู้มาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม รวมถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน ที่มาร่วมสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ “สุขาดี มีความสุข” ห้องน้ำโรงเรียนต้อง “สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม” ตามที่ รมว.ศธ. มีนโยบายในการปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนโดย สพฐ. จะจัดสรรงบประมาณปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนกว่า 100 ล้านบาท ในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ประมาณ 9,700 แห่ง ที่มีนักเรียน 80 คนลงมา โดยงบที่จัดสรรให้จะให้โรงเรียนทาสีห้องน้ำเปลี่ยนสุขภัณฑ์หรือระบบประปาใหม่ ในด้านการสร้างความเท่าเทียมในการใช้ห้องน้ำ ที่ให้ครูกับนักเรียนเข้าห้องน้ำร่วมกันได้ โดยแบ่งแยกเฉพาะห้องน้ำชาย-หญิงนั้น เป็นข้อแนะนำของ รมว.ศธ. ซึ่งก็แล้วแต่ความเหมาะสมของโรงเรียนที่จะดำเนินการ ไม่ได้เป็นการบังคับหรือสั่งการให้ปฏิบัติทุกโรงเรียน เพียงแต่ประสบการณ์ของตนเองที่เคยทำงานมา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ประชาชน หรือนักเรียน ก็สามารถใช้ห้องน้ำที่สะอาดร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกกัน สิ่งสำคัญได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารดำเนินการกำกับ ติดตาม และเร่งรัดให้ทุกโรงเรียนดำเนินการสำรวจข้อมูลสภาพห้องน้ำทุกโรงเรียน และวางแผนดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซมห้องน้ำโรงเรียน โดยต้องมีความ “สะอาด สะดวก สบาย สุขลักษณะ สวยงาม” และดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อไม่ให้กระทบต่อกิจกรรมการจัดการเรียนการสอน โดยปรับปรุงทาสี จัดหาอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ สวยงาม เหมาะสม พร้อมทั้งบันทึกภาพทั้งก่อนและหลังการดำเนินการแล้วเสร็จ และรายงานผลการดำเนินงานก่อนเปิดภาคเรียน การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษาที่ 1/2567 รมว.ศธ. ได้เน้นย้ำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”ผู้บริหารส่วนกลาง ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งมีกำหนดเปิดภาคเรียนในวันที่ 16 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ จึงขอให้สถานศึกษาดำเนินการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ ทั้งความปลอดภัยของสถานศึกษา ให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียน จนออกจากโรงเรียนและเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน รวมทั้งการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันแก่นักเรียน อาทิ...
23 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 ทั้งในด้านความปลอดภัยและการจัดการเรียนการสอน โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. รวมถึงผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม จำนวน 650 คน ณ ห้องประชุมฉัตรแก้ว โรงเรียนสตรีนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ควบคู่กับการประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting กว่า 21,002 คน และรับชมถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง OBEC Channel จำนวน 20,905 คน รวมทั้งสิ้นกว่า 42,557 คน พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้สื่อสารนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้แก่ผู้บริหารเขตพื้นที่และสถานศึกษา ซึ่งทุกคนเป็นเป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญในการเชื่อมต่อนโยบายสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ ตัวผู้เรียน ทำอย่างไรให้ “เรียนดี มีความสุข” ทั้งนี้ ศธ. มีกำหนดเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2567 จึงขอให้สถานศึกษาดำเนินการในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา ให้คำนึงถึงสวัสดิภาพของนักเรียน ตั้งแต่เดินทางออกจากบ้านเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนจนออกจากโรงเรียน และเดินทางถึงบ้านพักนักเรียน ด้านการเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การจัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน กิจกรรมเสริมทักษะเพิ่มเติม เป็นต้น ด้านเครือข่ายและการสร้างความร่วมมือ สถานศึกษาประสานเครือข่ายและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันจัดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต บูรณาการความร่วมมือการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กนักเรียน เป็นต้น “ก่อนเปิดภาคเรียนปีนี้ก็จะมีความแปลกใหม่เล็กน้อย ซึ่งทุกท่านก็คงทราบอยู่แล้ว เรื่องของการจ้างนักการภารโรง ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสรรหาบุคคล ซึ่งตามแผนแล้วจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ และจะเริ่มจ้างในวันที่ 1 พฤษภาคม วันนี้เราจึงมาประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจกันก่อน และมอบนโยบายการปฏิบัติงานทุกเรื่อง ไม่ว่าจะในมิติของเรื่องสภาพแวดล้อม สถานที่ ด้านวิชาการ การรักษาความปลอดภัยในการดูแลเด็ก ๆ ผมและ รมช.ศธ.ก็ได้ถือโอกาสมาให้กำลังใจทุกท่าน โดยจากที่ติดตามการทำงานมาตลอดก็เห็นว่า เลขาธิการ กพฐ.และผู้บริหารระดับสูงทุกท่านล้วนมีความพร้อมในการขับเคลื่อน ซึ่งการประชุมวันนี้มีผู้เข้าร่วมรับฟังในแต่ละช่องทางจำนวนมาก เราก็จะให้สแกน QR Code เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สื่อสารกลับมาว่าการรับรู้การถ่ายทอดวันนี้เป็นอย่างไร มีสิ่งใดที่สงสัย หรือไม่เข้าใจก็สามารถแจ้งเข้ามา เราจะติดตามนำข้อคำถาม คำแนะนำต่าง ๆ มาพัฒนาให้ดีที่สุด” รมว.ศธ. กล่าว รมว.ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องการสร้างความเท่าเทียมในการใช้ห้องน้ำ ที่ให้ครูกับนักเรียนเข้าห้องน้ำร่วมกันได้โดยไม่แบ่งแยกนั้น ก็เป็นข้อแนะนำของรัฐมนตรี ซึ่งก็แล้วแต่ความเหมาะสมของโรงเรียนที่จะดำเนินการ ไม่ได้เป็นข้อสั่งการหรือข้อบังคับให้ปฏิบัติทุกโรงเรียน โดยประสบการณ์ของรัฐมนตรีเองที่เคยทำงานมา ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ประชาชน นักเรียน ข้าราชการ พ่อค้าหรือใครก็ตาม สามารถใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกกัน การที่เน้นย้ำเรื่องของห้องน้ำเพราะว่าห่วงใยเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย สิ่งนี้สำคัญมากกว่าประเด็นที่ครูใช้ห้องน้ำของนักเรียน หรือนักเรียนใช้ห้องน้ำของครูแล้วจะทำให้เกิดความไม่เคารพกัน หากเราสามารถมาใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ ก็เป็นมิติหนึ่งที่สามารถทำได้ที่ครูได้เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งบางทีครูเข้าไปในห้องน้ำนักเรียน อาจจะได้เห็นว่ามีอุปกรณ์ชำรุดก็จะได้เร่งซ่อมแซม หรือแม้แต่หากเกิดมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ เช่น การกลั่นแกล้งบูลลี่กัน การแอบสูบบุหรี่หรือสารเสพติด ครูก็จะรับรู้และช่วยแก้ไขได้ ทั้งนี้ก็เป็นดุลพินิจของโรงเรียนว่าจะแยกห้องน้ำหรือไม่แยกก็ได้ แต่กำชับว่าห้องน้ำครูและห้องน้ำนักเรียนต้องมีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ อุปกรณ์ที่ใช้ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน “ดังนั้น ในห้วงเวลาก่อนการเปิดภาคเรียนใหม่นี้ จึงขอความร่วมมือจากทุกท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่กำกับดูแลสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนดูแลนักเรียนเป็นจำนวนมาก ได้ร่วมกันในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนประจำปีการศึกษา 2567 ทั้งในด้านวิชาการ การจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการเรียนรู้ รวมถึงด้านความปลอดภัย อาคารสถานที่ อุปกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จ นำไปสู่การสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาครอบคลุมทุกด้าน เป็นประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป”รมว.ศธ. กล่าว นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ.ได้กล่าวแสดงความห่วงใยครูและนักเรียน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน จะเห็นได้ว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาการดำเนินการตามนโยบายต่าง ๆ สามารถลดภาระครูได้อย่างชัดเจนและสร้างความสุขให้ครูได้ไม่น้อย แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างความสุขให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเท่านั้น เพราะจากนี้ไปพวกเราจะมาช่วยกันทำให้ความสุขเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นในการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ลดภาระครู ผู้ปกครอง นักเรียน รวมทั้งขอย้ำว่านโยบาย ศธ. จะมีแต่นโยบายที่ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา จะไม่มีนโยบายไหนที่ออกไปแล้วสร้างภาระนอกเหนือจากการสอนให้กับครูและบุคลากรของเรา หรือภาระที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงมีแต่จะต้องโดนลดลงไป การเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 นี้จะเป็นปีแรกจริง ๆ ที่จะดำเนินการตามแนวทาง “เรียนดี มีความสุข” ดังนั้นนโยบายที่กำลังออกมาเรื่อย ๆ จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องคุณภาพการศึกษา สภาพแวดล้อม สถานที่การจัดการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 29,000 กว่าแห่ง อีกเรื่องหนึ่งคือ ห้องสุขา ก็เป็นนโยบายที่ รมว.ศธ.ให้ความสำคัญ ซึ่งมาจากเสียงสะท้อนของเด็กนักเรียน เราก็นำมาขับเคลื่อนแก้ปัญหา เพื่อให้ลูก...
มติคณะรัฐมนตรี (23 เมษายน 2567) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ อนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รวม 8 ราย และเห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยไม่ถือเป็นวันลา อนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ สทศ. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) รวม 8 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ดังนี้ นายเธียรชัย ณ นครประธานกรรมการ นางวัฒนาพร ระงับทุกข์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์ปานใจ ธารทัศนวงศ์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์อดิศร เนาวนนท์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์จิรดา วุฑฒยากรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นางสาวพรวิลัย เดชอมรชัยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร้อยตำรวจโทหญิง สุทธิมา พิพัฒน์พิบูลย์กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายธนาวัฒน์ สังข์ทองกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นต้นไป เห็นชอบให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติฯ โดยไม่ถือเป็นวันลา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2567 (รวม 23 วัน) การดำเนินการ/กิจกรรม ระยะเวลา (1) การรับสมัครเข้าร่วมโครงการฯ (สปน.ได้มีหนังสือแจ้งเวียนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐด้วยแล้ว) วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม-วันอังคารที่ 30 เมษายน 2567 (2) การตรวจสอบคุณสมบัติ เดือนพฤษภาคม 2567 (3) การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ เดือนมิถุนายน 2567 (4) การเตรียมดำเนินโครงการฯ เช่น จัดหาเครื่องอัฐบริขารและการขอมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่ถือเป็นวันลา เดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน 2567 (5) พิธีปลงผม (โดยมีการรายงานตัวในวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567) วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 (6) พิธีรับประทานผ้าไตรจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธฯ (ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จากส่วนกลาง 73 คน และผู้แทนจังหวัด ๆ ละ 1 คน) วันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2567 (7) พิธีบรรพชาอุปสมบท วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 (8) ศึกษาและปฏิบัติธรรม วันจันทร์ที่ 15-วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 (9) พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม 2567 (10) การศึกษาและปฏิบัติธรรม วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม-วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 (11) พิธีลาสิกขา วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2567 ทั้งนี้ ผู้ที่เคยลาอุปสมบทระหว่างรับราชการมาแล้ว สามารถลาบรรพชาอุปสมบทถวายพระราชกุศลครั้งนี้ได้อีก โดยจะได้รับเงินเดือนตามปกติในระหว่างการลา สำหรับผู้ที่ไม่เคยลาอุปสมบทระหว่างรับราชการมาก่อน และได้ลาบรรพชาอุปสมบทถวายพระราชกุศลในครั้งนี้ จะได้รับเงินเดือนตามปกติในระหว่างการลาและจะไม่เสียสิทธิในการลาอุปสมบทที่จะได้รับเงินเดือนระหว่างการลาในอนาคต บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษา ระหว่างนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อผลักดันความรู้ทางการเงินเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนากรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับภาคการศึกษา (Financial Competency Framework for Educational Purpose) รวมถึงเป็นแนวทางกำหนดการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมแก่นักเรียนแต่ละระดับชั้นการศึกษา อีกทั้งยังได้กำหนดเนื้อหาความรู้ทางการเงินที่จำเป็นและสำคัญ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร เครื่องมือและสื่อการสอนต่าง ๆ ตลอดจนผลักดันให้เกิดเครือข่ายครูแกนนำที่เข้มแข็ง เพื่อยกระดับและส่งต่อความรู้ทางการเงินภายในสถานศึกษาได้ในวงกว้างและยั่งยืน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและเครือข่ายสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามบันทึกข้อตกลงนี้ ทั้งนี้ การประสานความร่วมมือทางวิชาการและการส่งเสริมความรู้ทางการเงินผ่านระบบการศึกษาของ 6 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในภาคการศึกษา ที่จะปลูกฝังให้เยาวชนสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม เสริมทักษะชีวิตที่สำคัญแก่กำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ให้มีความรู้ ทักษะ และค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง ครอบคลุมการมีเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสม มีเงินออมและประกันภัยเพื่อคุ้มครองตนเองเวลาฉุกเฉิน มีการลงทุนที่เพียงพอ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในทุกช่วงวัยจนถึงวัยเกษียณ มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม รู้จักเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงมีความรู้เป็นภูมิคุ้มกันจากภัยทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (financial well-being) และช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
กระทรวงศึกษาธิการ 22 เมษายน 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานรับมอบอุปกรณ์การศึกษา เพื่อส่งต่อแก่นักเรียนและโรงเรียนในสังกัด เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อร่วมส่งเสริมนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัด ศธ. ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ รมว.ศธ. กล่าวว่าขอบคุณผู้แทนจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 (วปอ.66) ปีการศึกษา 2566 และภาคเอกชน ที่ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษาตามนโยบาย ”เรียนดี มีความสุข” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมอันเนื่องมาจากพระราชปณิธาน พระราชดำริ พระบรมราโชวาท หรือพระราชกรณียกิจ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประชาชน สถานศึกษาและผู้เรียน เพื่อให้นักเรียนและโรงเรียนในสังกัด ศธ. นำอุปกรณ์การศึกษาที่ได้รับไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ เป็นการส่งเสริมทักษะ พัฒนาด้านความรู้และสุขภาพกายใจ เสริมสร้างความรัก ความสามัคคีให้กับเยาวชนไทย ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กเข้าถึงโอกาสได้อย่างทั่วถึง “ผมเชื่อมาตลอดว่าการให้ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการได้ให้ด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ เพราะผู้รับรับอุปกรณ์การศึกษาในครั้งนี้ก็จะมีความสุขตามไปด้วย” รมว.ศธ. กล่าว ทั้งนี้ ศธ. ได้รับมอบสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่สถานศึกษาและโรงเรียนในสังกัด ดังนี้ กลุ่มบริษัท คิง พาวเวอร์ ไทยมอบลูกฟุตบอลจากโครงการ ‘ล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย’ จำนวน 2,000 ลูก รวมมูลค่า 1,000,000 บาท นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครตัวแทนนักศึกษา วปอ.66 หมู่นกยูง ร่วมกับบริษัทอนุสรณ์มหาชัยซูริมิ จำกัด มอบปลากระป๋องเพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน จำนวน 72 ลัง (7,200 กระป๋อง) รวมมูลค่า 72,000 บาท นางสาววราภรณ์ วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัดตัวแทนนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 66 ปีการศึกษา 2566 หมู่นกยูง มอบยาและเวชภัณฑ์ยาชุดแรก สำหรับโรงเรียนในสังกัด ศธ. จำนวน 5 โรงเรียน (เป้าหมาย 72 โรงเรียน) นายสุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอตลาส เอ็นเนอยี (PT)มอบอุปกรณ์ประกอบอาหารกลางวันถังก๊าซหุงต้มพีทีพร้อมใช้งานขนาด 15 กิโลกรัม แก่ 72 โรงเรียน รวมมูลค่า 175,536 บาท พบพร ผดุงพล / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้ร่วมกันอนุรักษ์ ปรับปรุง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ในส่วนของประเทศไทย ก็มีการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมกับทุกพื้นที่ทั่วโลก เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแนวคิดที่ใช้ในการจัดกิจกรรมจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก สำหรับปี 2567 มีแนวคิด “Planet vs. Plastics : ลดพลาสติก กู้วิกฤตโลกเดือด”กระทรวงศึกษาธิการ จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อช่วยกันดูแลโลกใบนี้ ซึ่งการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไม่ใช่เพียงแค่การปฏิเสธการใช้พลาสติกเท่านั้น แต่เป็นการเริ่มต้นพฤติกรรมสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย ดังนั้นมาเรียนรู้กันว่าเราสามารถอะไรได้บ้าง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดใช้พลาสติกนี้ได้ดีที่สุด ปฏิเสธพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเริ่มต้นจากการปฏิเสธการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เมื่อเราปฏิเสธใช้ ก็คือการไม่ให้พลาสติกมีที่อยู่ นี่คือการเริ่มต้นที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ ปรับพฤติกรรมใช้พลาสติกให้คุ้มค่าที่สุดเลือกใช้พลาสติกให้ถูกต้องและมีสติ โดยเลือกใช้พลาสติกที่มีคุณค่า สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เช่น ถุงผ้า แก้วกระดาษ หรือภาชนะที่ทำจากวัสดุชีวภาพ เปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติการใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ภาชนะจากใบไม้หรือเศษไม้ ช่วยลดการใช้พลาสติกและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ แปลงร่างเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกการนำขยะพลาสติกมาใช้ใหม่ผ่านกระบวนการ Recycle หรือ Upcycling ช่วยลดปริมาณขยะ และเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอีกด้วย เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาพลาสติก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมสร้างโลกที่สดใสและยั่งยืนของเราเอง เรามีพลังอันมหาศาลในการทำให้โลกของเราดีขึ้น มาทำสิ่งดี ๆ ให้กับโลกของเราเถอะ “ลองตั้งเป้าว่าวันคุ้มครองโลกในปีนี้ จะเป็นวันที่เราเริ่มต้นทำสิ่งดี ๆ ให้กับโลก ด้วยความรักและความเอาใจใส่ ด้วยหัวใจที่รักสิ่งแวดล้อม คิดแล้วลงมือทำ ทำดี ทำได้ ทำทันที เราสามารถทำได้แน่นอน” ข้อมูลจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เรียบเรียง-Infographic โดย กลุ่มผลิตเนื้อหาประชาสัมพันธ์ กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
22 เมษายน 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานการประชุมสามัญคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2566 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพมหานคร ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีกล่าวว่า ในการประชุมสามัญคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีวาระการประชุมที่สำคัญประกอบด้วย การให้ความเห็นชอบกระบวนการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 6 ปี 2568 โดยการสรรหาครูผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อการศึกษา ประเทศละ 1 คน ในอาเซียน ติมอร์-เลสเต ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มเติมประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย รวม 14 ประเทศ เพื่อเข้ารับพิธีพระราชทานรางวัล ในวันที่ 17 ตุลาคม 2568 โดยรางวัล ประกอบด้วย เงินรางวัลจำนวน 10,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ เหรียญทองรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน โล่ประกาศเกียรติคุณ และเกียรติบัตร นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบการสนับสนุนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อาทิ การดำเนินงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศฟิลิปปินส์ ในการสนับสนุนอุปกรณ์การกีฬานักเรียนชาติพันธุ์ ของครูรุ่นที่ 1 การสนับสนุนการเรียนของกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ ของครู รุ่นที่ 2 โครงการรถและเรือห้องเรียนเคลื่อนที่เพื่อสอนหนังสือเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เพราะความยากจนและอยู่ในพื้นที่สู้รบ ของครูรุ่นที่ 3 และโครงการรวมพลังอาสาสมัครเพื่อซ่อมและสร้างบ้าน ของครูรุ่นที่ 5 รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างครูไทยและครูฟิลิปปินส์ เพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษ การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ในโรงเรียนที่ได้รับพระราชานุเคราะห์ฯ การศึกษาดูงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ด้านการจัดการศึกษาปฐมวัย ที่โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ และได้สาธิตการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนในโรงเรียน โดยเตรียมขยายผลการสอนภาษาอังกฤษให้กับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลของไทย เครือข่ายครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยในช่วงปิดภาคเรียน ความร่วมมือระหว่างครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 1 ประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม ภายใต้โครงการ Global School Partnership เพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้ โดยพัฒนาวิธีการสอนที่เป็นเลิศระหว่างครูเพื่อแบ่งปันบทเรียนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และดนตรี ซึ่งนักเรียนระหว่าง 2 โรงเรียนจะร่วมเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานและกิจกรรมภาคปฏิบัติข้ามวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องการ ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลและโรงเรียนมัธยมศึกษาสมบูรณ์ป่องคำ นครหลวงพระบาง ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ของนักเรียนในหัวข้อ “มรดาวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” จากการสำรวจแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญของหลวงพระบาง สำหรับกิจกรรมของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมร่วมกับสภากาชาดไทย มหาวิทยาลัย และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหานักเรียนในการพูด สะกด อ่าน เขียน เสริมการเรียนการสอนภาษาไทยของครูในระบบปกติ โดยการสนับสนุนสื่อเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของครู และการพัฒนาระบบการทำงานร่วมกันของครูและอาสาสมัครทางการศึกษาโดยมีโรงเรียนเข้าร่วม 1,200 แห่ง นักเรียนเข้าร่วมกระบวนการแก้ปัญหากว่า 10,000 คน เป็นต้น
22 เมษายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานรับมอบเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนจาก บริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศภายใต้แบรนด์ Mitsubishi Heavy Duty จำนวน 100 เครื่อง มูลค่ากว่า 1.6 ล้านบาท พร้อมส่งต่อแก่สถานศึกษา 46 แห่ง โดยมีนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ. นายสุริยา สิทธิดำรงค์ ผู้จัดการฝ่ายบริการเครื่องปรับอากาศฯ ผู้บริหาร/ผู้แทนสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมเป็นสักขีพยานและรับมอบ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความมุ่งหวังที่จะส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาของผู้เรียนทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา และการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการพัฒนานักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาในทุกระดับ รวมถึงสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ ประสิทธิภาพ และมีทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทย รวมถึงทักษะด้านเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศที่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญอีกสาขาวิชาชีพหนึ่ง ศธ. จึงให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ด้วยการเสริมสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ ขับเคลื่อนพร้อมกับภาคเอกชน ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือกับบริษัทฯ และผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนการศึกษา เมื่อ ศธ. เราผลิตกำลังคนป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน แบบทวิภาคีไปสู่ผู้ประกอบการแล้ว จึงอยากขอให้ผู้ประกอบการออกใบรับรองแรงงานคุณภาพให้กับนักศึกษาอาชีวะ เพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อยอดสู่เส้นทางอาชีพสายที่ถนัดในอนาคต “ขอชื่นชมผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจกันให้เกิดกิจกรรมในครั้งนี้ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่สนับสนุน โดยเฉพาะสาขาวิชาไฟฟ้า สาขางานเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ ให้มีเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ถือว่าได้ร่วม “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอขอบคุณบริษัท มหาจักรดีเวลอปเมนท์ จำกัด ที่ได้สนับสนุน เครื่องปรับอากาศจำนวน 100 ชุด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะส่งมอบให้กับสถานศึกษาในสังกัดที่จัดการเรียนการสอนต่อไป” นายสุริยา สิทธิดำรงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้งานและติดตั้งเครื่องปรับอากาศจำนวนมากขึ้น ทำให้ขาดแคลนบุคลากรต่อภาคธุรกิจและการพัฒนา อีกทั้งในระยะที่ผ่านมาปริมาณการผลิตกำลังคนระดับอาชีวศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม บริษัทฯ จึงมีความมุ่งมั่นในการสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและมีทักษะวิชาชีพ สามารถประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการด้านเครื่องปรับอากาศได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้ เมื่อช่วงปีการศึกษา 2566 ศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) โดยวิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม ได้ประสานมาขอความร่วมมือให้บริษัทฯ เป็นผู้สนับสนุนเครื่องปรับอากาศจำนวน 100 เครื่อง เพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาเครื่องปรับอากาศ ให้กับวิทยาลัยในสังกัดการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ “การบริจาคเครื่องปรับอากาศจำนวนมากเช่นนี้ถือเป็นโครงการแรกที่ได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูง ด้วยเหตุผลที่ปรารถนาให้การอาชีวศึกษาได้พัฒนาเยาวชนของชาติให้เป็นบุคลากรมีคุณภาพในระดับสากล และให้ได้ปริมาณที่มากยิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการมีความยินดีที่ได้มอบเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ภายใต้แบรนด์ “Mitsubishi Heavy Duty” ไว้ให้เป็นสื่อการเรียนการสอน และจะรอผลผลิตของการอาชีวศึกษา ออกมาร่วมกันพัฒนางานในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศต่อไป” อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ