สรุปมติคณะรัฐมนตรี (13 กุมภาพันธ์ 2567) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ 3 เรื่อง คือ 1) รับทราบผลการพิจารณาจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา 2) การปรับบทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต และ 3) รับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งสำนักบริหารการมัธยมศึกษา (สบม.) ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและการแข่งขันทางการศึกษากับนานาประเทศ รวมทั้งการบริหารและการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการบริหารงานวิชาการ 2) ด้านการบริหารงานงบประมาณ 3) ด้านการบริหารงานบุคคล และ 4) ด้านการบริหารงานทั่วไป โดยให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยไม่เพิ่มหน่วยงาน เป็นการบูรณาการรวมสำนักซึ่งมีภารกิจใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน และปรับปรุงหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายในได้แก่สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย (สมป.) เป็นหน่วยงานในโครงสร้างให้มีชื่อใหม่ว่า “สบม.”เพื่อเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในการเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้การจัดตั้ง สบม.ต้องเชื่อมโยงระหว่าง สพฐ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมทั้งมีความเชื่อมโยงกันทั้งระบบในหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สบม. วัตถุประสงค์เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและจัดทำข้อมูลสารสนเทศในทุกด้านของโรงเรียนมัธยมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น หน้าที่และความรับผิดชอบส่งเสริม สนับสนุนงานนโยบายของรัฐบาลและ ศธ. สำหรับการพัฒนาโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น การแบ่งส่วนราชการภายใน สบม.แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ (1) กลุ่มบริหารทั่วไป (2) กลุ่มนโยบายและแผน (3) กลุ่มส่งเสริมทรัพยากรบุคคล (4) กลุ่มพัฒนาคุณภาพวิชาการและการจัดการศึกษา (5) กลุ่มส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการมัธยมศึกษา (6) กลุ่มวิจัยพัฒนาสื่อและดิจิทัลทางการศึกษา รับทราบการปรับบทบาทภารกิจ หน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีสำนักงานปลัดกระทรวงส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวงในส่วนของหน้าที่และอำนาจของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตซึ่งมีสาระปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของ ศปท. โดยแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของ สปน. สำนักงานปลัดกระทรวง ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง รวม 35 ฉบับ ใน 6 ประเด็น ดังนี้ กำหนดให้มีหน้าที่ในการเสนอแนะต่อหัวหน้าส่วนราชการเกี่ยวกับการป้องกันและปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัด ประเมินความเสี่ยงและกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดและปิดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริต และประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ กำหนดให้มีหน้าที่เร่งรัดและกำกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน กำหนดให้มีหน้าที่ในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน และรับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการในสังกัด และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงาน เร่งรัด และติดตามจนได้ข้อยุติ กำหนดให้ติดตาม ประเมินผลสัมฤทธิ์ และจัดทำรายงานเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของส่วนราชการในสังกัด รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีการประสานความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชนที่อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อมูลการจัดทำ และการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรม ตลอดจนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานดังกล่าวเพื่อเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อหัวหน้าส่วนราชการในการจัดทำรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชนดังกล่าวต่อไป กำหนดให้ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมาย รับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 (42ndSession of UNESCO General Conference: GC) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ ศธ. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 42 ระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาแผนงาน งบประมาณ และกิจกรรม การดำเนินงานขององค์การยูเนสโก โดยผลการประชุม สรุปได้ ดังนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนบทบาทองค์การยูเนสโกที่มุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของไทยที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” เน้นผสมผสานการเรียนการสอนในห้องเรียนและแบบออนไลน์ มุ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคต รวมทั้งกล่าวสนับสนุนข้อริเริ่มขององค์การยูเนสโกในการจัดทำหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการศึกษาสีเขียว1การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพื้นที่สงวนต่าง ๆ เป็นศูนย์ทดลองและศูนย์การเรียนด้านการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้เครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศขององค์การยูเนสโก เพื่อเป็นช่องทางในการขับเคลื่อนการศึกษา ภาพรวมการประชุมคณะกรรมาธิการของยูเนสโก ที่ประชุมได้พิจารณาแผนงาน งบประมาณ และกิจกรรมการดำเนินงาน 5 สาขาหลักขององค์การยูเนสโก ได้แก่ ด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ สังคมและมนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม และสื่อสารมวลชนและสารสนเทศ รวมทั้งการเงิน...
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
13 กุมภาพันธ์ 2567 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการนำเสนอหัวข้อข่าว เรื่องการหักเงินบำเหน็จบำนาญแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยอาจทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการหักหนี้จากเงินบำนาญ และเกรงว่าจะไม่มีเงินเหลือใช้หลังเกษียณนั้น โฆษก ศธ.กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการจึงอยากชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่า ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 (5) กำหนดไว้ว่า ข้าราชการที่ประสงค์จะให้ส่วนราชการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มีสิทธิที่จะได้เลือกใช้สวัสดิการภายในส่วนราชการหรือสหกรณ์ได้ตามความประสงค์ แต่ทั้งนี้การจะให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ในกรณีการหักหนี้จากเงินบำนาญของข้าราชการบำนาญ ต้องคำนวนจากฐานเงินบำนาญในสัดส่วนที่ระเบียบกำหนด คือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เพราะหากใช้การคำนวนจากฐานเงินเดือนก่อนเกษียณอายุราชการ อาจทำให้ลูกหนี้บางกลุ่มเหลือเงินเดือนสุทธิน้อยกว่าที่ระเบียบกำหนด เนื่องจากฐานของเงินเดือนก่อนเกษียณอายุราชการจะสูงกว่าฐานเงินบำนาญอยู่แล้ว ส่งผลให้ไม่เหลือเงินที่จะดำรงชีพในแต่ละเดือนได้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงออกแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาฉบับนี้ เพื่อให้ส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับ ศธ. ดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด และเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากแต่ละคนมีภาระหนี้สินที่แตกต่างกันตามความจำเป็น เราจึงคำนึงถึงเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพในส่วนนี้เป็นอย่างมาก จึงอยากให้ครูได้ใช้เงินหลังหักล้างยอดหนี้สินอย่างสุขใจ “มีกิน มีเก็บ มีเหลือ มีใช้” นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตั้งสถานีแก้หนี้ โดยมีคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่ละจังหวัด ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยประสานกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินอื่น และเชิญเจ้าหนี้ทุกรายร่วมเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้หรือแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ แล้วสรุปรวบรวมรายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบ ในวันที่ 10 ของทุกเดือน เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป
12 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าว “Take care ดูแลใจ มอบความรักเติมเต็มความสุข” พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้บริหารองค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ เข้าร่วมฯ ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ รมว.ศธ.กล่าวว่า ภารกิจด้านการศึกษานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งกับประเทศชาติ โดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จ โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน นักศึกษา ครู และบุคลากร ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิต ซึ่งได้มีการนำนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพกายและจิตสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และมีการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง การดำเนินการที่ผ่านมา ศธ. ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตรอบด้าน สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับนักเรียน นักศึกษาและพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากร ให้สามารถส่งเสริม สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้เรียนให้มีการเรียนรู้ที่สมวัยด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุข และมีทักษะชีวิตผ่าน 14 โครงการแห่งความรัก บวก 1 แนวทางเติมเต็มความสุขให้กับครูและนักเรียน ดังนี้ Online Up Skill โดยการติวให้กับนักเรียนที่จะสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับ ม.1 และม.4 พร้อมอบรมเพิ่มทักษะสำหรับครูในช่วงปิดภาคเรียน ลด (ภา)ระ เลิกโครงการที่ซ้ำซ้อน ปรับรูปแบบให้ทันสมัย พัฒนาสุขภาวะกายและใจเพิ่มมิติด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา และธรรมนูญสุขภาพในโรงเรียน MOE Content Creator Award 2024ด้วยการสร้างและพัฒนา Content เพื่อการสื่อสารด้านสุขภาพกายและจิตของนักเรียน นักศึกษา ครูในหัวข้อเด็กไทยฐานใจดี หัวข้อพลังความดีสร้างชาติ และหัวข้อ Coaching ปิ๊งอาชีพ ชิงเงินรางวัลกว่า 450,000 บาท สุขภาพจิตดีเริ่มที่เรา “Hello Good Day”จัดทำรูปแบบการสื่อสารสุขภาพจิตในโรงเรียนเชิงบวกด้วยการสวัสดีตอนเช้า และจัดทำ LINE STICKER “MOE Happy” เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างความตระหนักการมีส่วนร่วมและการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนร่วมกัน Guidance Teacher Skill Upพัฒนาครูแนะแนวในทุกสังกัดให้สามารถเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ดูแลช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และพัฒนาศักยภาพพร้อมดูแลสุขภาพจิตผู้เรียน พัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายนักจิตวิทยาโรงเรียนเพิ่มทักษะการฟัง การให้คำปรึกษา และทักษะของนักจิตวิทยาคลินิกที่จำเป็นต้องใช้ในสถานศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค MOE Consulting Platformสร้างแพลตฟอร์มให้คุณครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ได้ขอรับการปรึกษาและการดูแลสุขภาพจิต จากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในรูปแบบ Face to Face บนระบบ Online ใส่ใจสุขภาพจิตนักเรียนด้วย Platform School Health HEROต่อยอดขยายผลการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนวิถีใหม่ให้ครอบคลุมทุกสังกัด Bully Free zone สร้างกลไกป้องกันการ Bully ในสถานศึกษาที่ครอบคลุมทั้งระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับต้นสังกัด เพื่อคอยให้คำปรึกษา เป็นที่พึ่งพิงสร้างความไว้วางใจ ความรู้สึกปลอดภัย คอยรับฟัง รวมทั้งช่วยเหลือคุ้มครองนักเรียนที่ถูกกระทำอย่างเหมาะสม พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจประเมิน รักษา ฟื้นฟู เยียวยาจนจิตใจและร่างกายสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สกร. จัดตั้งหน่วยบริการแนะแนวให้การปรึกษาทางการศึกษาอาชีพ คุณภาพชีวิต และบริการตรวจสุขภาพใจอย่างครบครัน ครอบคลุมอำเภอ 928 แห่งทั่วประเทศ ส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วย 3 เร่ง (เร่งกำหนด “การฟื้นฟูเด็กปฐมวัยเป็นวาระแห่งชาติ”, เร่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก และสังคม, เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กในภาวะเปราะบาง) 3 ลด (ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง, ลดความเครียดคืนความสุขแก่เด็ก, ลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก) 3 เพิ่ม (เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป, เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า, เพิ่มศักยภาพบุคลากรและระบบนิเวศใกล้ตัวเด็ก) สถานศึกษาปลอดภัย 1 วิทยาลัย 1 ครูอนามัยมีกลไกการดูแล ช่วยเหลือ และส่งต่อด้านสุขภาพกายและจิตในสถานศึกษา ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ทุกแห่งทั่วประเทศ พัฒนากระบวนทัศน์ทักษะ อารมณ์สังคมในผู้เรียนให้รู้ตน รู้คน รู้สังคม รู้คิดบวก มีทักษะทางสังคมและอารมณ์ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนอีก 1 แนวทางสนับสนุนกิจกรรม 3 ด้าน ทั้งศิลปะ ดนตรี และกีฬา “กระทรวงศึกษาธิการ จะดำเนินงานโครงการแห่งความรัก เติมเต็มความสุขให้กับครูและนักเรียน ด้วย 14 โครงการ บวก 1 แนวทาง สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากสถานศึกษา และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงาน “ศึกษา Take care ดูแลใจ มอบความรักเติมเต็มความสุข” ให้สำเร็จ ศธ. จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มความสุขในการเรียน การทำงาน ให้กับทุกท่าน ถือเป็นการสร้างพลังบวกให้เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เห็นผลสัมฤทธิ์ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นไป” โฆษก...
รมว.ศธ. ออกหนังสือกำหนดแนวทางทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาถึงทุกส่วนราชการในสังกัด
12 กุมภาพันธ์ 2567 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ถึงหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีสาระสำคัญ คือ ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของทุกภาคส่วน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เห็นชอบให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐดำเนินการปรับปรุง/กำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนทั้งเพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าใช้จ่ายอื่นใดของบุคลากรในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือสุทธิเพื่อการดำรงชีพไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตามแนวทางเดียวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการตามนโยบายรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงกำหนดแนวทางให้ทุกส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับ รวมทั้งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ดำเนินการ ดังนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความประสงค์ให้ต้นสังกัดหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ และหักเงินเดือนเพื่อสิทธิประโยซน์อื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด จัดทำหนังสือยินยอมให้ส่วนราชการหักเงินเดือน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้น จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 ให้สถานีแก้หนี้ คณะกรรมการแก้ไขหนี้ สินครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดและผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด กำกับดูแล และดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีปัญหาในการชำระหนี้โดยประสานกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินอื่นในการดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับกรณีผู้ที่มีหนี้สินและต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ให้สถานีแก้หนี้ และผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยให้เชิญเจ้าหนี้ทุกรายร่วมเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้หรือแก้ไขปัญหาการชำระหนี้ แล้วรายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทราบ(ผ่านตามสายงาน) และให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการสรุปรวบรวมนำเสนอรัฐมนตรีภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน
7 กุมภาพันธ์ 2567 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจขององค์กรหลักและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการเมือง โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารองค์กรหลัก/ในกำกับ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีผลการประชุมที่สำคัญสรุป ดังนี้ รมว.ศธ. ชื่นชม “น้องฟ้าเวิ้ง” นายปกรณ์ นิ่มตรงนักเรียนชั้น ม.5 ประธานนักเรียน โรงเรียนนครสวรรค์ อาสา CPR ช่วยคนประสบอุบัติเหตุอย่างไม่ลังเลระหว่างรอรถพยาบาล ทำให้นำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ได้อย่างปลอดภัย ผ่านการประชุม ZOOM ในครั้งนี้ “เป็นเรื่องที่น่ายินดีและรู้สึกดีใจที่นักเรียนในสังกัดได้ทำคุณงามความดี มีความสุขกับการช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น มีความกล้าและช่วยบนวุฒิภาวะที่มีความสามารถใช้วิธีการ CPR อย่างถูกต้อง ขอขอบคุณต้นสังกัดที่จัดการฝึกอบรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ อยากให้มีการอบรมรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อจะให้เด็กได้เก็บความรู้และทักษะไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉินได้ และกระทรวงศึกษาธิการจะมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณเพื่อเป็นกำลังใจแก่เยาวชนตัวอย่างที่ดีของสังคม ขอให้รักษาความดีและขยายผลให้รุ่นน้องช่วยกันทำความดีต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว ผลการประชุมคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกสค.เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดย นายพีระพันธ์ เหมะรัต ได้รับคัดเลือกเป็นผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งมีมติเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการสรรหาตามหลักเกณฑ์ ด้วยประสบการณ์ทางด้านการเงิน มีแนวคิดและวิสัยทัศน์ที่ดี เป็นมิติใหม่ที่จะช่วยบริหาร สกสค. ให้มีรายได้จากทรัพย์สินที่มีเพิ่มขึ้น สามารถจัดสวัสดิการให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มากขึ้น ประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็นประธานคณะทำงาน ได้มีการขับเคลื่อน ทำ MOU ตามแนวทางของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะมีการประชุมสถานีแก้หนี้เพื่อให้ผู้บริหารประชุมร่วมกัน พร้อมเชิญโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจชื่อดัง ในการสร้างสุขภาพการเงินที่ดีและชีวิตที่มีความสุข เป็นวิทยากรให้ความรู้แนะนำการดำเนินการแก้ไขหนี้ สพฐ. นำนโยบายลดภาระงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เร่งรัดและกำชับทุกหน่วยงานดำเนินงานรูปแบบ “ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด” เพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อนในการรายงานหรือการตรวจราชการ และนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานด้านระบบฐานข้อมูล ให้เปลี่ยนแปลงสู่ยุคข้าราชการดิจิทัล ประเด็นติดตามการดำเนินงาน PISAซึ่งสภาการศึกษาเป็นหลักในการดูในเรื่องต่าง ๆ จากที่ได้มีการจัดสัมมนามาแล้ว 3 ครั้ง ได้นำข้อสรุปมาคิดวิเคราะห์ เพื่อมอบนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงาน ต่อยอดให้ดีขึ้นจากเดิมที่เคยทำอยู่ พบพร ผดุงพล / ข่าว สมประสงค์ ชาหารเวียง / วิดีโอ นัทสร ทองกำเหนิด / Tik Tok ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี เรื่อง การเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) และได้ผ่านการเห็นชอบเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จะแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับปลัดกระทรวงฯ ดังนี้ การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 19(19th ASEAN Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14(อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน เกาหลี และญี่ปุ่น) (14th ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Education: APT SOMED) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9(อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา) (9th East Asia Senior Officials Meeting on Education: EAS SOMED) การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13(13th ASEAN Education Ministers Meeting: ASED) การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7(7th ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting: APT EMM) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7(7th East Asia Summit Education Ministers Meeting: EAS EMM)
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เรื่องให้ยกเลิก “ครูอยู่เวร”ได้รับการตอบรับด้วยความยินดี โดยมติดังกล่าว คือ การให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ที่มอบหมายให้เป็นภาระของ “ครู” ในการ “เข้าเวร” รักษาการณ์ที่โรงเรียน ด้วยเหตุผลว่า…เป็นมติที่ล้าหลัง ไม่ตรงกับยุคสมัย เนื่องจากทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องให้ครูไปเฝ้าเวรยาม เพราะมีเครื่องมือทันสมัย มีเทคโนโลยี รวมถึงมีบริษัทรักษาความปลอดภัย ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องของการป้องกันรักษาความเสียหายจากเหตุภัยอันตรายในชีวิตและร่างกายครู เพราะครูมีภาระงานที่ต้องสอนหนังสือเป็นหลัก บางทีโรงเรียนขนาดเล็กมีบุคลากรค่อนข้างน้อย ครูอาจทำหน้าที่หลายด้าน รวมถึงการอยู่เวรนอกเวลาราชการที่มีความสุ่มเสี่ยง กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรี“เศรษฐา ทวีสิน”สำหรับมติสำคัญทาง“การศึกษา”ที่เห็นชอบ“ยกเลิกครูเวร” โดย ครม.ได้มีมติให้หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานศึกษา เพิ่มจุดเน้นขึ้นมา เช่นเดียวกับสถาบันทางการเงินหรือร้านทองที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ในการดูแลเป็นพิเศษ ประเด็นสำคัญมีว่าเมื่อมีมติ ครม. เรื่องการยกเว้นครูเวรออกมาแล้ว.. การไม่อยู่เวรของครูจะไม่มีความผิด ตามระเบียบเดิมข้อ 8 ที่หากไม่ปฏิบัติการจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย ครูสามารถไม่อยู่เวรได้ทันที หลังมีมติ ครม. และไม่ต้องกังวลว่าการที่ไม่มีครูเข้าเวรแล้ว สถานที่ราชการจะไม่มีความปลอดภัย เพราะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินการเพื่อรองรับในเรื่องนี้แล้ว ลงลึกในรายละเอียด ศธ.ได้มีหนังสือประสานไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ..กระทรวงมหาดไทยดำเนินการบูรณาการรักษาความปลอดภัยร่วมกัน ส่วนในระดับพื้นที่ได้แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศเป็นเจ้าภาพในการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วขึ้น ทั้งในระดับบน ระดับกลาง และระดับพื้นที่อย่างครอบคลุม โดยได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาทุกแห่งเร่งด่วน พร้อมเชิญตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชน ร่วมหารือในมาตรการป้องกันความปลอดภัยกับสถานที่ราชการ เพื่อเป็นการรองรับมติด้วย รวมทั้งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับมติดังกล่าวต่อไป ย้ำว่า..แนวปฏิบัติการอยู่เวรหรือไม่อยู่เวรในสถานศึกษาเป็นเรื่องการสมัครใจ แน่นอนว่าการไม่ได้อยู่เวรก็จะไม่มีความผิดทางวินัย ส่วนครูจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานอกเวลาถือเป็นสิทธิของครู แต่จะกำชับในเรื่องของความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วย เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น แม้จะยกเลิกการอยู่เวรแล้วก็ตาม แต่ก็อยากให้ระมัดระวัง เพราะความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือทดแทนได้ ที่ผ่านมา.. ในแง่ความปลอดภัย ถึงแม้จะมีกล้องวงจรปิดก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งในการเก็บหลักฐานในการติดตามผู้กระทำผิด แต่ไม่ได้ช่วยในการป้องกันหากผู้ร้ายไม่เกรงกลัว แต่การที่เรามีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบไปปรากฏกาย เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้น การปฏิบัติของ“ตำรวจ”และ“ฝ่ายปกครอง”จึงยังมีความจำเป็นอยู่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เสริมว่า ขณะนี้ได้รับผลตอบรับดีมากจากครูทั้งประเทศ รวมทั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เข้าใจเจตนาของการยกเลิกเวรครู กว่าสองสัปดาห์แล้วที่มติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ทันที ด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพและลดภาระของครูอย่างเป็นรูปธรรม… หลายแห่งได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแทนการให้ครูนอนเฝ้า เช่น ระบบกล้องวงจรปิดควบคุมจากระยะไกล แอปพลิเคชันที่ตรวจตราและประสานหน่วยงานด้านความปลอดภัยได้ตลอดเวลา รวมทั้งการร่วมมือจากภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาสนับสนุนตู้แดง เป็นต้น “แสดงให้เห็นถึงความห่วงใย ความเข้าใจต่อความปลอดภัยของชีวิตครูและทรัพย์สินราชการจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง” อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติตามมติ ครม. พบว่าสถานศึกษาบางแห่งยังให้ครูทำหน้าที่อยู่เวรตามเดิมอยู่ โดยปรับเปลี่ยนการออกคำสั่งจากคำว่าอยู่เวร เป็นคำว่าให้ครูปฏิบัติหน้าที่ดูแลโรงเรียนแทนนั้น ทำให้ครูไม่ได้รับการให้เลิกอยู่เวรตามมติ ครม. ที่ให้มีผลทันที วิธีการเช่นนี้“สุ่มเสี่ยง”เป็นการออกคำสั่งที่ขัดกับมติ ครม. จึงอยากขอให้“ผู้บริหารสถานศึกษา”ที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนี้ ปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลความปลอดภัยให้ถูกต้องและเหมาะสมโดยไม่ต้องให้ครูมานอนเฝ้าโรงเรียน ในประเด็นนี้..รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล)เร่งผลักดันเรื่องยกเลิกการอยู่เวรของครู เนื่องจากห่วงใยความปลอดภัยของครูเป็นหลัก หลายครั้งที่ครูถูกทำร้ายขณะอยู่เวรโดยไม่มีทางสู้ ซึ่งการบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจของครูทุกคน ไม่คุ้มค่าเลยในการเข้าแลกเพื่อปกป้องทรัพย์สิน พล.ต.อ.เพิ่มพูนย้ำว่า โลกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัย อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการเองก็มีนโยบายเปลี่ยนองค์กรให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น “ผมอยากวอนผู้บริหารสถานศึกษาที่ยังให้ครูเข้าเวรอยู่ ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. ที่มีความตั้งใจจะยกเลิกการให้ครูเข้าเวร เพื่อดูแลครูและให้ครูมีความสุขได้อย่างแท้จริง” การดำเนินการที่วางแผนเอาไว้ต่อจากนี้ ได้มอบหมายให้“สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)”เร่งรวบรวมข้อมูลความต้องการจ้าง นักการภารโรงมาดูแลความปลอดภัยของสถานศึกษาให้ครบถ้วน เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ทันในสัปดาห์หน้า หวังว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ส่งผลกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคุณครูทั้งประเทศโดยตรง “อยากขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาใช้แนวคิดบนหลักที่ว่า สวัสดิภาพและความปลอดภัยของครูมีความสำคัญกว่าทรัพย์สินทั้งหมด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการให้ครูไปเฝ้าเวรยามนี้ ขอให้ท่านคิดว่าคุณครูทุกคนคือเพื่อนร่วมงานมากกว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา” วันนี้เราปลดล็อคเรื่อง “ครูอยู่เวร” ได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือดูแลกันและกัน..“คืนครูให้ห้องเรียน” พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีความทันสมัย ร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆในพื้นที่ตามแนวคิดการทำงาน.. “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”
ราชกิจจานุเบกษา(2 กุมภาพันธ์ 2567) เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2567 มีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการกำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาทุกระดับคุณวุฒิและสาขาวิชา มีคุณภาพตามกรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ และเพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร หรือปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถะตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเชียน หรือกรอบคุณวุฒินในระดับสากล มาตรฐานอาชีพ หรือตามความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงานการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีศึกษา และเพื่อประโยชน์ต่อการรับรองหลักสูตรและคุณวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของหลักสูตร วิชาชีพ ประเทศชาติ และบริบทโลก ประกอบด้วยผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะที่พึงประสงค์ คุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม และลักษณะบุคคล 2) ด้านความรู้ 3) ด้านทักษะ 4) ด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้และความรับผิดชอบ บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป
1 กุมภาพันธ์ 2567 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า กว่าสองสัปดาห์แล้วที่มติคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ มีผลบังคับใช้ทันที ด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพและลดภาระของครูอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ได้รับผลตอบรับดีมากจากครูทั้งประเทศ รวมทั้งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เข้าใจเจตนาของการยกเลิกเวรครู หลายแห่งได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแทนการให้ครูนอนเฝ้า เช่น ระบบกล้องวงจรปิดควบคุมจากระยะไกล แอปพลิเคชันที่ตรวจตราและประสานหน่วยงานด้านความปลอดภัยได้ตลอดเวลา รวมทั้งการร่วมมือจากภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาสนับสนุนตู้แดง เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความห่วงใย ความเข้าใจต่อความปลอดภัยของชีวิตครูและทรัพย์สินราชการจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามในการปฏิบัติตามมติ ครม. พบว่าสถานศึกษาบางแห่งยังให้ครูทำหน้าที่อยู่เวรตามเดิมอยู่ โดยปรับเปลี่ยนการออกคำสั่งจากคำว่าอยู่เวร เป็นคำว่าให้ครูปฏิบัติหน้าที่ดูแลโรงเรียนแทนนั้น ทำให้ครูไม่ได้รับการให้เลิกอยู่เวรตามมติ ครม. ที่ให้มีผลทันที ซึ่งวิธีการเช่นนี้สุ่มเสี่ยงเป็นการออกคำสั่งที่ขัดกับมติ ครม. จึงอยากขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวนี้ ปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลความปลอดภัยให้ถูกต้องและเหมาะสมโดยไม่ต้องให้ครูมานอนเฝ้าโรงเรียน “รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการ (นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล) เร่งผลักดันเรื่องยกเลิกการอยู่เวรของครู เนื่องจากห่วงใยความปลอดภัยของครูเป็นหลัก หลายครั้งที่ครูถูกทำร้ายขณะอยู่เวรโดยไม่มีทางสู้ ซึ่งการบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจของครูทุกคน ไม่คุ้มค่าเลยในการเข้าแลกเพื่อปกป้องทรัพย์สิน โลกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ รวมถึงบริษัทรักษาความปลอดภัย อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการเองก็มีนโยบายเปลี่ยนองค์กรให้ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จึงอยากวอนผู้บริหารสถานศึกษาที่ยังให้ครูเข้าเวรอยู่ ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ ครม. ที่มีความตั้งใจจะยกเลิกการให้ครูเข้าเวร เพื่อดูแลครูและให้ครูมีความสุขได้อย่างแท้จริง” ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งรวบรวมข้อมูลความต้องการจ้างนักการภารโรงมาดูแลความปลอดภัยของสถานศึกษาให้ครบถ้วน เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ทันในสัปดาห์หน้า โดยหวังว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ส่งผลกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคุณครูทั้งประเทศโดยตรง “อยากขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาใช้แนวคิดบนหลักที่ว่า สวัสดิภาพและความปลอดภัยของครูมีความสำคัญกว่าทรัพย์สินทั้งหมด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการให้ครูไปเฝ้าเวรยามนี้ ขอให้ท่านคิดว่าคุณครูทุกคนคือเพื่อนร่วมงานมากกว่าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา วันนี้เราปลดล็อคเรื่องครูอยู่เวรได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือดูแลกันและกัน คืนครูให้ห้องเรียน พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสมกับพื้นที่ มีความทันสมัย ร่วมมือกับเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ตามแนวคิดการทำงานจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”รมว.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย ปารัชญ์ ไชยเวช / สรุป บัลลังก์ โรหิตเสถียร / อินโฟกราฟิก
31 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรี เพื่อพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง โดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานนทบุรี มีโรงเรียนในสังกัดที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนตามนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” จำนวน 6 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมทุกรูปแบบ บันทึกข้อตกลงนี้ลงนามโดยพันตำรวจเอก ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี กับ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. นนทบุรี และนายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีลงนาม ณ โถงอาคารราชวัลลภ ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้นำนโยบายนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทย มาขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” โดยกำหนดนโยบาย “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” นำร่องการพัฒนาโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถดึงดูดให้โรงเรียนเครือข่ายมาใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษา การคัดเลือกจังหวัดนนทบุรีให้เป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีบริบทใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเป็นต้นแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง มีความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้โรงเรียนได้รับการพัฒนาครบตามองค์ประกอบ ใน 5 ด้าน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนนักเรียน ด้านผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านผู้เรียน ซึ่งถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา “ท้ายที่สุดแล้ว โรงเรียนคุณภาพจะสามารถดึงดูดโรงเรียนเครือข่ายใกล้เคียงให้มาเรียนรวมและใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงสามารถดึงดูดนักเรียนที่จะไปศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมแข่งขันสูงในตัวจังหวัด ให้ได้เรียนในโรงเรียนคุณภาพประจำอำเภอใกล้บ้าน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ปกครองในโรงเรียนคุณภาพในภาพรวม นําไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ ศธ. คาดหวังไว้ คือ โรงเรียนคุณภาพได้รับความนิยม เป็นโรงเรียนนานาชาติของชุมชน” รมว.ศธ. กล่าว พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายก อบจ.นนทบุรีกล่าวว่า จากความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ ทั้ง 4 หน่วยงานจะบูรณาการร่วมกันในการจัดสรรงบประมาณ จัดสรรครูและบุคลากรทางการศึกษาเพิ่มเติม โดยใช้เกณฑ์พิเศษ หรืองบประมาณสนับสนุนครูอัตราจ้างเพิ่มเติมในวิชาเอกที่ขาดแคลน สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สื่อ อุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ในปัจจุบัน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จัดให้มีการศึกษาเพื่อการมีงานทำ จัดการศึกษาระบบทวิภาคีในรูปแบบการเรียนรู้คู่การทำงานให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้โรงเรียนและชุมชนสามารถจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ เชื่อมความสัมพันธ์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น บ้าน (ครอบครัว) ผู้นำทางศาสนา และโรงเรียน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ภาพความสำเร็จจากการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัดนนทบุรีในอนาคต จะสามารถขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยต่อไป ปารัชญ์ ไชยเวช/สรุป ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ/ถ่ายภาพ
30 มกราคม 2567 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีความห่วงใยต่อสุขภาพอนามัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากข้อมูลของศูนย์สื่อสารการแก้ไขคุณภาพอากาศ (ศกพ.) แจ้งว่าอัตราการระบายอากาศใน กทม. มีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ จึงทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 สูงขึ้นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกหนังสือกำชับ มาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยเน้นย้ำให้ถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด “ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่ง ศธ.ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด และเข้าใจถึงความห่วงใยของผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกหลานทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น เข้าแถว เล่นกีฬาในพื้นที่เปิดโล่ง เพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากพิษภัยของฝุ่นละออง PM2.5 ให้ได้มากที่สุด วันนี้จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัด ศธ. เตรียมความพร้อมในการรับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เช่น การสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร งดการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง โดยสามารถพิจารณาปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนได้ตามความเหมาะสม”รมว.ศธ. กล่าว ทั้งนี้ผลกระทบทางสุขภาพของฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน มีทั้งระยะสั้น เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้ง คันตามร่างกาย รวมถึงอาจมีอาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย ส่วนระยะยาว จะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะมีการรับสัมผัสเร็วกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นสถานศึกษาจึงต้องติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 อยู่เสมอ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย เพื่อขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมตามความต้องการของพื้นที่ได้ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารการรายงานคุณภาพอากาศ การคาดการณ์คุณภาพอากาศ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4Thai
29 มกราคม 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมและมอบแนวทางการทำงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข“ให้กับผู้บริหารสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) โดยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายวรัท พฤกษาทวีกุล รักษาราชการแทนรองปลัด ศธ., ผู้ตรวจราชการ ศธ., ผู้บริหารส่วนกลาง พร้อมด้วยศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รับชมภาพเพิ่มเติมFacebook ศธ.360 องศา รมว.ศธ.กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ดำรงตำแหน่ง ขอขอบคุณและชื่นชม สป.ศธ. ที่ได้ดำเนินงานร่วมกันและปฏิบัติงานตามนโยบายได้เป็นอย่างดี ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สามารถทำงานได้สอดประสานซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างระดับจังหวัด โดยสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ตลอดจนองค์กรภาคเอกชน ศธจ.จึงปรียบเสมือน สป.จังหวัด เป็นเจ้าภาพหลักในการทำงานของจังหวัด เพื่อส่งต่อข้อมูลมายัง สป.ศธ. และรายงาน รมว.ศธ. ทราบ สำหรับแนวทางการทำงานตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ขอให้บุคลากรทุกหน่วยงานทำงานในมิติที่สอดประสานกัน นำรูปแบบบูรณาการการทำงานร่วมกัน และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสานต่อความร่วมมือที่เข้มแข็ง เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พร้อมทบทวนภารกิจงานต่าง ๆ ตามความจำเป็นและความเหมาะสม เพื่อช่วยลดภาระงานของบุคลากร ขอให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ตลอดเวลา เปรียบเสมือนน้ำครึ่งแก้วที่พร้อมเติมเต็มความรู้ในการพัฒนาตนเองเข้าไปอยู่เสมอ หมั่นเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการสร้างทักษะ (Reskill) การพัฒนาทักษะ (Upskill) เพื่อยกระดับทักษะที่มี ให้ดีกว่าเดิม รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านภาษา ทักษะด้านเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาในการปฏิบัติงาน และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ถือเป็นการเรียนรู้จากอดีตเพื่อนำมาพัฒนาปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญต้องปฏิบัติงานด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด นึกถึงประโยชน์ขององค์กร ประโยชน์ของส่วนรวม ประโยชน์ของ ศธ. มาก่อนประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ในส่วนการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้ตรวจราชการ และผู้ตรวจราชการ ได้มอบหมายให้ขับเคลื่อนและกำกับดูแลการทำงานของ ศธภ. และให้ ศธจ. ร่วมปฏิบัติงานและสนับสนุนการทำงานร่วมกัน เพราะงานในส่วนของภูมิภาคเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. เป็นกลไกในการบริหารงานเชิงพื้นที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ ในเรื่องของการนำระบบ Smart Office หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดขั้นตอนในการดำเนินงานและประหยัดงบประมาณ ลดการใช้กระดาษโดยใช้ไฟล์เอกสาร ถือเป็นการลดขยะและช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝากให้ ศธภ./ศธจ. ดำเนินการจัดทำ e-Book ของหน่วยงาน เพื่อนำเสนอนโยบายการปฏิบัติงาน ประชาสัมพันธ์ภารกิจ หรือกิจกรรมต่าง ๆ โดยนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ และให้มีการอัปเดตข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อมีข้อมูลสนับสนุนการปฏิบัติงานได้อย่างเป็นปัจจุบัน ด้านการจัดงานหรือกิจกรรมของ ศธ. ทั้งงานในส่วนกลางและภูมิภาค ให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม ต้องมีแผนในการป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นอย่างรัดกุม และอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยให้ ศธจ. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ในการดูแลความปลอดภัยให้กับครู บุคลากร และนักเรียนทุกคน ฝากพวกเราทำงานให้มีความสุข ไม่ว่าจะทำงานตรงจุดใด ขอให้มองให้เป็นสิ่งที่ดี รู้หน้าที่ รู้หน่วยงาน พยายามสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น จะช่วยทำให้การทำงานจากเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย ให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ตลอดเวลา เปรียบเสมือนน้ำครึ่งแก้ว ที่พร้อมเติมเต็มความรู้ ในการพัฒนาตนเองเข้าไปอยู่เสมอ เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ Reskill / Upskill เพื่อยกระดับทักษะที่มี ให้ดีกว่าเดิม “ในฐานะที่ได้รับหน้าที่สำคัญในการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศ มีความยินดีและมีความสุขในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานภายใต้ความท้าทายต่าง ๆ อย่างเต็มกำลัง ในส่วนมิติของการสร้างความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน ขอให้บุคลากรทุกคน หน่วยงานทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นำรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดชอบ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสานต่อความร่วมมือที่เข้มแข็ง และสร้างคุณภาพการศึกษาของประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ฝากให้ผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับ ทำแบบสอบถาม และนำข้อแนะนำกลับมาให้ตนพิจารณา เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยไปด้วยกัน” รมว.ศธ.กล่าว ภายหลังประชุมมอบแนวทางการทำงานตามนโยบาย รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ตรวจเยี่ยมหน่วยงานในสังกัด สป.ศธ. เช่น กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สำนักนิติการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มตรวจสอบภายใน และห้องสมุดและศูนย์เอกสารนานาชาติ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า สป.ศธ.ได้ติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการของ รมว.ศธ. ที่ได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด ในการดูแลความปลอดภัยให้กับครูและนักเรียน พร้อมทั้งดำเนินการจัดทำแผนป้องกันก่อนเกิดเหตุ และบูรณาการการทำงานและประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการร่วมกันสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา และนำระบบ“ตู้แดง” มาใช้ในการป้องกันเหตุ ให้ตำรวจและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) มาร่วมดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาภาพรวม ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 22...
26 ม.ค. 2567 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากเหตุฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดพัทลุงติดต่อและสะสมเป็นเวลา 3 วัน ทำให้เกิดน้ำป่าไหลทะลักลงจากภูเขาบรรทัดอย่างรุนแรง เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ รวมถึงปิดกั้นการจราจรไม่สามารถผ่านได้ โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอพยพประชาชน ยกสิ่งของขึ้นที่สูง รวมทั้งการอพยพเด็ก นักเรียน ในพื้นที่ประสบภัยออกจากโรงเรียน ไปพำนักในที่ปลอดภัย พร้อมหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้รับรายงานว่าพื้นที่ริมเทือกเขาบรรทัด อ.กงหรา อ.ศรีนครินทร์ และอำเภอตะโหมด มีมวลน้ำสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่วัดตะโหมด น้ำท่วมวัดและโรงเรียน รวมทั้งถนนทางเข้าหมู่บ้าน บางหมู่บ้านรถยนต์ขนาดเล็กผ่านไม่ได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศธ. ในพื้นที่ บูรณาการร่วมกับ ปภ.จังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น สามารถอพยพนักเรียนและประชาชนไปสู่จุดพำนักชั่วคราวที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งจากนี้ ศธ.จะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลที่พักพิงของนักเรียนและประชาชนให้มีอาหาร ยารักษาโรค และของใช้จำเป็น รวมไปถึงการเยียวยาซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน และสถานศึกษาให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว “ศธ. โดยศูนย์ความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ศึกษาธิการภาค/จังหวัด เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีความพร้อมในการดูแล ประสานงาน อำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดดภัยของนักเรียน ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนทีมงานของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่จะมาดูแลเรื่องการฟื้นฟูเยียวยา ซ่อมแซมอาคาร อุปกรณ์ต่าง ๆ ครบครัน ส่วนสถานการณ์ตอนนี้จึงขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาเร่งติดต่อสอบถามบุคลากร และนักเรียนว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือด้านอื่นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพื่อหามาตรการสนับสนุนจากส่วนกลาง อีกทั้งช่วงเวลานี้ใกล้ปิดเทอมแล้ว ต้องมีการวางแผนไม่ให้กระทบการเรียน รวมถึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการที่นักเรียนต้องใช้ผลการเรียนไปดำเนินการในการเรียนต่อระดับที่สูงขึ้น”รมว.ศธ. กล่าว