จังหวัดนครปฐม – 10 มีนาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการพัฒนานักบริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (นบส.ศธ.) รุ่นที่ 15 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จการพัฒนา นบส.ศธ. รุ่นที่ 14 โดยมีนายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางสาววาสุกาญจน์ บู่ทอง ผอ.สคบศ. ให้การต้อนรับและเข้าร่วม ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา รมว.ศธ.กล่าวว่า การพัฒนาตนเอง เป็นมิติสำคัญในการพัฒนาสมรรถนะของนักบริหาร โดยเฉพาะการพัฒนา“คุณธรรม”ภายในตัวบุคคล ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนมีความสามารถในการตัดสินใจและดำเนินการตามความรู้ที่ได้รับจากการอบรมและพัฒนา การพัฒนาตนเองนั้นต้องเริ่มต้นจากการ “ทำ” ด้วยตัวเอง และร่วมมือกัน “ทำ” ในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการคิดวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ความสำคัญของการนำเสนอความคิดและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันภายในองค์กร และนำไปสู่การดำเนินงานที่ดี การสื่อสารที่ดีไม่ได้หมายถึงเพียงการพูดคุยภายในกลุ่มเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการถ่ายทอดข้อมูลไปยังบุคคลที่เหมาะสม เพื่อสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การสื่อสารที่มีคุณภาพจะทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกัน ส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ โดยการมี“ความฉลาดรู้”รู้ในสิ่งที่ควรรู้ รู้สิ่งใดควรปรับปรุงและพัฒนา เพื่อนำมาสู่“ความฉลาดคิด”คิดอย่างไรที่จะให้เกิดการดำเนินการที่ดี และ“ความฉลาดทำ”ทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อองค์กร เป็นสิ่งที่จำเป็นในการตัดสินใจและดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในการบริหารจัดการบุคลากรจำนวนมากในกระทรวงศึกษาธิการ นโยบาย“เรียนดี มีความสุข”เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและความมุ่งมั่นในการทำงาน เชื่อว่าหากทุกคนมีความสุขในการทำงานและได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาตนเอง ความสุขดังกล่าวจะส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความรักในการทำงาน การอบรมในระยะเวลาสั้น ๆ อาจไม่สามารถครอบคลุมทุกประเด็นได้ ดังนั้นการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนเติบโตอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน อาทิ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการพัฒนางานและการศึกษาที่มีบทบาทมากขึ้น และเราต้องพร้อมที่จะปรับตัวและพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ในส่วนของการทำงานในมิติ “เรียนดี มีความสุข” การทำงานควรทำอย่างมีความสุข เปิดรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ และใช้ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่ตัวเองและองค์กร โดยต้องคำนึงถึงการทำงานด้วยสติและปัญญาในการตัดสินใจ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายและพัฒนาการศึกษาของประเทศสามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ขอแสดงความยินดีแก่ผู้สำเร็จการพัฒนาโครงการจากรุ่นที่ 14 และต้อนรับนักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ รุ่นที่ 15 และหวังว่านักบริหารรุ่นใหม่จะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการคิด วิเคราะห์ พัฒนาองค์กรให้มีประโยชน์สูงสุด และร่วมมือกันปรับปรุง พัฒนาการศึกษาของประเทศให้ประสบความสำเร็จในอนาคต” รองปลัด ศธ.กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) มอบหมายให้สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ดำเนินการพัฒนานักบริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนามีความพร้อมในการเข้าสู่ตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น สามารถปรับแนวคิด มุมมอง วิธีการทำงาน การสื่อสาร บุคลิกภาพ ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับการบริหารองค์กรภาครัฐในบริบทที่มีความท้าทาย มีความพร้อมในด้านการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ การบริหารทรัพยากรและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งมีความพร้อมในด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงและมีผลสัมฤทธิ์ ตลอดจนมีความพร้อมด้านการบริหารงานการศึกษาเพื่อการพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้มีสมรรถนะและคุณภาพในการดำรงชีวิต การดำเนินงานโครงการนี้ แบ่งโครงสร้างหลักสูตรออกเป็น ช่วงการจัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อม (Preparation Phase) ช่วงการจัดกิจกรรมการพัฒนา (Development Phase) การจัดทำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ (Action Learning Policy Project) และการสรุปผลการเรียนรู้ (Reflection Learning) พร้อมกันนี้ยังได้รับความร่วมมือ สนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้บริหารระดับสูง ศธ. หน่วยงานภายในและนอกสังกัด ที่ส่งบุคลากรเข้ารับการพัฒนาบุคลากร สำหรับที่ปรึกษาประจำโครงการ และคณะวิทยากรที่ปรึกษา เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ ในการบริหารจัดการหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงาน ก.พ. ที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนฐานข้อมูลนักบริหารระดับสูง อันส่งผลให้การดำเนินงานหลักสูตรพัฒนานักบริหารระดับสูง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับจากหลายหน่วยงาน โดยมีผู้สำเร็จการพัฒนาตามหลักสูตร นบส.ศธ. ไปแล้ว 14 รุ่น รวม 1,060 คน อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว – กราฟิก ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
ภารกิจ รมว.ศธ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ)
6 มีนาคม 2568 – นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณีครูหรือข้าราชการกระทำผิดวินัยร้ายแรง ผิดจรรยาบรรณหรือกระทำการที่ไม่เหมาะสม ทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือของวงการการศึกษาไทย ต้นสังกัดเดินหน้าลงโทษและคุรุสภาพร้อมรับไม้ต่อเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เตือนอย่าท้าทายระบบผิดจริงฟันจริงไม่มีแผ่วแน่นอน โฆษก ศธ. กล่าวว่าพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำชับหนักแน่นถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก นี่คือการเตือนอย่างเป็นทางการให้รับทราบทั่วกันว่า“อย่าท้าทายระบบ”กระทรวงศึกษาธิการพร้อมดำเนินการลงโทษเด็ดขาดอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการผ่อนปรนทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ การทุจริต หรือการสร้างผลเสียต่อผู้อื่น โดยเฉพาะการล่วงละเมิดทางเพศทั้งกับเด็กนักเรียน กับครูด้วยกันเอง หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่รังแกผู้น้อย แม้เพียงเล็กน้อยก็กระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจไม่มีใครยอมรับได้ ช่วงหลังมาจะเห็นจากข่าวว่ากระทวงศึกษาธิการเอาจริงในเรื่องนี้ชัดเจนมาก เพื่อเป็นตัวอย่างให้ดูว่าเราใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการจัดการผู้ที่ผิดวินัยร้ายแรง คนเป็นครูควรที่จะประพฤติตนให้เหมาะสมกับจรรยาบรรณวิชาชีพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคมว่าเราไม่ยอมให้ใครทำลายเกียรติจากการกระทำไม่ดีของคนเพียงไม่กี่คน และเพื่อคัดกรองบุคลากรที่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพในการพัฒนาการศึกษาของชาติให้เป็นไปในทิศทางที่ดีมีประสิทธิภาพ “ในยุคนี้จะไม่ยอมให้มีเรื่องฉาวในวงการการศึกษาเล็ดลอดสายตาอย่างเด็ดขาด ขอให้ผู้เรียน ครูและผู้ปกครองสบายใจได้ว่าเราจะดำเนินการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เห็นถึงความใส่ใจเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา กรณีผิดร้ายแรงจะได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว โทษสถานหนักคือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หมดหนทางไปต่อบนเส้นทางครูอนาคตดับวูบทันที” โฆษก ศธ. กล่าว ทั้งนี้ ข้อมูลจากคุรุสภาเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2568 หรือตลอด 13 ปี คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา มีการรับดำเนินการจรรยาบรรณของวิชาชีพแล้ว 1,091 เรื่อง โดยมีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว 110 ราย พบพร ผดุงพล / ข่าว ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก
6 มีนาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางไปยังทำเนียบ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ตามคำเชิญของ นายฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษา โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสและการพัฒนาการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ในการหารือครั้งนี้ มีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเข้าร่วม อาทิ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พลเอก อภิชาติ อุ่นอ่อน ประธานคณะทำงานฝ่ายอำนวยการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง นางลิซ ตัลโบต์-บาร์เร่ ที่ปรึกษาทูตฝ่ายวัฒนธรรมและความร่วมมือ และ ดร. ลูโดวิค อองเดรส ผู้ช่วยทูตฝ่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และอุดมศึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอบคุณเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสที่ให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านภาษาฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการผู้ช่วยสอนภาษาฝรั่งเศส (French Teacher Assistants Project : FTA) โครงการสอบวัดระดับความรู้ภาษาฝรั่งเศส DELF Scolaire โครงการทุนฝึกอบรมครูสอนภาษาฝรั่งเศส และการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสให้สอดคล้องกับมาตรฐานยุโรป นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนทุนการศึกษาและการฝึกอบรมในประเทศฝรั่งเศสให้แก่นักศึกษาอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในสาขา การออกแบบแฟชั่น (Fashion Design) และ ช่างเทคนิคอากาศยาน (Aviation Technician) รวมถึงแนวทางขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ช่วยสอนชาวฝรั่งเศสจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน หรือ 1 ปีการศึกษา และยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการขยายศูนย์สอบภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทย โดยอาจนำระบบการสอบมาติดตั้งในศูนย์สอบภาษาอังกฤษของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีอยู่แล้ว 185 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้เรียน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง “Anywhere Anytime” ของกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสได้กล่าวถึง ระบบการศึกษาทางไกลของฝรั่งเศส (Centre national d’enseignement à distance: CNED) ซึ่งมีแนวทางสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการไทย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เชิญเอกอัครราชทูตฯ ร่วมจัดงานเฉลิมฉลอง 340 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ในปี 2568 และ 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ฝรั่งเศส ในปี 2569 ณ กระทรวงศึกษาธิการ โดยทั้งสองฝ่ายจะหารือรายละเอียดเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป ธนพล ขันธวิชัย, รัชนินท์ พงศ์อุดม สต.สป. / ข่าว-ภาพ
6 มีนาคม 2568 – พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2568 โดยมี โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ E-MEETING พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เผยว่าการประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงระเบียบให้มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานให้เกิดความรวดเร็วเป็นไปอย่างประสิทธิภาพมากขึ้น และขอเน้นย้ำการทำงานให้เป็นในรูปแบบเชิงบูรณาการ เชื่อมโยงให้เข้ากับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล โดยที่ประชุมมีมติที่สำคัญ ดังนี้ เห็นชอบข้อเสนอในการปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2560 เพื่อพัฒนาระบบการตรวจราชการฯ ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์การจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป และเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมการพัฒนาการศึกษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ มังคละคิรี ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงานปรับแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2560 รับทราบรายงานผลการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567 ดังนี้ นโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนาหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง โอนย้ายของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนาที่ตรงกับความประสงค์ของตนเอง เน้นพิจารณาด้วยความโปร่งใสและไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม นโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนดี มีงานทำ “ยึดผู้เรียน เป็นศูนย์กลาง” มีระบบ/แพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การจัดให้มีโรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียนต่อ 1 อำเภอ พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม การจัดทำระบบวัดผลรองรับมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย ผู้เรียน เรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to earn) นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติให้ชะลอ ประเด็นสืบเนื่องเพื่อพิจารณา (ร่าง) มาตราฐานการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ คงใช้มาตราฐานเดิมไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของกระบวนการทำงาน ไม่สร้างงานเพิ่ม สอดรับกับนโยบาย“ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา” ธรรมนารี ชดช้อย / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
5 มีนาคม 2568 – พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศรีสุนทรโวหาร อาคารหอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบออนไลน์ zoom พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ กล่าวว่าแนวทางการพัฒนากิจการลูกเสือต้องมีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมในปัจจุบัน ให้เด็กไทยได้รับการปลูกฝังระเบียบวินัย สร้างจิตสำนึกที่ดีผ่านกิจการลูกเสือ มีคุณธรรม จริยธรรม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ตามนโยบาย“เรียนดี มีความสุข”ขณะนี้ได้เร่งรัดติดตามระเบียบของชุดลูกเสือใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้เรียน เพิ่มความยืดหยุ่น ความคล่องแคล่ว สะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ อาจปรับให้สามารถใช้เครื่องแบบนักเรียนหรือชุดตามที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือของสถานศึกษานั้นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อลดภาระให้กับนักเรียนและผู้ปกครองในการซื้อเครื่องแบบลูกเสือ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม. โดยจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษาที่จะถึงนี้ และขอฝากให้ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนากิจการลูกเสือให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ดังนี้ การเสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสรรเสริญ ประจำปี 2567ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ดังนี้ – เหรียญลูกเสือสรรเสริญ ชั้นที่ 1 จำนวน 6 ราย – เหรียญลูกเสือสรรเสริญ ชั้นที่ 2 จำนวน 4 ราย – เหรียญลูกเสือสรรเสริญ ชั้นที่ 3 จำนวน 6 ราย การเสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้น 1 – 3 ประจำปี 2566 จำนวน 564 รายที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ดังนี้ – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 จำนวน 340 ราย – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 2 จำนวน 94 ราย – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 3 จำนวน 130 ราย ที่ประชุมรับทราบประเด็น ดังนี้ การแต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้านให้ พลตำรวจโท สุทิน เขียวรัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลูกเสือชาวบ้าน การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ 15 ราย คือ1) นายธวัชชัย ไทยเขียว 2) รองศาสตราจารย์อาณัฐชัย รัตตกุล 3) นายประสงค์ พูนธเนศ 4) นายอธิป พีชานนท์ 5) นายสุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ 6) นายอัมพร พินะสา 7) นายมนูญ สรรค์คุณากร 8) นายปริญญา หอมเอนก 9) ศาสตราจารย์กำชัย จงจักรพันธ์ 10) รองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก 11) นายเขมทัตต์ พลเดช 12) นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ 13) นางฉัตรปวีณ์ รักอริยะพงศ์ 14) นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ 15) นายเสฏฐนันท์ อังกูรภาสวิชญ์ การมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่กรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย โครงสร้างการบริหารงานลูกเสือตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงานและอำนาจหน้าที่ของส่วนงานสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 แผนการพัฒนาลูกเสือไทย พ.ศ. 2567 – 2570ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาลูกเสือไทย ประจำปี 2567 และผ่านความเห็นชอบจากประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 เพื่อเป็นกรอบการพัฒนางานลูกเสือของประเทศ ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ภารกิจงานของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2568 ธรรมนารี ชดช้อย / ข่าว ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ
5 มีนาคม 2568 –กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) จัดพิธีรับพระราชทานเหรียญลูกเสือยั่งยืน ประจำปี 2565 เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ, นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภาลูกเสือไทย, กรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ และบุคลากรทางการลูกเสือ เข้าร่วมพิธี ณ หอประชุมคุรุสภา พิธีรับพระราชทานเหรียญลูกเสือยั่งยืน ประจำปี 2565 จำนวน 108 ราย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเหรียญลูกเสือยั่งยืน ประจำปี 2565 แก่บุคลากรทางการลูกเสือ ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ทำงานด้วยความเรียบร้อย ไม่เกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดผลดีต่อกิจการลูกเสือ จำนวน 108 ราย ทั้งนี้ กิจการลูกเสือเป็นกระบวนการสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพเยาวชนให้รู้จักการรักษาระเบียบวินัย สร้างการรู้รักสามัคคีในหมู่คณะ มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ปลูกจิตสำนึกการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเกื้อกูลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน เสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนมีความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บรรดาผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือยั่งยืนในวันนี้ จะได้ธำรงรักษาคุณความดีที่ปฏิบัติมา และรวมพลังทุ่มเทการปฏิบัติภารกิจลูกเสือ ให้สัมฤทธิ์ผลสำเร็จดังเจตนารมณ์ ตามคำปฏิญาณที่ให้ไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนลูกเสือรุ่นหลัง และเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยแบบยั่งยืน นอกจากจะได้อุทิศตนโดยปฏิบัติภารกิจของลูกเสือให้เกิดผลสำเร็จอย่างดียิ่งจนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยกย่องสรรเสริญแล้ว การได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือยั่งยืนในวันนี้ จึงเป็นการประกาศคุณความดี และเป็นเกียรติประวัติสำหรับตนเองและวงศ์ตระกูลสืบไป สำหรับพิธีในครั้งนี้ นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กล่าวเบิกตัวผู้ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือยั่งยืน ประจำปี 2565 และนำกล่าวทบทวนคำปฏิญาณ ตามประเพณีของลูกเสือ ความว่า พี่น้องลูกเสือกล่าวคำปฏิญาณตามข้าพเจ้า ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ พิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้บริหาร ผู้สอน และผู้สนับสนุนกิจการลูกเสือดีเด่น ประจำปี 2567 จำนวน 801 คน จากนั้น นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานพิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้บริหาร ผู้สอน และผู้สนับสนุนกิจการลูกเสือดีเด่น ประจำปี 2567 รวมทั้งสิ้น 801 คน จากทั่วประเทศ นายสุเทพ แก่งสันเทียะกล่าวว่า รางวัลนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความุ่งมั่น ทุ่มเท และเสียสละในการส่งเสริมและพัฒนากิจการลูกเสือให้เจริญก้าวหน้า และยังเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราทุกคนได้มาร่วมกันแสดงความยินดีกับท่านที่ได้รับรางวัล ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นผู้ที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และสติปัญญาในการพัฒนากิจการลูกเสือให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง กิจการลูกเสือมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างระเบียบวินัย คุณธรรม และจิตอาสาให้กับเยาวชนของชาติ เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในอนาคต ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ มิได้มาจากความพยายามของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงลำพัง แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารที่ให้การสนับสนุนนโยบายอย่างเข้มแข็ง ผู้สอนที่มุ่งมั่นอบรมลูกเสือด้วยความเสียสละ รวมถึงผู้สนับสนุนทุกท่านที่ให้การช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ดังนั้นท่านทั้งหลายล้วนเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ลูกเสือได้รับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ขอให้ท่านทั้งหลายยึดมั่นในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ ตั้งปณิธานแห่งการทำความดี และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกเสือและเยาวชนของเรา เชื่อมั่นว่าด้วยกำลังของท่านทั้งหลาย กิจการลูกเสือของเราจะเจริญก้าวหน้าต่อไป และจะยังคงเป็นสถาบันที่ช่วยพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นคนดี มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ขอให้กิจการลูกเสือของเราจงเจริญก้าวหน้า เป็นแสงสว่างนำทางให้แก่เยาวชนไทยตลอดไป บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป กลุ่มสารนิเทศ สป.ศธ. : ถ่ายทอดสด วีดิทัศน์ และภาพถ่าย
5 มีนาคม 2568 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แสดงความขอบคุณบุคลากรทางการศึกษาที่ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจงานด้านการศึกษา เป็นที่พึงพอใจของประชาชนให้ความไว้วางใจและตอบรับการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของรัฐบาล จนได้รับความพึงพอใจเป็นอันดับ 2 จากสำรวจของนิด้าโพล รมว.ศธ. กล่าวว่าจากผลสำรวจนิด้าโพล ที่สำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานในแต่ละกระทรวงของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับการประเมินจากประชาชนเป็นที่ค่อนข้างพอใจในลำดับที่ 2 ซึ่งผลที่ออกมาถือเป็นภาพรวมที่ดีสำหรับการดำเนินงานด้านการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา หลังจากการได้รับทราบผลสำรวจพบว่าเด็กมีความพึงพอใจจำนวนมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กรับรู้ในสิ่งที่เราทำ ทำให้ตระหนักว่ายังสามารถพัฒนาได้มากกว่านี้ จึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการดูข้อมูลเชิงลึก เพื่อทราบว่าประชาชนยังไม่พึงพอใจเรื่องใดจะได้แก้ไข ส่วนเรื่องที่พึงพอใจแล้วจะตอบรับการดำเนินการให้ดียิ่งขึ้น ในฐานะรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมืองเท่ากับเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน ขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน สำหรับปีนี้ยังมีหลายสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะเห็นผลในเร็ว ๆ นี้ ทั้งการแก้ไข้ปัญหา Zero Dropout ขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู และอีกหลายโครงการเพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชน และช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยไม่เพียงแค่เป็นภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งจากรัฐและเอกชน รวมถึงการสนับสนุนจากประชาชนที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้การศึกษาของไทยไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน สิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้คือในการสำรวจครั้งถัดไปกระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีผลความพึงพอใจเกิน 50% และมีการพัฒนาเพื่อให้ได้ผลที่สูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการขับเคลื่อนในหลายด้าน ทั้งการลดภาระของครูและผู้ปกครองการ แก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็วและโปร่งใส รวมถึงการพัฒนานโยบายให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเพื่อประชาชน สามารถตอบโจทย์ครูและผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้นและจะไม่หยุดพัฒนาเพื่อให้การศึกษาไทยดีขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาได้อย่างตรงจุด “ขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความเชื่อมั่นและสนับสนุน จนทำให้กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นเป็นอันดับ 2 ในผลสำรวจครั้งนี้ และขอบคุณบุคลากรทางการศึกษาทุกคนที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา สร้างผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ และจากนี้จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น หากคิดว่ามีสิ่งใดที่กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังไม่เป็นที่พึงพอใจ ขอให้แจ้งมายังสายด่วนการศึกษา 1579 เราจะรวบรวมความเห็นและนำไปแก้ไขปัญหาต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว พบพร ผดุงพล / ข่าว ธรรมนารี ชดช้อย / กราฟิก
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 7/2568กำหนดแผนและมาตรการรับมือป้องกันปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าคาดโทษทางวินัยกับบุคลากรในสังกัดที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนไทยวางแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชน ใช้การแนะแนวและจิตวิทยาเด็กมาช่วยเสริม เผยความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบ โดยการใช้องค์ความรู้จาก PISA มีผู้ผ่านอบรมแล้วกว่า 1.5 แสนคน เร่งแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูงเพื่อรองรับอัตรากำลังที่ขาดแคลน ตามความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนเผยผลสำรวจนิด้าโพล กระทรวงศึกษาธิการ สร้างความพึงพอใจในการดำเนินงานให้ประชาชนไทย เป็นอันดับที่ 2 ของทุกกระทรวง 5 มีนาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 7/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ., นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษา รมช.ศธ., นายพิษณุ พลธี เลขานุการ รมช.ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ., นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. และนายพัฒนะ พัฒนะทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ., แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว รมว.ศธ.กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและภาพอากาศ ขอให้บุคลากรทุกคนใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและให้ความสำคัญกับมาตรการเชิงป้องกัน เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีในระยะยาว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมี“โรงพยาบาลครู”พร้อมให้บริการด้านสุขภาพแก่บุคลากร จึงขอให้ทุกคนตรวจสอบสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนต่างเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้ แผนและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.กล่าว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าและยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนและการพัฒนาในอนาคตของเยาวชน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว โดยจะใช้มาตรการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนและมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของกระทรวงศึกษาธิการ และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ดำเนินการปรับปรุงแผนฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมมอบหมายสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งแผนการดำเนินงานจะมี 3 ระยะ คือ แผนการดำเนินงาน“ระยะสั้น”การป้องกันและแก้ไขปัญหาเร่งด่วน มุ่งเป้าหมายในการป้องกันและลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนและนักศึกษา โดยการประชุมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อการวางแผนบริหารจัดการคุณภาพ การกำหนดเขตปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และการบูรณาการการเรียนการสอนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักเรียน การประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย การพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา และการบูรณาการกับหน่วยงานภายนอกเพื่อควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์เสพติดอื่น ๆ เพื่อให้สถานศึกษาปลอดบุหรี่ไฟฟ้าและสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มนักเรียน “ระยะกลาง”เพื่อการสร้างแนวปฏิบัติเพื่อการขยายผล เน้นการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยใช้เทคนิค “เพื่อนเตือนเพื่อน” ผ่านกิจกรรมของสภานักเรียนและการสร้างแกนนำเยาวชนเพื่อลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า การประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดกิจกรรมและสัมมนาในชุมชนท้องถิ่น ปรับปรุงหลักสูตรอบรมพนักงานส่งเสริมความประพฤติให้สอดคล้องกับการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าและการบูรณาการกับกระทรวงการพัฒนาสังคมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และ“ระยะยาว”มุ่งเน้นการปลูกฝังให้นักเรียนและนักศึกษาตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งด้านกฎหมายและสุขภาพ การเสริมบทบาทของพนักงานส่งเสริมความประพฤติในการเฝ้าระวังและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการต่อต้านยาเสพติดและให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและชุมชนในการต่อต้านพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายให้ข้าราชการในสังกัดมีอำนาจในการตรวจค้นและทำลายบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและนักศึกษา ทั้งนี้ได้มีการคาดโทษทางวินัยกับบุคลากรในสังกัดที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เน้นย้ำให้ทุกคนต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน นักศึกษา ได้ภาคภูมิใจ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2568 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ.กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา มีวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการใน 2 เรื่องหลักคือ การพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชน และการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน ซึ่งสำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชน คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาญัตติด่วนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย ศธ. ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาแนะแนว ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การอาชีพ และการพัฒนาสังคม เพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในนักเรียน รวมทั้งการฝึกอบรมครูในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ เพื่อให้ครูมีทักษะด้านจิตวิทยาเด็กและทักษะการวิเคราะห์ที่ช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมมือกับสถานศึกษาในการพัฒนาเครือข่ายป้องกันปัญหาพฤติกรรมเยาวชน และการบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมปัญหาด้วยเทคนิคการปรับพฤติกรรม เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ในส่วนของการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน โดยอนุมัติให้มีการทบทวนการจัดสรรสิทธิและปรับกลุ่มพื้นที่ในการขนส่งนมโรงเรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและลดต้นทุนค่าขนส่ง การเปลี่ยนแปลงการแบ่งกลุ่มพื้นที่จาก 5 เขตเป็น 7 เขต จะช่วยลดระยะทางในการขนส่งนมโรงเรียนจาก 1,191 กิโลเมตร เหลือเพียง 505 กิโลเมตร โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินโครงการนมโรงเรียนมีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งสองเรื่องนี้เป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การดูแลเด็กและเยาวชน รวมถึงการปรับปรุงระบบการขนส่งและการจัดการในโครงการนมโรงเรียน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและความยั่งยืนในระยะยาว การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ. ได้มีการประชุมหารือการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการใช้องค์ความรู้จาก PISA ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการสำคัญในหลายด้าน อาทิ การพัฒนาระบบ Early Warning การพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ การทดสอบมาตรฐานระดับชาติ (National Standard Test) และการจัดการข้อมูลเพื่อการวางแผนทางการศึกษาผ่านระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงข้อมูลทุกมิติ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา (Natural Education Database) ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์และติดตามผลการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการนำร่องการใช้ AI ในการทำแบบทดสอบและการนำ Generative AI มาสร้าง Application เพื่อวัดความรู้ความสามารถของนักเรียนก่อนการสอบ PISA ซึ่ง สกศ. จะดำเนินการและนำเสนอในที่ประชุมต่อไป สำหรับความก้าวหน้าการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบในระดับเขตพื้นที่ พบว่าในขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนกว่า 300,000 คน ซึ่งใกล้จะบรรลุเป้าหมาย 445,624...
สรุปมติคณะรัฐมนตรี(3 มีนาคม 2568) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ รับทราบผลการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชน และการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน รวมทั้งการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการนมโรงเรียน 4 ข้อ คือ 1) เพื่อให้นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ 2) เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถผลิตขายน้ำนมโคที่มีคุณภาพได้ 3) สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการศึกษา ในการดำเนินกิจการผลิตนม 4) ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม แนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชน คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป สาระสำคัญ กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชนแล้ว โดยสรุปผลการพิจารณาว่า กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชนที่มีความร้ายแรงถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดการเรียนการสอน ในรายวิชาแนะแนว ซึ่งครอบคลุมขอบข่ายในการแนะแนวด้านการศึกษา การแนะแนวอาชีพและการแนะแนวด้านส่วนตัวและสังคม เพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยให้นักเรียนอยู่ในสังคมที่ดี ลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในเยาวชน และมีการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมครูทั้งรูปแบบ Online และ Onsite สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ครูมีทักษะด้านจิตวิทยาเด็กขั้นพื้นฐาน และทักษะการวิเคราะห์ ช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ รวมถึงได้ดำเนินงานร่วมกับสถานศึกษา พัฒนาเครือข่ายป้องกันปัญหาพฤติกรรมและการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนสร้างความรู้ความเข้าใจ และพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง โดยมีโปรแกรม บำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนด้วยเทคนิคการบำบัดปรับพฤติกรรมที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถกลับสู่ครอบครัวและดำรงชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างปกติสุข และไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เรื่อง ของ ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียนและให้ใช้ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (โครงการนมโรงเรียนฯ) เห็นชอบการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการนมโรงเรียนฯ จำนวน 4 ข้อ ดังนี้ (1) นักเรียนทั้งประเทศได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ (2) เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถผลิตขายน้ำนมโคที่มีคุณภาพได้และมีความยั่งยืนในอาชีพ (3) เพื่อสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจและสถาบันการศึกษาในการดำเนินกิจการผลิตนมในลำดับแรก ซึ่งจะเกิดความมั่นคงทางอาหารของประเทศ (4) ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่การจำหน่ายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม สาระสำคัญของเรื่อง 1. สถานการณ์การผลิตและการเลี้ยงโคนมในปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมลดลงจาก 15,724 ราย ในปี 2566 เป็นจำนวน 14,997 ราย ในปี 2567 ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมโคของทั้งประเทศลดลงจาก 1.026 ล้านตันต่อปี ในปี 2566 เป็น 1.011 ล้านตันต่อปี ในปี 2567 รวมทั้งจำนวนแม่โครีดนมยังมีแนวโน้มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องโดยลดลงจาก 244,292 ตัว ในปี 2566 เป็น 233,501 ตัวในปี 2567 ประกอบกับภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย [Thailand – Australia Free Trade Agreement (TAFTA)) และความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย – นิวซีแลนด์ [Thailand – New Zealand Closer Economic Partnership (TNZCEP)) ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ประเทศไทย ต้องยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนย และนมและครีม ให้เป็นร้อยละ 0 ความตกลงดังกล่าวจึงผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมนมของไทยเนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมนมสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มจำนวนเด็กนักเรียนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนนักเรียนในโครงการนมโรงเรียนฯ ปี 2563 จำนวน 7,036,845 คน แต่ในปี 2567 กลับลดเหลือจำนวน 6,525,110 คน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจำนวนที่จะนำมาจัดสรรสิทธิโดยเฉพาะภาคสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษา(ตั้งแต่เริ่มโครงการนมโรงเรียนฯ ในปี 2562 มีแนวโน้มการได้รับสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนลดลงตามลำดับ) 2. เนื่องจากแนวโน้มภาคสหกรณ์โคนมรัฐวิสาหกิจและสถานศึกษาได้รับการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนลดลง รวมถึงการยกเลิกโควตาภาษีของนมผงขาดมันเนยและนมและครีมให้เป็นร้อยละ 0 ส่งผลให้อุตสาหกรรมโคนมมีข้อจำกัดด้านการแข่งขันทางการตลาด ประกอบกับข้อมูลสถิติการเลี้ยงโคนมและเขตการบริหารราชการของกรมปศุสัตว์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการกระจายตัวของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไม่สัมพันธ์กับหลักโลจิสติกส์ โดยการทบทวนปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการจัดสรรสิทธิการจำหน่าย นมโรงเรียนในบางกลุ่มพื้นที่ที่มีปัญหาการขนส่งช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการดำเนินโครงการนมโรงเรียนฯ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนด้วย 3. การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ในประเด็นโครงสร้างระบบบริหารโครงการนมโรงเรียนฯ จากเดิมที่แบ่งกลุ่มพื้นที่ 5 เขตพื้นที่ เป็น 7 เขตพื้นที่ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งนมโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ ซึ่งเมื่อมีการแบ่งเขตใหม่จะสามารถช่วยลดระยะทางในการขนส่งนมโรงเรียนได้จากเดิมที่ต้องขนส่งระยะทางไกลที่สุด 1,191 กิโลเมตร เหลือเพียงแค่ 505 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตกลุ่มพื้นที่ใหม่นี้อาจจะไม่ช่วยทำให้จำนวนนักเรียนและจำนวนศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบมีการกระจายตัวอย่างสมดุลในแต่ละกลุ่มพื้นที่มากนัก ซึ่ง กษ. สามารถทดแทนได้จากการรับนมของพื้นที่นอกเขต โดยปัจจุบันในแต่ละกลุ่มพื้นที่มีปริมาณนมยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียนฯ ต่อวันเพียงพอต่อความต้องการในกลุ่มพื้นที่นั้น ๆ อยู่แล้ว ที่มา :https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/93991
2 มีนาคม 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ครบรอบ 80 ปี โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นางอมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ตลอดจนบริหารระดับสูง ศธ. คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ให้การต้อนรับและเข้าร่วมกว่า 400 คน ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ อาคารหอประชุมคุรุสภา ในช่วงเช้า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เป็นประธานพิธีบวงสรวงองค์พระพฤหัสบดี พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ ผู้ก่อตั้งคุรุสภา และพิธีทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้น รมว.ศธ. มอบรางวัลผู้มีคุณูปการต่อสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จำนวน 30 คน รางวัล “คนดี ศรีคุรุสภา” จำนวน 8 รางวัล และรางวัลผู้บริหารภารกิจ ส่วนภูมิภาคดีเด่น จำนวน 12 รางวัล เพื่อเป็นการยกย่องแก่ผู้สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน รวมทั้งเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน รมว.ศธ.กล่าวว่า จากการที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้การดำเนินการตามบทบาท ภารกิจที่สำคัญต่อวิชาชีพครู ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง การปฏิบัติงานตามภารกิจ นอกจากจะต้องใช้ความรู้ ความสามารถประสบการณ์ และศักยภาพของพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคนแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมมือดำเนินงาน โดยเฉพาะในเรื่องการกำกับดูแลการประพฤติและการปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ การพัฒนาและยกย่องผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ที่สะท้อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ผู้เรียนมีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม เก่งในด้านทักษะการใช้ชีวิต “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” คิดแบบมีเหตุผล และทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อการศึกษาของเราก็จะดีขึ้นและมาตรฐานการศึกษาของเราจะก้าวไปด้วยกัน “ครบรอบ 80 ปี ของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ทิศทางการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ให้องค์กรมีบทบาทสำคัญตามสถานการณ์ปัจจุบันของโลก บุคลากรของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสมรรถนะเหมาะสมกับการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ยุคใหม่ ที่พร้อมปฏิบัติงานได้ทุกที่ ทุกเวลามุ่งมั่นยึดถือประโยชน์ของสมาชิกคุรุสภาที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการสร้างมาตรฐานวิชาชีพและการกำกับดูแลจรรยาบรรณ นำไปสู่การสร้างความศรัทธาให้บังเกิดแก่องค์กรวิชาชีพครูต่อไป” เลขาธิการคุรุสภากล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งคุรุสภา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2488 ถึงปัจจุบัน การดำเนินงานของคุรุสภาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่เป็นองค์กรสภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กำหนดมาตรฐานและควบคุมวิชาชีพครูเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยสร้างครูที่มีคุณภาพ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาของชาติไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาและสังคมไทยมีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู การพัฒนาแนวทางการประเมินคุณภาพครู ไปจนถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับครู ปรับตัวเป็นองค์กร องค์ความรู้ที่ทันสมัย มีความรวดเร็วในการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัล ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาครูมากขึ้น “สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะยืนหยัดสืบทอดประวัติศาสตร์และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งคุรุสภาให้เป็นสภาวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ดำเนินการด้านการพัฒนามาตรฐาน และจรรยาบรรณของวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อยกระดับวิชาชีพให้สืบเนื่องต่อไป” สำหรับก้าวต่อไปของคุรุสภาและวิชาชีพครู จะมุ่งเน้นการสร้างครูที่เป็นผู้นำทางการศึกษา มีความสามารถทางวิชาการและจริยธรรมสูง พร้อมทั้งสามารถปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของโลกการศึกษายุคใหม่ เพื่อช่วยกันสร้างคนไทยที่มีศักยภาพสอดคล้องกับนโยบาย เรียนดี มีความสุข และทำให้เด็กไทย คนไทย ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการดำเนินงาน และยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วน ในการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทุกท่าน อันจะส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน สังคม และประเทศชาติสืบต่อไป ประชาสัมพันธ์คุรุสภา / ข่าว อีทีวีแม็ค / ภาพ
ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ – 27 กุมภาพันธ์ 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 2/2568 พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. ผู้บริหาร คณะกรรมการคุรุสภา เข้าร่วม และ ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เป็นกรรมการและเลขานุการการประชุม โดยที่ประชุม มีการพิจารณาและมีมติในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังนี้ เห็นชอบ ร่าง ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยการส่งเสริม ยกย่อง และพัฒนาวิชาชีพไปสู่ความเป็นเลิศ ในสาขาต่าง ๆ พ.ศ. …. และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ให้การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา จำนวน 4 แห่ง รวมจำนวน 15 หลักสูตร 2.1 ปริญญาตรีทางการศึกษา(หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 3 แห่ง จำนวน 13 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น จำนวน 3 หลักสูตร 2) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ขอนแก่น จำนวน 1 หลักสูตร 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จำนวน 9 หลักสูตร 2.2 ปริญญาโททางการศึกษา(วิชาชีพบริหารการศึกษา) จำนวน 1 แห่ง จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 2.3 ปริญญาเอกทางการศึกษา(วิชาชีพบริหารการศึกษา) จำนวน 1 แห่ง จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เห็นชอบการรับรองผลการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ด้านการปฏิบัติงาน และการปฏิบัติตน ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ครั้งที่ 2/2568 ของผู้ผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินฯ จำนวน 5,644 คน โดยเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างศึกษาในหลักสูตรปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา ประกอบด้วย 1) หลักสูตรปริญญาตรีทางการศึกษา จำนวน 5,030 คน 2) หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 602 คน 3) หลักสูตรปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพครู) จำนวน 12 คน และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ให้การรับรองปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จำนวน 1 หลักสูตร ของมหาวิทยาลัย จำนวน 1 แห่ง เนื่องจากการยื่นเสนอขอรับการประเมินเพื่อการรับรองปริญญาฯ ไม่เป็นไป ตามประกาศคุรุสภา เรื่อง การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2557 เห็นชอบร่าง แผนการบริหารจัดการความเสี่ยงของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รับทราบการให้ศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นสถานศึกษาสำหรับฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน และการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรที่คุรุสภาให้การรับรอง ของสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 17 แห่ง รวมจำนวน 96 คน ดังนี้ 1) มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตขอนแก่น 2) มหาวิทยาลัยตาปี 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด 4) มหาวิทยาลัยธนบุรี 5) มหาวิทยาลัยนครพนม 6) สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 7) มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 8 ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์สุพรรณบุรี 9) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 10) มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น 11) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 12) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์ 13) มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล 14) มหาวิทยาลัยทักษิณ 15) มหาวิทยาลัยฟาฏอนี 16) วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย 17) มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รับทราบรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1องค์ประกอบ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ประกอบด้วยองค์ประกอบคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ และอำนาจและหน้าที่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ส่วนที่ 2ผลการดำเนินงานของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ ประกอบด้วย 1) การพิจารณาการออกใบอนุญาตให้แก่ผู ้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา...
24 กุมภาพันธ์ 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 133 ปี โดยมี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการจากส่วนราชการในสังกัดและในกำกับ ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ รมว.ศธ. กล่าวว่าวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ครบรอบ 133 ปี ในปีนี้ ตรงกับวันอังคารที่ 1 เมษายน 2568 ซึ่งประกอบด้วย พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และสามเณร 134 รูป, พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง, พิธีเจริญพระพุทธมนต์, พิธีอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ ศธ. รวมทั้งพิธีมอบเข็ม“เสมาคุณูปการ”แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ ศธ. จำนวน 133 ราย และมอบเข็ม“เชิดชูเกียรติ” ให้กับข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2565 จำนวน 10 ราย ซึ่งในปีนี้ได้ให้ส่วนราชการในสังกัด/ ในกำกับ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงศึกษาธิการ ครบรอบ 133 ปี ประกอบด้วยกิจกรรม บริจาคโลหิต กิจกรรม Big Cleaning Day และกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ คือ การประกวดบทความเรื่อง“ความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ”จาก 14 หน่วยงานในสังกัด/ในกำกับ โดยข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษา และพนักงานในสังกัด สามารถส่งบทความเข้าร่วมรับรางวัลและยังได้รับการพิจารณาคัดเลือกเพื่อตีพิมพ์ไว้ในหนังสือที่ระลึกฯ อีกด้วย สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมฯ ผ่านทาง Facebook Page: ศธ.360 องศา ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำหนังสือที่ระลึก เนื่องในโอกาสครบรอบ 133 ปี ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (Flip E-Book) โดยมีบทความพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษาระดับประเทศ อาทิ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์, ศ.จินตวีร์ คล้ายสังข์, รศ.อรพรรณ บุตรกตัญญู ภายใต้หัวข้อ“ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ธรรมนารี ชดช้อย / ข่าว ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 6/2568 กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA O-NET เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม เตรียมจัดการส่งเสริมเด็กไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” Summer Camp 2025 ขับเคลื่อนการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา Thailand Zero Dropout ปัจจุบันใกล้ครบ 100% ทุกจังหวัดทั่วภูมิภาค ย้ำแนวทางการทำงานในระดับจังหวัด ต้องประสานงานระหว่างหน่วยงานการศึกษา แบ่งปันทรัพยากร ทั้งบุคลากร งบประมาณ และเทคโนโลยี เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพการศึกษา พร้อมยกย่องบุคลากรที่เห็นคุณค่าของการเสียสละ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการมุ่งปลูกฝังให้แก่เยาวชน เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกในการร่วมมือกันสร้างสังคมที่ดีในอนาคต ที่ร่วมบริจาคโลหิตในโครงการ “ไทยจีนเลือดเดียวกัน 50 ปี 5 ล้านซีซี“ 19 กุมภาพันธ์ 2568 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 6/2568 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำ ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. และนายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว รมว.ศธ.กล่าวว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ นั้นถือว่ามีการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำให้มีการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มพูนทักษะ อบรมเพิ่มเติมความรู้ต่าง ๆ และมีการประเมินว่ากระบวนการอบรมจะช่วยส่งเสริมกระบวนการให้มีความ“ฉลาดรู้”อย่างถูกต้อง เพื่อพัฒนาความ“ฉลาดคิด”ที่จะนำไปสู่การวางแนวทางในการดำเนินงานเพื่อเป็นผู้“ฉลาดทำ”ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น สรุปสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้ การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA รมว.ศธ.กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ของบุคลากร การอบรมการใช้ชุดพัฒนาความฉลาดรู้สำหรับครูผู้สอนวิชาภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นสิ่งที่ดีในการดำเนินงาน โดยคาดหวังว่าหลังจากการอบรมฯ จะเกิดผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอด ขยายผล และขับเคลื่อนในมิติพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเน้นย้ำการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ของนักเรียน ทั้งในระดับชั้น ม.3 และ ม.4 รวมถึงนักเรียนระดับ ปวช.1 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำไปใช้ในกิจกรรมในห้องเรียนเน้นทักษะกระบวนการคิด เพื่อให้นักเรียนได้เกิดความคิดรวบยอดนำไปสู่การหาคำตอบอย่างมีเหตุผล “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ในการนี้ สพฐ. ได้มีการจัดทำร่างแนวทางการส่งเสริมเด็กไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” สพฐ. Summer Camp 2025 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักเรียนในระดับชั้น ม. 2 และ ม.3 ระหว่างปิดภาคเรียนในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2568 มีการจัดทำร่างหลักสูตรการฝึกอบรมปฏิบัติการ ทั้งการฝึกปฏิบัติผ่านเกม อาทิ PISA Gamification เกมแข่งขันแป้นพิมพ์ การฝึกคิดพิชิตความรู้ ซึ่งในทุกกิจกรรมต้องไม่มีความรุนแรงและเหมาะสมกับนักเรียนทุกคน และในส่วนของการขยายผลการอบรมการสร้างและพัฒนาข้อสอบในระดับเขตพื้นที่ มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 239,098 คน อบรมเสร็จสิ้น 147,704 คน ซึ่งต้องวางแนวทางให้กลุ่มนี้ขยายผลแนะนำไปยังเพื่อนครูให้ได้มากที่สุด และจากการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานในหลายพื้นที่ ต้องขอชื่นชมความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้เสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมการทดสอบ PISA 2025 ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ประเด็นสำคัญ อาทิ ในการสร้างแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนครูและผู้อำนวยการเห็นความสำคัญของการสอบ PISA การพัฒนาทักษะโดยการส่งเสริมให้เด็กมีการทดลองทำข้อสอบ PISA-Style ส่งเสริมให้ครูสามารถออกข้อสอบแนว PISA หรือมีการร่วมมือกับ SCB (ธนาคารไทยพาณิชย์) จัดทำแอปพลิเคชันที่ประยุกต์ใช้ AI มาช่วยให้เด็กได้ทดลองทำข้อสอบ มีการตรวจสอบความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทดสอบ และการพัฒนาระบบสนับสนุนการทดสอบ การสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้หน่วยงานเห็นความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุนให้มีความพร้อมสำหรับการทดสอบ PISA การติดตามเด็กนอกระบบการศึกษา Thailand Zero Dropout รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมได้รายงานผลการติดตามเด็กนอกระบบในช่วงอายุ 6 – 15 ปี (การศึกษาภาคบังคับ) โดยจากข้อมูลพบว่ามีจำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาทั้งสิ้น 1,025,514 คน โดยสามารถติดตามได้แล้ว 976,334 คน เป็นเด็กสัญชาติไทย 736,851 คน จากทั้งสิ้น 767,304 คน หรือคิดเป็น 96.03% ของเด็กที่มีสัญชาติไทย ทั้งนี้มีการดำเนินงานติดตามครบ 100% ถึง 40 จังหวัด ในทุกภูมิภาค ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 9 จังหวัดที่อยู่ใน 25...
18 กุมภาพันธ์ 2568 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะแห่งญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา หรืองานวันชาติญี่ปุ่น ตามคำเชิญของนายโอตากะ มาซาโตะ (H.E. Mr. Masato Otaka) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โดยนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนางสาวจิตรลดา จันทร์แหยม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ณ ห้อง Plenary Hall ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันชาติญี่ปุ่น (National Day of Japan) ตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ โดยประเทศญี่ปุ่นมีธรรมเนียมถือเอาวันพระราชสมภพของจักรพรรดิองค์ปัจจุบันเป็นวันชาติ และเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 วันชาติญี่ปุ่นจึงถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของรัชสมัยเรวะ (Reiwa Era) ซึ่งหมายถึง“ความสงบสุขอันรุ่งเรือง” ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนานกว่า 138 ปี นับตั้งแต่มีการลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยเมื่อปี พ.ศ. 2430 ความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้ขยายตัวในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของไทยได้ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนและพัฒนาทางวิชาการร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเข้าร่วมงานในครั้งนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและญี่ปุ่น และเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พบพร ผดุงพล / ข่าว สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ / ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ สร. / ภาพ